รับชมวิดีทัศน์ : Rise Up The Chance : สร้างสรรค์เยาวชนพันธุ์สตูล
รับชมวิดีทัศน์ : โครงการกลไกชุมชนสู่การพัฒนาเยาวชนจังหวัดสตูล ปีที่ 1
นางสาวพัชรีภรณ์ ติ้งหวัง (ไหม)
ปัจจุบัน : กำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 2มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน
ความโดดเด่น/ความสามารถพิเศษ :
1. การเป็นผู้นำกิจกรรม
2. การเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ (facilitator)
3. การทำกิจกรรมสันทนาการกับเด็กและเยาวชน
4. การถอดบทเรียนการเรียนรู้
5. การลงพื้นที่เก็บข้อมูลชุมชน
ชื่อเรื่อง : ไหม - พัชรรีภรณ์ ติ้งหวัง เดินหน้าเข้าหาความเสี่ยงเพื่ออัพเกรดเวอร์ชั่นที่ดีที่สุดของตัวเอง
ความทรงจำที่ดีจากการได้สืบค้นและนำเสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์ชุมชนบ้านนาพญา ตำบลละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล ออกมาในรูปแบบหนังสือให้เด็กเยาวชนและคนในชุมชน รวมถึงบุคคลภายนอกได้รับรู้เมื่อราว 4 ปีก่อน โครงการแนวทางการสร้างสื่อการเรียนรู้ประวัติบ้านนาพญา พญางอกเขี้ยว นาสี่บิง และแหลมตันหยงกุโบว์ ทำให้เด็กผู้หญิงคนหนึ่งค้นพบความฝันของตัวเอง แล้วกำลังเดินบนเส้นทางตามฝันนั้นอย่างมุ่งมั่น
ภายในระยะเวลาไม่นาน ไหม - พัชรรีภรณ์ ติ้งหวัง รับหน้าที่เป็นทั้งสมาชิกที่เข้ามาร่วมโครงการแบบงงๆ ตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จับพลัดจับผลูขึ้นมาเป็นประธานโครงการที่อายุน้อยที่สุดในทีม จนกระทั่งเข้ามารับบทบาทเป็นพี่เลี้ยงโครงการขณะกำลังก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย เธอเคยเป็นเด็กวัยรุ่นมัธยมปลายที่เลือกเรียนสายวิทย์ – คณิตตามคำแนะนำของพ่อแม่ แม้ไม่ได้ถูกกดดันจากครอบครัวมากนัก แต่ก็รู้ว่ากำลังใช้ชีวิตตามความคาดหวังของคนในครอบครัว
นั่นเพราะไม่รู้ว่าตัวเองชอบหรือไม่ชอบอะไร ไม่รู้แม้กระทั่งว่าตัวเองอยากประกอบอาชีพอะไรในอนาคต
อย่างไรก็ตาม การเรียนรู้นอกห้องเรียนทำให้ไหมได้สัมผัสกับสิ่งที่ทำให้ตัวเองตื่นเต้น และมีความกระตือรือร้นอยากลงมือทำสิ่งนั้นอยู่เสมอ นั่นคือการลงพื้นที่ทำงานกับชุมชน เธอจึงตัดสินใจเลือกเรียน สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ตามเสียงเรียกจากภายในตัวเอง
“หนูรู้ว่าตัวเองไม่ชอบเรียนในห้องสี่เหลี่ยม เมื่อก่อนที่บ้านบอกว่าเรียนครูนะ เราก็โอเค ตั้งใจว่าจะสอบครูให้ติด แต่พอเข้าโครงการมาความคิดเปลี่ยน แหวกแนว ตัวตนเราเป็นแบบนี้ เราไปทำอีกแบบหนึ่ง มันก็ไม่มีความสุข พอเราทำในสิ่งที่ต้องการ ได้เรียนรู้นอกห้องเรียนมันรู้สึกต่างกันมากเลย เราชอบสิ่งนี้จริงๆ แล้วก็ทำออกมาได้ดี ถ้าเอาเรื่องการเรียนมาวัด ผลการเรียนเราก็ดีขึ้นจากการทำโครงการ ที่ได้โควตาเข้าเรียนมหาวิทยาลัยเป็นคนแรกของโรงเรียนตอนนั้น ก็เป็นเพราะผลงานจากโครงการ Active Citizen ที่ทำมาทั้งหมด”
Take a risk ให้โอกาสตัวเองได้ลองทำสิ่งไหม
โครงการแนวทางการสร้างสื่อการเรียนรู้ประวัติบ้านนาพญา พญางอกเขี้ยว นาสี่บิง และแหลมตันหยงกุโบว์ ที่ไหมได้เป็นสมาชิกแล้วก้าวขึ้นมาเป็นประธานกลุ่มในปีแรก และ โครงการสืบสานภูมิปัญญาจักรสานเตยหนามสู่การใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันในปีที่สองที่ไหมทำหน้าที่พี่เลี้ยงโครงการ เป็นส่วนหนึ่งของ โครงการกลไกชุมชนสู่การพัฒนาเยาวชนจังหวัดสตูล หรือ Satun Active Citizen ที่มีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาแกนนำเยาวชนและแกนนำชุมชนให้มีศักยภาพในการเรียนรู้ และมีกระบวนการทำงานชุมชน ผ่านระบบความสัมพันธ์ในชุมชน ที่ทำให้เด็กเยาวชนเข้าใจและยอมรับความแตกต่างหลากหลาย และมีความภาคภูมิใจในตนเอง
“ยอมรับค่ะ เข้าไปแรก ๆ ทำตามที่พี่บอกหมดเลย เพราะว่าเขามาดึงให้ร่วมทำโครงการ แต่พอหลัง ๆ มาเต็มใจเลย ยิ่งพอเขามอบหน้าที่พี่เลี้ยงให้ ยิ่งทำให้หนูต้องผลักดันตัวเองขึ้นมา จะอยู่แบบเดิมไม่ได้แล้วนะ เขามอบหน้าที่ให้เราแล้ว เราต้องมีความเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น เป็นผู้นำมากขึ้น อารมณ์ก็ต้องเก็บมากขึ้น ต้องใช้การพูดคุยมากขึ้น หน้าที่เราคือผู้นำ ต้องดูแลทุกคนให้ดีที่สุด”
ไหมได้มาเข้าร่วมโครงการจากคำชักชวนของญาติข้างบ้าน เธอไม่รู้ว่าการทำโครงการคืออะไร ไม่รู้ว่าต้องทำอะไรบ้าง พูดง่ายๆ คือ เธอเข้ามาด้วยความไม่รู้อะไรเลย แต่ตลอดระยะเวลาที่ทำโครงการ ไหมค่อยๆ เรียนรู้การรู้จักตัวเอง และพัฒนาตัวเอง เพื่อผลักดันโครงการให้เดินหน้าต่อไปได้ ถึงแม้จะรู้สึกว่าเป็นเรื่องยากและเป็นภาระอันหนักอึ้ง
“ไหมได้เจอกับทีมบังเชษฐ์ (พิเชษฐ์ เบญจมาศ ผู้ประสานงานโครงการ Satun Active Citizen) ตอนเข้ามาทำกระบวนการเรียนรู้กับเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ เช่น การทำนาฬิกาประจำชีวิต แต่ละวันเราทำอะไร นิสัยของเราเป็นอย่างไร เพื่อให้เรารู้จักนิสัยของตัวเองมากขึ้น ต่อมาประธานกลุ่มคนเดิมต้องไปทำงานที่ภูเก็ต พี่เขาให้ไหมขึ้นมาเป็นประธานต่อ ตอนนั้นตกใจมาก ทำไมมาโยนแบบนี้ ยังไม่ทันได้ทำงานอะไรเลย ยังมีพี่ที่โตกว่าแต่ทำไมไม่เลือกพี่ ทำไมมาเลือกเรา รู้สึกกังวลไปหมด ด้วยความที่เป็นเด็กสุดในรุ่นตอนนั้น เขาจะเชื่อใจเราไหม เขาจะเชื่อถือเราหรือเปล่า ถ้าเราบอกอะไรไปเขาจะฟังเราไหม แต่มีการถามกันในกลุ่มว่าให้ไหมเป็นประธานได้ไหม คนในกลุ่มก็ว่าได้ ไหมเลยได้มาเป็นประธาน”
“ไหมเป็นประธาน พี่ก๊ะ (สุวัลยา ยาหยาหมัน) เป็นรองประธาน แต่อายุเยอะกว่า ตอนที่รับหน้าที่ใหม่ ๆ งานทุกอย่างหนูถามพี่ก๊ะ จนหนูรู้สึกว่าพี่เขาจะรำคาญหรือเปล่า เป็นผู้นำอะไร ทำไมต้องถามคนอื่นทุกอย่าง ที่จริงผู้นำต้องหาความรู้ด้วยตัวเองแล้วไหม ผู้นำต้องรู้มากกว่าคนในกลุ่มหรือเปล่า แต่เราก็เป็นพี่เลี้ยงคู่กันมา ไม่เคยมีปัญหาอะไรกัน ทุกอย่างคือปรึกษากันตลอด”
อัพเกรดเวอร์ชั่นที่ดีขึ้นของตัวเอง
จุดเปลี่ยนที่ทำให้ไหมหันมาหลงรักการทำงานกับชุมชน จนตกลงใจเลือกเรียนสาขาพัฒนาชุมชนในที่สุด เป็นเพราะโครงการเปลี่ยนแปลงไหมให้กลายเป็นไหมในเวอร์ชันที่ดีขึ้นในหลายๆ เรื่อง หากนึกถึงแอพพลิเคชั่นบนมือถือ อาจกล่าวได้ว่าแอพของไหม ถูกอัพเกรดเป็นเวอร์ชันใหม่อยู่เป็นประจำ ผลลัพธ์ที่เห็นได้อย่างชัดเจนคงหนีไม่พ้นเรื่องการเรียน ไหมย้ำชัดว่าสามารถนำความรู้และวิธีการเรียนรู้จากโครงการไปปรับใช้กับการเรียนในห้องเรียนได้ ตั้งแต่เรียนมัธยมจนกระทั่งเข้ามหาวิทยาลัย
“ตอนปีหนึ่งรู้สึกว่างานมันหนัก เพราะบางทีเลิกเรียนแล้วต้องมานั่งประชุม กว่าจะเลิกเรียนกลับถึงบ้านก็ห้าโมงกว่าแล้ว หกโมงนัดประชุมไปคุยอีกแล้ว ทำให้รู้สึกว่าเวลาว่างอยู่ไหน เหนื่อยนะ ไม่มีเวลาทำงานทำการบ้าน นอนดึกไปอีก แต่พอเริ่มไปเข้าค่าย มันสนุก เริ่มอยากไปเข้าค่าย พอมีกิจกรรมอบรมสื่ออบรมต่าง ๆ เข้ามา ทำให้หนูรู้สึกว่าหนูนำความรู้ไปใช้กับการเรียนได้ เลยรู้สึกว่ามันไม่ได้เหนื่อยอย่างนั้น แต่เราได้เรียนรู้เพิ่มเติมอีกด้วย”
“สมัยเรียนมัธยมเรียนได้เกรดน้อย จนครูที่โรงเรียนบอกว่าเกรดน้อยขนาดนี้ มหาวิทยาลัยที่ไหนจะรับเธอ เรื่องนี้เป็นปมที่สุดของหนู น้ำตาไหลเลยค่ะ มันกระแทกใจมาก คิดว่าทำไมครูที่สอนหนู กล้าพูดแบบนี้ เพื่อนก็บอกว่าไม่เป็นไร พิสูจน์ให้ครูเห็นว่าที่ไปทำทั้งหมดเกิดขึ้นกับตัวเราได้”
ปมในใจจากคำพูดของครูในวันนั้น บวกกับผลการเรียนที่ต้องยอมรับว่าไม่ดีเอาเสียเลย นักเรียนสายวิทย์ – คณิต กับเกรดหนึ่งหรือสองในวิชาคณิตศาสตร์ ดูแล้วไม่น่าไปกันได้ แต่นั่นไม่ใช่ทั้งหมดของการเรียนรู้ เพราะไหมได้พัฒนาทักษะด้านอื่นๆ ได้ดีขึ้นอย่างโดดเด่น
“ช่วงนั้น ม.6 เทอม 1 เราได้ข่าวมาว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางเปิดรับนักศึกษา หนูทำพอร์ตโฟลิโอขึ้นมาเลยค่ะ กิจกรรมหนูเยอะ หนูมั่นใจ คิดว่าใครจะพูดอย่างไรก็ช่าง หนูได้เข้าเรียนแน่นอน หนูจะเป็นคนแรกของโรงเรียนให้ได้ สุดท้ายมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางก็รับหนูเข้าเรียนจริงๆ พอร์ตโฟลิโอไม่ได้มีงานกิจกรรมภายในโรงเรียนเลย เพราะไม่ได้เป็นเด็กกิจกรรม ในพอร์ตโฟลิโอเต็มไปด้วยงานในโครงการ Active Citizen การลงพื้นที่ การประชุมอบรมสื่อ ถ้าไม่ได้เข้าโครงการนี้ หนูก็คงไม่ได้โควต้ารอบแรก หรือรอบต่อไปก็ไม่รู้จะสอบติดไหม เพราะกิจกรรมก็ไม่มี การเรียนก็ไม่ได้”
“จากที่เป็นคนเรียนไม่ได้ เพราะเขียนไม่ตรงประเด็น พอเข้าร่วมโครงการเริ่มมีพัฒนาการ ไม่ว่าจะเป็นการพูด การเขียน เมื่อก่อนสรุปงานไปส่งครูก็ได้ไม่ตรงคำตอบ แต่พอได้ไปอบรม หลังจากนั้นเวลาสรุปการบ้านสรุปงาน เขียนเป็นสองสามหน้า ครูบอกว่าทำได้ดีแต่ขอแค่สั้น ๆ ก็พอ รวมไปถึงเทคนิคการถ่ายและตัดต่อวีดิโอ ปกติมัธยมคุณครูสั่งงานเกี่ยวกับการตัดต่อ เลยได้นำเทคนิคที่มูลนิธิได้จัดโครงการอบรมมาใช้ จนถึงตอนนี้ก็ยังใช้อยู่เพราะทำโปรเจกต์ของมหาวิทยาลัยก็ต้องตัดต่อวิดีโอด้วย หรือเดิมทีเป็นคนกล้าพูดอยู่แล้ว แต่ไม่มีที่ให้แสดงออกเท่าไรตอนอยู่โรงเรียน หนูพูดปกติแต่ถึงหน้าชั้นเรียนก็โดนเพื่อนหัวเราะ เลยไม่มั่นใจในการพูด แต่พอได้ไปอบรมทำให้กล้าพูดมากขึ้น”
“มาเรียนต่อรู้สึกว่าวันนั้นที่เข้าร่วมโครงการไม่ได้เสียเวลาเปล่า เพราะที่เรียนอยู่ตอนนี้ก็เป็นเรื่องที่โครงการสอนมาหมดไม่ว่าจะเป็นการเขียนโครงการหรือร่างโครงการวิจัย เราเคยผ่านประสบการณ์ตรงนั้นมา มาเรียนปีหนึ่งหนูมีประสบการณ์มากกว่าเพื่อนนิดหน่อย หนูก็ช่วยเหลือเพื่อนร่างโครงการได้ ทำให้หนูภูมิใจว่าเลือกทางที่ถูกแล้ว เดินทางที่ถูกแล้วในสิ่งที่ตัวเองชอบ”
แน่นอนว่าผลการเรียนที่ดีขึ้นของเธอ รวมถึงนิสัยส่วนตัวที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี ทำให้พ่อแม่ยอมรับและให้อิสระในการคิดตัดสินใจแก่ไหมมากขึ้น
“ตอนหนูสอบเข้าได้ แม่หนูดีใจมาก เราเห็นผลลัพธ์กับตัวเองว่าที่ทำไปไม่เสียเปล่า แม่ก็เห็นว่าหนูภูมิใจดีใจ เราเปลี่ยนไปเยอะเลย แต่ก่อนหนูเป็นคนอารมณ์ร้อน ทุกอย่างใช้อารมณ์ ไม่พอใจอะไรเถียงกลับ ถ้าไม่ถูกใจแสดงออกทางสีหน้าทันที แล้วก็พูดไปเลยว่าไม่พอใจ เมื่อทุกคนเห็นรู้ทันทีว่าอารมณ์ไม่ดีแล้วนะ แต่เดี๋ยวนี้เรายอมเดินออกมา หลังจากนั้นแม่ก็ไม่เคยห้าม ช่วงเป็นพี่เลี้ยงโครงการแม่จะถามว่าน้องๆ จะมาประชุมวันไหนอีก อย่าลืมเตรียมตัวเตรียมของให้น้องด้วย เพราะไหมใช้บ้านไหมเป็นที่ประชุม เมื่อก่อนไม่เคยพูดแบบนี้ ไม่เคยถาม”
พี่เลี้ยงทางไกล
จากจังหวัดสตูลเกือบใต้สุดทางภาคใต้ไปยังจังหวัดลำปางทางภาคเหนือ นับว่าเป็นการเดินทางไกลบ้านที่ต้องอาศัยความเด็ดเดี่ยวในการตัดสินใจอยู่พอสมควร แต่การรู้จักตัวเองและเป้าหมายที่ชัดเจนทำให้การเดินทางครั้งนี้ของไหมเป็นเรื่องน่าสนุก
“ท้าทายดีค่ะ มาที่นี่มาอยู่คนเดียว มาเรียนคนเดียว ไม่ได้ซีเรียสว่าใครจะมาด้วย หนูเดินทางของตัวเองอย่างเดียว”
อย่างไรก็ตาม ไหม ย้ำอย่างชัดเจนว่า เธอไม่เคยคิดละทิ้งน้องๆ แกนนำเยาวชนในโครงการปีที่สอง และยังคงอยากมีส่วนร่วมกับทุกกิจกรรมที่น้องๆ ลงมือทำ มือถือ อินเทอร์เน็ต และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าย่นระยะทางและความห่างให้ไหมยังสามารถติดตามการทำงานของน้องๆ ได้อย่างสม่ำเสมอ
“หนูบอกน้องๆ ว่าถึงไม่ได้อยู่ในชุมชน ถ้ามีอะไรที่ไม่เข้าใจก็ทักมาถามได้ตลอด ถึงไม่ได้ทำงานร่วมกัน แต่ก็ยังปรึกษากันผ่านโทรศัพท์ได้ เวลาน้องๆ มีกิจกรรม ทักมาบอกกับทางกลุ่มล่วงหน้า เดี๋ยวจะมีประชุมตอนหกโมง อย่าลืมมากันด้วย เราก็มาดูตารางเรียนตัวเอง วันนี้ดีใจจังไม่มีเรียนตอนบ่าย หนูอยู่ที่ห้องรอเลย เพื่อนชวนไปเที่ยวไม่ไปแล้ว คืออยากดูน้องประชุม อยากฟัง เพื่อนบอกว่าไปเที่ยวเถอะ หนูก็ไม่อยากไป ด้วยความที่ยังกังวล กลัวว่าน้องๆ ไม่ถนัดยังไม่ชำนาญ ตอนน้องๆ ลงพื้นที่ก็ให้น้องๆ โทรศัพท์เปิดกล้องไว้ด้วย”
“ถึงจะอยู่ที่นี่ แต่ยังสนุกกับโครงการที่บ้าน ยังสนุกกับชุมชน อาจารย์ถามตอนมาเทอมแรกตอนปีหนึ่งได้ข่าวว่าเคยทำโครงการ อาจารย์จับไปอยู่กับปีสามเลยค่ะ ไปลงพื้นที่พร้อมเขา อันนี้ก็ยิ่งดีใจไปใหญ่ พออาจารย์พาไป มันสนุก อยากทำงานแบบนั้น ที่เลือกมาเรียนทางนี้ก็เพราะว่าวัฒนธรรมมันแตกต่างจากบ้านเรา อยากเรียนรู้ที่แตกต่าง พอเขาถามว่าว่างไหม หนูบอกเพื่อนเรื่องเที่ยวยกเลิกเลยค่ะ”
ไหม เล่าว่า ทีมแกนนำเยาวชนในโครงการสืบสานภูมิปัญญาจักรสานเตยหนามฯ เป็นผู้ชายทั้งหมด แม้การจักรสานดูแล้วคัดกับบุคลิกความเป็นผู้ชาย แต่ก็เป็นโครงการที่น้องๆ เลือกเอง
“เมื่อก่อนในชุมชนทำจักรสานเตยหนามทุกบ้าน แต่เดี๋ยวนี้คนสนใจน้อยลง เนื่องจากความสะดวกสบายเข้ามา คนในชุมชนก็ไม่ได้ไปตัดเตยหนามมาทำจักรสานเหมือนก่อน เพราะมีหลายขั้นตอน ต้องลงไปตัดเตยหนาม เอามาลอกหนามออก ตากแดด กว่าจะได้ใช้ ถ้าเกรียมเกินไปก็ใช้ไม่ได้ ถ้าอ่อนเกินไปก็ใช้ไม่ได้ มันยุ่งยาก”
ไหมทำงานประสานกับก๊ะที่ยังเป็นพี่เลี้ยงในพื้นที่ ความยากของการทำงานมีอยู่ไม่กี่เรื่อง หนึ่งในนั้น คือ เรื่องความไม่ตรงต่อเวลา
“สมมุติเรานัดหนึ่งทุ่ม น้องมาสองทุ่มและขอต่อเวลาอีกครึ่งชั่วโมงเพื่อเล่นเกมก่อน ความรู้สึกตอนนั้นมันจะปรี๊ดแตก แต่เราก็ใช้เหตุผลคุยกับน้องๆ ว่า เล่นเกมได้นะ พอเล่นเสร็จแล้ว งานต้องเดินต่อนะ น้องๆ ก็โอเค การทำงานเปลี่ยนแปลง เลยมาปรับเปลี่ยนน้องๆ ว่า ถ้านัดหนึ่งทุ่ม หกโมงครึ่งน้องๆ ต้องมาถึงแล้ว เพื่อการทำงานที่เป็นระบบ เมื่อก่อนตอนเป็นประธานมีคนประสานงานให้เราก่อนทุกอย่าง แต่พอเราขึ้นมาเป็นพี่เลี้ยง สิ่งที่พี่เลี้ยงควรทำ คือ ประสานงานให้น้อง ให้กำลังใจน้อง ให้คำแนะนำกับน้อง ช่วยเสริมน้องๆ ทุกด้าน บางครั้งในการทำงานน้องๆ อาจมีทะเลาะกันบ้าง เราบอกว่ากินข้าวหม้อเดียวกันจะทะเลาะกันทำไม พยายามพูดด้วยเหตุผล เพื่อให้งานเดินต่อไปได้ ”
ไหม บอกว่า วิธีการทำงานกับกลุ่มเยาวชนที่เป็นน้องๆ ผู้ชาย ต้องใจเย็นและกวดขันเรื่องความรับผิดชอบ
“ข้อหนึ่ง ไม่ควรใช้อารมณ์ในการพูดคุยกับน้อง ด้วยความที่น้องเขาเป็นผู้ชายด้วย ยิ่งพูดด้วยอารมณ์ เขายิ่งไม่พอใจมากกว่า อารมณ์ผู้ชายกับผู้หญิงมันต่างกันอยู่แล้ว ข้อสอง เราต้องรับมือเรื่องความรับผิดชอบด้วย ตรงนี้พี่เลี้ยงจะต้องกระตุ้นเรื่อย ๆ ด้วยนิสัยของผู้ชายเราต้องฝึกให้เขาเรียบร้อย ทำงานทบทวนก่อน”
“พัฒนาการของน้องๆ ทั้งแปดคนจากที่เป็นเด็กติดเกม ไม่กล้าพูด สิ่งที่เปลี่ยนไป คือ เขากล้าพูด ถึงขั้นที่แม่เขาบอกว่า ถ้ามีกิจกรรมอย่าลืมนัดลูกเขาไปด้วย ให้ออกไปหาประสบการณ์ ตอนแรกก็ไม่คิดว่าเสียงตอบรับของผู้ปกครองจะออกมาดี เพราะมีผู้ปกครองบางคนคิดว่า เอาลูกมาทำงาน ไม่ได้มีค่าตอบแทนอะไร เสียเวลาเปล่าๆ แต่พอน้องๆ ได้ไปเริ่มอบรม ทัศนคติของผู้ปกครองก็เริ่มเปลี่ยน ผู้ปกครองเริ่มบอกว่าถ้ามีกิจกรรมวันไหนอย่าลืมดึงน้องไปด้วยนะ ทำให้รู้สึกว่าสิ่งที่น้องๆ ทำอยู่ดีแล้ว แสดงว่าโครงการนี้ทำให้เขาเปลี่ยนแปลงไปจริง ๆ”
ต้นกล้าที่แข็งแรงแห่งบ้านนาพญา
ความสัมพันธ์ของเด็กเยาวชนและผู้ใหญ่ในบ้านนาพญาแต่เดิมค่อนข้างห่างเหิน ต่างคนต่างอยู่ ไม่มีกิจกรรมให้เด็กเยาวชนทำร่วมกับผู้ใหญ่ ไหม กล่าวว่า ทั้งสองโครงการทำให้กลุ่มแกนนำเยาวชนใกล้ชิดกับผู้ใหญ่ในชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่เป็นปราชญ์ หรือ ผู้รู้ให้กับโครงการ
“ส่วนใหญ่เขาต้องการให้เด็กๆ เข้าไปคุยด้วยอยู่แล้ว เพราะรู้สึกโดดเดี่ยว แต่หลังจากที่ไหมกับเยาวชนเข้าไปหาและเข้าไปคุยอยู่เรื่อย ๆ เขาก็มีความสุข ทำให้เรามีความสุขตามไปด้วย ถ้าเราหาเวลาว่างมาคุยกับเขา เขาจะรู้สึกอบอุ่นใจ ปกติขี่รถผ่าน เราเห็นเขาก็นั่งคนเดียว อยู่บ้านคนเดียว ไม่เคยเข้าไปพูดคุยว่าเป็นอย่างไรบ้าง แต่พอเราเข้าไปหา ผู้สูงอายุบอกว่า ถ้าว่าง ๆ ก็แวะมาคุยนะ หนูมาเรียนต่างจังหวัด เวลากลับบ้านแล้วไปหา เขาก็บอกว่า อย่าลืมมาคุยด้วยอีกนะ ไม่ได้เจอกันนาน จนถึงวันนี้แม่ก็บอกว่าเขายังถามอยู่ว่าไหมจะกลับตอนไหน ไหมไปไหนแล้วเห็นหายไป รู้สึกว่าสิ่งที่เราทำไป เขาตอบรับเราอยู่ เขายังถามหาอยู่ถึงไม่มีเราแล้ว”
ไหมมองว่าโครงการ Active Citizen เป็นโครงการที่เข้ามาพัฒนาศักยภาพของเด็กและเยาวชน เธอไม่คาดหวังว่าโครงการจะสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนต่อชุมชนภายในระยะเวลาอันสั้น แต่ความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในตัวเด็กและเยาวชนเป็นผลลัพธ์สำคัญ
“เสียงตอบรับจากชุมชนในภาพรวมตอนปีหนึ่ง ชุมชนไม่ได้ตอบรับอะไรมากมาย เขายังถามด้วยว่าพวกเราทำอะไรกัน ไหมเข้าใจว่าโครงการที่ทำกันอยู่เข้ามาเสริมเพื่อพัฒนาเยาวชนนะ ให้กล้าคิด กล้าทำ จุดมุ่งหมายของโครงการอาจไม่สามารถทำให้ชุมชนงอกงามไปเลย แค่เห็นว่าเยาวชนเปลี่ยนแปลง ถือว่าสำเร็จแล้ว”
“ปีแรกเราทำโครงการสืบค้นประวัติบ้านนาพญา ทำออกมาเป็นหนังสือรูปเล่ม นำไปไว้ที่โรงเรียนบ้านนาพญาเป็นโรงเรียนอยู่ในหมู่บ้าน คาดหวังให้เป็นหนังสือประวัติศาสตร์เพื่อให้เด็กไว้อ่านที่โรงเรียน หรือไว้สำหรับคุณครูนำไปสอนเด็ก อยากให้ครูได้ซึมซับร่วมกับเด็กไปด้วย ส่วนปีที่สองโครงการสืบสานภูมิปัญญาจักรสานเตยหนามสู่การใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน รุ่นน้องที่ทำโครงการปีที่สองเลือกกันเอง เราแค่คอยสนับสนุน น้องๆ ได้เก็บข้อมูลและเข้าไปเรียนรู้งานจักรสาน มีผู้ใหญ่มานั่งสอน นั่งทำ แค่ยังไม่ได้ทำเป็นผลิตภัณฑ์ แต่น้องก็เต็มที่กับงาน พัฒนาขึ้น ถือว่าเขาได้เรียนรู้ นำไปใช้ต่อได้”
“จากที่ได้เห็นการพัฒนาของคนในชุมชนและเยาวชน รู้สึกว่าวันนั้นจากที่เรากังวลว่า เราเป็นเด็ก เราทำไม่ได้ มันสะท้อนกลับมาให้เห็นว่า เราเป็นเด็ก เราก็ทำได้ เรายังหาสมาชิกเพิ่มเข้ามา แล้วทำให้เขารู้สึกอยากทำโครงการต่อ อันนี้เป็นสิ่งที่ไหมดีใจที่สุด เสมือนเราปลูกต้นไม้ขึ้นมา มีคนคอยรดน้ำอยู่เรื่อยๆ แค่นี้ก็ดีใจแล้ว ยังทำให้รู้สึกว่าชุมชนของเราหรือว่าเยาวชนของเราตอนนี้ไม่ได้นิ่งเฉย เขาก็ได้เข้ามามีส่วนร่วมกับชุมชนแล้ว”
เมื่อถามถึงความฝันหรือเป้าหมายในชีวิตที่อยากไปให้ถึง ไหม กล่าวอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า
“มาเรียนสาขานี้เพราะอยากกลับไปพัฒนาชุมชนตัวเอง แต่พอมาเรียนลึก ๆ มันไม่ได้ง่าย เราเรียนหมดเลย เรียนไปถึงจิตของคน เรียนจิตวิทยาควบคู่ไปด้วย ทำให้รู้ว่าเวลาคนเป็นแบบนั้น เราไม่ควรเข้าไปพูดกับเขา ด้วยความเป็นเด็กถึงเวลาพูดก็เข้าไปพูด แต่ชาวบ้านอาจไม่พูดกับเรา สำหรับหนูคุ้มนะ ได้เรียนรู้ทั้งชุมชน ได้เรียนรู้ตัวเอง ได้เรียนรู้หลายแขนงวิชา หลายศาสตร์มารวมกันในนี้ เขาบอกว่าการพัฒนาชุมชน ไม่ใช่แค่กลับไปพัฒนาชุมชนของตัวเอง แต่เราต้องพัฒนาตัวเองและชุมชนเมื่อมีโอกาส ความคิดจากที่ว่าแค่ชุมชนของเรา ตอนนี้ต้องกระตือรือร้นกับทุกชุมชน พัฒนาทุกชุมชนที่เรามีโอกาสเข้าไป”
///////////////////////