กิจกรรม “เดือนของแม่” โรงเรียนกงไกรลาศวิทยามีบรรยากาศเต็มไปด้วยความรักความเอื้ออาทรอันเนื่องมาจากโรงเรียนของเราได้จัดกิจกรรมเดือนของแม่ ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งที่นำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้
ในกิจกรรมเดือนของแม่เราจะเริ่มตั้งแต่ ท่านผู้อำนวยการให้วาทธรรมประจำสัปดาห์ ตลอดทั้งเดือนสิงหาคม คือ “คนดีเริ่มที่ความกตัญญู ความกตัญญูเป็นบ่อเกิดแห่งความดี” แล้วให้นักเรียนบันทึกลงในสมุดสื่อใยรักทุกวัน โดยให้ขยายความว่านักเรียนคิดอย่างไรกับวาทธรรมนี้ ดีหรือไม่ดี นักเรียนจะทำอะไร อย่างไร ได้บ้าง
กิจกรรมที่สอง คือ ในแต่ละระดับชั้นก็จะให้นักเรียนแต่งคำประพันธ์เกี่ยวกับแม่ โดยความยากง่ายก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการเรียนรู้ของนักเรียนแต่ละระดับ เช่น ม.3 แต่งกาพย์ยานี 11 ม.4 แต่งอินทรวิเชียรฉันท์ ม.5 แต่งฉันท์ ป็นต้น ซึ่งนักเรียนแต่ละระดับชั้นจะแต่งคำประพันธ์ได้นั้นก็ต้องได้เรียนรู้ฉันทลักษณ์ของคำประพันธ์
กิจกรรมที่สาม คือ ให้นักเรียนไปสัมภาษณ์แม่เกี่ยวกับการอุ้มท้อง การฟูมฟักลูก ความชื่นใจที่ได้จากลูก ว่าแม่รู้สึกอย่างไร มีอาการอย่างไร อยากกินอะไร ดูแลตัวเองอย่างไร เหนื่อยไหม ท้อไหม แม่ทำอะไรบ้างในช่วงเวลานั้นๆ จากนั้นก็ให้นักเรียนตั้งวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยจัดกลุ่ม ๆ ละ3 คน แต่ละคนในกลุ่มมีบทบาทดังนี้คือ คนที่หนึ่งเป็นคนเล่า คนที่สองเป็นคนถาม คนที่สามเป็นคนจด ให้เล่าเรื่องแม่ของตนเอง โดยให้เวลารอบละ 15 นาที เมื่อครบ 3 รอบแล้วก็ให้นักเรียนนำสิ่งที่บันทึกได้ ไปติดตามผนังห้องแล้วให้เพื่อนๆ ที่เหลือเดิน shopping อ่านบันทึกของเพื่อนและให้คำชื่นชม บางระดับใช้วิธีการให้แต่ละกลุ่มเลือกตัวแทนกลุ่มที่คิดว่าเรื่องราวน่าประทับใจเป็นตัวแทนมาเล่าให้เพื่อนฟังหน้าห้องเรียน ซึ่งกิจกรรมนี้ทำให้ได้เห็นน้ำตา และรับรู้ถึงความรู้สึกที่อัดอั้นข้างในของนักเรียนหลายคนโดยการพรั่งพรูออกมาเป็นคำพูด และได้เห็นบรรยากาศของความเอื้ออาทร ความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ครูก็ได้เรียนรู้จิตใจของนักเรียนมากขึ้น มีการถอดบทเรียนโดยการซักถามนักเรียนเป็นระยะๆ
กิจกรรมที่สี่ คือ แสดงละคร “บิลที่ไม่ได้เรียกเก็บ” โดยมี concept ว่า “แม่ไม่เคยเรียกร้องสิ่งใดจากลูกเลย” โดยให้นักเรียนจับกลุ่ม 3 คนแสดงละคร นักเรียนสามารถแต่งเติมบทเองได้ แต่ให้อยู่ภายใต้ concept เดียวกัน นักเรียนแต่ละกลุ่มแสดงให้เพื่อนทั้งห้องดู โดยที่ทุกคนได้แสดงบทบาทสมมุติด้วยกันทั้งห้อง ได้แสดงบทบาทเป็นทั้งผู้แสดง ผู้ชม ผู้ฟังที่ดี จากนั้นให้นักเรียนเขียนถอดบทเรียนเกี่ยวกับการชมละคร ว่านักเรียนรู้สึกอย่างไรกับตัวเอง ได้เรียนรู้อะไร แล้วเคยทำแบบนี้หรือไม่ จะทำอย่างไรต่อไป เช่น น.ส.จันทกานต์ จิ๋วพุ่ม ได้สะท้อนว่า “จากการดูละครและแสดงละคร บิลที่ไม่ได้เรียกเก็บ รู้สึกสะกิดใจตนเอง เพราะฉันก็เคยทำตัวเหมือนลูกทั้งสองที่อยู่ในละครเช่นกัน จนถึงทุกวันนี้ก็ยังทำอยู่ในทุกครั้งที่ขออะไรจากแม่ แม่ก็จะบ่นๆ แต่แม่ก็หามาให้เกือบทุกครั้ง ถ้าไม่เหนือบ่ากว่าแรง ตั้งแต่โตมาแม่ไม่เคยขออะไรจากฉันเลย ฉันเองรู้สึกสำนึกผิด และอยากกลับไปแก้ไขคือจะไม่เรียกร้องอะไรจากแม่อีก” หรือ น.ส.วรรณนารี นาคมังสังข์ ได้สะท้อนว่า “จากการดูและแสดงละคร ทำให้รู้สึกว่า เราเคยทำอะไรให้แม่บ้างหรือเคยทำให้ท่านภูมิใจบ้างหรือเปล่า แล้วทำไมเราต้องเรียกร้องสิ่งต่างๆจากแม่ ทั้งๆที่สิ่งเหล่านั้นมันเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับสิ่งที่แม่ทำให้ ต่อไปนี้จะไม่เรียกร้องสิ่งของจากแม่ และจะพยายามทำทุกอย่างให้แม่ไม่ต้องลำบากหรือต้องทำให้แม่เหนื่อย”
กิจกรรมที่ห้า ในวันที่ 26 สิงหาคม 2554 ได้ทำกิจกรรมอุ้มท้อง กันทั้งโรงเรียน ทั้งครูและนักเรียน ทั้งครูผู้ชายและครูผู้หญิงที่ยังไม่เคยมีลูกก็ร่วมเล่นด้วย โดยกิจกรรมนี้จะเน้นให้นักเรียนสัมผัสประสบการณ์ตรง เรียนรู้การเป็นแม่ในขณะที่อุ้มท้อง โดยให้ทุกคนนำเป้มาสะพายไว้ข้างหน้า ในเป้มี ไข่ 1 ลูกพร้อมกับสัมภาระที่ให้มีน้ำหนักอย่างน้อย 3 กิโลกรัม ให้ทุกคนสะพายเป้แบบนี้ไว้ตลอดเวลาตั้งแต่ 08.00 น. ถึง 14.00 น. ประมาณ 6 ชั่วโมง โดยห้ามวาง ห้ามถอด ทำกิจกรรมใดก็ต้องสะพายเป้ตลอดเวลา ทุกคนจะต้องทะนุถนอมไข่ไม่ให้แตก ไข่ก็เปรียบได้กับลูกของแม่ ที่แม่ต้องฟูมฟักดูแลตลอดระยะเวลา 9 เดือนที่แม่อุ้มท้อง ซึ่งกิจกรรมนี้ทำให้สัมผัสความรู้สึกของนักเรียนที่รับรู้ถึงความรู้สึกแม่ บางคนบอกหนัก บางคนบอกเมื่อย บางคนบอกรำคาญ บางคนบอกอึดอัด หายใจไม่ออก มีนักเรียนหญิงบางคนบอกครูว่า “ครูค่ะ หนูจะเข้าห้องน้ำ ขออนุญาตถอดได้ไหมค่ะ” ครูก็ตอบกลับไปว่า “แล้วตอนแม่หนูตั้งท้องแล้วจะเข้าห้องน้ำ เขาถอดท้องออกได้ไหมค่ะ” นักเรียนก็นิ่งสักพัก แล้วก็ตอบครับ/ค่ะ แล้วก็ไม่ถามอีกเลย ครูได้เห็นภาพของนักเรียนหลายๆคนหาวิธีการหลากหลายในการป้องกันไข่ไม่ให้แตก จากนั้นให้นักเรียนถอดบทเรียนว่า นักเรียนรู้สึกอย่างไรกับตัวเอง ได้เรียนรู้อะไร แล้วเคยทำแบบนี้หรือไม่ จะทำอย่างไรต่อไป เช่น นายเอกชัย พรหมเผือก ได้สะท้อนว่า “ในกิจกรรมนี้ เวลาที่อยู่ในสถานการณ์จำลองอุ้มท้องนั้น ผมรู้สึกอึดอัด จะทำอะไรก็ไม่สะดวก แต่ในความลำบากนั้นผมได้นึกถึงความลำบากของแม่ที่อุ้มท้องผมมา 9 เดือน มันเทียบไม่ได้เลยกับสิ่งที่ผมทำเพียงแค่ 6 ชั่วโมง ดังนั้นผมจะเป็นคนดีและตั้งใจเรียนให้สมกับที่แม่ให้ชีวิตผมมา”
กิจกรรมที่หก คือ กิจกรรมตั้งปณิธานทำความดีเพื่อแม่ ให้นักเรียนตั้งปณิธานทำความดีเพื่อแม่ คนละ 1 ความดีที่สามารถทำได้ตลอดทั้งเดือนและตลอดไป เป็นความดีที่เห็นเป็นรูปธรรม เขียนลงในกระดาษและติดไว้ที่บอร์ดในห้องเรียน เช่น น.ส.ศศิธร แสงมณี ตั้งปณิธานว่า “จะเล่น facebook วันละไม่เกิน 3 ชั่วโมง นายสิทธิเดช คงสุข ตั้งปณิธานว่า “ผมจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับสารเสพติดทุกชนิด” น.ส.ดวงกมล เรียญเพ็ช ตั้งปณิธานว่า “จะออมเงินทุกๆ วัน” น.ส.สุวนันท์ ส้มโต ตั้งปณิธานว่า “จะโทรบอกแม่ทุกครั้งเวลาไปไหนกับเพื่อนๆ” เป็นต้น
ซึ่งจากกิจกรรมทั้งหกนี้ โรงเรียนได้ทำแล้วทั้งโรงเรียน ทั้งระบบ และทุกคน นักเรียนได้รู้ตนในหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็น
-ค้นพบความภูมิใจ ที่ได้รับรู้ความรู้สึกของความเป็นแม่อย่างเต็มเปี่ยม ได้พูดคุยซักถามแม่จากที่นักเรียนบางคนในแต่ละวันแทบจะไม่ได้คุยกับพ่อแม่เลย
-ค้นพบการพึ่งตนเองในครัวเรือน ที่ตนและผู้ปกครองละเลยไป คือ การดำเนินชีวิตในครอบครัวที่ลูกยังต้องการความรัก ความเอาใจใส่จากพ่อแม่
-รู้ประมาณตน ในการดูแลตนเอง การอยู่ร่วมกันในสังคม การปรับตัว
-รู้เหตุผลที่ใช้ตัดสินใจ มีภูมิคุ้มกัน มีเหตุผลในการป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากภาวะเสี่ยงในการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร หรือนักเรียนชายก็จะรู้สึกให้เกียรติผู้หญิงมากขึ้น
ในขณะเดียวกันครูก็ได้เรียนรู้ว่าหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไม่เพียงแต่เป็นเรื่องของการผลิตเอง บริโภคเอง แต่ยังสามารถนำมาปรับใช้กับกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย และสามารถตอบโจทย์เรื่องของความพอประมาณ การมีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันที่ดีได้ นอกจากนี้ยังรู้ตนว่า ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้นั้น จะต้องออกแบบการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนได้คิดเอง ทำเอง แก้ปัญหาเอง แล้วจะทำให้นักเรียนมีความสุข และมองเห็นว่านักเรียนแต่ละคนมีศักยภาพของตนเองในการเรียนรู้ โดยเฉพาะการแสดงละคร ซึ่งตอนแรกคิดว่า นักเรียนจะแสดงได้ดีรึเปล่า ถ่ายทอดเรื่องราวได้ครบถ้วนตาม concept หรือไม่ แต่เมื่อถึงเวลานักเรียนกลับแสดงได้ดี มีการเตรียมการที่ดี