นันทกานต์ นันสาย
แกนนำเยาวชนอนุรักษ์ภูมิปัญญาสมุนไพร จ.ลำพูน
ตำแหน่งที่ได้รับในโครงการต่างๆ
ประวัติและผลงาน

เยาวชนเด่น โครงการสืบสานภูมิปัญญาพื้นบ้านสมุนไพรปกาเกอะญอ

ตำบลตะเคียนปม อำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน

ชื่อเรื่อง ตัว "กานต์" สืบสานสมุนไพรปกากญอ



พืชสมุนไพรเป็นผลผลิตจากธรรมชาติ ที่มนุษย์นำมาใช้เป็นประโยชน์รักษาโรคภัยมาตั้งแต่โบราณ สมุนไพรสามารถรักษาโรคบางชนิดได้โดยไม่ต้องใช้ยาแผนปัจจุบัน เป็นยาบำรุงรักษาให้สุขภาพแข็งแรง ลดค่าใช้จ่าย หาได้ง่ายในท้องถิ่น เพราะส่วนใหญ่มักเป็นพืชที่ขึ้นอยู่ทั่วไปในชุมชน แต่ด้วยวิวัฒนาการโลกเปลี่ยนไป ภูมิปัญญาชาวบ้านถูกมองข้ามและหลงลืมบางชั่วขณะ หมู่บ้านไม้สลี หมู่ 5 ตำบลตะเคียนปม อำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน ก็เช่นกัน หากไม่ได้กลุ่มเยาวชน โครงการสืบสานภูมิปัญญาสมุนไพรพื้นบ้านปกาเกอะญอ มาช่วยอนุรักษ์สูตรตำหรับยาสมุนไพรปราชญ์ชาวบ้าน ไม่แน่ว่าคุณค่าของสมุนไพรพื้นบ้านปกาเกอะญออาจสูญหายตามกาลเวลา


ประวัติ “กานต์”

กานต์ - นันทกานต์ นันสาย เด็กสาววัย 17 ปี ที่มีนิสัยส่วนตัวค่อนข้างเงียบ เก็บตัว โลกส่วนตัวสูง เธอเป็นเด็กเรียนเก่ง เรียกว่าอยู่แถวหน้าของชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนทุ่งหัวช้างพิทยาคม นอกจากการเรียนในห้องเรียนแล้ว กานยังอาสามาเป็นแกนนำเยาวชน ชักชวนเพื่อน ๆ ในหมู่บ้านไม้สลี มาร่วมศึกษาสมุนไพรพื้นบ้านของชุมชนเพื่อสืบสานภูมิปัญญาสมุนไพรพื้นบ้านปกาเกอะญอ

หนูชอบทำงานจิตอาสาให้วัดและชุมชน เคยไปถอนหญ้า กวาดใบไม้ เก็บขยะ เลยสนใจอยากทำโครงการต่อเนื่อง ตอนที่คุยกันในกลุ่มผลสรุปออกมาว่าอยากทำโครงการเกี่ยวกับสมุนไพร เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว คนในหมู่บ้านคนเฒ่าคนแก่ส่วนใหญ่ต้มสมุนไพรดื่มกันอยู่แล้ว แต่เด็กรุ่นใหม่ไม่ค่อยรู้จัก”

กานต์เล่าว่าเมื่อชาวบ้านเจ็บไข้ได้ป่วยด้วยโรคที่ไม่ร้ายแรงเช่น เป็นไข้ เป็นหวัด เวียนหัว ท้องอืด มักเก็บหาสมุนไพรใกล้บ้านมาต้มทานเป็นยา พ่อแม่มักนำสมุนไพรมาต้มให้ลูกๆ กินแล้วหาย แต่เด็กๆ ก็ไม่เคยสนใจและไม่รู้ว่าตัวยาใช้พืชสมุนไพรชนิดใดบ้าง แม้ว่าในปัจจุบันยังมีการใช้สมุนไพรเพื่อรักษาโรคอยู่ในหมู่บ้าน แต่ก็น้อยลงจากเดิม

“รุ่นหนูยังเห็นอยู่ แม่ยังต้มดื่มทุกเช้าเลย แต่ถ้าหลังจากรุ่นหนูไป เด็กๆ ไม่ค่อยเห็นไม่ค่อยสนใจแล้ว เลยอยากให้น้องๆ ได้รู้จักประโยชน์ของสมุนไพร กลัวภูมิปัญญาตรงนี้สูญหายไป ถ้าเปรียบเทียบรุ่นพ่อแม่รู้จักสมุนไพรประมาณ 60% รุ่นหนูประมาณ 40% ส่วนรุ่นน้องถัดจากหนูแค่ 20% เพราะส่วนใหญ่ก็ออกไปเรียนข้างนอกชุมชน ยิ่งเด็กยิ่งไม่สนใจ ตอนนี้มีอินเทอร์เน็ต มีเกม เด็กๆ จะอยู่กับการเล่นเกม เล่นยูทูป มากกว่าที่จะมาสนใจอะไรแบบนี้”

โรงพยาบาลประจำอำเภอตั้งอยู่ห่างจากหมู่บ้านไม่ไกลนักใช้เวลาเดินทางราว 15-20นาที กานต์ บอกว่า คนเฒ่าคนแก่ในชุมชนก็ยังนิยมรักษอาการป่วยไข้าควบคู่กับสมุนไพรท้องถิ่น หรือหาหมอตำแย และปรึกษาปราชญ์ชาวบ้านควบคู่กันไปด้วย

“รุ่นพ่อแม่หนูเวลาเจ็บป่วยก็ไปโรงพยาบาล กินทั้งยาแผนปัจจุบันและยาต้มสมุนไพร สมุนไพรเย็นเรียกว่า ยาแก้ เป็นยาที่หนูเคยเห็นตั้งแต่เด็ก ๆ แก้อาการ เป็นไข้ วิงเวียน ปวดท้อง เมื่อกินแล้วช่วยให้หายเร็วขึ้น แต่ว่ามีอาการข้างเคียงคือ ต้องอ้วกออกก่อน ยาแก้ คือสูตรเด็ดที่สุดแล้วในหมู่บ้านนี้ แต่ตัวเราเองก็ไม่รู้ว่ามีสมุนไพรตัวไหนบ้าง ก็เลยต้องทำโครงการเพื่อศึกษา”


กระบวน “กานต์”

หมู่บ้านไม้สลี เป็นหมู่บ้านกระเหรี่ยงพื้นบ้านปกาเกอะญอ ที่ยังคงวิถีชีวิต คงเหลือความเป็นเอกลักษณ์ เช่น ภาษากระเหรี่ยงโปว์ (โพล่ง) การแต่งตัวกระเหรี่ยงในวาระสำคัญ เช่น วัดทำบุญ การทำพิธีกรรมการเลี้ยงผีในบ้าน ป่าชุมชนของหมู่บ้านยังอุดมไปด้วยพืชสมุนไพรรักษาโรค กลุ่มเยาวชนจึงรวมตัวกัน โดยมีแกนนำ 5 คน ทำหน้าที่ระดมสมอง ผสานปราชญ์ชุมชน เพื่อดำเนินโครงการให้บรรลุเป้าหมาย

เริ่มแรกพี่เลี้ยงโครงการและเยาวชนจัดตั้งกลุ่มเยาวชน แล้วชี้แจงผู้นำชุมชนและคนในชุมชนให้ทราบถึงที่มาของโครงการ จากนั้นวางแผนการดำเนินโครงการ แบ่งบทบาทหน้าที่ ออกแบบกิจกรรมและสื่อ ลงพื้นที่สืบค้นข้อมูลสมุนไพรจากปราชญ์ชาวบ้าน เดินสำรวจสมุนไพรในชุมชน บันทึกและรวบรวมข้อมูล และจัดทำคู่มือสมุนไพร จัดแหล่งเรียนรู้ให้เยาวชนในชุมชน ท้ายที่สุดกลุ่มเยาวชนได้จัดเวทีคืนข้อมูลสู่ชุมชน นำกิจกรรมนันทนาการมาผสมผสานเพื่อความสนุกสานา เป็นการสร้างพื้นที่เรียนรู้ให้เด็กและเยาวชน รวมถึงผู้ใหญ่ในชุมชนตระหนักถึงคุณค่าของสมุนไพรท้องถิ่นและองค์ความรู้ของปราชญ์ชุมชน

“เรามีการวางแผนกันว่ากิจกรรมที่ 1 ควรทำอะไร 2 ทำอะไร อยากให้น้อง ๆ ในหมู่บ้านมาสักกี่คน และไปบ้านนักปราชญ์คนไหนบ้าง ควรทำสื่ออะไร ประชาสัมพันธ์รูปแบบไหน แบ่งบทบาทหน้าที่กันแล้วดำเนินการ ถามผู้รู้ 1 คน เก็บภาพลงพื้นที่ 1 คน แล้วก็บันทึกข้อมูลอีก 1 คน” กานต์ เล่าถึงแผนการเก็บข้อมูลในแต่ละครั้ง

กานต์ รับหน้าที่สื่อและประชาสัมพันธ์ ทั้งที่ไม่เคยทำงานด้านนี้มาก่อนแต่เพราะความสนใจ จึงเสนอตนเองรับหน้าที่นี้

“เสนอตัวไปเองว่าจะทำฝ่ายสื่อ แต่ไม่เคยทำด้านสื่อมาก่อนเลย ฝ่ายสื่อมีหน้าที่ไปเก็บรูป เก็บเสียงจากการสัมภาษณ์นักปราชญ์ ถ่ายวิดีโอขั้นตอนการทำสมุนไพรที่นักปราชญ์ได้สาธิต ที่อาสาเพราะอยากลองอะไรใหม่ๆ”

กานต์ เรียนรู้จากการลองทำเอง จากการลงมือทำแต่ละครั้ง ผนวกกับความรู้จากการอบรมของทีมเครือข่ายส่วนกลางโครงการฯ เทคนิคการผลิตสื่อ โปรแกรมการตัดต่อ เสียง และภาพ ความรู้ต่างๆ สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการผลิตสื่อของโครงการได้อย่างดี

“หนูได้รู้จักกับแอปตัดต่อ ได้ฝึกมุมกล้องว่าถ่ายรูปยังไงให้สวย รู้วิธีเก็บเสียงยังไงถึงจะชัด ถ่ายวิดีโอยังไงให้ไม่ย้อนแสง เทคนิค คือ กล้องโทรศัพท์จะไม่ชัดเท่ากล้องดิจิตอล เราต้องเลือกมุม ปรับแสงตรงกล้องให้ไม่ย้อนแสง ถ้าเป็นแสงตอนเช้า เราต้องย้อนแสงให้พระอาทิตย์ แสงมันจะได้เข้าทางด้านนักปราชญ์ ส่วนถ้าอัดเสียงไม่ต้องใกล้กับนักปราชญ์มาก และไม่ไกลนักปราชญ์เกินไป ถ้าใกล้มากเสียงนักปราชญ์จะทุ้มและถ้าไกลมากเสียงก็จะเบา เวลาเอาไปใส่วิดีโอทำให้ฟังไม่รู้เรื่อง รู้จักโปรแกรม Photo Banner และวิธีถ่ายหนังสั้น รวมทั้งการแก้ไขปัญหาหากภาพวิดีโอสูญหาย มีพี่ลี่ (รุ่นพี่ในโครงการเดิม) ปิดเทอมพอดี หนูก็เลยให้พี่ลี่ช่วย เสียงตรงนี้ควรปรับอีกนะ ภาพตรงนี้ควรแก้ตรงไหน แล้วชื่อควรเอาไว้ตรงไหนพี่เขาสอน”

ผลงานวิดีโอชิ้นแรกของกานต์ คือ การนำเสนอโครงการฯ โดยคิดและวางแผนเรียบเรียงลำดับขั้น บันทึกเสียง และถ่ายภาพเอง ทุกขั้นตอน ด้วยโปรแกรม Vegas

“วิดีโอตัวแรก ทำเรื่องจุดเริ่มต้นโครงการ แนะนำสมาชิกในโครงการ ขั้นตอนการดำเนินงาน เยาวชนแต่ละคนได้ประสบการณ์อะไรบ้าง โดยเริ่มจากให้เพื่อนมาพูดลงเสียงบรรยาย และมีรูปภาพตอนทำงานประกอบด้วย”

การลงพื้นที่แต่ละครั้งกานต้องทำหน้าที่อัดคลิปวิดีโอ ถ่ายภาพ และจดจำรายละเอียดเ พื่อนำข้อมูลมาประกอบการทำคู่มือสมุนไพรพื้นบ้าน ประเด็นคำถามจะถูกคิดไว้ก่อนสัมภาษณ์ปราชญ์ชุมชนเสมอ โดยมีปราชญ์ผู้พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้กว่า 8 ท่าน อาทิ อาจารย์โน อาจารย์เบียร์ และป้าสุข เป็นต้น ทำให้เยาวชนและผู้เฒ่าในหมู่บ้านรู้จักกันมากยิ่งขึ้น

“เวลาลงพื้นที่เราจะคิดคำถามไว้ก่อน เช่น ถามว่าสมุนไพรอะไรบ้างที่ยังอยู่ อะไรบ้างที่เริ่มหายไปแล้ว แล้วสมุนไพรมีชื่อว่าอะไร วิธีการใช้เป็นอย่างไร คนสมัยก่อนมีค่านิยมยังไง พวกเราได้รู้ชื่อสมุนไพรเพิ่ม จากที่เราเห็นตามถนนเราคิดว่ามันคือหญ้าธรรมดา แต่ความจริงมันคือสมุนไพรชนิดหนึ่ง แล้วเราได้รู้จักกับนักปราชญ์ในหมู่บ้านมากขึ้น เพราะปกติเดินเจอกันก็ยิ้มให้กันบ้าง แต่พอได้ไปบ้านเขาบ่อย ๆ ก็จะเริ่มสนิทกันมากขึ้น”

สื่อวิดีโอที่ผลิต ถูกเปิดให้เยาวชนรุ่นใหม่และชาวบ้านรับชม นอกจากนี้กานต์และสมาชิกกลุ่มยังจัดทำคู่มือสมุนไพร รวบรวม รูปภาพสมุนไพร สรรพคุณต่าง ๆ ไว้เป็นแหล่งเรียนรู้แก่เยาวชนและชาวบ้านเกิดฐานการเรียนรู้ภูมิปัญญาสมุนไพรพื้นบ้าน ทำให้เยาวชนและชาวบ้านมีความสนใจในการใช้สมุนไพรพื้นบ้านมากขึ้น

“เสียงตอบรับจากชุมชน นักปราชญ์บอกว่าดีแล้วที่พวกหนูมาสืบสานต่อ ถ้าเกิดเขาไม่อยู่ ตำหรับยาสมุนไพร จะมีเป็นคู่มือเอาไว้ให้คนรุ่นหลังไว้ให้รู้ว่าในหมู่บ้านของพวกเรามีสมุนไพรอะไรบ้าง แล้วถ้าคนนอกเขามีความสนใจก็ได้เข้ามาอ่าน ถ้าเราไม่ทำก็ไม่มีใครสืบทอดต่อ จะได้มีเยาวชนรู้เพิ่มอีกว่าหมู่บ้านของเรามีอะไรดี มีเยาวชนสืบทอดเรื่องสมุนไพรภูมิปัญญาสมุนไพร”

กานต์ ยกตัวอย่างพืชสมุนไพรในชุมชนที่แต่เดิมเคยคิดว่าเป็นวัชพืชที่ไร้ประโยชน์ เช่น

“รางเย็น สีจะออกสีส้มๆ รสชาติออกหวานๆ ช่วยบำรุงเลือด ทำให้เลือดลมไหลเวียนดี ปกติใช้ต้มทุกเช้า”

“นางปะเป หนูไม่รู้ว่าภาษาไทยเรียกชื่อว่าอะไ รแต่ในหมู่บ้านเรียกว่านางปะเป ประกอบด้วยจมูกข้าวมี 3-4 อย่าง เอามาตำและนำไปโพกบนกระหม่อมของเด็ก จะช่วยให้เด็กมีภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้น กระหม่อมก็จะหนาขึ้น แม่เคยทำให้หนูตอนเด็ก ปัจจุบันก็ยังเห็น และเป็นที่นิยมทำอยู่”

ในอนาคตแกนนำวัยใสย้ำว่า จะต่อยอดให้สมุนไพรพื้นบ้านปกาเกอะญอกลายเป็นผลิตภัณฑ์ สร้างรายได้แก่ชุมชนและพัฒนาพื้นที่ในหมู่บ้านเป็นแหล่งเรียนรู้สมุนไพรประจำอำเภอ ชาวบ้านจะได้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น

“อนาคตหนูอยากทำเป็นผลิตภัณฑ์แล้วก็หารายได้เข้าชุมชน ให้คนในหมู่บ้านคนสูงอายุมาร่วมทำกิจกรรม แบ่งปันเป็นรายได้ให้เขา ยกตัวอย่างเช่น สเปรย์นวด เพราะคนในหมู่บ้านไม่ใช่แค่ผู้สูงอายุ รวมถึงตัวเองชอบปวดหลัง ปวดเท้า ปวดขาปวดแขน หมู่บ้านเราจะเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องสมุนไพร และคนหมู่บ้านก็จะมีรายได้ในส่วนนี้”


เรียนรู้ปัญหาเพื่อ “กานต์” เปลี่ยนแปลง

การดำเนินกิจกรรมใดก็ตาม แน่นอนว่ากว่าจะบรรลุผลสำเร็จได้ ต้องเผชิญกับปัญหานับครั้งไม่ถ้วน กาน ในฐานะผู้นำกลุ่มโครงการ สืบสานภูมิปัญญาสมุนไพรพื้นบ้านปกาเกอะญอ ได้พบเจอปัญหาทั้งภายในและภายนอกตนเอง แต่ก็สามารถผ่านมาได้เพราะ “กานต์” เรียนรู้ ผลลัพธ์ทำให้ “กานต์” เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

อุปสรรคภายในตนเอง ส่วนใหญ่มักเป็นความเชื่อมั่นในตัวเองและคาดหวังกับคนอื่นสูงเกินไป จนอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานกลุ่ม

“เมื่อก่อนเป็นคนใจร้อน บางเวลาก็ใจเย็นมาก ชอบทำอะไรสวนกับคนอื่นตลอดเวลา เป็นคนค่อนข้างมีโลกส่วนตัว พูดไม่ค่อยรู้เรื่องและเรียบเรียงประโยคไม่ค่อยเป็น เป็นคนค่อนข้างที่เจ้าระเบียบ ตรงต่อเวลา งานต้องเรียบร้อยและเสร็จก่อนกำหนด 1-2 วัน แต่ตอนนี้รู้สึกใจเย็นลงพูดจากับคนอื่นรู้เรื่องขึ้น เป็นเพราะเราฝึกฝน ฝึกสัมภาษณ์ ฝึกเข้าสังคมกับคนในชุมชน ฝึกให้ตัวเองเย็น ยืดหยุ่นเข้าใจคนอื่นมากขึ้น”

“ปกติกานต์เป็นคนคาดหวังสูง มีมาตรฐานการทำงานสูง แก้ไขด้วยการทำความเข้าใจว่าธรรมชาติของแต่ละคนมันไม่เหมือนกัน เราต้องใจเย็นๆ นึกถึงใจเขาใจเรา ช่วงแรกที่ทำงาน ความคิดหนูไม่ค่อยเหมือนเพื่อนในกลุ่มสักเท่าไหร่ เพราะเชื่อมั่นตัวเองสูงไป บางคนแค่นี้เขาว่าดีแล้ว แต่สำหรับเรามันยังไม่ดีหรือแค่ปานกลาง เลยต้องฟังคนอื่นให้มากขึ้น การคาดหวังมากเกินไปทำให้เสียใจมาก ๆ ลดความคาดหวังลง หาสมดุลระหว่างกลุ่มทำให้งานสำเร็จเร็วขึ้น”

อุปสรรคที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่เป็นปัญหาเฉพาะตนเท่านั้น ยังมีอุปสรรคภายนอกเป็นบริบทที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น ความซับซ้อนเชิงเทคนิคของโปรแกรมที่ทำให้งานวิดีโอเกิดความเสียหาย

“เราลบไฟล์วิดีโอนั้นไปแล้ว ทำอะไรไม่ได้นอกจากทำใหม่ และรอบคอบให้มากกว่าเดิม อย่าเพิ่งลบข้อมูล ถ้ายังไม่ได้ส่งงาน เรียนรู้ให้เข้าใจก่อนที่จะทำงานแต่ละอย่าง” กานต์ อธิบายต่อว่า

“ปัญหาด้านการใช้ภาษากับปราชญ์ชุมชน เพราะผู้เฒ่าสื่อสารเป็นภาษาปกาเกอะญอ ซึ่งหนูฟังรู้เรื่องและพูดได้บ้างแต่ศัพท์เฉพาะบางคำไม่ค่อยรู้ ผู้เฒ่าเขาจะไม่รู้ภาษาเหนือกับภาษาไทยกลางเรา แก้ไขโดยต้องจดเป็นภาษากลาง แล้วก็เอามาถามพี่เลี้ยงอีกทีว่ามันเรียกว่าอะไร และเราเองก็ได้เรียนรู้ภาษาพื้นถิ่นภาษาปกาเกอะญอเพิ่มมากขึ้นด้วย”

นอกจากนี้ยังมีปัญหาการเปลี่ยนผ่านในช่วงระดับชั้นเรียนของสมาชิกกลุ่ม เมื่อรุ่นพี่ในกลุ่มจำเป็นต้องไปเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา กานจึงรับหน้าที่เพิ่มคือทำบัญชีโครงการ ซึ่งยอมรับว่ายากมาก เพราะต้องกรอกตัวเลขให้ตรงกับที่ประธานโครงการได้วางแผนไว้ตั้งแต่แรก

“หนูไม่เข้าใจเรื่องบัญชีการเงิน จึงได้ฝึกการใช้โปรแกรม Excel ทำให้ได้เปิดโลกทัศน์ สามารถใช้โปแกรมได้คล่องขึ้น”

กานต์ ย้ำว่าแม้เธอจะทำงานเต็มที่แล้ว แต่ยังมีข้อผิดพลาดอยู่ในเรื่องของการจัดการไฟล์วิดีโอ ซึ่งถือเป็นงานหลักของเธอ ความผิดพลาดดังกล่าวทำให้เธอรู้สึกว่างานยังไม่ค่อยสมบูรณ์

“ครั้งแรก ใคร ๆ ก็ผิดกันได้ ถ้าเกิดว่าเรามีเวลาก็ตั้งใจกับมันมากพอ มันอาจจะผิดบ้างแต่อาจจะน้อยลง แต่สิ่งที่ได้มาเป็นประสบการณ์การที่เราได้ทำอะไรใหม่ ๆ หนูว่ามันดีที่ได้ลองทำ จุดแข็งของเราคือความพยายามในการพัฒนาตัวเอง แล้วกล้าที่จะลองทำอะไรใหม่ๆ แบบท้าทายตัวเอง แล้วก็ผ่านมาได้ ถือว่าพอใจแล้วค่ะ”

สิ่งที่กานต์สังเกตตัวเองอย่างเห็นได้ชัดคือ ความเชื่อมั่นในตนเอง มีพลังงานในตัวเองเพิ่มมากขึ้น รู้สึกอยากทำงานเพื่อคนอื่นตลอด ประสบการณ์จากการทำโครงการทำให้เธออยากเรียนต่อยอดด้านเภสัชกรรม ส่วนความรู้และทักษะต่างๆ ที่ได้รับจากการทำโครงการ ก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการเรียนและชีวิตประจำวันได้

“เวลาเห็นคนอื่นทำจิตอาสา ถ้าหนูไม่ได้ทำจะรู้สึกแย่ และโดดเข้าไปทำในที่สุด หนูชอบทำกิจกรรมมาก ๆ พอหลังจากทำกิจกรรมนี้แล้วหนูรู้สึกว่าอยากเรียนเภสัช หรือไม่ก็ไปทางวิศวกร หนูรู้สึกว่า 2 สาขานี้ หนูทำได้ แล้วน่าจะเป็นประโยชน์กับคนอื่นในอนาคต

หนูได้นำทักษะการตัดต่อวิดีโอ และทักษะการจดบันทึกรวบรวมข้อมูลไปปรับใช้ในการเรียน ตอนสอบในแต่ละครั้ง เวลาเราได้ข้อมูลมา เราก็จะเอามาเรียบเรียงใหม่ตามความเข้าใจของเรา ทำโน้ตใช้อ่านเวลาสอบ พอเวลาใกล้สอบเราจะได้ไม่ต้องเครียดมาก ทำให้เราเข้าใจในเนื้อหามากขึ้น”

แม้พบเจออุปสรรคอยู่ไม่น้อย แต่กานต์และเพื่อนๆ ก็ได้จัดทำ คู่มือสมุนไพรพื้นบ้านปกาเกอะญอ จนสำเร็จ นอกจากนี้ยังมีวิดีโอไว้สำหรับเผยแพร่โครงการแก่เยาวชนรุ่นใหม่ ต่อยอดสมุนไพรพื้นถิ่นเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน โครงการนี้จึงถือเป็นการอนุรักษ์มรดกวิถีชีวิตชาวปกาเกอะญอ สนับสนุนให้ชาวบ้านยังคงรักษาและนำพืชสมุนไพรในท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ตามแบบแผนโบราณ ทำให้เยาวชนเกิดความภูมิใจในวัฒนธรรมและเห็นคุณค่าของท้องถิ่น และชุมชนของตนเองเพิ่มมากขึ้น

+++++++++++++

ปราชญ์ชาวบ้าน

1) นายนู เมืองฮุ้ง เชี่ยวชาญด้านอบสมุนไพรและต้มสมุนไพร

2) นางดอก มาสา เชี่ยวชาญด้านการทำคลอด (หมอตำแย)

3) นายกัง ใจทอง เชี่ยวชาญด้านสมุนไพรงูสวัด

4) นายเสาร์ ใหมแก้ว เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการพอกสมุนไพรและการเป่าด้วยคาถา

5) นายแก้ว บงจรรย์ เชี่ยวชาญสมุนไพรด้านการเจ็บปวดตามร่างกายและการเป่าด้วยคาถา

6) นายเสาร์ ติ้บแดง เชี่ยวชาญสมุนไพรด้านระบบทางเดินปัสสวะและการเป่าด้วยคาถา

7) นายแก้ว ปันนู เชี่ยวชาญสมุนไพรด้านฝี หนอง คางทูม

8) นางสาวคำ กุมา เชี่ยวชาญสมุนไพรการบาดเจ็บของสัตว์