จุไรรัตน์ เป็นพนัสสัก
พี่เลี้ยงเยาวชน Active Citizen โครงการปลุกสำนึก สร้างพลัง เสริมศักยภาพเยาวชนเมืองลำพูน
ตำแหน่งที่ได้รับในโครงการต่างๆ
พี่เลี้ยง/อาจารย์ที่ปรึกษา ใน เรียนรู้ รักษ์ สืบสานดนตรีพื้นเมือง
ประวัติและผลงาน

‘จุไรลักษณ์ เป็นพนัสสัก’ จากแม่สู่การเป็นพี่เลี้ยงเยาวชน ที่ก้าวข้ามการ “ชี้นำ” แต่ปล่อยให้เด็กทำในสิ่งที่ชอบ

­

ภาพบรรยากาศการแสดง “ฟ้อนก๋ายลาย” เคล้าเสียงกลองสะบัดชัยโดยกลุ่มเยาวชนบ้านป่าตึงเหนือ ตำบลทาปลาดุก อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน ปีก่อนยังคงเป็นที่จดจำของคนในชุมชน

บ้านป่าตึงเหนือตั้งอยู่ทางตอนเหนือของอุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล อยู่ห่างจากตัวเมืองลำพูนราว 40 กิโลเมตร ผู้คนส่วนใหญ่ในหมู่บ้านสืบเชื้อสายไทลื้อที่อพยพมาจากเมืองยองในพม่า ชาติพันธุ์ไทลื้อจังหวัดลำพูนจึงมักเรียกตัวเองว่าเป็น “คนยอง” จากหลักฐานบันทึกทางประวัติศาสตร์ พบว่า ชาวยองอพยพมาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดลำพูนกว่า 200 ปีแล้ว ภาษายองจึงเป็นภาษาหนึ่งที่เคยใช้กันอย่างแพร่หลายในพื้นที่แถบนี้ หรือแม้กระทั่งดนตรีการละเล่นดนตรีต่างๆ ที่มีการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมดั้งเดิมที่ติดตัวมาของชาวยองและวัฒนธรรมบนถิ่นที่อยู่ใหม่แห่งดินแดนล้านนา เช่น การฟ้อนก๋ายลายและการตีกลองสะบัดชัย

“เดิมทีชุมชนไม่มีกิจกรรมให้เด็กทำเลย ส่วนใหญ่เป็นงานของผู้ใหญ่ เช่น อบรมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) อบรมผู้สูงอายุ เป็นกิจกรรมที่ทำวันเดียวจบ ถ้าผู้ใหญ่ไปไม่ครบถึงจะชวนเด็กๆ ไปด้วย พวกเขาเคยชินกับกิจกรรมเป็นครั้งๆ แบบนี้ แต่ไม่ได้เป็นงานของเด็กโดยตรง ที่ผ่านมาเด็กไม่เคยทำโครงการที่ต้องรับผิดชอบเต็มตัวขนาดนี้เลย” แจ๋ว - จุไรรัตน์ เป็นพนัสสัก หนึ่งในพี่เลี้ยงโครงการปลุกสำนึก สร้างพลัง เสริมศักยภาพเยาวชนเมืองลำพูน

แจ๋วได้รับประสบการณ์เป็นพี่เลี้ยงโครงการมาแล้วสองครั้ง ครั้งแรกย้อนกลับไปกลางปี 2560 ครั้งนั้นกลุ่มเด็กและเยาวชนบ้านป่าตึงเหนือ ตำบลทาปลาดุก ร่วมกันทำ “โครงการสืบสานก๋ายลายสะบัดชัยล้านนา” ต่อเนื่องมาถึง “โครงการเรียนรู้ รักษ์ สืบสานดนตรีพื้นเมือง” ในปีที่สองช่วงประมาณปลายปี 2562 ที่ผ่านมา

โครงการครั้งแรกมีเป้าหมายเพื่อสืบสานศิลปะการฟ้อนก๋ายลายของชาวยองไทลื้อประกอบการตีกลองสะบัดชัยของล้านนาไว้ด้วยกัน เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์ของบ้านป่าตึงเหนือที่ส่งต่อมาจากบรรพบุรุษ ส่วนโครงการในปีที่สอง เป็นการปลุกดนตรีพื้นเมืองให้คืนชีพ ด้วยการรื้อฟื้นองค์ความรู้ หยิบเครื่องดนตรีที่มีอยู่แล้วแต่ไม่ได้ใช้งานมาปัดฝุ่นออกโรงใหม่ จากบ้านป่าตึงเหนือเพียงหมู่บ้านเดียว ขยายออกไปเชื่อมสัมพันธ์กับเด็กเยาวชนและปราชญ์ชุมชนอีก 4 หมู่บ้านในตำบลทาปลาดุก จนทำให้ผู้ใหญ่ตื่นตัว เด็กและเยาวชนตื่นเต้นครื้นเครงไปกับการทำโครงการ เหมือนอย่างที่พวกเขามักบอกว่า “ทำสิ่งที่ชอบ เรียนรู้ ลงมือทำ นำสู่การเปลี่ยนแปลง” เพราะไม่เพียงแค่ความสนุกสนานและความสุขจากการทำในสิ่งที่ชอบ แต่ยังได้ความรู้ ได้ใช้และพัฒนาทักษะความสามารถ และช่วยสืบทอดอัตลักษณ์การละเล่นดนตรีพื้นบ้านของชาวยองให้คงอยู่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน

ตั้งแต่วันแรกที่ตัดสินใจรับโครงการและเข้ามารับบทบาทเป็นพี่เลี้ยงโครงการ แจ๋ว บอกว่า เธอได้เรียนรู้และเติบโตไปกับเด็กและเยาวชนตลอดเส้นทาง ที่สำคัญบทบาทที่ได้รับทำให้เธอมองเด็กและเยาวชนด้วยมุมมองที่ต่างออกไป ทำให้เข้าใจความคิดความอ่านและการแสดงออกของเด็กและเยาวชนมากขึ้น รวมทั้ง ดีน - พิทักษ์พล เป็นพนัสสัก ลูกของเธอเองที่ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการทั้งสองครั้ง


คำถามที่ไม่ต้องการคำตอบ “ถูก” หรือ “ผิด”

“ตอนแรกมีอาจารย์จากสถาบันหริภุญชัยมาหาผู้ใหญ่บ้าน บอกว่ามีโครงการเกี่ยวกับเยาวชน เราได้ยินว่าเกี่ยวกับเด็ก เลยอยากให้ลูกทำกิจกรรม ไม่ลังเลตกลงรับโครงการมาทำเลย ไม่ถามว่าต้องทำอะไร ต้องทำอย่างไร ตกลงใจว่าถ้าลูกอยากทำก็ให้ลูกตัวเองมาร่วมด้วย” แจ๋ว เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นการเป็นพี่เลี้ยงโครงการเด็กและเยาวชน ซึ่งในขณะนั้นเธอรับหน้าที่เป็นทั้งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกกลุ่มสตรีประจำตำบล และขับรถรับส่งนักเรียนจากชุมชนไปยังโรงเรียนในตัวเมืองจังหวัดลำพูน

แจ๋ว บอกว่า ทีมแกนนำเยาวชน คือ น้องๆ นักเรียนที่เป็นสมาชิกนั่งรถรับส่งไปกับเธอ

“เราต้องคุยกับเด็กๆ ก่อน แล้วให้เด็กๆ ที่อยากทำโครงการไปคุยกับพ่อแม่ ถ้าเราไปบอกพ่อแม่เพื่อชวนเด็กๆ มาทำโครงการ บางทีพ่อแม่อาจเกรงใจเราทั้งที่เด็กไม่อยากมาทำโครงการก็ได้ เลยใช้วิธีคุยกับเด็กๆ ในรถเองก่อน ราไม่ได้เข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงแก่นแท้ของคำว่าพี่เลี้ยงมาตั้งแต่ต้น ตอนทำโครงการครั้งแรก ยังคิดว่าหน้าที่ของพี่เลี้ยงคือแค่ไปรับไปส่ง แล้วคอยดูแลเด็ก ยังเข้าใจว่างบประมาณที่ได้มาให้เอาไปซื้อของ ซื้ออุปกรณ์ เครื่องดนตรีต่างๆ แล้วก็เป็นโครงการระยะยาวที่ทำต่อเนื่อง 8 เดือน”

แต่ยิ่งได้ใช้เวลาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ยิ่งได้เปิดหูเปิดตา ยิ่งทำให้ความเข้าใจต่อบทบาทการเป็นพี่เลี้ยงของแจ๋วเปลี่ยนไป พี่เลี้ยงไม่ใช่แค่คนทำงานในศูนย์เด็กเล็ก ไม่ใช่ผู้นำออกแรงลากบอกให้เด็กทำสิ่งที่ตัวเองคิด แต่เป็นแรงพยุงหนุนเสริมให้เด็กและเยาวชนทำโครงการได้ด้วยศักยภาพของพวกเขาเอง

“ตอนทำโครงการปีแรก เรานำเด็กๆ ทำเลยเหมือนเป็นครูอนุบาล เพราะเราคิดว่าพี่เลี้ยงต้องดูแลเด็กๆ

แบบประคบประหงมเหมือนแม่ดูแลลูก ทำให้เด็กดูแล้วบอกเด็กว่าต้องทำแบบนี้ก่อน แล้วค่อยทำตรงนั้น คล้ายๆ ให้เด็กทำตามคำบอก โชคดีที่ได้ไปอบรมพี่เลี้ยงโครงการที่จังหวัดสตูล ทำให้ได้รู้ว่าพี่เลี้ยงควรวางบทบาทตัวเองอย่างไร ทำกระบวนการอย่างไร ที่สำคัญ คือ ไม่ใช่เป็นผู้นำแต่ต้องเป็นผู้หนุนเสริม กลับมาจากสตูลเลยเปลี่ยนบทบาทตัวเอง จากเป็นผู้นำก็ให้เด็กๆ บริหารโครงการเอง แต่ค่อยๆ เปลี่ยนนะ ไม่อย่างนั้นเด็กจะมีคำถามว่าทำไมช่วงแรกช่วยเต็มที่เลยแต่ตอนหลังมาถอยห่าง

ตอนทำโครงการปีแรก มือใหม่ทั้งพี่เลี้ยงและเยาวชน เรามีความกลัวว่าต้องทำยังไง กลัวงานออกมาไม่ดีทำแล้ว ทำอีก ย้ำคิดย้ำทำ ยกตัวอย่างตอนทำโครงการปีแรก เราเป็นคนสั่งงานให้เด็กไปเก็บข้อมูลจากผู้รู้เรื่องการตีกลองสะบัดชัย เด็กๆ ไปมาเรียบร้อย แต่ได้ข้อมูลไม่ครบอย่างที่ตัวเราคิดไว้ เราถึงขั้นไปหาผู้รู้ไปหาข้อมูลมาเพิ่มเอง เพราะคาดหวังกับเด็กมากเกินไปและเอาตัวเองเป็นบรรทัดฐาน คิดว่าเด็กควรทำได้ดีกว่านี้”

เป็นที่รู้กันว่าบ้านพี่แจ๋วเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กๆ และเป็นพื้นที่ที่ผู้ปกครองวางใจ แจ๋ว อธิบายว่า เธอใช้วิธีตั้งคำถามหรือตั้งโจทย์ให้กลุ่มเยาวชนได้คิดเพื่อวางแผนการทำงานในแต่ละขั้นตอน ยกตัวอย่างการลงพื้นที่สัมภาษณ์ผู้รู้ในชุมชนเกี่ยวกับดนตรีพื้นเมืองในโครงการปี 2

“เลิกเรียนเด็กๆ นัดกันมาประชุมที่บ้าน เราก็เอาแผนงานที่เคยวางแผนกันไว้มากางออก เด็กๆ จะเห็นจากแผนงานว่าเขาต้องทำอะไรต่อ ต้องสืบค้นข้อมูลจากผู้รู้ภายในวันที่นี้ จะเริ่มงานวันไหน ผู้รู้มีทั้งหมด 4 หมู่บ้านจะแบ่งทีมกันไปยังไง ดูปฏิทินเพื่อหาวันเวลาที่ลงตัวก่อน เพราะน้องๆ บางคนทำงานพิเศษด้วย ก็ต้องเลือกวันที่น้องๆ ไม่ทำงาน จังหวะนั้นเราก็ชวนถามว่าไปหาผู้รู้ต้องทำอะไรบ้าง เตรียมอะไรไปบ้าง หาข้อมูลเบื้องต้น เขียนหัวข้อและเตรียมชุดคำถาม เด็กๆ จะช่วยกันคิดออกมาเป็นข้อๆ เช่น ชื่อ อายุ พอได้หัวข้อเราก็ถามต่อว่าแล้วแต่ละคนจะทำหน้าที่อะไรกันบ้าง แล้วแบ่งหน้าที่กันว่า ใครเป็นคนจดบันทึก ใครเป็นคนสัมภาษณ์ ใครเป็นคนบันทึกวิดีโอ ใครเป็นคนถ่ายภาพนิ่ง ขั้นตอนการคิดทั้งหมดนี้เสร็จเรียบร้อยตั้งแต่วันประชุม”

“เราเชื่อมั่นว่าเขาทำได้ บางคนเราเห็นเขาทำงานมาตั้งแต่โครงการครั้งแรก เลยไว้ใจ บวกกับเห็นผลงานที่พวกเขาทำกันมาก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นการแนะนำโครงการในที่ประชุมของหมู่บ้าน การเชิญ ผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านมาเข้าร่วม มีการแบ่งหน้าที่ว่าต้องมีการลงทะเบียน มีพิธีกรนำเวที มีคนเตรียมของว่าง พวกเขาทำออกมาได้ดี เราเลยไม่ห่วงเรื่องการเก็บข้อมูล เพราะมีทั้งคนบันทึก บันทึกไม่ชัดเจนก็ยังมีเสียงที่อัดไว้ นำมาถอดเทปได้ พอกลับมาเขาก็มาเล่าให้เราฟัง ที่จดมาตัวหนังสืออ่านออกบ้างไม่ออกบ้าง เขาก็บอกว่า จดไม่ทันแต่มีบันทึกเสียงไว้นะ ค่อยถอดเสียงนั้นมาใส่ เอารูปเอาวิดีโอมาโชว์ให้เราดู”

“ถ้าเป็นเมื่อก่อนเราจะบอกเองเลยว่า เวลาไปหาผู้รู้ให้ทำอะไรบ้าง ถามชื่อ อาชีพมานะ อย่าลืมถ่ายรูป อัดวิดีโอมานะ บอกหัวข้อบอกคำถามไปให้เด็กนำไปถาม”


ความไม่คาดหวังที่ทำให้เด็กฉายพลังของตัวเอง

จุดเริ่มต้นของโครงการเรียนรู้ รักษ์ สืบสานดนตรีพื้นเมือง มาจากแกนนำกลุ่ม 2 คนที่มีพื้นฐาน

ดนตรีพื้นเมืองอยู่แล้ว และเคยมีวงดนตรีในหมู่บ้านแต่วงแตก เพราะแต่ละคนต่างแยกย้ายไปเรียนนอกพื้นที่ เครื่องดนตรีที่เคยถูกใช้งานจึงถูกนำไปเก็บไปไว้ในโกดังเก็บของในวัด

“ถ้าอย่างนั้นก็ลองเอาเครื่องดนตรีมาลองมาเล่นเรียนรู้กันดีไหม” แจ๋ว เล่าถึงความคิดตั้งต้นของเด็กๆ

เมื่อปล่อยให้กลุ่มแกนนำเยาวชนบริหารจัดการโครงการด้วยตัวเอง แจ๋วค้นพบว่าการเป็นพี่เลี้ยงโครงการไม่ใช่เรื่องยากหนักหนาที่ต้องมาคิดให้กลุ้มจนปวดขมับอย่างที่เคยเป็นมาก่อน

“ถ้าเป็นเมื่อก่อนเราจะเป็นคนนัดวันเวลาให้น้องๆ มาประชุม เรียกมาประชุมยากมาก เขาก็มาบ้างไม่มา เพราะเราเข้าใจผิด คิดว่าตัวเองเป็นผู้นำเรียกเด็กมาได้ เด็กก็คงคิดว่าอะไรหนักหนาแต่กว่าเราจะเปลี่ยนตัวเองได้ก็เกือบปลายโครงการครั้งแรก แต่พอนัดกันเอง พวกเขามากันได้และดูสนุกกว่าตอนที่เราเรียกเขามาประชุม ได้เห็นการติดตามและการเตือนกันในไลน์ อัพเดทกันว่าตอนนี้เดินทางมาถึงไหนแล้ว เรามีหน้าที่เปิดประตูบ้านต้อนรับ เวลาทำงานเรามีกลุ่มไลน์ไว้ใช้ติดต่อกันระหว่างทำงาน สิ่งที่เราทำคือสื่อสารผ่านประธานกลุ่ม เปิดหัวข้อ แล้วชวนคิดกันว่าจะทำอะไรกันต่อ เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้คิดก่อน หลังจากนั้นก็ให้นัดแนะกันเองว่าจะทำงานกันวันไหน ถ้าใครไม่มาหรือไม่ได้ทำ เขาจะจัดการแบ่งงานอย่างอื่นให้ไปทำ ถ้าไม่ไปกลับมาเธอต้องทำส่วนนี้นะ”

แจ๋ว บอกว่า สิ่งที่เธอได้รับจากการทำโครงการกับเด็กๆ รุ่นลูก คือ การพัฒนาตัวเอง อย่างแรก คือ การพัฒนาอารมณ์ ไม่เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ไม่เอาตัวเองเป็นบรรทัดฐาน ไม่วัดคุณภาพความสามารถของเด็ก ด้วยความคาดหวังของผู้ใหญ่เพราะเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน

“เรารู้จักเด็กกลุ่มนี้มาก่อนทำโครงการ อย่างน้อย 2 ปี เรารู้ว่าเด็กคนนี้บุคลิก ลักษณะนิสัยเป็นยังไง แต่สุดท้ายตอนทำงานสิ่งที่เราเห็นมาก่อนเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้นเอง เอามาตัดสินเด็กไม่ได้เลย วิธีการสังเกตของเราเลยดูว่าเด็กแต่ละคนเปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยเป็นอย่างไรบ้างมากกว่า”

“เด็กสมัยเรากับเด็กสมัยนี้ก็ไม่เหมือนกัน เด็กทำงานออกมาได้ตามศักยภาพของเขา อาจไม่ถูกใจเราร้อยเปอร์เซ็น แต่นี่เป็นโครงการของเขา ความคาดหวังของเราที่มีต่อเด็กลดลง ยังได้มาตรฐานอยู่แต่ไม่มีความคิดว่าฉันทำได้ดีกว่าเธอ เราเลิกเปรียบเทียบเด็กทั้งกับตัวเองและกับเด็กกลุ่มอื่น พึงพอใจในความสามารถของเด็กในระดับที่เขาแสดงออกมา อย่างน้องดีน ลูกของตัวเอง เราไม่บอกว่าดีนต้องมาประชุมทุกครั้งนะ เพื่อนมาบ้านเราทำไมดีนไม่ลงมา ทำไมไม่อยู่จนจบ เขาพึงพอใจร่วมแค่นี้เราไม่บังคับ แต่เวลาไปสอบถามหาข้อมูลกับผู้รู้ เขาก็ไปกับทีมทำหน้าที่อัดคลิป แต่ถ้าให้เขามาทำเอกสารการเงินเขาก็ไม่ชอบ ส่วนเนเน่ชอบตอบคำถาม ปฎิภาณไหวพริบดีและทำงานเอกสารได้ ชมพู่ตอนนี้ยังไม่ค่อยพูด เราก็ไม่บอกนะว่าชมพู่อยู่ตั้งแต่ปีที่แล้ว ทำไมยังเป็นแบบนี้ เพราะเขาพูดน้อยต่อยหนักและจดบันทึกได้ละเอียดยิบ ต้นคือมือโปรในการตัดคลิป เราก็ไม่เอาไปเทียบกับคนอื่น เด็กแต่ละคนมีข้อดีต่างกัน และทุกคนมีดีในตัวเอง อยู่ที่ว่าผู้ใหญ่อย่างเราจะมองเห็นไหม”

นอกจากนี้ แจ๋วยังสะท้อนว่า มุมมองของเด็กในบางเรื่องแม้ใช้เหตุผลในการตัดสินใจโดยปราศจากอารมณ์ก็อาจแตกต่างจากมุมมองของผู้ใหญ่

“ตอนเลือกประธานกลุ่ม น้องๆ เลือกกันเอง เสนอขึ้นมา 6-7 ชื่อ แล้วคุยกันว่าจะให้ใครเป็นหัวหน้า ถ้าเป็นเรามอง เราเลือกดีน ไม่ใช่เพราะเป็นลูกเราแต่เพราะดีนมีประสบการณ์ทำโครงการมาก่อน เรียบร้อย พูดเพราะ แต่เด็กๆ คิดอีกแบบ เขามองว่าบุคลิกของดีนไม่มีใครกลัว เลยเลือกบาสขึ้นมา ทั้งๆ ที่บาสจากบุคลิกลักษณะภายนอกอาจถูกตัดสินว่าเป็นคนไม่มีความรับผิดชอบ ไม่เอาจริงเอาจัง เหมือนชอบเล่นมากกว่า แต่ไม่น่าเชื่อว่ามอบหมายให้เป็นหัวหน้าทีม เขาคุ้มทีมได้เลย เวลาเราจะติดต่อประสานงานกับกลุ่มน้องๆ แจ้งผ่านบาสได้เลย แล้วบาสจะไปคุยในไลน์กลุ่มเยาวชนเอง ในทีมให้ความเคารพความเป็นหัวหน้าทีมของเขา ขนาดดีนกับชมพู่ทำโครงการมาตั้งแต่ปีแรกยังให้ความเคารพความเป็นหัวหน้าของบาส เพราะบาสมีความเป็นผู้นำ ถือว่าให้เกียรติกันและกันในการทำงาน”

จากจุดตั้งต้นของความเป็นแม่ที่อยากให้ลูกได้มีพื้นที่ทำกิจกรรมสร้างสรรค์และได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์มาสู่บทบาทพี่เลี้ยงโครงการเด็กและเยาวชน สิ่งที่แจ๋วมองเห็นได้อย่างชัดเจนมากขึ้น คือ พลังของคนรุ่นใหม่ที่พร้อมเปล่งประกายทุกเมื่อ หากพวกเขามีพื้นที่และมีโอกาสได้ทำในสิ่งที่ทำให้พวกเขาแสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่

“การเป็นพี่เลี้ยงของเรา คือ คนที่คอยหนุนเสริมให้คำปรึกษา อยู่เบื้องหลังการทำงานของเด็ก ไม่ได้เป็นผู้ชักนำหรือเป็นผู้ตั้งต้นการทำงานแล้วนำทางความคิดของพวกเขา เราไม่ต้องไปบอกว่าเขาต้องทำอะไร แต่คอยแนะคอยเสริมด้วยการตั้งคำถามให้เด็กๆ คิดต่อในส่วนที่อาจตกหล่นไป ตอนนี้เราไม่ไปยืนข้างหน้าเด็กแล้วแต่มาอยู่ข้างหลัง ไม่ใช่โอบอุ้ม คุ้มครอง หรือปกป้อง แต่คอยพยุงเพื่อให้มั่นใจว่าพวกเขาสามารถก้าวเดินต่อไปข้างหน้าได้” เป็นความคิดรวบยอดถึงบทบาทการเป็นพี่เลี้ยงของพี่แจ๋ว

­

­

ฟ้อนกลายลาย หรือ ฟ้อนก๋ายลาย ตามสำเนียงท้องถิ่นภาคเหนือ เป็นท่ารำฟ้อนที่นิยมในกลุ่มชนเผ่าไทลื้อ มีที่มาจากหลายภูมิภาคในพม่าและจีน เช่น เมืองสิบสองปันนา เมืองเชียงตุง และเมืองหาง เป็นต้น สืบทอดจนกลายเป็นเอกลักษณ์การร่ายรำของกลุ่มชนล้านนาทางภาคเหนือของไทย การฟ้อนได้ปรับเปลี่ยนนำเอาลีลาท่าฟ้อนเชิง (ลาย) เข้าไปผสมกับท่าฟ้อนรำ

คำว่า “กลาย” หรือ “ก๋าย” นั้นหมายถึง การปรับเปลี่ยนลีลาท่าฟ้อน ส่วนคำว่า “ลาย” หมายถึง เชิงลีลาท่าฟ้อนหรือท่าร่ายรำ นิยมฟ้อนในงานเฉลิมฉลอง งานบุญ และงานปอยของวัดในล้านนา