กลไกชุมชนบ้านมดตะนอย .
พี่เลี้ยงเยาวชน Active Citizen โครงการพัฒนาศักยภาพแกนนำเครือข่ายเยาวชนเพื่อเรียนรู้ท้องถิ่นจังหวัดตรัง
ประวัติและผลงาน
กลไกชุมชนเด่น: ชุมชนบ้านมดตะนอย ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง
โครงการโกงกางสานรัก และโครงการมหัศจรรย์พันธุ์หอย
1. นายสมโชค สกุลส่องบุญศิริ (พี่เก้ง) อายุ 51 ปี
ตำแหน่ง: นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ,
ผู้อำนวยการ รพ.สต.บ้านมดตะนอย และที่ปรึกษาโครงการ
2. นางหนึ่งหทัย สกุลส่องบุญศิริ (พี่หนึ่ง) อายุ 51 ปี
ตำแหน่ง: พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ และที่ปรึกษาโครงการ

­

­

บ้านมดตะนอย ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เป็นพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน คนส่วนใหญ่เรียนจบชั้นประถมศึกษา มีการแต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อย คนในชุมชนส่วนใหญ่ขาดการวางแผนการออมเงินเพื่อเป็นเป้าหมายด้านการศึกษาให้กับบุตรหลาน รพ.สต.บ้านมดตะนอย ร่วมกับแกนนำ จิตอาสาบ้านมดตะนอยเริ่มทำงานจัดการขยะ ปี พ.ศ. 2557 เปลี่ยนชุมชนที่เต็มไปด้วยขยะ เป็นหมู่บ้านที่มีการจัดการเรื่องขยะ “หมู่บ้าน Zero Waste” ด้วยการเปิดโอกาส สร้างข้อตกลงกับชุมชน จนผ่านเกณฑ์หมู่บ้านปลอดการใช้โฟมบรรจุอาหาร ที่นี่เด็กเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง และผู้ใหญ่เห็นความสำคัญ สนับสนุนกิจกรรมของเด็ก ยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงชุมชนบ้านมดตะนอย คือการทำให้ผู้ใหญ่เห็นผลกระทบถึงลูกหลานอันเป็นที่รักของพวกเขา

โครงการโกงกางสานรัก และโครงการมหัศจรรย์พันธุ์หอย เกิดขึ้นจากต้นทุนของชุมชนมดตะนอยที่ดี ซึ่งเป็นชุมชนแห่งการอนุรักษ์ มีต้นทุนเรื่องการอนุรักษ์ป่าชายเลนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 ด้วยหัวใจของคนในชุมชนที่มีความหวงแหนทรัพยากร มีการนำภูมิปัญญาของการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับป่าชายเลนและทะเล ทำให้ชาวบ้านสามารถฟื้นฟูผืนป่าโกงกางให้กลับมาสมบูรณ์อีกครั้งหลังจากถูกทำลายจากการสัมปทานไม้เพื่อนำมาเผาถ่าน ประกอบกับพื้นที่เกาะลิบงเป็นแหล่งกำเนิดของหอยชักตีนและหอยอีกหลายชนิด มีการอนุรักษ์พันธุ์ปูม้าโดยการจัดตั้ง “สถานีเพาะพันธุ์พืชและสัตว์น้ำ” ของชุมชนบ้านมดตะนอยโดยการสนับสนุนจากภาคีต่างๆ ทั้งในและนอกชุมชน เพื่อเป็นแหล่งอนุบาลปูม้า และสัตว์ทะเล รวมถึงพันธุ์พืชในป่าโกงกาง ร้อยละ 80 ของครัวเรือนทำอาชีพประมงพื้นบ้าน แต่คนรุ่นใหม่ไม่มีทักษะการทำประมง การผูกอวน การต่อเรือ โจทย์ของทั้ง 2โครงการจึงมุ่งให้เด็กกลับมาทบทวนเรื่องทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน ความภาคภูมิใจที่พ่อแม่และบรรพบุรุษได้ดูแลและรักษาไว้ให้เป็นแหล่งอาหารของชุมชน

ชุมชนมดตะนอยเริ่มจัดการตัวเอง โดยมีหลายภาคีที่มานั่งคุยกัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม. ทีมผู้สูงอายุ ทีมนักวิจัย สก.สว.รุ่นใหญ่ ที่เคยศึกษาชุมชนบ้านมดตะนอย ซึ่งเป็นภาคีที่ทำทุกเรื่องของชุมชน มาทำงานร่วมกัน ใช้พื้นที่ รพ.สต. เป็นจุดรวมพล จุดเด่นของบ้านมดตะนอยเมื่อประสานงานผ่านหัวหน้าโซนแต่ละกลุ่มตามโซนพื้นที่ในหมู่บ้าน ซึ่งมีการจะแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มโซน จะมีการส่งตัวแทนที่เกี่ยวข้องในแต่ละเรื่องมาปรึกษาหารือร่วมกัน ซึ่งประกอบด้วยกลไกหลักทั้งส่วนท้องที่และส่วนท้องถิ่น รพ.สต. ทำหน้าที่สนับสนุนใช้กระบวนการ “เชียร์ ชม เชื่อม” เป็นพี่เลี้ยงที่เชื่อมร้อยภาคีต่าง ๆ มาช่วยชุมชนให้เข้าใจตัวเอง จนสามารถจัดการปัญหาด้วยตัวเอง และพึ่งพาตัวเองให้ได้มากที่สุด เน้นให้ทีมชุมชนได้ลงมือทำตามแผนที่วางไว้ และถอดบทเรียนการเรียนรู้จากปัญหาเพื่อเป็นการเปิดโอกาสในการพัฒนาของชุมชน

“ไม่มุ่งไปสู่ความสำเร็จ แต่ให้มุ่งการเรียนรู้” “ทุกอย่างคือองค์รวมเพื่อไปสู่สุขภาวะที่ดี” เพื่อตอบโจทย์ “พวกเขาจะมีสุขภาพที่แข็งแรง มีอาหารที่สมบูรณ์ได้อย่างไร” คือ ใจความสำคัญที่พี่เก้งและพี่หนึ่ง แห่ง รพ.สต.บ้านมดตะนอยใช้สร้างทีมชุมชนมดตะนอย โดยให้การเรียนรู้ของเด็กเป็นศูนย์กลาง การเรียนรู้จากเด็กทำให้เห็นภูมิหลังของชุมชนฐานคิด วิธีคิด วิธีดำเนินชีวิตของชุมชน ที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กัน ทั้ง ทรัพยากร สังคม เศรษฐกิจ สุขภาพ สิ่งแวดล้อม

กลไกความร่วมมือที่เกิดขึ้นนี้อยากทำอะไรเกี่ยวกับงานเยาวชนมั้ย ที่เป็นรูปธรรม/ ได้มาหนุนเด็กระหว่างทำโครงการยังไงมั้ย

หลังผ่านการทำโครงการ เด็ก ๆ มี ความสามารถในการแสดงออกและการสื่อสารดีขึ้น จากวันแรกแต่ละคนพูดไม่เป็น การได้แลกเปลี่ยนกับเพื่อนเยาวชนต่างถิ่น ทำให้เด็ก ๆ มีความสุขและสนุกมาก ปีที่ผ่านมาเป็นโครงการจุดประกายให้ได้เห็นความฝันของเด็ก เมื่อเด็ก ๆ ศึกษาชุมชนของตนเองเพิ่มมากขึ้น วิชาการได้เปิดมุมมองของคนในชุมชนเรื่องอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เด็กได้พัฒนาตามวิถีชีวิตของตัวเอง มีทักษะเพิ่ม มีมุมมอง มีความสนใจ และกลับมาทบทวนตัวเองมากขึ้น การคืนข้อมูลของเด็ก ๆ ต่อชุมชนเรื่องการเจริญเติบโตและประโยชน์ของหอย ทำให้คนในชุมชนและผู้ใหญ่บ้านลุกขึ้นมาจริงจังกับการดูแลทรัพยากรมากขึ้น มีป้อมยามตรวจตราการจับหอยตัวเล็ก โครงการทั้ง 2 ของเด็ก ๆ ทำให้คนในชุมชนใส่ใจดูแลสิ่งแวดล้อม หลายคนภูมิใจในชุมชนตัวเองอยากอนุรักษ์ชุมชนของตัวเองมากขึ้น

พี่เลี้ยงและเด็ก ๆ ต่างกระตุ้นการทำงานซึ่งกันและกัน พี่เลี้ยงเป็นนักจดบันทึกมากขึ้น รู้จักรอคอย รู้จักตั้งคำถามกับเด็ก ๆ ไม่คาดหวังเกินไปว่าถ้าทำแล้วจะต้องเสร็จ แต่ตั้งคำถามใหม่ว่าถ้าทำเสร็จ เสร็จเพราะอะไร ถ้าทำไม่เสร็จเป็นเพราะอะไร และเขาสามารถประชุมหารือกับน้อง ๆ ในชุมชนได้เองโดยไม่ต้องมีพี่เลี้ยงอย่าง รพ.สต.

ทีมทำงานรู้วิธีการออกแบบงานและการแก้ปัญหา โดยนำประสบการณ์ของพื้นที่มาบูรณาการ มีเครือข่ายต่างชุมชนที่เข้าถึงกัน “คนทะเลไปเที่ยวภูเขา คนภูเขามาเที่ยวทะเล” ผู้สูงอายุในชุมชนมีความภาคภูมิใจ เกิดความสุข มีรอยยิ้มเวลาที่เขาถ่ายทอดเรื่องราวให้แก่เด็ก

กลไกชุมชนมดตะนอยกำลังสร้างกลุ่มแกนนำชุมชนสำหรับอนาคต อีก 10 ปี ข้างหน้า คนหมู่บ้านมดตะนอยจะมีผู้นำที่มีทักษะการปกป้องตัวเองจากภาวะต่าง ๆ ที่จะเข้ามา เชื่อว่าพวกเขาจะดูแลพื้นที่หมู่บ้านชายทะเลซึ่งเป็นแหล่งอาหารของชุมชน เมื่อหมู่บ้านกำลังเข้าสู่การท่องเที่ยว การจัดการชุมชนไปสู่การท่องเที่ยวในลักษณะใดเป็นโจทย์ต่อไปที่ชุมชนจะต้องเป็นผู้ออกแบบด้วยตัวเอง รวมถึงการหนุนเสริมเพื่อให้คนในชุมชนเห็นความสำคัญของการศึกษาเพิ่มมากขึ้น เพราะการศึกษาคือต้นทุนที่สำคัญในการพัฒนาตัวเองมากกว่าต้นทุนในเรื่องอื่น

­

­

ความโดดเด่น
  • ใช้กระบวนการชุมชนจัดการตนเอง จากฐานทุนทรัยพยากรที่สมบูรณ์ ความรู้ของชุมชนเรื่องการอนุรักษ์ ชุมชนมีจุดรวมใจ ให้ความสำคัญกับเด็กเยาวชน ภูมิปัญญาการอยู่ร่วมกับป่าและทะเล
  • มี รพ.สต. บ้านมดตะนอยสนับสนุนการพัฒนาด้วยกระบวนการ “เชียร์ ชม เชื่อม” ให้ชุมชนเป็นตัวของตัวเองและพึ่งตนเองได้
  • กลไกชุมชนมีแนวคิดเรื่ององค์รวมเพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีสำหรับคนในชุมชน