สุชิน คำภิระ
แกนนำเยาวชนอนุรักษ์ดนตรีพื้นบ้านปกาเกอะญอ จ.ลำพูน
ตำแหน่งที่ได้รับในโครงการต่างๆ
ประวัติและผลงาน

โครงการเด่น โครงการสืบสานเครื่องดนตรีชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ

มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย (มจร.) ลำพูน หรือ วิทยาลัยสงฆ์ลำพูน


ชื่อเรื่อง ‘เตหน่า’ เครื่องดนตรีปกาเกอะญอที่สะกดหู สะกิดใจ ให้ต้องหยุดฟังทุกครั้งที่ได้ยิน

“เวลาเราพูดถึงเครื่องดนตรีชนเผ่า มักไม่ค่อยมีใครนึกถึงเครื่องดนตรีของชนพื้นเมืองสักเท่าไหร่ ถ้าเอ่ยถึงดนตรีล้านนา เราจะนึกถึงสะล้อ ซอ ส่วนดนตรีไทยก็เป็นจะเข้ เครื่องดนตรีชนเผ่าไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการนับวงศาคณาญาติของเครื่องดนตรีแบบไทยๆ ที่เรานำเครื่องดนตรีหลากหลายมาเล่นด้วยกัน ผสมผสานเครื่องดนตรีตะวันตก ตะวันออก และเครื่องดนตรีชนเผ่า เพื่อให้รู้ว่าดนตรี ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดนตรีพื้นบ้าน บนบ้าน ใต้ถุนหรืออะไรก็แล้วแต่ สามารถเล่นด้วยกันได้ ไปด้วยกันได้ บนพื้นฐานของการยอมรับและเคารพ ให้พื้นที่ซึ่งกันและกัน ผมอยากชี้ให้เห็นว่าในเมื่อเครื่องดนตรีและวัฒนธรรมยังอยู่ด้วยกันได้ ทำไมคนถึงจะอยู่ร่วมกันไม่ได้”

คำพูดติดตลกแฝงไว้ด้วยความจริงจังที่ ชิ - สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ ตัวแทนปกาเกอะญอ จาก ‘มูเจะคี’ ป่าสนวัดจันทร์ อำเภอแม่แจ่ม (อำเภอวัดจันทร์) จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวไว้ในงาน TEDxBangkok 2016 “เสียงของชนเผ่าพื้นเมืองประเทศไทย” ที่ยังคงสื่อความหมายได้ดีในปัจจุบัน

ชิ มีชื่อเสียงด้านการบรรเลงเครื่องดนตรีชนเผ่า โดยเฉพาะการเล่น ‘เตหน่ากู’ พิณบรรพบุรุษ ในวงดนตรี ‘วัชพืชหลังเขา’ ส่วนในทางวิชาการ ชิ สุวิชาน จบการศึกษาระดับปริญญาเอก และเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจำวิทยาลัยโพธิวิชชาลัย สาขาการจัดการภูมิวัฒนธรรม อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

ตลอดระยะเวลาร่วม 20 ปี ชิใช้เตหน่ากูเป็นเครื่องมือหนึ่งบอกเล่าและสื่อสารเรื่องราวชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ ผ่านเสียงเพลงที่เป็นเอกลักษณ์และคำร้องหรือการขับลำนำที่เรียบง่ายแต่ตรงไปตรงมา

‘เตหน่า’ หรือเรียกเต็มๆ ‘เตหน่ากู’ เป็นเครื่องดนตรีพื้นบ้านโบราณชนิดหนึ่งของชาวปกาเกอะญอ รูปร่างและลักษณะคล้ายพิณ ‘กู’ ไม่ได้เป็นคำหยาบ แต่มาจากภาษาปกาเกอะญอ คำเต็มว่า ‘เกะกู’ ที่แปลว่า โค้งงอ หากใครเคยเห็นหรือรู้จักเตหน่ามาก่อนจะเข้าใจที่มาที่ไปของคำนี้ไม่ยาก เมื่อเห็นส่วนคอของเตหน่าที่มีลักษณะโค้ง ฐานทำด้วยขอนไม้น้ำหนักเบา เจาะเป็นโพรง ระหว่างฐานและคอส่วนใหญ่ขึงสาย 6 เส้น การบรรเลงเตหน่ามักมาคู่กับการขับ ‘ธา’ หรือ ‘อื่อธา’ ที่หมายถึงการขับบทกวีดั้งเดิมหรือวรรณกรรมของชาวปกาเกอะญอ ซึ่งมักสอดแทรกคำสอน ถ่ายทอดสู่ลูกหลานโดยไม่จำเป็นต้องมีโอกาสพิเศษ การอื่อทาให้ไพเราะน่าฟังมักใช้เตหน่าเป็นเครื่องดนตรีประกอบเสมอ


ความแตกต่างที่เป็นหนึ่งเดียว

โครงการสืบสานเครื่องดนตรีชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ เป็นโครงการที่ริเริ่มโดยชมรมนิสิตปกาเกอะญอ มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย (มจร.) หรือ วิทยาลัยสงฆ์ลำพูน ภายใต้ โครงการปลุกสานึก สร้างพลัง เสริมศักยภาพ เยาวชนเมืองลำพูน เยาวชนปกาเกอะญอกลุ่มหนึ่งเล็งเห็นว่า เตหน่ากูเครื่องดนตรีที่สะท้อนอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ปกาเกอะญอชนิดนี้ กำลังขาดคนฝึกฝนและสืบทอด แม้ในกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอเอง บางชุมชนเคยได้ยินชื่อแต่ไม่เคยเห็นและไม่เคยรู้จัก พวกเขาจึงต้องการรวบรวมข้อมูล เพื่อสืบสาน ฟื้นฟู และอนุรักษ์การเล่นเครื่องดนตรีเตหน่า ทั้งในกลุ่มเยาวชนชาติพันธุ์ปกาเกอะญอและคนทั่วไป รวมทั้งเผยแพร่ให้เครื่องดนตรีชนิดนี้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น

ยู - สุชิน คำภิระ อายุ 21 ปี นิสิตชั้นปีที่ 2 คณะรัฐประศาสนศาสตร์ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ลำพูน ตัวแทนเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการบอกว่า เขาเป็นปกาเกอญะอีกคนหนึ่งที่เคยได้ยินคนอื่นพูดถึงเตหน่า แต่ไม่เคยได้สัมผัสและไม่รู้ข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องดนตรีชนเผ่าชนิดมาก่อนเลย เพราะในพื้นที่จังหวัดลำพูนที่เขาอาศัยอยู่ไม่มีใครเล่นเตหน่าได้

ชมรมนิสิตปกาเกอะญอ มจร. ก่อตั้งขึ้นโดย พระภูวเดช นาถกโร เมื่อปี พ.ศ. 2557 ด้วยเห็นว่าความสัมพันธ์ของพี่น้องชาติพันธุ์ปกาเกอะญอจำนวนมากที่ลงมาศึกษาเล่าเรียนในเมืองค่อนข้างห่างเหิน เว้นแต่มาจากหมู่บ้านเดียวกันหรือเคยรู้จักกันมาก่อน ชมรมนี้จึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางช่วยเหลือนิสิตปกาเกอะญอยามที่เดือดร้อนมีปัญหา ทำให้ไม่ให้รู้สึกโดดเดี่ยวเมื่อไกลบ้าน เป็นโอกาสให้ได้ใช้ภาษาท้องถิ่นสื่อสารระหว่างกัน และสานสัมพันธ์แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างหมู่บ้าน สร้างความรัก ความสามัคคีในหมู่พี่น้องชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ อย่างไรก็ตาม ชมรมเปิดโอกาสให้ชาติพันธุ์อื่นและนิสิตทั่วไปเข้าเป็นสมาชิกร่วมทำกิจกรรมกับทางชมรมได้ โดยชมรมเน้นจัดกิจกรรมจิตอาสาบนดอยในพื้นที่ทุรกันดาร

“มีพี่ที่อยู่ในชมรมแนะนำให้รู้จัก แล้วบอกว่าถ้าอยู่ชมรมนี้จะได้ขึ้นดอย ก็เลยรู้สึกชอบ อยากไป ก็เลยสมัครเข้ามา” ยู กล่าวถึงจุดเริ่มต้นที่ได้มาเป็นหนึ่งในสมาชิกของชมรม

ยู เล่าถึงข้อค้นพบหนึ่งหลังจากได้พบปะกับพี่น้องปกาเกอะญอจากพื้นที่อื่น ซึ่งที่ทำให้ตัวเขาเองต้องประหลาดใจเหมือนกัน คือ แม้เป็นชาติพันธุ์ปกาเกอะญอเหมือนกัน แต่ภาษาพูดที่ใช้สื่อสารระหว่างกันก็ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว

“ตอนยังไม่ได้ออกมาในเมือง ผมพอรู้มาบ้างว่าปกาเกอะญออยู่ในหลายพื้นที่ พอได้รู้ที่มาของกันและกัน รู้สึกแปลกใจว่าเป็นปกาเกอะญอเหมือนกัน แต่ภาษาก็ไม่เหมือนกัน เขาเป็นปกาเกอะญอหรือเปล่า หรือเราไม่ใช่ปกาเกอะญอ ฟังกันไม่รู้เรื่องเลยครับ ถ้าไม่สนิทกันหรืออยู่ด้วยกันนาน ๆ”

นี่ยิ่งทำให้ยูและกลุ่มเยาวชน อยากศึกษาเรื่องราวชาติพันธุ์และเครื่องดนตรีชนเผ่าให้ลึกซึ้งมากขึ้น กลุ่มเยาวชนตั้งใจค้นคว้าข้อมูลชนเผ่าและเครื่องดนตรีชนเผ่ามุ่งเน้นไปที่เตหน่า ทั้งเรื่องความเป็นมา วิธีการทำเครื่องดนตรี วิธีการเล่น และความหมายที่แฝงอยู่ในเครื่องดนตรี รวมถึงการฝึกเล่น

“ตอนแรกผมก็เฉย ๆ เพราะข้อมูลมันไม่ค่อยมี ผมก็ไม่รู้จัก แต่หลัง ๆ เริ่มสนใจ เพราะได้เรียนรู้ ได้รู้จักมากขึ้น อยากทำเป็นรูปเล่มเก็บข้อมูลไว้ในชมรมให้ได้ศึกษาต่อ” ยู กล่าว


ผิดแผนแต่ไม่ผิดใจ

สมาชิกโครงการจากเดิมที่มีร่วม10 คน เมื่อเรียนชั้นปีสูงขึ้นรุ่นพี่บางคนต้องออกไปฝึกงานและฝึกสอน เหลือคนทำโครงการอยู่เพียง 6 คน ทำให้การทำงานยากขึ้น ยู บอกว่า อุปสรรคสำคัญเป็นเรื่องของ “เวลา” เนื่องจากสมาชิกในทีมเรียนอยู่คนละระดับชั้น และอาศัยอยู่ต่างหมู่บ้าน ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงวางแผนลงพื้นที่ทำโครงการพอดี การทำงานจึงต้องสะดุดและผิดแผนไปหมด

หนึ่งในนั้นคือประสบการณ์การลงพื้นที่ครั้งแรก ที่ใช้เวลาเดินทางจาก มจร. ไปบ้านป่าแป๋ ตำบลป่าพลู อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน เกือบ 2 ชั่วโมง แต่ได้คุยกับผู้รู้เพียง 5 นาที

“หลังจากตกลงทำเรื่องเครื่องดนตรีเตหน่า

หนานโละ (โละ - ทรงศักดิ์ อาญาล้ำเลิศ) รู้จักกับคนที่เล่นเตหน่าเป็น อยู่ที่หมู่บ้านป่าแป๋ เป็นหมู่บ้านชาวปกาเกอะญอที่อยู่สูงที่สุดในจังหวัดลำพูน พวกเราวางแผนลงพื้นที่

2 คืน 3 วัน คำนวณค่าใช้จ่าย ค่ารถ เตรียมอุปกรณ์ ตั้งใจว่าไปป่าแป๋ก่อน หลังจากนั้นมีแผนไปที่บ้านห้วยบง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ด้วย ที่นั่นเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้เครื่องดนตรีชนเผ่า อยู่ในชุมชนเลยครับ”

“แต่พอทำจริง ๆ เราไปที่ป่าแป๋ได้แค่วันเดียว เพราะติดช่วงโควิดเดินทางไม่ได้ และวันที่ไปผู้รู้ ติดงานเรื่องการประกาศพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษบ้านดอยช้างป่าแป๋ ซึ่งเราไม่รู้มาก่อนเพราะการติดต่อกันค่อนข้างยาก อยู่บนดอยไม่มีคลื่นโทรศัพท์ เราเลยได้ข้อมูลจากป่าแป๋ไม่ค่อยมากเท่าไร เพราะมีผู้รู้คนเดียวที่เล่นได้ พวกเราจ้างเหมารถไป แผนคือไปนอนค้าง ของต้องขนไปเยอะ ของกิน เนื้อหมูสักสิบกิโลกรัม กะไปกินหมูกระทะ พอพี่เขาไม่ว่าง เราก็ไม่รู้จะทำอะไรต่อ เราก็กลับ”

จากประสบการณ์ทำงานที่ไม่เป็นไปตามคาดบวกกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีมาตรการรักษาระยะห่างและหลีกเลี่ยงการเดินทางออกนอกพื้นที่ เป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งที่ทำให้กลุ่มเยาวชนต้องขบคิดว่าจะเดินไปทางไหนต่อ ขณะที่การค้นคว้าเก็บข้อมูลยังไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการ แต่ก็ไม่ได้สร้างความขัดแย้งภายในทีม ยู กล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า ในทีมมีความสามัคคีกัน เพราะมีกันอยู่น้อยและกลัวทิ้งกัน

“เราพลาดการลงพื้นที่เรียนรู้ที่แม่แจ่มไป ที่นั่นมีผู้รู้ที่เล่นดนตรีเป็นหลายคน มีศิลปินอยู่มาก แต่เราไม่สามารถเดินทางออกนอกพื้นที่ได้แล้วในช่วงนั้น”

เมื่องานยังไม่เสร็จสมบูรณ์ แป่ว – ภาสกร ป่างวิสัย และ โละ – ทรงศักดิ์ อาญาล้ำเลิศ รุ่นพี่ในทีมที่พอมีความรู้และมีทักษะการเล่นเตหน่าอยู่บ้าง รับหน้าที่หลักเก็บรวบรวมข้อมูล จากการสัมภาษณ์ผู้รู้ที่พวกเขารู้จักผ่านทางโทรศัพท์และโซเชียลมีเดียเท่าที่ทำได้

“ได้ข้อมูลมาแล้วก็เอามาแชร์กันในกลุ่ม พี่เขาเขียนมาแล้วมาปรึกษากันว่าแบบนี้ถูกไหม เหมาะสมหรือเปล่า บางคำใช้ภาษาไทยแบบนี้ถูกหรือเปล่า ผมช่วยเป็นมือซ้ายมือขวา บอกให้ช่วยทำอะไรผมก็จะทำ ผมก็ได้ฟังได้อ่านเป็นความรู้ ได้มารู้จักเครื่องเล่น รู้จักแล้วรู้สึกว่ามันเป็นองค์ความรู้ใหม่ เพราะเราไม่เคยรู้มาก่อน องค์ประกอบแต่ละส่วนของเต่หน่ามีความหมายหมดเลย หกสายคือสายอะไรบ้าง ถ้าสิบสองสาย ยี่สิบสี่สายมันมีความหมายอยู่ในตัวของมัน” ยู เล่า


สะกดหู สะกิดใจ ลำนำขับธาและแว่วเสียงเตหน่ากู

ว่ากันว่าในอดีตชายหนุ่มปกาเกอะญอต้องมีเตหน่าไว้เป็นเครื่องดนตรีประจำกาย ใช้ขับกล่อมบรรเลงยามว่างเว้นจากการทำนาและใช้เป็นเครื่องมือจีบสาว กรีดสายเล่นเพลงเตหน่าไปพร้อมกับการขับธาสร้างความประทับแก่หญิงที่หมายปอง ส่วนคนเฒ่าคนแก่ก็ใช้เตหน่าเล่นประกอบการเล่านิทาน ดึงดูดความสนใจของลูกหลาน ถึงตอนไหนที่อยากแทรกคติสอนใจก็ขับธาคลอไปกับเสียงบรรเลง เนื้อหาในธาหรือวรรณกรรมปกาเกอะญอ สะท้อนวิถีชีวิต วิธีคิด และอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์ คนเฒ่าคนแก่บอกว่าธามีมากมายมากกว่าใบไม้ในป่าเสียอีก

ในส่วนของการฝึกฝนการเล่นเตหน่า กลุ่มเยาวชนได้วางแผนให้มีการฝึกฝนการเล่นเครื่องดนตรีในชมรมสัปดาห์ละครั้ง ต่อเนื่องไปสี่สัปดาห์ ยู กล่าวว่า ขั้นตอนนี้เกิดขึ้นก่อนการลงพื้นที่บ้านป่าแป๋ แต่ไม่สามารถดำเนินการได้สำเร็จเนื่องจากสมาชิกในชมรมมาไม่พร้อมเพรียงกัน สมาชิกที่เหลืออยู่จึงใช้ช่วงเวลาดังกล่าวบันทึกโน้ตดนตรีเตหน่า เทียบกับสายแต่ละเส้นบนเครื่อง ออกมาเป็นโน้ตเพลงเพื่อเป็นความรู้ไว้สำหรับเผยแพร่ต่อ

เสียงบรรเลงเตหน่าเป็นเสียงที่มีเสน่ห์ ยู กล่าวว่า การฝึกฝนเล่นเตหน่าไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้เล่นต้องมีใจรัก มีความพยายามและตั้งใจฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง แม้แต่ตัวเขาเองยังรู้สึกว่าการฝึกเล่นเตหน่าเป็นเรื่องท้าทาย

“วันแรกสมาชิกชมรมมากันยี่สิบกว่าคน หลังจากนั้นนัดมาประชุมที่ชมรมก็เริ่มมีคนมาน้อยลง โดยเฉพาะเมื่อรุ่นพี่ปีสี่ปีห้า ไปฝึกงาน รุ่นน้อง ๆ ก็ค่อยๆ หายไป ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนในชมรมไม่ใช่กะเหรี่ยงทั้งหมด มีคนเมืองเข้ามาด้วย และชาติพันธุ์อื่นด้วย เขาไม่ได้สนใจเพราะมันไม่เกี่ยวกับเขา ตอนนั้นเราก็ยังไม่มีข้อมูลมานำเสนอ มันไม่เหมือนซึง ซอ หรือกีตาร์”

แม้การทำโครงการไม่ได้ราบรื่น แต่ทั้งยูและแป่วก็ไม่ละความพยายาม พวกเขาได้เดินทางไปบ้านแม่ขนาดซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวเขาปกาาเกอะญอ ตำบลทากาศ อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเรื่องเตหน่าและส่งต่อคุณค่าจากสิ่งที่พวกเขารู้ให้กลุ่มเด็กและเยาวชนในชุมชน

“ช่วงนั้นเราแพลนให้มีการฝึกซ้อมเตหน่าในชมรม แต่ไม่มีใครมา ผมกับอ้ายแป่วเลยไปบ้านแม่ขนาดกันสองคน เพราะที่นี่มีกลุ่มเด็กเยาวชนที่อ้ายแป่วเคยทำโครงการอยู่ด้วย พาเต่หน่าไปด้วย ไปนำเสนอข้อมูลว่าเตหน่า มีลักษณะอย่างไร มีความเป็นมาอย่างไร มีความหมายว่าอะไร การเล่นจะเล่นอย่างไรถ้าจะฝึกเล่น”

ยู กล่าวว่า การเรียนรู้ผ่านกิจกรรมต่างๆ ในโครงการ ทำให้เขาได้ประสบการณ์และแนวคิดที่ช่วยพัฒนาทักษะชีวิต และทำให้เขาเกิดความภูมิใจในชาติพันธุ์ปกาเกอะญอของตัวเอง

“ผมได้ความรู้จากการไปอบรมในโครงการ ได้รู้จักการวางแผนเพิ่ม เมื่อก่อนนี้ไม่เคยวางแผนเลยว่าการทำงานมีลำดับขั้นตอนอย่างไร ตอนนี้เวลาทำงานผมจะคิดว่าต้องทำอะไรบ้าง ที่ไหน อย่างไรกับใคร ในการทำโครงการอื่น ๆ หรือในชีวิตประจำวัน ไปที่ไหนเราต้องวางแผน แล้วคิดหาวิธีแก้ เพราะปัญหามันมีทุกที่อยู่แล้ว”

“ผมว่าตัวเองมีความกล้าแสดงออกมากขึ้นด้วย เพราะได้ฝึกพูดต่อหน้าคนเยอะๆ กล้าเข้าหาคนอื่น กล้าถามกล้าคุย พอกลับมาเรียนต้องนำเสนองานก็กล้าจับไมค์ กล้าพูดซึ่งต่างจากเมื่อก่อน”

ยู กล่าวว่า เมื่อมองย้อนกลับยังไปที่ชุมชนของตัวเอง เขาอยากสร้างความเปลี่ยนแปลงบางอย่าง อยากทำให้คนในชุมชนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ สนใจและเห็นคุณค่าวิถีดั้งเดิมของปกาเกอะญอ เหมือนอย่างที่เขารู้สึกหลังจากได้ค้นคว้าและเรียนรู้เกี่ยวกับบรรพบุรุษของตัวเอง

“บ้านผมวัฒนธรรมปกาเกอะญอหายไปค่อนข้างเยอะ จาก 100% หายไปประมาณ 70-80% คนรุ่นใหม่ตามสังคมภายนอกอย่างเดียว ป้า ๆ ลุง ๆ ก็ไม่สนใจ ถ้าเราไปเห็นจังหวัดตากหรือที่อื่น เขายังอนุรักษ์ ยังใช้ชีวิตธรรมดา ๆ อยู่ ผมเลยเห็นคุณค่าในความเป็นชาติพันธุ์ของตัวเองมมากขึ้น ว่าควรรักษาวิถีชีวิตเอกลักษณ์ความเป็นปกาเกอะญอไว้บ้าง”

“ในชุมชนผมคนที่ไม่เรียนแล้ว แต่เดิมไปเข้าไร่เข้าสวนเข้านา แต่ตอนนี้ไปเข้าโรงงาน ไปทำงานที่อื่น ถ้าผมทำได้ ผมจะทำให้คนที่ไม่เรียน รู้สึกว่าตัวเองยังมีคุณค่า ไม่ใช่ว่าไร้ค่าในสายตาของคนมีการศึกษา มีความสุขตามชีวิตของคนที่ไม่ได้เรียนไป ใช้ชีวิตกับชนบทกับครอบครัวกับทุ่งนากับไร่ที่มีอยู่ได้”

นอกจากองค์ความรู้ของคนที่อยู่กับป่าอย่างพึ่งพาอาศัยกันแล้ว เคยได้ยินคำเปรียบเปรยอยู่เหมือนกันว่า แท้จริงแล้วชาวปกาเกอะญอเป็นชาวศิวิไลที่มีความเป็นศิลปินในตัวเองแฝงอยู่ หากเคยได้ยินเสียงบรรเลงเตหน่าด้วยตัวเองสักครั้ง เชื่อว่าความไพเราะที่สะกดหูและสะกิดใจ จะทำให้ผู้ฟังเข้าใจความหมายของคำเปรียบเปรยนี้ได้เป็นอย่างดี

////////////////////


ล้อมกรอบ

มูเจะคี หรืออำเภอวัดจันทร์ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นชุมชนนักดนตรี พนา พัฒนาไพรวัลย์ พ่อของชิ-สุวิชาน ได้รับการถ่ายทอดวิธีการบรรเลงเตหน่ามาจากผู้รู้ แล้วสืบทอดการเล่นเตหน่าในครอบครัว ขยายออกไปยังชุมชน ไล่ตั้งแต่ยุคครูพนา พะตีทองดี, ลีซะ ชูชื่นจิตรสกุล รวมถึง ชิ-สุวิชาน ผู้เป็นลูก