นางสาวทิพปภา เวียงกุมภา
เยาวชน Active Citizen ชาติพันธุ์รุ่นใหม่ 5 อำเภอชายแดนจังหวัดตาก
ตำแหน่งที่ได้รับในโครงการต่างๆ
ประวัติและผลงาน

ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนแม่อุสุวิทยา (วิทย์ - คณิต)

โครงการการศึกษาพันธุ์ข้าวพื้นเมืองหมู่บ้านในตำบลแม่อุสุ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก

­

       จ๋า ทิพปภา เวียงกุมภา เด็กสาวชาวปกากะญอ อุปนิสัยขี้อาย ขี้เกรงใจ ประณีประนอม รักธรรมชาติชอบเข้าป่า ศึกษาแมลง ชอบเรียนวิชาภาษาไทยและวิทยาศาสตร์ เพราะคุณครูใจดี การได้เรียนชีววิทยา ทำให้เธอเข้าใจธรรมชาติมากขึ้น จ๋ารับตำแหน่งหัวหน้าโครงการ ที่คอยประสานงานและชวนเพื่อนๆ ตามหาและเก็บข้อมูลพันธุ์ข้าวพื้นเมือง เริ่มต้นมาจากคุณครูนัฐวัฒน์ สมพาน ตำแหน่งหัวหน้าวิชาการในโรงเรียน (พี่เลี้ยงโครงการ) คุณครูมักมีกิจกรรมอะไรใหม่ๆ และชวนนักเรียนทำเสมอ ครั้งนี้ คุณครูมาถามนักเรียนว่า สนใจทำงานวิจัยไหม เดิมที จ๋าไม่รู้จักและไม่เข้าใจ คำว่า “วิจัย” วิจัยน่าจะยากและไม่น่าจะทำได้ แต่จ๋าอยากพัฒนาตัวเอง อยากลองทำอะไรที่แปลกใหม่ จ๋าบอกว่า “ถ้ามันยาก หนูคิดว่าอนาคตข้างหน้าต่อไปต้องเจออะไรที่ยากกว่านี้” เธอจึงชวนเพื่อนๆ และเข้าร่วมโครงการฯ

       การศึกษาพันธุ์ข้าวพื้นเมืองจ๋าและเพื่อนช่วยกันคิดวางแผน ประชุมกันว่าจะลงพื้นที่หมู่บ้านไหนบ้าง ด้วยเงื่อนไขปัจจัยที่เอื้ออำนวย พวกเขาเลือกเก็บข้อมูลที่หมู่บ้านทีโนะโคะ เธอและเพื่อน 16 คน แบ่งกันเป็นสองทีมเพื่อลงชุมชนเก็บข้อมูล แม้จ๋าจะอาศัยอยู่ในอำเภอนี้แต่ไม่เคยไปหมู่บ้านทีโนะโคะเลย จ๋าสนุกกับการทำงาน เธอสังเกตว่าบุคลิกของคนต่างหมู่บ้านกันก็ไม่เหมือนกัน เธอรู้สึกว่าคนในชุมชนใจดี ต้อนรับเธอเหมือนเป็นแขกคนสำคัญ ทั้งๆ ที่เธอเป็นเพียงนักเรียนมาเก็บข้อมูล ยิ่งทำให้จ๋าประทับใจและตั้งใจศึกษาเรื่องราวข้าวพื้นเมืองซึ่งเธอบอกว่า “หนูกินข้าวทุกวันแต่ก็ไม่รู้ว่าข้าวพันธุ์อะไร” เธอรวบรวมข้อมูลกับเพื่อนพบว่าข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่มีในชุมชนมี 7 ชนิด ได้แก่ บือมีบือบ่อละ บือทอละ บือยะแม บือแก๊ะคี บือวาโพ บืออิแกร บือโม๊ะโล๊ะ (บือแปลว่าข้าว) บางชนิดจะมีชื่อเรียก 2-3 อย่าง แล้วแต่คนเรียก

       ระหว่างทางการทำงานจ๋าพบอุปสรรคที่ได้เรียนรู้มากมาย ด้วยความเป็นคนขี้เกรงใจและทีมเป็นวัยเดียวกัน จ๋าจึงไม่กล้าที่จะบอกให้เพื่อนมาให้ตรงเวลาหรือทำงานอย่างตั้งใจ จ๋าคิดว่าทุกคนโตๆ กันแล้ว บอกกันอย่างชัดเจนเพียงครั้งสองครั้งก็น่าจะพอ เมื่อเพื่อนร่วมทีมไม่มา เธอและเพื่อนที่สนิทจึงลงมือทำไปก่อน พอเพื่อนมาจึงสมทบช่วยกัน จ๋าอยากให้เพื่อนเรียนรู้ความรับผิดชอบด้วยตัวเอง เธอลองแก้ไขปัญหาหลายอย่างเช่นนัดก่อนเวลาจริงครึ่งชั่วโมงซึ่งก็ได้ผลดี ในช่วงที่ลงชุมชนหลายครั้งที่เธอเกิดความเกรงใจไม่กล้าถามเยอะ กลัวจะรบกวน ด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีที่หล่อหลอมให้จ๋าคิดว่าผู้ใหญ่จะไม่ฟังเด็ก เพราะผู้ใหญ่มองว่าเด็กก็คือเด็ก ทำให้เธอกล้าๆ กลัวๆ แต่เมื่อพบลองทำ ลองถามให้ละเอียดคุณตาในชุมชนก็ตอบอย่างละเอียด ไม่ได้โกรธอะไร ทำให้เธอได้เปิดมุมมองใหม่ว่า เป็นเพียงความคิด ความกลัวของตัวเอง

       โลกอาจจะกว้างสำหรับใครหลายคน แต่สำหรับจ๋าการได้ทำโครงการฯ ลงพื้นที่หมู่บ้านทีโนะโคะ คือหน้าต่างบานแรกของการเดินทางเรียนรู้ที่ไกลออกไปจากบ้านและโรงเรียน เธอเป็นผู้นำและกล้าแสดงออกในโรงเรียน แต่พอมาค่ายกิจกรรมของโครงการฯ ที่มีเพื่อนๆ ต่างโครงการฯ มาแลกเปลี่ยนกัน เธอกังวล กลัวและไม่กล้าแสดงออก จ๋าเงียบและสังเกตว่าทุกคนทำอะไร เมื่อเห็นว่าพื้นที่นี้ไม่ใช่พื้นที่ที่ทุกคนมาแข่งขันกัน แต่มาช่วยกันคิด แลกเปลี่ยนเรียนรู้และให้กำลังใจ จ๋าจึงเปิดใจและผ่อนคลายมากขึ้น “ตอนแรกที่พี่ๆ ให้หนูคิด หนูคิดไม่เป็น ไม่กล้าคิด” จ๋าเล่าถึงช่วงแรกที่ได้ร่วมกิจกรรมกับเพื่อนที่หลากหลาย แต่ตอนนี้จ๋ากล้าคิด กล้านำเสนอแม้จะประหม่าอยู่บ้าง แต่จ๋ามีความสุขในเส้นทางการเรียนรู้ สำหรับจ๋าวันนี้ ความยากคือความท้าทาย เพราะเธอเชื่อเสมอว่า อนาคตต้องเจอเรื่องยากกว่านี้และวันนี้เธอต้องลองทำให้ได้


ความโดดเด่น
  • มุ่งมั่น แม้ในใจจะกลัวแต่ใจที่อยากเรียนรู้และมีเป้าหมายทำให้ละทิ้งความกลัว ความอาย ความกังวลออกไป แต่เลือกเส้นทางการลงมือทำ
  • ความคิดที่มีเป้าหมายชัดเจน คิดถึงอนาคต จึงอยากจะเรียนรู้และประเมินได้ว่าผลแห่งการเรียนรู้วันนี้คือเส้นทางที่จะทำให้เข้าใจผู้คนและสังคมที่หลากหลายมากขึ้น
  • การเป็นผู้นำที่ประณีประนอม รับผิดชอบต่อหน้าที่ ลงมือทำก่อน เปิดพื้นที่ให้เพื่อนได้เรียนรู้และค้นหาความรับผิดชอบด้วยตัวเอง