ความโดดเด่น :
- กระบวนการทำโครงการเป็นเครื่องมือที่ฝึกให้เด็กหญิงที่ไม่กล้าพูด แต่ต้องขึ้นมาเป็นผู้นำในการทำโครงการ ต้องก้าวข้ามข้อจำกัดของตัวเอง มาฝึกคิด ฝึกวางแผน บริหารจัดการงานในโครงการ แก้ปัญหา ฝึกเรื่องการทำงานกับผู้อื่น ฝึกหาข้อมูลความรู้ และลงมือทำเพื่อให้งานสำเร็จ จนมีความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการที่ดีขึ้น นับว่าเป็นจุดเปลี่ยนของเด็กคนนี้ที่น่าติดตามพัฒนาการของเธอต่อไป
- ฟ้ามีกระบวนการคิดตามหลักวิทยาศาสตร์ จะศึกษาหาข้อมูล ทดลองทำ ปรับใช้ เมื่อเกิดปัญหาจะตั้งสมมุติฐานมากกว่า 1 อย่าง ค้นคว้า รวบรวม และนำมาปรับใช้
- มีความเป็นผู้นำที่ดี ลงมือปฏิบัติ มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ แบ่งเวลาอย่างเหมาะสม
- ทักษะการสื่อสาร (Communication) ชัดเจน เรียบเรียงดี มีลำดับให้ผู้ฟังเห็นภาพและเข้าใจ
ฟ้า วราภรณ์ ประวัติ เด็กสาวจากอำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี อายุ 17 ปี เธอศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนบ้านตาขุนวิทยา รับหน้าที่เป็นประธานโครงการคนกล้าดี ฟ้ามาทำโครงการโดยการชักชวนของครูจำลอง พี่เลี้ยงโครงการ เดิมทีครูจำลองชักชวนเด็ก ๆ ในหมู่บ้านทำกิจกรรมปลูกผักอยู่แล้ว พอมีโครงการ Active citizen จึงชักชวนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ในซอยมาร่วมเสนอความคิดเห็น ฟ้าอยากมีความรู้และประสบการณ์ใหม่ ๆ เพราะว่าอยู่ที่บ้านไม่ค่อยได้ทำอะไร อีกทั้งในโครงการยังมีญาติ พี่น้อง ที่รู้จักกัน แม้ครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกที่เธอทำโครงการลักษณะนี้ แต่ก็รู้สึกอุ่นใจ
โครงการคนกล้าดีคือการรวมตัวของเยาวชนที่ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ปลูกผัก เลี้ยงปลา เลี้ยงหอยขม เก็บเมล็ดพันธุ์พืชที่จะปลูกในครั้งต่อไป โดยดูแลพืชผักด้วยระบบอินทรีย์ พึ่งพาตัวเอง โดยมีเยาวชนเป็นหลักและผู้ใหญ่ในชุมชนสนับสนุนการทำงาน
ก่อนหน้านี้ ฟ้าเป็นคนเงียบ พูดไม่เก่ง ประหม่าเมื่อต้องพูดต่อหน้าคนอื่น อยู่บ้านทำงานบ้าน ไม่ได้ทำสวนหรือปลูกผัก เมื่อมารับบทบาทเป็นประธานโครงการทำให้ฟ้าได้พบปะผู้คน ได้นำประชุม แบ่งบทบาทหน้าที่ให้ทีม โดยจะถามน้อง ๆ ในโครงการก่อนเสมอว่าอยากทำแบบไหน อยากทำอะไร เพื่อแบ่งหน้าที่กัน เรียกได้ว่าเธอเป็นพี่ใหญ่ มีบทบาทสำคัญที่ต้องนำทีมให้ทำภารกิจนี้ด้วยกันให้ได้ เมื่อถามว่าเธอเป็นประธานโครงการแบบไหน ฟ้าบอกว่า เธอพยายามรับฟังเวลาที่น้องในทีมยกมือถาม มีบางครั้งที่น้อง ๆ คุยกันไม่ฟัง ฟ้าจะหยุดเงียบรอจนน้อง ๆ รู้ตัว จึงพูดต่อ เพื่อให้ทุกคนเข้าใจตรงกัน ฟ้าคิดว่าการดุน้อง ๆ ไม่เป็นประโยชน์ต่อการร่วมงานกัน
อีกบทบาทที่สำคัญของฟ้าจากการที่รับบทบาทเป็นประธานโครงการคือ “การแก้ปัญหา และบริหารจัดการเพื่อให้งานบรรลุเป้าหมายให้จงได้” ฟ้าเล่าว่าในระหว่างทำโครงการมีปัญหาหลายอย่างที่เธอต้องหาทางจัดการและแก้ปัญหา เช่น เนื่องจากฟ้าและเพื่อนยังเรียนหนังสือ จะมีเวลามาทำกิจกรรมอย่างเต็มที่คือวันเสาร์-อาทิตย์ ในขณะที่ผักที่ปลูกและปลาที่เลี้ยงต้องได้รับการดูแลอย่างสม่ำเสมอ ฟ้าต้องจัดการเวลาของตัวเองโดยในช่วงเช้าจะให้อาหารปลา หากทันจะรดน้ำผัก แต่หากไม่ทันจะกลับมารดในช่วงเย็น ซึ่งบางครั้งกลับไม่ทัน คุณพ่อคุณแม่จะเข้ามาช่วยรดน้ำให้ แล้วฟ้าและทีมจะใช้เวลาวันเสาร์-อาทิตย์ ในการบำรุงดิน ดูแลแปลง พรวนดิน ตัดแต่งผัก การดูแลผักทำให้ฟ้าใจเย็นมากขึ้น เธอยอมรับว่าการดูแลผักต้องใช้เวลา ค่อย ๆ ทะนุถนอม มั่นศึกษาหาวิธีการมาดูแลให้ดี
นอกจากนี้ ปัญหาอีกประการระหว่างทำโครงการคือ การทำงานเป็นทีมของทีมงาน เธอบอกว่า เวลานัดเพื่อนบางทีเพื่อนมาไม่ครบเพราะว่าบางคนติดธุระ เวลานัดทำงานจึงไม่ค่อยพร้อมหน้ากัน จึงเป็นความท้าทายของประธานโครงการมือใหม่ที่ต้องจัดการอารมณ์ตัวเอง และบริหารจัดการทีมให้ทำงานต่อไปได้
อีกบทบาทหน้าที่ ฟ้าจะเป็นคนรวบรวมเงินออมของกลุ่ม จากการออมวันละบาท เพื่อนำเงินส่วนนี้มาหมุนเวียนและพัฒนางานที่ทำอยู่ให้ดีขึ้น และยังช่วยบริหารกลุ่มในระหว่างรอผลผลิต ฟ้าจะเป็นคนทำบัญชี ยึดหลักความซื่อสัตย์
นอกจากการบริหารจัดการงานและทีมแล้ว สิ่งหนึ่งที่ฟ้าเล่าว่าเธอได้ฝึกด้วยคือในส่วนของเนื้อหาความรู้ที่ต้องใช้ในการทำโครงการ เช่น เรื่องการเลี้ยงหอยขม เรื่องระบบน้ำ เรื่องอาหาร เธอต้องค้นคว้าหาความรู้จากอินเทอร์เน็ต และ YouTube สิ่งไหนทำไม่เป็นก็จะลองทำไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะสำเร็จ รวบรวม ทดลองทำ ปรับไปเรื่อย ๆ ลองตั้งสมมติฐานว่าทำไมหอยจึงหยุดโต และพบว่ามีหลากเหตุผล เป็นความท้าทายที่ฟ้าอยากทำให้สำเร็จ
จากประสบการณ์เหล่านี้ฟ้าบอกว่ามันทำให้เธอกล้าแสดงออก ฟ้าคนที่พูดไม่เก่ง ประหม่ามากๆ เมื่อต้องพูดต่อหน้าผู้อื่น ตอนนี้มีพัฒนาการสามารถเล่าเรื่องราวของโครงการคนกล้าดีอย่างมั่นใจ ฉะฉาน เธอสะท้อนว่า มาจากการลงมือทำจริงจังตั้งแต่ต้นกระบวนการ จึงสามารถรวบรวมคำพูดเพื่ออธิบายในคนอื่น ๆ เข้าใจ ช่วงแรกจะซ้อมการนำเสนอกับเพื่อนในโครงการ ประกอบกับระหว่างทำโครงการเธอต้องพูดนำเสนอบ่อย ๆ ความตื่นเต้นก็น้อยลง มั่นใจในการพูดมากขึ้น กล้าคิดกล้าพูด และเรียบเรียงเรื่องราวได้อย่างมีลำดับ
เรื่องความรับผิดชอบถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นที่สุดของฟ้า เธอบอกว่า “รู้จักรับผิดชอบในหน้าที่มากขึ้น เพราะได้รับมอบหมายเป็นประธานโครงการ...มีหน้าที่เพิ่มขึ้นมาจากปกติ แต่ก่อนเราจะเป็นแค่ลูกน้องลูกมือ แต่ตอนนี้มาเป็นพี่เลี้ยงคอยช่วยฝึกน้อง ๆ รู้สึกว่าเรารับผิดชอบงานได้หลากหลายมากขึ้น จากที่ไม่เคยรับผิดชอบอะไรเลยก่อนหน้านี้”
ไม่เพียงการเติบโตของตัวเธอเอง หรือผักในแปลงที่งอกงามสมบูรณ์ ฟ้าพบว่าความสัมพันธ์ในเครือญาติก็งอกงาม แนบแน่น จากที่ไม่ค่อยได้คุยกันก็ได้คุยกัน เธอเห็นความผูกพันและความรักกันผ่านความร่วมมือ ผู้ใหญ่ในชุมชนสนับสนุน แบ่งปันพื้นที่ให้เยาวชนทำแปลง ทำคานไม้ให้ผักได้เลื้อยเติบโต การปลูกผักทำให้ลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน อีกทั้งยังสร้างวัฒนธรรมแห่งการแบ่งปันในชุมชน เมื่อผักได้ผลผลิตนอกจากนำไปขายแล้ว ก็ได้นำมาแบ่งปันให้กันและกัน
อนาคตฟ้าอยากทำอาชีพที่สามารถทำแล้วมั่นคง อยู่ได้ไม่ว่าจะมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น ปัญหาจะไม่กระทบกับชีวิต และมีความยั่งยืน