นาย ชรินทร์ ทองหลาง หรือ “กุ๊ก” วัย 20 ปี จบการศึกษาระดับปวช. 3 สาขาเกษตรทั่วไป วิทยาลัยการเกษตรเทคโนโลยีราชบุรี เป็นอาสาสมัครชุมชน มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม
การ เติบโตขึ้นมาในชุมชนกะเหรี่ยง บ้านโป่งกระทิงบน จังหวัดราชบุรี ที่ยังคงดำรงวิถีชีวิตประเพณี วัฒนธรรมเหมือนแต่ก่อน ได้มีโอกาสออกไปทำงานภายนอกชุมชนก่อนที่จะกลับเข้ามารวมกลุ่มกับเพื่อนๆ เยาวชนทำกิจกรรมภายในกลุ่ม เพื่อฟื้นฟูวัฒนธรรมและดูแลทรัพยากรป่าไม้ ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนของกุ๊กที่ทำให้กุ๊กไม่ออกไปใช้ชีวิตนอกชุมชนที่เขา ไม่อยากบอกเล่าให้ใครฟังแต่ก็ถูกถ่ายทอดออกมา “ผมเคยแอบไปทำงานในกรุงเทพประมาณ 1 เดือน ผมคิดถึงทุกคน คิดถึงคนในชุมชน คิดถึงพ่อแม่ ผมไม่มีความสุข เลยตัดสินใจกลับมาอยู่บ้าน มันรู้สึกว่าออกไปนอกชุมชนแล้วมันไม่ใช่ที่ของเรา เราอยากอยู่ในชุมชนมากกว่า” ทำให้ กุ๊ก รู้สึกว่าชุมชนแห่งนี้เป็นบ้านที่เขาอยู่แล้วมีความสุขมากที่สุด และยึด แม่ เป็นต้นแบบในการดำเนินชีวิต ด้วยแม่สอนลูกในทางดีทุกอย่าง คอยสนับสนุนให้ลูกทำดี “ผมทำในสิ่งที่ดีแม่ไม่เคยว่า สนับสนุน ทำอะไรก็ได้ลูก ทำไปเหอะ ทำแล้วทำในทางที่ดี เขาจะสอนผมอย่างนี้ตลอด และเขายังเป็นคนที่รักลูกมาก” นอกจากแม่แล้ว พี่แดง พี่ไก่ ยังเป็นต้นแบบเยาวชนที่มีความสามารถ เก่ง และทำอะไรได้หลายอย่างที่กุ๊กนำมาเป็นแบบอย่างและอยากที่จะเก่งเหมือนพี่ๆ จนเป็นแรงผลักดันให้เขาทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ
กุ๊ก เป็นแกนนำรุ่น 3 ที่กำลังค้นหาอาชีพที่จะเลี้ยงตัวเองควบคู่ไปกับการทำกิจกรรมเยาวชน “ผมรู้จักกลุ่มเยาวชนมาตั้งแต่ป. 6 เห็นพวกพี่ๆ เขาทำกิจกรรมอยู่ในหมู่บ้าน มีเพื่อนชวนไปร่วมทำกิจกรรม ผมเห็นมันสนุกดีมันได้สาระ ด้วยวัยยังเด็กมีกิจกรรมอะไรก็อยากเข้าไปร่วม ในช่วง ม.ต้น เข้าร่วมตลอด แต่หลังจากจบม. 3 ต้องเข้าไปเรียนในวิทยาลัยเกษตร การเข้าร่วมกิจกรรมก็เริ่มห่างหายไป เมื่อจบแล้วเริ่มรู้สึกว่าเมื่อไม่ได้ทำกิจกรรมไม่สนุกอย่างไรไม่รู้ ก็เลยตัดสินใจเข้าร่วมทำกิจกรรมภายในกลุ่มอย่างจริงจังอีกครั้ง” การได้ร่วมกิจกรรมอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นแกนนำของกลุ่ม กุ๊ก ได้รับมอบหมายงานจากพี่ๆ ให้ช่วยรับชอบการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น นำน้องๆ ทำกิจกรรม และได้เริ่มฝึกเขียนโครงการ จากมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) ทำให้โครงการที่เขาเขียนได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินกิจกรรมใน พื้นที่อีกด้วย นอกจากนี้ กุ๊ก ยังทำหน้าที่เขียนโครงการและของบประมาณจากสภาเด็กและเยาวชนเพื่อทำกิจกรรม ของกลุ่มเยาวชน และกลายเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินโครงการต่างๆ มากมายที่เขาได้เขียนขึ้น “เป็นแกนนำก็ต้องหาโครงการให้น้องๆ ทำ ดูแลน้อง” กิจกรรมที่ กุ๊ก เข้าไปรับผิดชอบ คือ กิจกรรมเข้าป่าประจำปี เป็นแกนนำนำกิจกรรมสันทนาการ เก็บภาพกิจกรรม ติดต่อประสานคนเข้าร่วม และจัดฐานการเรียนรู้บ้าง บทบาทของ กุ๊ก จึงมีทั้งการทำงานภายนอกชุมชนเมื่อว่างกิจกรรมกลุ่ม แต่หากมีกิจกรรมภายในชุมชนเขาก็จะอยู่ช่วยงานในชุมชน
จาก การได้เข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มเพื่อนๆ เยาวชน ได้ออกไปเรียนรู้นอกชุมชน ได้ทำงานร่วมกับคนอื่นๆ ชุมชนอื่นๆ โดยการสนับสนุนจากองค์กรที่ให้ความสำคัญกับกลุ่มเยาวชน ทำให้ กุ๊ก ได้พัฒนาศักยภาพในด้านต่างๆ เช่น ความคิด การอ่าน การเขียน และการพูด เป็นต้น “ผมเป็นเด็กธรรมดาที่อยู่ในหมู่บ้าน กิจกรรมที่ผมเข้าไปทำกับพี่ๆ มันสอนน้องไปในตัวอยู่แล้ว ไม่ได้มาบอก ไม่ต้องอย่างนี้ อย่างนั้น ไม่ได้สั่ง คนที่ทำก็จะได้ คนไม่เรียนรู้ก็จะไม่ได้ แต่ทุกคนก็ได้ของใครของมัน ถึงแม้เมื่อก่อนผมอาจจะนำกิจกรรมไม่เป็น” แต่วันนี้กุ๊ก สามารถนำกิจกรรม กล้าที่จะพูด พูดในที่ชุมชน และสื่อสารเป็น ด้วยเพราะการฝึกฝนจากพี่ๆ “ผมคิดว่าเรามีความสามารถที่จะนำน้องๆ ทำกิจกรรมที่ดีที่สร้างสรรค์ในชุมชนของผมเอง ในฐานะที่ผมเป็นสมาชิกคนหนึ่งในชุมชน ผมคิดว่า ผมได้ทำอะไรสักอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน ต่อสังคมของเรา ผมคิดว่าชีวิตที่ผมเกิดมามันคุ้มค่าแล้วครับ” และสามารถแก้ไขปัญหาภายในกลุ่มเยาวชนเมื่อมันเริ่มเกิดและกำลังจะรุนแรง อันดับแรกที่กุ๊กตัดสินใจทำคือ มองที่ตัวเองก่อนว่าตัวเองรู้สึกอย่างไร ตามมาด้วยการดูแลตัวเองจัดการตัวเองให้ควบคุมความรู้สึกโกรธหรือไม่พอใจให้ ได้เสียก่อน หลังจากนั้นจึงเข้าไปคุยกับเพื่อนๆ ช่วยกันแก้ปัญหากันในกลุ่มเยาวชน “พี่เขาเป็นห่วง และคอยดูการทำงานอยู่แล้ว พอเขาเห็นว่าปัญหาใหญ่ขึ้นพี่เขาก็จะเข้ามาช่วยแก้ไขอยู่แล้ว” พี่แดง พี่ไก่ จะเป็นตัวหลักที่เข้ามาช่วยน้องแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น “เขาจะปล่อยให้ทำ ถ้ารู้ว่าเราจะไปไม่รอด ทำไม่ได้ เขาก็จะเข้ามาช่วย”
การ เปลี่ยนแปลงที่ กุ๊ก คิดว่าเป็นผลพวงจากการทำกิจกรรมของเขาและเพื่อนๆ ในกลุ่ม คือ กลุ่มเข้มแข็งและทำกิจกรรมสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ปัจจุบันกิจกรรมของกลุ่มภายในชุมชนจะลดน้อยลง เพราะสมาชิกน้องๆ หลายคนต้องออกไปเรียนต่อ เด็กๆ ที่ร่วมกิจกรรมกับกลุ่มจะมีพฤติกรรมที่ดี ไม่ก่อเรื่องทะเลาะกัน คนในชุมชนเห็นความสำคัญเห็นได้จากการสนับสนุนรถในการเดินทาง การเป็นวิทยากรให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติชุมชนให้เด็กๆ ฟัง “ผมคิดว่า การมีกลุ่มอยู่ตรงนี้ ผมว่ามันทำให้มีกิจกรรมให้เด็กๆ ทำ มิใช่วันๆ ใช้เวลาไปกับการดูละคร ดูหนัง ดื่มเหล้า ซึ่งเยาวชนที่เข้ามาร่วมกลุ่มส่วนใหญ่จะไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ เพื่อเป็นตัวอย่างให้เด็กๆ ในชุมชน” กุ๊ก ยังได้ถ่ายทอดความรู้ต่อการทำงานเยาวชนที่เขาภาคภูมิใจและมีความสุขกับสิ่ง ที่เขาทำ “ตัวเองก็เป็นคนหนึ่งในชุมชน ได้มีโอกาสเข้ามาทำงาน ในตอนแรกเราไม่คิดอะไร ไปไปมามาคนมาบอกเราว่า ทำงานอย่างนี้ เราทำงานช่วยเหลือสังคม ทำงานด้วยความชอบก็รู้สึกดีอยู่แล้ว จึงยิ่งทำให้เราสนุก” ทำให้ในวันนี้ กุ๊ก จึงทำหน้าที่เป็นแกนนำเยาวชน พาเด็กๆ ที่อยู่ในชุมชนแห่งนี้ทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ อาทิเช่น กิจกรรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กิจกรรมรณรงค์ต่อต้านยาเสพติด ดนตรี ฟื้นฟูรักษาวัฒนธรรมประเพณีของคนกะเหรี่ยง เป็นต้น การนำสิ่งที่ได้เล่าเรียนมาทดลองใช้ในการประกอบอาชีพในชุมชน ถึงแม้จะล้มเหลวบ้าง อย่างการเลี้ยงหมูหลุม และถ่ายทอดองค์ความรู้สู่น้องๆ และเพื่อนๆ ทั้งการปลูกผัก การยกแปลง ที่นำมาสอนกันในกลุ่ม เพื่อให้แปลงผักดูสวยงาม มีผักโตน่ากิน การปลูกผักปลอดสารพิษ ไม่ใช้สารเคมี ไม่ทำลายซากพืชซากสัตว์ที่จะไปทำลายธรรมชาติ ความสุขเล็กๆ ที่เกิดขึ้นจากการใช้ชีวิตในชุมชนและการทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนทำให้กุ๊ก ตั้งมั่นที่จะดำเนินชีวิตและทำกิจกรรมในชุมชนต่อไป และเด็กหนุ่มคนนี้ยังมีฝันที่อยากจะให้กลุ่มเยาวชนมีศูนย์เรียนรู้การเกษตร ที่สมบูรณ์แบบ มีการปลูกข้าว การทำการเกษตร เยาวชนช่วยกันทำ “พวกผมช่วยกันสร้างศาลาหลังคาจากขึ้นมา ที่มีงบประมาณสนับสนุนจากภายนอก ช่วยปลูกข้าวไร่ ปลูกไผ่หวาน ทำแปลงผักของน้องๆ ได้แบ่งเอาไปกินกันในครัวเรือน” ศูนย์เกษตรเกิดขึ้นจากแนวคิดพี่ๆ ที่มองว่า คนในชุมชนทำอาชีพรับจ้างเป็นส่วนใหญ่ ขายที่ดินให้คนอื่น ไม่มีพื้นที่ทำกิน อยากมีพื้นที่ที่ยังเป็นวิถีเกษตรของชาวกะเหรี่ยง ปลูกข้าว ทำการเกษตร ที่จะให้เด็กและผู้ใหญ่ในชุมชนได้มาเห็น ผ่านมาเจอ เพื่อกระตุกความคิดและหันกลับมาทำการเกษตรกัน มิใช่การประกอบอาชีพรับจ้างไปตามกระแสสังคม
“คน กับธรรมชาติ คนไม่สามารถแยกตัวออกจากธรรมชาติได้ ธรรมชาติสร้างคน คนไหนเดินตามธรรมชาติชีวิตจะดี มันไม่ผิดปกติตามที่ธรรมชาติสร้าง แต่ถ้าคนไหนเบียดเบียนธรรมชาติ ฝืนธรรมชาติมากเท่าไหร่ ชีวิตก็จะแย่ เช่น เมื่อไฟดับเทคโนโลยีต่างๆ ก็ใช้ไม่ได้ มันก็เหมือนคนอยู่กับธรรมชาติ คนเหล่านี้ก็จะมีเวลามานั่งคุยกันไม่ตื่นตกใจ แต่กลับกันเมื่อมีไฟฟ้าใช้ ทุกคนก็ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างทำกิจกรรมของตัวเอง”