จำลอง บุญลา
พี่เลี้ยงเยาวชน Active Citizen โครงการพัฒนาศักยภาพเยาวชนบนฐานความรู้สู่การขับเคลื่อนงาน จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ตำแหน่งที่ได้รับในโครงการต่างๆ
พี่เลี้ยง/อาจารย์ที่ปรึกษา ใน คนกล้าดี
ประวัติและผลงาน
นายจำลอง บุญลา (จำลอง) อายุ 54 ปี
เจ้าหน้าที่ศูนย์สังคมพัฒนามูลนิธิคาทอลิกสุราษฎร์ธานี(ผู้จัดการฝ่ายการศึกษาและอภิบาลสังคม)

­

โครงการคนกล้าดี

       คุณจำลอง บุญลา และ แม่ส้ม วิระมล ประวัติ เป็นพี่เลี้ยงของเยาวชน “โครงการคนกล้าดี” ที่เด็กๆ สนใจทำเรื่องความมั่นคงทางอาหารในหมู่บ้านทับคริสต์ อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี

       คุณจำลอง บุญลา เป็นเจ้าหน้าที่ศูนย์สังคมพัฒนามูลนิธิคาทอลิกสุราษฎร์ธานี ทำงานชุมชนกับเด็ก เยาวชนและครอบครัว ในพื้นที่ตำบลคลองชะอุ่น อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงโครงการ ดูแลยุทธศาสตร์ กระบวนการ และอำนวยการเรียนรู้ตลอดโครงการ คุณจำลองนั้นมีแนวคิดอยากให้คนในชุมชนเป็นพระเอกในการทำงาน เขาจะฝึกพี่เลี้ยงประมาณ 2-3 คนในแต่ละชุมชน โดยสอนเรื่องการประสานงาน ความสัมพันธ์ในชุมชน การเก็บข้อมูล การพูดคุย หลังจากที่ได้ทำงานในชุมชนมาสักระยะ การทำโครงการครั้งนี้เขาจึงเลือกให้แม่ส้มเป็นพี่เลี้ยงให้กับเด็กๆ ในพื้นที่

       แม่ส้ม วิระมล ประวัติ เป็นคุณแม่ของน้องฟ้า หนึ่งในสมาชิกโครงการคนกล้าดี และเป็นคณะกรรมการชุมชนซึ่งปีนี้เป็นปีที่สองแล้ว ทำงานเกี่ยวกับการผู้สูงอายุ โดยจะออกเยี่ยมผู้สูงอายุทุกเดือน ดูแลผู้สูงอายุที่ติดเตียง รวมถึงทำงานอื่นๆ ของชุมชนที่ต้องการความร่วมมือ เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงเยาวชนทำโครงการโดยการชักชวนของคุณจำลอง โดยแม่ส้มบอกว่าไม่เคยมีประสบการณ์เป็นพี่เลี้ยงให้เยาวชนทำโครงการมาก่อน แต่เธอมีต้นทุนที่สามารถช่วยเด็กๆ ได้คือ เธอรู้จักคนเยอะมากในหมู่บ้าน และใกล้ชิดกับเด็ก

      ในบทบาทการเป็นพี่เลี้ยงโครงการ เนื่องจากแม่ส้มอยู่ในพื้นที่ จึงจะเป็นหลักในการประสานงานระหว่างครูจำลองกับเด็ก ๆ ช่วยทำอาหารเวลาเด็กๆ จัดกิจกรรม พร้อมทั้งช่วยหาข้อมูล ความรู้ จากอินเทอร์เน็ต สำหรับเด็ก ๆ ที่เลือกปลูกพืชใหม่ ๆ ที่ไม่มีใครให้คำปรึกษาได้ เช่น เมล่อน แม่ส้มลงชุมชนเวลาเด็ก ๆ ไปหาข้อมูลเสมอ เรียนรู้การทำงานจากการพูดคุย และลงมือทำทุกกระบวนการ

       “เขาจะเข้ามาถามเราบางเรื่องที่เขาทำไม่ได้ เช่น น้องฟ้าเข้ามาถามเรื่องการดูแลน้อง ๆ ว่าจะประสานงานกับน้องอย่างไรที่จะทำให้น้อง ๆ ให้ความร่วมมือ พี่แนะนำว่าเวลาเข้าหาผู้ใหญ่หรือเข้าหาเด็กเราต้องมีวิธีพูด ต้องดูว่าเราจะพูดอย่างไรให้เด็ก ๆ เข้าใจ และเวลาที่ลงชุมชนเราจะไปกับน้อง ๆ และไปดูว่าเขาควรจะสัมภาษณ์อย่างไร คอยแนะนำสิ่งที่เรารู้ให้กับน้อง” แม่ส้ม เล่าถึงบทบาทพี่เลี้ยงโครงการ

       เมื่อถามถึงเทคนิคในการเป็นพี่เลี้ยงโครงการ แม้ส้มบอกว่า “ต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีกับครอบครัวของเด็ก บอกพ่อแม่ของเขาว่าสิ่งที่เด็กๆ กำลังทำจะช่วยในเรื่องของการดำรงชีวิตของเขา ให้เขาอยู่รอด จึงเป็นสิ่งที่เขาต้องเรียนรู้และลงมือทำ” และเพื่อให้พ่อแม่ให้ความร่วมมือ แม่ส้มสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง เวลามีอะไรจะปรึกษาพ่อแม่ของเด็ก ๆ รวมถึงพี่เลี้ยงนั้นต้องมีมิตรสัมพันธ์ที่ดีกับคนในชุมชนและเด็กอีกด้วย

       นอกจากนี้ เธอบอกว่าพี่เลี้ยงต้องใจเย็น รับฟัง ร่วมลงมือทำ ไม่สั่งการ เปิดพื้นที่ให้เด็ก ๆ ได้ลอง และเรียนรู้ด้วยตัวเอง และพี่เลี้ยงต้องรู้จักชุมชน เข้าใจบริบทชุมชน

       “ต้องใจเย็นให้มาก บางทีเด็กดื้อและไม่ค่อยฟัง เราต้องใจเย็นที่สุด พี่เลี้ยงต้องรู้ว่าชุมชนอยู่กันแบบไหน ต้องเข้าถึงชุมชนให้มากที่สุด ต้องอยู่ร่วมกับชุมชนและสัมผัสให้รู้ว่าชุมชนเป็นอย่างไร ถ้าเราไม่เข้าใจชุมชนว่าชุมชนอยู่แบบไหนอย่างไร เราก็ไม่สามารถทำให้เด็กเข้าไปทำงานในชุมชนนั้นได้ เราจะไม่สามารถช่วยต่อ ยอดเด็กได้”

      พี่เลี้ยงทั้งสองท่าน ดีใจและภูมิใจ ที่เห็นการเปลี่ยนแปลงของเด็ก ๆ ในชุมชน ที่พวกเขามีความรับผิดชอบต่องาน ใช้เวลาว่างอย่างสร้างสรรค์ และคนในชุมชนกลับมาใกล้ชิดกันมากขึ้น แม้จะเหนื่อยจากการทำงานประจำและมีหลายบทบาทหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ แต่ไม่ท้อ เพราะรู้ว่าเด็ก ๆ ได้มากกว่าผลผลิตที่เพาะปลูก แต่เป็นการปลูกฝัง เป็นความยั่งยืนที่เกิดขึ้นในตัวเด็ก เยาวชนคนรุ่นใหม่ ยิ่งเด็กหยั่งรากลึก ยิ่งมั่นคง ทั้งสองจึงเต็มใจในหน้าที่นี้ เหมือนการรดน้ำ พรวนดินในหัวใจเด็ก ๆ ให้งอกงาม

       ครูจำลอง สะท้อนว่าการทำงานคู่กับพี่เลี้ยงชุมชนเป็นข้อดี พี่เลี้ยงชุมชนคือความยั่งยืนอย่างหนึ่งในงานพัฒนา เพราะเขาเป็นคนที่อยู่ในพื้นที่ ใกล้ชิด ประสานงานได้ทันที หากทำงานอย่างเข้าใจ มีใจ พัฒนาตัวเองอย่างสม่ำเสมอ มีกระบวนการทำงานให้ทุกคนมีส่วนร่วม และเห็นภาพรวม ต่อไปจะขึ้นมาเป็นแกนนำหลัก เนื่องจากต่อไปครูจำลองมองว่าตัวเองก็ต้องขยายการทำงานในชุมชนอื่นต่อ ครูจำลองจึงวางบทบาทตัวเองให้เป็นพี่เลี้ยงเพื่อสร้างพี่เลี้ยงในชุมชน ซึ่งน่าจะเป็นทางเลือกที่ทำให้ชุมชนขับเคลื่อนเองได้ต่อไป

­

ความโดดเด่น

  • วางบทบาทกันอย่างชัดเจน ประสานงานและเห็นภาพรวมเดียวกัน
  • เข้าใจบริบท เด็ก เยาวชน ชุมชน และสังคม เพื่อวางแผนการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
  • สร้างพื้นที่ปลอดภัยในการเรียนรู้ ให้เด็ก เยาวชน กล้าคิด กล้าทำ กล้าลองผิดลองถูก เพราะการลงมือทำจะทำให้เด็ก ๆ เข้าใจและจดจำ