ศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเทศบาลตำบลปริก ตำแหน่ง: หัวหน้าโครงการ
โครงการเกษตรปลอดสารพิษ เทศบาลตำบลปริก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา กลุ่มเกษตรปลอดสารพิษ
น้ำหวาน ชลธิชา สันหรีม หัวหน้าโครงการเกษตรปลอดสารพิษ เทศบาลตำบลปริก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา น้ำหวานและเพื่อนๆในโครงการฯ ต้องการแก้ปัญหารายจ่ายในโครงการอาหารกลางวันของโรงเรียนเทศบาลปริก ซึ่งมีนักเรียน คุณครูและบุคลากรประมาณ 600 คน และทำให้ทุกคนได้รับประทานอาหารที่มีปลอดภัย
น้ำหวาน เป็นคนชอบทำงานจิตอาสา มีความคิดเป็นของตัวเอง แต่ไม่กล้าแสดงออกและแสดงความคิดเห็นเพราะกลัวว่าความคิดเห็นจะไม่ตรงกับคนอื่น การเริ่มต้นทำโครงการสำหรับน้ำหวานรู้สึกว่าเป็นช่วงที่ยากมาก เพราะน้ำหวานไม่ความรู้ และทักษะพื้นฐานที่จะทำงานนี้มาก่อน การปลูกผักให้เพียงพอต่อทุกคนในโรงเรียนไม่ใช่เรื่องง่าย การทำงานครั้งนี้จึงต้องอาศัยการวางแผนศึกษาข้อมูลหลายขั้นตอนก่อนที่จะเริ่มลงมือปลูกผัก “เราเริ่มต้นจาก ศึกษาข้อมูลว่าในแต่ละวัน โรงอาหารต้องการผักชนิดไหน ปริมาณเท่าไร จากแม่ครัวและคุณครูที่รับผิดชอบโครงการอาหารกลางวันของโรงเรียน เมื่อได้ข้อมูลมาจากโรงครัว เราวางแผน ทำแผนผังเป็นตารางให้เห็นว่า ในหนึ่งสัปดาห์มีเมนูอะไรบ้าง ใช้ผักอะไร ปริมาณเท่าไร เราจะสามารถปลูกผักส่งโรงครัวได้ปริมาณเท่าไร ทดลองปลูกผักให้ตรงความต้องการของโรงครัว”
ในทีมของน้ำหวานมีแกนนำ 12 คน และครูกสินทิพย์ หมัดโส๊ะ(ครูเหรียม) เป็นที่ปรึกษา เมื่อถึงช่วงเวลาต้องลงมือปลูกผักจริง ปัญหาใหญ่คือในทีมมีกำลังคนไม่เพียงพอในการปลูกผักปริมาณมาก น้ำหวานในฐานะหัวหน้าโครงการแก้ปัญหาโดยการชวนเพื่อนๆประชุมพูดคุยกัน โดยครั้งนั้นได้ข้อสรุปว่าจะรับสมัครน้องๆ จากทุกระดับชั้นมาช่วยปลูกและดูแลผัก ข้อสรุปครั้งนี้มาพร้อมกับการที่น้ำหวานต้องบริหารจัดการ วางแผนให้สามารถทำงานร่วมกับน้องๆที่มีความหลากหลายอีก 50-60 คน “ในการแบ่งงานเรามานั่งคุยกับเพื่อน ๆ ในกลุ่ม ช่วยกันเสนอความคิด พวกเราคิดว่าน้องที่มีวัยต่างกัน กำลังที่ต่างกัน ความอดทนต่างกัน เราควรแบ่งหน้าที่ให้เหมาะสมกับเขา น้อง ๆ ทุกคนจะได้มีความสุข เราแบ่งเวรให้เขาช่วยกันทำงาน เราแบ่งน้องเป็นระดับชั้น ดูว่าน้องอายุเท่านี้ทำอะไรได้บ้าง เช่น น้อง ป.3 แบ่งเวรเพื่อรดน้ำผัก จะเป็นแบ่งวันและสัปดาห์ น้องกลุ่มนี้เขาว่างตรงกัน สามารถทำงานพร้อมกันได้ พี่มัธยมเราให้มาช่วยงานยกร่องปลูกผัก เพราะเป็นงานที่หนักต้องใช้กำลัง”
ตลอดการทำงานจะมีการประชุม BAR (Before Action Review) และ AAR (After Action Review) เสมอ จึงเป็นพื้นที่ให้น้ำหวานได้ทำความคุ้นเคยจนสนิทกับเพื่อนในทีม และได้ฝึกแสดงความคิดเห็นของตัวเองกับเพื่อนๆ เมื่อเพื่อนๆให้การยอมรับ น้ำหวานจึงเริ่มมีความมั่นใจที่จะแสดงความคิดเห็นของตัวเอง โดยมีครูเหรียมคอยให้ปรึกษา บางครั้งก็ตั้งคำถามชวนคิด งานที่มาพร้อมกับความรับผิดชอบเรื่องรดน้ำผัก ไปส่งผักที่โรงครัว ดูแลน้องๆ ทำให้น้ำหวานต้องแบ่งเวลาเที่ยวเล่นช่วงเสาร์อาทิตย์มารับผิดชอบโครงการ ซึ่งน้ำหวานประทับใจกับการเปลี่ยนไปของตัวเองครั้งนี้
สิ่งที่น้ำหวานได้ติดตัวอย่างชัดเจนคือ การทำงานอย่างมีแบบแผน เป็นลำดับขั้นตอน วิเคระห์และหาทางแก้ปัญหาได้ ป“หนูไม่รู้จักการวางแผนการทำงาน พอมาเข้าร่วมโครงการหนูรู้จักการวางแผน เห็นปัญหาชัดเจนขึ้นมาว่าอยู่ตรงไหน ได้รู้จักวิธีการแก้ไขปัญหา ก่อนหน้านี้ไม่รู้ว่าจะทำอะไรก่อนดี พวกเราสับสน คุยกันไม่รู้เรื่อง ทำงานแบบมั่ว ๆ ครูแนะนำให้พวกเราลองวางแผน หลังจากนั้นเราลองวางแผนกัน เราต้องวางเป้าหมาย ระบุจุดประสงค์ของสิ่งที่เราจะทำ วางลำดับขั้นตอน คิดวิธีไปถึงเป้าหมาย และวิธีการแก้ปัญหาไว้ว่าตอนที่เกิดปัญหาเราจะแก้ไขอย่างไร”
น้ำหวานคนที่ไม่เคยเป็นที่รู้จัก ได้เป็นที่รู้จักของเพื่อนๆ และน้องๆเป็นแรงบันดาลใจทำให้คนอื่นๆอยากเข้าร่วมโครงการ น้ำหวานได้วางแผนส่งต่อโครงการโดยมีน้องๆทุกระดับชั้นเข้ามามีส่วนร่วมกับโครงการ อีกทั้งหากน้ำหวานเรียนจบจากโรงเรียน น้ำหวานยังมีความคิดอยากนำประสบการณ์ไปขยายทำกับโรงเรียนใหม่ที่ไปเรียนต่อ และน้ำหวานยังได้นำความรู้ทักษะการปลูกผักปลอดสารพิษมาทำแปลงปลูกผักที่บ้านของตนเองด้วย
ความโดดเด่น
- มีความคิดเชื่อมโยง เป็นเหตุเป็นผล ทำงานอย่างมีระบบแบบแผน
- เป็นผู้นำที่รับฟังความคิดเห็นของทุกคน ยอมรับความแตกต่าง และทำงานกับคนหลากหลายวัยได้ดี
- ช่างสังเกต ช่างคิด ช่างตั้งคำถามเพื่อหาคำตอบ โดยแสวงหาความรู้อย่างรอบด้าน เมื่อนำสิ่งที่ได้มาประเมินและพัฒนาสิ่งที่ทำ