มนทินา สกลวรารุ่งเรือง
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาภาพยนตร์และดิจิทัลมีเดีย ภาควิชานิเทศศิลป์ (UNC ปี 5)
ตำแหน่งที่ได้รับในโครงการต่างๆ
ประวัติและผลงาน


ประเด็น : ปัญหาเรื่องส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม / ศิลปะรับใช้ชุมชน / การท่องเที่ยวชุมชน

ชื่อผลงาน : 5 Senses สัมผัสบางกระเจ้า

หัวข้อ : ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืน

แนวคิดการสื่อสาร : การพัฒนาเส้นทางปั่นจักรยานท่องเที่ยวในบางกระเจ้าโดยใช้การออกแบบแอพพลิเคชั่นผสมผสานกับการออกแบบจุดสัมผัสท้องถิ่นด้วยการใช้หลักการสัมผัสทั้ง 5 (ตา หู จมูก ลิ้น กาย)

รูปแบบการผลิตสื่อ : Application&ข้อมูล / โบชัวร์รวบรวมข้อมูล / Exhibition Desige


มนทินา สกลวรารุ่งเรือง

สาขาภาพยนตร์และดิจิทัลมีเดีย ภาควิชานิเทศศิลป์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

(บทสัมภาษณ์)

แนวคิดการผลิตสื่อสร้างสรรค์

ที่มาของการทำหัวข้อนี้ เกิดจากการที่เรา 4 คนได้ไปปั่นจักรยานท่องเที่ยวที่บางกระเจ้า แล้วได้กลับมาพูดคุยกันว่าที่ไปเที่ยวมันไม่ได้เหมือนที่รีวิวตามอินเตอร์เน็ต มันยังมีบางอย่างที่พัฒนาไปได้ต่อในเรื่องของการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้สะดวกและง่ายดายต่อการท่องเที่ยว ก็เลยกลับมาคุยกันว่าจะทำอย่างไรให้การท่องเที่ยวในครั้งต่อไปที่ บางกะเจ้ามีความสะดวกสบายต่อนักท่องเที่ยวและไม่ทำร้ายชุมชนดั้งเดิม

ก็เลยกลับมาคุยกันและลงพื้นที่อย่างจริงจัง เพื่อไปเก็บข้อมูลและลงไปสัมภาษณ์คนในท้องที่ ลงไปสัมภาษณ์นักท่องเที่ยวที่เข้ามาจริงๆ และทำแบบสอบถามขึ้นมา โดยเก็บแบบสอบถามเป็นสถิติ หลังจากเก็บข้อมูลแล้วเรามาพูดคุยกันอีกครั้งว่าปัญหาที่เราเจอในวันที่เราไปเที่ยวนั้นกับปัญหาที่นักท่องเที่ยวเจอในแต่ละวันว่านักท่องเที่ยวเจอปัญหาอะไรบ้าง หรืออยากจะเปลี่ยนอะไรในบ้างกระเจ้า หรืออะไรที่นักท่องเที่ยวไปทำลายชุมชนโดยที่เขาไม่รู้ตัว เราได้รู้ปัญหาส่วนนั้นมากขึ้นเลยนำปัญหาส่วนนั้นมาพูดคุย

ปัญหาที่พบก็คือนักท่องเที่ยวยังไม่เข้าใจความเป็นชุมชนหรือความเป็นท้องที่จริงๆ ที่เคยมีอยู่ใน บางกระเจ้า เขาคิดว่าของที่เขาไปเจอนั้นเป็นของที่บางกระเจ้าจริงๆ แต่จริงๆแล้วเป็นของที่เข้ามาแต่งเติมภายหลังที่เข้ามา เราต้องการให้นักท่องเที่ยวกลับไปบางกระเจ้า แล้วเจอสิ่งที่เป็นของดั้งเดิมจริงๆ ไม่ใช่สิ่งที่เข้ามาใหม่ สิ่งที่เราทำออกมาคือเราตั้งใจจะทำป้ายบอกทาง เพราะเรารู้สึกว่าเราเข้าไปแล้วหลงทาง ส่วนใหญ่กลุ่มคนที่ไปเที่ยวบางกระเจ้าเป็นการนัดกลุ่มกันเพื่อไปเที่ยว ผลงานที่เราทำตอนแรกที่เสนอโครงการไป และดูจากกำลังที่เรา 4 คนทำไหว ตอนแรกทำแค่ป้ายบอกทาง แต่ปรากฏว่าลงพื้นที่จริงๆ เรารับรู้มาว่าบางกะเจ้ามีหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐและเอกชนลงพื้นที่จนช้ำไปหมดแล้ว เราเลยคิดว่าเราควรทำอย่างอื่นที่ยังไม่มีใครเข้าไปทำเพื่อพัฒนา ฟื้นฟูชุมชน และตอบสนองนักท่องเที่ยวให้เข้าไปท่องเที่ยวมากขึ้น โดยที่ไม่ทำร้ายความดั้งเดิมของบางกระเจ้า

ก็เลยคิดกันใหม่และจะทำเป็นแลนด์มาร์ค ที่ไม่เชิงเป็นจุดท่องเที่ยวแต่เป็นจุดพักผ่อนให้นักท่องเที่ยวได้แวะทำกิจกรรมอย่างอื่นที่นอกเหนือจากการปั่นจักรยาน ในรอบๆบางกระเจ้าทั้งหมดมี 5 จุด แต่ละจุดจะตั้งอยู่ตามสถานที่ท่องเที่ยวแนะนำที่ไปบางกระเจ้าและไม่ควรพลาด จุดแวะพักที่ทำจะอยู่ในสถานที่ที่ให้นักท่องเที่ยวไปท่องเที่ยว ที่เราทำเป็นทางผ่านของนักท่องเที่ยวและเป็นการบอกนักท่องเที่ยวไปในตัว ว่าคุณยังอยู่ในเส้นทางการท่องเที่ยว ไม่ได้หลงออกไปนอกเส้นทาง เหมือนเป็นเครื่องยืนยันอีกทีว่ายังอยู่ในสถานที่ และนักท่องเที่ยวยังมีจุดแวะพักและถ่ายรูป และกิจกรรมอื่นๆเพิ่มเติม เช่น มีกิจกรรมให้มีความรู้ บางจุดที่ไปลงพื้นที่เรารู้สึกว่าการปั่นจักรยานค่อนข้างไกลและอากาศร้อนทำให้คิดว่าควรจะมีจุดพักให้นักท่องเที่ยวได้พักระหว่างทาง และได้เรียนรู้ความเป็นบางกระเจ้าไปด้วยในตัว

ทั้งห้าจุดจะเป็นสัมผัสทั้ง 5 คือ Five Sense ซึ่งมนุษย์เรามีสัมผัสทั้ง 5 โดยเราอยากให้นักท่องเที่ยวใช้ทั้ง 5 สัมผัสในการเข้าไปสัมผัสกับธรรมชาติจริงๆ โดยในแต่ละจุดก็จะมีเอกลักษณ์และได้ใช้สัมผัสทั้ง 5 ในแต่ละจุด ทั้ง 5 สัมผัสจะมี 1.หู 2. ตา 3. จมูก 4. ปาก และ 5. กายสัมผัส ดังนี้

1. หู จะทำเป็นซุ้ม โดยระหว่างทางและจะมีโมบายเหมือนโมบายเปลือกหอยแต่เราจะทำเป็นโมบายเปลือกไม้ พอถูกลมพัดก็จะมีเสียง เหมือนเป็นการได้ฟังเสียงธรรมชาติ

2. ตา ในจุดนี้จะมีกรอบภาพที่ยื่นออกมา โดยไม่ขวางทางการปั่นจักรยาน จะเลือกจุดที่สวยงามตั้งกรอบไว้ให้คนได้ทราบว่าตรงนี้เป็นจุดที่สวยงามของบางกระเจ้า ควรจะหยุดและมองเข้าไปในกรอบ มองธรรมชาติ

3. จมูก การรับกลิ่น จะตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกลและมีพื้นที่นั่งพัก เราเลยไปตั้งสวนดอกไม้และคัดดอกไม้ที่เป็นดอกไม้พื้นถิ่นและเขียนป้ายบอกชื่อดอกไม้ ทำให้คนที่เข้ามาได้ดมกลิ่นดอกไม้

4. ปาก ตรงจุดนั้นจะมีตลาดที่ดังมากคือตลาดบางน้ำผึ้ง เป็นตลาดที่เก่าแก่ เราเลยไปตั้งซุ้มที่บอกว่าอาหารท้องถิ่นที่บางกระเจ้าเคยมีอะไร ให้นักท่องเที่ยวได้เปิดอ่าน

5. กายสัมผัส เราตั้งเป็นต้นไม้จำลองที่สามารถแกะเปลือกของไม้ได้ ให้ดึงออกมา แล้วจะมีเลือดซึม ทำให้นักท่องเที่ยวอาจจะตกใจ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รู้สึกว่าการทำลายต้นไม้ ต้นไม้อาจจะรู้สึกก็ได้ อยากให้คนที่ไปท่องเที่ยวได้ถูกกระตุ้นจิตสำนึก ว่าไม่ควรทำลายธรรมชาติ

งานทั้งหมดเป็นโมเดล ทั้งหมดที่ถูกสร้างเพื่อตอบสนองต่อนักท่องเที่ยว ที่ไม่ทำร้ายชุมชน โครงการนี้เป็นเหมือนแนวคิดริเริ่มจุดเล็กๆจุดหนึ่ง ในการจุดประกายว่าการท่องเที่ยวในที่อื่นควรจะใส่ใจความเป็นชุมชนดั้งเดิมของเขา และเคารพเกรงใจสถานที่ ในการไปท่องเที่ยว ในสถานที่ต่างๆ และโครงการนี้สามารถต่อยอดไปได้อีก เพราะโครงการนี้มีการสอดแทรกเรื่องความรับผิดชอบ มีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อชุมชน ถ้านำไปปรับใช้กับชุมชนอื่น เชื่อว่าแลนด์มาร์คหรือแอพพลิเคชั่นทั้งหมดของเราจะถูกปรับเปลี่ยนไปโดยที่ยังคิดถึงการท่องเที่ยวชุมชนแบบยั่งยืน ยังคงอยู่และยังสามารถต่อยอดปรับเปลี่ยนพัฒนาไปในชุมชนตามความแตกต่างของชุมชนได้

สิ่งที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการ

สิ่งที่ได้จากการเข้ามาในโครงการ UNC สิ่งแรกเลยคือการคิดงานอย่างเป็นระบบ เพราะโครงการนี้มีกรอบให้เราน้อย มีแค่หัวข้อให้เรา ซึ่งเป็นหัวข้อที่กว้าง เราต้องมานั่งคุยกับกลุ่มว่าอะไรคือสิ่งที่เราจะทำและอะไรที่เราทำได้ภายใต้เวลาและงบที่จำกัด การเข้ามาทำในโครงการช่วยในเรื่องของการตีกรอบความคิดและอยู่ในกรอบของทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด และเป็นการวางแผนงานให้อยู่ได้ในระยะยาว ในส่วนของการพัฒนาตัวเองคือการมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง การพูดคุยกับคนที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน จากการสัมภาษณ์ลงพื้นที่ต่างๆ เราได้ลงพื้นที่บ่อยขึ้น ได้สัมผัสคนเหมือนเรามีวิธีการปรับตัวและปรับคำพูดปรับวิธีการเข้าหาคนมากขึ้น ทำให้เราสังเกตคนมากขึ้น

ประโยชน์ที่ได้จากการลงพื้นที่ทำให้เรามีวิธีเข้าหาคนที่ดียิ่งขึ้น เรารู้จักประเมินคนก่อนที่เราจะพูดคุย แล้วมีทักษะในการเข้าหาคนมากขึ้น เราต้องปรับตัวเข้ากับแต่ละคน ซึ่งแต่ละคนมีพื้นฐานมาไม่เหมือนกัน ทำให้การเข้าหาของแต่ละคนต้องแตกต่างกันออกไป การที่ได้ลงพื้นที่ไปสัมภาษณ์คนที่เป็นชาวบ้าน นักศึกษาหรือนักท่องเที่ยวที่มากมายหลากหลายที่มา เราก็จะรู้วิธีการในการเข้าหาคน แล้วเอาไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันในเรื่องการอยู่ร่วมกันในสังคม

การสร้างสรรค์ผลงานสื่อสะท้อนปัญหาสังคมภายใต้ โครงการเสริมสร้างพลังเยาวชนสร้างสรรค์สื่อเพื่อสังคมไทยที่น่าอยู่ ปี 2561 (ปี 5) ดำเนินงานโดยเครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคม (University Network for Change : UNC) สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สภาคณบดีศิลปะแห่งประเทศไทย องค์กรภาคี ภาคประชาสังคม มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) 

ดาวน์โหลดเนื้อหาได้ที่นี่

ชมบรรยากาศงานมหกรรมได้ที่นี่