ชื่อเรื่อง วัตถุบันทึกความทรงจำของเด็กชายชาวเล “นราทิป ชูช่วง” เมื่อเศษขยะที่ถูกทิ้งขว้างกลายร่างเป็นประติมากรรมชายหาด
ประติมากรรมรูปปลาขนาดใหญ่ ลำตัวทำมาจากรองเท้ายางสีสันหลากหลาย เขียว น้ำเงิน ชมพู ขาว ดำ บางข้างเป็นลายสลับสี ส่วนท่อนหัวและหางสานขึ้นเป็นลายตารางจากที่รัดวัสดุ ปลาตัวนี้ตั้งอยู่บนคานไม้ที่มีป้ายชื่อ “หาดกาสิง” แขวนไว้
แดน – นราธิป ชูช่วง ในวัย 18 ปี เป็นเจ้าของไอเดียผลงานชิ้นนี้ เขาและเพื่อนๆ เก็บวัสดุทั้งหมดจำนวนมากได้จากชายหาด อ่านไม่ผิด...ประติมากรรมรูปปลาที่ตั้งเด่นเป็นสีสันบน หาดกาสิง บ้านบ่อเจ็ดลูก ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล ทำมาจากเศษขยะในท้องทะเล (แค่ส่วนหนึ่ง) ที่ถูกพัดพามาเกยตื่นในหน้ามรสุมที่มีเข้ามาถึงปีละ 2 ครั้ง
“อันดับหนึ่ง คือ ขยะเลยครับ ขยะพลาสติกมีจำนวนมาก เช่น ขวดน้ำ โฟม รองเท้ายาง เชือกก็มี ส่วนถ้าเป็นไม้มีทั้งไม้ท่อนใหญ่ จากซากเรือและกิ่งไม้” แดน อธิบาย
บ้านบ่อเจ็ดลูกเป็นเกาะเล็กๆ สมัยก่อนเรียกว่า “ตาลากาตูโหย๊ะ” ตามภาษามลายู ทิศเหนือติดกับบ้านสนใหม่ ตำบลแหลมสน ทิศใต้กับทิศตะวันตกติดกับทะเลอันดามัน ส่วนทิศตะวันออกติดกับบ้านปิใหญ่ ตำบลกำแพง บ้านบ่อเจ็ดลูกเป็นหนึ่งในหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว มีหาดกาสิงเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม ด้วยมีน้ำทะเลสีเขียวอมฟ้าใส นอกจากชายหาดแล้วยังมีถ้ำ หน้าผา แหล่งปะการัง และแหล่งหอยตะเภาที่สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในพื้นที่
ที่มาของชื่อ “บ่อเจ็ดลูก” มีประวัติความเป็นมาที่ถือเป็นต้นกำเนิดของชุมชนแห่งนี้ เล่ากันว่า มีชาวเลเผ่ามอแกนซึ่งเป็นกลุ่มชนเผ่าเร่ร่อนไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง เดินทางมาบนเกาะแห่งนี้เพื่อเสาะหาแหล่งน้ำดื่มน้ำใช้ แต่ขุดเท่าไรกลับพบแต่น้ำกร่อย กระทั่งขุดไปจนถึงบ่อที่เจ็ดจึงพบน้ำจืดให้ได้ประทังชีวิต ปัจจุบัน “โบราณสถานบ่อเจ็ดลูก” ยังคงปรากฏเป็นร่องรอยให้ระลึกถึงเรื่องเล่าขานต่อกันมาของชุมชน
++เศษขยะที่ (ไม่) ไร้ค่าบนหาดกาสิง
เมื่อถามว่า ปกติคนในชุมชนไปทำอะไรที่หาดกาสิง แดน หนึ่งในแกนนำ “เยาวชนคนชายเล” บอกว่า “ไปหาหอยท้ายเภา หอยเจดีย์ หาปลา หรือไปเดินเก็บไม้มาทำฟืน เก็บขวดพลาสติกมารีไซเคิล”
จากถ้อยคำที่แดนสื่อสารออกมา ฉายให้เห็นภาพธรรมชาติ ระบบนิเวศน์ในน้ำที่เกื้อกูลผู้คน ขณะเดียวกันก็ยังมีสิ่งแปลกปลอมซึ่งเป็นผลลัพธ์จากการใช้สอยของมนุษย์ ด้วยเห็นความสำคัญในทรัพยากรธรรมชาติรอบตัว แดนไม่อยากให้เศษขยะเหล่านี้กลายภาพชินตา จนโดนมองข้ามซ้ำแล้วซ้ำอีก
“ผมขี่รถตามชายหาดทุกวัน เห็นแล้วรู้สึกไม่ชอบ ขัดหูขัดตา รู้สึกรับไม่ได้แล้ว เพราะขยะมีเยอะขึ้นเรื่อยๆ ก่อนนี้ผมเคยเก็บพวกไม้มาทำโต๊ะ ทำให้เกิดเป็นชิ้นงานขึ้นมา ตอนนั้นยังทำคนเดียวไม่ได้รวมกลุ่มกับเพื่อนๆ” แดน เล่าถึงความชอบส่วนตัว
กว่าจะมาเป็นกลุ่มเยาวชนคนชายเล ลุกขึ้นมาทำ “โครงการสิ่งประดิษฐ์จากเศษขยะจากหาดกาสิง” ด้วยแนวคิดที่ไม่ซับซ้อน คือ เปลี่ยนเศษขยะ เศษไม้ มาเป็นสิ่งประดิษฐ์ ก่อนหน้านี้กลุ่มเยาวชนเคยรวมกลุ่มกันทำโครงการศึกษาการใช้ประโยชน์จากสีธรรมชาติเพื่อนำมาทำผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อมของฝากประจำชุมชนมาก่อน แดนเป็นหนึ่งในทีมงานที่มาเข้าร่วมโครงการในระยะหลัง และยังคงทำโครงการต่อเนื่องมาถึงปีที่สอง
“หมู่บ้านผมเป็นแหล่งท่องเที่ยว แต่นักท่องเที่ยวมาเที่ยวแล้วก็กลับ เหมือนมาเที่ยวเฉยๆ โครงการปีแรกกลุ่มเยาวชนเลยคิดขึ้นมาว่าหาของฝากให้กับหมู่บ้านหรือทำเป็นสินค้าโอท็อปน่าจะดี ครั้งแรกเพื่อนมาปลุกถึงที่นอน ให้ไปหาไม้ฟืนในหาดมาช่วยก่อไฟเพื่อต้มสี ผมก็ไป ทำๆ ไปเริ่มรู้สึกสนุกขึ้นมา เพราะปกติไม่ได้ทำอะไรอยู่แล้ว เล่นโทรศัพท์อย่างเดียวมันน่าเบื่อ เย็นๆ ค่ำๆ มีอะไรทำมากกว่าเล่นโทรศัพท์ ผมก็ชอบ ในหมู่บ้านมีกลุ่มเยาวชนพลัดเปลี่ยนกันเข้ามาจากรุ่นสู่รุ่น แต่รุ่นผมเป็นรุ่นสุดท้ายที่ทำอยู่ เพราะรุ่นพี่ออกไปเรียนต่อนอกชุมชนกันแล้ว เลยไม่ว่าง ผมคิดว่าโครงการแบบนี้ช่วยพัฒนาหมู่บ้านได้ ในเมื่อไม่มีรุ่นใหญ่สานต่อ ผมก็เลยทำต่อ มีช่วงที่รู้สึกเปล่าเปลี่ยวบ้าง แต่เพื่อช่วยหมู่บ้านให้ดีขึ้น ผมก็อยากทำเพราะที่นี่คือบ้านที่เราอยู่ทุกวัน ถ้าไม่มีพวกผมก็คงไม่มีใครทำแล้ว”
“ในส่วนของขยะชายหาด สถานที่ตรงนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวอยู่แล้ว เราอยากทำให้หาดดูสะอาดตายิ่งขึ้น เพราะภาพที่เห็นมันไม่สบายตา บางครั้งคนเอาขยะไปเผา เอาขยะมาทิ้งตามหาด ถ้าเราเก็บขยะพวกนี้ไปทำลายก็ได้แค่นั้น ไม่มีอะไรดีขึ้นมา พวกเราเลยมาคิดกันว่าขยะพวกนี้นำมาทำอะไรได้บ้าง เช่น นอกจากเอาไม้มาทำถ่านทำฝืน อาจทำอย่างอื่นได้หลายๆ อย่าง ส่วนตัวผมชอบประดิษฐ์อยู่แล้ว ผมเลยคิดว่าเศษขยะต่างๆ สามารถนำมาทำประโยชน์ได้อีก” แดน เล่าย้อนความเชื่อมโยงถึงที่มาของโครงการในปีที่สอง
++ตามหาวัตถุบันทึกความทรงจำที่หาดกาสิง
“ถึงแล้ว”
ข้อความบนป้ายไม้ ผลงานชิ้นแรกจากการนำเศษซากเรือริมหาดมาเขียนข้อความ แล้วนำกลับไปใช้ประโยชน์จนดูโดดเด่นน่ามอง
“ผมเห็นด้วยตาว่าขยะไม่มีวันหมดสิ้น เก็บแล้วก็มีมาอีก แต่ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย ยกตัวอย่างชิ้นงานที่ผมเอาขยะมาประกอบกันเป็นเกล็ดปลา กลายเป็นประติมากรรมที่เป็นแหล่งเช็คอินใหม่ เพราะหาดกาสิงมีนักท่องเที่ยวมาอยู่แล้ว งานของเราทำให้นักท่องเที่ยวมีจุดถ่ายรูปใหม่ๆ ขยะลดลงมองแล้วสบายตาขึ้น พอเขาได้เห็นก็รู้ว่านี่คือขยะ ถ้าคนไม่หยุดใช้ ขยะชายหาดไม่มีวันหมดตอนแรกคิดว่าเอาขยะมาทำเป็นรายได้ แต่ได้รับความสนใจน้อย เลยหันมาทำสื่อให้กับหมู่บ้านดีกว่า” แดน เล่าถึงแนวคิดของกลุ่ม
ป้ายไม้ ขนาดต่างๆ บางป้ายทาสี บางป้ายใช้เชือกมาขด ตอกตะปูทับเป็นตัวอักษร
กระถางและจานรองกระถางต้นไม้
เศษไม้ที่ประกอบกันเป็นนก
ศิลปะลอยน้ำ เช่น พวกกุญแจจากไฟแช็ค
หรือของชิ้นใหญ่ อย่าง โพเดียม
เป็นลิสต์รายการชิ้นงานที่กลุ่มเยาวชนคนชายเล ค่อยๆ ผลิตขึ้นจากเศษขยะที่เก็บได้ในแต่ละครั้ง ไม่มีใครรู้...ว่าวัตถุแต่ละชิ้นมีที่มาจากไหน แต่หากวัตถุเหล่านั้นบันทึกเรื่องราวไว้ได้ คงมีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้นตลอดการเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเล ฝ่าลมมรสุมจนมาเกยตื้นที่หาดกาสิง
“ขวดพลาสติก ขวดไหนขายได้พวกผมแยกออกมาขาย ส่วนที่ทำไม่ได้ก็เอามาทำเป็นกระถางต้นไม้ จานรองกระถาง ในส่วนของไม้แยกได้หลากหลาย เช่น ไม้แผ่นใหญ่เอามาสร้างขนำ (ที่พัก)เหมือนที่ผมอยู่ ไม้แผ่นยาวเอามาทำเป็นป้าย ชิ้นเล็กๆ เอามาทำที่วางของ ประกอบกันเป็นโต๊ะ ส่วนรากไม้เอามาทำเป็นขาโต๊ะครับ ไฟแช็คและของเล่นที่ลอยมาติดชายหาด เอามาทำสีลอยน้ำ รองเท้าเอามาทำเป็นชิ้นงานลักษณะเหมือนเกล็ดปลาซึ่งเป็นงานปะติดเป็นปลาตัวใหญ่” แดน เล่าถึงวิธีการจัดการขยะ
ความคิดสร้างสรรค์ของเด็กหนุ่มชาวเลอย่างแดน แม้หลายคนอาจกำลังคิดว่าไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร แต่เยาวชนกลุ่มนี้ได้คิดและลงมือทำจนเกิดเป็นผลงานที่เป็นรูปธรรม และสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ชายหาดของพวกเขา
“ขั้นตอนแรกเริ่มจากนัดประชุมกับเพื่อนที่บ้านก่อน ก็มีเรื่องขยะที่รู้สึกขัดตา โดยเฉพาะช่วงมรสุม เราอยากทำอะไรได้มากกว่าที่เคยทำ เลยมาคิดว่าจะทำอะไรกันดี พวกไม้และขยะนำมาทำอะไรได้บ้าง หลังจากนั้นก็ไปลงพื้นที่ พบว่ามีวัสดุที่เป็นเศษขยะต่างๆ มากกว่าที่คิด นอกจากไม้แล้วยังมีพลาสติก รองเท้า โฟม หรือแม้กระทั่งไฟแช็ค กลับมาเลยมาคิดกันต่อว่าของต่างๆ ที่พบบนชายหาด จะเอามาทำอะไรได้บ้าง โฟมทำอะไรได้บ้าง ไม้ทำอะไรได้บ้างนอกจากเอามาทำไม้ฟืนอย่างเดียว โดยเฉพาะขวดพลาสติกมีเยอะมาก ขวดสีขาวขายได้ และขวดที่เป็นสีๆ คิดว่าจะเอามาทำอะไรได้
ทำให้ต้องไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ไปศึกษาว่าไม้ โฟมและขวดน้ำนำไปทำอะไรได้อีก สิ่งที่เราทำได้เอง เราก็ทำไปก่อนเปลี่ยนขยะให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง” แดน อธิบายขั้นตอนการทำงาน
แดน เล่าว่า พวกเขานำข้อมูลที่เก็บได้มารวมกัน เพื่อคิดหาไอเดียว่าจะนำมาใช้ประโยชน์หรือพลิกแพลงเป็นอะไร ไอเดียส่วนหนึ่งได้มาจากการไปศึกษาดูงานศิลปะจากศิลปินท้องถิ่น ที่พวกเขาเรียกติดปากว่า ครูต้อย วังสายทอง (ตำบลน้ำผุด อำเภอะงู จังหวัดสตูล) โดยเฉพาะชิ้นงานทำจากไม้ กะลามะพร้าว และเทคนิคการทำศิลปะลอยน้ำ ซึ่งแดนและเพื่อนๆ ได้นำความรู้ส่วนนี้ไปถ่ายทอดให้กับน้องๆ นักเรียนชั้นอนุบาลถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนตาดีกาของชุมชน ส่วนงบประมาณจากโครงการส่วนหนึ่งนำไปซื้ออุปกรณ์สำหรับการทำสิ่งประดิษฐ์ เช่น สีน้ำมัน เป็นต้น
“ในโรงเรียนไม่ได้ทำงานไม้แต่ให้น้องๆ ทำงานศิลปะ พวกเราเตรียมสีน้ำมัน ที่คล้องพวงกุญแจ กากเพชร สีสเปรย์เคลือบเงา และวัสดุจำพวกขยะที่เก็บได้ เช่น ไฟแช็คและขวดน้ำที่มีเกลื่อนเต็มหาด นำมาล้าง แล้วสอนน้องๆ ทำศิลปะลอยน้ำ หยดพ่นสีหลายๆ สีลงในอ่างน้ำ หลังจากนั้นเอาไฟแช็คหรือวัสดุที่เตรียมไว้จุ่มลงในอ่าง วัสดุจะติดสีขึ้นมามีลวดลายโค้งไหวตามธรรมชาติ พวกผมใช้สีน้ำมันทำลวดลาย เอาไฟแช็คจุ่มลงไป แล้วนำมาทำเป็นพวงกุญแจ
ผมอยากให้น้องๆ ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์และได้รับความสนุกสนาน มีความคิดเป็นของตัวเอง และอยากให้น้องๆ รู้ว่าชายหาดขยะที่สามารถนำมาทำอะไรได้อีกเยอะ” แดน เล่า
เรื่องราวของแดนและกลุ่มเพื่อนๆ เยาวชน ชวนให้นึกถึง มาร์แชล ดูชองป์ (Marcel Duchamp) ศิลปินชาวฝรั่งเศส-อเมริกัน ผู้มีอิทธิพลทางความคิดต่อวงการศิลปะสมัยใหม่มากที่สุดคนหนึ่ง ผลงาน Fountain (1917) โถสุขภัณฑ์กระเบื้องเคลือบสีขาวหน้าตาธรรมดา ที่วางบนแท่นโชว์ พร้อมลายเซ็นต์ R. Mutt ได้รับการโหวตให้เป็นงานศิลปะสมัยใหม่ที่ทรงอิทธิพลที่สุดในศตวรรษที่ 20 ฉีกทุกกฎความเข้าใจเกี่ยวกับศิลปะที่มีต่อผู้คน โดยเฉพาะที่มองว่าศิลปะคือความสวยงามเท่านั้น ความช่างคิดที่สวนกระแสทำให้ดูชองป์ได้ชื่อว่าเป็นบิดาของศิลปะแนวคอนเซ็ปชวล (Conceptual Art) หรือศิลปะร่วมสมัย และทำให้เกิดศิลปะแนวทางใหม่ที่เรียกว่า “Readymades” หรือการนำวัตถุและวัสดุที่พบเห็นในชีวิตประจำวัน อะไรก็ได้รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นจาน ชาม กระดาษ แจกัน ไม้ขีดไฟ ฯลฯ มาทำให้กลายเป็นศิลปะ
สิ่งที่ดูชองป์นำเสนอผ่านงานศิลปะของเขา ต้องการสื่อสารให้เห็นว่าสิ่งใดก็ตามที่ศิลปินเห็นว่ามีคุณค่าพอ สิ่งนั้นสามารถเป็นศิลปะได้ แล้ววัตถุเหล่านั้นก็กลายเป็น “Found Object” ที่ถูกค้นพบโดยศิลปิน หลังจากนำมาสร้างสรรค์เป็นชิ้นงานโดยผ่านการปรุงแต่งน้อยที่สุด
แม้ความฝันของแดนจะไม่ใช่การเป็นศิลปินระดับโลก แต่ความคิดและสิ่งที่เด็กหนุ่มคนนี้ลงมือหยิบจับเศษขยะบนชายหาดมาสร้างคุณค่าใหม่ เพื่อพัฒนาชายหาดบ้านเกิดของตัวเองก็ไม่แพ้ใครในโลก
อย่างไรก็ตาม แดนที่มีความคิดสร้างสรรค์และใส่ใจสิ่งแวดล้อมในวันนี้ ไม่ใช่แดนในมุมที่ผู้ใหญ่มองเห็นก่อนหน้า เขาเคยนำเศษไม้ริมหาดมาสร้างเป็นขนำเล็กๆ ไว้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ แต่กลับถูกมองว่าเป็นแหล่งมั่วสุม อาจเพราะความเป็นวัยรุ่นและบุคลิกลุยๆ ห้าวๆ กับมอเตอร์ไซค์คู่ใจ ส่งให้ภาพลักษณ์ของแดนถูกตัดสินจากภายนอกในทางไม่สู้ดีนัก แต่เพราะเขามีแรงขับลึกๆ ภายในที่อยากกอบกู้ธรรมชาติและนำความสวยงามกลับคืนสู่หาดกาสิง ชายหาดที่เปรียบเสมือนชีวิตของผู้คนในชุมชน สิ่งที่แดนและเยาวชนคนชายเลร่วมมือกันสร้างสรรค์จึงค่อยๆ ปรากฏแก่สายตาคนในชุมชนในเชิงสร้างสรรค์ แถมยังสร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยี่ยมเยียนสถานที่แห่งนี้
“เมื่อก่อนผมขี่มอเตอร์ไซค์ แว้นไปมาอย่างเดียว ไม่คิดอะไรขอแค่สนุก พอมีโครงการเข้ามาก็ได้เปลี่ยนตัวเอง ไม่อยากให้คนอื่นมองไม่ดีและดูถูก ที่ทำไปก็เพื่อลบคำดูถูกด้วย สำหรับสิ่งที่อยากทำต่อผมอยากให้ชายหาดมีที่นั่งเพิ่ม ตอนนี้มีแต่นั่งพื้นปูเสื่อ บางทีมีคนมากางเต้นท์ เลยอยากทำที่นั่งจากไม้วางไว้สำหรับกินกาแฟ ดูวิวตอนเช้า ชายหาดบ้านผมไม่มีกำแพงกั้น เป็นหาดธรรมชาติจริงๆ ซึ่งถือเป็นจุดเด่น เพราะละแวกนี้มีแค่หาดกาสิงกับหาดแหลมสนที่เป็นหาดแบบไม่มีสิ่งปลูกสร้างเลย การที่ผมได้มาทำกิจกรรมแบบนี้ มาทำงานจิตอาสาช่วยหมู่บ้าน ทำให้ผมมีความสุข” แดน กล่าวทิ้งท้ายอย่างจริงจังและจริงใจ
##############