การเรียนรู้ที่ไม่จำเป็นต้องจำ และไม่ได้ทำอย่างจำเจ ของทิว - ธนพนธ์ อินทรเสม
“ผมดูยูทูป ติดตามคนที่เป็นสายเกมเมอร์ ดูแล้วก็อยากเป็นแบบเขา ผมมีเพื่อนคนหนึ่งที่ทำเหมือนกัน เลยให้เขาสอน ลองทำ แล้วผมก็ทำเองมาเรื่อย ๆ ศึกษาเองด้วย”
เด็กติดเกม อาจเป็นปัญหาน่ากังวลใจอย่างหนึ่งสำหรับพ่อแม่ ผู้ปกครอง ด้วยความรู้สึกและคำถามที่มีอยู่ลึกๆ ในใจว่า เล่นเกมแล้วได้อะไร?
“เกม” โดยเฉพาะปัจจุบันที่พัฒนาขึ้นเป็น “เกมออนไลน์” กลับกลายเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ วิวัฒนาการของเกมที่เป็นอยู่นี้ ทำให้ “เด็กติดเกม” กลายเป็น “เกมเมอร์” (Gammer) หรือ “นักเล่นเกม” ที่นอกจากเล่นเกมเพื่อความมันและความสนุกสนานแล้ว ยังได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์
เรื่องนี้น่าจะไม่ใช่เรื่องคุ้นเคยของผู้ใหญ่ แต่เกมกลายเป็นแรงบันดาลใจและเป็นเส้นทางตามความฝันของเด็กและเยาวชนหลายๆ คน ขณะที่วงการอีสปอร์ต (E-Sport) กลายเป็นสนามแข่งขันทัวร์นาเมนต์ใหญ่ที่มีผู้เข้าแข่งขันระดับนานาชาติเข้าร่วม
ต้องบอกก่อนว่าเรื่องราวที่จะนำเสนอต่อไปนี้ ไม่ได้เกี่ยวข้องการเป็นสตรีมเมอร์ แต่เพราะความสนใจเรื่องเกม ทำให้ ทิว - ธนพนธ์ อินทรเสม เปิดรับการเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง จากเด็กหนุ่มที่ใช้ชีวิตธรรมดาๆ ในแต่ละวัน เขาได้นำความรู้และทักษะที่เคยได้ฝึกฝนผ่านเกมออนไลน์ มาช่วยผลิตสื่อสร้างสรรค์ ในโครงการ “ผักมีวิตามิน ไม่ต้องกินของแพง” ในนามกลุ่มเยาวชนนครเจดีย์ ตำบลนครเจดีย์ อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน โครงการที่ตั้งใจให้คนในชุมชนได้กินผักปลอดสารพิษ และไม่ต้องกังวลเรื่องยาฆ่าแมลงหรือสารตกค้างที่ปนเปื้อนอยู่ในผัก
“ถ้าหน้าที่เกี่ยวกับแปลงผัก ผมเป็นฟรีแลนซ์ ให้ทำอะไรก็ทำ แต่ถ้าตอนอบรม ไปประชุมหรือว่ามีงานอะไรเข้ามา ผมจะเป็นทีมสื่อ ทำคลิปตัดต่อ นำเสนอโครงการ” ทิว เล่าถึงบทบาทของตัวเอง
โครงการผักมีวิตามิน ไม่ต้องกินของแพง ไม่ใช่โครงการแรกที่ทิวกับทีมนักเล่นเกม ได้ลงมือทำงานร่วมกัน ก่อนหน้านี้พวกเขาได้ริเริ่ม “โครงการขยะเยอะ แยกแยะนะจ๊ะ” มาก่อน ครั้งนั้นพวกเขาลงพื้นที่ตลาดนัดวันอังคารของชุมชน ได้แจกใบความรู้ให้กับพ่อค้าแม่ค้าและผู้ที่มาเที่ยวตลาดนัดเกี่ยวกับเรื่องการจัดการขยะ นำถังขยะแยกประเภทมาวางตามจุดต่าง ๆ ในหมู่บ้าน ซึ่งได้การตอบรับเป็นอย่างดี ผลที่เกิดขึ้น คือ ขยะในตลาดลดลงและมีการจัดการแยกขยะอย่างถูกวิธี
“เริ่มแรกผมไม่เข้าใจเลยว่าทำโครงการต้องทำอะไรบ้าง คิดว่าเป็นโครงการเล็กๆ ระดับหมู่บ้าน ผ่านมาได้สักครึ่งทาง มีการจัดกิจกรรมรวมกลุ่มเครือข่ายเยาวชนเป็นโซน มีหมู่บ้านอื่นๆ มาร่วมด้วย ผมเลยได้รู้ว่าโครงการที่ทำอยู่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่ทำทั้งจังหวัด พัฒนาหมู่บ้านและพัฒนาศักยภาพของเยาวชนในจังหวัดลำพูน” ทิว กล่าว
กิจวัตรประจำของทิวไปต่างจากเด็กหนุ่มทั่วไป วันปกติตื่นเช้ามาไปเรียน กลับมาทำงานบ้าน ทำการบ้าน เล่นเกม (บ้านบอล - ศุภโชค ธัญศิริ ประธานโครงการ) กลับบ้านนอน ส่วนวันหยุดมีออกไปเที่ยวเล่นกับเพื่อนๆ บ้างตามประสาวัยรุ่น ช่วยงานบ้าน ล้างจาน กวาดถูบ้าน แล้วก็ไปเล่นเกมบ้านบอล กลับบ้านนอก บ้านของบอลเป็นพื้นที่ที่ทิวและเพื่อนๆ อีกหลายคนไปรวมกลุ่มเล่นเกมด้วยกัน พวกเขาปฏิเสธคำว่า “มั่วสุม” เพราะไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับแอลกอฮอล์หรือยาเสพติด แต่เพราะเล่นเกมด้วยกัน สถานที่เดียวกัน ตะโกนเสียงดังๆ มันสนุกกว่าเล่นเกมคนเดียว
“ปกติเรามารวมกลุ่มเล่นเกมบ้านพี่บอล ผู้ใหญ่บางคนก็บอกว่ามาสุมหัวกัน พอเราทำเรื่องโครงการพัฒนาหมู่บ้าน เขาก็ไม่สนอยู่ดี บางครั้งผมก็รู้สึกแย่ ทำให้เห็นแล้ว แต่เขาก็ไม่สน ก็ปล่อยไปเลย ไม่เป็นไร รอเวลาที่เขาเห็นจริง ๆ แล้วเขาอาจจะเข้าหาเราเอง”
เหตุเกิดจากตลาดสู่แปลงผักอุดมวิตามิน
คลิปวิดีโอ “โครงการผักมีวิตามิน ไม่ต้องกินของแพง” ความยาวประมาณ 9 นาที เป็นผลงานของกลุ่มเยาวชนนครเจดีย์ บอกเล่าบริบทของชุมชนและนำเสนอขั้นตอนการทำกิจกรรมตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ
อาชีพหลักของคนตำบลนครเจดีย์ อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ส่วนใหญ่ทำสวนทำไร่ โดยเฉพาะสวนลำไย นอกจากนี้ยังตอนกิ่งและเพาะชำกิ่งลำไยเป็นอาชีพเสริม ตลาดนัดวันอังคารพื้นที่ที่กลุ่มเยาวชนได้ปฏิบัติการจัดการแยกขยะเมื่อปีก่อน เป็นแหล่งชอปปิงจับจ่ายของกินของคนในพื้นที่
“บางทีคนในหมู่บ้านไปซื้อผักจากตลาด ไม่รู้ที่มาที่ไป บางเจ้าอาจขายผักมีสารพิษ ใช้ยาฆ่าแมลง และเป็นอันตราย เลยอยากทำโครงการให้คนในหมู่บ้านได้กินผักที่ปลอดสารพิษ เพื่อสุขภาพที่ดีและแข็งแรง” ทิว เล่าถึงสิ่งที่พวกเขาสังเกตเห็นในชุมชน
พื้นที่ปลูกผักของกลุ่มเยาวชนเป็นที่ดินของพี่เลี้ยงโครงการ (พี่ไก่ - นพดล เพียรพิชัย) ทิวและเพื่อนๆ ลงมือจัดการพื้นที่ ตัดฟันดงกล้วยที่มีอยู่เดิม เก็บเศษไม้ออกจากแปลง จ้างรถไถมาปรับหน้าดิน ตัดวางโครงสร้างเหล็กเพื่อฝังแนวเสาและขึงตาข่ายกันแดดคลุมแปลงปลูก ติดตั้งระบบน้ำ ในช่วงเริ่มต้นมีผู้รู้ด้านการเกษตรในชุมชนมาให้ความรู้และช่วยขุดแปลง หลังจากนั้นเป็นหน้าที่ของกลุ่มเยาวชนเข้ามาดูแลรดน้ำแปลงปลูก
ขุดแปลง พรวนดิน โรยขี้ไก่ โรยเมล็ด เอาฟางมากลบ แล้วก็รดน้ำ เป็นขั้นตอนที่ทุกคนทำเหมือนกัน แต่จนแล้วจนรอดก็เกิดเรื่องที่ไม่คาดคิดขึ้นจนได้
“ตามขั้นตอนต้องขุดดินขึ้นเป็นแปลงก่อน พี่ไก่ให้ใส่ขี้ไก่ลงในแปลง ไม่ต้องใส่เยอะ แต่ผมใส่ไปเยอะมากเลย แล้วเอาเมล็ดผักกาดมาโรย ผมปลูกพร้อมกับคนอื่น แต่ของคนอื่นขึ้นหมดแล้ว ของผมไม่ขึ้นเลยสักต้นเดียวมีแต่ต้นหญ้า ผมก็ไปถามคนอื่นว่าทำไมของผมไม่ขึ้น ปริมาณขี้ไก่ที่เขาใส่กันต้องใส่ประมาณไหน เขาก็บอกว่าใส่นิดเดียว ปุ้งกี๋เดียวต่อแปลง แต่ผมใส่เยอะประมาณ 3 ปุ้งกี๋อยู่คนเดียว รอบที่สองผมลงแปลงปลูกใหม่ ปลูกผักกาดเหมือนเดิม แต่รอบนี้ผมใส่ขี้ไก่นิดเดียว ก็ได้ผลผลิตออกมา” ทิว เล่าอย่างขบขัน
ทิว บอกว่า เขาใช้โปรแกรม KineMaster (ไคน์มาสเตอร์) ตัดต่อคลิปผ่านมือถือ เป็นแอพพลิเคชันที่ใช้งานง่าย สามารถนำเพลงและรูปภาพ เข้ามาผสมอยู่ในอยู่วิดีโอ แทรกเสียงบรรยาย คำประกอบภาพ และมีลูกเล่นต่างๆ ที่ทำให้การนำเสนอน่าสนใจและดูเป็นมืออาชีพ
“ผมพอมีพื้นฐานจากตอนที่ได้ศึกษาการตัดต่อเพื่อเล่นเกมออนไลน์ การถ่ายวิดีโอ ตัดต่อไม่ใช่เรื่องยาก หากเข้าใจหัวข้อที่ต้องทำ”
“พวกผมช่วยกันคิดในกลุ่ม ส่วนใหญ่เป็นไอเดียมาจากพี่บอล พวกผมเสนอมาทีละนิดแล้วสรุป สุดท้ายผมทำตามหัวข้อของแต่ละคน จิมกับพี่บอลเป็นคนควบคุมการผลิต เป็นโปรดิวเซอร์ บางทีผมไม่ว่าง จิมจะมาทำแทน เพราะจิมพอทำได้อยู่บ้าง” ทิว อธิบาย
คะน้า ผักกาดจ้อน ผักบุ้งและพริก เป็นผลผลิตหลักๆ จากแปลงปลูกของพวกเขา จากแผนการเดิมที่ต้องการวางแผงขายผักในตลาดนัด ไปพร้อมๆ กับการให้ความรู้เรื่องผักปลอดสาร แต่โควิด-19 ทำให้ต้องเปลี่ยนแผน เมื่อชุมชนล็อคดาวน์แต่พืชผักไม่ได้หยุดเติบโต พี่ไก่ – พี่เลี้ยงโครงการ ใช้เฟสบุ๊กเป็นช่องทางขายผักออนไลน์นำส่งถึงบ้าน
“เสียงตอบรับของชาวบ้านที่มาซื้อผักก็มีถามอยู่เรื่อย ๆ ว่าจะมีผักมาขายอีกไหม เขาอยากซื้อ บางคนก็มาซื้อถึงแปลงปลูก ส่วนพวกเราก็มีผักไว้กินกับหมูกระทะเพราะชอบกันอยู่แล้ว ไม่ต้องกังวลเรื่องสารพิษตกค้าง” ทิว กล่าว
จากเด็กหนุ่มขี้อาย เงียบๆ ไม่ค่อยพูดกับใคร สนใจเป็นสตรีมเมอร์ มารับหน้าที่เป็นฝ่ายสื่อสาร ถ่ายทำและตัดต่อวิดีโอนำเสนองานของกลุ่มเยาวชน แถมยังคิดต่อยอดอยากนำความรู้และทักษะด้านอื่นๆ มาทำประโยชน์ให้ชุมชนต่อไปในอนาคต ทุกวันนี้ทิวยังไม่หยุดฝันและยังไม่หยุดเรียนรู้
“ศักยภาพที่จะเข้ามาช่วยงานชุมชนของแต่ละคน ส่วนหนึ่งคือความมุ่งมั่นที่อยากพยายามพัฒนาหมู่บ้านของตัวเอง พัฒนาตัวเองอยู่ตลอด” ทิว กล่าวอย่างจริงจัง
“ก่อนทำโครงการตอนเย็นช่วงสี่ห้าโมง ปกติไม่ค่อยได้ทำอะไรก็มานั่งเล่นเกม เสร็จแล้วออกไปเตะบอล ช่วงที่ทำโครงการตอนเย็นๆ พวกเราก็ไปลงแปลง ดูแลแปลงผัก เสร็จแล้วก็ยังได้ออกไปเตะบอลกันต่อ” ทิว เล่าถึงการจัดสรรเวลา “ผมรู้สึกดีที่ได้พัฒนาความสามารถของตัวเอง ทักษะอะไรที่ตัวเองไม่ได้ใช้ ได้เอามาใช้มากขึ้น เช่น การตัดต่อคลิป พอทำโครงการก็ได้รื้อฟื้นขึ้นมาใช้อีก”
สำหรับเป้าหมายในอนาคต ทิวอยากนำความรู้และทักษะช่างฝีมืออิเล็กทรอนิกส์มาพัฒนาอุปกรณ์การเกษตร โดยใช้เทคโนโลยีผสมผสาน เพื่อความสะดวกและประหยัดเวลาของเกษตกร นอกจากนี้ เขายังเขียนเพลงและฝึกแรปเป็นงานอดิเรก เพื่อสะท้อนมุมมองความคิดของเขาที่มีต่อตัวเองและสังคม
“ผมเรียนอยู่สาขางานอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยี ถ้าผมโตไปเรื่อย ๆ มีความรู้ ผมอยากเอาเทคโนโลยีมาพัฒนาเรื่องเกษตร ครั้งหนึ่งผมได้ไปออกบูธสิ่งประดิษฐ์กับอาจารย์ มีเกษตรกรทำสวนลำไยใช้เครื่องรดน้ำอัตโนมัติสั่งงานจากมือถือ ถ้าทำได้ผมอยากเอามาทำในชุมชน” ทิว กล่าว
ตัวตนของเด็กหนุ่มคนนี้ ทำให้ได้เรียนรู้ว่า...การเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องจำและไม่ต้องทำอย่างจำเจ
++++++++++++++++++++
ยูทูปเบอร์ (Youtuber) คือ คนที่สร้างสรรค์คลิป นำเสนอเรื่องราวต่างๆ มาลงในช่องทางที่เรียกว่า ยูทูป เป็นช่องทางการสื่อสารที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้ โดยต้องเป็นงานที่สร้างสรรค์ขึ้นเอง ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ ไม่อนาจาร หรือไม่ใช่คลิปที่รีอัพโหลดของผู้อื่นมาลงช่องของตัวเอง
สตรีมเมอร์ (Streamer) คือ คนที่เล่นเกมเป็นอาชีพ ถ่ายทอดสดการเล่นเกมให้กับผู้ชมในโลกออนไลน์ บางคนอาจจะลงสมัคร แข่งขันเล่นเกมตามงานต่าง ๆ ใครมีเอกลักษณ์และมีบุคลิกการนำเสนอตัวเองให้เป็นที่รู้จัก ยิ่งเป็นโอกาสในการหารายได้ และได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มแฟนคลับ
นักแคสเกม คล้ายๆ สตรีมเมอร์ นักแคสเกมจะเล่นเกมให้ดูแล้วนำไปตัดต่อคลิป นำเสนอเป็นคลิปเป็นตอนให้คนได้ติดตาม การตัดต่อมีการพากย์เสียงด้วยความสนุกสนาน ตื่นเต้น หรือทำเสียงน่ากลัว เพื่อให้คนดูรู้สึกชอบและอินไปกับการเล่นเกม
อาชีพสตรีมเมอร์มีรายได้จากการเล่นเกมบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่รองรับระบบการสนับสนุนเงิน (บริจาค) ยกตัวอย่างเช่น แพลตฟอร์ม Twitch ที่ได้รับความนิยมมากทั่วโลก