โครงการภูมิปัญญาพื้นบ้านสมุนไพรปกาเกอะญอ
พี่เลี้ยงเด่น : อัศนีย์ ไหมแก้ว (พี่ทอง)
เรื่อง : เส้นทางสานฝัน...พี่เลี้ยงที่เป็นเน้นการถามมากกว่าการสั่ง
จากผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่ง ที่ไม่มีประสบการณ์การทำงานกับเด็กและเยาวชนหรืองานในชุมชนมาก่อนเลยได้ตัดสินใจขันอาสาเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงโครงการเด็กและเยาวชน เพียงเพราะต้องการสานฝันในวัยเด็กของตัวเอง จากที่ไม่กล้าจับไมค์ เคยคิดว่าตนเป็นเพียงแค่ชาวบ้านธรรมดาคนหนึ่งที่มีความรู้น้อย เมื่อเทียบกับพี่เลี้ยงคนอื่นๆ ในเครือข่ายที่เข้าร่วมทำโครงการ ทำให้เธอขาดความมั่นใจในช่วงแรก แต่ระหว่างทางของการเป็นพี่เลี้ยง ทอง – อัศนีย์ ไหมแก้ว ในวัย 36 ปี ค่อยๆ เรียนรู้และเข้าใจบทบาทของตนเองมากขึ้น สามารถขจัดความกลัวที่เคยฝังรากลึกในใจของตนเองออกได้ จนวันนี้เธอไม่กลัวการจับไมค์พูดจากสื่อสารกับคนอื่นอีกแล้ว อีกทั้งยังเชื่อมั่นตนเองในบทบาทของการเป็นพี่เลี้ยงมากขึ้น และลงมือทำอย่างเต็มความสามารถ
ประสบการณ์ที่ได้รับจากการร่วมโครงการในปีที่แรกส่งต่อให้ทองยังคงเดินต่อบนเส้นทางการเป็นพี่เลี้ยงที่ทำงานด้านเด็กเยาวชนกับ โครงการภูมิปัญญาพื้นบ้านสมุนไพรปกาเกอะญอ ตำบลตะเคียนปม อำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน ในปีที่สอง เธอมองว่าบทบาทนี้เป็นโอกาสให้ได้พัฒนาตัวเอง และมีส่วนช่วยพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนในชุมชน ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอไม่เคยได้รับและไม่เคยทำมาก่อนสมัยยังเป็นเด็ก
จุดเริ่มต้นของการเข้ามาสู่เส้นทางพี่เลี้ยงเริ่มขึ้น เมื่อถูกชักชวนเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ โครงการปลุกสำนึก สร้างพลัง เสริมศักยภาพ เยาวชนเมืองลำพูน ที่มีขึ้นมาเพื่อจัดกระบวนการเรียนรู้ และพัฒนากลไกในการพัฒนาเยาวชนเมืองลำพูนให้มีภูมิคุ้มกัน รู้เท่าทันสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของสังคมทั้งภายในชุมชนและภายนอก เมื่อเอ่ยปากบอกกับกลุ่มเยาวชนที่คลุกคลีอยู่ด้วยกัน หลายคนสนใจตอบตกลงอยากทำกิจกรรม ทอง บอกว่า ตอนนั้นตนเองไม่เคยมีประสบการณ์การเป็นพี่เลี้ยงหรือการทำงานกับเยาวชนมาก่อนเลย ไม่มีแม้กระทั่งรถยนต์ที่จะใช้เป็นพาหนะพาน้อง ๆ เข้าร่วมการอบรมต่างๆ ในตัวเมือง แต่นาทีนั้นสิ่งที่เธอคิดในใจมีเพียงว่า “เอาไงเอากัน” ไปหาความรู้เอาข้างหน้าดีกว่า
เชื่อมั่น...ศักยภาพชุมชนบ้านไม้สลี
ทองอาศัยอยู่ในชุมชนบ้านไม้สลี เธอเชื่อมาเสมอว่าเยาวชนทุกคนล้วนมีศักยภาพอยู่ในตัวเอง หากได้รับโอกาสที่ดีและมีพื้นที่ให้ได้ทำกิจกรรม พวกเขาจะสามารถดึงศักยภาพที่มีในตัวเองมาใช้ได้
“เพราะเราเป็นชาติพันธุ์ทำให้ค่อนข้างมีข้อจำกัดในการทำกิจกรรมอยู่พอสมควร อีกทั้งยังขี้อาย ไม่กล้าแสดงออก ย้อนกลับไปตอนเป็นเด็ก เราไม่กล้าแสดงออกทั้ง ๆ ที่มีความคิดอยู่เต็มหัว อาจเป็นเพราะไม่มีพื้นที่ ไม่มีโอกาสได้แสดงความคิดเห็น ผู้ใหญ่ในชุมชนก็ไม่รู้ว่าจะให้เด็กมาทำอะไร คิดว่าเด็กทำได้หรือ ทำให้เด็กไม่มีพื้นที่ในการทำกิจกรรม พอเห็นว่ามีโครงการนี้เข้ามาเลยคิดว่าน่าจะดึงเด็กเหล่านี้มาเรียนรู้ได้” ทองพูดย้อนถึงเรื่องราวที่เป็นแรงบันดาลใจในการทำโครงการ
ย้อนกลับไปก่อนเข้าร่วมโครงการฯ ทองเป็นชอบสังเกตเด็กในชุมชนของตัวเองอยู่เสมอ หากมีโอกาสได้พูดคุยกับน้อง ๆ มักถามถึงความฝันและความชอบของพวกเขา บทสนทนาแต่ละครั้งทำให้เห็นว่าเด็กบางคนมีความสามารถ จนทำให้เกิดคำถามต่อว่า
“ทำไมเด็กคนนี้ทำได้?”
“หากเด็กคนนี้ทำได้แล้วเด็กคนอื่นๆ จะทำได้ไหม?”
ทอง เล่าถึงสภาพความเป็นอยู่ทั่วไปในชุมชนว่า เด็กๆ ในพื้นที่น้อยคนจะได้ออกนอกหมู่บ้าน ส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่ตามประสากลุ่มชาติพันธุ์ ทำอะไรต้องคิดเองเรียนรู้จากภูมิปัญญาเองทุกอย่าง แต่หากพวกเขามีช่องทาง มีโอกาสได้เรียนรู้สิ่งใหม่ที่ขยายขอบเขตออกไป ทองมั่นใจว่าเด็กๆ ในชุมชนมีศักยภาพเรียนรู้และลงมือทำได้ไม่แพ้ใคร
เปลี่ยนความคิด...เปลี่ยนวิธีการ
สำหรับบทบาทการเป็น “พี่เลี้ยง” ทอง เล่าว่า ตอนเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงปีแรกใหม่ ๆ ตัวเองเข้าใจว่า ‘พี่เลี้ยงคือคนดูแลเด็ก’ พาเด็กออกไปข้างนอก พาไปทำกิจกรรม มีหน้าที่ดูแลลูกของคนอื่น เวลาออกนอกพื้นที่ คอยไปส่งและรับกลับมาส่งที่บ้านแค่นั้น
แต่เมื่อได้เข้าร่วมกิจกรรมในเวทีพัฒนาพี่เลี้ยง ร่วมกับชุมชนอื่นๆ ความรู้และทักษะต่างๆ ที่ได้รับการถ่ายทอด ทำให้ทองปรับความคิดและเข้าใจการเป็นพี้เลี้ยงโครงการด้วยสายตาคู่ใหม่
“การเป็นพี่เลี้ยงไม่ใช่แค่การดูแลน้องๆ แต่สิ่งที่ต้องมีเพิ่มขึ้นคือ การตั้งคำถามชวนคิด ชวนวางแผนการทำงาน พาให้เขาไปถึงผลสำเร็จตามที่วางเป้าหมายไว้ เราเปิดโอกาสให้เขาได้คิดเองในสิ่งที่เขาอยากทำ ให้เขารู้จักบทบาทของตัวเองในการชวนกันคุย สุดท้ายเด็กๆ จะได้รู้ว่าสิ่งที่อยากทำ สิ่งที่คาดหวังจากการทำโครงการนี้คืออะไร”
นอกจากการตั้งคำถามชวนน้องคิด เรื่องการให้ขวัญและกำลังใจก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญสำหรับการทำโครงการในปีที่สอง ซึ่งแม้เคยผ่านการทำโครงการมาแล้วครั้งหนึ่งแต่ครั้งนี้ไม่ง่ายอย่างที่คิด
“ช่วงที่เราต้องให้กำลังใจน้อง ๆ ในทีมอย่างมาก เป็นช่วงที่สมาชิกในทีมขอถอนตัวออกจากโครงการ จากเดิมที่มี 5 คน พอถอนตัวออกไปเหลือกันอยู่ 3 คน คนเหลือน้อยแต่งานที่รับมอบหมายยังเหมือนเดิม เราเองก็ตกใจแต่ต้องเป็นหลักให้น้องมีกำลังใจ ถามสมาชิกที่เหลือว่ายังอยากทำโครงการต่อไหม”
คำตอบที่ได้กลับมาคือ “ทำต่อ”
“ตอนนั้นลึก ๆ เรารู้สึกดีใจที่เขาเลือกทำโครงการต่อ ดังนั้นหน้าที่หลังจากนี้สำหรับเราคือการดูแล และคอยให้กำลังใจเขาต่อไป”
เพราะสมาชิกเหลือน้อย การพูดคุย ปรึกษากันจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ช่วยให้งานสามารถเดินหน้าไปต่อได้ ทองเข้าใจสถานการณ์ และพยายามหาทางออกให้กับน้อง ๆ ในการทำงานงานร่วมกัน บ้างก็ตั้งคำถามเพื่อให้น้องได้คิด คอยเติมกำลังใจเมื่อเห็นน้อง ๆ เริ่มท้อหรือต้องการกำลังใจ
อย่างไรก็ตาม เธอยอมรับว่าครั้งแรกที่แกนนำโครงการเหลือ 3 คน ตนเองแอบคิดถอดใจอยู่เหมือนกัน แต่ก็เข้าใจว่าระหว่างทางมักเจอปัญหาเข้ามาให้ได้เรียนรู้และแก้ไขสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา แต่ทองมองว่าในเมื่อน้อง ๆ ยังสู้แล้วทำไมตัวเองจะไม่สู้ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่เพียงทองเท่านั้นที่คอยให้กำลังใจน้องๆ แต่กลุ่มแกนนำเยาวชนที่เหลืออยู่ก็เป็นแรงใจสำคัญให้กับทองในการทำหน้าที่พี่เลี้ยงด้วยเช่นกัน
เปลี่ยนจากสั่ง...เป็นช่างสังเกต
หากย้อนกลับในปีแรก พี่เลี้ยงในแบบฉบับของทองคือ “พี่เลี้ยงสั่งการ” ให้กลุ่มแกนนำ “เยาวชนทำตาม” ส่วนตนเองเป็นคนวางแผนสิ่งที่อยากให้เด็กๆ ลงมือทำ
“เมื่อก่อนคอยสั่งให้เขาทำตามเราทุกอย่าง เพราะกลัวโครงการจะเกิดปัญหา กลายเป็นว่าเราต้องคอยสั่งให้เขาทำ หลังจากรู้บทบาทหน้าที่ของพี่เลี้ยง เราปรับเปลี่ยนตัวเองจากพี่เลี้ยงชอบสั่ง มาเป็นการเฝ้าสังเกต และคอยให้คำปรึกษาอยู่ห่างๆ ไม่ใช่ไปจี้ให้ทำทั้ง ๆ ที่เขายังไม่อยากทำ ทำอย่างนั้นเหมือนเป็นการฝืนความรู้สึกเขาเปล่าๆ โครงการในปีที่สอง เราตั้งใจว่าจะเป็นพี่เลี้ยงที่สามารถให้คำปรึกษาเด็กๆ ได้ในทุก เรื่องที่เขาต้องการความช่วยเหลือ เฝ้าดูและรอเขา เมื่อไหร่ที่เขาเข้ามาหาเราพร้อมสนับสนุนทันที”
หลังสมาชิกในโครงการเหลือเพียง 3 คน ยิ่งทำให้ต้องหมั่นสังเกตอาการของน้อง ๆ ระหว่างการทำงานอยู่เสมอ คอยเข้าไปชวนตั้งคำถาม ชวนคุย ความยากของการทำโครงการในปีนี้ คือ การลงพื้นที่เพื่อสอบถามข้อมูลจากผู้รู้ในชุมชน ทุกครั้งหลังลงพื้นที่ทองจะติดตามสอบถามถึงปัญหาและอุปสรรคในการทำงาน รวมถึงความครบถ้วนของข้อมูลที่กลุ่มเยาวชนได้เก็บรวบรวมไว้
ปรับเปลี่ยน ...เรียน ประยุกต์
แผนที่ชุมชน และ ปฏิทินสมุนไพร ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นเครื่องมือสำคัญ ที่ทองแนะนำให้น้อง ๆ ใช้เก็บข้อมูลภูมิปัญญาพื้นบ้านสมุนไพรปกาเกอะญอในครั้งนี้ เพื่อให้การจัดการข้อมูลเกี่ยวข้อมูลสมุนไพรให้เข้าใจง่ายมากขึ้น
เพราะทำเกษตรอยู่แล้ว ทองจึงรู้เรื่องราวของฤดูกาลกับผลผลิตที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเดือน เธอนำประสบการณ์จากการทำปฏิทินผัก เพื่อเป็นข้อมูลปลูกผักปีต่อปีมายกตัวอย่างให้แกนนำเยาวชนฟัง แล้วปล่อยให้กลุ่มเยาวชนคิดและออกแบบในขั้นตอนกระบวนการทำปฏิทินเอง ตนมีหน้าที่เพียงคอยตอบคำถามน้องๆ เวลามีข้อสงสัยว่าสมุนไพรชนิดนี้จะให้ผลผลิตในช่วงเดือนไหนเท่านั้น
“เราแนะนำให้น้องๆ ฟังว่าการทำปฏิทินสมุนไพร จะทำให้ง่ายต่อการแบ่งหมวดหมู่พืชสุมนไพร อายุของสมุนไพรแต่ละเดือนขึ้นอยู่สภาพอากาศ อย่างฤดูร้อนจะกินของร้อนได้หรือไม่ ฤดูหนาวจะกินอะไร เราจะอาศัยการกิน การรักษาโดยใช้สมุนไพรที่มีตามฤดูมากกว่า เลยชวนเขาให้ลองทำปฏิทิน เพราะช่วยให้ดูได้ง่ายขึ้นว่าสมุนไพรชนิดไหนมีขึ้นอยู่ในเดือนไหนบ้าง”
นอกจากปฏิทินสมุนไพรแล้ว ยังมีแผนที่ชุมชน ที่ขยายภาพรวมให้เห็นว่า ชุมชนมีผู้รู้อาศัยอยู่บริเวณใดบ้าง แต่ละท่านมีความสามารถทางด้านไหนบ้าง เพื่อสะดวกในการลงพื้นที่แต่ละครั้ง นับเป็นการต่อยอดให้เด็กๆ ได้มีโอกาสใช้เครื่องมือการเรียนรู้ให้เกิดประโยชน์ในการทำโครงการ
บทเรียน...ที่เปลี่ยนไป
หลังทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงกับโครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองลำพูนมาสองปีเต็ม ทองมองเห็นความเปลี่ยนแปลงของตัวเองค่อนข้างเยอะ ทั้งเรื่องความคิด ความเข้าใจในการทำงานกับเด็กเยาวชนและชุมชน รวมไปถึงความเข้าใจในตัวลูกสาวของตนเองด้วย
ทองยอมรับว่าเมื่อก่อนเป็นคนใช้อารมณ์ อยากให้ลูกทำเหมือนคนอื่น ความรู้สึกคือทำไมไม่ทำตามคนอื่น เปรียบเทียบลูกตนเองกับลูกคนอื่นเสมอ คิดแทนลูกตลอด แต่หลังจากทำโครงการฯ ทองเข้าใจชีวิตของลูกตนเองในช่วงวัยรุ่นมากขึ้น และเข้าใจว่าคนเรามีความถนัดไม่เหมือนกัน
หากมองย้อนกลับไปเมื่อครั้งยังไม่ได้ทำงานกับเด็กและเยาวชน ทองเคยคิดว่าเด็กอยู่ส่วนเด็ก และไปทำหน้าที่ของตัวเอง ส่วนผู้ใหญ่ก็ทำงานของตัวเอง
“เมื่อก่อนไม่เข้าใจว่าเยาวชนสำคัญกับงานชุมชนอย่างไร แต่ตอนนี้เข้าใจแล้วว่าหากชุมชนและเยาวชนมีโอกาสทำงานร่วมกัน เยาวชนลุกขึ้นมาทำงานเพื่อชุมชนจะดีแค่ไหน เมื่อก่อนเรารู้แค่ว่าเด็กมีหน้าที่อะไร อยากทำอะไร คิดอะไร แต่เราไม่เข้าใจความต้องการของเด็กว่าเขาอยากทำอะไร ตอนนี้เราเข้าใจพัฒนาการของเด็ก และเรียนรู้ที่จะฟังความคิดของเขา โดยที่ไม่เอาความคิดของผู้ใหญ่ไปเป็นตัวครอบว่าสิ่งที่เขาคิดนั้นถูกหรือไม่ถูก ปล่อยให้เขาได้คิด ได้แสดงออกในมุมของเขา”
เดิมตนไม่อยากให้ลูกสาวต้องออกไปเรียนนอกพื้นที่ อยากให้อยู่ในชุมชน แต่เมื่อได้เข้าร่วมโครงการฯ ทำให้ตนมองว่าการให้ลูกได้ออกเรียนนอกพื้นที่ คือ “การให้โอกาส” ลูกได้เดินตามฝันของตัวเอง ส่วนเขาจะกลับมาพัฒนาชุมชนของเขาหรือไม่นั้นเป็นเรื่องของอนาคต ทองจึงเปิดโอกาสให้ลูกสาวเลือกทำในสิ่งที่ตนเองชอบ ให้เขาถามใจตัวเองว่าอยากทำอะไร โดยตนมีหน้าที่เป็นคนหนุนเสริมและให้กำลังใจเหมือนที่ทำกับกลุ่มเยาวชนในโครงการในปีที่ผ่านมา
ตลอดระยะเวลาที่ได้ร่วมทำโครงการ ทองรู้สึกประทับใจในความเป็นคนธรรมดาของตัวเองที่สามารถเป็นพี่เลี้ยงช่วยพัฒนาศักยภาพของเยาวชนในชุมชนได้ สิ่งที่เธอคิดอยู่ในใจตอนนี้ คือ จะทำอย่างไรหากเด็กรุ่นต่อไปขาดคนหนุนนำหรือผู้ใหญ่ที่คอยเปิดโอกาสให้เขาได้แสดงความคิดเห็นของตัวเอง อย่างไรก็ตาม ทองมั่นใจว่าเธอน่าจะเป็นคนหนึ่งที่สามารถนำความรู้จากการเป็นพี่เลี้ยงมาใช้กับน้องในชุมชนได้ เช่น การสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนได้มีโอกาสออกไปเรียนหนังสือนอกชุมชน และปลูกฝังให้เขารักชุมชน เพื่อวันหนึ่งเด็กกลุ่มนี้จะได้กลับมาพัฒนาชุมชนของตนเองต่อไป
ภาพความสัมพันธ์ระหว่างเยาวชนในโครงการและผู้ใหญ่ในชุมชนที่ดูสนิทกันมากขึ้น พูดคุยกันมากโดยเฉพาะผู้รู้ในชุมชนที่กลุ่มเยาวชนมีโอกาสเข้าไปพูดคุย ต่างฝ่ายต่างเริ่มทักทายเมื่อเจอกัน จากเมื่อก่อนไม่สนใจกัน ต่างคนต่างอยู่ แต่ตอนนี้เด็กมีสัมมาคารวะ มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ชวนผู้ใหญ่คุย ชวนถามมากขึ้น
โครงการนี้ไม่เพียงช่วยพัฒนาความคิดและทักษะชีวิตให้เยาวชน และช่วยสืบสานภูมิปัญญาพื้นบ้านสมุนไพรปกาเกอะญอเท่านั้น แต่ยังเป็นห้องเรียนสำคัญสำหรับพี่เลี้ยง เธอได้เติมเต็มความฝันในวัยเด็ก พัฒนาตัวเองจากผู้หญิงชาติพันธุ์ธรรมดาคนหนึ่งที่มีความฝันและแรงบันดาลใจอยากช่วยพัฒนาเด็กและเยาวชนในชุมชน ก้าวเข้าสู่เส้นทางของการเป็นพี่เลี้ยงได้อย่างสมบูรณ์แบบ แม้จะมีเรื่องสะดุดไปบ้าง แต่สุดท้ายทองยังคงจับมือน้อง ๆ ในทีมช่วยกันสานฝันจนประสบความสำเร็จได้ด้วยความรักและศรัทธาซึ่งกันและกัน
////////////////////////////////////////