นายณัฐพล บุญยง หรือ “โอ่ง” วัย 20 ปี กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ปัจจุบันยึดอาชีพเกษตรกรอยู่ในชุมชน และเป็นผู้ช่วยวิทยากรค่าย
โอ่ง เด็กหนุ่มชาวกะเหรี่ยง ที่ใช้ชีวิตในวัยเด็กอยู่บนเขาใกล้หมู่บ้าน ที่ชาวบ้านแถวนั้นเรียกกันว่า “บางกะม่า” ไม่มีเพื่อนเล่น เมื่อเขาเริ่มเข้าเรียนในชั้นมัธยมศึกษา ด้วยพ่อต้องขึ้นลงเขาไปรับไปส่งทุกวันและมีค่าน้ำมันรถเพิ่มขึ้น โอ่งจึงได้ลงมาอาศัยบ้านที่อยู่ในชุมชนและใช้ชีวิตร่วมกับคนในชุมชนมากขึ้น แต่ชีวิตของโอ่งก็ยังคงผูกพันกับ “บางกะม่า” เพราะต้องช่วยครอบครัวทำการเกษตร (ทำข้าวไร่) ที่มีพื้นที่อยู่บนเขาแห่งนี้ โอ่งถูกชักชวนจากพี่ๆ แกนนำในกลุ่มเยาวชนให้เข้าร่วมกิจกรรมในศูนย์ ฯ และจากการเข้าร่วมกิจกรรมสันทนาการทำให้โอ่งได้รู้จักกับเพื่อนๆ หลายคน กุ๊ก คือ หนึ่งในจำนวนเพื่อนๆ ที่โอ่งได้รู้จักในครั้งนั้นและกลายเป็นแกนนำเยาวชนรุ่นเดียวกันในปัจจุบัน นี้ แรงบันดาลใจที่ทำให้โอ่งเข้ามาร่วมขับเคลื่อนงานกับเพื่อนๆ และพี่ๆ จนถึงทุกวันนี้ แม้จะมีหลายคน ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ พี่แดง พี่ที่ไม่พูดเพียงอย่างเดียว แต่ลงมือปฏิบัติทำให้เห็นจริง “เขาพยายามเอาเมล็ดไม้มาสอนให้น้องได้ทำตลอด ที่บ้านก็จะมีถุงเมล็ดไม้เต็มไปหมดเลย และบริเวณบ้านพี่เขาจะเพาะต้นไม้ไว้” พี่ไก่ เป็นต้นแบบการพูดและกล้าแสดงออก “ผมศรัทธาพี่เขาในเรื่องการพูดที่มีหลักการ” และพี่โรจน์ เป็นปราชญ์ในการเกษตร การทำเครื่องเงิน และวัฒนธรรม คำบอกเล่าของโอ่งถึงพี่ๆ แกนนำต้นแบบที่เขากำลังดำเนินรอยตาม
การ ทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนๆ โดยมีพวกพี่ๆ เป็นคนจัด ทั้งกิจกรรมกินข้าวห่อร่วมกันทุกวันพุธ เล่นดนตรีทุกวันพฤหัสบดี และในทุกวันศุกร์เด็กๆ รุ่นเดียวกันก็จะมาทำงานศิลปะร่วมกัน ทำให้โอ่งรู้สึกว่า “จากไม่เคยมีเพื่อนๆ ก็มีเพื่อนเพิ่มขึ้น จากไม่กล้าแสดงออกก็กล้าแสดงออกมากขึ้น รู้จักธรรมชาติมากขึ้นครับ ถึงแม้เมื่อก่อนจะอยู่ใกล้ธรรมชาติมากแต่ก็ไม่ได้รู้อะไรมากมาย ก็แค่ได้เข้าไปเล่น” อีกทั้งความรักความผูกผันกับชีวิตที่อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ และวิถีการทำเกษตรแบบพึ่งพิงธรรมชาติของครอบครัว ทำให้โอ่งกลายเป็นแกนนำหลักที่ช่วยแกนนำรุ่นพี่ๆ ที่ ณ วันนี้พวกเขาเหล่านั้นได้กลายเป็นผู้ใหญ่ และเป็นพี่เลี้ยงที่เดินนำทางให้น้องๆ รุ่นต่อๆ มา ในการอนุรักษ์การทำข้าวไร่ และฟื้นฟูวิถีชีวิตเกษตรกรรมแบบพึ่งตนเอง โอ่งจะทำหน้าที่เป็นเสมือนพี่เลี้ยงที่คอยดูแลน้องๆ ชักชวนน้องๆ รุ่นต่อมาเข้าร่วมกิจกรรม พูดคุยกับน้อง หากิจกรรมให้น้องทำ และจากการร่วมกระบวนการกับพี่ๆ เพื่อนๆ ออกไปจัดค่ายให้กับกลุ่ม เครือข่าย และหน่วยงานต่างๆ ณ วันนี้โอ่ง สามารถเป็นวิทยากรค่ายคอยจัดกิจกรรมสันทนาการ และให้ความรู้เกี่ยวกับการทำการเกษตรอินทรีย์ได้อีกด้วย
ความ ประทับใจมากมายที่เกิดขึ้นกับโอ่งจากการทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ อาทิ “การเข้าป่าประจำปี” ถือเป็นการพักผ่อนไปในตัว ได้พาน้องๆ ไปเรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติ อีกทั้งได้พิสูจน์ตัวเองด้วยว่า “เราอยู่ในพื้นที่นะ เราได้เรียนรู้อะไรบ้าง เหมือนเราได้ทำอะไรเต็มที่ในเวลานั้น” ทั้งนี้โอ่งยังมีความฝันที่อยากให้กลุ่มเยาชนต้นรักษ์ป่าบ้านโป่งกระทิงบน ยังคงอยู่ต่อไป มีกิจกรรมต่อเนื่อง และมีงบประมาณสนับสนุนให้กิจกรรมสามารถดำเนินอยู่ได้จริงๆ เพราะด้วยความกังวลว่าเยาวชนรุ่นใหม่ๆ อาจจะไม่สนใจในงานพัฒนาชุมชน “สมัยนี้พ่อแม่มักจะปลูกฝังลูกว่า ต้องอยู่ด้วยเงิน ต้องมีรายได้ทุกวัน แต่จริงๆ แล้วผมว่าถ้าอยู่บ้านปลูกผัก เก็บผักไปขาย เก็บผลไม้ไปขาย น่าจะอยู่ได้” โอ่ง จึงมีแปลงเกษตรเป็นของตัวเองไว้ปลูกผักและผลไม้ที่อยากกิน รายได้ของโอ่งในวันนี้มาจากการช่วยเหลือครอบครัวทำการเกษตร ค่าตอบแทนจากการเป็นวิทยากรในการจัดค่ายของกลุ่มเยาวชน และได้รับเงินเดือนจากโครงการบัณฑิตคืนถิ่น เดือนละประมาณ 4,500 บาท “เขาให้แนวคิด ให้อะไรมาเยอะแยะ แต่สิ่งที่ผมทำคือ พยายามทำงานในพื้นที่ ทำแปลงเกษตร เหมือนว่าเราต้องพึ่งพาตนเองให้มากที่สุด และพัฒนาชุมชน” นี้คือ อีกหนึ่งความพยายามที่จะเป็นต้นแบบให้กับเพื่อนๆ และน้องๆ รุ่นต่อไป และความเชื่อมั่นของโอ่งต่อการขับเคลื่อนงานฟื้นฟูดูแลทรัพยากรและวัฒนธรรม ชุมชนกะเหรี่ยงให้กลับคืนมา
อ่านบันทึกการเรียนรู้ : ข้าวไร่ แตกความคิด