ครูเดอมิทชาวออสเตรเลีย คณบดี คณะสังคมศาสตร์ ของศูนย์การศึกษาซูแมวคี เริ่มทำงานครูอาสาที่ศูนย์ซูแมวคี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 ในโปรแกรมฝึกงานระดับนานาชาติซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรปริญญาโท สาขาการทำงานทางสังคมของมหาวิทยาลัยในประเทศออสเตรเลีย หลังสำเร็จการศึกษา ทำงานสอนหนังสือที่ศูนย์ซูแมวคีมาแล้วเกือบ 6 ปี ครูพลาตูเป็นชาวกะเหรี่ยงที่ออกมาจากประเทศพม่าเมื่อปี พ.ศ. 2555 เพราะเหตุความขัดแย้งและความรุนแรงระหว่างรัฐบาลพม่าและกลุ่มกระเหรี่ยง สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี สาขาสังคมศาสตร์ จากศูนย์ซูแมวคีเมื่อปีที่แล้ว ปัจจุบันเป็นอาจารย์คณะสังคมศาสตร์ ครูพลาตูเป็นลูกศิษย์ของครูเดอมิท ทั้งครูเดอมิทและครูพลาตูร่วมทีมเป็นพี่เลี้ยงให้กับนักศึกษาในโครงการ Physical Creative Activities for Thoo Mweh Khee Migrant School (PCA)
โครงการ PCA เริ่มจากครูเดอมิท ชวนให้นักศึกษาสมัครขอทุนโครงการ Active Citizen ณ เวลานั้น ครูพลาตูเรียนยังอยู่ชั้นปีสุดท้ายจึงรวบรวมเพื่อนนักศึกษาเขียนโครงการขึ้น โดยช่วยกันค้นหาว่านักเรียนซูแมวคีว่าต้องการอะไร ทั้งกลุ่มเลือกกิจกรรมเคลื่อนไหวทางกาย เพราะสังเกตเห็นว่าเพื่อนนักศึกษา เงียบ ค่อนข้างเครียด มีปัญหาการจัดการอารมณ์ และการเข้าสังคม ถ้าทำให้กลุ่มมีกิจกรรมการขยับเคลื่อนไหวร่างกาย กระตือรืนร้นขึ้น ก็จะลดความเครียดลง เป็นโอกาสให้ได้พัฒนามิตรภาพระหว่างกัน และสร้างสุขภาพโดยรวม เมื่อโครงการผ่านได้รับการสนับสนุน ครูพลาตู ได้เป็นอาจารย์ ดังนั้นจากนักศึกษาในทีมเขียนโครงการ ครูพลาตูเขาจึงขยับขึ้นมาเป็นที่ปรึกษาโครงการและทำงานกับนักศึกษาจัดระบบในการพัฒนาโปรแกรมของโครงการ PCA กับนักศึกษาในทีม 12 คน ซึ่งเรียกตัวเองว่า PCD Team
บทบาทที่ครูเดอมิทและครูพลาตูได้ทำในโครงการนี้ คือ 1. พัฒนาศักยภาพ ค้นหาจุดแข็งที่สร้างแรงบันดาลใจ ทำกิจกรรมละลายพฤติกรรม สร้างความเป็นทีม ฝึกการแก้ปัญหาและเปิดให้นักศึกษาปรึกษาหารือกัน 2. ถอดบทเรียนรู้หลังทำกิจกรรมด้วย 3 คำถาม คือ มีอะไรที่ดีเกิดขึ้น, สิ่งที่พวกเขาจะทำให้ดีขึ้นในครั้งต่อไป และอะไรที่ทำให้นักศึกษาให้ความร่วมมือตลอดเวลา และใส่ใจกับการดำเนินโครงการทุกขั้นตอน หารือร่วมกันทุกครั้งที่มีโอกาส 3. การเสริมพลังให้นักศึกษาเชื่อมั่นในตัวเอง โดยการเสริมแรงทางบวกบอกพวกเขาว่าพวกเขาทำอะไรได้ดี หลีกเลี่ยงจุดอ่อนด้วยนิสัยเชิงบวก เช่น “ไม่พูดว่าทำไมคุณมาสาย หรือพูดสิ่งที่ทำให้เขาผิดที่มาสายวันนี้ โดยบอกว่าคุณจะทำอย่างไรให้พรุ่งนี้คุณมาตรงเวลา” 4. การจัดสมดุลอำนาจลดช่องว่างระหว่างครูศิษย์ ลงเล่นกีฬาเป็นลูกทีมเหมือนกับนักศึกษาแต่อยู่คนละทีม สร้างความรู้สึกร่วมทีมเดียวกันไปถึงเป้าหมายเดียวกัน เวลาที่พวกเขามีปัญหาก็จะตรงมาหาครูโดยที่ไม่รู้สึกเขินอาย 5. ทำเป็นตัวอย่าง ให้อิสระนักศึกษาไม่ครอบงำ ผลักดันให้นักศึกษาลุกขึ้นมานำกลุ่ม “ผมจะไม่ควบคุมโครงการมากนัก โดยจะต้องรู้เนื้อรู้ตัวว่าพวกเราจำเป็นต้องถอย เพื่อให้นักศึกษาสามารถดูแลโครงการได้” 6. พร้อมให้คำแนะนำเมื่อนักศึกษาในทีม PCA เข้ามาปรึกษา “เมื่อคุณต้องเจอกับนักศึกษา คุณจะต้องแสดงถึงพลังงานที่เต็มเปี่ยม คุณต้องส่งต่อพลังงานที่เต็มเปี่ยมในการมีส่วนร่วม” 7. กระตุ้นนักศึกษาให้ทำงานตามแผนปฏิบัติการ “ไปเตือนนักศึกษาแต่ต้องไม่ทำให้ เราจะไปบอกว่าเกิดอะไรขึ้นอาทิตย์นี้ อะไรจะเกิดขึ้นต่อไปตามแผนปฏิบัติการของเรา พวกเขาจะต้องช่วยกันระบุออกมา” 8. สังเกตความเปลี่ยนแปลงของนักศึกษาทั้งพฤติกรรม การแสดงออกในสื่อออนไลน์ ที่มีการให้กำลังใจกันและกันภายในกลุ่ม
ปัญหาหลักที่ทีมพี่เลี้ยงพบในโครงการนี้คือ การเขียนข้อเสนอโครงการ รายงานการวิจัย เพราะเคยมีประสบการณ์เฉพาะการเขียนรายงานดำเนินงานเรื่องโครงสร้างพื้นฐานให้แหล่งทุน จึงขาดแนวทางในการจัดทำรายงานการพัฒนาศักยภาพมนุษย์และการวิจัยซึ่งเป็นเรื่องใหม่สำหรับทีม ปัญหานี้เองทำให้ทีมเรียนรู้ที่จะเผชิญความท้าทาย อดทน พยายาม ยึดประโยชน์ต่อนักศึกษา แม้ว่าจะต้องเขียนข้อเสนอโครงการถึง 10 ครั้งก็ตาม ทางออกควรจะมีการอบรมทักษะการเขียนรายงานก่อนเริ่มโครงการ
การเรียนรู้ที่สำคัญของทีมพี่เลี้ยง คือ พิจารณาด้านลบค้นหาประโยชน์ข้อท้าทายและวิธีการเอาชนะ ในบางครั้งที่นักศึกษามาน้อย มองเชิงบวกทำงานกับกลุ่มที่มา ไม่ท้อแท้ใจ สร้างความสัมพันธ์สองทาง ใส่ใจกันและกัน ความสัมพันธ์ที่ดีเสริมความมั่นอกมั่นใจ ให้นักศึกษาพัฒนาความเชื่อมั่นในตัวเอง ต้องพร้อมส่งเสริมนักศึกษาเสมอ เพราะนักศึกษานั้นเผชิญหลายปัญหาจากภูมิหลังของเขา ครอบครัวไม่สามารถสนับสนุนเขาได้ จำเป็นต้องวางแผนเพื่อให้พวกเขารู้สึกปลอดภัยและเป็นพี่เลี้ยงให้เขาได้ ต้องไม่มีกำแพงกับนักศึกษา เปิดการสื่อสารสำหรับพวกเขาสื่อสารเข้าใจง่าย และเปิดความสัมพันธ์ สร้างอารมณ์ขันด้วยเรื่องตลก
โครงการ PCA สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับนักศึกษาซูแมวคีที่ร่วมโครงการ ทีมพี่เลี้ยงพยายามนำสิ่งเหล่านี้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนและเป็นกิจกรรมระหว่างวัน เพราะในปีหน้าการเปิดสอนโปรแกรมพละศึกษา คือ เรื่องจำเป็นที่ศูนย์ซูแมวคีต้องดำเนินการ ปัจจุบันการเรียนการสอนเริ่มตั้งแต่ 8:45 น. ถึงบ่าย 3:10 น. ไม่มีกิจกรรมขยับร่างกาย ถ้าทำ1 คาบ/สัปดาห์ ได้ จะช่วยให้นักศึกษาเบิกบาน ลดความเครียดได้ สร้างมิตรภาพนอกห้องเรียน เล่นกีฬากลางแจ้ง นอกชั้นเรียน ทุกวันนี้พวกเขาเพียงจดจ่ออยู่กับการเรียน ถ้ามีกิจกรรมก็จะช่วยเรื่องการจดจ่อ มีสุขภาพจิตขึ้นตามลำดับทั้งด้านสังคมและสุขภาพใจ
ความโดดเด่น
- การเสริมพลังเชิงบวกเข้าใจภูมิหลังความเครียด ความกดดันของนักศึกษา
- สร้างกระบวนการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ในทุกขั้นตอนของโครงการ
- สังเกตพัฒนาการการเรียนรู้ของนักศึกษาสม่ำเสมอ
- สะท้อนคิดถอดบทเรียนงานและตัวเองสม่ำเสมอ เตรียมพร้อมจัดการสภาวะภายในตัวเองให้สมดุล เชิงบวก และทรงพลังก่อนการหนุนเสริมทีมนักศึกษา (PCA Team)