นางสาวปรารถนา ใจเบิกบาน
นักเรียนโรงเรียนโยธินบูรณะ
ตำแหน่งที่ได้รับในโครงการต่างๆ
นักเรียนแกนนำ ใน โรงเรียนโยธินบูรณะ
ประวัติและผลงาน


นางสาวปรารถนา ใจเบิกบาน แกนนำโมโยรุ่น 2 ที่ทำหน้าที่ฝ่ายสันทนาการ ซึ่งต้องคอยคิดเกมไปเล่นเวลาไปทำกิจกรรมกับน้องๆ พร้อมกับปลูกฝังการเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงได้ด้วย ปรารถนาคิดว่าการนำเสนอความรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงในรูปแบบของเกม น้องๆ จะเข้าใจได้ดีกว่าการสอนแบบวิชาการซึ่งตนเองก็เป็นเด็ก และเข้าใจว่าเป็นเรื่องน่าเบื่อถ้าต้องนั่งเรียนรู้อะไรเหมือนในห้องเรียน แต่หากสอดแทรกไปกับการเล่นเกมจะก่อให้เกิดความสนุกและเรียนรู้ได้ดี


 

ตัวอย่าง เกมที่คิดขึ้นและนำไปใช้กับน้องได้แก่ เกมพับกระดาษหนังสือพิมพ์ แล้วให้สมาชิกในกลุ่มยืนบนกระดาษหนังสือพิมพ์ให้ได้ร่วมกัน แล้วค่อยๆ พับให้เล็กลง แข่งขันระหว่างกลุ่ม วิธีการคือ แบ่งสมาชิกออกเป็นกลุ่มกลุ่มละเท่าๆ กัน แจกกระดาษหนังสือพิมพ์ให้กลุ่มละ 1 คู่ รอบแรกเปิดเพลงให้ทุกกลุ่มยืนบนกระดาษแผ่นเดียวกันให้ได้จนจบเพลง หมดรอบแรกให้พับกระดาษให้เหลือครึ่งหนึ่ง แต่จำนวนคนยังเท่าเดิม แล้วให้ทั้งกลุ่มยืน บนกระดาษแผ่นดียวกัน พื้นที่ยืนจะน้อยลง และมีข้อจำกัดมากขึ้นเมื่อเทียบกับรอบแรก แล้วให้พับกระดาษลงอีกครึ่งหนึ่งไปจนกระทั่งกระดาษเล็กมากจนต้องยืนแบบขี่คอ กัน จนกระทั้งมีคนล้มหรือหลุดออกจากแผ่นกระดาษก็จะถือว่าเกมสิ้นสุดลง


 

จาก นั้นจึงจะอธิบายให้ผู้เล่นเข้าใจว่า การพับกระดาษลงครึ่งหนึ่งแต่คนเท่าเดิม เปรียบเสมือนการใช้ทรัพยากรที่มีผู้ใช้มากขึ้น ในขณะที่ทรัพยากรลดลงไปทุกวัน หากรู้จักการวางแผนการใช้ทรัพยากร หรือทรัพย์สินที่มีอยู่ให้ดีก็จะทำให้เรายืนได้ไม่ล้ม มีทรัพยากรใช้ได้ยาวนานมากขึ้น การยกตัวอย่างนี้ขึ้นอยู่กับอายุของผู้เข้าร่วมกิจกรรม หากอยู่ชั้นประถมปลายหรือมัธยมแล้วก็จะเปรียบกับเรื่องการใช้ทรัพยากร ธรรมชาติ แต่ถ้าอยู่ชั้นประถมต้นก็จะสอนเรื่องการใช้เงิน สอนให้รู้จักหยอดกระปุก หรือเก็บออม ให้รู้จักการใช้เงินให้คุ้มค่า

 

ปรารถนา ทำกิจกรรมกับโมโยมาตั้งแต่อยู่ ม.3 และประสบการณ์ที่ได้คือ การนำเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักคิดว่า การทำอะไร (กิจกรรม) ต้องให้มีความพอดีกับตนเอง เช่น การเรียนกับการทำกิจกรรมขณะเรียนต้องให้เหมาะสม พอดี ถ้าทำอย่างใดอย่างหนึ่งมากเกินไปก็จะทำให้เกิดผลกระทบต่ออีกอย่างหนึ่ง ดังนั้น การจะตัดสินใจทำอะไรจึงต้องหาความรู้เกี่ยวกับสิ่งนั้น เพื่อใช้เป็นเหตุผลในการตัดสินใจ

 

นอก จากนี้ เธอยังนำเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น พ่อแม่ให้เงินมาโรงเรียน เราก็ต้องใช้อย่างรู้คุณค่าว่าอะไรจำเป็นไม่จำเป็น สิ่งจำเป็นคือ ค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าขนม แต่สิ่งที่ไม่จำเป็นก็มีบ้าง เช่น หากอยากได้ตุ๊กตา แต่ไม่มีปากกาใช้ ก็ต้องคิดเปรียบเทียบความสำคัญว่าอะไรสำคัญและมีประโยชน์มากกว่ากัน เมื่อคิดด้วยหลักเหตุผลก็จะพบว่า ปากกาคือสิ่งที่สำคัญมากกว่า เพราะเป็นสิ่งจำเป็นในการเรียนหนังสือ คิดอย่างมีเหตุผลจะทำให้มีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นได้ ส่วนคุณธรรมนั้นจะเกิดขึ้นได้เมื่อได้ทำสิ่งที่ดีให้คนอื่น และทำความดีทุกอย่างที่พอจะทำได้โดยไม่หวังผลตอบแทน ปรารถนาคิดว่า “การเป็นผู้ให้สร้างสุขแก่ตน”