กลไกชุมชนบางสะแก .
พี่เลี้ยงเยาวชน Active Citizen โครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก
ตำแหน่งที่ได้รับในโครงการต่างๆ
ประวัติและผลงาน

กลไกชุมชนบางสะแก

1. อัญชลีย์ บุญพยุง (พี่ตู๋) อายุ 42 ปี แพทย์ประจำตำบลบางสะแก

2. ประทุม เรืองทิพย์ (พี่น้อย) อายุ 53 ปี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ตำบลบางสะแก

โครงการการจัดการขยะในครัวเรือนที่เหมาะสมกับคนในชุมชนตำบลบางสะแก อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม

­

ตำบลบางสะแกเป็นแหล่งปลูกส้มโอพันธุ์ขาวใหญ่ที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อสิบปีก่อนราคาส้มโอตกต่ำ ผู้นำชุมชนหารือค้นหาวิธีการทำให้ราคาพืชผลดีขึ้นเพื่อให้เกษตรกรและคนในชุมชนมีรายได้ดีอยู่ดีมีสุข กำนันได้ริเริ่มความคิดใช้การท่องเที่ยวชุมชนเป็นเครื่องมือประชาสัมพันธ์ตำบลให้เป็นที่รู้จัก กลุ่มผู้นำชุมชนร่วมลงขันค่าใช้จ่ายศึกษาดูงานชุมชนท่องเที่ยว จัดตั้งกลุ่มรักษ์บางสะแกเปิดการท่องเที่ยวชุมชนในพื้นที่ตำบลบางสะแก กลุ่มรักษ์บางสะแก จึงเป็นกลไกขับเคลื่อนงานพัฒนาตำบลบางสะแก

สกว.ได้เข้ามาพัฒนาศักยภาพคณะทำงานชุมชน โดยใช้โจทย์เรื่องประวัติศาสตร์ชุมชนและติดตั้งความคิดเชิงระบบด้วยกระบวนการวิจัยท้องถิ่น กลไกชุมชนมีองค์ประกอบของทีมทำงานที่หลากหลายทั้งกำนัน ผู้นำชุมชนทุกฝ่าย ผู้นำกลุ่มองค์กร กลุ่มสตรี กลุ่มส้มโอ ฯลฯ หรือกลุ่มคนโตที่มีทั้งผู้นำโดยตำแหน่งและผู้นำธรรมชาติที่เสนอตัวเข้ามาทำงานร่วมกัน ผู้นำกลไกชุมชนตำบลบางสะแกมุ่งพัฒนาศักยภาพของคนในด้านที่ถนัดและตามความสนใจ ต่อยอดพัฒนาทีมโดยเปิดรับสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะการพัฒนาความรู้ทางวิชาการจากมหาวิทยาลัยต่างๆ กลไกชุมชนบางสะแกมีความตั้งใจในการพัฒนาศักยภาพเยาวชนซึ่งสะท้อนจากที่ทุกหมู่บ้านสมทบทุนทำกิจกรรมให้เยาวชนก่อตั้งชมรมทูบีนัมเบอร์วัน และการจัดกิจกรรมพัฒนาในชุมชนอย่างต่อเนื่องสร้างโอกาสให้เยาวชนมีส่วนร่วม แสดงความสามารถ และซึมซับวิถีพัฒนาชุมชนบ้านเกิดจากคนโต

โครงการการจัดการขยะในครัวเรือนที่เหมาะสมกับคนในชุมชนตำบลบางสะแก เด็กและเยาวชนเลือกประเด็นขึ้นมาทำตั้งใจเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนร่วมกับผู้ใหญ่ในชุมชน ทีมรักษ์บางสะแกมอบหมายให้พี่น้อย ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 เป็นพี่เลี้ยงทีมเยาวชนตั้งแต่เริ่มพัฒนาศักยภาพร่วมกับโหนด เลือกประเด็น เก็บข้อมูล วางแผนกิจกรรม ลงพื้นที่ทำกิจกรรมประสานคนในชุมชนและอบต. กระตุ้นเตือนให้ทำตามแผนงาน โดยมีพี่ตู๋ แพทย์ประจำตำบลบางสะแกดูแลจัดการอำนวยความสะดวกในการทำกิจกรรม และกำนันเป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำและหลักการสำคัญ ทีมเยาวชน เกิดความเข้าใจการแยกขยะจากการลงมือปฏิบัติจริงที่เริ่มจากตัวเองขยายผลสู่ครอบครัว ญาติพี่น้องและคนในชุมที่สนใจ กลไกชุมชนร่วมกับชุมชนคนบางสะแกจัดงานใหญ่พาเมโล่รัน มีทีมเยาวชนร่วมจัดการแยกขยะด้วยหลักการที่ถูกต้อง ไปถึงการรับจ้างจัดการขยะในงานศิลปะที่แม่กลองมีคนร่วมงานสองถึงสามพันคน นับเป็นความสำเร็จและช่วยยืนยันการต่อยอดโครงการแม้งบประมาณจะหมดลง การจัดการขยะจะขยายผลไปสู่ระดับตำบลโดยกลไกชุมชนบางสะแกเป็นผู้สนับสนุนเยาวชนให้ขับเคลื่อนต่อไป

ที่นี่บ่มเพาะพลเมืองเยาวชนด้วยวิถีของคนโต เปิดพื้นที่กิจกรรมเยาวชน สร้างแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG: Sustainable Development Goal) ผ่านการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับหน่วยงานที่เข้ามาในชุมชน นักศึกษามหาวิทยาลัยทั้งไทยและชาวต่างชาติ ฝึกเยาวชนทำงานอย่างมีส่วนร่วมตั้งแต่การเลือกประเด็น ร่วมตัดสินใจ ร่วมรับผิดชอบ และรับประโยชน์ เกิดเป็นความตระหนักที่อยากแบ่งเบาภาระของผู้ใหญ่ในเรื่องการจัดการขยะ ส่งเสริมสร้างเครือข่ายเพื่อนเยาวชนจากชุมชนอื่นมาใช้เวลาว่างทำกิจกรรมแทนการเล่นโทรศัพท์อยู่ที่บ้านในวันหยุด ผู้ใหญ่สร้างพื้นที่ปลอดภัย “ผูกพันดูแลกัน เด็กรู้สึกว่ามีผู้ใหญ่ที่พึ่งได้เพิ่มขึ้น” ความสัมพันธ์ที่ดีแบบผู้ใหญ่ที่ดูแลลูกหลาน เปิดทางให้เยาวชนตั้งหลักคิดสั่งสมสำนึกรักชุมชนผ่านการลงมือทำจริง สร้างความเข้าใจกับครอบครัวเด็ก ช่วยจัดการเวลาและสภาวะอารมรณ์ของเด็กให้กลับมาจดจ่อกับงานที่รับผิดชอบ

การทำโครงการการจัดการขยะในครัวเรือนที่เหมาะสมกับคนในชุมชนตำบลบางสะแก เปิดโอกาสให้คนทำงาน ได้เข้าไปคุยกับคนในชุมชนมากขึ้น ได้แลกเปลี่ยนและฟังเสียงสะท้อนต่อการทำงานของทีม กระชับความสัมพันธ์ระหว่างทีมเยาวชนกับพี่เลี้ยง เปิดโลกกว้างให้กับทีมเยาวนได้รู้จักชุมชนของตัวเอง ย้ำให้เห็นกระบวนการพัฒนาคนที่ต้องไปด้วยกันทั้งทีมพูดคุยสื่อสารจนเข้าใจร่วม ไม่ปิดกั้นตัวเอง เปิดใจรับฟัง ไม่หยุดที่จะเรียนรู้โลกที่เปลี่ยนแปลงไป และการเชื่อมร้อยกับกลไกภายนอกที่เข้ามาและไม่สูญเสียความเป็นตัวเอง

­

ความโดดเด่น
  • ขับเคลื่อนงานพัฒนาด้วยการพัฒนาศักยภาพคนตามความถนัดและความสนใจ
  • วิถีการพัฒนายึดหลักการ อยู่ดี มีสุข และยั่งยืน อย่างมีส่วนร่วมของเยาวชนและชุมชน
  • เป็นตัวเองใช้ฐานทุนที่มีในชุมชนเท่าทันการเปลี่ยนแปลงภายนอกต่อยอดเชื่อมร้อยกับเครือข่าย กลไกอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง