ความโดดเด่น :
- กล้าที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง ลุกขึ้นมาเป็นผู้นำที่เป็นต้นแบบในชุมชน เปลี่ยนชีวิตจากอดีต และทำปัจจุบันให้สดใส
- รับผิดชอบต่อหน้าที่ ค่อยๆ แก้ปัญหาไปทีละข้อตามปัจจัยเงื่อนไขที่มี
- มีจิตสาธารณะ และการเดินทางไปร่วมกิจกรรมกับเครือข่ายฯ ทำให้ได้เรียนรู้โลกภายในตัวเอง มีคุณค่าและมีสำนึกพลเมือง
เชล เยาวชนคนหนุ่มที่ผ่านประสบการณ์ชีวิตมาอย่างโชกโชน เคยเสเพล ติดเพื่อนและมั่วสุ่ม เคยเลือกเส้นทางชีวิตที่ทำให้ครอบครัวเสียใจ เชลอยู่อำเภอบ่อเกลือ ทำอาชีพต้มเกลือ รับจ้างทำงานก่อสร้าง ทาสี พร้อมทั้งศึกษาที่ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เข้ามาทำโครงการฯ เพราะพี่เลี้ยงโครงการ Active Citizen ชักชวนเด็ก กศน. ทำโครงการ เชลจึงเสนอตัวพร้อมกับเพื่อนอีก 3 คน เริ่มต้นคิดหัวข้อโครงการ เดิมทีจะทำเรื่องขยะในชุมชน แต่เห็นว่าเทศบาลได้เข้ามาจัดการขยะ จึงเลือกทำโครงการฟื้นฟูกาดหละอ่อน สอนเยาวชนปลูกผัก
แต่ก่อนบ้านก่อก๋วง เคยมีกาดหละอ่อนที่มีเด็กๆ มาขายของ ขายผัก ของขึ้นชื่อหลักคือมะเขาควาย (กระจับเขาควาย) แต่ได้หายไป เนื่องจากของขายหายากขึ้น เด็กๆ ต้องไปเรียน เชลทำหน้าที่หัวหน้าโครงการ ชวนเพื่อนๆ คุยกันเรื่องการวางแผนประสานงานชุมชน ทำความเข้าใจกับพ่อแม่ของเด็ก ก่อนทำกิจกรรม เพื่อป้องกันการเข้าใจผิดของผู้ปกครอง ผู้ปกครองมีทั้งสนับสนุนเพื่อให้เด็กได้รู้จักทำงานและมีรายได้ในช่วงปิดเทอม แต่มีบางครอบครัวไม่อยากให้เด็กเหนื่อย เชลประสานผู้นำชุมชนให้ช่วยประกาศให้เด็กมารวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรม และยอมรับในความคิดเห็นของผู้ปกครอง บ้านไหนพร้อมก็มาร่วมกันทำกิจกรรมการฟื้นฟูกาดหละอ่อน จำเป็นต้องมีผลผลิตมาขาย เชลและเพื่อนจึงวางแผนระยะยาวเพื่อให้มีผลผลิตไว้ขายในช่วงฤดูหนาว เพราะจะมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวในชุมชนอย่างต่อเนื่อง
เชลเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด กล้าพูด กล้าคิด ทำหน้าที่บทบาทผู้นำ เมื่อเกิดกาดหละอ่อน เชลแบ่งรายได้ให้เด็กๆ ที่ร่วมทำงานอย่างเท่าเทียม เชลเปลี่ยนพฤติกรรมจากเด็กเสเพล เป็นต้นแบบเยาวชนในหมู่บ้าน เขาคิดว่า การเป็นผู้นำหากยังทำตัวแบบเดิมคงไม่มีใครวางใจ ซึ่งเพื่อน ๆ ของเชลช่วยสะท้อนว่าเชลดูมีความสุขขึ้น รับผิดชอบ สดใส และมีเพื่อนกลุ่มใหม่ที่เป็นมิตร และพากันไปเรียนรู้มากขึ้น
นอกจากงานในโครงการฯ เชลมีความสุขกับการทำงานร่วมกับเครือข่ายฯ เริ่มจากเพื่อน ๆ เครือข่ายมาช่วยทำแปลงเกษตรของโครงการฯ ที่ชุมชน เชลซาบซึ้งและอาสาว่าหากพื้นที่ใดที่เขาจะไปช่วยทำอะไรได้เขาพร้อมและยินดี เชลเริ่มเดินทางกับเครือข่ายไปทั้งทำฝาย ให้ความรู้เรื่องแยกขยะ เชลพยายามไปทุกที่เพราะเป็นเส้นทางที่เขาจะได้เรียนรู้ เพิ่มพูนทักษะการเข้าสังคม ค้นพบคุณค่าในตัวเอง การทำงานในฐานะจิตอาสา ทำให้เชลค้นพบตัวตนในแง่งาม
อุปสรรคในโครงการฯ ที่เชลพบเป็นเรื่องไก่ที่เข้ามาคุ้ยผักในแปลง เขาพยายามปรับแปลงกันไก่เท่าที่จะทำได้ ลองผิดลองถูกที่จะค่อยๆ แก้ไขปัญหา ปัญหาเรื่องน้ำเป็นปัจจัยใหญ่ที่เชลต้องหาข้อตกลงกับชุมชนเพราะชุมชนกังวลว่าหากใช้นำมารดผักเยอะ คนในชุมชนจะมีน้ำไม่พอใช้ ซึ่งเชลและเพื่อนจึงขอแท้งค์ร้างที่ชุมชนไม่ใช้จัดเก็บน้ำฝนเพื่อน้ำมารดน้ำผัก โดยแยกจากแท้งค์ที่คนในชุมชนใช้หลัก อนาคตเชลและเพื่อนวางแผนจะปลูกผักอื่น ๆที่หลากหลายขึ้นเพื่อให้ผู้บริโภคมีทางเลือก
เชลมองว่าการทำงานในชุมชนที่บ้านเกิดเป็นความยั่งยืนของชีวิต เชลอยากอยู่บ้านกับตายายที่เลี้ยงดูเขามา บ้านของเชลมีของดีคือบ่อเกลือ การทำเกลือขาย ควบคู่กับการทำงานชุมชน เข้าป่าหาอาหาร จับปลาในแม่น้ำ เพียงเท่านี้ชีวิตก็มีสุขแล้ว ไม่จำเป็นต้องลงไปทำงานที่เมืองใหญ่ และเขาอยากชักชวนเพื่อนๆ ที่เรียน กศน. ด้วยกันได้เข้ามาทำงานโครงการฯ เพราะการทำงานโครงการฯ มีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง