ด้วยการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์นั้น ผมคิดว่าเป็นเรื่องของการนำสิ่งที่มีอยู่รอบตัวเรา มาใช้ให้เกิดประโยชน์ และทุกคนมีความเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ ผมโชคดีมาก ที่ได้อยู่ในโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในชุมชนที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม นักเรียนส่วนใหญ่ก็เป็นลูกชาวนา ลืมตาขึ้นมาทุก ๆ เช้าก็สัมผัสกับกลิ่นท้องไร่ท้องนา จึงเป็นสิ่งที่ง่ายสำหรับการพูดคุยกับนักเรียน ถึงการปลูกพืชผักเลี้ยงชีวิตประจำวัน
วันหนึ่ง ผมได้พานักเรียนเดินสำรวจรอบ ๆ โรงเรียน พบว่า บริเวณใต้ต้นไม้มีการทับถมของใบไม้จนกลายเป็นปุ๋ยหมักที่ดี ผมและนักเรียนได้ลองคุ้ยดูใต้กองใบไม้เหล่านั้น ดินมีความร่วนชุ่มชื้นมาก มีไส้เดือนอาศัยอยู่ จึงคิดในใจว่าถ้าเรานำไปปลูกต้นไม้คงงามมาก และอีกอย่างก็คิดถึงแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ถึงการดำเนินชีวิตแบบพอเพียง เกิดความคิดว่าเราคงต้องเริ่มสอนให้นักเรียนรู้จักความพอเพียงด้วยการนำสิ่งที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ และได้ประโยชน์จากสิ่งที่ทำ และที่สำคัญต้องเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด หรือไม่เสียค่าใช้จ่ายเลย จึงได้พูดคุยกับนักเรียนถึงการทำพืชผักสวนครัว สำรวจว่าที่บ้านของนักเรียนมีพืชผักสวนครัวอะไรบ้าง ช่วยกันนำมารวมกัน
เพื่อจัดทำสวนผักสวนครัว ได้ออกแบบการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงโดยเน้นการปลูกพืชสมุนไพร และให้นักเรียนทำโครงงานสำรวจพืชสมุนไพรรักษาสุขภาพและสิ่งแวดล้อม จากนั้นให้นักเรียนนำเสนอโครงงานโดยให้นักเรียนพูดคุยถึงสมุนไพรต่างๆ ว่าที่บ้านนักเรียนมีอะไรบ้าง และนำมาใช้อย่างไร นักเรียนส่วนใหญ่บอกว่าพ่อแม่นำมาทำเป็นอาหาร บางครั้งก็นำมากินรักษาโรค ที่บ้านของนักเรียนมีการปลูกพืชสมุนไพร แต่เป็นสมุนไพรในครัวเรือน นักเรียนฝึกปฏิบัติปลูกพืชสมุนไพรที่โรงเรียน ใช้ชื่อว่า “สมุนไพรสร้างสุขภาพชีวิต เศรษฐกิจพอเพียง” โดยนักเรียนมีการศึกษาค้นคว้า ชื่อสมุนไพร สรรพคุณสมุนไพร การนำไปใช้ ค้นพบค่าใช้จ่ายที่ลดลง(เปรียบเทียบค่าใช้จ่าย) โดยที่นักเรียนได้กินอาหารเป็นยา ปลอดภัยจากสารเคมี ปลูกเอง กินเองภายในครัวเรือน ไม่ต้องซื้อพืชผักจากตลาด เช่น เมื่อก่อนซื้อตะไคร้ 5 บาท ปัจจุบันลดค่าใช้จ่ายลงไปไม่ต้องเสียเงิน 5 บาท ค้นพบความภูมิใจ นักเรียนรู้สึกตื่นตาตื่นใจ สมุนไพรบางชนิดนักเรียนไม่เคยเห็น พอได้มาปลูกร่วมกันก็ได้เห็น และรู้ถึงความมหัศจรรย์ของสมุนไพร ที่พวกเขาไม่เคยคิดสมุนไพรจะมีประโยชน์อย่างมาก ค้นพบการพึ่งตนเองในครัวเรือน ที่ตนและผู้ปกครองละเลยไป โดยสมุนไพรที่มีอยู่ในบ้าน แต่กลับมองข้ามไปไม่ได้ใส่ใจ เช่น ปวดท้องก็ไปหาหมอ ทั้งๆที่ในบ้านก็มีขมิ้นซึ่งแก้ปวดท้องได้ จึงพึ่งตนเองด้วยสมุนไพร ลดการไปหาหมอ
นอกจากนี้ยังค้นพบรู้ประมาณตน รู้จักการดูแลสุขภาพ กินอาหารเป็นยา ใช้สมุนไพรในบ้าน ปลูกเอง รู้เหตุผลที่ใช้ตัดสินใจ นักเรียนศึกษาและได้ปลูกพืชสมุนไพร เรียนรู้สรรพคุณ เมื่อพบว่าตนเองเจ็บป่วยหรือมีอาการผิดปกติก็สามารถรู้ได้ว่าใช้สมุนไพรชนิดใดรักษา ตัดสินใจได้ถูกต้องตามสาเหตุของความผิดปกติของร่างกาย และในวันต่อมา นักเรียนก็ช่วยกันทำสวนพืชผักสวนครัว โดยใช้เวลาว่างแต่ละวัน นักเรียนมีความสุขในการทำงานร่วมกัน ระหว่างที่นักเรียนร่วมกันทำงาน ได้สอดแทรกความรู้ให้นักเรียนได้เข้าใจถึงประโยชน์ที่ได้รับ การนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ปุ๋ยที่ใช้ไม่ต้องซื้อ พอพืชผัก เจริญเติบโต มีผล เราสามารถเก็บรับประทานได้ โดยไม่ต้องไปซื้อจากตลาด เป็นการลดรายจ่ายให้กับครอบครัวของนักเรียน ขอเพียงให้เรามีความขยัน มีความอดทน นักเรียนมีความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบการจัดทำสวน โดยใช้ไม้ไผ่ทำเป็นซุ้มให้พืชผักขึ้นไปสวยงาม สอบถามนักเรียนแล้วว่าจะนำไปทำที่บ้านบ้าง จะได้ไม่ต้องให้พ่อแม่ซื้อผักสวนครัว ซึ่งสวนเล็ก ๆ ที่นักเรียนช่วยกันทำ มีผักสวนครัวมากกว่า 10 ชนิด
ผมมีโอกาสได้ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมถึงประโยชน์ของพืชผักสวนครัว จึงได้รู้ว่าพืชผักสวนครัวเป็นพืชสมุนไพรที่มีคุณประโยชน์อย่างมหาศาล เป็นทั้งอาหารและเป็นยารักษาโรค ในปัจจุบันจึงได้สอนให้นักเรียนได้รู้ถึงสรรพคุณของสมุนไพรไทย ด้วยการจัดทำสวนสมุนไพรสร้างสุขภาพชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง อาจมีคำถามว่า ทำไมจึงต้องเป็นสวนสมุนไพร เหตุผลก็คือ สมุนไพรที่นำมาปลูกนั้นสามารถนำมาเป็นอาหารได้ บำรุงสุขภาพ และใช้เป็นยาสมุนไพรได้ เราใช้พื้นที่ไม่มากในการปลูกพืชสมุนไพรและพืชผักสวนครัว แต่มีการแบ่งให้เป็นสัดส่วน ให้สวยงาม เพียงเท่านี้เราก็ได้พืชผักสวนครัว พืชสมุนไพรที่มีหลายชนิด ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง “มีความสุข มีความสามัคคี มีความรับผิดชอบ อยู่อย่างพอเพียง”