นางณฐา ชัยเพชร (จ๋า) อายุ 50 ปี
ตำแหน่ง : ตัวแทนเกษตรกรรุ่นใหม่ เครือข่ายเกษตรทางเลือกภาคใต้จังหวัดสงขลา และ พี่เลี้ยงเยาวชน
โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมผักพื้นบ้านชุมชนคลองยอ ตำบลวังใหญ่ อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา
พี่จ๋า ตัวแทนเกษตรกรรุ่นใหม่ภาคใต้ กลุ่มเครือข่ายเกษตรยั่งยืนแห่งประเทศไทย ทำเรื่องอนุรักษ์พันธุ์ผักพื้นบ้าน พันธุ์ข้าว อนุรักษ์พันธุกรรมพื้นถิ่น และเรื่อง “ป่าร่วมยาง” เป็นการฟื้นฟูผักพื้นบ้านในแปลงปลูกยางพารา เมื่อพี่จ๋าได้ทำงานฟื้นฟู ผักพื้นบ้านที่หายไปก็กลับมา จึงเกิดการรวมตัวโดยใช้ชื่อว่ากลุ่มผักเหนาะ มีกลุ่มเด็ก เยาวชน ที่ครอบครัวประกอบอาชีพสวนยางพาราและทำเกษตร เพื่อร่วมเรียนรู้ แลกเปลี่ยน ส่งต่อความรู้เรื่องการอนุรักษ์พันธุ์กรรมผักพื้นบ้านชุมชนคลองยอ ให้กับเด็ก ๆ ในชุมชน ผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์ เช่น สำรวจพื้นที่ป่า เดินป่า เรียนรู้เรื่องพืชพันธุ์พื้นบ้าน สำรวจบ้านแต่ละหลังในหมู่บ้านซึ่งมี 130 ครัวเรือน ว่ามีพันธุ์ผักอะไรบ้าง ทำอาหารพื้นบ้าน ทำข้าวเกรียบจากผัก โดยมีนัยยะสำคัญให้เด็ก เยาวชน เรียนรู้ รู้จักอนุรักษ์พันธุ์ผักพื้นบ้านที่มีกว่า 147 ชนิด และสามารถรับประทานผักได้อย่างมีความสุข
พี่จ๋า พาเด็ก เยาวชน ลงมือทำ ฝึกเก็บเมล็ดพันธุ์ จดบันทึก ให้เด็ก ๆ สืบค้นต้นไม้ที่ไม่รู้จักและถ่ายภาพกลับมาถาม จากนั้นชวนกันสืบหาชื่อและสรรพคุณจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ เด็ก เยาวชน ไม่ชอบกินผัก แต่พี่จ๋ามีวิธีการที่แยบยลให้พวกเขาชอบกินผักมากขึ้น โดยทำกิจกรรมกลุ่ม แบ่งเด็กเป็น 5 กลุ่ม เตรียมผักกว่า 30 ชนิด ให้ทุกกลุ่มแข่งทำแกงเลียง เมื่อพวกเขาสนุก เลือกผักเอง ตั้งใจและภูมิใจกับรสชาติอาหารที่พวกเขาทำ จากเด็กที่ไม่กินผักกลายเป็นกินผัก และรู้จักผักพื้นบ้านมากขึ้น เช่นยอดมะม่วงหิมพานต์ ยอดจิกนา ยอดมันปู ยอดผักเหมียง ยอดหมากหมก อีกทั้งยังยังชวนเด็กมาทำข้างเกรียบจากผักเหมียง (ใบแก่) ผักไชยา โดยทำตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนเป็นข้าวเกรียบ ซึ่งใช้แป้งจากพันธุ์ข้าวพื้นบ้านทำให้รสชาติดี กิจกรรมที่พี่จ๋าออกแบบทั้งสนุก สร้างสรรค์ มีส่วนรวม และส่งเสริมสุขภาพดี เด็ก เยาวชนจดจำนำไปเล่าให้ครอบครัวและทำเมนูต่าง ๆ ให้ครอบครัวรับประทานอย่างภาคภูมิใจ
พี่จ๋าจะให้กำลังใจเด็ก เยาวชนในการทำงาน กระตุ้นให้ “ลอง” ทำโดยเฉพาะเวลาที่พวกเขาไม่มั่นใจพี่จ๋าจะให้พลังบวก เชื่อมั่น วางใจ เชื่อใจ การคาดหวังในพลังงานบวกเพื่อให้เด็กที่ไม่กล้าได้กล้าและลองท้าทายตัวเองออกมาจากพื้นที่แห่งความกลัว
การทำงานกับเด็ก ต้องทำความเข้าใจกับผู้ปกครองควบคู่ไปด้วย พี่จ๋าจะให้ผู้ปกครองมาส่งเพื่อให้เห็นว่าเด็ก ๆ มาทำอะไร การที่ผู้ปกครองมาเห็นกระบวนการจะสร้างความเข้าใจร่วมกัน พี่จ๋าเปิดพื้นที่เป็นศูนย์เรียนรู้เรื่องผัก โดยมีเด็ก ๆ แนะนำ ช่วยดูแลแปลงผัก เพาะชำต้นไม้ การทำงานเชิงปฏิบัติการเป็นเรื่องที่พี่จ๋าทำอย่างสนุก รื่นรมย์ หากแต่งานเอกสารที่พี่จ๋ายังรู้สึกหนักใจ และพยายามหาคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาช่วยทำงาน สิ่งที่พี่จ๋าอยากพัฒนาคือเรื่องการสติ สมาธิ ด้วยงานที่มากมาย ทำให้เห็นความสำคัญของการมีสติ เพราะหากจิตสงบจะพัฒนาตัวเองได้ดี หลายครั้งที่เล็งเห็นว่าตัวเองไม่มีเวลาดูแลตัวเอง ซึ่งพี่จ๋าคิดว่าหัวใจสำคัญของการเป็นพี่เลี้ยงที่ดีคือสติ
การอนุรักษ์พันธุ์กรรมผักพื้นบ้านชุมชนคลองยอ ยังคงดำเนินต่อไป โดยเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญ กระบวนการที่พี่จ๋าทำยังคงอยู่ในพื้นที่โดยมีเด็ก เยาวชน หมุนเวียนผ่านไปตามวัย เมื่อถึงคราวที่เยาวชนต้องออกไปเรียนรู้ ศึกษาต่อ ก็มีเด็กรุ่นใหม่เข้ามาวนเวียนทำกิจกรรม ความยั่งยืนของการสานต่อยังคงอยู่ในพื้นที่ ที่มีผู้ใหญ่อย่างพี่จ๋า และศูนย์เรียนรู้ขับเคลื่อนความรู้ เป็นฐานที่แน่นทั้งเนื้อหา เปี่ยมพลังไปด้วยความหวังดี เป็นฐานปฏิบัติการหนึ่งที่เด็ก เยาวชนได้เรียนรู้ก่อนสยายปีกออกไปหาความรู้ต่าง ๆ เพิ่มเติม พี่จ๋าในฐานะพี่เลี้ยงได้ติดตั้งเมล็ดพันธุ์ดีไว้ในใจเด็ก ๆ รากที่มั่นคงเมื่อได้เดินทางต่อตกที่ไหนก็เติบโต
ความโดดเด่น
- เป็นพี่เลี้ยงผู้สร้างการเรียนรู้ที่เป็นทางเลือกให้กับเด็ก โดยมีกิจกรรมที่สนุก สร้างสรรค์ สร้างการมีส่วนร่วมและส่งเสริมให้มีสุขภาพที่ดี
- มีความจริงใจ ตั้งใจ เป็นปราชญ์ผู้รู้เรื่องพืชพันธุ์ เพื่อการอนุรักษ์และส่งต่ออย่างยั่งยืน
- เปิดพื้นที่เรียนรู้ให้กับเด็ก เยาวชน ให้ค้นพบศักยภาพในตัวเอง