ครูสอนวิชาสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ระดับชั้น ประถมศึกษาปีที่ 4 – 6 และมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 3 โรงเรียนวัดบ่อทรัพย์ ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา
พี่เลี้ยงโครงการศึกษาประวัติศาสตร์บ้านแหลมสน ตำบลหัวเขาอำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา
คุณครูสารภี รองสวัสดิ์ สอนวิชาสังคม ศาสนา ประวัติศาสตร์ ป.4 – ป.6 และ สอนวิชาประวัติศาสตร์ให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ม.1-3 โรงเรียนวัดบ่อทรัพย์ เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงโครงการเนื่องจากคุณครูพี่เลี้ยงท่านเดิมเกษียณอายุราชการ ทำให้คุณครูสารภีเข้ารับบทบาทหน้าที่พี่เลี้ยงนี้แทน ในโครงการศึกษาประวัติศาสตร์บ้านแหลมสนเด็กๆ มีเป้าหมายรวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์ในชุมชน ซึ่งมีโบราณสถาน สถานที่สำคัญรอบชุมชน แต่เรื่องราวเหล่านี้กำลังจะหายหรือถูกบิดเบือนไป ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ครูได้ทำบทบาทเป็นพี่เลี้ยงให้กับนักเรียนในการทำโครงการ
บทบาทการเป็นพี่เลี้ยงทำโครงการของครูสารภีถือได้ว่า “เรียนรู้ไปพร้อมกับเด็ก” ครูบอกว่า “การลงพื้นที่ครั้งแรก นักเรียนไม่กล้าพูดกับชาวบ้าน ขาดความมั่นใจ ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร ครูเองก็ยังไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรเช่นกัน เราได้พี่เลี้ยงจากสงขลาฟอรั่มมาแนะนำ พอได้แนวทาง เรา (ครู และนักเรียน) ร่วมกันทำ BAR (Before Action Review) ว่าวันนี้เราจะทำอะไร มีจุดประสงค์อะไร ตั้งคำถามอะไรบ้าง พอได้แล้วก็ลงพื้นที่ ตอนทำก็เจอทั้งปัญหาและได้ความรู้จากการซักถาม สังเกตเห็นชุมชนตอบรับโครงการของเราดี นักเรียนมีความมั่นใจและมีพลัง ครูทำแค่แนะนำ ช่วยให้แรงบันดาลใจ เวลาที่นักเรียนลงพื้นที่ต้องอย่าปล่อยให้นักเรียนรู้สึกโดดเดี่ยว” หลังจากลงพื้นที่เสร็จแล้วเมื่อกลับมาที่โรงเรียน จะร่วมกันทำ AAR (After Action Review) อีกครั้ง ว่าวันนี้เราลงไปชุมชนเป็นอย่างไร รู้สึกอย่างไร ได้ข้อมูลอะไร มีปัญหาอุปสรรคไหม
นอกจากให้กำลังใจ ครูยังชวนคิด ให้มองคนในชุมชนอย่างรอบด้าน เข้าใจและเห็นอกเห็นใจ เพราะเคยมีกรณีที่นักเรียนถูกผู้สูงอายุตวาด นักเรียนมาถามและปรึกษาคุณครูว่าทำไมผู้ใหญ่ถึงแสดงพฤติกรรมเช่นนั้น ซึ่งคุณครูชวนให้เด็กมองให้ลึกกว่าพฤติกรรมที่เกิดขึ้น แต่ให้ลองมองภาพรวมชีวิตก่อนหน้าที่จะมาพบนักเรียน ว่าผู้ใหญ่อาจตื่นเช้ามืด ไปทำงานสวน กลับมาจากการทำงานเหนื่อย เครียด หรืออาจมีเรื่องไม่สบายใจอยู่ในใจ ก่อนที่จะเจอเรา
ในบทบาทการให้แรงบันดาลใจ การสร้างความเชื่อมั่นให้กับเยาวชนว่าเขาทำได้ ครูสารภีได้สร้างแรงบันดาลใจโดยการกระตุ้น เมื่อนักเรียนลงไปทำงานแล้วเจอปัญหา ครูจะช่วยโดยแนะนำวิธีการพูดคุยกับชาวบ้าน ว่าจะคุยกับเขาอย่างไรเพื่อให้เขาให้ความร่วมมือ “ตอนแรกนักเรียนกลัว มีชาวบ้านบางคนเขาไม่ค่อยพูด ไม่ค่อยเต็มใจให้ข้อมูล ครูแนะนำว่านักเรียนต้องไปนั่งคุยเรื่องทั่วไปก่อนที่จะเริ่มคุยสิ่งที่เราอยากรู้ ในตอนแรก นักเรียนจะบอกเลยว่า หนูทำไม่ได้ค่ะครู หนูไม่กล้า เขาขาดความมั่นใจ ขาดความเชื่อมั่น เราเริ่มทำให้ดู ฝึกเขาบ่อยๆ ในครั้งหน้านักเรียนก็เริ่มกล้าทำด้วยตัวเอง” ครูสารภีอธิบาย
ในการลงพื้นที่สัมภาษณ์เก็บข้อมูลกับชาวบ้าน นักเรียนจะเจอปัญหาคือการได้ข้อมูลที่ไม่สอดคล้องกันของผู้ให้ข้อมูล ทำให้สรุปข้อมูลกันเองไม่ได้ คุณครูจะชวนให้นักเรียนนำข้อมูลมาตรวจสอบจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย เช่น การค้นคว้าทางอินเทอร์เน็ต พิพิธภัณฑ์ และจากหนังสือที่เป็นบันทึกเก่า ๆ นำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบว่าข้อมูลไหนน่าเชื่อถือ ชวนให้นักเรียนวิเคราะห์ทำ Timeline (เส้นเวลา) ทำแผนที่เดินดิน ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ทำให้นักเรียนได้เห็นภาพกว้าง รู้จักประมวลและวิเคราะห์ข้อมูล “ใช้กระบวนการทางประวัติศาสตร์ในการสืบค้น ถ้าถามชาวบ้านได้ข้อมูลไม่ตรงกัน ต้องไปพิพิธภัณฑ์สืบค้นว่าจริงไหม เราวิเคราะห์ข้อมูลพบว่ามีบางส่วนที่ตรงกันบางส่วนไม่ตรงกัน ต้องมาวิเคราะห์ว่าส่วนไหนที่มีความน่าเชื่อถือที่สุด นักเรียนก็มานั่งวิเคราะห์ทำ Timeline (เส้นเวลา) ทำแผนที่เดินดิน” ครูสารภี อธิบาย
บทบาทพี่เลี้ยงโครงการของคุณครูสารภี จึงไม่ใช่เพียงแนะนำให้โครงการดำเนินให้สำเร็จ แต่ส่งเสริมให้นักเรียนได้มีทักษะชีวิต ทักษะการสื่อสาร การสังเกต ส่งเสริมให้นักเรียนมีอำนาจภายใน ที่จะมั่นใจ อ่อนโยน กล้าหาญ และรู้จักตั้งคำถามเพื่อหาคำตอบ นักเรียนมีความสุข เรียนรู้และทำงานอย่างเต็มใจ กล้าที่จะตอบ ต่างจากก่อนหน้านี้บรรยากาศในห้องเรียนเงียบเหงา การเรียนรู้ผ่านการทำโครงการทำให้คุณครูเห็นว่านักเรียนมีศักยภาพในตัวเอง มีความรับผิดชอบและพร้อมเพรียงที่จะทำ ซึ่งคุณครูไม่ได้บังคับ คุณครูบอกว่าที่ครูประทับใจคือ “จากที่เด็กไม่ตอบสนองเวลาคุณครูสอน แต่เมื่อเขาไปลงพื้นที่ เขาแย่งกันตอบเวียนกันตอบอย่างมีความสุข”
ประสบการณ์จากการโคชเยาวชนในการทำโครงการนำมาสู่การปรับรูปแบบการเรียนการสอนในห้องเรียน ครูเล่าว่า เดิมทีกระบวนการสอนในห้องเรียนของคุณครู คือสอนหน้าชั้นตามเนื้อหา ไม่มีการลงพื้นที่จริงไปสัมผัสชุมชน นักเรียนเป็นผู้ฟังและไม่ค่อยตอบสนองเวลาครูสอน เมื่อเข้ามาทำหน้าที่พี่เลี้ยงโครงการ คุณครูสารภีได้พัฒนาเข้าร่วมประชุมและพัฒนาศักยภาพกับสงขลาฟอรั่ม และนำแนวทางที่สร้างกระบวนการเรียนรู้มาใช้ เพื่อกระตุ้นและสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียน หาวิธีการสอนใหม่ ๆ และเปิดกว้างให้นักเรียนแสดงความคิดเห็น ไม่จำกัดความคิดของนักเรียน ไม่ตัดสินเด็ก แต่เปิดพื้นที่แห่งการแลกเปลี่ยนและหาคำตอบร่วมกัน
“แต่เดิมเราแค่สอนแบบเก่า ๆ เราสอนแบบเดิมอ่านแล้วก็มาดูรูปดูภาพ แต่เราไม่ได้ตั้งคำถามเปิดกว้างให้เด็กได้แสดงความคิดเห็น ไม่ให้เด็กค้นข้อมูลหรือลงพื้นที่จริง...ตอนนี้พยายามหาวิธีการสอนและเปิดกว้างให้นักเรียนแสดงความคิดเห็น ไม่จำกัดความคิดของนักเรียน ให้เด็กแสดงออกได้เต็มที่ ครูได้หันมามองตัวเองว่า เราไม่ควรตัดสินเวลาเด็กตอบ เมื่อเด็กตอบมาผิด ครูไม่ควรบอกว่าแบบนี้ไม่ใช่ แต่เราควรเสริมว่าควรจะเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ หรือว่ามาคิดร่วมกัน ให้เขาได้แสดงความคิดเห็น” ครูสารภี อธิบาย
คุณครูสารภีมีความสุขที่ได้เห็นพัฒนาการเชิงบวกของลูกศิษย์ ประทับใจบรรยากาศในห้องเรียนแบบใหม่ที่นักเรียนแย่งกันตอบ เวียนกันตอบอย่างมีความสุข แม้สิ้นสุดโครงการแต่คุณครูจะทำเรื่องประวัติศาสตร์บ้านแหลมสนในโรงเรียน คุณครูสารภีไม่หยุดพัฒนาตัวเองอยากอบรมเทคนิค กระบวนการเที่แปลกใหม่เพื่อไปสร้างห้องเรียนที่สร้างสรรค์ เพราะหัวใจของการเป็นครูคือการได้เห็นว่านักเรียนของเรากำลังเบิกบาน เติบโต รู้จักคิดและทำงานอย่างสร้างสรรค์เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน
“ตอนแรกเข้าใจว่าครูต้องทำเองหมด ที่จริงแล้วไม่ใช่ เราเป็นเพียงผู้แนะนำให้ความช่วยเหลือ แค่ดูแลกระตุ้นนักเรียนเท่านั้นเอง นักเรียนมีศักยภาพอีกมากที่เราเองคาดไม่ถึงเลยว่า เด็กที่เรามองและตัดสินว่าทำไม่ได้ จริง ๆ เด็กทำได้ เพียงเราใช้คำถามกระตุ้น ให้กำลังใจ ช่วยเหลือเขา เขาสามารถทำอะไรได้โดยที่เราคาดไม่ถึง” ครูสารภีปิดท้ายความเข้าใจเรื่องการโคชเพื่อสร้างการเรียนรู้
ความโดดเด่น
- เป็นพี่เลี้ยงที่ชวนให้เยาวชนมองอย่างรอบด้าน ไม่ตัดสิน แต่เรียนรู้ถึงพฤติกรรมใต้ภูเขาน้ำแข็ง เพื่อสร้างความเข้าใจคนอื่นอย่างแท้จริง
- ทำงานกระบวนการคิด วิเคราะห์ วางแผน อย่างมีกระบวนการร่วมกับเยาวชน โดยใช้ BAR และ AAR
- สังเกต การเรียนรู้ของเยาวชน พร้อมปรับบทบาทการสอนในห้เกิดการเรียนรู้ที่เป็นสุข