อิงค์ฟ้า อันนพพร
แกนนำเยาวชน Active Citizen จ.ลำพูน
ตำแหน่งที่ได้รับในโครงการต่างๆ
ประวัติและผลงาน

นางสาวอิงค์ฟ้า อันนพพร (อิงฟ้า)

ปัจจุบัน : กำลังศึกษาอยู่ ชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะสังคมศาสตร์ สาขาวิชาปรัชญาและศาสนา

ความโดดเด่น/ความสามารถพิเศษ :

1. ความรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญาน้ำถุ้งไทลื้อ

2. การเป็นผู้นำกิจกรรม

3. การออกแบบกิจกรรมให้กับเด็กและเยาวชน

4. การบริหารจัดการโครงการ

5. การสื่อสารเพื่อโน้มน้าวใจ


โครงการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ้นน้ำถุ้งไทลื้อ ต.บ้านธิ อ.บ้านธิ จ.ลำพูน

ชื่อเรื่อง โอลสคูลไทลื้อ ภาชนะตักน้ำงานคราฟต์ที่เรียกว่า “น้ำถุ้ง”


“งานคราฟต์” (Craft) ที่มี “คุณค่า” เป็นงานฝีมือที่มากกว่าแค่การมีทักษะ แต่เกิดจากกระบวนการสร้างชิ้นงานที่เชื่อมโยงกับความเป็นอยู่ของผู้คนในแต่ละท้องถิ่นข้ามกาลเวลา เรียกว่า “ภูมิปัญญา” ที่ถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น การหยิบจับเอาทรัพยากรใกล้ตัวมาผ่านกระบวนการแปรรูป เปลี่ยนสภาพด้วยความใส่ใจในทุกรายละเอียด

อยากชวนลองปิดตาลงช้าๆ แล้วจินตนาการถึงงานจักรสานสักชิ้นที่ชอบ คิดดูว่าคนสมัยก่อนออกแบบ เลือกใช้วัสดุ สรรหาวิธีแปรรูป ตากแดด ขัด ฟอก ย้อม สาน ถัก ทอ แล้วประดิษฐ์ขึ้นมา โดยส่วนใหญ่เพื่อใช้งานในครัวเรือน แต่เริ่มมานั้นยังไม่มีคำว่า “แฟชั่น” ไม่มี “ฟาสต์แฟชั่น” ติดไซเรนที่เป็นกระแสยั่วยวนให้ผู้บริโภคต้องเปลี่ยนเครื่องแต่งกายหรือเครื่องใช้ทุกฤดูกาล หรือแม้กระทั่งทุกอาทิตย์ ชิ้นงานหัตถกรรมจึงค่อยๆ ถูกรังสรรค์ ใช้เวลาที่ว่างเว้นจากการทำไร่ทำนา เมื่อเสร็จสมบูรณ์แล้วจึงสะท้อนความงามและความประณีตออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน

หากพูดให้เล่นใหญ่ไฟกะพริบสักหน่อย งานคราฟต์หรืองานทำมือแต่ละชิ้น คือ จิตวิญญาณของคนทำ เป็นคุณค่าที่อยู่เหนือกาลเวลา โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่โลกอุตสาหกรรมเต็มไปด้วยของโหลสำเร็จรูปแบบเดียวกันซ้ำๆ แถมยังสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการผลิต งานคราฟต์จึงมีความโดดเด่น เป็นเอกลักษณ์ และเป็นที่ต้องการของกลุ่มคนมองเห็นคุณค่าของเรื่องราวที่แฝงอยู่ในชิ้นงาน

นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมคนรุ่นใหม่ในหลายพื้นที่หันมาอนุรักษ์และฟื้นฟูภูมิปัญญาดั้งเดิมในท้องถิ่นของตัวเอง ครั้งนี้ The Potential จะพาไปทำความรู้จักกับ “น้ำถุ้ง” งานหัตถกรรมไทลื้อ แห่งเดียวในประเทศไทยที่ ตำบลบ้านธิ อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน


มีน้ำถุ้งอยู่ตรงไหน มีคนไทลื้ออยู่ตรงนั้น

“น้ำถุ้ง” ออกเสียง “น้ำ-ทุ่ง” เป็นภาชนะที่ใช้ตักน้ำจากบ่อเพื่อนำมาอุปโภคบริโภค สานด้วยไม้ไผ่ทาด้วยขี้ย้า (ชัน) เพื่ออุดรอยรั่ว เป็นภูมิปัญญาด้านการจักสานไทลื้อที่สืบทอดต่อกันมา ปัจจุบันมีเพียง บ้านป่าเปา ตำบลบ้านธิ อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน แห่งเดียวเท่านั้นในประเทศไทย ที่ยังมีการสานน้ำถุ้งในชุมชน นอกจากการรวมกลุ่มน้ำถุ้งเฮือนป่าเปาของกลุ่มแม่บ้าน หมู่ 2 ก็มีผู้รู้ดั้งเดิมในชุมชนเป็นผู้เฒ่าผู้แก่เพียง 2 ครอบครัวเท่านั้นที่ยังมีชีวิตอยู่

มินนี่ - ปณันธิตา พือวัน อายุ 17 ปี และ อิงค์ฟ้า อันนพพร อายุ 17 ปี สองสาวเชื้อสายไทลื้อแห่งบ้านธิ บอกว่า ยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้แม้แต่คนในชุมชนเองยังเลิกใช้น้ำถุ้ง จากของใช้ในครัวที่มีประโยชน์ กลับกลายเป็นวัตถุที่ถูกแขวนหรือตั้งไว้ดูเล่น ดีขึ้นมาหน่อยก็กลายเป็น ตะกร้าใส่ของ และกระถางไว้ใส่ต้นไม้ ดอกไม้เพื่อประดับตกแต่งบ้าน

มินนี่และอิงค์ฟ้า เป็นตัวแทนกลุ่มเยาวชนในพื้นที่ที่ลุกขึ้นมาอนุรักษ์และฟื้นฟูวิถีน้ำถุ้งให้คงอยู่ในชุมชน พวกเขารวมกลุ่มพาตัวเองเข้าไปสืบค้นข้อมูลและเรียนรู้การทำน้ำถุ้งจากผู้รู้ ประสานความร่วมมือกับผู้นำทั้ง 20 หมู่บ้านในตำบลบ้านธิ และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความมหัศจรรย์ของน้ำถุ้ง เพื่อให้คนในชุมชนกลับมาเห็นคุณค่า และทำให้คนภายนอกเกิดความสนใจ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ โครงการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ้นน้ำถุ้งไทลื้อ ที่พวกเขาเป็นคนตั้งโจทย์เอง

อย่างที่บอกว่างานหัตถกรรมดั้งเดิมนั้นแฝงไว้ด้วยภูมิปัญญาที่น่าอัศจรรย์ หากจะใช้ภาชนะสักชิ้น ตักน้ำขึ้นจากบ่อ ออกแรงสาวแล้วสาวอีกจนกว่าจะพอใช้ จะทำอย่างไรให้การสาวน้ำแต่ละครั้งได้น้ำกลับขึ้นมาเต็มภาชนะ เพื่อให้การตักน้ำครั้งนั้นมีประสิทธิภาพสูงสุด

น้ำถุ้งมีลักษณะคล้ายฝาชีวางหงาย มีส่วนก้นเป็นรูปมนแหลม มือจับเป็นไม้ไขว้กันไว้สำหรับผูกเชือกสาวน้ำขึ้นจากบ่อ ความมนแหลมบริเวณก้นน้ำถุ้งช่วยให้น้ำถุ้งโคลงตัวคว่ำลงเมื่อสัมผัสผิวน้ำในบ่อ จึงทำให้ตักน้ำได้เต็มทุกครั้งเมื่อดึงเชือกกลับขึ้นมา นับเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ชาญฉลาดยิ่ง

“น้ำถุ้งเป็นภูมิปัญญาของคนไทลื้อมาแต่ดั้งเดิม เป็นสิ่งที่ทำให้รู้ว่ามีน้ำถุ้งอยู่ตรงไหน มีคนไทลื้ออยู่ตรงนั้น” อิงฟ้า เอ่ยขึ้น

ก่อนจะมาเป็น โครงการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ้นน้ำถุ้งไทลื้อ มินนี่ บอกว่า กลุ่มเยาวชนในชุมชนเคยรวมตัวกันทำโครงการเรียนรู้รากเหง้าเฝ้ารักษ์วัฒนธรรมไทลื้อมาก่อน แม้รุ่นพี่ในทีมไม่สามารถทำโครงการต่อได้ เนื่องจากออกไปเรียนนอกชุมชน แต่เพราะความสนุกสนานและการเรียนรู้จากการลงมือทำโครงการในปีแรก ทำให้มินนี่ติดใจอยากทำโครงการต่อในปีที่สอง จึงตั้งใจ รวบรวมสมาชิกใหม่แล้วชักชวนอิงค์ฟ้าเข้ามาร่วมทีม

“เห็นศักยภาพในตัวอิงค์ฟ้าว่าเขาเข้ามาช่วยโครงการได้ อิงค์ฟ้าเป็นประธาน สภาเด็กและเยาวชนซึ่งเราเคยทำงานด้วยกัน ตอนโครงการปีแรกเขาก็มาช่วยจัดบูธ พูดนำเสนอในงานมหกรรมเยาวชน ลำพูน ซึ่งเป็นช่วงท้ายๆ ของโครงการ เขาเป็นคนพูดเก่งและนำเสนอได้ยอดเยี่ยมมาก คิดว่าชวนอิงฟ้าเข้ามาดีกว่า ให้เข้ามาเต็มตัวเลยในปีที่สอง” มินนี่ กล่าว

“หนูชอบงานด้านการพัฒนาชุมชนอยู่แล้ว เคยทำโครงการสภาเด็กและเยาวชนของอำเภอบ้านธิ และทำโครงการเกี่ยวกับปลูกสำนึกรักวัฒนธรรมไทลื้อท้องถิ่น อยากพัฒนาตนเองด้วยว่าเราสามารถทำอะไรเกี่ยวกับชุมชนได้บ้าง เลยเข้ามาร่วมกับเพื่อน” อิงค์ฟ้า กล่าวเสริม

ตำบลบ้านธิ มีทั้งหมด 20 หมู่บ้าน ผู้คนแถบนี้ส่วนใหญ่สืบเชื้อสายไทลื้อที่ยังคงใช้ภาษาพูดของตัวเองในชีวิตประจำวัน หากสืบประวัติย้อนไป “ไทลื้อ” หรือ “ไตลื้อ” มีถิ่นฐานเดิมอยู่ในแถบสิบสองปันนา ทางตอนใต้ของจีน นิยมตั้งบ้านเรือนอยู่ตามที่ราบลุ่มแม่น้ำ มีประวัติการเคลื่อนย้ายและกระจายตัวไปในรัฐฉาน ประเทศเมียนมาร์ การอพยพครั้งสำคัญของชาวไทลื้อสู่ล้านนาเป็นการกวาดต้อนผู้คนจากสิบสองปันนา เมืองเชียงตุง เมืองยอง ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 24 เพื่อช่วยฟื้นฟูบ้านเมืองในเขตจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง หรือที่เรียกว่า “ยุคเก็บผักใส่ซ้าเก็บข้าใส่เมือง” จึงมีกลุ่มชาติพันธุ์ไทลื้อกระจายตัวอยู่ในเขตจังหวัดแพร่ เชียงราย เชียงใหม่ น่าน ลำปาง พะเยา และลำพูน และภาคเหนือของประเทศลาวในปัจจุบัน

“ที่บ้านธิมีแหล่งเศรษฐกิจ มีความเจริญใหม่ๆ เข้ามาเรื่อย ๆ เช่น เซเว่นอีเลฟเว่น แจ่มฟ้าชอปปิ้งมอลล์ สมัยนี้คนหาซื้อข้าวของเครื่องใช้ได้สะดวกหลากหลายมากขึ้น ยิ่งทำให้คนในชุมชนไม่สนใจและไม่รู้จักน้ำถุ้ง พวกเราคิดว่าจะทำอย่างไรดี ถึงจะสานต่อภูมิปัญญาการทำน้ำถุ้งไม่ให้สูญหายไปจากหมู่บ้านไทลื้อบ้านธิ อยากดึงเยาวชนเข้ามาเรียนรู้ร่วมกัน” อิงค์ฟ้า กล่าวถึงจุดประสงค์ของโครงการ


งานคราฟต์จากการประกอบกันของธรรมชาติ

น้ำถุ้งทำมาจากไม้ไผ่และไม้ซางที่หาได้ทั่วไปในท้องถิ่น นำมาเหลาเป็นซี่เล็กๆ บางๆ แล้วก่อขึ้นให้เรียงตัวเป็นรูปทรงไม่บิดเบี้ยว เมื่อสานจนเข้ารูปสวยดีแล้ว แต่เดิมใช้ขี้ย้าหรือชันทาเคลือบเป็นขั้นตอนสุดท้าย เพื่อไม่ให้ภาชนะรั่วและเก็บน้ำได้ดี ซึ่งกว่าจะได้ขี้ย้ามาทาเคลือบภาชนะ ต้องนำมาบดจนละเอียดแล้วเอาไปต้มกับน้ำมันก๊าด อิงค์ฟ้า บอกว่า ขั้นตอนนี้เป็นกรรมวิธีที่กลิ่นฉุนเกินใจจะอดทน

“ตอนทำไปก็มีบ่นแซวๆ กันบ้างว่าไม่ทำแล้วนะ เพราะมันยาก แต่ใจจริงรู้สึกว่าเราต้องทำให้สำเร็จ เป็นการผลักดันตัวเอง เพราะเป็นการทำงานกับกลุ่มด้วย ถ้าเราท้อไปหนึ่งคนเพื่อนอีกคนก็จะท้อเหมือนกัน ต้องสร้างกำลังใจให้ฮึกเหิม” อิงค์ฟ้า เล่าบรรยากาศการทำงาน ก่อนเอ่ยถึงความประทับจากการเก็บข้อมูลว่า “ขี้ย้าหาได้จากโพรงต้นไม้ในป่า มีแมลงมาสร้างรังไว้ มี 2 ชนิด อย่างแรก คือ ขี้ย้าช่อ ลักษณะเรียกตัวกันมีสีสวยและมีความเงา ชนิดที่สองคือ ขี้ยาแบบกลมเหมือนหินก้อนใหญ่ผิวขรุขระ สีคล้ำและดำกว่า ได้ยินผู้รู้เล่าแบบนี้ เราถึงกับอึ้งไปเลยว่า แมลงตัวเล็กๆ ทำขี้ย้าเป็นก้อนใหญ่ๆ ได้ยังไง”

“พวกเราลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูลจากแม้อุ้ยเงินขาและพ่ออุ้ยสมสองสามีภรรยา ไปเก็บข้อมูลอยู่หลายครั้ง แต่ใช้เวลาวันเดียวลองสานน้ำถุ้ง เพื่อวัดศักยภาพของตัวเอง ทำออกมาเป็นรูบ้าง เบี้ยวบ้าง เพราะไม่มีฝีมือในด้านนี้เลย” มินนี่ กล่าว

ขี้ย้า มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “ชันโรง” ทางภาคเหนือเรียก ขี้ตังนี ขี้ตัวนี หรือ ขี้ย้าแดง ภาคใต้เรียก แมลงอุง ทางอีสานเรียก แมลงขี้สูด ส่วนภาคตะวันออกเรียก ตัวตุ้งติ้ง แตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม ทั้งสองคน บอกว่า ปัจจุบันขี้ย้าหายากขึ้น เนื่องจากระบบนิเวศน์ถูกทำลายจนเสียสมดุล เป็นข้อมูลอีกมุมหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมในชุมชน ที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คน

“เราจัดเวทีนำเสนอโครงการให้คนในตำบลรับรู้ ส่วนนี้เราประสานไปทางผู้นำชุมชน ทั้งพ่อหลวงแม่หลวง 20 หมู่บ้าน ให้ช่วยกระจายข่าวโครงการ ว่าเรากำลังทำโครงการสืบสานภูมิปัญญาน้ำถุ้ง ชวนมาร่วมรับฟังข้อมูลด้วยกัน เพราะเยาวชนเองไม่สามารถเข้าถึงแต่ละบ้านได้โดยตรง พวกเราเข้าไปนำเสนอว่าโครงการของเราสนุกอย่างไรและน่าสนใจตรงไหน ชี้ให้เห็นว่าการทำน้ำถุ้งในแต่ละครั้งได้ประโยชน์อะไรบ้าง ใครสนใจไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ก็มาเข้าร่วมเรียนรู้กับเราได้” มินนี่ เล่าถึงขั้นตอนการทำงาน

“ก่อนวันนำเสนอโครงการกับชุมชนพวกเรามีกังวลเหมือนกันว่าจะมีใครมาไหม แต่มีผู้ใหญ่มาร่วมประชุมมากกว่า 20 คน เกินเป้าที่วางไว้และได้ผลตอบรับดีมาก ได้รับคำชมเชยว่า เด็กๆ ที่มาทำโครงการนี้เจ๋งดีนะ เพราะเด็กสมัยนี้ไม่ได้คิดแบบนี้กันแล้ว” อิงค์ฟ้า กล่าวเสริม

ข้อมูลต่างๆ ที่กลุ่มเยาวชนเก็บรวมรวมจากการสืบค้นและสอบถามผู้รู้ ไม่ว่าจะเป็นประวัติความเป็นมาเก่าแก่ของบ้านธิ สถานที่สำคัญและสถานที่ท่องเที่ยวในชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น ทั้งเรื่องวัฒนธรรม ประเพณี การแต่งกาย อาหาร และที่ขาดไม่ได้ คือ เรื่องน้ำถุ้ง ถูกบรรจุไว้ในหนังสือเล่มเล็ก แจกจ่ายและวางไว้ในห้องสมุดของชุมชน เพื่อเผยแพร่เรื่องราวสะท้อนรากเหง้าชาวไทลื้อบ้านธิ ให้คนในชุมชนและบุคคลภายนอกได้รับรู้

“พวกเราใช้เวลาเก็บข้อมูลไปเรื่อย ๆ 1 เดือน พอถึงเวลาทำสื่อก็เอามาเรียบเรียงกันเท่าที่ทำได้ คิดว่าถ้ามีแค่เรื่องน้ำถุ้งอย่างเดียว คงไม่น่าอ่านจึงได้เสริมเรื่องอื่นเข้ามาด้วย เราอยากเผยแพร่ข้อมูลออกไปให้กว้างขึ้น คิดว่าถ้าหน่วยงานท้องถิ่นเข้ามาสนับสนุน นำข้อมูลไปลงในเว็บไซต์จะเป็นเรื่องที่ดีมาก” อิงค์ฟ้า กล่าว

โครงการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ้นน้ำถุ้งไทลื้อ ได้เข้ามาจุดประกายให้คนไทลื้อบ้านธิ ทั้ง 20 หมู่บ้าน เห็นคุณค่าเอกลักษณ์ชาติพันธุ์ของตนเอง และสร้างความครึกครื้นตื่นตัวให้คนในชุมชนหันมาสนใจน้ำถุ้ง เครื่องใช้ประจำบ้านที่เคยมีอยู่ทุกบ้านอีกครั้ง แม้ยังไม่สามารถดึงเด็กและเยาวชนเข้ามาร่วมโครงการได้อย่างที่คิด จึงยังส่งต่อฝีมืองานสานน้ำถุ้งไปยังคนรุ่นใหม่ไม่ได้ แต่แรงสนับสนุนและความร่วมมือของผู้นำและผู้ใหญ่ในชุมชน เป็นสิ่งที่เติมใจให้ทั้งมินนี่และอิงค์ฟ้าอยากทำสิ่งที่ประโยชน์เพื่อชุมชนต่อไป

“ภูมิใจที่ได้เกิดมาเป็นคนไทลื้อ เพราะว่าคนไทลื้อมีรากเหง้า มีเรื่องราวที่น่าสนใจเยอะแยะ พอได้มาทำตรงนี้ก็ดีใจ” มินนี่ กล่าวถึงความรู้สึกหลังได้มีส่วนร่วมทำโครงการชุมชนมาแล้วสองครั้ง

“รู้สึกภูมิใจในตัวเองว่าเราสามารถทำกิจกรรมดีๆ ให้กับชุมชน กลับมาฟื้นฟู สืบสานภูมิปัญญาการทำน้ำถุ้ง และช่วยการสร้างกำลังใจให้กับพ่ออุ้ยแม่อุ้ยที่ยังสานน้ำถุ้ง ให้มีความสุขในการทำต่อไป” อิงค์ฟ้า กล่าด้วยรอยยิ้ม