ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน (บ้านหนองสะมอน)
โครงการศึกษารูปแบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติบ้านหนอง สะมอนเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งหาอยู่หากินของคนชุมชน
นายศราวุธ ยงกุล หรือผู้ใหญ่วุฒิ ผู้ใหญ่บ้านหนองสะมอน ตำบลเมืองหลวง อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ เป็นพี่เลี้ยงโครงการศึกษารูปแบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติบ้านหนองสะมอนเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งหาอยู่หากินของชุมชน ผู้ใหญ่วุฒิ ออกจากบ้านไปกรุงเทพฯ หลังจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 ตั้งใจจะไปทำงานสร้างอนาคต หลังจากอยู่กรุงเทพฯ 10 ปี ค้นพบว่า กรุงเทพฯ ไม่มีอะไรที่ต้องค้นหา แต่ตัวเราต้องค้นหาตัวเองและหาคุณค่าในตัวเอง ผู้ใหญ่วุฒิตัดสินใจกลับบ้าน ซึ่งช่วงนั้นด้วยวัยยังอยู่ในเกณฑ์เยาวชน จึงอาสาและได้รับเลือกเป็นประธานเยาวชน ทำงานบุญประเพณี งานกีฬาต่างๆ ร่วมกับน้องๆ เยาวชนในหมู่บ้าน ตอนนั้นผู้ใหญ่วุฒิเห็นช่องว่างการสื่อสารเรื่องวัฒนธรรมให้คนรุ่นหลัง คนรุ่นใหม่เติบโต ออกไปในเมือง กลับมาบ้านโดยที่พวกเขาไม่รู้จักชุมชน และไม่รู้ว่าทำไมจะต้องทำงานเพื่อส่วนรวม ผู้ใหญ่วุฒิเชื่อว่าเยาวชนเป็นแกนหลักในการพัฒนาชุมชน อยากสร้างให้เยาวชนมีส่วนร่วมกับชุมชน จึงรวมกลุ่มอาชีพ ตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนเพื่อชุมชน ทำงานสร้างฝายและงานสาธารณะประโยชน์ต่างๆ หลังจากผู้นำคนเก่าหมดวาระ ผู้ใหญ่วุฒิจึงลงสมัครและได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน เขาตั้งใจว่าจะผลักดันให้เยาวชนเข้ามาทำงานชุมชนมากขึ้น
ผู้ใหญ่วุฒิทำโครงการหลายอย่าง ร่วมระดมทุนทำฝายมีชีวิต ฟื้นประเพณีบั้งไฟ กิจกรรมเป็นส่วนหนึ่งที่ผู้ใหญ่เห็นว่าจะสร้างความปรองดองในชุมชน ให้คนในชุมชนสามัคคีร่วมแรงใจกัน
บทบาทพี่เลี้ยงโครงการฯ ผู้ใหญ่ชวนน้องๆ เยาวชนเข้าป่าเป็นอันดับแรก ไปดูฝายดูความสมบูรณ์ของป่า และป่าฝั่งที่ถูกทำลาย ให้เยาวชนตั้งคำถามและเล่าสาเหตุและผลกระทบที่เกิดขึ้น ผู้ใหญ่วุฒิปลุกพลังให้เยาวชนสนใจ ตระหนักและอยากเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนา ให้พื้นที่ในการสร้างสรรค์ทำงาน แสดงความคิดเห็น ให้ความเป็นมิตรเป็นเพื่อน ให้พื้นที่เยาวชนในเวทีหมู่บ้านเพื่อให้ผู้ปกครองและคนในชุมชนเห็นศักยภาพของเยาวชน ผู้ใหญ่วุฒิใช้เทคนิค เติมไฟฝันย้ำเป้าหมาย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมาให้เยาวชนฟัง ชวนพวกเขาวางแผนทำงานให้เป็นขั้นตอน ค่อยๆ ให้ทำจนเห็นพัฒนาการความเปลี่ยนแปลงของเยาวชน หลายคนกล้าแสดงออกมากขึ้น แกนนำเยาวชนสามารถจับประเด็นและนำวงประชุมได้ การทำงานดำเนินไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ดั่งรากลึกที่ค่อยๆ หยั่งลงดินให้แข็งแรง
ปัญหาหนึ่งที่ผู้ใหญ่วุฒิไม่ปล่อยปะละเลย คือมุมมองเรื่องเพศของผู้ปกครองที่กังวลว่าผู้ใหญ่วุฒิ ซึ่งเป็นชายโสดจะมาทำให้ลูกสาวเขาเสียหาย ผู้ใหญ่ใช้ความอดทนและเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ ปฏิบัติจริยวัตรอย่างตรงไปตรงมา อ่อนน้อม เข้าวัดในวันพระซึ่งไม่ค่อยมีผู้ชายเข้าวัดกัน มีเพียงแม่และผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่ ไม่อยู่ลำพังกับเยาวชน เมื่อไปไหนจะไปกันหลายๆ คนเสมอ ผู้ใหญ่เพียรทำซ้ำ จนเป็นที่วางใจ ผู้ใหญ่รับรู้ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน จึงไม่โต้แย้ง รับฟังอย่างเดียว แม้ในใจจะเสียใจที่ไม่ได้รับความวางใจ เชื่อมั่นในเจตนาที่ดี รับรู้ความรู้สึกของทุกฝ่าย แม้บางครั้งผู้ใหญ่จะรับรู้ปัญหาของเยาวชนมากกว่า เพราะเยาวชนไม่กล้าบอกผู้ปกครอง ความสม่ำเสมอของผู้ใหญ่บ้านและการพัฒนาศักยภาพของเยาวชน การรับผิดชอบต่อหน้าที่และการทำงานของชุมชนอย่างตั้งใจทำให้ผู้ปกครองยอมรับ สร้างความเชื่อมั่นกลับมา ผู้ใหญ่วุฒิฝากถึงพี่เลี้ยงที่เผชิญปัญหานี้ว่า “ถ้าคุณเจอสถานการณ์แบบนี้ สิ่งที่คุณต้องมีจริงๆ ก็คือไฟในใจคุณที่ไม่เคยมอด ไฟแห่งการปรารถนาดีต้องไม่มอด เราต้องคอยเติมไฟ อย่าหมดแรงบันดาลใจในการทำงาน”
สิ่งที่ผู้ใหญ่วุฒิระวังและอยากพัฒนาคือการพัฒนาด้านการจัดการอารมณ์ ทำความเข้าใจสิ่งเร้าที่เกิดขึ้น เข้าใจปัญหาของเยาวชนที่แท้จริง เพราะไม่เช่นนั้นจะเผลอตัดสินและทำให้เยาวชนคนนั้นไม่กลับมาร่วมกิจกรรม ผู้ใหญ่วุฒิใช้พลังงานเชิงบวกผลักดันให้คนในชุมชนภูมิใจในตัวเอง ชื่นชม ยกย่องพวกเขาต่อหน้าสาธารณะ ให้เกียรติบัตรกับผู้ที่มีจิตอาสา ทำให้ทุกคนรู้ว่าหมู่บ้านจะพัฒนาต้องมาจากทุกคน
ในแง่ความยั่งยืน เยาวชนมีกองทุนพัฒนาเยาวชน ซึ่งผู้ใหญ่วุฒิสร้างพื้นที่ให้เยาวชนมีกิจกรรมหารายได้เข้ากองทุน เช่นขายสินค้าในวันสำคัญ เพื่อให้เยาวชนมีเงินในการทำกิจกรรมต่อไป
ความโดดเด่น
- เข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแก้ปัญหาด้วยสติ ใช้ความสม่ำเสมอ ความเพียรในการแก้ปัญหา
- เปิดพื้นที่ให้เยาวชนแสดงศักยภาพโดยสนับสนุน เป็นที่ปรึกษา ชวนคิด ชวนทำ ใช้พื้นที่อย่างเต็มที่
- กล้าคิด กล้าทำ กล้าฝัน จากแกนนำเยาวชนสู่ผู้นำชุมชน ลงมือทำงานใหญ่เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง
- สื่อสารสาธารณะ ชื่นชมคนลงมือทำให้เขาได้ภูมิใจ มีพลังในการทำงานต่อไป