ศศิธร เมืองมูล
พี่เลี้ยงเยาวชน Active Citizen จ.ลำพูน
ตำแหน่งที่ได้รับในโครงการต่างๆ
พี่เลี้ยง/อาจารย์ที่ปรึกษา ใน แต่งตัวสบายๆ ตามสไตล์บางแพ
ประวัติและผลงาน

พี่เลี้ยงเด่น โครงการแต่งตัวสบายๆตามสไตล์บ้านแพ บ้านหนองหลัก  ตำบลตะเคียนปม อำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน


ชื่อเรื่อง นักพัฒนา 2G เชื่อมชุมชน ตระหนักรักษ์ผ้าทอ


“เราเห็นว่าเด็กจะเป็นพลังในภายภาคหน้า เป็นส่วนหนึ่งที่จะพัฒนาชุมชนตัวเอง ถ้าเขาก้าวไปไกลกว่านั้นอาจพัฒนาจังหวัด หรือประเทศได้ ถ้าเขาได้รับการพัฒนาให้มีคุณภาพ เชื่อว่าศักยภาพของเด็กจะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ มันจะเป็นอะไรที่ดีต่อประเทศ และต่อโลกด้วย”

เครือ - ศศิธร เมืองมูล วัย 41 ปี พี่เลี้ยง “โครงการแต่งตัวสบายๆตามสไตล์บ้านแพ” บ้านหนองหลัก ตำบลตะเคียนปม อำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน กล่าวจากประสบการณ์ทำงานชุมชนมาเกือบทั้งชีวิต เธอพูดอย่างหนักแน่นเหมือนพยายามตอกย้ำให้เราเชื่อว่า “พลังเยาวชนเปลี่ยนโลกได้จริง”


ค้นตัวตน ค้นชุมชน

ย้อนไป 20 กว่าปีก่อน ศศิธร คือนักศึกษาสาขาการพัฒนาชุมชน จากสถาบันราชภัฏเชียงราย ผู้มีใจรักงานชุมชน เธอตื่นตาตื่นใจทุกครั้งที่ได้ลงพื้นที่ พบปะผู้คน บรรยากาศการทำงานคู่กับชุมชนทำให้หัวใจเธอเต้นแรงด้วยความตื่นเต้นอยู่เสมอ

ด้วยหวังว่าเป็นส่วนเล็ก ๆ ที่ทำให้สังคมดีขึ้น เครือรับหน้าที่เป็นอาสาสมัครว่างงานที่ไม่ได้รับเงินเยียวยา ภายใต้โครงการ อว.สร้างงาน โดยกระทรวงการอุดมศึกษาฯ สังกัดมหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง มีบทบาทช่วยงานพัฒนาชุมชนชนบทและชุมชนเมือง ด้วยการนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีมาผนวก เป็นระยะเวลา 5 เดือน (พฤษภาคม – กันยายน 2563) ไปพร้อมๆ กับการทำหน้าที่พี่เลี้ยง โครงการ Active Citizen - โครงการปลุกสานึก สร้างพลัง เสริมศักยภาพ เยาวชนเมืองลำพูน

“ด้วยความที่เราถนัดการทำงานชุมชน จึงเลือกทำงานกับชุมชนมากกว่าการนำตัวเองเข้าสู่สังคมเมืองอย่างเต็มรูปแบบ เรามองว่าในชุมชนของเรายังมีอะไรที่ต้องอนุรักษ์ไว้ และมีสิ่งที่ต้องพัฒนาต่อ จะทำอย่างไรให้ชุมชนรู้จักเปิดรับสิ่งใหม่ และหวงแหนสิ่งเก่าที่เป็นรากเหง้า ได้อย่างสมดุลกัน เป็นเรื่องยาก แต่ส่วนตัวเชื่อว่าทำได้” ศศิธร กล่าว

ก่อนหน้านี้ศศิธรเคยทำงานสภาองค์กรชุมชน ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถาบันหริภุญชัย เมื่อมองเห็นโอกาสที่เด็กในชุมชนของตนจะได้เรียนรู้และพัฒนาตัวเอง จึงชักชวนเยาวชนในชุมชนรวมตัวกันได้ราว 7 คน ตั้งโจทย์โครงการจากปัญหาและของดีที่มีอยู่ในชุมชน จนทำให้เกิด “โครงการแต่งตัวสบาย ๆ ตามสไตล์บางแพ” เพื่ออนุรักษ์การแต่งกายและลวดลายผ้าทอของชนเผ่ากะเหรี่ยงบ้านหนองหลัก ตลอดจนปลูกฝังให้เยาวชนตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของวัฒนธรรมการแต่งกายแบบดั้งเดิม


พี่เลี้ยง มีหน้าที่คือ “เชื่อในพลังเยาวชน”

บทบาทหน้าที่ของพี่เลี้ยงโครงการ คือให้คำแนะนำเยาวชน คอยหนุนเสริม ช่วยหลือ มากกว่าลงมือทำเอง ดึงศักยภาพในตัวเด็กออกมาให้ได้มากที่สุด นับเป็นบทบาทใหม่ที่ศศิธรไม่เคยทำมาก่อน เพราะปกติแล้วงานชุมชนที่ผ่านมามักเกิดขึ้นจากการที่เธอเป็นตัวตั้งตัวตีลงมือทำ

“ส่วนใหญ่ที่ผ่านมาทำงานร่วมกับผู้ใหญ่ เรามีแผนกำหนดให้ทำ แต่ในโครงการนี้ให้เด็กออกแบบเองเลย เขาได้ลงมือทำจริงจัง ได้พัฒนาศักยภาพตัวเอง ต้องแก้ไขปัญหาเอง เพราะถ้าเราไปช่วยเขาหมด เขาก็ไม่ได้แสดงศักยภาพ และก็ไม่รู้ว่าเด็กคนไหนเป็นอย่างไร ทำได้ไหม มีความสามารถประมาณไหน การให้เขาลอง ตัวเขาก็จะได้รู้ เราก็จะรู้ว่าคนไหนถนัดอะไร”

การปล่อยให้เยาวชนระดมสมอง แบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจนตามความถนัดและความสามารถนอกจากจะดึงศักยภาพของเด็กออกมาได้แล้ว ยังเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้พี่เลี้ยงสังเกตเห็นจุดเด่นจุดด้อย สามารถปรับปรุง ให้คำแนะนำ ต่อยอดให้เด็กเพิ่มศักยภาพตนเองได้อย่างไร้ขีดจำกัด

“เด็กคิดกันเองว่าควรมีตำแหน่งอะไรบ้าง จากนั้นเขาก็เขียนตำแหน่งใส่กล่องแล้วจับสลาก เราจะถามว่าเขาอยากทำไหม คิดว่าจะทำได้ไหม ถ้าคนไหนคิดว่าตัวเองไม่เหมาะสม ไม่สามารถทำได้ก็ให้เปลี่ยน ผลออกมาจึงมีประธาน รองประธาน ฝ่ายชาย ฝ่ายหญิง มีเลขาธิการ มีเหรัญญิก มีฝ่ายประชาสัมพันธ์”

สถานที่ประชุมส่วนใหญ่จะเป็นบ้านพี่เลี้ยงเป็นหลัก โดยนัดประชุมผ่านเฟซบุ๊กกลุ่ม ค้นคว้าข้อมูลผ่านหนังสือ อินเทอร์เน็ต รวมถึงลงพื้นที่เยาวชนช่วยกันเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์ปราชญ์ชุมชน โดยมีพี่เลี้ยงประสานงานให้ จากนั้นจึงปล่อยให้เยาวชนลงพื้นที่สอบถามสำรวจชุมชนด้วยตนเอง

“แนวทางการทำงาน เราแอบมีอยู่ในใจ แต่ไม่ได้หวังว่าต้องทำแบบที่เราคิด เราจะโยนคำถามไปให้เขาคิดต่อ ว่าอยากรู้อะไรอีกไหม ควรถามเพิ่มประเด็นนี้ไหม เติมให้ในส่วนที่ยังไม่ครอบคลุม เด็กจะลงพื้นที่ไปสัมภาษณ์ปราชญ์ชาวบ้านกันเอง เมื่อแล้วเสร็จค่อยนัดหมาย รวบรวมข้อมูล ช่วยแก้ปัญหาบ้างในบางเวลา ประสานปราชญ์ชาวบ้านเรื่องผ้าทอ ประสานเวทีชี้แจง ทำความเข้าใจกับผู้นำและคนในชุมชน เรื่องที่มาที่ไปของโครงการ ประสานพ่อหลวงบ้าน เพื่อให้เด็กได้มีพื้นที่แสดงศักยภาพ ให้เด็กได้เสนอโครงการและกิจกรรมของเขาในศาลาประชาคมหมู่บ้าน ซึ่งเด็กจะกระตือรือร้นมาก”

ศศิธร เป็นบุคคลที่ทำงานด้านเยาวชนมาอย่างต่อเนื่อง จึงได้รับการอบรมทักษะมากมาย สิ่งหนึ่งคือทักษะการควบคุมอารมณ์ เป็นพี่เลี้ยงที่สามารถเสริมพลังให้เด็กและเยาวชนได้ เพราะเชื่อว่าพลังเยาวชนสามารถเปลี่ยนโลกได้จริง

“สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากการไปอบรม ก็คือ คนเราเวลาแสดงอารมณ์จะมีไฟเขียว ไฟเหลือง ไฟแดง สามารถนำมาปรับใช้ได้ บางครั้งเราอาจเหนื่อย กำลังล้า แต่พอมาเจอสถานการณ์แย่ มันทำให้เราปรับเปลี่ยนความคิด มองโลกในแง่ดี สมมติว่าจะแดงแล้ว ก็ทำให้กลับเป็นเขียว เวลาคุยกับเด็กจะพยายามไม่ให้เขาเครียด ให้ทำสบาย ๆ เป็นธรรมชาติ เด็กก็เหมือนกับผ้าขาว เราต้องเป็นคนที่ไม่ทำให้เขาเปื้อน อารมณ์ของเราบางครั้งต้องรู้ตัวเองว่าเราควรมีอารมณ์ประมาณไหน อย่าให้มันอยู่ไฟแดงนะ เพื่อให้เขาได้แสดงความสามารถแสดงศักยภาพเต็มที่ ขอแค่เราเชื่อในศักยภาพของเขา เขาก็พร้อมปล่อยออกมาเต็มที่”


หน้าที่หลักคือ อุดรอยรั่ว

แน่นอนว่าการดำเนินโครงการมีการวางแผนงานชัดเจน แต่ก็เลี่ยงปัญหาและอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นระหว่างทางไม่ได้ ในแต่ละขึ้นตอน เครือ บอกว่า พี่เลี้ยงต้องคอยให้คำแนะนำให้กลุ่มเยาวชนเรียงลำดับการทำงานใหม่ให้เหมาะสม

เครือยกตัวอย่างสถานการณ์ครั้งหนึ่งว่า

เราคิดว่าต้องทำป้ายไวนิลชี้แจงให้ทางผู้นำชุมชนได้รู้ที่มาที่ไปของโครงการ แต่ปัญหาชุมชนอยู่ไกลจากร้านป้ายไวนิล สิ่งที่เราทำได้คือให้เด็ก ๆ ลงพื้นที่เก็บข้อมูลเรื่องผ้าทอก่อนแล้วจึงไปรับไวนิล หรือปัญหาเรื่องเวลา พ่อแม่ทำการเกษตร เยาวชนจึงต้องแบ่งเวลาเสาร์อาทิตย์ไปเก็บผลผลิตทางการเกษตร หรืออยู่บ้านดูแลน้อง เพราะฉะนั้น เวลาที่เราทำกิจกรรมร่วมกัน แล้วมีปัญหา เราก็จะมาพูดคุยกัน”

นอกจากมีบริบทปัญหาภายนอกแล้ว ยังมีบริบทภายในกลุ่มเยาวชน ที่ต้องอาศัยความเข้าใจ และทักษะการประนีประนอมของพี่เลี้ยงอีกด้วย

“บางทีความคิดเด็กไม่ตรงกัน อาจมีบ้างที่ทะเลาะกัน เราเป็นตัวกลางช่วยไกล่เกลี่ย เมื่อเด็กๆทะเลาะกัน สังเกตพฤติกรรมเขา ลองให้เขาคุยปรับความเข้าใจระหว่างเพื่อนในกลุ่ม หรือแนะนำให้ผู้นำกลุ่มเป็นผู้ไกล่เกลี่ย แล้วพี่บุ๋มก็ทำได้ดี เลือกคนให้เหมาะกับงาน เพราะบุ๋มเป็นคนใจเย็น เวลามาเจอกันอีกทีหนึ่ง เราก็จะละลายพฤติกรรม สร้างบรรยากาศที่สนุกสนานทดแทน”

เรื่องการสรุปเอกสารวิชาการ สรุปโครงการเสนอต้นสังกัดเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ไม่ถนัดของเยาวชน พี่เลี้ยงจึงแนะนำการเขียน การเรียบเรียงประเด็นสัมภาษณ์ออกมาเป็นเล่มรายงาน

“เด็กไม่ถนัดภาษาวิชาการ สิ่งที่ได้คือเป็นข้อมูลดิบ พอมาพิมพ์เป็นข้อมูลภาษาวิชาการรูปเล่มนำเสนออาจจะยากหน่อยและเรื่องการทำบัญชี จะต้องทำบันทึกทุกรายละเอียด เด็ก ๆ จะมาถาม เราก็คอยสรุปเอกสารให้เขาเป็นเชิงวิชาการให้อีกครั้ง”

และปัญหาสุดท้ายที่นับว่าเป็นปัญหาบริบทที่ใหญ่คือการเปลี่ยนผ่านเยาวชนรุ่นต่อรุ่นซึ่งยังไม่แน่นอนว่าจะสามารถเดินต่อโครงการในปีต่อไปได้ แก้ไขโดยการถามความสมัครใจที่จะทำโครงการต่อซึ่งก็มีเยาวชนสนใจจำนวนมากไม่แน่ว่าอาจเห็นดาวดวงใหม่ในการเป็นเยาวชนแกนนำพัฒนาชุมชนต่อไป

“ในปีนี้มีเยาวชนแกนนำหลัก 2 คน จะไปศึกษาต่อในต่างอำเภอ (เผือกกับดั๊ม) ไปเรียนที่ป่าซาง สมาชิกกลุ่มจึงเหลือเพียง 5 สาว เพราะฉะนั้นเราจะถามก่อนว่าสะดวกต่อยอดกันไหม แต่น้องจีจี้บอกว่าไม่มีใครหนูก็จะทำต่อเขาอยากทำมาก ใจเป็นสิ่งสำคัญถ้าเขาอยากไปต่อเราก็ค่อยเป็นหน่วยหนุนเสริมต่อไป”


เยาวชนหนองหลัก ตระหนักคุณค่าผ้าทอกระเหรี่ยง

ชุมชนบ้านหนองหลัก ต.ตะเคียนปม อ.ทุ่งหัวช้าง จ.ลำพูน เป็นชุมชนดั้งเดิมกะเหรี่ยง “โผล่ง” เรียกตัวเองว่า “บางแพ” มีวัฒนธรรมจารีตประเพณีที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นมีจิตสำนึกที่ดีต่อธรรมชาติ มีภาษา และการแต่งกายเป็นเอกลักษณ์ประจำเผ่า โดยเฉพาะผ้าทอกะเหรี่ยงมีความงดงาม เป็นอัตลักษณ์เฉพาะทางชาติพันธุ์ที่สื่อออกมาให้เห็นถึงลวดลายและการตัดเย็บ

ในทางมานุษยวิทยาและสังคมวิทยา เครื่องแต่งกายชนเผ่าเป็นเครื่องบ่งบอกการดำรงชีวิตที่เกื้อกูลกับธรรมชาติ เช่น ลายดอกไม้ ลายกากบาท ลายต้นไม้ ลายแข้งไก่ ลายตะวัน และลายสายน้ำ เป็นต้น หรือการตัดเย็บเสื้อด้านหน้าและด้านหลังให้เท่ากัน แฝงคติความเชื่อของผู้คนไม่ให้เป็นคนต่อหน้าอย่างลับหลังอย่าง ปัจจุบันชุดกะเหรี่ยงไม่เป็นที่นิยมในหมู่ชาวกะเหรี่ยง เนื่องจากการรับวัฒนธรรมใหม่ ๆ จากภายนอก หากไม่มีการส่งเสริมและอนุรักษ์การใส่เสื้อผ้าของคนกะเหรี่ยงแล้ว กลุ่มแกนนำเยาวชนเกรงว่าวัฒนธรรมการแต่งกายของชาวกะเหรี่ยงจะหายไป

โครงการแต่งตัวสบาย ๆ ตามสไตล์บางแพขึ้น โดยกลุ่มแกนนำเยาวชนจึงเกิดขึ้น เพื่อศึกษาและสืบสานการแต่งกายชนเผ่าให้เป็นที่รู้จัก ทำให้คนรุ่นหลังได้ตระหนักในคุณค่า และสามารถสวมใส่ชุดชนเผ่าได้อย่างภาคภูมิใจ

“เราต้องยอมรับว่าปัจจุบันบ้านหนองหลักเป็นชุมชนเปิด หมายถึงเปิดเอาวัฒนธรรมข้างนอกเข้ามา คนในชุมชนแต่งงาน ไปเรียน ไปทำงาน ล้วนมีส่วนทำให้เกิดการเปิดรับวัฒนธรรมใหม่เข้ามาทั้งสิ้น เด็ก ๆ จึงอยากรณรงค์ให้เพื่อน ๆ ให้คนในชุมชนได้รู้สึกภูมิใจในการใส่ชุด เวลาไปทำกิจกรรมข้างนอกแล้วมีคนชมเขา เขาก็ภูมิใจในอัตลักษณ์ในชุดการแต่งกาย”

สถานการณ์เด็กและเยาวชนในพื้นที่บ้านหนองหลักมีเรื่องของยาเสพติด การติดเกม ติดโทรศัพท์ ท้องก่อนวัยอันควร กระบวนการเรียนรู้ในโครงการ ช่วยสนับสนุนให้เยาวชนทำกิจกรรม สร้างผู้นำเยาวชน และดึงเด็กออกมาจากอบายมุขได้ส่วนหนึ่ง

“การทำโครงการทำให้เยาวชนมีกิจกรรมทำร่วมกัน มีความภาคภูมิใจ หวงแหน ในชุดของตัวเอง แล้วยิ่งเราได้ค้นหาความหมายของชุดกะเหรี่ยง ทอข้างหน้าข้างหลังถึงกัน หมายถึง ต่อหน้าอย่างไร ลับหลังอย่างนั้น เรื่องของความพอเพียง มีที่มาที่ไปของชุดกะเหรี่ยงยิ่งทำให้เขาภูมิใจขึ้น”

นอกจากนี้ ยังเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างรุ่นลูกหลานกับผู้เฒ่าผู้แก่รุ่น กระชับช่องว่างระหว่างวัยให้เกิดความรักความสามัคคีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเพิ่มมากขึ้น

“ปราชญ์ชุมชน ส่วนใหญ่เด็กรู้จักอยู่แล้ว แต่ไม่กล้าประสาน เราทำหน้าที่ประสานให้เขาในครั้งแรก ต่อไปเมื่อเขากล้าพูดคุยกับผู้ใหญ่แล้ว เขาจะนัดเอง คุณเยาวเรศ คุณแม่พี่มล เป็นคนที่ทอผ้าได้สวย แกะลายได้ละเอียด ท่านรู้ว่าลวดลายดั้งเดิมเป็นลวดลายอะไรบ้าง เด็กๆ จะได้รับความรู้ประสบการร์ตรงกับผู้เชี่ยวชาญโดยตรง”


พี่เลี้ยงเชื่อมสอง Generations เปลี่ยนชุมชนตระหนักรักษ์ผ้าทอ

โครงการ แต่งตัวสบาย ๆ ตามสไตล์บางแพ เป็นกิจกรรมที่ตอบสนองการพัฒนาชุมชนทุกระดับได้อย่างดี เพราะนอกจากช่วยพัฒนาศักยภาพเยาวชนแล้ว ยังพัฒนาศักยภาพพี่เลี้ยงโครงการ และพัฒนาชุมชนในภาพรวมให้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย

“เราก็ได้พัฒนาตัวเอง พัฒนาในเรื่องอารมณ์ พัฒนาเรื่องการเป็นพี่เลี้ยงที่ดี ตอนทำงานกับผู้ใหญ่ เราชินกับการออกแบบ กำหนดให้เขาทำ แต่ในโครงการนี้พี่เลี้ยงแค่หนุนเสริม เราเห็นพัฒนาการของเด็ก แล้วเรามีความรู้สึกว่าเด็ก ๆ สมัยนี้ทำอะไรได้อีกเยอะ เพียงแต่ที่ผ่านมาชุมชนไม่ได้มีพื้นที่ให้เขา ถ้าจับจุดดี ๆ เราจะสร้างเด็กที่มีคุณภาพต่อสังคมได้เยอะเลย

ส่วนตัวเองได้เรียนรู้การทำงานกับเด็ก เราต้องเรียนรู้ว่าจะทำอย่างไร หาวิธีการอย่างไร ประสบการณ์ตรงนี้ นำไปใช้กับครอบครัวด้วย จากที่เคยเสียงดังโวยวายใส่ลูก ใช้ความรู้สึกของเราตัดสินลูก แต่หลังจากที่ไปอบรมเรื่องการทำงานกับเด็ก เราจะเบาลง พยายามให้กำลังใจเขา ชมเขามากขึ้น ไม่ด่าไม่ซ้ำเติม แล้วทุกอย่างจะดีขึ้นเอง”

หัวใจสำคัญคือกำลังใจ เมื่อเด็กได้รับบทบาทอะไรก็ตาม พี่เลี้ยงจะให้กำลังใจ ทำให้เด็กอุ่นใจ และคลายความตื่นเต้นแล้วเด็กจะทำหน้าที่บทบาทนั้นได้อย่างดีและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

“เขาเครียดกับสิ่งนั้น บางครั้งอาจจะรู้สึกว่าทำไมทำไม่ได้ เราก็บอกว่า ไม่เป็นไร เอาใหม่ อย่างตอนอัดคลิป เราจะมีสคริปให้ท่อง พูดผิดพูดถูกหลายรอบ เราก็บอกให้เขาลองใหม่ ลดความตึงเครียดลงเพราะถ้าไม่ทำแบบนี้ ผลออกมาก็จะไม่ได้ประสิทธิภาพ”

เมื่อเยาวชนรักหวงแหนวัฒนธรรมตนเอง และแน่นอนว่าชุมชนเปลี่ยนแปลง เริ่มเห็นความสำคัญของเยาวชนมากขึ้น เชื่อมั่นว่าเด็กในวันนี้สามารถพัฒนาชุมชนตนเองได้ในอนาคต เพราะการประสานเชื่อมโยงทั้งสองฝ่ายผ่านพี่เลี้ยงที่คอยแนะนำและเชื่อมระหว่างสองเจนเนอร์เรชั่น

“ก่อนทำหน้าที่เครือฟังผู้ใหญ่คุยกันนะ เด็กมีปัญหา เราอาจจะต้องมาคุยว่าจริง ๆ แล้วเขาเป็นปัญหาไหม สิ่งที่เขาต้องการ หรือว่าการที่เรายื่นมือให้โอกาส มันเป็นอย่างไร ที่ผ่านมาเราจะบอกว่าปัญหาในชุมชนเด็กติดยาเสพติด แต่ถ้าเรามีโอกาสให้เขามีพื้นที่แสดงความสามารถ หรือให้เขาได้แสดงออกอย่างถูกต้อง มันอาจจะเป็นวิธีการแก้ปัญหาสังคมได้หลายทางเลย”

ปัจจุบัน ผู้ใหญ่ในชุมชน รับทราบถึงความเป็นมาของโครงการแต่งตัวสบาย ๆ ตามสไตล์บางแพเอื้ออำนวยให้ความร่วมมือ ทั้งเรื่องสถานที่จัดกิจกรรม นิทรรศการ การให้ความร่วมมือ ไม่บ่ายเบี่ยงการให้สัมภาษณ์ มีพื้นที่แสดงศักยภาพในที่ประชุมชนศาลาประชาคม ที่สำคัญวัยรุ่น เยาวชนและคนในชุมชนเริ่มหันกลับมาแต่งกายด้วยผ้าทอกระเหรี่ยงเพิ่มมากขึ้น นับว่าประสบผลสำเร็จตามความมุ่งหวังของโครงการ

“เราจะมีกิจกรรมประชาสัมพันธ์เรื่องของผ้าทอ มีงานวัด เขาก็มีพื้นที่ให้เราจัดนิทรรศการ เอาผ้าทอไปโชว์ จากนั้นเด็ก ๆ ก็ไปประชาสัมพันธ์ร่วมกิจกรรม เวลาไปโรงเรียน เขามีแผ่นป้ายไวนิลโครงการ มีการสาธิตทอผ้า ซึ่งในโครงการมีน้องจีจี้กับพี่บุ๋มที่ทอได้ เด็ก ๆ จะให้ความสนใจมาดูพี่ ๆ ทอผ้า มีป้าๆ นั่งอธิบายเรื่องลายโบราณต่าง ๆ เป็นภาพของการมีส่วนร่วมในชุมชนอย่างดี”

นอกจากนี้ยังเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ผลจากการที่พี่เลี้ยงเปลี่ยนจากลงมือทำ มาเป็นผู้ให้คำแนะนำ สังเกต และประเมินผล เด็กเปลี่ยนจากไม่มั่นใจเป็นผู้นำ กล้าคิด กล้าแสดงออกในทางที่ดี และกล้าพัฒนาตัวเอง

“ส่วนตัวมองว่า ประสบความสำเร็จ เด็ก ๆ เขาสรุปตัวเองว่า เกิดการพัฒนา เท่านั้นเราก็พอใจแล้ว ไม่ได้เป็นรูปธรรมมากมาย แต่ว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวเด็ก เพราะเด็กที่พัฒนาในวันนี้ จะมีแนวคิดไปพัฒนาสังคมในวันข้างหน้า เราเชื่อเช่นนั้น” ศศิธร กล่าวสรุปโครงการอย่างน่าขบคิด

++++++++++++


ความเปลี่ยนแปลงของแกนนำเยาวชนในสายตาของพี่เลี้ยง

ดั้มเป็นคนขี้อายมาก ไปเตะบอลกับเพื่อน ถ้าอยากกินลูกชิ้น ไม่กล้าเดินไปซื้อคนเดียว แต่เวลาทำงาน เขาต้องเป็นรองประธานฝ่ายชาย เขาก็กล้าแสดงออกขึ้น เรียนรู้เรื่องสื่อ ถ่ายคลิป ทำวีดิโอนำเสนอตัวเอง นำเสนอชุมชนของตัวเอง เขาก็ทำได้ดี”

เผือกเป็นคนที่เป็นผู้ใหญ่ จริงจังกับงานที่ได้รับมอบหมายมาก ติดตามงาน ติดต่อเพื่อน ๆ มีความรับผิดชอบเขาทุ่มเทนะเป็นคนมีพัฒนาศักยภาพเยอะมาก”

มลเป็นเด็กเรียบร้อย จะพูดแบบเสียงเบา ๆ หวาน ๆ แต่เวลาขึ้นเวทีให้นำเสนออะไรเขาทำได้ กล้าแสดงออก เรียนรู้เรื่องของการพิมพ์งานเอกสาร เพราะเป็นเลขาจึงต้องจดบันทึก สามารถเขียนภาษาวิชาการได้ดี”

ใบตอง เป็นเด็กเก็บตัว ไม่เที่ยว ชอบอ่านหนังสือ พอมาทำกิจกรรมก็ได้เรียนรู้วิธีการเข้ากับเพื่อน ได้เรียนรู้การเคารพความคิดเห็นของผู้อื่น เหล่านี้เราคิดว่าเขาได้จากการทำงาน การเข้าสังคม การเรียนรู้เรื่องสื่อผ่านการทำงานกันเป็นทีม เรื่องความสามัคคี เรื่องการจัดการกับอารมณ์ตัวเอง รับผิดชอบต่อบทบาทหน้าที่”