ชานนท์ ปรีชาชาญ
ครูพี่เลี้ยงโครงการพัฒนาศักยภาพเยาวชนบนฐานความรู้สู่การขับเคลื่อนงาน Active Citizen จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ตำแหน่งที่ได้รับในโครงการต่างๆ
พี่เลี้ยง/อาจารย์ที่ปรึกษา ใน เยาวชนสืบสานภูมิปัญญามโนราห์บ้านปากลัด
ประวัติและผลงาน
นายชานนท์ ปรีชาชาญ (ครูชานนท์) อายุ 30 ปี ครูภูมิปัญญา พี่เลี้ยงกลุ่มมโนราห์บ้านปากลัด
โครงการเยาวชนสืบสานภูมิปัญญามโนราห์บ้านปากลัด

­

       ครูชานนท์ ปรีชาชาญ ปัจจุบันเปิดคณะมโนราห์ ชื่อคณะพี่เสือรามจันทร์ น้องสิงห์ ศิลป์ชัย อยู่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดล คณะวิทยาศาสตร์ (วท.บ) เอกการแพทย์ เคยรับราชการอยู่ที่จังหวัดพัทลุง เป็นเจ้าหน้าที่ห้องผ่าตัด (OR) ลาออกมาเพราะอยากสืบสานมโนราห์ มรดกของบรรพบุรุษตั้งแต่รุ่นทวด คุณแม่รับราชการครูจบจากวิทยาลัยนาฏศิลปนครศรีธรรมราช คุณแม่ของครูชานนท์เคยเปิดศูนย์การเรียนทำกิจกรรมสอนโนราห์ในโรงเรียนจารึกราชต์ภาคย์ ที่อำเภอบางขัน จังหวัดนครศรีธรรมราช สิ่งเหล่านี้ครูชานนท์ซึบซับมาตลอดจนอยู่ในเนื้อในตัว

      วันหนึ่ง น้องบอม แกนนำเยาวชน มาบอกครูชานนท์ว่าอยากสมัครร่วมโครงการ เขาอยากรู้ว่ามโนราห์ของจังหวัดสุราษฏร์ธานีมีที่มาอย่างไร ครูชานนท์ที่แม้ไม่เคยทำโครงการในลักษณะนี้มาก่อน ตัดสินใจพาน้อง ๆ ไปฟังแนวคิดและรายละเอียดโครงการ ซึ่งในวันนั้นทำให้ครูเกิดแรงบันดาลใจและตั้งใจว่าจะเป็นพี่เลี้ยงโครงการฯ ให้สำเร็จ เพราะในวงสนทนาวันนั้น ทำให้ครูเข้าใจว่า "จริง ๆ ชีวิตของเด็ก อยากทำอะไรมากมายนอกจากการไปโรงเรียนและเรียนหนังสือให้เก่ง" จึงอยากตอบแทนสังคมที่หล่อหลอมให้ครูเป็นครูวันนี้ด้วยการเป็นพี่เลี้ยง สนับสนุนให้เด็กๆ ทำโครงการในชุมชน

       พี่เลี้ยงโครงการฯ ในความหมายของครูชานนท์ คือการให้เด็กได้คิด ได้ทำ ลองผิดลองถูก ครูชานนท์จะทำงานกับความคิดของเด็ก ๆ สอนให้วางแผน วางระบบการทำงาน แต่เปิดพื้นที่ให้ได้ทำ ได้เจอทางตัน ครูจะไม่บอกทั้งหมดเพราะอยากให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้จากการทำงาน ครูจะคอยสังเกตการทำงานเงียบ ๆ ไม่ทำให้เด็กเกร็ง เปิดพื้นที่ให้พวกเขาเป็นตัวเอง และหาโอกาสพูดคุยภายหลังหากมีเรื่องที่ต้องพูดคุยกับเด็กๆ ด้วยวิธีการเหล่านี้ครูพบว่าเด็กพัฒนาเร็ว เกิดข้อเรียนรู้ และรอบคอบขึ้นในระหว่างทำโครงการ เช่น การออกแบบใบสมัครสมาชิกเข้าร่วมกลุ่มมโนราห์ จากที่เก็บข้อมูลเพียงชื่อผู้ปกครอง และเบอร์ติดต่อ ช่วงหลัง น้อง ๆ ออกแบบให้เพิ่มการกรอกโรคประจำตัวด้วยเพราะมองว่าเวลาที่เด็กมาเรียน มาฝึกมโนราห์ เป็นช่วงเวลาที่พวกเขาดูแล ควรรู้ข้อมูลพื้นฐานนี้เผื่อมีเหตุจะได้ช่วยเหลือได้จากฐานข้อมูลที่มี

       “ผมกล้าพูดว่าที่เด็กพัฒนาเร็ว ผมให้เขาเรียนรู้แล้วให้เขาทำเอง ผมไม่เคยลงมือทำให้ ผมไม่บอกหมด...เทคนิคที่ใช้คือแอบดู แอบมองห่างๆ ปล่อยให้เขามีความคิดของตัวเอง ให้เขาทำไปตามอิสระ...เขาจะกล้าคิด กล้าทำมากกว่าตอนเราอยู่ด้วย ผมมองว่านอกจากเป้าหมายที่เขาต้องการเดินไปให้ถึงตามแผน เหนือสิ่งอื่นใดคือการลองผิดลองถูกของเขานี่ล่ะที่ทำให้เขาเรียนรู้ และพัฒนาตัวเองขึ้นมามีศักยภาพ”

       นอกจากนี้ ด้วยเชื่อว่าการสืบสานมโนราห์ไม่ใช่เพียงการรำเป็น แต่ต้องเรียนรู้ ตั้งคำถาม สนใจบริบทอื่น ๆ เพื่อสืบสานให้มโนราห์ยังคงอยู่ สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นต่อไป ดังนั้น ทุกครั้งที่ครูชานนท์ไปแสดงจะหาเวลาพาเด็ก ๆ ไปเรียนรู้ในแหล่งชุมชน ไปรู้จักครูภูมิปัญญา ปราชญ์อาวุโส ที่แม้ปัจจุบันท่านไม่ได้รำแล้ว แต่ท่านรู้เรื่องราวราวในอดีต ครูจะสอนให้เด็ก ๆ ตั้งคำถามและเชื่อมโยงศิลปวัฒนธรรมจากอดีตมาถึงปัจจุบัน ให้เด็กๆ ตั้งโจทย์ และวางแผนก่อนไปสัมภาษณ์ โดยให้ระดมคำถามที่อยากรู้แล้วเลือกคำถามที่สำคัญ ทุกครั้งที่ทำกิจกรรมเสร็จสมาชิกกลับกันหมด กลุ่มแกนนำจะมานั่งประชุม เขียนสรุปทุกครั้งว่าวันนี้ทำอะไร วัตถุประสงค์คืออะไร ประเมินผลลัพธ์ว่าตรงตามที่ตั้งเป้าหมายไว้หรือไม่ ถ้าไม่ตรงตามผลลัพธ์ที่วางไว้ จะมีวิธีการใหม่ หรือลองใช้เครื่องมือใหม่อะไรได้บ้าง ครูจะเป็นผู้ฟังและกระตุ้นตั้งคำถาม การสร้างพื้นที่ปลอดภัย จะทำให้เด็กกล้าที่จะคิด กล้าที่จะทำ แนะนำให้เกิดการเรียนรู้ที่พอดี ไม่ดุน้อง ไม่ใช้ความรุนแรง แต่ค่อย ๆ หาวิธีที่น้องจะเข้าใจ เรียนอย่างตั้งใจ

       ไม่เพียงเด็กๆ ที่ได้เรียนรู้ระหว่างทำโครงการ ครูชานนท์ในฐานะพี่เลี้ยง เมื่อถูกถามว่าครูเรียนรู้อะไรจากที่ได้เป็นพี่เลี้ยงให้เด็กๆ ครูชานนท์บอกว่า “ผมเรียนรู้ว่าเด็กเขามีความคิดบางอย่าง มีความคิดที่เหนือจากสิ่งที่เราคาดหวังไว้ด้วยซ้ำ แม้บางอย่างทำได้ไม่ดีเท่ากับที่เราทำ แต่เขาจะรู้จักแก้ไขหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลง รู้จักวางแผน แก้ไขสิ่งที่เขาทำผิด กล้าที่จะคิดและพูดมากขึ้น”

­

ความโดดเด่น

  • เป็นพี่เลี้ยงที่มีความเข้าใจ 3 เรื่องหลัก คือ 1) เนื้อหาเรื่องมโนราห์ จึงสามารถตั้งคำถาม โคชเด็กในระหว่างทำกิจกรรมให้ศึกษาได้ครบทั้งการรำและศึกษาประวัติ 2) เข้าใจเรื่องจิตวิทยาเด็ก มีวิธีการทำงานกับเด็กที่ทำให้เด็กไม่เกร็ง การสร้างพื้นที่ปลอดภัย ให้เด็กมีพื้นที่ได้ลองผิดลองถูก เป็นตัวของตัวเอง 3) เข้าใจเรื่องบทบาทพี่เลี้ยงในการโคชเด็กทำโครงการ คอยสังเกต ตั้งคำถาม โดยให้เด็กลงมือทำเอง
  • มีความรู้ เข้าใจบริบท เข้าใจแก่นของ "มโนราห์" ทำให้สามารถไกด์เด็กๆ ระหว่างทำโครงการให้ศึกษาเรื่องมโนราห์อย่างรอบด้าน