ความโดดเด่น :
- ร่าเริง สดใส เข้ากับคนง่าย ความสดใสของนัททำให้งานออกแบบกิจกรรมในด้านภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่นของคนปกาเกอะญอบ้านไร่เหนือมีชีวิตชีวา
- นักสังเกตการณ์ นัทมองหาต้นแบบที่ดีในชีวิต ลองฝึกฝน กล้าฝึกฝน เพื่อได้มีประสบการณ์ในชีวิต
- ทำงานบนพื้นฐานความสุข
นัท อภิชัย มันตาธรรม เป็นเด็กสดใส ร่าเริง ยิ้มเก่ง ขี้เล่น และมองโลกในแง่ดี เป็นเด็กหนุ่มชาวปกาเกอะญอ บ้านป่าไร่เหนือ หมู่บ้านป่าไร่เหนือ เป็นหมู่บ้านใหญ่ หมู่บ้านอยู่ใกล้ธรรมชาติติดห้วยแม่จะเรา หมู่บ้านป่าไร่เหนือมี 2 โซน คือบ้านโจะปิและป่าไร่เหนือ นัทเติบโตมาในยุคที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือจึงได้เล่นการละเล่นและของเล่นพื้นบ้าน นัทจำสุข ความสนุกในตอนเล่นวิ่งไล่จับกันทั้งโรงเรียนตอนอยู่ประถมปีที่ 4 ได้ดี นัทเป็นเด็กกิจกรรมเข้าร่วมอบรมหลายครั้ง จนกระทั่งพี่หอย ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และเป็นพี่เลี้ยงโครงการ กับพี่โจอี้ นักศึกษาวิทยาลัยโพธิวิชชาลัยชักชวนให้ร่วมคิด ร่วมนำเสนอโครงการ นัทคิดว่าหากเป็นกิจกรรมเกี่ยวกับหมู่บ้านและวัฒนธรรม เขายินดีร่วมด้วย
การเข้าร่วมโครงการฯ ของนัทในช่วงแรก นัทเพียงคิดว่าให้ทำอะไรก็ทำ นัทอยู่ฝ่ายประสานงาน หาข้อมูลชุมชน เกี่ยวกับภูมิปัญญาวัฒนธรรม ด้านการทอผ้า การจักสาน การเต้นและอาหาร นัททำงานร่วมกับเพื่อนคือ โยนาและโบเก้ พากันไปหาข้อมูลจากคนผู้เฒ่าผู้แก่ ปราชญ์ผู้รู้ในชุมชน เขาค้นพบว่าการจักสานเหลือปราชญ์สองคนในหมู่บ้านที่รู้ ส่วนการทอผ้า ทุกบ้านมีการทอผ้า นัทอธิบายเรื่องการแต่งกายของชาวปกาเกอะญอได้เป็นอย่างดี นัทเล่าความประทับใจในการลงชุมชนว่า “ผมประทับใจที่ตายายให้ความร่วมมือ พวกเขาดีใจที่มีเด็กอย่างพวกเราสืบทอดไปหาข้อมูล เขาอยากให้เด็กเข้าไปศึกษาเพราะเขาแก่แล้ว ไม่มีใครสานต่อ แต่พอถามนานๆ เขาเริ่มเหนื่อย เริ่มขี้เกียจตอบ” นัทเล่าให้ฟังด้วยความอารมณ์ดี
นัทและเพื่อนศึกษาหาข้อมูลเพราะในชุมชนมีศูนย์เรียนรู้แต่เดิม เป็นเพียงศูนย์แห้งๆ ไร้ชีวิตชีวา พวกเขาช่วยกันนำข้อมูลที่ได้มาเติมให้น่าสนใจ หากมีคนมาเยี่ยมชม นัทจะประสานงานชวนเยาวชนในชุมชนมาคิด ออกแบบว่าใครทำอะไรได้ ก็มาจัดสถานที่ มาประจำซุ้มแนะนำให้คนมาเที่ยวได้เข้าใจวิถีชีวิตชาวปกาเกอะญอ ทุกวันนี้ศูนย์เรียนรู้กลายเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ที่รวบรวมภูมิปัญญา วิถีชีวิต ที่อยู่อาศัย อาหาร ประเพณีวัฒนธรรม มีกำหนดการท่องเที่ยวที่ให้เลือกตามความเหมาะสมของผู้ที่สนใจ
นัทเล่าว่ามุมมองและวิธีคิดของนัทเปลี่ยนไป เมื่อนัทได้เจอคนมากขึ้นจากการเข้าร่วมโครงการฯ นัทได้เจอเพื่อนใหม่ เช่นเพื่อนที่มาจากซูแมวคี (โรงเรียนและศูนย์อพยพ) เขาเห็นว่าเพื่อนใช้ภาษาอังกฤษได้ดีมาก เขาสนใจวิถีชีวิตและระบบการศึกษาที่มีถึงระดับมหาวิทยาลัยที่นั้น อีกทั้งเมื่อได้สนทนากับอาจารย์เอ็กซ์ (อาจารย์ที่วิทยาลัยโพธิวิชาลัย) ที่บอกนัทว่าการทำงานชุมชนคือการที่นัทเองจะได้ประสบการณ์โดยตรง อีกทั้งยังสามารถเก็บเป็นผลงานเพื่อเป็นเส้นทางในการเข้าศึกษาต่อ “พออาจารย์พูดผมก็เอะใจขึ้นมา ตอนแรกเราก็ทำไปเรื่อยๆ ทำตาม พออาจารย์บอกผม ผมก็เปลี่ยนความคิดตัวเองว่า การทำคือการฝึกฝนตัวเอง เราก็ได้ประสบการณ์ในการทำโครงการ” จากนั้นนัทก็ตั้งใจ กล้าที่จะเป็นผู้นำ กล้าแสดงความคิดเห็น เสนอ ชักชวนเพื่อนๆ ในชุมชนมาร่วมกัน นัทเชื่อว่าการลงมือทำคือการฝึกตน แต่ทำงานก็ต้องสนุกด้วย นัทใช้ความร่าเริงขับเคลื่อนพื้นที่สร้างสรรค์ของชุมชน
การแบ่งเวลาจากการเรียนเพื่อมาทำกิจกรรมเป็นปัญหาใหญ่ที่นัทเผชิญ เนื่องจากเรียนและการประชุมกรรมการนักเรียนนัทถึงบ้านก็ค่ำแล้ว เขาใช้เวลาวันเสาร์ทำงานโครงการฯ เต็มที่ ส่วนวันอาทิตย์นัทต้องไปโบสถ์ แต่ครอบครัวของนัทเข้าใจและสนับสนุนให้นัททำกิจกรรม แม่ของนัทเป็นผู้นำกลุ่มแม่บ้านและมาทำอาหารให้โครงการฯ เป็นประจำ
โครงการฯ ทำให้นัทได้เรียนรู้ เรื่องการวางแผน ทักษะการพูด การแบ่งเวลาและจัดสรรเวลา ความเป็นผู้นำ นัทสังเกตพี่โจอี้ที่มีความเป็นผู้นำที่ดีว่าทำอย่างไร และทำตาม นัทได้นำเพื่อนและวงคุย ใช้การรับฟังทุกคน ทำความเข้าใจทุกคน นัทบอกว่า “แต่ละคนมีความคิดไม่เหมือนกันค่อยๆ ฟังเขา ให้เกียรติแต่ละคน เพราะว่าแต่ละคนมีความคิดในแบบของตนเอง เพราะฉะนั้นผู้นำต้องพูดให้ทุกคนเข้าใจร่วมกัน” นัทได้แนวทางในการดำเนินชีวิตและทักษะการเข้าสังคม
เมื่อเรียนจบนัทอยากกลับมาเป็นครูที่หมู่บ้าน นัทประทับใจครูที่โรงเรียน และพี่เลี้ยงที่ทำให้เขาโลกกว้าง รักและเคารพตัวเอง รักบ้านเกิด เขาอยากสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กๆ เช่นกัน