ณัฐนรี สมบุญโสด
แกนนำเยาวชน Active Citizen จ.ลำพูน
ตำแหน่งที่ได้รับในโครงการต่างๆ
ประวัติและผลงาน

โครงการคีตะมวยไทยคนหนองไซหัวใจสามช่า

ชุมชนบ้านหนองไซ ตำบลป่าสัก อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

เยาวชนเด่น : นางสาวณัฐนรี สมบุญโสด (ป๊อบ)

ชื่อเรื่อง “คีตะมวยไทย” คนหนองไซหัวใจสามช่า



“มวยไทย” ถือเป็นศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวและยังเป็นกีฬาประจำชาติไทยมาหลายศตวรรษ โดดเด่นด้วยการใช้ร่างกายในการบุกประชิด โจมตีคู่ต่อสู้ เป็น "ศาสตร์แห่งอาวุธทั้ง 9" ( Art of nine Limbs ) ที่ใช้อาวุธบนร่างกายทั้งหมด 9 จุด ได้แก่ หมัด 2, ศอก 2, เข่า 2, เท้า 2 และศรีษะ 1 หรือที่เรียกว่า "นวอาวุธ" (นว แปลว่า เก้า) วิถีแห่งมวยไทยเป็นการหากลวิธีในการใช้ส่วนต่างๆ ของร่างกายให้ผสมกลมกลืนกันจนมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อใช้ต่อสู้ป้องกันตัว มีการตั้งชื่อท่าทางการต่อสู้ที่คนยุคนี้ได้ฟังแล้วคงแปลกหู เพราะเป็นการเล่นคำโบราณเทียบเคียงกับท่าทางของสัตว์ชนิดต่างๆ เช่น สลับฟันปลา ปักษาแหวกรัง จระเข้ฟาดหาง หักงวงไอยรา เป็นต้น

มวยไทยมีวิวัฒนาการมาหลายชั่วอายุคนสั่งสมวัฒนธรรม และประเพณีหลายๆ ด้าน ทั้งความเชื่อเรื่องจิตวิญญาณ คาถาอาคม ดนตรี วรรณกรรม คุณธรรม จริยธรรม เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ศิลปะมวยไทยสอดประสานเข้ากันได้กับยุคสมัย ปัจจุบันได้มีการนำมวยไทยมาสร้างเทรนด์การออกกำลังกายแบบใหม่ เรียกว่า “คีตะมวยไทย” มาจากคำว่า “คีตะ” ที่แปลว่า เพลงขับ หรือ การขับร้อง เป็นการนำท่าทางของมวยไทยที่มีท่วงท่าแข็งแรงมาประยุกต์ประกอบบทเพลง ทำให้การออกกำลังกายเป็นเรื่องสนุกมากขึ้น หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “แอโรบิกมวยไทย” ซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่คนรักสุขภาพ เพราะได้ทั้งความสนุกสนานและได้ออกกำลังกายไปในตัว

ชุมชนบ้านหนองไซ ตำบลป่าสัก อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน เป็นอีกชุมชนที่ขึ้นชื่อเรื่องกีฬามวยไทย มีนักมวยสร้างชื่อเสียงให้กับชุมชนเป็นจำนวนมากอาทิ นายบุญช่วย มาสัก ฉายาลอยแพ ลูกดอยไซ ,นายสมเดช แก้วสัก ฉายาจรัญศักดิ์ ศ.เลิศฤทธิ์, นายวิสูตร คำนาสัก ฉายาวันพิชิต ศ.เลิศฤทธิ์, นายวชิระ แก้วสัก ฉายาอำนวยเดช ศ.เลิศฟทธิ์ และนายเสถียร ปันสัก ฉายาสิงห์ดำ ศ.เลิศฤทธิ์ ในอดีตชุมชนบ้านหนองไซเคยเปิดเป็นสนามมวย เป็นพื้นที่ให้นักมวยมาทำการแข่งขันเป็นประจำทุกปีในงานสรงน้ำพระพุทธบาทดอยไซ

ป๊อบ - ณัฐนรี สมบุญโสด วัย 17 ปี เด็กสาวชุมชนบ้านหนองไซ บอกว่า เรื่องราวของมวยไทยวนเวียนอยู่ใกล้ตัวเธอมาตั้งแต่เด็ก ส่วนตัวเธอเองก็มีความหลงใหลในกีฬามวยไทยเป็นพิเศษ นี่เป็นเหตุผลให้ตัดสินใจเข้าร่วม โครงการปลุกสานึก สร้างพลัง เสริมศักยภาพ เยาวชนเมืองลำพูน ปีที่ 2 หลังจับพลัดจับผลูได้เข้ามาช่วยงานรุ่นพี่ช่วงปลายโครงการแรก

ป๊อบเล่าถึงที่มาของความฝันในวัยเด็กว่า เธอชอบมาดูนักมวยซ้อมเก็บตัวที่ค่ายใกล้บ้าน ใกล้ราว 500 เมตรขนาดที่เดินไปถึง การเตะกระสอบทรายและลีลาการวาดลวดลายของนักมวยในค่าย คือภาพจำวัยเด็ก ที่ตอนนี้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ป๊อปมุ่งมั่นตั้งใจทำโครงการเพื่อสืบทอดศิลปะการต่อสู้ในรูปแบบแม่ไม้มวยไทย ซึ่งเคยสร้างชื่อให้กับชุมชนของตนเอง การทำ โครงการคีตะมวยไทยคนหนองไซหัวใจสามช่า จึงเหมือนฝันที่เป็นจริง ที่เปิดโอกาสให้เธอได้เรียนรู้และฝึกทักษะกีฬามวยไทยอย่างจริงจังเป็นครั้งแรกในชีวิต กลุ่มแกนนำเยาวชนที่อาสาเข้ามาทำโครงการ ระดมความคิดวางแผนการทำงาน ศึกษาท่วงท่ามวยไทย และออกแบบลีลาท่าทางของมวยไทยให้เข้ากับจังหวะดนตรี เพื่อใช้ในกิจกรรมการออกกำลังกาย อีกด้านหนึ่งพวกเขามองว่าวิธีการนี้จะช่วยอนุรักษ์มวยไทยให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่และอยู่คู่ชุมชนของตนเองต่อไปได้


คีตะมวยไทยสไตส์สามช่า

จากการสำรวจ พบว่า โรคที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตมากที่สุด คือ กลุ่มโรค NCDs ซึ่งประกอบด้วย เบาหวาน (Diabetes Mellitus) โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ (Cardiovascular & Cerebrovascular Diseases) โรคถุงลมโป่งพอง (Emphysema) มะเร็ง (Cancer) ความดันโลหิตสูง (Hypertension) และ โรคอ้วนลงพุง (Obesity) เกิดจากพฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิตที่ไม่ถูกต้อง เช่น ผู้ที่มีพฤติกรรมการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ตามใจปากด้วยการรับประทานอาหาร รสหวานจัด เค็มจัด มันจัด ผสมโรงกับ ความเครียดในชีวิตประจำวัน ที่สำคัญมีแนวโน้มว่าจำนวนผู้ป่วยกลุ่มโรคนี้ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากการปรับอาหารแล้ว การออกกำลังกายและการขยับเคลื่อนไหวร่างกาย เป็นทางออกที่ช่วยแก้ปัญหานี้ได้

ป๊อบแบ่งหน้าที่กับเพื่อน ๆ ช่วยกันหาข้อมูลเกี่ยวกับประวัติมวยไทย ศิลปะกระบวนท่าแม่ไม้มวยไทย และนำข้อมูลที่ได้มารวบรวม เลือกท่าทางที่เหมาะแก่การออกกำลังกายสำหรับคนทุกเพศทุกวัย เพื่อนำมาใช้ประกอบเพลง พวกเขาฝึกปฏิบัติกันเองภายในกลุ่มก่อนที่นำไปเผยแพร่ให้กับคนในชุมชน

ข้อมูลส่วนใหญ่เน้นค้นหาจากอินเทอร์เน็ตเป็นหลัก นำข้อมูลเรื่องท่าทางมวยไทยมาสอบถามกับผู้รู้อีกครั้งเพื่อตรวจสอบความถูกต้อง ท่วงท่าที่นำมาใช้จากท่าหลักทั้งหมด 15 ท่า เช่น ท่าสอดสร้อยมาลาและท่าจระเข้ฟาดหาง เป็นต้น

“พวกเราดูเพลงจากยูทูปที่เอาท่ามวยมาใช้ประกอบดนตรี ศึกษาท่าที่ใช้และเพลงที่ใช้ แล้วนำมาปรับเป็นท่าของเราเอง เพลงที่เลือกเน้นเพลงที่ฟังแล้วช่วยให้ความรู้สึกกระฉับกระเฉง ช่วงแรกเลือกเพลงช้าก่อนเหมือนเป็นการเตรียมความพร้อมร่างกาย แล้วค่อยๆ เร็วขึ้น” ป๊อบอธิบายการออกแบบท่วงท่าของมวยไทยเพื่อใช้ประกอบดนตรี

อีกส่วนนำคลิปที่ช่วยกันทำ มาเปิดให้คนในชุมชนดูในเวทีคืนข้อมูลสู่ชุมชน เพื่อเป็นตัวอย่างชักชวนคนในชุมชนให้มาสนใจออกกำลังกายร่วมกัน ป๊อบบอกว่าผลตอบรับหลังจบเวทีมีเด็ก ๆ ในชุมชนให้ความสนใจค่อนข้างดี

เวลาเย็นหลังเลิกเรียนไปจนราว 1 ทุ่มเป็นช่วงเวลานัดหมาย ค่ายมวยเป็นพื้นที่รวมตัวทำกิจกรรมคีตะมวยไทย แทบทุกวันเต็มไปด้วยเด็กในชุมชนที่ค่อยๆ ทยอยกันมาร่วมกิจกรรมกว่า 10 คน ไม่เพียงแค่เด็กๆ แต่ยังรวมถึงพ่อแม่ผู้ปกครองที่มาดูลูกหลาน แล้วก็รวมแจมบ้างในบางครั้ง กลายเป็นภาพบรรยากาศที่น่าประทับใจ มีหลายเสียงบอกว่า บางครอบครัวไม่เคยได้คุยกันแต่เพราะกิจกรรมนี้เป็นสื่อกลางทำให้คนในครอบครัว และคนในชุมชนมารวมตัวพบปะกันมากขึ้น ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนชีวิต ถือเป็นอีกเวทีที่ทำให้ป๊อบได้มีโอกาสรู้จักคนในชุมชนของตัวเองมากขึ้นจากเดิม

หากย้อนเวลากลับไปก่อนเข้าร่วมโครงการ ชีวิตประจำวันของป๊อบคือตื่นเช้าไปโรงเรียน เย็นกลับเข้าบ้านแทบไม่ได้สุงสิงกับใครเลย

ป๊อบ เล่าว่า ย้อนกลับไปก่อนทำโครงการ หากต้องพูดต่อหน้าคนจำนวนมาก เธอคงตื่นเต้นจนควบคุมตัวเองไม่ได้ แต่ตอนนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไป เธอเห็นความเป็นผู้นำในตัวเอง

“เมื่อก่อนเป็นคนไม่ค่อยเข้าหาคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนหรือผู้ใหญ่ ต้องรอให้เขาเข้าหาเราก่อน คุยไม่เก่ง สื่อสารไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่ตอนนี้ความคิดเราเปลี่ยนไป จากไม่กล้าพูด กลัวว่าสิ่งที่พูดออกไปจะผิด แต่พอได้ทำกิจกรรมนี้ต้องพูดกับผู้ใหญ่หลาย ๆ ท่าน ทำให้กล้าคุย กล้าถาม ทำให้เรารู้สึกว่าผู้ใหญ่ไม่ได้ใจร้ายทุกคน” ป๊อบวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงของตัวเองให้ฟังหลังจบโครงการ


วิชาการ...นอกห้องเรียน

บทบาทของป๊อปในโครงการครั้งนี้ คือ “ประธานโครงการ”

ที่ได้รับความไว้วางใจจากเพื่อนในทีม เป็นคนกลางที่คอยฟังความคิดเห็นของสมาชิกในทีม

ดูความเรียบร้อยของการทำงานในแต่ละกิจกรรมให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ แต่เรื่องที่ดูจะยากและท้าทายที่สุดคือ งานเอกสาร ที่อาจเป็นเรื่องไม่ยากสำหรับคนอื่น แต่เป็นงานที่ทำให้เธอได้พบการเปลี่ยนแปลงของตัวเองมากที่สุด

“โครงการนี้ทำให้หนูได้รู้เทคนิควิธีการใช้งาน Microsoft Word เยอะขึ้น” ป๊อบ กล่าว

แล้วเล่าต่อว่า Microsoft Word เป็นโปรแกรมพื้นฐานที่เคยใช้ในห้องเรียนมาบ้าง เพื่อทำรายงานส่งในแต่ละรายวิชา แต่เรื่องเทคนิค หรือรูปแบบการจัดหน้าเป็นเรื่องที่ได้มาเรียนรู้จากการทำโครงการนี้ใหม่ทั้งหมด

“เมื่อก่อนถ้าพิมพ์ผิดหนึ่งคำจะลบทิ้งทั้งบรรทัดเลย หรือการเว้นช่องว่างของคำการจัดเรียงตัวหนังสือแต่ละบรรทัดก่อนหน้านั้นไม่เคยรู้ว่าต้องทำอย่างไร แต่ตอนนี้ทำรายงานส่งโครงการบ่อยๆ จะรู้ว่าเราสามารถคัดลอกประโยคที่ต้องการนำมาวางในบรรทัดต่อไปได้ และเทคนิคอีกเยอะที่ได้เรียนรู้จากพี่ ๆ สถาบันหริภุญชัย ทำให้การทำงานของเราเรียบร้อยขึ้น เร็วขึ้นมากถ้าเทียบกับตอนแรกที่ยังไม่ได้เข้าโครงการ ”

งานยากอีกอย่างคือเอกสารการเงินเพราะไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน ป๊อบยอมรับว่าช่วงแรกที่ต้อง

รับผิดชอบการเงินไม่ได้เคร่งครัดกับการเบิกจ่ายเงินของโครงการฯ สักมากนัก จนมีโอกาสได้คลุกคลีกับทีมพี่เลี้ยง ซึ่งเป็นเหมือนโคชการทำงานจากสถาบันหริภุญชัยที่ดูแลโครงการ ความแนะนำจากพี่ๆ ทำให้ป๊อปเข้าใจขั้นตอนการเบิก-จ่ายเงินเพื่อนำมาใช้ในโครงการมากขึ้น เธอยกตัวอย่างให้ฟังว่า“ตอนแรกอยากซื้อของเมื่อไหร่ ตอนไหนก็ซื้อ วันไหนก็ได้ แต่พอมารู้ทีหลังว่าต้องทำให้เป็นระบบ เช่น เรื่องการถอนเงินควรถอนวันไหน เวลาไหน หรือเวลาซื้อของก็ควรไปซื้อคนละวัน ห้ามเกินที่วางแผนไว้ ทุกอย่างต้องมีการจัดการ มีการวางแผนเพื่อช่วยให้เวลาทำบัญชีง่ายขึ้นสำหรับตัวเอง ถ้าเป็นเรื่องเอกสารสิ่งที่ทำผิดช่วงแรก ๆ คือ การเขียนใบสำคัญรับเงิน แต่ตอนนี้ไม่ผิดแล้ว”

เพราะได้ลงมือทำอยู่บ่อยๆ แก้ไขจากสิ่งที่ผิดพลาด เรียนรู้จากผู้รู้ใกล้ตัวทำให้ป๊อบค่อยๆ พัฒนาศักยภาพของตัวเอง จากคนที่ไม่ถนัดงานวิชาการแต่อาศัยประสบการณ์จากการทำรายงานในห้องเรียนมาปรับใช้กับโครงการ ผิดถูกค่อยๆ แก้ไข จนตอนนี้เธอสามารถนำประสบการณ์ที่ได้จากโครงการไปพัฒนาต่อยอดงานวิชาการในห้องเรียนให้มีประสิทธิภาพได้มากขึ้น


ปัญหานำพาสู่การแก้ไข

การทำงานเหมือนจะราบรื่น แต่เมื่อถามถึงปัญหาในการทำงาน ป๊อบบอกให้ฟังว่า อย่างแรกคือการสื่อสารภายในทีมที่ผิดพลาด จนสร้างความเข้าใจไม่ตรงกัน บ่อยครั้งในฐานะประธานโครงการต้องคอยแบ่งงานให้เพื่อนในกลุ่ม ป๊อบยอมรับว่า ข้อผิดพลาดช่วงแรกเกิดจากการไม่ตั้งใจฟังงานที่ได้รับมอบหมาย เมื่อกลับมาอธิบายให้เพื่อนฟัง ทำให้เกิดความสับสนและเข้าใจผิด หรือบางครั้งไม่ได้ถามความต้องการของเพื่อนในทีมว่าอยากทำในสิ่งที่แบ่งงานให้หรือไม่ เมื่องานออกมาไม่เป็นอย่างที่คุยไว้ จึงทำให้ทะเลาะขุ่นเคืองกัน

อย่างไรก็ตาม การกลับมาทบทวนจุดบกพร่องของตัวเองและยอมรับความผิดพลาดของตัวเองทำให้ความสัมพันธ์ในทีมกลับมาราบรื่นได้ไม่ยาก เพราะการทำงานเป็นทีมไม่ใช่เรื่องของการโทษกันไปมา

ความรู้สึกโดดเดี่ยวเมื่อพี่เลี้ยงในชุมชนไม่ได้เข้ามาสนใจติดตามเป็นอีกหนึ่งบททดสอบที่เข้ามาระหว่างทางการทำโครงการ แต่เพราะสนิทกับพี่เลี้ยงมาตั้งแต่เด็กจึงเข้าใจเหตุผลและยอมรับความจริง กลุ่มแกนนำเยาวชนจึงตั้งใจทำงานต่อตามแผนงานที่วางไว้ อย่างไรก็ตาม ป๊อบยอมรับว่าช่วงแรกค่อนข้างท้อ และมักตั้งคำถามกับตัวเองเสมอว่าทำไมโครงการอื่นมีพี่เลี้ยงคอยสนับสนุน แล้วพี่เลี้ยงของเราอยู่ไหน ทำไมไม่มา เพราะเธอรู้สึกว่ากำลังต้องแบกรับภาระที่หนักอึ้งไว้คนเดียว

“ตอนนั้นยอมรับว่าเครียดแต่ถึงเครียดพวกเราก็ยังหัวเราะ เพื่อนๆ ไม่ทิ้งไปไหนช่วยกัน อะไรทำได้ก็ช่วยกันทำไป จนในที่สุดเราผ่านมาได้ ต้องขอบคุณเพื่อนที่ไม่เคยทิ้งกันไปไหน”

ป๊อปมองว่า โจทย์หรือปัญหาต่างๆ ที่เข้ามาระหว่างทำโครงการ เป็นความท้าทายและเป็นโอกาสให้ได้เรียนรู้ประสบการณ์นอกห้องเรียน

“เราไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่แค่ในห้องเรียนเพราะบางอย่างในห้องเรียนเราไม่ได้นำมาใช้ชีวิตประจำวัน กิจกรรมที่ทำในโครงการคือความรู้อีกรูปแบบหนึ่งที่ได้จากการลงมือทำ เลยมองว่าการได้ลองทำในสิ่งที่ไม่เคยได้เรียนหรือได้ทำในโรงเรียนมาก่อน เป็นความรู้ใหม่ที่ได้จากการทำโครงการนี้ ที่จะส่งผลกับเราในอนาคต ในการใช้ชีวิตประจำวัน การเรียนรู้สังคม การเข้าสังคม การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า รวมทั้งทำให้หนูรู้จักชุมชนที่อยู่มากขึ้น ”

การทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนหมู่มากยังเป็นอะไรที่ค่อนข้างยากสำหรับป๊อบ เพราะเป็นคนไม่เข้าหาคนอื่นก่อน ทำให้เธอเลือก “เงียบ” จนกลายเป็นความรู้สึกเกร็ง และไม่เป็นตัวของตัวเอง แต่เมื่อได้เข้าร่วมกิจกรรมบ่อยครั้งเข้า ได้พูดคุยกับเพื่อนต่างโครงการมากขึ้น ความสัมพันธ์ที่ก่อร่างสร้างตัว ทำให้ความเป็นตัวเองของเธอกลับมา และได้แสดงศักยภาพอย่างเต็มที่

คณะทำงานเครือข่ายเยาวชนจังหวัดลำพูน ป๊อบเป็นรองวิชาการ ฝ่ายวิชาการ เป็นอีกบทบาทที่ป๊อปได้รับจากการทำโครงการนี้ เธอรับหน้าที่ดูแลงานด้านเอกสาร มีส่วนร่วมในการจัดงานมหกรรมเพื่อการเรียนรู้ ฯ ของเยาวชนลำพูน ป๊อบบอกว่าการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของคณะทำงานเครือข่ายฯ เป็นอีกช่องทางที่ช่วยให้สนิทกับเพื่อนโครงการอื่น ๆ ผ่านการประชุมพูดคุยในการวางแผนงานมหกรรม ทำให้เธอปลดล็อคกับความกลัวที่จะเข้าหาคนอื่น จากเดิมไม่สนใจคนรอบข้าง แต่พอได้ทำกิจกรรมกับคนอื่น ทำให้ป๊อปเปลี่ยนมุมมองการมีเพื่อนว่าไม่ได้แย่อย่างที่คิด

จุดเริ่มต้นของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่หลงใหลกีฬามวยไทย นำมาสู่การทำโครงการที่ทำให้เธอได้ลงมือทำในสิ่งที่ตัวเองไม่คิดว่าจะได้ทำมาก่อน เปลี่ยนให้ป๊อปที่เคยเลือกอยู่ในกรอบที่ตัวเองจำกัดไว้ ไม่กล้าเข้าหาผู้ใหญ่ ไม่กล้าสุงสิงกับคนอื่นกลายมาเป็นคนที่เปลี่ยนมุมมองความคิดของตัวเอง กล้าทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ กล้าถามในสิ่งที่ควรรู้ และไม่ลืมที่จะภูมิใจในผลงานที่ได้ทำให้กับชุมชน นั่นคือการอนุรักษ์มวยไทยของชุมชนบ้านหนองไซให้สัมพันธ์กับคนรุ่นใหม่และยังคงอยู่คู่ชุมชน…

+++++++++++