เมื่อผมย้ายเข้ามาอยู่โรงเรียนบ้านดอนช้าง(ศรีสุขวิทยาคาร) ใหม่ ๆ ปี พ.ศ. 2543 ตามนโยบายกลับไปพัฒนาบ้านเกิด ผมมีปณิธานแรงกล้าที่จะพัฒนาบ้านเกิดให้เกรียงไกร เนื่องจากต้นทุนเดิมของผม ผมเกิดที่นี่ โตที่นี่ เรียนจบชั้น ป.4 จากโรงเรียนแห่งนี้ และไปอยู่ที่ใดก็ตามแต่ ผมก็จะพัฒนาที่นั่นอย่างเต็มที่จนได้รับรางวัลแห่งเกียรติยศทั้งโรงเรียน และตัวผมเอง อยู่หลายรางวัล ผมจึงมีความมุ่งหวังจะสรรค์สร้างที่นี่ให้เจริญก้าวหน้าให้มากที่สุดเท่าที่จะมีศักยภาพทำได้ก่อนเกษียณอายุราชการ
เมื่อผมจะย้ายเข้ามาครั้งแรกมีกระแสต่อต้านจากหลายฝ่ายอย่างแรงมาก เนื่องจากสาเหตุหลายประการ แต่ก็ทัดทานนโยบายไม่ได้ ประกอบกับความต้องการของชุมชนที่อยากได้คนในพื้นที่เข้ามาแก้ปัญหาในโรงเรียนที่ไม่เป็นระบบก่อให้เกิดปัญหาหลายประการ กระผมได้เข้ามาพัฒนาบ้านเกิดสมใจ สิ่งแรกที่ทำคือการรวมพลังชุมชนและศิษย์เก่ามาร่วมพัฒนาโรงเรียนช่วยกัน เนื่องจากโรงเรียนยังขาดแคลนหลายอย่าง ในการที่จะพัฒนาเด็ก เช่น คอมพิวเตอร์สำหรับนักเรียน โรงอาหารสำหรับนักเรียนรับประทานอาหารกลางวัน รั้วเขตแดนโรงเรียน ถนนคอนกรีตภายในโรงเรียน และอื่นๆ อีกมากมาย ครั้นจะรอความช่วยเหลือจากทางราชการก็ไม่รู้เมื่อไหร่จะมีงบประมาณด้านนี้มาให้ ก็ร่วมมือกับคณะกรรมการสถานศึกษา ชุมชน และศิษย์เก่าระดมทรัพยากรจัดหาจนได้ทุกอย่างตามที่ตั้งเป้าไว้ คือ ได้โรงอาหารพร้อมโต๊ะรับประทานอาหารอย่างเพียงพอและพอเพียง(โต๊ะอาหารทำจากเศษไม้อาคารเรียนเก่า) สำหรับนักเรียนได้คอมพิวเตอร์ 1 ห้องเรียน จำนวน 17 เครื่อง ได้รั้วโรงเรียนอย่างแข็งแรง ได้ถนนคอนกรีตตลอดแนวโรงเรียน และอื่น ๆ อีกมากมายมาใช้ในโรงเรียน แต่สิ่งที่ผมได้เล็งเห็นเป็นปัญหายังไม่สามารถแก้ไขได้คือ นักเรียนขาดระเบียบวินัย ไม่มีสัมมาคารวะ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำมาก โรงเรียนก็สกปรกมีขยะมากทุกวัน แม้จะแบ่งพื้นที่รับผิดชอบให้นักเรียนแต่ละห้องแล้วก็ตาม
เมื่อมีประเด็นปัญหาหนักขนาดนี้แล้ว จึงนำเข้าที่ประชุมคณะครูหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน คณะครูต่างก็เสนอแนะแนวทางแก้ไข แล้วก็ลงมือทำ ครั้งแล้วครั้งเล่า เพียรทำแบบเก่าๆ อยู่หลายปีก็ไม่สำเร็จ ยิ่งเพิ่มประเด็นปัญหาอีก เมื่อพบว่านักเรียนเริ่มบริโภควัตถุนิยมและแฟชั่นมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ นักเรียนผู้หญิงทำทรงผมแปลกๆ นักเรียนผู้ชายเจาะรูใบหู สักลาย มีบางรายแอบไปสูบบุหรี่ เมื่อเป็นเช่นนี้ผมจึงเฝ้าสังเกตความเป็นไปในโรงเรียนอยู่หนึ่งสัปดาห์ เก็บข้อมูลมาได้ว่า ความเคยชินแบบเก่า ๆ ของครู คือ มีความเป็นอยู่ต่างคนต่างอยู่ ไม่สนใจกัน เป็นกลุ่มก้อนของใครของมัน ครูละเลยต่อการกระทำผิดของนักเรียน บางกลุ่มก็ห่อข้าวมารับประทานด้วยกันที่โรงเรียน บางกลุ่มก็ออกไปรับประทานที่ร้านค้าในหมู่บ้าน ครูมีปัญหาค่าใช้จ่ายต่อเดือนมาก บางรายมีเงินเหลือไม่พอจ่าย บางรายมีเจ้าหนี้มาเก็บเงินที่โรงเรียน ครูผู้หญิงแต่งตัวสวยตามแฟชั่น ต้องตัดเสื้อผ้าใหม่อยู่เสมอ ครูผู้ชายบางรายสูบบุหรี่ ครูบางรายชอบซื้อหวย ชอบสนทนากันเรื่องหวย มีเจ้ามือหวยมาขายให้ถึงโรงเรียน มีรถจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคแบบเงินเชื่อมาจำหน่ายถึงโรงเรียน เหล่านี้เป็นต้น
เมื่อได้ข้อมูลเหล่านี้แล้วผมจึงได้มาวิเคราะห์หาแนวทางแก้ไข พอดีช่วงนั้นศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม ได้ขยายเครือข่ายมาให้ความรู้เรื่องหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และเชิญชวนให้ทางโรงเรียนเข้าร่วมเป็นเครือข่ายนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษาด้วย ผมตอบตกลงทันทีและสนับสนุนให้ครูเข้ารับการอบรมในครั้งนั้นทุกคนเพื่อให้รับรู้ร่วมกัน เมื่อเสร็จสิ้นการอบรมแล้ว ผมเกิดความเชื่อมั่นว่า ผมต้องน้อมนำเอาหลักคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มาแก้ปัญหาเหล่านี้จึงจะสำเร็จ ผมเริ่มด้วย การระเบิดจากภายในใช้ศรัทธา อันเป็นหลักการทรงงาน แห่งพระองค์ท่าน โดยจัดประชุมปฏิบัติการในโรงเรียน ให้คณะครูร่วมมือกันสรุปองค์ความรู้ที่ได้จากการเข้ารับการอบรมมา และสรุปวางแผนเป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อนำไปสู่กิจกรรมลงมือพัฒนาผู้เรียน แต่ก่อนอื่น ก่อนจะพัฒนาผู้อื่น ครูต้องพัฒนาตนเองก่อนให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่นักเรียน “การเป็นแบบอย่างที่ดี มีค่ากว่าคำสอน” ผมจึงให้คณะครูร่วมกันคิดระดมสมอง ตามหลักการทรงงานแห่งพระองค์ท่านที่ว่า“ศึกษาความรู้คู่คุณธรรม” ศึกษาหลักเศรษฐกิจพอเพียง ถึงการดำรงชีวิตอยู่อย่างพอประมาณ ของคณะครู อย่างไหนพอประมาณ อย่างไหนฟุ้งเฟ้อ ก่อให้เกิดหนี้สินโดยไม่จำเป็น มีเหตุผลว่า การกระทำแบบใด คือแบบอย่างที่ดีแก่นักเรียน เพราะเหตุใด แบบใดคือแบบอย่างที่ไม่ดี ควรเลิกกระทำเพราะเหตุใด มีภูมิคุ้มกัน คือร่วมกันสร้างนโยบายการอยู่ร่วมกัน สร้างข้อตกลงร่วมกันเพื่อถือปฏิบัติ หรือเรียกว่า “วัฒนธรรมองค์กร” เพื่อความเป็นเอกภาพแลความสมัครสมานสามัคคี อยู่บน เงื่อนไขมีความรู้ ครูต้องศึกษาหาความรู้ใหม่ๆ หรือเข้ารับการอบรมความรู้ อยู่เสมอเพื่อนำมาพัฒนาผู้เรียน ต้องรอบรู้ ทันข่าว ทันเหตุการณ์ต่าง ๆ อยู่เสมอ ต้องรอบคอบในการวางแผนจะทำกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนใดๆ ต้องระมัดระวัง อย่าให้เกิดความเสียหายแก่นักเรียนหรือโรงเรียน อยู่บน เงื่อนไขมีคุณธรรม คือ มีความซื่อสัตย์สุจริตในวิชาชีพ มีความอดทน อดกลั้น แม้จะได้รับผลกระทบใดๆ ก็ตาม มีความเพียรพยายาม สั่งสอนศิษย์ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน มีสติรู้ว่าตนเป็นใคร กำลังทำอะไรอยู่ มีปัญญาหาแนวทางช่วยเหลือศิษย์ตามสถานการณ์เท่าที่จะทำได้
จากการศึกษาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับบริบทองค์กรของโรงเรียนแล้ว ก็นำไปสู่นโยบาย แนวทางปฏิบัติร่วมกันของคณะครู เพื่อพัฒนาครูให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่นักเรียน ตามหลักการทรงงานที่ว่า นำสู่การปฏิบัติอย่างถูกต้อง เป็นต้นว่า ครูเลิกซื้อหวย จะไม่อนุญาตให้เจ้ามือหวยมาขายให้คณะครูในโรงเรียน ครูผู้ชายเลิกสูบบุหรี่ เมื่อมีรถจำหน่ายสินค้าเงินเชื่อมาขายถึงโรงเรียนก็จะอดทนอดกลั้นไม่ซื้อ ต่อมาเมื่อไม่ได้ขายเขาก็จะหยุดมาเอง จากนั้นก็จะติดป้ายห้ามเข้ามาจำหน่ายสินค้าในโรงเรียน มีความรอบคอบจากการระดมความคิดของคณะครูเอง มีความระมัดระวัง และป้องกันความเสียง อันเกิดจากความพึงพอใจของคณะครูที่ร่วมกันกำหนดนโยบาย ดังนี้
ครูต้องรับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน โดยคณะครูทุกคนนำอาหารมาจากบ้าน หรือห่อข้าวมารับประทานอาหารกลางวันร่วมกันที่โรงเรียนทุกวันอย่างพอประมาณ ก่อให้เกิดความไม่ฟุ้งเฟ้อ อยู่บนหลักการและเหตุผล เพื่อให้คณะครูทุกท่านได้ดูแลนักเรียนด้วยกันอย่างใกล้ชิด เมื่อเกิดเหตุการณ์ใดขึ้นครูจะเป็นที่พึงของนักเรียนได้เป็นอย่างดี ทั้งยังได้ความรู้ จากการปรึกษางานแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน นอกจากนั้นยังได้คุณธรรม ด้านความประหยัด ความเอื้อเฟื้อแบ่งปันกัน ก่อให้เกิดความรักความอบอุ่นใจ ความเป็นพี่เป็นน้อง นำไปสู่ความสมัครสมานสามัคคี เป็นภูมิคุ้มกันที่ดีอีกด้วย
การแต่งกายรูปแบบเดียวกัน โดยคณะครูทุกคนต้องแต่งกายสุภาพเรียบร้อยเหมาะสม เป็นแบบอย่างที่ดีแก่นักเรียนและชุมชน ได้ร่วมกันกำหนดรูปแบบ ออกแบบการแต่งกายเพื่อเป็นแนวทางเดียวกันคือ วันจันทร์ใส่ชุดสีกากีเครื่องแบบข้าราชการ “ข้ารองบาทแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ” วันอังคารเสื้อสีชมพู สีอันเป็นมงคลแห่งพระองค์ท่าน วันพุธใส่เสื้อสีแสด สีประจำโรงเรียน วันพฤหัสบดีแต่งชุดลูกเสือซึ่งเป็นกิจกรรมเน้นของโรงเรียน วันศุกร์ใส่เสื้อสีเหลือง สีแห่งวันพระราชสมภพของพระองค์ท่าน และเป็นสีเหลืองดอกคูณ ดอกไม้ประจำจังหวัด ตามนโยบายของจังหวัดขอนแก่น การแต่งกายรูปแบบเดียวกันก่อให้เกิดความพอประมาณกับรายได้ ไม่ฟุ้งเฟื้อ พอประมาณกับวันที่กำหนดร่วมกัน เป็นเหตุเป็นผลว่าเหตุใดจึงแต่งอย่างนั้น ทั้งยังสะดวกต่อการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนทั้งในและนอกอาคารเรียนด้วย นอกจากนั้นยังมีภูมิคุ้มกันคือความศรัทธา ความน่าเชื่อถือ ความเป็นอันหนึ่งอันเดี่ยวกัน เกิดความเสมอภาคในองค์กร เกิดความรอบคอบระมัดระวังการใช้จ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งครูสุภาพสตรีมักจะมีค่าใช้จ่ายในการตัดเสื้อผ้ามาก เกือบทุกเดือนเมื่อมีข้อตกลงร่วมกันเรื่องนี้ ก็เกิดคุณธรรมด้านความประหยัด ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น เพราะเมื่อไม่จ่ายก็คือรายได้นั่นเอง
การทักทายกันด้วยการไหว้ การไหว้เป็นประเพณีของชาวไทยมาแต่โบร่ำโบราณ แต่บางท้องที่อาจละเลย หรือปฏิบัติไม่เหมาะสม ไม่ถูกต้อง ไม่สวยงาม ซึ่งเมื่อก่อนที่นี่ก็ละเลยเช่นกัน จากการวางนโยบายร่วมกันของคณะครู จึงได้กำหนดให้มี การไหว้ เป็นวัฒนธรรมองค์กร อีกข้อหนึ่ง เป็นการไหว้ ทักทายแสดงความเคารพนับถือกันตาม ลำดับอาวุโสทุกวัน ช่วงเช้ามาถึงโรงเรียนเมื่อเจอกันครั้งแรก ต้องทักทายด้วยการไหว้ ผู้น้อยต้องไหว้ผู้ใหญ่อย่างนอบน้อม พอประมาณต่อวัยอันควร พอประมาณต่อความสวยงาม มีเหตุมีผลเพื่อสืบสานวัฒนธรรมอันดีงามของไทย และเป็นแบบอย่างที่ดีแก่นักเรียน มีภูมิคุ้มกัน คือความน่ารักน่าเอ็นดู ความเป็นพี่เป็นน้อง ความรักใคร่ปรองดอง มีความรอบรู้เรื่องทักษะการไหว้หรือความเหมาะสมแก่กาลเทศะ มีคุณธรรม ด้านความสามัคคี ความอ่อนน้อมถ่อมตน ส่งผลให้องค์กรอยู่อย่างสงบสุขและเกิดการพัฒนาได้ง่ายขึ้น
เมื่อวางนโยบายและวัฒนธรรมองค์กร ร่วมกันแล้วทุกคนมีมติร่วมกันว่าจะปฏิบัติอย่างเคร่งครัด และแล้วคณะครูก็พยามปฏิบัติ และปฏิบัติได้จริงๆ จากนั้นจึงให้คณะครูจัดกิจกรรมปลูกฝังคุณธรรม นำวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง แก่นักเรียนตามแผนที่ช่วยกันกำหนดไว้ ผมก็เสริมแรงด้วยการให้คณะครูเข้ารับการอบรมทุกครั้งที่ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม จัดให้ และพาไปศึกษาดูงานบ้าง เพื่อจะได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์มาพัฒนางานของตน ผมเป็นผู้บริหารก็จะคอย “ตรวจสอบอย่างรอบคอบ เพื่อให้
ครูเป็นแบบอย่างที่ดี เกิดความตระหนักในหน้าที่ ในการพัฒนานักเรียนเป็นไปอย่างต่อเนื่องเป็นระบบ และพัฒนาให้ก้าวไกล อย่างไม่หยุดยั้ง
เมื่อบุคลากรเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว จะพัฒนาสิ่งใดก็ย่อมสำเร็จได้ด้วยดี เพราะบุคลากรเป็นหัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อน ทั้งนี้ก็เนื่องจากผมได้น้อมนำ หลักคิดเศรษฐกิจพอเพียง แห่งองค์พระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาจัดระบบองค์กรนั่นเอง ณ วันนี้ในโรงเรียนของผมไม่มีครูซื้อหวย ไม่มีเจ้ามือหวยมาขายในโรงเรียน ไม่เป็นหนี้นอกระบบหรือรถขายสินค้าแบบขายเชื่อ ครูทุกคนไม่มีปัญหาเรื่องการเงิน ครูจะรับประทานอาหารกลางวันร่วมกันอย่างสนุกสนาน เป็นพี่เป็นน้อง มีเอกลักษณ์ เอกภาพ มีความสามัคคีกันให้ความร่วมมือกันในการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ทั้งหมดทั้งปวงนี้จึงจะสมกับได้ชื่อว่า “ข้าราชการครู” หรือ “ข้ารองพระบาทแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”
คุณเพ็ชรัตน์ อ่างยาน
ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านดอนช้าง(ศรีสุขวิทยาคาร)
ตำแหน่งที่ได้รับในโครงการต่างๆ
•
ผู้บริหาร
ใน
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
•
ผู้บริหาร
ใน
โรงเรียนบ้านดอนช้าง
ประวัติและผลงาน
ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง