วิชัย ประทับใจ
ครูพี่เลี้ยงเยาวชน Active Citizen ชาติพันธุ์รุ่นใหม่ 5 อำเภอชายแดนจังหวัดตาก
ตำแหน่งที่ได้รับในโครงการต่างๆ
ประวัติและผลงาน

       ตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน, รองประธานของชุมชนท่องเที่ยวในหมู่บ้านวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยว

       โครงการการออกแบบกิจกรรมในด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นบ้านป่าไร่เหนือ ตำบลพระธาตุ อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก

       พี่หอย วิชัย ประทับใจ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน บ้านป่าไร่เหนือและเป็นพี่เลี้ยงโครงการออกแบบกิจกรรมในด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นบ้านป่าไร่เหนือ เป็นชาวปกาเกอะญอ พี่หอยเป็นคนหนุ่มคืนถิ่น ที่เคยไปศึกษาต่อในเมืองและทำงานมาหลายอาชีพ ตั้งแต่ทำงานโรงพิมพ์ เป็นคนขายประกัน เป็นลูกจ้างร้านโทรศัพท์ ทำงานในเมืองหลายปีค้นพบว่าเส้นทางสายนั้นห่างไกลกับความเป็นตัวเอง รู้สึกกดดันเกินไป จึงกลับบ้านเกิด จังหวะที่ชุมชนขาดผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน จึงได้เข้ามาทำงานตรงนี้ พี่หอยเป็นคนชอบทำกิจกรรมตั้งแต่เด็ก ชุมชนมีงานอะไรก็จะเข้าร่วมเสมอ พอได้กลับมาบ้านเกิดได้ทำงานชุมชนก็เห็นว่า “ผมทำเกี่ยวกับเรื่องท่องเที่ยวชุมชน ทำกิจกรรม ผมรู้สึกว่าเวลาเราทำกิจกรรมในหมู่บ้านมีความห่างระหว่างผู้ใหญ่กับเด็ก มีช่องว่างในการทำงาน ผมคิดว่าเด็กน่าจะมีส่วนร่วม มีความคิดอะไรบ้าง น่าจะช่วยพัฒนาในมุมที่ผู้ใหญ่ไม่ได้คิด ที่ผ่านมาเราจัดกิจกรรมให้เด็กได้แข่งกีฬาอย่างเดียว คิดว่าอยากให้เด็กมีส่วนร่วม” จากจุดเริ่มต้นในการตั้งข้อสังเกตนี้พี่หอยจึงได้เริ่มต้นชวนเยาวชนร่วมกันทำโครงการฯ

       พี่หอยเล่าถึงบทบาทหน้าที่พี่เลี้ยงให้ฟังว่า “ผมดึงเยาวชนเข้ามาเพื่อให้เขามีกิจกรรม ผมเป็นพี่เลี้ยงคอยแนะนำว่ากิจกรรมในหมู่บ้านของเรา เยาวชนน่าจะต้องเข้าร่วมมาช่วยคิดจะทำอะไรก็ได้ อย่างพื้นที่ลานวัฒนธรรม บอกให้เด็กทำอย่างไรก็ได้ น้องก็ลงมือทำ ทำไม่ได้ ติดตรงไหนให้บอก แก้วิธีไหนเราก็ช่วยกันคิด ผมจะปล่อยให้เขาคิด แล้วผมคอยสนับสนุน ถ้ามันขาดตรงนี้เราก็จะเติมให้พวกเขา” พี่หอยทำหน้าที่เปิดพื้นที่ให้เยาวชนคิด เยาวชนทำ ลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง สนับสนุนช่วยเหลือไอเดียที่น้องๆ อยากทำ เยาวชนจะเริ่มจากการสืบค้นองค์ความรู้ของชุมชน ทั้งเรื่องอาหาร ทอผ้า จักสาน วิถีชีวิต ก่อนจะร่วมกันออกแบบลานวัฒนธรรม ที่เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ของชุมชน ซึ่งแต่เดิมชุมชนมีลานวัฒนธรรมอยู่แล้วแต่ไม่มีชีวิตชีวา ไม่มีข้อมูล เมื่อเยาวชนเข้ามาออกแบบพื้นที่ พวกเขาจัดสรรให้เป็นโซนเรียนรู้เรื่องทอผ้า ด้านภูมิปัญญา ด้านอาหารและวัฒนธรรม เพื่อให้คนที่สนใจมาเดินวนดูที่ละโซน

       ปัญหาที่พบส่วนใหญ่คือเรื่องเวลา เยาวชนต้องเรียนหนังสือ บางคนต้องไปเรียนพิเศษ พี่หอยจะไปพูดคุยกับเยาวชนเพื่อให้พวกเขาได้เรียงลำดับความสำคัญ โชคดีที่ชุมชนสนับสนุนให้ลูกหลานได้ทำกิจกรรมซึ่งทำให้เยาวชนเข้าใจความเป็นปกาเกอะญอมากขึ้น พี่หอยเป็นคนมุ่งมั่นตั้งใจ คอยประสานและอำนวยการทำจดหมายให้เยาวชนเข้าร่วมกิจกรรมโดยไม่ขาดเรียน อีกทั้งยังเป็นที่ปรึกษาของน้องๆ นอกเหนือจากกิจกรรม “ผมแนะนำ บอกว่าผมไม่ใช่คนเรียนเก่ง ผมชอบทำกิจกรรม การเรียนดีเรียนเก่งทำให้เราสอบได้ แต่การทำกิจกรรมจะทำให้เราอยู่กับสังคมได้ ใช้ชีวิตในการทำงานได้ เด็กเข้าใจ และมองว่าการผ่านกิจกรรมพวกนี้ได้ก็เก็บใน Portfolio เพื่อใช้ในการศึกษาต่อในอนาคตได้”

        นอกจากพี่เลี้ยงหอย พี่หอยบอกว่า การทำงานในชุมชนขับเคลื่อนไม่ได้ด้วยผู้ใหญ่คนเดียว แต่มีผู้อยู่เบื้องหลังมากมาย ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่บ้าน ผู้ปกครองของเยาวชน ทุกคนล้วนเป็นลมใต้ปีกที่คอยสนับสนุนความคิดของเยาวชนผ่านการทำโครงการฯ พี่หอยคิดว่า การเป็นผู้ใหญ่ก็ต้องคอยทำหน้าที่หว่านเมล็ดพันธุ์ หว่านลงไปมีเยาวชนทำเพียง 2 – 3 คนก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว ค่อยๆ ทำเรื่อยๆ ทำงานกับผู้ใหญ่ก็ต้องใช้วิธีคิดแบบเดียวกัน คือเราทำไปก่อนแล้วทุกคนจะมาเป็นแนวร่วมเอง พี่หอยเห็นการเปลี่ยนแปลงของน้องๆ ที่กล้าคิด มุ่งมั่น ทำจริงจัง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพี่หอยเชื่อว่า งานชุมชนต้องไม่ใช่แค่ให้เด็กและเยาวชนเป็นไม้ประดับ มาแค่วันงาน แต่พวกเขามีศักยภาพที่จะคิดและทำ พี่หอยคิดว่าถ้าไอเดียเกิดขึ้นจากเยาวชน ผลจะออกมาเป็นที่ประจักษ์ “กิจกรรมที่ผ่านมาผมรู้สึกว่าน้องทำได้ดี ผมรู้สึกว่าได้แรงกลับมา เขามาตามเวลานัด จัดเตรียมสถานที่ ผมบอกเขาว่าไม่ต้องดีขนาดนี้ก็ได้เวลาเก็บจะเก็บยาก น้องบอกไม่ได้ ผมรู้สึกภูมิใจในตัวเด็ก เวลาเขาทำงานเขาทำเต็มที่ นี่คือสิ่งที่อยากเห็นที่สุด เห็นเขาแสดงพลัง ผมรู้สึกดี นี่คือเมล็ดพันธุ์ที่จะเติบโตมาพัฒนาหมู่บ้าน”

       แม้งานชุมชนเป็นสิ่งที่รัก แต่การดูแลครอบครัวและปากท้องก็เป็นสิ่งสำคัญ พี่หอยรู้สึกเสียใจที่ไม่ได้ร่วมกิจกรรมกับส่วนกลางเต็มที่ บางครั้งไม่สามารถไปรับเยาวชนกลับจากค่ายด้วยตัวเองได้ เนื่องจากติดประชุมกับทางราชการและต้องไปตลาดทุกเช้าเพื่อให้แม่บ้านมีของขายที่ร้านค้าในชุมชน แต่หากมีเวลาและโอกาสเหมาะพี่หอยก็อยากเรียนรู้ที่จะมีเครื่องมือและทักษะที่จะมาพัฒนาชุมชนของตัวเอง ภาพฝันของพี่หอยคืออยากเห็นทุกคนกลับบ้านเกิด กลับมาร่วมพัฒนาท้องถิ่นตามศักยภาพของตัวเอง

­

ความโดดเด่น

  • เสียสละ พี่หอยเสียสละทั้งเวลาและที่ดินที่ทำให้เกิดลานวัฒนธรรม โดยเชื่อว่าทุกคนสามารถทำเพื่อชุมชนได้
  • เปิดโอกาสให้เยาวชนคิด ลงมือทำ และร่วมหาทางออก ให้พื้นที่เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมกับงานของชุมชน
  • เปิดพื้นที่สร้างแนวร่วมโดยดึงผู้ใหญ่ ผู้ปกครอง คนในชุมชนมาขับเคลื่อนผ่านงานวัฒนธรรม เชื่อเรื่องการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย จึงทำหน้าที่เป็นคนกลางประสานงานกับผู้คน เพื่ออำนวยการเรียนรู้ให้เยาวชน