โรงเรียนป่าไม้อุทิศ 4 ตั้งอยู่กลางชุมชน ตำบลคีรีราษฏร์ที่ได้รับอนุญาตให้ปลูกกัญชงได้จำนวน 300 ไร่ซึ่งพื้นที่อื่นปลูกได้เพียง 10 – 20 ไร่ มีองค์ความรู้เรื่องกัญชง แต่เด็กรุ่นใหม่ไม่มีใครเรียนรู้และรู้จักทั้งกระบวนการปลูก ปั่น ทอ มีเพียงคนอายุ 40 ปีขึ้นไปเท่านั้นที่รู้ข้อมูล คุณครูจึงชักชวนเยาวชนร่วมทำโครงการฯ เพื่อจะได้ศึกษาค้นคว้ากระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นทางจนกลายเป็นผ้า เยาวชนที่สนใจ 7 คนรวมตัวกันโดยใช้ชื่อกลุ่ม The Hemp Team อยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 และ 6 ทุกคนเป็นชาวม้ง แต่รู้เรื่องราวของกัญชงน้อยมาก
ทีมพี่เลี้ยงประกอบไปด้วยคุณครู 4 ท่าน โดยมีครูกฤษณาหัวหน้าโครงการมีความชำนาญด้านวิชาการ ครูจูน ศราวุธ ฝ่ายปฏิบัติการ กลยุทธ์ และกระบวนการมุ่งเน้นผลลัพธ์ ครูสุพิศมีความคิดเป็น Perfectionist เพราะว่ามีประสบการณ์ในชีวิตมามาก และครูสาธนีเป็นคนประสานงาน และคอยดูแลโครงการ ซึ่งทีมพี่เลี้ยงมีความหลายหลากหลายและโดดเด่นต่างกันจึงเป็นทีมที่ปรึกษาที่ลงตัว
กระบวนการเริ่มต้นมาจากทีมครูพี่เลี้ยงชวนเยาวชนตั้งคำถามเพื่อสร้างแรงจูงใจให้รู้สึกเป็นเจ้าของและมีส่วนร่วมกับโครงการ โดยครูใช้ทักษะการฟังอย่างลึกซึ้ง ให้เยาวชนได้พูด เล่า จากนั้นใช้คำถามเพื่อยกระดับการเรียนรู้ ชี้แนวทางในกระบวนการทำงาน เพราะเป็นครั้งแรกสำหรับทีม The Hemp ที่ทำโครงการ ช่วงต้นของการทำโครงการครูจูนฝึกให้เยาวชนรับผิดชอบ มีวินัย และตรงต่อเวลา “ผมดุครับ ทำไมถึงมาไม่ตรงเวลา พอเยาวชนมาถึงผมต้องทำหน้าเข้มใส่ ใจก็ไม่อยากจะเข้มเท่าไรครับ ถ้าเราไม่ดุตั้งแต่แรกก็ไม่ได้ หนึ่งเรื่องตรงเวลา สองคือความรับผิดชอบ ผมถือว่านัดงานแล้วไม่มีงานมาเลยบอกว่าลืมผมบอก ผมนั่งรอให้กลับไปเอางานที่บ้านมา ครูจะนั่งรอ เพื่อให้เด็กฝึกพูดปัญหาที่แท้จริง ยกตัวอย่างเช่นเด็กบอกไม่ได้เอางานมา จริงๆ คือไม่ได้ทำงาน ไม่ทำงานคือเหตุผล แต่บอกว่าลืมไม่ใช่เหตุผล ผมทำเพื่อฝึกให้เขาพูดปัญหาจริงๆ ตั้งแต่ตอนแรกครับ เยาวชนติดนิสัยประนีประนอม แต่ทำงานประนีประนอมไม่ได้ ต้องเห็นปัญหาถึงจะแก้ได้ ตอนแรกทุกคนจะมีปัญหาค่อนข้างเยอะ” ครูจูนเล่ากลยุทธ์ที่ต้องใช้ความชัดเจนและความอ่อนโยนผสานกันไป เมื่อทีมโครงการทั้งพี่เลี้ยงและเยาวชนเห็นภาพตรงกันงานจึงค่อยๆ เคลื่อนต่อขยับเพื่อลงชุมชน
เยาวชนออกแบบแบบสอบถามและแบ่งหน้าที่หลักๆ กันอย่างชัดเจน มีคนบันทึกการประชุมทุกครั้ง ทำงานประสานงาน เก็บเอกสาร บันทึกข้อมูล แต่การลงพื้นที่ 13 หมู่บ้านด้วยทีม The Hemp เพียง 9 คนก็เป็นอุปสรรค ทีมพี่เลี้ยงแนะนำให้ลองหาเพื่อนมาร่วมเป็นเครือข่าย “ทีมนักวิจัยกัญชงรุ่นเยาว์” โดยมีแกนนำอธิบายวิธีการเก็บข้อมูลและบันทึก เพื่อให้เพื่อนที่อาศัยในหมู่บ้านนั้นๆ ได้เก็บข้อมูลกลับมา เมื่อทีมเยาวชนได้รับคำแนะนำ ก็เข้าใจความหมายและปฏิบัติการทันที
การทำโครงการฯ นอกจากจะได้ผลลัพธ์แล้ว เยาวชนได้สะท้อนตัวเองและเห็นการเติบโต “หนูสนใจกัญชงมากขึ้น เมื่อก่อนไม่รู้เกี่ยวกับกัญชงเลย ไม่เคยเห็นต้น การลงชุมชนทำให้ได้รู้เรื่องกระบวนการทำและความเชื่อเกี่ยวกับกัญชง ถ้าหมู่บ้านหนูมีศูนย์การเรียนรู้กัญชงก็คงจะดี” หนึ่งในทีม The Hemp สะท้อนความผูกพันที่มีต่อกัญชง “โครงการทำให้เรากล้าแสดงความคิดเห็นมากขึ้น ต้องฟังความคิดเห็นคนอื่นด้วย กล้าแสดงออก กล้าพูด กล้าถาม มีความกระตือรือร้นขึ้น ตอนแรกที่ทำ หนูเฉยชาและทำช้า พอเรามาทำโครงการ ครูพี่เลี้ยงจะกระตุ้น ทำให้เราตื่นตัว” พฤติกรรมและคุณลักษณะเชิงบวกของเยาวชนเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น
ในวันนี้ทีม The Hemp ไม่เพียงศึกษาขั้นตอนวิธีการในการทำผ้ากัญชงเท่านั้น แต่พวกเขาต่อยอดพัฒนาและอยากเพิ่มมูลค่าผ้าด้วยการปักลวดลายและทำของใช้ที่จะสร้างรายได้ให้กับชุมชน ทีมโครงการได้ประสานความร่วมมือกับผู้ประกอบการในชุมชนเพื่อพัฒนาสินค้าและให้เยาวชนมีส่วนร่วมในการออกแบบและผลิตต่อไป ทีมพี่เลี้ยงเชื่อว่าหากการศึกษาสามารถต่อยอดจนเกิดรายได้ให้กับเยาวชนและชุมชน การศึกษาครั้งนี้คือความยั่งยืน โครงการการศึกษาขั้นตอนวิธีการในการทำผ้ากัญชงของชาติพันธุ์ม้งอำเภอพบพระ จังหวัดตาก จึงเป็นหนึ่งโครงการที่เกิดผลผลิตที่ชัดเจน สร้างสรรค์ Active Citizen ให้รู้จักรากเหง้า รัก เห็นคุณค่าและอยากพัฒนากัญชงให้เป็นที่ยอมรับและมีมูลค่าเพิ่มยิ่งขึ้นไป
ความโดดเด่น
- การทำงานที่มีกระบวนการทำงานเป็นทีม ทั้งทีมพี่เลี้ยง ทีมเยาวชน ทีมเครือข่ายที่ประสานและลงชุมชนให้เกิดข้อมูล และที่มากกว่าข้อมูลคือการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในเยาวชน
- พี่เลี้ยงโครงการมีคุณลักษณะโดดเด่น เห็นภาพรวมและชัดเจน สร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เยาวชนรู้สึกเป็นเจ้าของและพาให้คิดไกลกว่าการศึกษาขั้นตอนวิธีการในการทำผ้า แต่ชวนคิด สร้างแรงจูงใจให้เห็นผลผลิตที่จะสร้างรายได้ให้กับชุมชน
- เยาวชนเห็นคุณค่าต้นกัญชง และกระบวนการทำผ้าจากใยกัญชง ต้องการอนุรักษ์ สร้างพื้นที่เรียนรู้เรื่องกัญชง และต่อยอดเพิ่มมูลค่าให้กับผ้าใยกัญชง
- ทักษะการเก็บข้อมูล พื้นที่เก็บข้อมูลมีถึง 13 หมู่บ้านสมาชิกทุกคนจะถูกแบ่งบทบาทเป็นแม่งานในแต่ละหมูบ้านจึงต้องรู้กระบวนการเก็บข้อมูลทุกขั้นตอน มีการวางแผนเก็บข้อมูลก่อนการสัมภาษณ์ชัดเจนทำให้ตอนรวบรวมข้อมูลได้ข้อมูลตามกรอบที่วางไว้ มีขั้นตอนเตรียมเพื่อนที่มาช่วยเก็บข้อมูล แก้ปัญหาการสื่อสารกับชาวบ้านที่ใช้ภาษาม้งถ้าไม่เข้าใจให้บันทึกเสียงไว้ก่อน
- ทักษะทำงานเป็นทีม พื้นที่เก็บข้อมูลมีหลายหมู่บ้านต้องอาศัยความร่วมมือในทีม เยาวชนได้ฝึกวางแผนระบบให้ชัดเจน แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบในทีม และรับผิดชอบตามพื้นที่ๆเก็บข้อมูล