อมร หมัดเลียด
พี่เลี้ยงเยาวชน Active Citizen โครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา
ตำแหน่งที่ได้รับในโครงการต่างๆ
พี่เลี้ยง/อาจารย์ที่ปรึกษา ใน ไก่ไข่อารมณ์ดี
ประวัติและผลงาน
ผู้ช่วยครูพละ สอนวิชาพลศึกษา-สุขศึกษา ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนเทศบาลตำบลปริก
โครงการไก่ไข่อารมณ์ดี กลุ่มไก่ไข่อารมณ์ดี

­

       คุณครูอมร หมัดเลียด เป็นคนตำบลปริก เคยเป็นนักฟุตบอลอาชีพตั้งแต่อายุ 17 - 32 ปี ในจังหวัดสงขลาและจังหวัดยะลา ย้ายกลับมาอยู่บ้าน 4 ปีที่แล้วและได้สมัครเข้าทำงานที่เทศบาลตำบลปริก อยู่กองการศึกษา ดูแลเรื่องกีฬาของโรงเรียน ก่อนตัดสินใจเข้าทำงานที่โรงเรียนเทศบาลตำบลปริก ทำหน้าที่คุณครูพละ

       คุณครูอมรในวัยรุ่นไม่ชอบเรียนหนังสือ ไม่ชอบวิชาการ สนใจเรื่องกีฬาและชอบลงมือปฏิบัติ ทำให้เมื่อรับบทบาทเป็นคุณครู จึงเข้าใจพฤติกรรมของนักเรียน โดยเฉพาะกลุ่ม "หลังห้อง" คุณครูเข้ารับหน้าที่พี่เลี้ยงโครงการเป็นครั้งแรก จากการชักชวนจากเพื่อนคุณครู แรกเริ่มยังกังวลว่าจะทำอะไรไม่ถูก เขียนโครงการไม่เป็น แต่อยากเรียนรู้ประกอบกับเพื่อนคุณครูที่แนะนำบอกว่า จะมีพี่เลี้ยงช่วยแนะนำ คุณครูอมรจึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการฯ

       คุณครูอมรชวนเด็กผู้ชาย ซึ่งเป็นกลุ่มเด็กหลังห้องมาทำโครงการไก่ไข่อารมณ์ดี เลี้ยงไก่เพื่อผลิตไข่ไก่เพื่อเป็นอาหารของโรงเรียน เพื่อนนักเรียนและน้อง ๆ ในโรงเรียนจะได้กินไข่ไก่ที่ปลอดสารพิษ และนักเรียนก็ให้ความสนใจมาก จึงเริ่มต้นทำโครงการร่วมกัน คุณครูอมรใช้กระบวนการกลุ่มในการทำงานโครงการ โดยใช้วิธี BAR (Before Action Review) ในการชวนคิด ชวนคุย และเน้นให้เด็กคิด ประเมิน และวางแผน เริ่มตั้งแต่สำรวจ สังเกต หาพื้นที่หลังโรงเรียน การออกแบบโรงเลี้ยงไก่ไข่ ทั้งเรื่องขนาดของโรงเลี้ยงไก่ ความสูง ทิศทาง และวัสดุในการสร้าง ทำให้นักเรียนสนุก มีส่วนร่วมและเสนอวัสดุ ไม้ไผ่ ที่หาได้ในชุมชน

      การชวนคิดและวางแผนก่อนทำโครงการ (Before Action Review: BAR) การตั้งคำถามในระหว่างการทำกิจกรรม และการชวนเด็กๆ สะท้อน ใคร่ครวญหลังทำกิจกรรมหรือ After Action Review: AAR เป็นกระบวนการทั้งลูปที่ครูใช้ในระหว่างการโคชนักเรียนทำโครงการ ซึ่งครูเล่าตัวอย่างกระบวนการที่ครูใช้ เช่น

        “ระหว่างที่ลงมือสร้างผมให้นักเรียนวัดขนาดโรงเลี้ยงไก่ ความสูง ขนาดหลังคา ผมให้พวกเขาช่วยกันคิดและผมมีตลับเมตรให้เขาหนึ่งอัน เขาช่วยกันวัดขนาดเอง ถ้าผิดพลาดตรงไหนผมแค่แนะนำเขา เช่น เขาจะถามผมว่า “ขนาด 6 เมตรได้ไหมครับ” ผมถามกลับว่า “ความจุจำนวนไก่มีกี่ตัวล่ะ”

       “ทำไมไก่ไข่ถึงวิ่งเข้าหาเรา” การวิ่งเข้าหาคือการแสดงอาการหิวของไก่ สาเหตุที่ไก่วิ่งเข้าหาเพราะไก่หิว ถ้าเรายืนแล้วไก่มาจิกแสดงว่าไก่หิวมาก แต่ถ้าเราเข้าไปแล้วไก่ไข่ไม่ตาม อยู่สบายๆ แสดงว่าไก่ไม่หิว สมมติว่าเมื่อวานเราทำอาหาร 5 กิโลกรัม ไก่ไข่กินอาหารหมด ตอนเช้าก่อนเข้าแถวหน้าเสาธงให้เด็กทั้งหมดเข้าไปดูไก่ไข่ในเล้า 1 คน และให้พวกเขาสังเกตไก่ไข่ ถ้าไก่ไข่เข้ามาหาเยอะแสดงว่าไก่หิว หลังจากนั้นชวนเด็กนั่งเป็นกลุ่มทำ AAR ว่าเช้าวันนี้ไก่ไข่วิ่งเข้าเราแบบหิว ฉะนั้นในวันนี้เราต้องทำอาหารกี่กิโลกรัมถึงจะเพียงพอ เราทำ AAR ทุกครั้งก่อนทำอาหารไก่ในแต่ละวัน”

       ซึ่งในการตั้งคำถามกับนักเรียนนั้นครูเน้นตั้งคำถามที่ง่าย “แนวคิดของผมคือให้เด็กได้คิดและวิเคราะห์กับสิ่งที่เกิดขึ้น การตั้งคำถามของผมเริ่มจากง่ายๆ ใช้ภาษาง่ายๆ ถามต่อจากสิ่งที่เด็กตอบไปเรื่อยๆ ถ้าเราถามกว้างไปเด็กจะคิดไม่ออก เช่น “วันนี้ไก่เป็นอย่างไร” ไก่วิ่งเข้ามาหา “ทำไมวันนี้ไก่วิ่งมาหาเรา” เด็กตอบว่าไก่หิวมาก ผมถามต่อไปว่า “ทำไมไก่ถึงหิวมาก” ถ้าเขาตอบมาว่า “อาหารน้อยเกินไป” ผมจะถามต่อไป “เพราะว่าอะไรที่อาหารน้อยเกินไป”

       เมื่อครูใช้กระบวนการเหล่านี้ครูสังเกตเห็นพัฒนาการของเด็กๆ ครูบอกว่า “ผมมองว่าเด็กทำได้ บางทีเด็กเก่งกว่าผมอีก บางอย่างผมทำผิดเด็กจะบอกว่า “ครูไม่ใช่แบบนี้นะ” ผมมองเห็นว่าเด็กกลุ่มนี้ทำได้ อยากให้เขาได้ลองผิดลองถูกก่อน ให้เขาลองทำเอาความคิดของเขาออกมาก่อน...เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน ตัวเราได้รู้ด้วยว่าความสนใจของเด็กแต่ละคนเป็นอย่างไร”

       ครูอมรเป็นพี่เลี้ยงที่ให้ความเป็นกันเองกับเด็ก พร้อมทั้งยังเข้าใจพฤติกรรมนักเรียนเป็นบุคคล มีความใกล้ชิด สังเกต รับฟังปัญหา ทำให้นักเรียนกล้าที่จะพูดคุย ปรึกษา “เวลาที่เด็กมีปัญหาเรื่องครอบครัวเรื่องแฟน หรือไม่มีเงินกินข้าว เขามาเล่าให้ผมฟังและผมเป็นปรึกษารับฟังปัญหาของพวกเขา” ครูอมรชวนเด็กมองชีวิตอย่างรอบด้าน หาความหมายของชีวิตในช่วงวัยรุ่น หลายคนโดดเรียน ตั้งคำถามว่าทำไมต้องมาโรงเรียน การมีคุณครูสักคนที่ช่วยตอบคำถามโดยไม่ตัดสิน ทำให้พวกเขารู้สึกอบอุ่นใจ

        “ผมทำตัวเป็นทั้ง เพื่อน พี่และพ่อให้กับพวกเขา สนิทกันจนรู้นิสัยใจคอ เวลาที่เด็กมีปัญหาทำผิด เช่น หนีเรียน หนีละหมาด ผมจะเรียกเด็กคุยกัน เด็กกลุ่มนี้ต้องคุยนิ่ม ๆ ไม่ใช้คำพูดที่รุนแรง ผมถามเขาว่าทำไมวันนี้หนีเรียน เขาจะพูดออกมาหมดว่าเรียนไม่ไหว เทคนิคของผมคือเราต้องเข้าหาเด็กก่อน ไม่รอให้เขาเข้าหาเรา...เด็กบางคนมีเรื่องหนักแต่ไม่กล้าบอก ครูต้องสังเกต เข้าไปถามว่าวันนี้หน้าตาไม่สดชื่นเป็นอะไร ต้องสังเกตอยู่ตลอด”

        ภายหลังทำโครงการทำให้นักเรียนได้ฝึกฝนการคิด พวกเขากระตือรือร้นกันมากขึ้น มีเหตุผลมากขึ้น ส่งผลต่อพฤติกรรมและคุณลักษณะเชิงบวก เช่น เมื่อนักเรียนเล่นกันแล้วโกรธ หลักการทำงานของสมองจะทำให้เกิดการไตร่ตรอง ยับยั่งชั่งใจ การคำนึงถึงผลดีผลเสีย ทำให้นักเรียนควบคุมและจัดการอารมณ์ได้ดีขึ้น ไม่นำพาไปสู่การทะเลาะวิวาท คุณครูอมรจึงนำวิธีการนี้ปรับบรรยากาศและวิธีการเรียนรู้ห้องเรียน อีกทั้งยังนำมาวางแผนการสอนให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น

       ไก่ไข่อารมณ์ดี เพราะมีคุณครูอารมณ์ดี ที่สร้างการเรียนรู้ที่ปลอดภัยทำให้นักเรียนอารมณ์ดี คืนความกล้าที่จะเรียนรู้ให้นักเรียนที่ถูกมองว่าเป็น "เด็กหลังห้อง" ให้สังคมได้มองพวกเขามุมใหม่ว่า หากเป็นการเรียนรู้ที่เหมาะสมพวกเขาก็มีศักยภาพและผลิตอาหารที่ปลอดภัยให้ทุกคนได้มีสุขภาพดี

­

ความโดดเด่น

  • เป็นพี่เลี้ยงที่โดดเด่นเรื่องการใช้คำถาม และให้โจทย์ในการสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็ก
  • สร้างการเรียนรู้โดยให้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง
  • ใจดี ใกล้ชิดกับนักเรียนและประเมินพฤติกรรมนักเรียนเป็นรายบุคคล เพื่อส่งเสริมศักยภาพและสร้างการเรียนรู้ที่เหมาะสมให้เกิดขึ้นแต่ละบุคคล
  • ทำกระบวนการซ้ำ ทั้ง BAR และ AAR ทำให้เกิดการทำงานของสมองที่มีเหตุผล ส่งผลต่อพฤติกรรมและวินัยเชิงบวก