“จุฬาลักษณ์”ต่อยอดเทคนิค “นักถักทอฯ” สู่อบต.หัวงัว
หลักสูตรนักถักทอชุมชนส่งผลให้ค้นพบ“ความสุข”จากการพัฒนาเยาวชน
“จุฬาลักษณ์” เผยเพราะเข้าอบรมหลักสูตรนักถักทอชุมชน ทำให้เธอได้ค้นพบคำว่า “ความสุข” จากการทำงานที่แท้จริงเป็นครั้งแรกในชีวิต และค้นพบกระบวนการที่จะสามารถสร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชนได้ จากความสำเร็จเล็กๆ ที่สร้างให้อบต.หนองอียอ เธอนำความรู้ที่ได้ติดตัวมา “ต่อยอด” พัฒนาเยาวชนที่ อบต.หัวงัว หวังพัฒนาเยาวชนให้เป็นกำลังสำคัญให้ชุมชนต่อไป
นางสาวจุฬาลักษณ์ อินทร์แป้น นักวิชาการศึกษา องค์การบริหารส่วนตำบลหัวงัว อำเภอสนม จังหวัดสุรินทร์ วัย 35 ปี ที่เพิ่งย้ายมาอยู่ที่นี่ เมื่อต้นปี 2561 ได้เริ่มต้นเรื่องราวของตนเอง ด้วยการเล่าประวัติการทำงานแบบคร่าวๆ ให้ฟังก่อนว่า ...ตนเรียนจบจากมหาวิทยาลัยราชภัฎสุรินทร์ โดยเริ่มการทำงานในภาคเอกชน แล้วเปลี่ยนมาทำงานเกี่ยวกับหน่วยงานราชการที่อบต.หนองอียอ ตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2552 ในตำแหน่งผู้ช่วยนักวิเคราะห์นโยบายและแผน และได้มีโอกาสเข้ามาร่วมอบรมในกระบวนการของนักถักทอชุมชน ในปี 2556 หลังจากนั้นสอบบรรจุได้รับราชการเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ปี 2561ที่ผ่านมา โดยย้ายมาที่ อบต.หัวงัว อำเภอสนม จังหวัดสุรินทร์ ในตำแหน่งนักวิชาการศึกษา“การทำงานในตำแหน่งนี้ มีบทบาทในเรื่องของเด็กและเยาวชนโดยตรง และในส่วนของการดูแลให้ความช่วยเหลือหน่วยงานด้านการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของศูนย์ที่อบต.เปิดเองหรือโรงเรียนในเขตตำบล โดยบริหารจัดการในด้านงบประมาณและประสานงานจากหน่วยงานต่างๆรวมทั้งเข้าไปคอยประสานการดำเนินงานระหว่างหน่วยงานอื่นกับโรงเรียน”
หลังจากทำความรู้จัก “จุฬาลักษณ์” ในเบื้องต้นผ่านบทบาทหน้าที่การทำงานแล้ว มูลนิธิสยามกัมมาจล ขอพามาทำความรู้จักเธอให้ดีขึ้น ในช่วงเวลาที่เกิดการเปลี่ยนแปลงตนเอง ที่มีผลต่อการใช้ชีวิตโดยตรง จุฬาลักษณ์เล่าย้อนไปในช่วงที่เข้าอบรมในโครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) ระยะที่ 2 : หลักสูตรนักถักทอชุมชน เพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชนและครอบครัว รุ่นที่ 1 ถึงแม้โครงการฯ นี้จะจบลงไปแล้ว แต่ “ความรู้ ทักษะ ทัศนคติ” ที่โครงการฯ นี้ได้ “ฝังชิพ” ไว้ให้ยังคงอยู่ในเนื้อในตัวของ “นักถักทอชุมชน” ทุกท่านเช่นเดียวกับ “จุฬาลักษณ์” ที่ได้มาเล่าให้เพื่อนๆ ฟังตั้งแต่จุดเริ่มต้นว่า...
"เข้าร่วมโครงการฯ นี้ ในช่วงปี 2556 ตอนที่ยังอยู่ที่อบต.หนองอียอ ในตอนแรกยังไม่เข้าใจว่านักถักทอคืออะไร และรู้สึกว่าเป็นงานที่หนักและมีความกังวลว่าจะทำได้ไหม เนื่องจากยังไม่ได้เข้ามาเรียนรู้ถึงคำนิยามของคำนี้ว่าคืออะไร แต่พอเข้าร่วมหลักสูตรแล้วอาจารย์ทรงพล เจตนาวณิชย์ (ผู้อำนวยการสรส.) ได้มีการอธิบายความหมายว่าคืออะไร โดยนักถักทอไม่จำเป็นต้องลงมือทำกระบวนการทุกอย่าง แต่เราเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อน และการถักทอคือการชวนคนที่มีความรู้ความสามารถอยู่แล้วให้มาร่วมกันพัฒนาให้มากยิ่งขึ้น...
โดยสิ่งที่ได้จากการอบรมนักถักทอชุมชน ได้แก่ เรื่องทักษะกระบวนการคิด ทักษะของการฟัง ทักษะของการจับใจความ และทักษะในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นซึ่งสำคัญมาก โดยไม่ใช่แค่เรื่องงานแต่สามารถใช้ได้ในชีวิตจริงของเรา ไม่ว่าจะเป็นการเข้าสังคมหรือกระบวนการคิด การตัดสินใจ คำพูด ซึ่งมีผลกับชีวิตประจำวันอยู่แล้ว และได้มากกว่าสิ่งที่เราคิดจากตอนแรกที่เราคิดว่ามันคืองาน แต่พอเราได้เข้าร่วมกระบวนการนักถักทอชุมชนจริงๆ ไม่ใช่แค่งานแต่เป็นการพัฒนาชีวิตของเราด้วย ซึ่งเราต้องพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นก่อน ก่อนที่จะไปพัฒนาผู้อื่น"
หลังจากเข้าร่วมอบรม "จุฬาลักษณ์" ไปสักระยะหนึ่ง เจ้าตัวได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของตนเอง ที่เกิดขึ้นในหลายๆ ด้าน... "การเปลี่ยนแปลงเรื่องแรกเกี่ยวข้องกับชีวิตส่วนตัวและชีวิตประจำวัน เมื่อก่อนจะเป็นคนเก็บตัวเงียบและคิดอยู่คนเดียว ไม่ชอบเข้าสังคม และไม่ชอบการเข้าหาคนเยอะๆ หรืออยู่ในที่ที่มีคนเยอะๆ เพราะรู้สึกเป็นความวุ่นวายและมีปัญหาเยอะ ซึ่งคนเยอะก็จะมีหลายความคิด และในตอนนั้นเราเอาความคิดตัวเองเป็นใหญ่ ด้วยการคิดว่าความคิดของเราถูก ซึ่งถ้ามีบุคคลที่ 2-3 เข้ามาแล้วคิดต่างจากเราเราจะไม่สะดวกใจในการพูดคุย เป็นคนไม่เปิดใจ โดยตอนนั้นความสุขของเราคือการอยู่คนเดียว อยู่กับความคิดของตัวเอง แต่หลังจากเข้าร่วมในกระบวนการนั้น ทางอาจารย์ทรงพล เจตนาวณิชย์(ผู้อำนวยการสรส.-วิทยากรในโครงการ) จะให้เราเปิดใจรับฟังโดยมีเสียงสะท้อนออกมาว่าคนที่เห็นต่างกับเราทำไมเขาถึงเห็นต่าง เมื่อฟังแล้วคิดตามก็รู้ว่าความคิดของเราไม่ได้ถูกเสียทีเดียว บางทีความคิดของเขาก็มีเหตุผล มันเป็นการเตือนสติเราให้ใช้ชีวิตให้รอบคอบมากขึ้น เพราะการตัดสินใจคนเดียวทำให้เกิดความผิดพลาดเยอะมาก แต่เสียงสะท้อนกลับมาทั้งจากเพื่อนและพี่ ซึ่งเป็นความคิดที่เราเคยคิดว่าถ้าแตกต่างจากเราจะเป็นปัญหาหรือเรื่องวุ่นวาย แต่ที่จริงแล้วมีเหตุผลคือเขาเป็นห่วงเราหรือหวังดีกับเรา...
ส่วนในเรื่องของวิธีการทำงาน โดยนิสัยชอบเก็บตัวอยู่คนเดียว เอาคิดความคิดเห็นของตนเป็นใหญ่อยู่แล้ว ดังนั้นเวลาทำงานจะมีปัญหาเช่นเดียวกับวิธีการดำเนินชีวิต ซึ่งในกระบวนการทำงานถ้าไม่พอใจไม่สามารถเดินหนีไปได้ เพราะเราต้องร่วมงานกันอยู่ดีทำให้เวลาทำงานจึงไม่มีความสุข แต่พอเข้าร่วมอบรมแล้วลองเปิดใจ ลองรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นทำให้เราพัฒนากระบวนความคิดของเราออกไป อีกจากเดิมที่คิดเป็นเส้นตรงก็จะมีวิธีคิดว่ามีทางแยกไปอีก เพื่อนำไปสู่เป้าหมายโดยใช้ระยะเวลาสั้นที่สุดและประสบความสำเร็จได้รวดเร็วที่สุด หรือเราจะเลือกเดินในทางที่คดเคี้ยวแต่ระหว่างทางสามารถเก็บเกี่ยวประสบการณ์ได้มากกว่าก็เป็นประโยชน์ที่เราจะได้รับกลับมาที่ตัวเอง"
หลังจากลอง “เปิดใจเรียนรู้” ส่งผลให้เจ้าตัวมองเห็นผลลัพธ์ที่น่าชื่นใจ “เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมและชัดเจนสุด คือเรามีเพื่อนมากขึ้น โดยตอนที่เริ่มเข้ามาทำงานในปี 52 ไม่รู้จักใครเลย ไม่มีเพื่อน แต่หลังจากเข้ามาร่วมกิจกรรมนี้เรามีเครือข่ายที่อื่น มี อบต.อื่นหรือคนอื่นที่เคยได้รู้จักและกล้าเข้าไปพูดคุยทักทาย จากเมื่อก่อนเจอคนเยอะแล้วเราจะปลีกตัวไปเลยเพราะไม่อยากรู้จัก แต่พอมาร่วมกิจกรรมนี้เมื่อได้เจอคนมากขึ้นก็พร้อมที่จะทักทาย พร้อมที่จะเปิดใจและรับโอกาส รับสิ่งดีๆ ...
จากเมื่อก่อนอยู่คนเดียว ความคิดของเราก็หมกมุ่นอยู่กับเรื่องของตัวเอง ขาดความรื่นรมย์ในชีวิต แต่หลังจากที่เข้าร่วมกิจกรรมทำให้เรามีความสุขกับชีวิตมากขึ้น มีความสุขกับการทำงาน และความคิดกว้างขึ้น ว่านอกจากจะทำในสิ่งที่เป็นผลประโยชน์ที่เกิดกับตัวเราเองแล้ว เรายังทำเพื่อผลประโยชน์ต่อชุมชนและทำงานเพื่อชุมชนมากขึ้น โดยเราอาจทำแค่สิ่งเล็กๆ แต่สามารถนำสิ่งเล็กๆ ที่นำไปต่อยอดและทำให้เพิ่มพูนขึ้นได้ในสังคม ถึงแม้จะเป็นสิ่งเล็กน้อยนิดเดียวที่ไม่มีคนเห็นแต่สร้างความสุขให้เราได้”
"จุฬาลักษณ์" ใบหน้าที่เปื้อนรอยยิ้ม ขยายความสุขจากสิ่งเล็กๆ ที่เธอได้ทำคือ..."ขอยกตัวอย่างการเป็นพี่เลี้ยงเยาวชน โดยน้องๆ ชุดนี้ร่วมทำงานกับเรามาตั้งแต่ปี52 ซึ่งเราอยากพัฒนาเด็กและเยาวชน แต่ตอนนั้นเนื่องจากขาดความรู้และประสบการณ์ จึงทำงานสะเปะสะปะ มีใครบอกว่าอันนี้ดีเราก็ทำ แต่ไม่มีความต่อเนื่องและไม่มีการประสานความร่วมมือจากผู้ใหญ่ใจดี ทั้งที่มีทุนต่างๆ อยู่แต่เรามองไม่เห็น เพราะไม่มีทักษะและประสบการณ์อะไรเลย เป็นการดำเนินการไปเรื่อยๆ จนกระทั่งทางมูลนิธิสยามกัมมาจลเข้ามาช่วยเหลือ ทำให้เราได้ภาคีและวิธีการคิดของตัวเราเองรวมถึงได้ฝึกฝนเด็กๆ และเมื่อได้เห็นพี่เลี้ยงเยาวชน เช่น เสียม อี้ ดอม บอม วันนี้ เป็นคนที่ได้ร่วมลงมือทำด้วยกันมา ทำให้เห็นว่าทุกคนเก่งและสามารถกลั่นกรองประสบการณ์มาถ่ายทอดให้น้องๆ ในชุมชนได้ฟัง ซึ่งเด็กทุกคนก็คงเหมือนกันคือเขามีความคิด แต่เขานำมาเผยแพร่หรืออธิบายให้เราฟังไม่ได้ แต่ทุกวันนี้เขามีวิธีการเรียบเรียงความคิดและคำพูดถ่ายทอดออกมาให้น้องๆ ในรุ่นหลังได้พัฒนาตามพวกเขาไปด้วย วันนี้ได้มาเห็นความสำเร็จและสิ่งที่พี่เลี้ยงเยาวชนทำ ทำให้เราภูมิใจ ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้เป็นผู้ให้ความรู้เขาโดยตรง แต่เราเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนก็รู้สึกภูมิใจ"
เมื่อมีประสบการณ์ด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชนจากอบต.หนองอียอแล้ว "จุฬาลักษณ์" ก็นำประสบการณ์นี้มา “ต่อยอด” ที่ อบต.หัวงัวทันที "สำหรับสิ่งที่ได้มาจากหนองอียอ ได้ทักษะกระบวนการคิดการเข้าสังคมและเข้าหาคนที่มาร่วมถักทอกับเรา และเมื่อมาอยู่ที่ใหม่ก็เรียนรู้ในวิธีการเข้าหาก่อน ว่าการเข้าหาผู้ใหญ่ การเข้าหาเด็ก วิธีการที่จะเชิญชวนให้เขามาเห็นความสำคัญกับกิจกรรมนี้ต้องใช้วิธีการอะไรบ้าง ซึ่งวิธีการมีหลายวิธี หากวิธีแรกไม่ได้ผลก็ต้องใช้วิธีการต่อไป ซึ่งวิธีการเข้าหาเราจะไม่เน้นการบังคับ เนื่องจากเราอยากเห็นประโยชน์ในระยะยาว ถ้าบังคับเขามาได้ในครั้งต่อไป แต่การที่เราจะหาคนที่มาร่วมดำเนินการต่อจะยากมาก ในตอนแรกที่ไปทำความรู้จักในพื้นที่ยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร เพราะเราเพิ่งย้ายมาทำงาน จึงยังไม่ได้ลงพื้นที่ทำความรู้จักกับบุคคลในพื้นที่ "
ถึงแม้จะมีอุปสรรคในการทำความรู้จักกับชุมชนและนำเสนอแนวคิดเมื่อไปอยู่พื้นที่ใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ยังไม่เคยเข้าร่วมหลักสูตรนักถักทอชุมชน ทำให้การสร้างความเข้าใจเรื่องกระบวนการพัฒนาเยาวชนในแนวทางนักถักทอชุมชนนั้นก็เป็นเรื่องยาก แต่ด้วยทักษะการถักทอที่มีอยู่ "จุฬาลักษณ์" ก็ไม่ท้อถอย ได้สร้างกัลยาณมิตรในอบต.ก่อน เมื่อทางภาคีเดิมได้แจ้งว่าจะมีการจัดค่าย "จุฬาลักษณ์" จึงไม่ลังเลที่จะส่งเยาวชนมาเข้าร่วมเรียนรู้ในค่ายพัฒนาศักยภาพแกนนำเยาวชน สู่การเป็นเยาวชนรุ่นใหม่ที่สามารถดึงศักยภาพของตนเองออกมารับใช้ชุมชนสังคมอย่างสร้างสรรค์ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 19-30 เมษายน 2561 ณ ศูนย์ปราชญ์พ่อคำเดื่อง ภาษี จังหวัดบุรีรัมย์ ที่ผ่านมาด้วย เพราะเห็นประโยชน์ของค่ายที่เยาวชนได้เรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ตลอดระยะเวลา 10 วัน
"พาเด็กมาเข้าค่ายครั้งนี้ 3 คน ที่มีเด็กเข้าร่วมได้ในวันนี้ เนื่องจากเรามีหัวหน้างานหรือบุคลากรในที่ทำงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่อยู่แล้ว เราก็เปลี่ยนจากการไปหาคนในพื้นที่โดยตรงเป็นการเข้าหาคนที่อยู่ในที่ทำงาน ให้เขาพาเราเข้าไปหาผู้ที่จะเข้ามาร่วมในการพัฒนาในครั้งนี้ โดยเราเข้าไปด้วย เพื่ออธิบายให้เขาเข้าใจว่าค่ายคืออะไร และให้เขารู้จักตัวเราด้วย โดยสร้างความเชื่อมั่นและสร้างความไว้ใจว่าคนที่จะพาลูกหลานไปคือคนไหน ได้เห็นหน้าตาและร่วมพูดคุยกันให้ผู้ปกครองได้เห็นว่าประโยชน์ที่เด็กจะได้รับกลับไปมีอะไรบ้าง และหากมีอะไรที่ไม่สะดวกใจหรือไม่พอใจสามารถบอกกันได้ ได้อธิบายว่าตัวเราเองก็มาอยู่กับเด็กด้วย เราไม่ได้ทิ้งไป คือเป็นการสร้างความเชื่อใจและความมั่นใจให้กับผู้ปกครองอีกทางหนึ่ง เพราะเขายังไม่รู้จักว่าเราเป็นใคร แล้วเราจะพาลูกเขามาค่าย 10 วัน โดยเขาเองก็มีความเป็นห่วงลูก เพราะส่วนใหญ่เป็นเด็กที่ไม่ค่อยออกจากบ้าน" เจ้าตัวเล่าการประสานงานให้ฟัง
เหตุผลที่ "จุฬาลักษณ์" ต้องใช้ความพยายามในการพาเด็กมาเข้าค่ายครั้งนี้ เพราะเจ้าตัวมองเห็นประโยชน์และโอกาสที่เด็กๆ จะได้รับนั่นเอง..."การที่พาเด็กมาเข้าค่ายในครั้งนี้ เพราะเราเองเคยได้รับโอกาส จึงอยากให้คนในพื้นที่ใหม่ที่เราเข้าไปได้รับโอกาสแบบนี้เหมือนกับที่หนองอียอ ซึ่งจากที่หนองอียอได้เห็นแล้วว่าเด็กที่เข้าร่วมกระบวนการจะได้รับประโยชน์อะไรบ้าง และชุมชนที่เด็กเขาอยู่จะได้ประโยชน์อะไรจากการที่เด็กได้รับการพัฒนา ที่สำคัญปัญหาที่มีอยู่ในชุมชนก็จะได้รับการแก้ไขให้เบาบางลง ซึ่งแน่นอนว่าปัญหาคงไม่หมดไปกลายเป็นศูนย์ แต่จากปัญหาที่เคยมีเต็มร้อยก็จะลดลง และคนในชุมชนมีความสุขมากขึ้น จึงคิดว่าที่แห่งนี้ ซึ่งมีผู้บริหารที่เห็นความสำคัญของเด็กและเยาวชนอยู่แล้ว ดังนั้นการพัฒนาต่อยอดจะง่ายขึ้น จึงอยากให้ทุกคนเห็นความสำคัญร่วมกัน"
ในส่วนตัวเจ้าตัวมีความเชื่อมั่น ในกระบวนการค่ายจะสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเยาวชนไปในทางที่ดีขึ้น "ในค่ายนี้คิดว่าจะช่วยพัฒนาเด็กที่พามา โดยสิ่งที่เราหวังขอแค่เขาเปิดใจและกล้าที่จะแสดงออก ซึ่งเป็นทักษะสำคัญกับชีวิตของเขาเอง และการที่จะพาเขาไปสู่แกนนำของเด็กเยาวชนในพื้นที่ที่เราจะเริ่มตั้งให้เป็นรูปเป็นร่าง ซึ่งในพื้นที่มีสภาเด็กอยู่ แต่เด็กยังไม่รับทราบถึงบทบาทหน้าที่ว่าเด็กและเยาวชนที่ได้รับการแต่งตั้งต้องทำอะไรบ้าง และยังขาดผู้ใหญ่ที่จะพาเขาทำ รวมถึงผลักดันเขาคิด จึงอยากให้เขาได้มารู้จักกับตัวเอง ได้มีทักษะกระบวนการคิด การตัดสินใจ และวิธีการในการดำเนินการ คืออยากให้เขามีตัวนี้ก่อน ก่อนที่จะเริ่มไปทำโครงการใหญ่ เพราะอยากให้เขารู้จักตัวเอง ค้นหาตัวเองก่อน...”
สำหรับเป้าหมายการพาเยาวชนมาเข้าค่าย จุฬาลักษณ์ ขยายว่า.."เป้าหมายในการพาเด็กมาค่ายนี้ คือให้เขาพัฒนาตัวเองและเมื่อกลับไปยังพื้นที่อยากให้ 3 คนนี้เป็นตัวอย่างให้เด็กเยาวชนคนอื่นที่อยู่ในชุมชน ทำให้ได้เห็นโดยไม่ต้องไปโฆษณา หรือไม่ต้องไปเชิญชวน ไม่ต้องไปบังคับว่าต้องมาทำ ซึ่งด้วยลักษณะนิสัยของเด็กเขาจะมีไอดอล แล้วถ้ามีขึ้นมาและเกิดการชักชวนให้เขามาเข้าร่วมจะง่ายขึ้น โดยเด็ก 3 คนนี้จะเป็นตัวช่วยอีกทางหนึ่ง ซึ่งเป็นเด็กที่อยู่ในชุมชนอยู่แล้ว และมีทุนทางพ่อแม่ผู้ปกครองที่จะสามารถหนุนเสริมให้เขาเป็นแบบอย่างของเด็กคนอื่นต่อได้"
หลังจากเข้าค่ายเจ้าตัวได้มองเห็นการเปลี่ยนแปลงของเยาวชนทั้งสามคน.."คิดว่าได้ตามที่หวัง ซึ่งอาจจะไม่ใช่เด็กที่เก่งมากแต่เห็นผลที่เกิดขึ้น จากตัวอย่างน้องบางคนที่เดิมอยู่แต่ในบ้าน ไม่สุงสิงกับใคร โดยยอมรับเลยว่าตอนแรกทั้ง 3 คนขอกลับบ้านทุกวัน แต่พอวันที่ 3-4 เขาเริ่มอยู่ได้ และพอมาถึงวันสุดท้าย สิ่งที่เราได้ยินคือคิดถึงเพื่อน มันทำให้เรามีความสุข ที่เขาได้เห็นประโยชน์ในสิ่งที่เขาจะได้ และเห็นคุณค่าของตัวเอง เห็นคุณค่าของผู้อื่น และยอมเปิดใจ ซึ่งการที่เขาพัฒนาตัวเองภายในระยะเวลา 10 วัน ถือว่าเขาทำได้ และประสบความสำเร็จแล้ว"
หลังจากเข้าค่ายครั้งนี้ เจ้าตัวได้วางแผนให้เด็กและเยาวชน ไปทดลองทำกิจกรรม ซึ่งกิจกรรมที่เด็กเลือกคือการเพาะเห็ด เป็นการส่งเสริมอาชีพ "โดยเหตุผลที่เลือกการเพาะเห็ดนั้น เพราะสามารถใช้เวลาว่างจากการเรียนและการทำกิจกรรมต่างๆ มาทำตรงนี้ได้ ซึ่งถ้าเลือกโครงการที่ใช้ระยะเวลานานหรือต้องใช้เวลาในการดูแลนานจะเป็นการกระทบกับการเรียนของเขา และอยากให้เป็นการดำเนินงานร่วมกันทั้งทั้งทางทฤษฎีและให้เขาเรียนรู้ในการปฏิบัติจริง อยากให้เขาได้ทั้งการเรียนและใช้การเล่นเป็นการเรียนรู้ในชีวิตของเขา"
จุฬาลักษณ์มองว่าการเพาะเห็ดคือ “เครื่องมือ”สร้างการเรียนรู้ให้เยาวชน "การเพาะเห็ดเป็นกิจกรรมที่หวังว่าจะเป็นการเรียนรู้ของเขา โดยเริ่มตั้งแต่แรกคือการคิด เพื่อให้เขาคิดว่าเขาอยากทำอะไร แล้วทำไมถึงอยากทำ อย่างที่ 2 คือความรับผิดชอบ เพราะพอเขาอยากจะทำ เขาต้องลงมือทำจริงๆ ไม่ใช่แค่เอาไปแล้วให้คนอื่นดูแลหรือให้ผู้ใหญ่ไปรับผิดชอบโดยที่ตัวเองไม่ได้ทำอะไร โดยเขาต้องทำจริงๆ แล้วต้องแบ่งเวลาทั้งเวลาเรียน ทั้งเวลาเล่น และมีเวลามาดูแลตรงนี้ ซึ่งเขาต้องมีความรับผิดชอบ สุดท้ายคือในเรื่องการสรุปผลว่าสุดท้ายแล้วเขาได้เรียนรู้อะไรจากตรงนี้บ้าง"
และในฐานะพี่เลี้ยง “จุฬาลักษณ์” ไม่ได้ปล่อยให้เด็กทำงานแต่เพียงลำพัง "ในฐานะที่เป็นพี่เลี้ยงจะสนับสนุนในเรื่องความร่วมมือและให้คำแนะนำ โดยเข้าไปดูวิธีการดำเนินงาน ซึ่งเราจะไม่ปล่อยให้เขาทำลำพัง แต่เราจะเข้าไปดูเรื่อยๆ และให้คำแนะนำเรื่อยๆ แล้วร่วมลงมือทำกับเขาด้วย เป็นการเรียนรู้ด้วยกันทั้งเราและเด็กด้วยโดยในขั้นตอนนี้จะเป็นการสร้างความสัมพันธ์อีกอย่างหนึ่งโดยการที่จะให้เด็กไปพัฒนาชุมชน เราไม่ใช่เป็นคนใช้เขาอย่างเดียว เราต้องร่วมทำร่วมพัฒนา โดยให้เขาเห็นว่าเราไม่ได้ทิ้งภาระหน้าที่ให้เขาไปทำและดูแลกันเอง โดยที่เราไม่ได้ทำอะไร"
ในเรื่องงานพัฒนาเด็กและเยาวชนในพื้นที่ "จุฬาลักษณ์" ได้แผนวางไว้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว "ในช่วงแรกอยากรวมเด็กให้ได้ก่อน โดยทำให้เป็นรูปเป็นร่าง อย่างแรกคือสภาเด็กฯ ที่ยังเห็นแค่รายชื่อ แต่ยังไม่เห็นหน้าตาของเด็ก แล้วยังไม่เห็นว่าเขาดำเนินกิจกรรมอะไรบ้าง จึงอยากรวมเด็กกลุ่มนี้ให้ได้ก่อนเพื่อให้เป็นแกนนำในหมู่บ้านแล้วถ้ารวมเด็กกลุ่มนี้แล้วจะทำให้เขาเห็นความสำคัญและเข้ามาร่วมพัฒนา เป็นการขยายผลให้เด็กกลุ่มนี้ไปดำเนินการกิจกรรมต่อในหมู่บ้านของเขาเอง ในตำบลหัววัวมีทั้งหมด 8 หมู่บ้าน ส่วนจำนวนเด็กและเยาวชนมีประมาณ1,000 คน ตามทะเบียนราษฎร์ แต่เด็กที่อยู่จริงๆ น่าจะไม่ถึง 1,000 คน เพราะเด็กส่วนใหญ่จะย้ายตามผู้ปกครองไปอยู่ที่อื่น และอีกส่วนหนึ่งเป็นเด็กนอกระบบ โดยจะไปทำงานข้างนอกพื้นที่ ส่วนเด็กที่อยู่จะเป็นเด็กที่เรียนหนังสืออยู่หรือระหว่างรอทำงาน”
และสิ่งสำคัญที่จะทำให้งานพัฒนาเด็กและเยาวชนมีความก้าวหน้าคือผู้ใหญ่ที่อยู่ในชุมชนเห็นความสำคัญของเด็กเหล่านี้นั่นเอง “อยากให้คนในชุมชนเห็นความสำคัญของเด็กเพราะบางครั้งผู้ใหญ่เห็นว่าเด็กมีความสามารถ มีความคิด แต่ยังไม่มีความเชื่อมั่นว่าเด็กจะทำได้ จึงอยากให้ผู้ใหญ่ให้โอกาสและสนับสนุนเด็ก โดยเด็กกลุ่มนี้ก็จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชุมชนของเราต่อไป ถ้าเราอยากเห็นอนาคตของชุมชนของเรามีชีวิตที่ดี เราก็ควรร่วมมือกันและสนับสนุนอนาคตของชุมชนของเรา ซึ่งการพัฒนาชุมชนไม่เป็นเพียงแต่การพัฒนาสิ่งรอบตัวที่เราอยู่ แต่การพัฒนาเด็กที่จะออกไปสู่สังคมข้างนอก เขาก็จะสามารถนำความคิดหรือความรู้ประสบการณ์ที่มีไปใช้ข้างนอกได้ด้วย สุดท้ายแล้วสิ่งที่อยู่ในสังคมทุกอย่างก็จะสะท้อนกลับสู่ตัวเราเอง”จุฬาลักษณ์กล่าวตบท้าย
และสุดท้ายพลังในการขับเคลี่อนงานด้านเด็กและเยาวชนของ “นักวิชาการศึกษา” คนนี้ อยู่ที่เธอมีความเชื่อว่า“เด็กทุกคนมีศักยภาพ มีความสามารถ และมีความคิด” นั่นเอง
นี่คือตัวอย่างของ “ข้าราชการ” ที่สามารถสร้างแรงกระเพื่อม จากการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ที่เริ่มจากตนเอง ส่งผลนำสู่เด็กและเยาวชน และท้ายสุดประโยชน์ของการพัฒนา “เด็กและเยาวชน” อย่างถูกทิศทาง จะส่งผลต่อการพัฒนาชุมชน ท้องถิ่น และสังคม ซึ่งผลประโยชน์ของการสร้าง “เยาวชนคุณภาพ” นี้ ในอนาคตจะเป็นฐานทรัพยากรที่สำคัญที่จะสร้างความเจริญให้ประเทศชาติได้สืบไป.
โครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) ระยะที่ 2 : หลักสูตรนักถักทอชุมชน เพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชนและครอบครัว สนับสนุนโดยมูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย สถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) และมูลนิธิสยามกัมมาจล