เกียรติชัย ไทยใหม่
แกนนำเยาวชนอนุรักษ์การแต่งกายชาติพันธุ์กระเหรี่ยง
ตำแหน่งที่ได้รับในโครงการต่างๆ
ประวัติและผลงาน

เยาวชนเด่น โครงการแต่งตัวสบายๆ ตามสไตล์บ้านแพ บ้านหนองหลัก  ตำบลตะเคียนปม อำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน


ชื่อเรื่อง เกียรติชัย ไทยใหม่ ความภาคภูมิใจที่เกิดขึ้นง่ายๆ จากเสื้อผ้าที่สะท้อนเอกลักษณ์และตัวตน


“กะเหรี่ยง” เป็นชาวเขากลุ่มใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ทางภาคเหนือและภาคตะวันตก เป็นชนชาติเก่าแก่ชนชาติหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความเป็นมายาวนาน มีทั้งวัฒนธรรมและภาษาเป็นของตัวเอง จากการศึกษาทางมานุษวิทยา พบหลักฐานที่บันทึกไว้ในสมัยพระนางจามเทวี เมืองหริภุญชัย (ลำพูน) กล่าวถึงชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่รอบๆ เมืองเชียงใหม่มาตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 13

ชาวกะเหรี่ยงในไทย มี 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ สะกอหรือที่เรียกตนเองว่า “ปกาเกอะญอ” และ กะเหรี่ยงโป ที่เรียกตนเองว่า “โผล่ว” หรือ “โพล่ง”

ชุมชนบ้านหนองหลัก ตำบลตะเคียนปม อำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน เป็นอีกหนึ่งชุมชนดั้งเดิมของชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโพล่ง ในวันที่คนในชุมชนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ กำลังละเลยและมองข้ามคุณค่าทางวัฒนธรรมของตัวเอง เยาวชนกลุ่มหนึ่งในพื้นที่ได้นำพาความรัก ความหวงแหน และความภาคภูมิใจในชาติพันธุ์กระเหรี่ยงให้กลับคืนมาอีกครั้ง ผ่าน โครงการแต่งตัวสบายๆ ตามสไตล์บ้านแพ ภายใต้ โครงการปลุกสำนึก สร้างพลัง เสริมศักยภาพ เยาวชนเมืองลำพูน


เครื่องแต่งกาย เรื่องที่ขาดไม่ได้

เครื่องแต่งกายเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ เป็นสิ่งสำคัญต่อการดำรงชีวิต ชนเผ่ากะเหรี่ยงมีเครื่องแต่งกายทอมือที่เป็นเอกลักษณ์ แพทเทิร์นของเสื้อผ้าเรียบง่ายแต่แฝงไว้ด้วยความหมาย ไม่ว่าจะเป็นเสื้อด้านหน้าด้านหลังที่เท่ากันแสดงถึงความซื่อตรง ไม่ใช่หน้าอย่างหลังอย่าง เสื้อที่ไม่มีกระเป๋าแสดงถึงความพอเพียง ไม่สะสม ไม่สร้างภาระให้หนักหนาจนเกินพอดี

เผือก - เกียรติชัย ไทยใหม่ อายุ 16 ปี เป็นหนึ่งในแกนนำเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ เขาเป็นคนหนึ่งที่ไม่ได้ใส่ใจกับเรื่องการแต่งกายชนเผ่ามากนักเพราะไม่ได้เห็นความสำคัญ แต่เมื่อได้เข้ามาทำโครงการ ได้ค้นหาข้อมูลที่มาที่ไปเกี่ยวกับผ้าทอกะเหรี่ยงด้วยตัวเอง ได้ลงไปสัมภาษณ์เจาะลึกถึงขั้นตอนการทอและลวดลายผ้าโบราณในอดีตจากผู้รู้ในชุมชน ได้เห็นการสาธิตการทอผ้า เมื่อได้คลุกคลีกับผ้ามากขึ้น เขาจึงได้เห็นคุณค่าและความงดงามที่ซ่อนอยู่ในเครื่องแต่งกายที่เห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

“ความโดดเด่นก็คือเป็นชุดที่ไม่เหมือนคนอื่น ชุดของเรามีลายแบบของเรา ชุดคนอื่นลายไม่เหมือนเรา มันสื่อสารถึงเอกลักษณ์ความเป็นชุมชนของเรา”

“จากเมื่อก่อนตัวผมเองก็ไม่ได้สนใจ มาตอนนี้สนใจมากขึ้น ก่อนนี้เสื้อกะเหรี่ยงผมใส่บ้างไม่ใส่บ้าง ใส่ไปเฉพาะตอนไปโรงเรียนวันศุกร์วันเดียว พอช่วงหลัง ๆ ใส่ไปทำโครงการ เมื่อเริ่มมีคนเห็นด้วยและชื่นชมที่เราใส่ชุดกะเหรี่ยง พอไปข้างนอกผมมีความรู้สึกเหมือนอยากใส่ชุดกะเหรี่ยงออกไป”


ความท้าทายที่คาดไม่ถึง

บทบาทหน้าที่ในโครงการของเผือก คือ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ เขาเล่าว่าตัวเองเป็นคนพูดไม่เก่ง แต่ชื่นชอบการถ่ายภาพธรรมชาติ ป่าเขา แรกเริ่มที่ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการคิดแค่ว่าจะได้ประสบการณ์ใหม่ๆ ในชีวิต แต่กระบวนการเรียนรู้ที่ขึ้นระหว่างทำโครงการทำให้เผือกได้เรียนรู้รอบด้าน ยกตัวอย่างเช่น การพัฒนาทักษะการถ่ายภาพและวิดีโอ และการตัดต่อวิดีโอ

แม้ชอบถ่ายภาพนิ่ง แต่งานถ่ายวิดีโอกับการตัดต่อไม่ได้เป็นเรื่องที่เผือกถนัด อย่างไรก็ตาม เผือก บอกว่า เขามีความสนใจเรียนรู้เรื่องเหล่านี้เป็นพิเศษ ความท้าทายเริ่มตั้งแต่ช่วงต้นที่ต้องทำวิดีโอนำเสนอประเด็นของโครงการ

“ตอนแรกคุยกับพี่เลี้ยงว่าน่าจะไปไม่ได้แล้ว เพราะว่าวีดิโอที่ส่งไปครั้งแรกผิดเยอะมาก ผมรู้สึกว่าเป็นเรื่องยากเพราะไม่เคยทำมาก่อน เป็นครั้งแรกที่ผมได้ลองทำวิดีโอแบบจริงจัง แต่ก็ได้พี่ๆ และเพื่อนๆ ช่วยสอนช่วยเป็นกำลังใจทำให้ผ่านมาได้”

เผือกใช้โทรศัพท์มือถือเป็นทั้งเครื่องบันทึกภาพ อุปกรณ์ตัดต่อ และใช้โพสต์ภาพกิจกรรมต่างๆ ลงโซเชียลมีเดีย เมื่อมือถือเครื่องเก่าเสีย เขาจึงต้องเร่งเก็บเงินเพื่อซื้อเครื่องใหม่ให้เร็วที่สุด เพราะอุปกรณ์ชิ้นนี้เป็นเครื่องมือสำคัญคล้ายอาวุธประจำตัว

“ผมแพ็คผลไม้ แพ็คมะยงชิด มะนาวส่งขายเก็บเงินมาซื้อมือถือเครื่องใหม่”

ความท้าทายที่สองเกี่ยวกับการทำวิดีโอ คือ เรื่องความขัดข้องทางเทคนิค ที่ไม่มีใครสอนให้ได้อย่างครอบคลุมจนกว่าจะได้เจอกับตัวเอง

ไฟล์หาย เสียงแทรก ไม่มีเสียงมีแต่ภาพ เป็นสิ่งที่เผือกได้เจอ

"พอรู้ว่าไฟล์หาย พวกเราไม่ได้โทษกันไปมาว่าเป็นความผิดของใคร เราเช็คไฟล์ หาไม่เจอจริงๆ ก็ไปถ่ายกันใหม่ ครั้งต่อไปรอบคอบมากขึ้น ถ่ายเสร็จแล้วก็ส่งเข้าอีเมล์เลยจะได้ไม่หายอีก เสียงแทรกก็เป็นเรื่องลมฟ้าอากาศตอนกำลังสัมภาษณ์ซึ่งมันเลี่ยงไม่ได้ ส่วนตอนตัดต่อที่มีแต่ภาพไม่มีเสียง เป็นเพราะมือไปโดนตัวลดเสียงทำให้มันดับไปเลย ตอนที่ตัดต่อเสร็จแล้ว ถ่ายวิดีโออยู่เป็นอาทิตย์ ตัดต่ออยู่เป็นวัน ช่วยกันกับดั้ม (ภูรีภัทร หนูวัน)"

เผือก บอกว่า สุดท้ายผลงานวิดีโอก็สำเร็จออกมาเป็นที่น่าพอใจ แม้ต้องแก้ไฟล์งานถึง 6 ครั้ง รู้สึกท้ออยู่บ้าง แต่ไม่ได้มองว่าเป็นความผิดพลาดหรือเป็นเรื่องน่าเบื่อ เขากลับมองว่าเป็นการเรียนรู้เพื่อปรับปรุงผลงานให้ดีขึ้น

“ทำออกมาแล้วลองเผยแพร่ระหว่างกลุ่มเพื่อนในโครงการก่อน ให้พี่เลี้ยงดูว่าต้องแก้ไขตรงไหนก่อนนำไปเผยแพร่ต่อ”

“เมื่อก่อนทำแล้วรู้สึกว่ายากอยู่นะครับ หลัง ๆ มานี้ก็ไม่ค่อยยากเท่าไร ทำได้คล่องขึ้น เข้ามาเรียนวิทยาลัยก็ต้องใช้เหมือนกัน ต้องถ่ายวิดีโอตัดต่อเกือบทุกอาทิตย์ เช่น ครูให้แนะนำตัว หรือนำเสนองานผ่านวิดีโอ


กำไรชีวิตที่ไม่ได้เป็นตัวเงิน

เฟสบุ๊กกลุ่ม “หมู่เฮาบ่เกยลืมบ้านเกิด เป็นพื้นที่สื่อสารประชาสัมพันธ์โครงการ และเป็นอีกหน้าที่หนึ่งที่เผือกรับผิดชอบ เขาค่อนข้างพอใจกับผลตอบรับจากผู้ติดตาม หลายๆ เรื่องราวที่นำเสนอถูกแชร์ออกไปภายนอกสร้างการรับรู้ในวงกว้างมากขึ้น

ตอนแรกพี่เลี้ยงบอกว่าให้สร้างกลุ่มในแชท ผมเลยคิดว่าลองสร้างในเฟซบุ๊กด้วย ตอนแรกก็ไม่ได้ลงข้อมูลอะไร พักหลังทยอยลงมากขึ้น เพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้น ผลตอบรับได้เกินกว่าที่คิดครับ แต่ละโพสต์ที่สร้างมีคนกดตอบรับในเชิงบวก เวลาโพสต์ผมจะคิดก่อนว่าควรนำเสนอเนื้อหาแบบไหน ถ้าลงเรื่องประชุมก็ต้องคิดก่อนว่าต้องใช้ภาษาแบบไหน สื่อสารเป็นภาษาที่เข้าใจง่าย เช่น ประชุมเกี่ยวกับเรื่องอะไร เวลาไหน วันที่เท่าไร ถ้าส่วนของโครงการต้องมีชื่อโครงการด้วย ถ้าลงในส่วนของหมู่บ้านต้องแท็กหมู่บ้านด้วย” แอดมินเผือก อธิบายถึงกลยุทธ์การสื่อสารที่เขาได้เรียนรู้ด้วยตัวเองระหว่างทำโครงการ

บทบาทหน้าที่ของเผือกที่ต้องถ่ายภาพและวิดีโอ แล้วลงมือตัดต่อ รีเพล์ซ้ำแล้วซ้ำอีก ทำให้เขาได้คลุกคลีอยู่กับภาพการทำกิจกรรมมากว่าคนอื่น เผือก บอกว่า กิจกรรมลงพื้นที่สัมภาษณ์ผู้รู้เพื่อศึกษาประวัติความเป็นมาของผ้าทอกะเหรี่ยง และขั้นตอนการทอผ้าเป็นกิจกรรมที่เผือกชื่นชอบมากที่สุด เพราะทำให้ได้รู้จักและสนิทกับคนในชุมชน โดยเฉพาะผู้เฒ่าผู้แก่มากขึ้น

“โครงการนี้ได้ลงมือปฏิบัติเยอะ ได้ทำวิดีโอเข้ามาสอดแทรกอยู่ด้วย เมื่อก่อนไม่ค่อยรู้จักคนในชุมชนเท่าไหร่ แต่พอเริ่มทำโครงการนี้ ต้องมีไปสอบถามข้อมูลคนที่อายุเยอะกว่าเรา เลยได้รู้จักคนในชุมชนมากขึ้น”

ทั้งนี้ เรื่องที่ยากที่สุดสำหรับเผือก คือ การพูดนำเสนอโครงการต่อหน้าคนเยอะๆ แม้เขาเป็นนักร้องนำอยู่ในวงดนตรีกับเพื่อนๆ ที่วิทยาลัย แต่ในความรู้สึกของเขา การร้องเพลงกับการพูดเรื่องที่เป็นสาระแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ดังนั้นเพื่อลดความตื่นเต้นและเตรียมความพร้อม เผือกใช้วิธีทดลองฝึกซ้อมพูดในห้องซ้อมดนตรี ซึ่งช่วยสร้างความมั่นใจให้กับตัวเองได้มากขึ้น

“พวกเราจะเขียนบทพูดกันเองก่อน แล้วพูดให้พี่เลี้ยงช่วยฟังดูว่ามันเข้ากับเนื้อเรื่องไหม ถ้าไม่เข้าก็ให้ช่วยปรับ ยากที่สุดเป็นการนำเสนอโครงการในช่วงท้ายๆ เวลาต้องออกไปพูดผมรู้สึกเกร็ง เพราะคนเยอะและไม่คุ้นเคยกับสถานที่ แต่พอได้พูดไปเรื่อย ๆ อาการเกร็งก็หายไปเอง”

ความสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นความเปลี่ยนแปลงอีกอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจน เผือก เล่าว่า เดิมทีเขาเป็นคนอยู่ไม่ติดบ้าน ชอบออกไปเที่ยวเล่นกับเพื่อนตามประสาวัยรุ่นทั่วไป ความรับผิดชอบต่องานในโครงการทำให้เขาเรียนรู้การจัดลำดับความสำคัญในชีวิต

“ตอนแรก ๆ ผู้ปกครองไม่เข้าใจ บางครั้งโดนว่าว่าเสียเวลา แต่ก็ไม่ได้ติดใจเท่าไร ผมทำมาเรื่อย ๆ พักหลังทางบ้านก็เริ่มเข้าใจแล้วว่าทำไปทำไม เห็นว่าเราได้เรียนรู้มีประโยชน์กับตัวเอง

ช่วงที่ลงพื้นที่เก็บข้อมูลครับ มีคนอื่นบอกว่าลูกทำอย่างนี้อย่างนั้น ทางบ้านก็ได้รับรู้

ตอนนี้ถ้าเรียกประชุม เขาจะถามแค่ว่ากลับมาตอนไหนและให้บอกว่าประชุมที่ไหน เมื่อก่อนผมไปกลับมาแล้วถึงจะบอกที่บ้าน”

“พอผมรู้แล้วว่าต้องอยู่กับโครงการ เลยบอกเพื่อนไว้ก่อนไม่ต้องชวนออกไปไหน มีบางคนที่ชวนออกไปก็ไปบ้างบางครั้ง ซึ่งเป็นช่วงที่ว่างจากโครงการ จากปกติทั้งวันก็ลดลงมาเหลือครึ่งวัน ทำโครงการมาได้ระยะหนึ่ง ผมรู้ว่าระหว่างเที่ยวกับการทำโครงการ อันไหนทำประโยชน์ได้มากกว่ากัน เลยเลือกอยู่ทำโครงการมากกว่า”

ผลตอบรับจากโครงการโดยเฉพาะทางโซเชียลมีเดีย แสดงให้เห็นว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่ในชุมชนรับรู้กิจกรรมและข้อมูลข่าวสารของโครงการ ส่วนผลตอบรับในชีวิตจริงเป็นสิ่งที่ทำให้เผือกและแกนนำเยาวชนทุกคนภาคภูมิใจ

“จากเมื่อก่อนไม่ค่อยมีคนในชุมชนใส่เสื้อกะเหรี่ยง พอทำโครงการเริ่มเห็น เริ่มมีคนใส่มากขึ้น กับตัวเองผมก็ใส่ครับ มาเรียนข้างนอกผมก็เอามาด้วย มีความรักในวัฒนธรรมชนเผ่าของเรามากขึ้น”

//////////////////