ณัฐวุฒิ สิทธิแหน
แกนนำเยาวชน Active Citizen จ.สุราษฎร์ธานี
ตำแหน่งที่ได้รับในโครงการต่างๆ
ประวัติและผลงาน

          อำเภอท่าชนะ เป็นแหล่งพบลูกปัดโบราณที่สำคัญแห่งหนึ่งในจังหวัดสุราษฎร์ธานี พบลูกปัดลม ลูกปัดแก้ว ลูกปัดหินมากมายหลากหลายสี ลูกปัดที่พบมีอายุราวๆ 1200 - 2500 ปี ซึ่งบ่งบอกถึงการเป็นเส้นทางการค้าขาย และวิถีการดำรงชีวิตในสมัยก่อน ของชุมชนบริเวณนี้

           โครงการศึกษาคุณค่าและความสำคัญของลูกปัดโบราณ เป็นหนึ่งในวิชาค้นคว้าอิสระ (Individual Study: IS) เป็นวิชาที่เรียนรู้ผ่านโครงงานของโรงเรียนท่าชนะ โดยเยาวชนได้เลือกหัวข้อตามที่ตัวเองสนใจ และเกิดการรวมตัวภายใต้ชื่อกลุ่มเยาวชนรักท่าชนะ เยาวชนเห็นว่าลูกปัดโบราณ กำลังจะเหลือน้อยลงเพราะผู้ขุดพบนำไปขายเพื่อมีรายได้ในการใช้จ่าย อีกทั้งลูกปัดไม่ถูกนำเสนอเรื่องราว จึงไม่ได้เป็นเรื่องที่ผู้คนให้ความสำคัญ เยาวชนจึงอยากศึกษาประวัติ คุณค่า รวบรวมเป็นองค์ความรู้ เพื่อนำไปสื่อสารเรื่องราวเหล่านี้ให้แกนนำเยาวชนและคนในพื้นที่เห็นถึงความสำคัญตรงนี้

           การศึกษาเรื่องลูกปัดโบราณ เยาวชนจะลงไปสอบถาม สัมภาษณ์ เรียนรู้วิธีการขุดหาลูกปัด ศึกษาชนิดและประเภท ลักษณะของลูกปัด ประวัติ ลวดลาย ความคิดความเชื่อ โดยเยาวชนได้ประสานงานผ่านกำนันตำบลวัง เพื่อนัดพบผู้ให้ข้อมูล ซึ่งส่วนใหญ่คือผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนอายุประมาณ 60 - 70 ปี จากช่วงแรกที่เก็บข้อมูล หาความรู้โดยแกนนำ ต่อมามีนักเรียนในโรงเรียนท่าชนะให้ความสนใจจำนวนมาก จึงจัดค่ายศึกษาเรื่องลูกปัด มีเยาวชนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นเข้าร่วม และนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายเป็นพี่เลี้ยงในค่าย

           ลูกปัดโบราณเชื่อมร้อยสัมพันธ์ เป็นสื่อกลางให้เยาวชนได้พูดคุย ใกล้ชิดวิทยากรชุมชนที่ผู้เก็บรักษาลูกปัด แต่ละท่านภูมิใจและยินดีนำลูกปัดที่เก็บไว้ ซึ่งปกติไม่นำออกมาให้ใครดู ได้นำออกมาให้เยาวชนศึกษา ค้นคว้า ทำให้เยาวชนอยากรู้จักและอนุรักษ์ลูกปัดโบราณจากความคิดที่ว่าลูกปัดหนึ่งลูกคือเครื่องประดับ แต่เยาวชนค้นพบว่าลูกปัดมีคุณค่า ทรงพลังทำให้พวกเขาได้เข้าใจประวัติศาสตร์ท้องถิ่น อีกทั้งการลงพื้นที่ของเยาวชนทำให้กำนัน ท้องถิ่นอยากสร้างศูนย์การเรียนรู้ในชุมชนต่อไป

            การศึกษาของจริง ลงพื้นที่จริง ทำให้เยาวชนได้พบประสบการณ์การทำงานจริง ได้วางแผนการทำงาน แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เกิดความรักและเห็นคุณค่าจากความเข้าใจระหว่างการศึกษา เยาวชนวางแนวทางในการอนุรักษ์ โดยการสื่อสารผ่านช่องทาง Facebook Page : Active ลูกปัดอำเภอท่าชนะ และเพื่อสื่อสารข้อมูลให้เข้าถึงคนในพื้นที่และกลุ่มคนที่หลากหลาย เยาวชนจึงจัดทำหนังสือลูกปัด โดยหนังสือจะไปวางและเผยแพร่ทั้งในโรงเรียน ในชุมชนตำบลวัง และสภาวัฒนธรรมอำเภอท่าชนะ เพื่อให้บุคคลทั่วไปและคนที่สนใจได้ศึกษาต่อไป ดังเช่น ขวัญ-นางสาวอรวรรณ พรมรุ่ง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 หนึ่งในสมาชิกโครงการสะท้อนว่าเธอเรียนรู้เรื่องการทำงานเป็นทีม ที่ต้องรู้จักอดทนในการทำงานร่วมกัน และอยากเรียนรู้ภูมิปัญญาต่างๆ ในชุมชน

            “ปกติหนูใช้ชีวิตแค่ไปโรงเรียนไม่เคยสนใจว่าในท้องถิ่นของเรามีอะไรดี สิ่งรอบตัวทุกอย่างดูเฉย ๆ ไปหมดพอได้เข้าร่วมโครงการนี้ได้คุณค่าลูกปัดโบราณมากขึ้น ทำให้หนูอยากเรียนรู้ภูมิปัญญาต่าง ๆ ที่อยู่ในชุมชนที่เราละเลยไม่ใส่ใจ ตอนนี้รู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ลูกปัดโบราณในชุมชนในอำเภอของหนู”


ความโดดเด่น

  • โครงการฯ เป็นพื้นที่ของการเรียนรู้เชิงปฏิบัติการ ภายใต้วิชาค้นคว้าอิสระ (Individual Study: IS) ซึ่งให้เยาวชนได้ทำโครงงานแบบ Project-Based-Learnting
  • เยาวชนให้ความสนใจ เรียนรู้ผ่านของจริง จนเกิดการตระหนักถึงคุณค่าและอยากร่วมอนุรักษ์ ในขณะที่สร้างแรงบันดาลใจให้หน่วยงานท้องถิ่นอยากสืบสานและสร้างศูนย์เรียนรู้ลูกปัดโบราณในชุมชน
  • สื่อสารเรื่องราวที่สืบค้นผ่านหลายช่องทาง