นภัสวรรณ บัวแก้ว
แกนนำเยาวชน Active Citizen จ.สุราษฎร์ธานี
ตำแหน่งที่ได้รับในโครงการต่างๆ
ประวัติและผลงาน

ความโดดเด่น :

  • มีภาวะความเป็นผู้นำ และทำงานเป็นทีมได้ (Collaboration)
  • ยอมรับข้อจำกัดและมีเพื่อนที่ให้คำปรึกษาอย่างสร้างสรรค์
  • มีความรับผิดชอบมุ่งความสำเร็จ ปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมเรียนรู้และแก้ไขปัญหา

        ฟ้า นภัสวรรณ บัวแก้ว เป็นเด็กกิจกรรมในโรงเรียน ร่าเริง มีความเป็นผู้นำ ความมั่นใจในตัวเอง เป็นครั้งแรกที่ฟ้าทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับชุมชน การเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ของโรงเรียนท่าชนะ มีวิชาค้นคว้าอิสระ (Individual Study: IS) เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้เชิงปฏิบัติการ ฟ้าและเพื่อน ๆ ลงมติเลือกหัวข้อศึกษาคุณค่าและความสำคัญของลูกปัดโบราณ ฟ้ารู้สึกท้าทายกับหัวข้อนี้ รับหน้าที่เป็นหัวหน้าโครงการ

บทบาทของฟ้าในฐานะหัวหน้าโครงการ คือ การค้นหาทีมงานที่สนใจซึ่งมีทั้งรุ่นน้องและเพื่อนในรุ่นเดียวกันรวม 10 คน จากโครงการฯ สู่การเปิดชุมนุมรับสมัครสมาชิกเข้าร่วมศึกษาและให้พื้นที่รุ่นน้องเตรียมตัวเรียนวิชานี้ ฟ้าจัดการทีมแบ่งหน้าที่ตามความสนใจและความถนัดของสมาชิก จัดประชุมวางแผนงานการลงพื้นที่เก็บข้อมูลที่มีเวลาจำกัด ฟ้าแก้ปัญหาให้ทีมงานใช้การสื่อสารข้อมูลผ่าน Page เพื่อให้ทีมที่ไม่สามารถลงพื้นที่เก็บข้อมูลได้รับรู้ข้อมูลเช่นเดียวกัน ทุกครั้งที่ต้องตัดสินใจ ฟ้าเลือกใช้การลงมติตามวิถีประชาธิปไตย ใช้เครื่องมือ Timeline สร้างความเข้าใจเรื่องการศึกษาข้อมูลกับทีมงานและพร้อมอธิบายเพิ่มเติมเมื่อทีมสังสัย ขณะเดียวกันก็สร้างกำลังใจให้ทีมงานรุ่นน้องมีความมั่นใจในการทำกิจกรรมด้วยตัวเอง และประสานงานขอการสนับสนุนจากผู้ที่เกี่ยวข้องในจุดที่ติดขัด

ในช่วงแรก ฟ้ารู้สึกท้อ ที่ไม่สามารถสื่อสารกับรุ่นน้องให้เข้าใจตรงกันได้ แต่ฟ้ามีเพื่อนสนิท ชื่อขวัญ (รองหัวหน้าโครงการ) ให้คำปรึกษา ช่วยกันคิดและมองในมุมรุ่นน้อง ฟ้าจึงปรับการเข้าหาใช้ความร่าเริง ลดความเกร็งและสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาเรื่องวัตถุประสงค์ของการทำโครงการฯ ทำให้ทุกฝ่ายเข้าใจและดำเนินกิจกรรมได้ เธอบอกว่า “การพูดรู้วิธีการพูดที่ไม่ทำให้น้อง ๆ กดดัน เครียด รู้วิธีพูดให้กำลังใจน้อง ๆ พูดเพื่อหาทางออกร่วมกัน เมื่อก่อนเราพูดแล้วน้องไม่เข้าใจ น้อง ๆ กดดันเพราะเราพูดเชิงวิชาการ”

ฟ้าพบอุปสรรคอีกครั้งในช่วงลงชุมชน เธอไม่พบผู้ให้ข้อมูลเชิงลึกได้ จึงนำปัญหานี้ไปปรึกษาพี่เลี้ยงโครงการ คุณครูแนะนำให้ไปหาผู้นำในชุมชน (Key person) ที่สามารถชี้เป้า แนะนำ และสนับสนุนกิจกรรมของฟ้า ฟ้าและเพื่อนจึงไปปรึกษากำนัน ซึ่งทำให้ฟ้งได้พบผู้รู้ นักสะสมลูกปัด นักขุดลูกปัดโบราณในชุมชน

การทำงานจริง ทำให้ฟ้าได้เรียนรู้การบริหารจัดการ วางแผนและ วิธีการสื่อสารและสร้างความสัมพันธ์กับผู้ใหญ่ในชุมชน ฟ้าหัดตั้งคำถามเพื่อเก็บข้อมูล รับผิดชอบการทำค่ายที่พารุ่นน้องเรียนรู้และลงชุมชน ลดความคาดหวังต่อตัวเองและผู้อื่น เพราะความคาดหวังต่อตัวเองทำให้ฟ้าตั้งคำถามและกดดันกับตัวเองว่าเรายังทำมันไม่ดีพอ ฟ้าเรียนรู้ที่จะผ่อนคลาย มีเพื่อนที่ดีให้คำปรึกษา เมื่อพบปัญหาก็หาวิธีการแก้ปัญหา ฝึกมองภาพรวม และพยายามทำงานตาม Timeline เพื่อลดผลกระทบที่จะตามมา ฟ้าวิเคราะห์ตัวเองว่า “ในการทำโครงการมีรูปแบบและรายละเอียดเยอะ เช่น ตอนเราสัมภาษณ์มีรูปแบบที่ต้องบันทึก ชื่อ อาชีพ อายุ เนื้อเรื่องที่เป็นข้อมูล สิ่งที่ได้มายังขาดรายละเอียดชื่อคน บางทีหนูอาจจะพูดเร็วไปทำให้น้องจับประเด็นไม่ทัน พอมีปัญหาแบบนี้หนูใช้ Timeline เพื่อให้น้องได้เห็นภาพมากขึ้น”

การทำงานทำให้ฟ้าได้ฝึกการเป็นผู้ฟัง และการทำงานเป็นทีม เธอบอกว่า “การเป็นผู้ฟัง หนูฟังน้องแล้วรอให้น้องถามจึงค่อยอธิบายขยายคำตอบให้น้อง มีครั้งหนึ่งที่เราต้องทำเส้นทางประวัติศาสตร์ของลูกปัด เราทำเป็นแผ่นชาร์จให้เห็นว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร แล้วน้องถามว่า ตรงนี้หมายความว่าอย่างไร เป็นการฝึกน้องให้กล้าพูดมากขึ้น ... เรื่องการทำงานเป็นทีม ตอนที่จัดเวทีไม่สามารถขับเคลื่อนงานด้วยตัวคนเดียวได้ เราต้องทำงานเป็นทีม พอเห็นน้อง ๆ ทำรู้สึกดีมาก เราได้รับคำชื่นชมจากคุณครูที่ไม่ได้อยู่ในโครงการนี้ น้อง ๆ บอกว่าเป็นกิจกรรมแรกที่ครูไม่ต้องมาช่วยจัดการ แต่พวกเรารับผิดชอบทำกันเอง หนูรู้สึกว่าน้อง ๆ น่ารักมากที่สามารถช่วยกันทำโครงการให้สำเร็จ สิ่งที่ทำไปน้องได้ทักษะ ตัวเราก็ได้ทักษะ”

ฟ้ารู้สึกดีที่ได้ทำงานเกี่ยวกับเยาวชนแบบเต็มตัว ได้ทำอะไรที่ไม่เคยได้ทำมาก่อน เป็นการพัฒนา

ศักยภาพหลายด้านและเป็นประสบการณ์ในการใช้ชีวิตต่อไป การศึกษาลูกปัดโบราณทำให้ฟ้าได้เห็นความสำคัญของการเรียนรู้เรื่องราวของชุมชน ไม่ใช่อยากทำเพื่อจะเอาเกรด แต่เป็นเส้นทางฝึกฝนตัวเองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น