นางสาวมนทรัตน์ สุจีรกุลไกร
นักเรียน โรงเรียนสายน้ำผึ้ง ในพระอุปถัมภ์ฯ กรุงเทพฯ
ตำแหน่งที่ได้รับในโครงการต่างๆ
ประวัติและผลงาน


จิตอาสามีอยู่แล้วในโรงเรียน

มน แม้จะเป็นนักเรียนชั้นม.4 แต่ความคิดและประสบการณ์ บุคลิก และการพูดคุย ทำให้สัมผัสได้ถึงความเป็นผู้ใหญ่ในตัว มนเล่าให้ฟังว่า จริงๆแล้วเด็กในโรงเรียนนี้มีจิตอาสาอยู่แล้วในตนเอง และกิจกรรมจิตอาสาในโรงเรียนก็มีอยู่ก่อนแล้วในหลากหลายรูปแบบเช่นกัน เช่นรดน้ำต้นไม้  ตัดต้นไม้  โครงการห้อง หรือไปศูนย์เมอร์ซี่ 



แม้ ว่าหลายคนจะให้ความหมายของจิตอาสาแตกต่างกันไป แต่มนอธิบายว่าจิตอาสาของนักเรียนส่วนมากเกิดจมาจากการช่วยงานอาจารย์ ตัวมนเองก็มาจากช่วยเหลืออาจารย์ในโรงเรียนเป็นประจำ เนื่องจากมีความสนใจกิจกรรมตั้งแต่แรกเข้าโรงเรียนสายน้ำผึ้ง แม้ว่าตอนแรกจะเป็นอบรมยาเสพติดที่ไปแทนเพื่อน (เพื่อนไม่ว่าง) แต่ต่อมามีกิจกรรม/โครงการอะไรดีๆ เพื่อนก็จะมาบอกว่า “รู้ว่าเธอชอบอย่างนี้ จะไปไหม” ผิดกับนักเรียนบางคนที่ทำกิจกรรมเพราะโดนบังคับ ใครไม่ทำโดนหักคะแนน แต่สำหรับมนและเพื่อนๆอีกหลายคนก็ทำด้วยใจจริง



ส่วน ที่บ้านแม่ก็เข้าใจและสนับสนุนให้มนไปทำกิจกรรมข้างนอก เพราะมีอาจารย์รับรองทำให้ไว้วางใจได้  บางครั้งมนกลับบ้านดึก แม่ก็บอกว่า “ทำอะไรให้เสร็จเร็วๆ หน่อย ทำบ้างแล้วพักเสียบ้าง ให้คนอื่นทำบ้าง” แม่สอนเสมอว่าขอให้เป็นคนดีก็พอ และแม่ก็ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง บางครั้งแม่ก็เย็บผ้าและเอาไปแจกฟรี เอาไปให้บ้านยายที่จังหวัดลำปาง หรือเอาเสื้อผ้าและตุ๊กตาที่ได้มาไปบริจาคบ้าง ส่วนพี่สาวของมนใจจริงก็อยากทำจิตอาสา แต่เพราะมีภาระต้องทำงาน ทำให้ไม่มีโอกาสทำอะไรดีๆเช่นนี้อย่างมน แม่เองก็ก็อยากทำจิตอาสามากกว่านี้ แต่ฐานะมีเพียงเท่านี้ก็ทำตามเหมาะสม



แรงจูงใจและการหนุนเสริม

ต้นแบบจากครู และหนูอยากเป็นหมอ
การ ไปโรงพยาบาลคือการได้ไปทำจิตอาสาเต็มรูปแบบจริงๆของนักเรียนโรงเรียนสายน้ำ ผึ้ง ซึ่งในกลุ่มก็มีเพื่อนนอกชุมนุมอยู่ด้วย (เป็นเพื่อนห้องเดียวกัน) เพื่อนๆหลายคนรวมทั้งมนด้วยอยากจะเรียนหมอจึงสนใจไปทำจิตอาสาในโรงพยาบาล แต่สิ่งสำคัญมนบอกว่าได้แบบอย่างและแรงบันดาลใจมากจากอาจารย์ประไพ อาศัยที่ทำงานด้วยกันกับอาจารย์มามากตั้งแต่ม.1–ม.5 เห็นว่าอาจารย์เป็นคนมุ่งมั่นทุ่มเทกับงานมาก ทำอะไรก็ทำจริง ไม่ได้ทำเพื่อได้ผลงาน หลายกิจกรรมอาจารย์ทำเพราะอยากทำด้วย ทำแล้วมีความสุข และมีหลักยึดว่าทำอะไรทำแล้วต้องทำให้สุด ปล่อยโอกาสให้เด็กเต็มที่ เอาความคิดเด็กเป็นหลัก (ซึ่งอาจารย์บางคนไม่ได้ให้โอกาสทางความคิดแก่เด็ก) ทำให้งานจิตอาสาของสายน้ำผึ้งอยู่ได้นาน



ไม่ เฉพาะอาจารย์ประไพเท่านั้น มนคิดว่าโรงเรียนก็มีส่วนความสำคัญด้วย เพราะอาจารย์ส่วนใหญ่ในโรงเรียนก็สนับสนุน ก่อนจะทำจิตอาสาในโรงพยาบาล ก็มีกิจกรรมอื่นๆที่แสดงให้เห็นว่าโรงเรียนให้ความร่วมมือเต็มที่ เช่น กิจกรรมของสภากาชาดไทยมาก่อน  ไปขอรับบริจาคของ อาจารย์และนักเรียนคนไหนที่บ้านมีของใช้ก็จะให้มา คนที่ไม่มีของกก็ให้กำลังทรัพย์แทน




โรงพยาบาลมีสุข จิตอาสาที่แตกต่าง
จาก กิจกรรมในโรงเรียนซึ่งเริ่มต้นมาจากงานบ้าน เช่น เก็บขยะ รดน้ำดูแลต้นไม้ อันเป็นจิตอาสาภาคปฏิบัติอย่างหนึ่งที่ทำให้นักเรียนมีจิตสาธารณะที่จะอยาก ช่วยคนอื่น อย่างน้อยทุกคนต้องมีความสามัคคีที่จะให้ต้นไม้อยู่ได้  และจากกิจกรรมจิตอาสาก่อนหน้านั้นที่ไปทำเป็นครั้งๆ (ปีละครั้ง) ตามมูลนิธิเด็ก เพราะในแต่ละแห่งที่ไปจะมีคนจองเวลาเพื่อไปทำกิจกรรมเยอะ  เมื่อได้ลงสนามปฏิบัติการจริงที่โรงพยาบาล มนเล่าความรู้สึกว่า เป็นความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด กิจกรรมเดิมที่เคยไปทำ นักเรียนจะดูสนุกสนานเฮฮามาก แต่โครงการโรงพยาบาลมีสุข (จิตอาสาในโรงพยาบาล) ที่มีพี่ๆเข้ามาชวนคิด ชวนทำ ให้ไปโรงพยาบาลเด็ก นักเรียนก็เล่นมาก (ทำกิจกรรมมาก) ไม่ได้ เพราะเด็กบางคนเล่นไม่ได้ มีสายระโยงระยางเต็มไปหมด มนเกิดความรู้สึกว่าเด็กที่โรงพยาบาลจะถูกปิดกั้น (ขาดโอกาส) มากกว่า แม้จะมีจำนวนมากกว่าสถานที่อื่น แต่ไม่ได้รับโอกาสเหมือนเด็กที่ศูนย์อื่น เช่นศูนย์เมอร์ซี่




ประสบการณ์จิตอาสาและความประทับใจ
กิจกรรม ที่มนทำที่โรงพยาบาลเด็ก ส่วนใหญ่จะเป็นชั้น 8 (เป็นเด็กที่ป่วยเป็นมะเร็งหรือโรคหนักๆ) และชั้นที่ 7 (เด็กป่วยน้อยกว่า) ตอนที่ทำครั้งแรกรู้สึกเกร็ง ไม่รู้จะทำได้มากน้อยแค่ไหน แต่พอได้ลงมือทำจริงก็รู้สึกโล่งขึ้น เป็นเพราะปฏิกิริยาตอบรับของน้องๆแตกต่างกัน บางคนก็นิ่งๆ ถามบ้างก็ไม่ตอบ แต่เมื่อเราเล่นมากขึ้น คุยมากขึ้น เขาก็เริ่มคุ้นเคยแล้วจะพูดออกมา



ความ ประทับใจที่อยากเล่าให้ฟัง สำหรับน้องๆที่ชั้นที่ 8 ครั้งล่าสุดที่ไป พบเด็ก 2 คนที่ซนแก่นมาก ชื่อว่าน้องพีชกับพัน ป่วยเป็นโรคไต แต่ทั้งคู่ก็สนุกสนานไม่เครียด ช่วยทำให้เราสนุกสนานไปด้วย  ส่วนที่ชั้นที่ 7 มนประทับใจที่เจอเจอน้องแจนซึ่งเพิ่งผ่าตัดออกมาจากห้องไอซียู ตอนนั้นพี่ๆขอนักเรียนจิตอาสามาช่วยน้องร้อยลูกปัด มนก็ชวนน้องแจนร้อย แต่น้องก็นิ่งๆไม่ตอบสนอง เลยถามว่า “เอางี้ดีไหม ให้พี่ร้อยให้ไหม” พอร้อยเสร็จให้ย่าของแจนก็ชมว่าสวยจังเลย และถามน้องแจนต่อว่าสวยไหม พอน้องแจนตอบว่าสวย มนก็สวมสร้อยข้อมือให้น้อง เมื่อน้องเริ่มสนิทสนมก็บอกความต้องการว่าอยากระบายสี มนสังเกตเห็นมือที่ระบายของน้อง ต้องค่อยขยับเหมือนเพิ่งฝึกหัดแล้วก็สงสารและเอ็นดู



เด็กๆ แต่ละคนที่เจอก็แตกต่างกันไป ความชอบก็แตกต่างกัน ไปอีกห้องหนึ่งก็จะเจอเด็กอีกแบบหนึ่ง เช่น บางคนชอบวาดรูป บางคนอยากเล่นคอมพิวเตอร์ ในขณะที่น้องคนหนึ่งอายุ 8 เดือน ชอบเล่นโยนลูกบอล บนใบหน้าเป็นแผลน้ำมันลวก ซึ่งตอนแรกมนเห็นแล้วน่ากลัว แต่พอมองไปมองมาน้องเขาก็น่ารักดี เด็กบางคนชอบเล่นขายของ มาทีไรก็เล่นขายพิซซ่าตลอด แต่ในขณะเดียวกันน้องๆหลายคนไม่พูดไม่จาก็เจอบ่อย มนเคยเจอเด็กอายุ 13 ปีที่ไม่พูดเลย ตอนแรกถามว่าจะฟังนิทานหรือเปล่า (มีรถเข็นหนังสือนิทานที่มนช่วยกันทำกิจกรรมอ่านนิทานให้น้องฟังกับเพื่อน) เพื่อนเป็นคนถือหนังสือ มนเป็นคนเล่า เวลาเล่ามนก็ชอบออกลีลาท่าทาง น้องก็เริ่มขำและเล่นด้วย



มน เล่าให้ฟังว่า กิจกรรมที่แตกต่างหลากหลาย ทำให้บรรยากาศสนุกสนาน วันแรกที่มนเข้าไปทำกิจกรรมที่ห้องสันทนาการ เพื่อนกลุ่มที่เป่าลูกโป่ง นั่งบิดลูกโป่งกัน เพื่อทำให้น้องมีความสุขกับลูกโป่ง และยังทำทำให้มนได้ฝึกบิดลูกโป่งด้วย ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งก็นั่งวาดรูปอย่างเมามัน กิจกรรมอื่นๆ ก็เช่น เกมเศรษฐี ที่มีการแบ่งวงกัน ตัวพี่ๆเองบางครั้งก็ไปอยู่กลุ่มเกมเศรษฐีเล่นกับน้องๆ  



พี่ จิตอาสาจะเป็นคนสร้างสีสันและความสุขให้เกิดขึ้นในโรงพยาบาล จะเป็นคนวิ่งไปถามน้องๆในห้องต่างๆว่าใครพอลุกได้ให้มาเล่นที่ห้องสันทนาการ สร้างความสนใจให้แก่เด็กๆ มีน้องคนหนึ่งชื่อแตงโมวิ่งมาบอกพี่ๆว่า “หนูสนใจอยากเล่นค่ะ” น้องแตงโมอยากเล่นเกมเศรษฐีพี่ในเล่นเป็นนายธนาคารกับน้อง เมื่อเด็กๆเล่นกันอย่างเมามัน สักพักก็ปล่อยให้เขาเล่นกันเองต่อ



ออก มาจากห้องสันทนาการ มนเจอน้องคืนอื่นๆก็เอานิทานให้อ่าน แต่เมื่อแม่บอกว่าน้องอ่านไม่ออกและให้มนไปหยิบเล่มที่มีภาพมากๆมา มนก็เอามา 3 เล่ม ให้น้องเลือกว่าจะเอาเล่มไหน น้องบอกเอาหมดเลยทั้ง 3 เล่ม แม่ก็บอกว่าเล่มเดียวก็พอ น้องก็หยิบไปอ่านด้วยความเพลิดเพลิน ให้น้องอ่านนิทานสำเร็จแล้ว มนก็ชวนน้องเล่นเกมต่อจิ๊กซอร์ บางครั้งก็สอดแทรกความรู้ เช่น น้องจะต้องหยิบตัว C แต่ไปหยิบตัวอื่นมา ก็เลยบอกให้หยิบ C พร้อมทั้งอธิบายตัว C มีรูปร่างอย่างไร น้องก็ลองจนถูกต้อง ทำให้ได้เรียนรู้ศัพท์ภาษาอังกฤษไปด้วย



กิจกรรม จิตอาสาในโรงพยาบาลที่มนไป 3 ครั้ง แต่ละครั้งก็มีระยะห่างพอสมควร สาเหตุที่มีโอกาสได้ไปน้อยเพราะติดเรียนพิเศษ  ติดค่าย ติดงานจิตอาสาในวันเสาร์-อาทิตย์ ทั้งที่ใจจริงคืออยากไปมาก อยากไปด้วยกันเป็นกลุ่มทั้งกลุ่มเก่าและกลุ่มใหม่ (รุ่นพี่และรุ่นน้อง) แต่พอถามไปถามเพื่อนคนอื่นก็ติดเรียนพิเศษเหมือนกันมน เลยคิดว่าคราวหน้าไปคนเดียวก็ได้



ทุก ครั้งที่มนกลับไปในโรงพยาบาล ส่วนใหญ่พบว่าน้องๆออกจากโรงพยาบาลไปแล้วหลายคน มนยังไม่เคยเจอกรณีที่ไปแล้วพบว่าน้องๆที่เคยทำกิจกรรมด้วยเสียชีวิตไป แต่ถ้าเจอคงจะรู้สึกใจหายเหมือนกัน มีเพื่อนบางคนมีใจผูกพันฝันเห็นน้อง กลัวว่าจะเป็นลางไม่ดี ก็เลยไปที่โรงพยาบาลปรากฏว่าน้องอาการดีขึ้นย้ายออกจากโรงพยาบาลแล้ว



อะไรที่เราได้เรียนรู้

ค้นพบตัวเองจากการเรียนรู้ผู้อื่น
จาก เดิมที่เคยเกลียดเด็กเข้ากระดูกดำ พอไปทำจิตอาสาในโรงพยาบาล กลับทำให้มนหันมาชอบเด็ก และเล่นกับเด็กเป็น เพราะรู้สึกว่าน้องเจ็บป่วยกว่าเรา ทรมานกว่าเรา ทำอะไรที่อยากทำก็ไม่ได้ ส่วนเราทำทุกอย่างได้โดยไม่ต้องให้คนอื่นช่วย บางครั้งที่รู้สึกท้อถอย น้อยใจเพื่อนว่าเหมือนไม่สนใจเรา แต่พอมาเล่นกับน้องก็คิดว่าน้องเขามีทุกข์กว่านี้เขายังทนได้ ดูน้องเขาไม่ซึมเศร้าเลย นอกจากได้ข้อคิดแล้ว บางครั้งเราก็เรียนรู้ไปกับน้องด้วย อย่างเช่นการเป่าลูกโป่งเป็นต้น



ที่ สำคัญจิตอาสาสามารถทำให้มนค้นพบตัวเองและได้ทำในสิ่งที่ตัวเองค้นพบ เช่น อยากเป็นครู และคิดว่าการทำกิจกรรมจิตอาสาอย่างนี้ ก็สามารถช่วยสอนน้องๆได้ รู้วิธีการเข้ากับเด็กได้ ตอนไปโรงพยาบาลนี่เองทำให้มนรู้ตัวเองแจ่มชัดขึ้นว่า จริงๆแล้วอยากเป็นครูเพราะอยากสอนเด็ก อยากให้เด็กโตมาอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถทำให้เราปรับตัวเข้าได้กับทุกคน นอกจากได้เรียนรู้วิธีการเข้ากับเด็กแล้ว ตอนไปโรงพยาบาลก็เจอผู้ปกครองที่ใจดีเล่นกับเราด้วย ทำให้รู้วิธีการทำกิจกรรมกับผู้ใหญ่ด้วย มนคิดว่าถ้าตัวเองได้มีโอกาสเป็นครูจริง ก็สามารถจะบูรณาการของเล่นมาใช้เป็นสื่อณฯการเรียนการสอนได้ เพราะเคยใช้ในโรงพยาบาลมาก่อนนั่นเอง




ทำให้เด็กวิทย์ฯไม่จมติดอยู่กับการเรียน
จิตอาสาทำให้เด็กวิทย์ฯอย่างมนได้ประสบการณ์ มนใช้คำว่า “ได้เจอสปช. (สร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต) เยอะมาก เมื่อก่อนตอนเรียนหนังสือมีสอนแบบนี้ แต่ตอนนี้ดีกว่าที่ได้มาเจอของจริงแทน”เพราะ ถ้าไม่มีการทำกิจกรรมจิตอาสาแล้ว เด็กวิทย์ฯอย่างมนก็คงจมอยู่กับการเรียนในห้องเรียน และการเรียนพิเศษตั้งแต่เช้าถึง 2 ทุ่ม แต่จิตอาสาทำให้การเรียนรู้สมดุลขึ้น เพราะได้ลงมือทำด้วย



การ ไปโรงพยาบาลก็ได้เจอกับความรู้ที่มีอยู่ในห้องเรียน เจอวิทยาศาสตร์ของจริง เจอเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์จริง และโยงกับหลายวิชาได้ เช่น เรื่องอารมณ์กับความเครียดในวิชาสุขศึกษา เรื่องชุมชนและพลเมืองดีในวิชาสังคมศึกษา เรื่องการเป็นคนมีศีลธรรมและเป็นชาวพุทธที่ดี ตลอดจนทำให้รู้ว่าศีลธรรมเป็นเรื่องจริง เกิดแก่เจ็บตายเป็นความจริง การได้เห็นของจริงจะรู้สึกถึงได้จริงๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับในวิชาพระพุทธศาสนา เป็นต้น



เข้าใจและเปลี่ยนมุมมองของชีวิต
มน สะท้อนว่า จิตอาสาทำให้เข้าใจมุมมองของแต่ละคน รู้จักให้มากขึ้น เห็นว่าตัวเองมีคุณค่าในสังคมมากขึ้น จากวัน ๆ ที่เรียนพิเศษเสร็จก็เล่น เที่ยว และกลับบ้าน ตอนนี้ถ้าว่างไม่มีอะไรทำถ้าไม่ออกกำลังกาย ก็ไปเยี่ยมน้องดูแลน้อง เห็นตัวเองว่ามีคุณค่า



มน สะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงของเพื่อนๆว่า เพื่อนๆในห้องเพื่อนจะเป็นคนมีความคิด แต่ก็จะฟังความคิดตนเองไม่ฟังความคิดเห็นของคนอื่น (ความคิดของคนอื่นก็ดีแต่ไม่ฟัง) หรือเพื่อนๆจะเข้ามาช่วยก็คิดว่าเข้ามาสอด ทำให้เพื่อนคนอื่นรู้สึกว่าเราจะคิดบ้างไม่ได้เลยหรอ จิตอาสาทำให้เพื่อนๆฟังความคิดเห็นของคนอื่นมากขึ้น และทำให้มนเองซึ่งปกติเป็นคนเปิดกว้างอยู่แล้ว (อย่างตอนที่เป็นหัวหน้าห้องตอน ม.3 เวลาคิดอะไรไม่ออกก็ถามเพื่อน) ได้เตือนตัวเองว่าบางครั้งเราก็อาจเผลอเป็นแบบนั้นบ้าง




อะไรที่เราเปลี่ยนแปลง
มน คิดว่าจิตอาสาในโรงพยาบาลที่เธอและเพื่อนๆทำ มีส่วนช่วยในการอุดช่องโหว่ระหว่างหมอกับเด็ก ระหว่างเด็กกับผู้ปกครอง กล่าวคือเด็กบางคนพ่อแม่ก็ไม่ได้เฝ้า บางคนมีย่ายายมาเฝ้า ย่ายายก็ชวนน้องเล่นแบบเด็กๆไม่ได้ เราเข้าไปก็จะมีโอกาสช่วยเหลือเขาบ้าง อย่างพยาบาลก็งานยุ่งไม่มีเวลา สีหน้าดูเคร่งเครียด แต่ก็ให้ความรู้แก่มนและเพื่อนๆดี มาทีไรมนก็เห็นพี่ๆพยาบาลส่วนใหญ่นั่งจดงาน และทำงานยุ่งตลอดเวลา ทำให้รู้สึกว่าการมีเรามาช่วยทำให้เขาได้มีเวลาไปทำธุระอื่น เช่น ตรวจไข้ ให้ยา ให้อาหาร มากขึ้น ที่สำคัญมนสังเกตเห็นว่าพอพวกเธอเข้ามาพยาบาลก็รู้สึกสดชื่นขึ้น



ใน ส่วนตัวเอง มนรู้สึกว่าความคิดตัวเองจะกว้างขึ้น เมื่อก่อนเวลาทำงานคิดไม่ค่อยออก แต่ตอนนี้พอมาทำกิจกรรมจิตอาสามีประสบการณ์มากขึ้น ได้สัมผัสโลก ได้ทำงานกับเพื่อนมากขึ้น ก็มีส่วนทำให้คิดได้มากขึ้น เพราะประสบการณ์จากจิตอาสาทำให้เราเป็นคนดีขึ้น ช่วยให้เรารู้คุณค่าของความเป็นคนมากขึ้น มนบอกความในใจว่าคุณค่าของความเป็นคนอยู่ที่ใจ ใจเราอยากจะทำอะไรแล้วก็ให้ลงมือทำเป็นจริงเป็นจัง อยากให้คนคิดว่าจิตอาสาเป็นเรื่องใกล้ตัว อย่างน้อยเราก็สามารถทำจิตอาสาให้กับตัวเองและคนใกล้เคียงได้ ไม่จำเป็นต้องไปที่โรงพยาบาล ทำสิ่งเล็กๆน้อยๆที่มีความสุข แค่เก็บขยะชิ้นเดียวเราก็มีความสุขแล้ว



ดู เหมือนจิตอาสาทำให้เข้าใจโลกและชีวิตมากขึ้น เราเลยตั้งคำถามกับมนว่า สมมติว่ามีเพื่อนที่เรียนอย่างเดียว กับอีกคนหนึ่งทำจิตอาสาด้วย หากสองคนนี้มีปัญหาชีวิต จะมีวิธีคิดหรือวิธีจัดการแตกต่างหรือเหมือนกันอย่างไร มนให้ความเห็นว่า ขึ้นอยู่กับลักษณะเฉพาะของแต่ละคนว่าเป็นคนคิดมากคิดน้อยด้วยเหมือนกัน แต่คนที่เคยทำจิตอาสา จะคิดได้ว่ามีคนที่ลำบากกว่าเรา ทุกข์กว่าเรา ปัญหาเราแค่อกหักเป็นเรื่องเล็ก มาช่วยน้องดีกว่า น้องเขาลำบากรอให้คนอื่นมาช่วยอยู่



ใน ห้องเรียนมนก็เป็นที่ปรึกษาให้เพื่อนบางคน โดยเฉพาะคนที่เปิดใจเข้ามาหาเรา การเรียนรู้ข้างนอกจากที่ได้อบรม ฯลฯ มา มีส่วนช่วยในการให้คำปรึกษาเพื่อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยาเสพติด ที่มีเพื่อนกลุ่มหนึ่งมีปัญหาเหล่านี้ตั้งแต่อยู่ม.ต้น ทำให้ได้โยงความรู้และประสบการณ์มาใช้จริง เช่นเดียวกับจิตอาสา ที่มนคิดว่ามีประโยชน์กับชีวิตเยอะ ทำแล้วเราเปลี่ยนแปลงไป จากที่ขี้เกียจพอเข้าชมรมจิตอาสาก็รู้สึกกระตือรือร้นขึ้น เห็นคุณค่าในเวลาว่ามีน้อยเต็มทนควรจะนำไปทำอะไรดีๆบ้าง การเห็นน้องๆที่เจ็บมากกว่าเรา ได้รับโอกาสน้อยกว่าเรา ทำให้เราพอเข้าใจตนเองมากยิ่งขึ้น




จิตอาสาช่วยเติมเต็มวันรุ่นอะไร
สำหรับ วัยรุ่นที่ไม่เคยมีประสบการณ์ทำจิตอาสา เพราะขี้เกียจที่จะออกมาเผชิญการเรียนรู้ข้างนอก บางคนก็ไปดูหนังบ้าง ติดแฟนบ้าง เรียนพิเศษบ้าง แต่มนอยากให้แบ่งเวลามาลองทำดู การทำกิจกรรมอย่างนี้ก็ช่วยให้ผ่อนคลายได้ด้วย เพราะการเล่นกับน้องๆทำให้เราไม่คิดจมปลักอยู่กับตัวเอง จริงๆเรื่องจิตอาสาและการให้นี้อยู่ในจิตใต้สำนึกของทุกคน แต่ถูกความคิดบิดบังว่าจะไปโรงพยาบาลทำไม กลัวว่าจะทำไม่ได้ ก็เลยไม่ได้มีโอกาสลองดู 



ส่วน จิตอาสากับสังคมและการเมือง มนมีความเห็นว่าจิตอาสาไม่ยาก ไม่ต้องใช้ความคิดอะไรมาก แต่จะทำให้เรารู้จักความมีน้ำใจ ได้ช่วยเหลือผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นมีรอยยิ้ม ตอนนี้ประเทศต่างแบ่งฝั่งแบ่งฝ่ายกัน ในความคิดของเด็กๆไม่อยากให้เกิดสถานการณ์แบบนี้ อยากเห็นการหันกลับมาทำไม่ใช่เอาแต่พูด จิตอาสาจะเป็นจุดเริ่มต้นให้คนมารวมตัวกันทำดี และนำไปสู่คุณธรรมเช่นรู้จักความสามัคคี เป็นต้น คนในสังคมต้องช่วยกัน เพราะงานนี้ทำคนเดียวไม่สำเร็จแน่