ทีมเยาวชนหนุ่มสาวลาวโซ่ง ทำโครงการกระบวนการเรียนรู้วัฒนธรรมไทยทรงดำของเด็กเยาวชนและคนในชุมชนตำบลดอนคา อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี หรือโครงการพาน้องยืนถิ่นลาวโซ่งบ้านโคกคา เป็นการรวมตัวกันของเยาวชนตำบลดอนคาที่มีเชื่อสายไทยทรงดำและไทยจำนวน 10 คน ปัจจุบันมีทีมทำงานหลัก 5 คน
จุดเริ่มต้นการทำงาน พี่นุ้ย เจ้าหน้าที่ของ อบต.โคกคา ชักชวนประธานและสมาชิก สภาเด็กและเยาวชนตำบลดอนคา ได้แก่ ส้มแนน และรุ่นน้องผู้ชายที่เป็นคนลาวโซ่งเข้ามาทำโครงการ พวกเขาสนใจอยากรู้ว่าลาวโซ่งมีพิธีกรรมและอาหารอะไรบ้าง ส้มและแนนไม่ใช่คนลาวโซ่ง ขณะเดียวกันรุ่นน้องในทีมเป็นวัยรุ่นลาวโซ่งที่ฟังภาษาลาวโซ่งเข้าใจแต่ยังไม่ค่อยรู้เรื่องราวของไทยทรงดำมากนัก ความสนใจทำให้ทีมนี้อยากรู้ทั้งเรื่องพิธีกรรม อาหาร การแต่งกาย ในวิถีไทยทรงดำ ด้วยสถานการณ์ที่วัยรุ่นไทยทรงดำไม่พูดภาษาลาวโซ่งแล้ว เมื่อไม่มีคนสืบสานภาษาอาจจะสูญหาย ดังนั้นภาษาจึงเป็นอีกประเด็นที่ทีมหนุ่มสาวลาวโซ่งอยากศึกษาลงลึก
ทีมหนุ่มสาวลาวโซ่งร่วมประชุมทีม วางแผนการลงพื้นที่หมู่บ้านที่มีเรื่องราวโดดเด่นเฉพาะเรื่อง แบ่งหน้าที่ ช่วยกันประสานงานกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายงานชุมชน แม้ว่าจะมีปัญหาเรื่องเวลาของคนในทีมไม่ตรงกัน เพราะสภาเด็กและเยาวชนมีกิจกรรมด้านอื่นด้วย จึงแก้ปัญหาด้วยการหาเวลาว่างให้ตรงกันมากที่สุดเพื่อให้งานเดินหน้าเพราะโครงการนี้เป็นโอกาสให้ได้เรียนรู้ “ถึงจะเหนื่อยแต่ก็ไม่ทำให้เราต้องหยุดที่จะทำโครงการนี้ยังอยากที่จะทำต่อไป หนูไม่อยากปล่อยให้หลุดมือไปมันเป็นโอกาสที่เข้ามา มีพี่คนหนึ่งที่เขาคอยให้กำลังใจหนูให้คำปรึกษาหนูมาตลอด และที่สำคัญโครงการนี้ได้เปิดโอกาสที่ให้หนูได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ มันทำให้หนูอยากจะสู้ต่อ”
นอกจากความสุขในรอยยิ้มของชาวบ้านที่มอบให้ ความสามารถในการพูดในที่สาธารณะ ความกล้าแสดงออก การฝึกสื่อสารตรงไปตรงมาในทีมเพื่อฝึกความรับผิดชอบของสมาชิก เป็นข้อท้าทายในการประคองทีมทำงานให้ร่วมมือกันจนโครงการสำเร็จถึงเป้าหมาย การแบ่งเวลามาสนใจเรื่องวัฒนธรรมชุมชนที่มีเอกลักษณ์ แทนการใช้เวลาอยู่บ้านนอนเล่นโทรศัพท์ ฝึกการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า คือการเรียนรู้จากโครงการของทีมหนุ่มสาวลาวโซ่ง
ความโดดเด่น
- ใช้ความใฝ่รู้เป็นแรงผลักดันทีมทำงานในการสืบค้นวิถีชีวิตของคนไทยทรงดำ
- รับผิดชอบและทำงานอย่างเป็นระบบ
- ทีมงานเปิดใจเรียนรู้ ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค ประคองความสัมพันธ์ให้ทีมทำงานร่วมกันได้