โครงการ สืบฮีตตวยฮอยวิถีชีวิตขุนน้ำสาร “บ้านจำขี้มด”
พี่เลี้ยงเด่น : นางสาวอินทุอร หล้าโสดแตง (แตง)
ชื่อเรื่อง : No blind eyes การสัมผัสเด็กและเยาวชนด้วยบทบาทใหม่ของ แตง - อินทุอร หล้าโสดแตง
แม้ร่างกายภายนอกอาจไม่สมบูรณ์เหมือนคนอื่นแต่แรงขับเคลื่อนภายในที่สะท้อนออกมาผ่านสิ่งที่ แตง - อินทุอร หล้าโสดแตง ลงมือทำในฐานะพี่เลี้ยง โครงการสืบฮีตตวยฮอยวิถีชีวิตขุนน้ำสาร อาจทำให้ใครหลายคนต้องยกนิ้ว กดไลค์ กดหัวใจ ให้กับพลังที่แน่วแน่ของเธอ
“มีหลายอย่างเวลาทำกิจกรรมแล้วทำให้ไม่เครียดกับเรื่องปัญหาสุขภาพตัวเอง พี่เลยชอบทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อหมู่บ้าน เป็นการรวมกลุ่มน้อง ๆ ทำ ให้เขาใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์” พี่แตงเล่าถึงความตั้งใจที่ตัดสินใจทำงานด้านเด็กและเยาวชน
แตงอาศัยอยู่ที่ชุมชนบ้านขุนน้ำสาร ตำบลหนองบัวบาน อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน เริ่มเข้าสู่วงการการทำงานด้านเด็กและเยาวชนมาตั้งแต่ปี 2548 จากการชักชวนของสถาบันหริภุญชัย เพื่อจัดตั้งกลุ่มเยาวชนในหมู่บ้าน ทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการรวมกลุ่มเยาวชนบ้านขุนน้ำสาร เพื่อทำงานจิตอาสา ประสบการณ์กว่า 15 ปีในแวดวงเยาวชนทำให้แตงสนิทกับน้องๆ เสมือนคนในครอบครัว
พี่เลี้ยงมือใหม่...หัวใจเกินร้อย
ไม่ว่าจะมีประสบการณ์มายาวนานขนาดไหน แต่การเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ๆ เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นเสมอ แตงยอมรับว่าก่อนเข้าร่วมโครงการปลุกสำนึก สร้างพลัง เสริมศักยภาพ เยาวชนเมืองลำพูน (Active Citizen) เธอรู้สึกเช่นนั้น เหตุผลเพราะโครงการนี้แตกต่างจากโครงการหรือกิจกรรมที่ทำจบในวันเดียวเหมือนที่เคยทำมา นี่เป็นโครงการระยะยาวที่เน้นปลูกฝังจิตสำนึก เรียนรู้รากเหง้า ส่งเสริมวัฒนธรรมพื้นบ้าน ประเพณี และวิถีชีวิตของคนในแต่ละพื้นที่ เมื่อทางสถาบันหริภุญชัย ลำพูน เข้ามาแนะนำโครงการ สิ่งแรกที่แตงทำ คือ การนำเรื่องราวไปปรึกษาน้องๆ เยาวชนในชุมชนที่เธอทำงานด้วย
บรรยากาศในช่วงแรกจึงยังคุกรุ่นด้วยความรู้สึกกล้า ๆ กลัว ๆ แต่เห็นว่าเป็นโครงการที่น่าสนใจทั้งแตงและน้องๆ จึงตอบตกลง ทำให้แตงได้ช่วยสนับสนุนแกนนำเด็กและเยาวชนในชุมชนทำโครงการแรกที่มีชื่อว่า โครงการสืบฮีตสานฮอยภูมิปัญญาครัวแต่งดาพิธีกรรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เยาวชนรุ่นใหม่ได้รู้จักครัวแต่งดาในพิธีกรรมทั้ง 4 เช่น งานศพ งานขึ้นบ้านใหม่ งานแต่งงาน และงานบวช ในแต่พิธีกรรมมีรายละเอียดปลีกย่อย มีประวัติความเป็นมาที่คนรุ่นใหม่ไม่รู้
ขึ้นชื่อว่าครั้งแรก ปีแรก อะไรๆ ก็ดูไม่ค่อยลงตัวสักเท่าไหร่ แตงเคยทำงานด้านเด็กและเยาวชนที่เป็นงานจิตอาสามาเยอะ แต่เจอโครงการนี้เข้าไป ใหม่ๆ ก็ยังจับทางไม่ถูก จนต้องขอความช่วยเหลือจากโคชในพื้นที่เพื่อช่วยให้ความรู้และแนะนำการตัดสินใจ
“ตอนเป็นพี่เลี้ยงปีแรก เรารู้แค่ว่าทำเกี่ยวกับเรื่องวิถีชีวิต การปลูกจิตสำนึก แต่ไม่รู้ว่าโครงการอยากให้ทำออกมาในลักษณะไหน กลัวผิดพลาด ปรึกษากับทางมูลนิธิฯ กับทางสถาบันฯ เขาไม่ได้บังคับแต่ให้เราเป็นคนเลือกทำภายใต้ทุนของชุมชนที่มี เราเป็นคนทำเลยกลัวว่าถ้าทำจะตอบโจทย์หรือเปล่า กล้าๆ กลัวๆ ว่าจะทำโครงการที่เลือกดีไหม“
ถ้าถามถึงบทบาทพี่เลี้ยงมือใหม่ในตอนนั้น เรียกได้เลยว่าเป็นปีที่กดดันทั้งตัวเองและกลุ่มเยาวชนพอสมควร
ผสมกับความกลัวทำโครงการไม่ได้อย่างหวัง ทำให้ใน
ระยะแรกของโครงการแตงยังตามประกบน้องๆ เยาวชนแกนนำอยู่ตลอด เพราะไม่อยากให้การทำงานนอกลู่นอกทาง จนส่งผลให้ทั้งแตงและกลุ่มเยาวชนเครียดกันไปหมด
แตง เล่าว่า โชคยังดีที่มีเวทีอบรมพี่เลี้ยงโครงการ เธอได้ทำกิจกรรมร่วมกับพี่เลี้ยงคนอื่นจากทั้ง 14 โครงการในเครือข่าย แลกเปลี่ยนแนวคิดและวิธีการดูแลกลุ่มเด็กและเยาวชนของแต่ละพื้นที่ เธอกลับมาทบทวนความเป็นพี่เลี้ยงของตนเองและพบว่า ที่ผ่านมาตนตีกรอบการทำงานของกลุ่มเยาวชนมากเสียจนทำให้การทำงานลำบาก แตงจึงเริ่มปรับบทบาทของตัวเองใหม่ ปล่อยให้เด็กเป็นคนคิดและลงมือทำด้วยตัวเอง ส่วนตนเองเป็นแค่ผู้สนับสนุนที่พร้อมอยู่เคียงข้างเสมอ
ปีสอง...มองไกล
หลังเปลี่ยนบทบาทการเป็นพี่เลี้ยง กลายเป็นพี่แตงคนใหม่ แตงพบว่าบรรยากาศการทำงานเปลี่ยนไป กลุ่มแกนนำเยาวชนจากเดิมต้องคอยกดดันแกมบังคับ ไม่กล้าพูดไม่กล้าถาม เพราะกลัวโดนดุ เมื่อเปิดพื้นที่ให้ได้คิดเอง ทำเอง กลับกล้าแสดงออกมาขึ้น เห็นได้อย่างชัดเจนว่าเด็กๆ รู้สึกสบายใจและ มีความสุขมากกว่าแต่ก่อน เมื่อโครงการในปีแรกสิ้นสุดลง แตงจึงชวนน้องคุยเพื่อทบทวนถึงข้อผิดพลาดและสิ่งที่อยากแก้ไข ก่อนถามต่อว่าอยากโครงการในปีที่สองต่ออีกไหม ผลตอบรับที่ได้คือ “ทำต่อ!!”
จากโครงการสืบฮีตสานฮอยภูมิปัญญาครัวแต่งดาพิธีกรรม ในปีแรกที่ทำให้เยาวชนรุ่นใหม่ได้รู้จักครัวแต่งดาซึ่งเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตคนบ้านขุนน้ำสาร เกิดเป็น โครงการ สืบฮีตตวยฮอยวิถีชีวิตขุนน้ำสาร “บ้านจำขี้มด” ในปีที่สอง เพื่อสืบเสาะประวัติความเป็นมา การประกอบอาชีพในลำน้ำแม่สาร และฟื้นฟูลำน้ำแม่สารบ้านจำขี้มดที่หล่อเลี้ยงชีวิตของคนในพื้นที่
แตง เล่าว่า กลุ่มเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการในปีที่สองส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเดียวกับที่ทำโครงการมาตั้งแต่ปีหนึ่ง กระบวนการเรียนรู้ให้ “เด็กคิดเอง ทำเอง” ของโครงการได้พัฒนาศักยภาพของเด็กๆ กลุ่มนี้อย่างเห็นได้ชัด
“น้องฟ้าทำโครงการในปีหนึ่งตอนนั้นยังไม่กล้าพูด ไม่กล้านำเสนอโครงการ บิดไปบิดมา แต่พอปีสองเราลองหยิบยื่นหน้าที่ให้เขานำเสนอโครงการ เขาก็ทำได้ดี“
จะว่าไปแล้วโครงการในปีที่สองเป็นโครงการต่อยอดจากปีที่หนึ่ง มีเรื่องของครัวแต่งดาเกี่ยวกับพิธีกรรมเหมือนกัน เป็นพิธีกรรมการบวงสรวงผีขุนน้ำสาร กว่าจะได้มาเป็นโจทย์ตั้งต้นโครงการ แตงสอบถามความคิดเห็นจากกลุ่มแกนนำเยาวชนเป็นหลัก เปิดโอกาสให้น้องๆได้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่
“เราคุยกับน้องภายในกลุ่มว่าอยากทำต่อของโครงการปีที่หนึ่งไหม หรือว่าอยากทำเรื่องอื่น น้องมาคุยกันแล้วเสนอว่าปีที่หนึ่งทำเรื่องครัวแต่งดาไป แต่มีอีกหลายอย่างที่เป็นครัวแต่งดาในพิธีกรรมในหมู่บ้าน ที่ยังไม่ได้ศึกษา เลยมาคุยกันว่ามีพิธีกรรมเลี้ยงผีขุนน้ำสาร ที่สามารถถามจากผู้รู้ในหมู่บ้านได้จึงตกลงกันว่าปีที่สองนี้ ทำเกี่ยวกับวิถีชีวิตของขุนน้ำสาร” พี่แตงเล่าถึงที่มาของโครงการปีที่สอง
กิจกรรมหลัก ๆ ของโครงการที่น้องๆ วางไว้คือ การลงพื้นที่เพื่อสอบถามข้อมูลจากผู้รู้เรื่องทรัพยากรที่
เคยมีและหายไปในลำน้ำสาร วิถีชีวิตของคนในอดีตและปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับลำน้ำ สุดท้ายคือพิธีกรรมการเลี้ยงผีของขุนน้ำสาร แตงคอยช่วยประสานกับผู้รู้เพื่อนัดวันเข้าไปสัมภาษณ์ ส่วนกิจกรรมที่เหลือต่อจากนั้นแตงจะให้น้องเป็นคนจัดการเองทั้งหมด
“หลังประสานงานเสร็จ นัดวันให้ปราชญ์สอนวิธีการต่างๆ เล่าเรื่องราวพิธีกรรมทั้งหมดให้ฟัง เราอยู่กับน้องตลอดทั้งกิจกรรม แต่จะอยู่ห่างๆ คอยฟังข้อมูลที่ผู้รู้สอน เพื่อนำข้อมูลที่ได้ในวันนั้นมาพาน้องๆ ฟัง”
จากตามติด มาเป็นการปล่อยให้น้องทำเอง แตงพบว่าต่างฝ่ายต่างทำงานง่ายขึ้น น้องที่ทำโครงการเองก็รู้แนวทางการทำงานมากขึ้นเพราะมีประสบการณ์มาจากปีแรก กิจกรรมไหนต้องทำแบบไหน สรุปบทเรียนต้องทำอย่างไร ต่างคนต่างสบายใจ
พี่เลี้ยงนักวางแผน
เมื่อถามถึงความถนัดของตนเองในบทบาทพี่เลี้ยงโครงการ แตงนิ่งคิดสักพักก่อนบอกว่า ความถนัดของตนน่าจะเป็นเรื่อง การชวนกลุ่มเยาวชนวางแผนทำงาน เพราะถือเป็นการกำหนดหางเสือของโครงในทุก ๆ ครั้งแตงชวนน้องๆ วางแผนควบคู่ไปกับ การพูดคุยแบบเปิดใจ เพราะเชื่อว่าเมื่อใดที่เปิดใจคุยกัน เมื่อนั้นจะช่วยให้ทำงานร่วมกันง่ายขึ้น เมื่อบรรยากาศการทำปลอดโปร่ง แตงสังเกตเห็นอย่างชัดเจนว่า กลุ่มเยาวชนกล้ายืนขึ้นมาอาสารับทำงาย กล้าบอกปฏิเสธเมื่อมีธุระจำเป็น โดยไม่สร้างความอึดอัดระหว่างกัน ทำให้เห็นช่วงเวลาของน้องแต่ละคน ทุกคนสบายใจในการทำงานเพราะเวลาที่ทำงานคือเวลาที่ทุกคนว่างจริง ๆ
ผลที่ได้อีกอย่างของการเปิดใจคุยกันระหว่างพี่เลี้ยงโครงการและน้องเยาวชน นั่นคือทำให้สนิทกันเร็วขึ้น แตงเล่าถึงความประทับใจในตัวน้อง ๆ ว่า “เวลาทำงานหรือทำกิจกรรมต่างพื้นที่ถึงแม้ว่าตาพี่มองไม่เห็น แต่ก็ไปกับน้องตลอด ติดกับเขาตลอดเลยเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราคุยกับน้องง่ายขึ้น เราสนิทกับน้องภายในกลุ่มมาก ถึงจะแก่กว่าเขาสิบยี่สิบปี แต่การทำงานกับน้องเยาวชนกลุ่มนี้ เราต้องปรับตัวเองให้เข้ากับน้องเขาให้มากที่สุด เพื่อให้ทำงานกับเขาได้ง่าย เวลามีปัญหาอะไรเขาจะได้ไว้ใจเชื่อใจเราและยินดีที่จะมาปรึกษา เพื่อช่วยกันหาแนวทางแก้ไขได้ทัน”
นอกจากเป็นนักวางแผนแล้ว แตงยังให้น้องๆ เรียนรู้การใช้เครื่องมือในการศึกษาชุมชนของตนเองด้วย สำหรับโครงการนี้พี่แตงเลือกใช้เครื่องมือแผนที่ชุมชนและปฏิทินประจำปี เพื่อให้การดำเนินโครงการง่ายขึ้น
“เลือกแผนที่ชุมชนให้น้องใช้ตอนลงพื้นที่สัมภาษณ์ปราชญ์ชุมชน เพื่อลงรายละเอียดบ้านของปราชญ์แต่ละท่าน ให้เขาลองทำกันเอง วาดแผนที่ชุมชนแล้วระบุตำแหน่ง จำได้ง่ายต่อการลงไปสำรวจในครั้งต่อไป ในส่วนของปฏิทินประจำปีเกี่ยวกับประเพณีวัฒนธรรม เราให้เขาดูว่าในประเพณีเลี้ยงผีขุนน้ำสาร จัดอยู่ในช่วงเดือนไหนของปฏิทินประจำปีบ้าง ส่วนเรามีหน้าที่คอยช่วยเสริมข้อมูลให้ในส่วนที่ขาดหายเท่านั้น” แตงย้ำวิธีการทำงานอีกครั้ง
ถอดบทเรียน...ทบทวนความรู้
ตลอดระยะเวลาของการทำโครงการแตงมักถามไถ่ความรู้สึกน้อง ๆ เสมอตั้งแต่เริ่มต้นจนจบโครงการ ตั้งแต่การพูดคุยธรรมดาไปจนถึงการล้อมวงเพื่อถอดบทเรียน เพราะอยากให้ทุกคนได้ทบทวนและสะท้อนตัวเอง อะไรบ้างที่ทำได้ดีแล้ว อะไรบ้างที่ยังต้องแก้ไข เพื่อนำข้อมูลที่ได้จากการพูดคุยไปปรับใช้ในโอกาสต่อไป
ในตอนท้ายของกิจกรรมพี่แตงไม่ลืมพาน้องและพี่เลี้ยงล้อมวงถอดบทเรียน หลังโยนหัวข้อให้น้องได้แลกเปลี่ยน น้องในทีมรู้สึกว่ายังทำกิจกรรมได้ไม่เต็มที่ มีหลายอย่างที่ยังไม่ได้ทำ กิจกรรมที่ร่วมกันวางแผนไว้ยังไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ทำให้รู้สึกเสียดายที่ไม่เป็นไปตามที่ตั้งเป้าหมายไว้
ในเรื่องของโครงการอาจไม่เต็มที่แต่ในฐานะพี่เลี้ยงแตงมองว่า ตลอดระยะเวลาสองปีที่ได้เข้า
มาทำงานกับเด็กและเยาวชน มีหลายสิ่งที่ตนพัฒนาขึ้นทั้งเรื่องมุมมองความคิดที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะมุมมองการเป็นพี่เลี้ยงที่ค้นพบว่า การปล่อยให้เด็กได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ไม่ตีกรอบความคิดและให้อิสระจะช่วยขจัดความกลวว ทำให้พวกเขาได้แสดงศักยภาพอย่างเต็มที่
อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่แตงภูมิใจมาก คือ ความเอาใจใส่จาก
ทีมโคช และเพื่อนพี่เลี้ยงทั้ง 14 โครงการจากหลากหลายพื้นที่ในจังหวัดลำพูน “กำลังใจ” เป็นสิ่งที่แตงได้รับกลับมาจากผู้คนรอบข้างในโครงการเสมอ
“ทุกคนในโครงการไม่ได้มองว่าเรามีปัญหาทางสายตา เขามองว่าเราสามารถทำงานได้เหมือนพี่เลี้ยงคนอื่นในโครงการ ทุกคนคอยให้กำลังใจตลอด ช่วยเหลือทุกอย่าง ไม่ว่าจะไปเข้าร่วมกิจกรรมกี่ครั้งก็ยังสัมผัสได้ถึงความรู้สึกนี้ เป็นพลังให้อยากทำโครงการนี้ต่อไป”
Active Citizen โลกใบใหม่ของพี่แตง
คำว่า “ถอดบทเรียน” เป็นเรื่องใหม่ แตงไม่เคยรู้จักคำนี้มาก่อนเลยตลอดระยะเวลาที่ทำงานด้านเด็กและเยาวชนมากว่า 15 ปี ไม่เคยมานั่งคุยกันว่ากิจกรรมที่ทำไปประสบความสำเร็จหรือไม่ มีอะไรที่ทำได้ดี อะไรที่ต้องปรับปรุง แต่เน้นทำแล้วจบไปมีกิจกรรมใหม่ค่อยนัดรวมตัวกันใหม่
“หลังจากทำงานกับโครงการ Active Citizen เราได้กระบวนการการเรียนรู้เกือบทั้งหมดที่เป็นตามหลักวิชาการ ตามหลักที่โครงการต้องมี เรียนรู้กระบวนการทำงานหลักการทุกอย่าง ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยรู้ว่าต้องมีหลักการแบบนี้ พอเราได้ลองทำแล้วช่วยให้การทำงานกับเยาวชนง่ายขึ้นกว่าเดิมเยอะ” ถึงจะทำงานด้านเยาวชน จิตอาสามาเยอะ แต่พี่แตงยอมรับว่ายังมีอีกหลายเรื่องที่ไม่เคยรู้มาก่อนและได้มารู้จากโครงการนี้ค่อนข้างมาก ซึ่งมองว่าเป็นการทำงานด้านเด็กและเยาวชนของแตงประสบความสำเร็จก็มีเยอะ ล้มเหลวก็มีไม่น้อย แต่ทุกครั้ง คือ โอกาสดีที่ทำให้ตนเองพัฒนาศักยภาพการพัฒนาเยาวชนไปอีกขั้น
ปัญหาการมองเห็นทางสายตา ไม่ได้เป็นอุปสรรคสำหรับพี่เลี้ยงที่ใช้หัวใจนำทางอย่างแตง การทำงานพัฒนาเด็กและเยาวชนอย่างมุ่งมั่นมาเกือบครึ่งชีวิตของเธอ จากจุดเริ่มต้นที่ไม่อยากพะวงกับความผิดปกติของร่างกาย มาสู่การทำประโยชน์คืนกลับให้สังคม สิ่งที่เธอทำไม่ใช่เพราะหน้าที่ แต่เกิดจากความรักและความผูกพัน ทำให้แตงกลายเป็นพี่เลี้ยงที่มีหัวใจเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนอย่างสมบูรณ์ตามแบบฉบับของตัวเอง
//////////////////