กลุ่มเยาวชนฉิโพเกว เป็นกลุ่มเยาวชนในชุมชนบ้านห้วยน้ำนัก ก่อนหน้านี้เยาวชนเคยทำโครงการเพื่อเรียนรู้สมุนไพร จึงตั้งชื่อกลุ่มว่า “ฉิโพเกว” แปลว่า ใบสาบเสือซึ่งมีสรรพคุณเป็นยาเมื่อนำมาทาแผลสดสามารถทำให้เลือดหยุด และอีกความหมายคือ เสือ เป็นตัวแทนแห่งความกล้า พวกเขานิยายความกล้าของกลุ่มเยาวชนว่า กล้าที่จะลุกขึ้นมาทำ กล้าที่จะรวมตัวกันเป็นเครือข่าย กลุ่มเยาวชนฉิโพเกว มีสมาชิกมากกว่า 50 คน ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล - มัธยมศึกษา มีแกนนำเป็นรุ่นพี่จำนวน 12 คน ซึ่งบางคนเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัย เซ่ แกนนำเยาวชนเล่าเหตุผลที่กลุ่มเยาวชนเข้าร่วมทำโครงการเพราะว่า “ชุมชนของเรามีปัญหา กรมป่าไม้จะเข้ามาดูแลป่าชุมชน คนในชุมชนจะไม่สามารถเก็บอาหารได้ กลัวว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นในชุมชน ถ้าเราทำโครงการนี้เป็นรูปธรรม เป็นตัวอักษรให้เขาเห็นว่า ชุมชนมีวิถีชีวิตแบบนี้มาตั้งนานแล้ว น่าจะช่วยชุมชนได้ พี่ถั่วงอกชวน ผมก็คิดว่าช่วยในด้านนี้ได้ ช่วยประสานงานวิจัยกับผู้ใหญ่บ้าน ปราชญ์ชุมชน เรื่องข้อมูลพื้นที่ประวัติชุมชน กลุ่มฉิโพเกวที่ผมเคยทำงานด้วยก็เข้ามาร่วม เพื่อให้น้องๆ มีประสบการณ์ ให้เป็นแกนนำเยาวชนต่อไป” เซ่ 1 ในแกนนำหลักเล่าจุดเริ่มต้นก่อนนำเสนอโครงการฯ
บ้านห้วยน้ำนักเป็นที่ราบ หมู่บ้านตั้งอยู่กลางหุบเขาที่เงียบสงบ อยู่ใกล้น้ำพุร้อนและน้ำตกพาเจริญ เยาวชนเล่าให้ฟังว่าสมัยที่พวกเขาเด็กๆ มีรถน้อย ต้นไม้เยอะ ดอกไม้กินได้เต็มไปหมด แต่เวลาเปลี่ยนไปมีโรงงานผลิตน้ำแร่เข้ามาตั้งใกล้ชุมชน แม้ทำให้คนในชุมชนได้ออกไปรับจ้างทำงาน แต่ก็มีคนภายนอกเข้ามาใช้พื้นที่ป่าชุมชนมากขึ้น จากเดิมที่หาเพื่อกิน แต่พักหลังมามีคนเข้าเก็บเพื่อขายเยอะขึ้น
การทำงานโครงการฯ ของเยาวชน พวกเขาต้องทำงานอย่างมีระบบ ลำดับความสำคัญว่าทำอันไหนก่อนหลัง จากนั้นทำปฏิทินฤดูกาลว่าดอกไม้นี้ขึ้นฤดูไหน เก็บเดือนไหน ในดอกไม้มีสรรพคุณอะไร ใช้ส่วนไหนมาทำ ทำแผนที่ชุมชน เขียนเส้นทางหลัก สถานที่สาคัญ เพื่อให้การทำงานเป็นไปตามแผน ก่อนเข้าไปเก็บกลุ่มเยาวชนฉิโพเกวจะถามปราชญ์ชาวบ้านว่าโซนไหนที่จะเข้าไปเก็บ เขาจะมาร์กไว้ในแผนที่ว่าขึ้นจุดใด บางชนิดช่วงที่ไปไม่ใช่ฤดูกาลก็ไม่เห็นดอกไม้ แม้บางชนิดจะทราบข้อมูลแล้วว่าถึงฤดูกาล แต่เมื่อเข้าไปดอกไม้ก็โรยราไปแล้ว เยาวชนบอกว่าเสียดาย หากพวกเขาได้เห็นของจริงจะเข้าใจและเห็นภาพชัดเจนขึ้น แกนนำส่วนใหญ่ศึกษาอยู่ ไม่ได้พักอาศัยในชุมชน จึงจำเป็นต้องสื่อสารการนัดหมายกับเด็กและเยาวชนผ่านครูเอ็ม (ที่ปรึกษาโครงการ) ครูเอ็มจะช่วยอำนวยการนัดหมายเพื่อให้เด็กๆ ที่อยู่ในชุมชนมาตามนัด หลังจากบันทึกดอกไม้กินได้แล้ว แกนนำได้เชิญวิทยากรภายนอกที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านพืชศาสตร์มาให้ความรู้เพิ่มเติม
ปัญหาที่พบส่วนใหญ่เป็นเรื่องการสื่อสาร เนื่องจากต้องส่งข่าวกันเป็นทอดๆ บางครั้งสื่อสารผิดพลาด นัดหมายไม่เจอกัน พวกเขาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าว่าหากวันนั้นปราชญ์ชาวบ้านคนไหนสะดวกก็ไปเก็บข้อมูลก่อน จากเยาวชนที่ไม่รู้จักดอกไม้ ไม่รู้ชื่อ วันนี้พวกเขารู้จักและสามารถนำมาทำอาหารในเมนูแสนอร่อยได้ “หนูชอบดอกดิน ไม่เคยเห็นเลย อยู่ในดินงอกขึ้นมามีสีขาว สีม่วง กินได้ เอาไปต้มหรือทอดก็ได้ รสชาติจืด ต้องกินกับน้ำพริก ดอกกระเจี้ยวกินได้เช่นกัน ดอกไมยราพย์ เป็นสมุนไพรเอาไปต้มแช่เท้า ดอกมะละกอ แกงกิน ต้มกินได้ กินกับน้ำพริก ลวก เอาไปปิ้งไฟ ย่างไฟอ่อนๆ ก็ได้ค่ะ” น้องเยาวชนเล่าถึงความประทับใจต่อดอกไม้กินได้
โครงการฯ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เยาวชนเกิดความตระหนัก เก็บบันทึกข้อมูลอย่างเป็นรูปธรรมว่า คนอยู่กับป่าได้ และป่าชุมชนเป็นเสมือนโรงอาหารใหญ่ของชุมชน ที่ทุกคนสามารถหากินและดูแลไปพร้อมๆ กัน กลุ่มเยาวชนฉิโพเกวได้เรียนรู้ว่า วิถีแห่งการพึ่งพาตนเองไม่ได้สูญหายไปไหน พวกเขาทำงานร่วมกันอย่างสมานสามัคคี รักใคร่ปรองดองดั่งพี่น้อง ช่วยเหลือกันทำงาน รับฟังและเคารพในความคิดเห็นของกันและกัน และอยากเป็นส่วนหนึ่งของการยืนยันกับรัฐว่า ที่นี่คือบ้าน ที่พวกเขาจะร่วมเรียนรู้ รู้จัก และดูแล โครงการฯ ยังทำให้เยาวชนในชุมชนได้มีพื้นที่แสดงศักยภาพ ได้เรียนรู้การทำงานร่วมกัน ได้บันทึกซึ่งต้นไม้บางชนิดใกล้สูญพันธุ์ พวกเขาคิดว่าหากพวกเขารู้จักจะสามารถทำให้กลับมามีดั่งเดิมได้ ทุกคนจะได้ประโยชน์ พวกเขาไม่หยุดแค่ศึกษาแต่ยังคิดถึงการพัฒนาต่อยอดสร้างรายได้ให้กลุ่มเยาวชน “หากพืชชนิดไหนใกล้สูญหาย กลุ่มฉิโพเกวก็จะนำกลับมาเพาะใหม่ อนุรักษ์ไว้ สมุนไพรเราก็สามารถนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ได้ เรายังไม่ค่อยมีองค์ความรู้ในการทำดอกไม้กินได้นัก บางชนิดจะให้สี มีสรรพคุณ เราเอาสีจากดอกไม้มาทำ มาใส่ในอาหารพื้นบ้าน สร้างความน่ากิน เราเอาสีไปทำกิจกรรมให้น้องๆ ได้ออกแบบกิจกรรม โดยใช้สีของดอกไม้ ทำขนม เพื่อที่ว่าอนาคตจะขายที่สหกรณ์ของโรงเรียนได้ มีโลโก้ของเราด้วยถ้าเราทำได้จริงเราก็สามารถขายตามตลาดได้” ความยั่งยืนที่เกิดขึ้นภายใต้โครงการดอกไม้เพื่อความมั่นคงทางอาหารในบ้านห้วยน้ำนัก ไม่ได้ตอบโจทย์เพียงแค่ความมั่นคงทางอาหารของชุมชนเท่านั้น แต่เป็นความยั่งยืนที่เยาวชนเห็นช่องทางในการดูแลตัวเอง สร้างรายได้ และเป็นเครือข่ายในการดูแลบ้านเกิด เมื่อพื้นที่ของการเรียนรู้โดยคนรุ่นใหม่กว้างขึ้น ความรักและหวงแหนจะถูกถ่ายทอดอย่างเป็นรูปธรรม
ความโดดเด่น
- สำนึกรักบ้านเกิด ลุกขึ้นอยากแก้ปัญหาของชุมชนในกรณีการใช้ประโยชน์จากป่าชุมชน มองเห็นอนาคตว่าถ้าตัวเองไม่ทำอะไรจะเกิดอะไรขึ้นกับชุมชน
- ทักษะการเก็บข้อมูล และทำงานร่วมกับชุมชน
- เป็นพื้นที่ให้เครือข่ายเยาวชนในชุมชน ได้มีบทบาทและแสดงศักยภาพคนรุ่นใหม่ในการเข้ามามีส่วนร่วมดูแลชุมชน