ก่อเดี๊ยะ นิ้วหลี
พี่เลี้ยงโครงการ
ตำแหน่งที่ได้รับในโครงการต่างๆ
ประวัติและผลงาน

กลไกชุมชน โครงการสร้างการเรียนรู้วัฒนธรรมปันจักสีลัตชุมชนบ้านทุ่ง  ชุมชนบ้านทุ่ง หมู่ที่ 5 ตำบลละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล

ชื่อเรื่อง ชุมชนบ้านทุ่งกับการให้พื้นที่คนรุ่นใหม่เรียนรู้ได้อย่างอิสระแต่ไม่เดียวดาย


“ทำไมบ้านทุ่งถึงเป็นชุมชนที่ไม่ได้รับโอกาส ไม่มีกิจกรรมพัฒนาชุมชน ไม่มีภาพของคนในชุมชนลุกขึ้นมาทำอะไรเพื่อชุมชนของตัวเองเลย”

มะเดีย - ก่อเดี๊ยะ นิ้วหลี อายุ 62 ปี เป็นผู้หญิงธรรมดาๆ คนหนึ่ง ราว 20 ปีก่อนเธอตั้งคำถามนี้กับชุมชนของตัวเอง จนกระทั่งวันนี้มะเดียเป็นที่รู้จักของคนในชุมชน เคยผ่านการเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และยังคงเป็นสมาชิกสภาองค์ชุมชนที่ขยันคิด ขยันหางบประมาณมาจัดกิจกรรมพัฒนาชุมชนบ้านทุ่ง โครงการที่จัดขึ้นไม่แบ่งแยกกลุ่มเป้าหมายว่าเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่

เพราะตั้งใจขับเคลื่อนชุมชนให้เกิดความสามัคคีและลดช่องว่างระหว่างวัย

แต่เดิมชุมชนบ้านทุ่ง หมู่ที่ 5 เป็นชุมชนเล็กๆ ในตำบลละงู คนในชุมชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม และประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลักมาจนถึงปัจจุบัน เช่น การทำสวนยาง ปลูกปาล์ม ทำนาข้าว และปลูกผักกินเอง “ทุ่ง” เป็นภาษาพื้นเมืองของชาวปักษ์ใต้ แปลว่า พื้นที่นา ซึ่งอธิบายลักษณะภูมิประเทศดั้งเดิมของบ้านทุ่งได้เป็นอย่างดี


ต้องทำอะไรสักอย่างแล้ว

“มะก็หากิจกรรมทำสิ” มะเดีย เล่าถึงคำแนะนำสั้นๆ ที่ไม่ซับซ้อนจากบังพงษ์ หรือ สมพงษ์ หลีเคราะห์ หนึ่งในผู้ประสานงานศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสตูล (โหนด) ที่เอ่ยขึ้นกับมะ

“เมื่อก่อนโครงการอะไรก็ตามเข้ามาไม่ถึงบ้านทุ่ง เราคิดว่าทำไมบ้านเราถึงอาภัพ ไม่ค่อยมีกิจกรรมพัฒนาชุมชน มันเกิดอะไรขึ้น หรือเพราะเยาวชนและผู้ใหญ่ต่างคนต่างอยู่ แล้วเราควรทำอย่างไรให้มีงานมีกิจกรรมทำเหมือนที่อื่น”

การตั้งคำถามในวันนั้นเป็นจุดเริ่มต้นให้มะเดียเข้ามาทำงานด้านการพัฒนาชุมชนอย่างเต็มตัว เริ่มจาก “ความไม่รู้” แต่ค่อยๆ “เรียนรู้”

“เราเป็นคนริเริ่มเอง ชวนเพื่อนๆ มาร่วมกัน จากสมาชิกสองสามคน ช่วยคิดกันว่าจะทำอะไรบ้าง บ้านทุ่งมีคนและทรัพยากรที่สมบูรณ์ คนก็เป็นทุนอย่างหนึ่งที่สามารถทำกิจกรรมได้ เพียงแต่เราต้องเอาทักษะความรู้จากข้างนอกมาช่วยในส่วนนี้”

“กลุ่มมะก็เริ่มมาจากไม่รู้อะไรเลย วัตถุประสงค์โครงการคืออะไร เป้าหมายคืออะไร เวลาเขียนโครงการเราสื่อสารถึงสิ่งที่เราอยากทำ ผลลัพธ์ที่เราอยากเห็น ค่อยๆ เรียนรู้รูปแบบการเขียนไปได้” มะเดีย เล่าถึงย้อนเส้นทางการทำงาน

การเป็นพี่เลี้ยงให้กับกลุ่มเด็กและเยาวชนบ้านทุ่งใน โครงการแนวทางการสร้างการเรียนรู้ด้านดนตรีปันจักสิลัตของชุมชนบ้านทุ่ง และต่อเนื่องมาทำ โครงการสร้างการเรียนรู้วัฒนธรรมปันจักสีลัตชุมชนบ้านทุ่ง ในรูปแบบสื่อโซเชียล เป็นบทบาทหนึ่งของมะเดีย หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้ขับเคลื่อนโครงการครอบครัวอบอุ่น ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มาก่อน

“มะทำกิจกรรมชุมชนอยู่หลายอย่าง ช่วงที่ทำเกี่ยวกับครอบครัวอบอุ่น มะชวนทีมบังเชษฐ์ (พิเชษฐ์ เบญจมาศ ผู้ประสานงาน Satun Active Citizen) มาเป็นที่ปรึกษา และขอให้มาช่วยเป็นพี่เลี้ยง บังเชษฐ์เห็นว่ามะทำกิจกรรมกับเด็กๆ ได้ เลยแนะนำว่ามีโครงการ Satun Active Citizen ที่เน้นทำงานกับเด็กและเยาวชน มะตอบทันทีว่าชอบเลย จึงได้เข้าร่วมด้วย เพราะอย่างน้อยก็ได้ให้โอกาสเยาวชนบ้านเราทำกิจกรรม พวกเขาอาจปรับเปลี่ยนตัวเองได้”

โครงการ Satun Active Citizenที่บังเชษฐ์บอกมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า โครงการกลไกชุมชนสู่การพัฒนาเยาวชน จังหวัดสตูล ที่เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนคิดโจทย์โครงการที่ตัวเองสนใจอยากทำ จากเรื่องราวรอบตัวในชุมชน

“ตอนแรกคิดว่าเหมือนโครงการอื่นๆ ที่เคยทำมา จริงๆ แล้วกลับไม่ใช่ โครงการ Active Citizen ทำให้เด็ก รวมถึงตัวมะเอง รู้ลึก รู้จริงในสิ่งที่ทำ โดยมีทีมบังเชษฐ์คอยสอนให้ ทำให้มะนำไปถ่ายทอดให้กับเด็กๆ ได้”

มะเดีย บอกว่า เมื่อนำโครงการไปบอกเล่าแก่เด็กและเยาวชนกลุ่มเป้าหมายที่เคยทำกิจกรรมชุมชนร่วมกัน เด็กๆ ให้ความสนใจ แสดงอาการตื่นเต้นและดีใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากโครงการส่วนใหญ่เด็กและเยาวชนต้องเข้ามาทำร่วมกับผู้ใหญ่ ไม่ค่อยได้รับโอกาสเป็นแนวหน้าทำโครงการด้วยตัวเอง


สร้างแนวร่วมชุมชนจากการทำให้เห็น

โครงการแนวทางการสร้างการเรียนรู้ด้านคนตรีปันจักสีลัตของชุมชนบ้านทุ่ง และ โครงการสร้างการเรียนรู้วัฒนธรรมปันจักสีลัตชุมชนบ้านทุ่งในรูปแบบสื่อโซเชียล เป็นโครงการที่กลุ่มแกนนำเยาวชนบ้านทุ่งเลือกทำด้วยตัวเอง โดยมีพี่เลี้ยงโครงการอย่างมะเดีย และจ๊ะนุช (อารี หวันสู) เป็นผู้สนับสนุน ประสานงานกลไกชุมชนส่วนอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครอง คนในชุมชน ผู้รู้ด้านปันจักสีลัตในชุมชน ผู้นำชุมชน โรงเรียนประจำชุมชน และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น

ในอดีต “ปันจักสีลัตบ้านทุ่ง” เคยเป็นที่นิยม เป็นการละเล่นที่สร้างความสนุกสนานเพลิดเพลิน และเป็นเอกลักษณ์ต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองที่มาเยี่ยมเยือน อย่างไรก็ตาม การสืบทอดการร่ายรำปันจักสีลัต หรือที่พัฒนามาเป็นศิลปะการต่อสู้ ค่อยๆ ห่างเหินจากคนในชุมชนไปตามยุคสมัย ทั้งที่ในจังหวัดสตูล มีปันจักสีลัตอยู่เพียงแห่งเดียว คือ ชุมชนบ้านทุ่ง เท่านั้น

แม้ผู้นำชุมชนค่อนข้างเปิดใจรับฟัง และเปิดรับแนวคิดการพัฒนาชุมชน แต่เมื่อเชื่อมโยงมาถึงประเด็นเด็กและเยาวชนที่ต้องการการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ มะเดีย เล่าว่า การเปิดใจผู้นำชุมชนและผู้ใหญ่ในชุมชนช่วงแรกๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่มะเดียก็ไม่เคยละความพยายาม

“บางครั้งเราเข้าไปปรึกษาผู้นำบางคน เขายังบอกว่าทำไม่ได้หรอก ทำยาก ขนาดพ่อแม่ของเด็กยังไม่ทำอะไรเลย แล้วเราเป็นใคร นี่คือสิ่งที่ใครหลายๆ คนสะท้อนออกมา มะคิดว่าถ้าเราคิดแบบนี้มันก็ไม่ถูก เราลองทำดูสิ ถ้าได้มันก็ดี ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร แต่อยากให้เขาได้คิดเองทำเอง”

“ข้อดีของชุมชนเรา ถึงไม่เห็นด้วยแต่ไม่ค่อยต่อต้าน คนในชุมชนและผู้ปกครองเห็นชอบด้วย เพียงแต่พวกเขาไม่ค่อยมีเวลามาร่วมกิจกรรมเท่านั้นเอง เราเข้าไปเล่าให้ฟังว่ามีโครงการแบบนี้เข้ามาให้เด็กทำและมีการอบรบให้เก็บเด็กๆ ด้วย อย่างน้อยเด็กๆ ก็ได้ผ่านการอบรม ได้เรียนรู้ และแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ พอทำไปเราก็ดึงผู้นำชุมชนมาเป็นแนวร่วมได้”

มะเดีย กล่าวว่า สถานการณ์ปัญหาเด็กและเยาวชนในชุมชนบ้านทุ่ง ส่วนหนึ่งมีสาเหตุจากพ่อแม่ผู้ปกครองไม่มีเวลาและไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการศึกษา ดังนั้นผู้ใหญ่จะโทษเด็กแต่เพียงฝ่ายเดียวไม่ได้ สิ่งที่ผู้ใหญ่ทำได้ คือ ร่วมมือกันเปิดพื้นที่ให้เด็กได้เรียนรู้อย่างอิสระ โดยเฉพาะการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่ให้โอกาสเด็กได้ลองทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ ได้เรียนรู้จากข้อผิดพลาด ได้ทำงานร่วมกับผู้อื่น จนได้ค้นพบศักยภาพในตัวเอง

“มะคิดว่าเด็กและผู้ใหญ่ต่างคนต่างอยู่จึงทำให้เป็นปัญหาของชุมชน เมื่อเด็กกับผู้ใหญ่ห่างเหินเด็กบางกลุ่มจับกลุ่มมั่วสุมกันในเรื่องต่างๆ ที่มีความเสี่ยง เวลาเด็กไม่มีอะไรทำก็จับกลุ่มกันไปที่ขนำ (กระท่อมขนาดเล็ก) บางคนแอบอยู่หลังบ้าน ผู้ปกครองก็ไม่ได้ใส่ใจ ถ้ามะได้พูดคุยตามประสบการณ์มะก็จะบอกว่าครอบครัวเราต้องหันมาดูแลสักหน่อยเพื่อลูกหลานของเรา”


ผลักดันบ้านทุ่งให้เป็นโรงเรียนสอนปันจักสีลัต สร้างงานสร้างอาชีพในชุมชน

โรงเรียนบ้านทุ่งสภากาชาด เป็นโรงเรียนประจำชุมชน เปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มะเดีย เล่าว่า กลุ่มแกนนำเยาวชนต่างเป็นศิษย์เก่าของโรงเรียน ที่ผ่านมาโรงเรียนมีส่วนสำคัญมากในการสนับสนุนการทำกิจกรรมของเด็ก เช่น ให้ความร่วมมือพานักเรียนมาร่วมกิจกรรม บางครั้งครูเข้ามาช่วยให้ความรู้และเป็นพี่เลี้ยงดูแลเด็กๆ สำหรับโครงการปันจักสีลัตฯ โรงเรียนเองก็เคยสนับสนุนเรื่องเครื่องแต่งกายให้กลุ่มเยาวชนที่ออกไปทำการแสดง

นอกจากโรงเรียนแล้ว มะเดียยังทำงานใกล้ชิดกับ อบต.ละงู แม้ผู้นำท้องถิ่นมีการผลัดเปลี่ยนโยกย้ายตามวาระ ผู้นำแต่ละคนมีความคิดเห็นและมีแนวทางการพัฒนาชุมชนแตกต่างกัน แต่จากประสบการณ์ที่ได้ร่วมทำงานกับผู้นำท้องถิ่นมาหลายสมัยมะเดีย บอกว่า ผู้นำไม่ว่าคนไหนก็ไม่ใช่อุปสรรคในการทำงาน

“ถึงผู้นำท้องถิ่นเปลี่ยนคน แต่ทุกคนต้องมีส่วนรับผิดชอบกับงานชุมชนในหลายเรื่อง เราสามารถคุยกันได้ ถ้าไปเสนอกับนายกฯ ไม่ว่าคนไหน คุยกันดีๆ เขาก็ต้องยอมรับ เพราะสิ่งที่เสนอ เป็นสิ่งที่ทำแล้วจับต้องได้และเกิดประโยชน์”

“ทุกปีที่ อบต. มีจัดงานประจำปี ถ้ามีโอกาสเราพยายามพาเด็กไปแสดง เพื่อให้มีเวทีฝึกฝน อบต.จัดกิจกรรมก็ประสานงานมาที่บ้านทุ่ง ถามว่าจะจัดกิจกรรมอะไรดี มีการแสดงอะไรบ้าง สถานที่ตรงไหนดี เราก็เสนอไปว่าบ้านเรามีปันจัตสีลัตนะ เด็กและเยาวชนรำและเชิญคนมาร่วมงานได้ เมื่อได้ออกไปแสดงจนปันจักสีลัตเยาวชนเป็นที่รู้จักมากขึ้น บางงานติดต่อมาทางมะ จ๊ะนุช หรืออาจติดต่อโดยตรงไปที่ อบต. หคนที่ทำงาน อบต. ก็คือคนในชุมชนบ้านทุ่ง เราเลยทำงานร่วมกันได้และทำงานได้ง่ายขึ้น เพราะส่วนตัวก็รู้จักกันอยู่ เรียกว่าเป็นเครือข่ายภาคีกัน”

ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจทำงานพัฒนาชุมชนมาร่วม 20 ปี เมื่อได้ทำงานกับเด็กและเยาวชนอย่างใกล้ชิดจากโครงการปันจักสีลัตซึ่งเป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่นของชุมชนบ้านทุ่ง มะเดีย กล่าวถึงความฝันของตัวเองว่า อยากพัฒนาให้บ้านทุ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้หรือโรงเรียนสอนปันจักสีลัตอย่างเป็นทางการ พัฒนากลุ่มเด็กและเยาวชนในโครงการให้มีศักยภาพในระดับที่เป็นผู้รู้ถ่ายทอดภูมิปัญญาการร่ายรำปันจักสีลัตได้ เพื่อสร้างงาน และสร้างอาชีพให้เด็กและเยาวชนสามารถอยู่ในชุมชนอย่างพึ่งพาตนเองได้

“ทุกครั้งที่มีโครงการต่างๆ เข้ามา มะจะถามเด็กๆ ก่อนเสมอว่าสนใจไหม ทำได้ไหม มะกับน้องนุชคิดว่าถ้าเด็กอยากทำ เราจะเข้าไปสนับสนุน แต่ถ้าเด็กๆ บอกว่า ไม่อยากทำเราก็ไม่บังคับ ตอนเราเห็นเขารำปันจักสีลัตได้ มะน้ำตาไหลเลย เมื่อก่อนเคยเห็นแต่คนเฒ่าคนแก่รำกัน วันนี้เป็นเด็กๆ ที่เราไม่เคยคิดว่า เขาจะหันมาสนใจวัฒนธรรมเหล่านี้อย่างจริงจัง ที่หมู่ 5 มีโรงเรียนหลังเก่าอยู่ สามารถใช้เป็นพื้นที่กลางสำหรับจัดกิจกรรมชุมชน ห้องหนึ่งมะทำเป็นห้องสภาองค์กรชุมชน และยังเหลืออีกห้องคิดว่าจะให้เด็กและเยาวชนได้ใช้ห้องนั้น”

“เราอยากให้เด็กๆ ในชุมชนหันมาดูแลตัวเองและสังคม เพื่อให้พวกเขาดำรงชีวิตอยู่กับครอบครัวและสังคมได้ โดยไม่สร้างปัญหาให้ตัวเองและผู้อื่น ถ้าพวกเขามีอาชีพจะดีมากๆ จากประสบการณ์ทำงานมา จากการที่มะได้เป็นพี่เลี้ยงให้กับเด็กๆ สิ่งที่เห็นว่าเป็นเรื่องดีมะก็อยากมอบให้กับพวกเขา สร้างสำนึกให้เขารักตัวเอง ช่วยเหลือตัวเองและครอบครัวได้”


The 5th space พื้นที่ที่ 5 ที่ทำให้รู้ว่าฉันเป็นใคร

หนังสือ ‘The Ocean in a Drop – Inside-out Youth Leadership’ โดย องค์กรปราวาห์ (Pravah) ที่ทำงานด้านเด็กและเยาวชนในประเทศอินเดีย ร่วมกับ คอมมูนิตี้ เดอะ ยูธ คอลเลคทีฟ (Community The Youth Collective: CYC) และ องค์กรการกุศล ออกซ์แฟม อินเดีย (Oxfam India) นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการส่งเสริมพัฒนาเด็กและเยาวชนจากภายในสู่ภายนอก (Inside-out) ในรูปแบบการพัฒนาแบบเสริมพลัง (empower) ว่า

คนรุ่นใหม่/เด็กและเยาวชน เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมในทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมา แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงอยู่และแทบไม่เปลี่ยนแปลงในทุกยุคสมัยเช่นกัน คือ ศักยภาพของเด็กและเยาวชนถูกครอบงำและจำกัดโดยผู้ใหญ่

The Ocean in a Drop บอกว่า ครอบครัว เพื่อน การศึกษา/อาชีพ และไลฟ์สไตล์หรือวิถีการใช้ชีวิต เป็นสี่พื้นที่ที่มีอิทธิพลต่อเด็กและเยาวชน แต่ยังมีตัวช่วยเสริมพลังอีกหนึ่งอย่าง เรียกว่า พื้นที่ที่ 5 (the 5th Space) พื้นที่ที่เด็กและเยาวชนคนสามารถสร้างการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างอิสระ โดยเชื่อว่าการได้รับโอกาสอย่างเต็มที่ในการเป็นผู้นำ ทดลอง เรียนรู้ ล้มเหลว หรือแม้แต่ทำผิดพลาด เป็นประสบการณ์สำคัญที่จะช่วยให้พวกเขาเข้าใจตนเองจากภายใน ก่อนออกไปสร้างความสัมพันธ์กับภายนอก (self to society)

กระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นระหว่างทาง ทำให้เด็กและเยาวชนได้เห็นผลลัพธ์หรือบทเรียนจากการลงมือทำ เห็นภาพเชื่อมโยงกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมากับสังคม แล้วไตร่ตรองการกระทำของตนเองด้วยตัวเอง

“เด็กและเยาวชนในชุมชน เมื่อก่อนไม่ค่อยคุยหรือทักทายกับผู้ใหญ่ เมื่อเข้าร่วมกิจกรรมและได้แลกเปลี่ยนความคิดกัน พวกเขาพูดคุยกับครอบครัวเขาได้ ดึงคนในครอบครัวตัวเองและครอบครัวเพื่อนๆ ให้เข้าร่วมกิจกรรมได้ ทั้งที่บางคนอยู่ต่างหมู่บ้าน เขาสามารถทักทายคนอื่นๆ ที่ไม่ใช่ญาติ เขามีความรู้สึกเป็นห่วงเป็นใยซึ่งกันและกัน”

“ตอนนี้เด็กๆ เวลาว่างจากงานหรือว่างจากการเรียนก็มาหากัน เมื่อมีกิจกรรมชุมชนก็ไปทำกิจกรรมร่วมกัน ยกตัวอย่าง โรงเรียนบ้านทุ่งสภากาชาด จัดงานเลี้ยงส่งครูเกษียณ เด็กๆ ไปช่วยเสิร์ฟน้ำและอาหาร ไปช่วยทุกเรื่องที่มีงานของชุมชน เมื่อก่อนเราไม่เห็นเด็กๆ มาทำอะไรแบบนี้เลย แม้แต่ผู้ปกครองก็ไม่เห็น เด็กเปลี่ยนไปคนละเรื่องเลย บางกลุ่มที่เคยอยู่ร่วมกันที่ขนำ มีบ้างที่พวกเขาอยู่ที่ขนำแต่ก็ไม่ได้อยู่ตลอดทั้งวันเหมือนแต่ก่อน”

ทั้งนี้มะเดีย บอกว่า การสร้างกลไกชุมชนที่เข้มแข็งเพื่อแก้ไขปัญหาในชุมชน เริ่มต้นได้จากการพูดคุยกัน การปรึกษาหารือหรือการแลกเปลี่ยนทำให้เรื่องที่ดูเหมือนเป็นเรื่องใหญ่ไร้ทางออก กลายเป็นเรื่องเล็กได้

“ถ้าชุมชนอื่นอยากทำแบบบ้านทุ่ง มะคิดว่าไม่ยาก แต่ต้องมีทีมสักสองสามคน ปรึกษาหารือกัน เข้าหาหน่วยงานไหนก็ได้ที่เรารู้จัก เลือก อบต. ก็ได้เพราะอยู่ในท้องถิ่นอยู่แล้ว ปกติคนล้วนมีความถนัดในตัวเอง เพียงแต่ต้องมานั่งคุยกันว่า ใครถนัดด้านไหน มะจะแนะนำในทุกเวทีที่ได้มีโอกาสพูดว่า หากอยากทำโครงการเพื่อชุมชนงบประมาณที่ของ่ายที่สุด คืองบประมาณชุมชนตำบล หรือถ้าไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหนก็มาเรียนรู้กับทีมมะได้”

“ก่อนเข้าร่วมโครงการมะเป็นคนที่ไม่ฟังใคร แต่พอเราผ่านการอบรมและเรียนรู้ เรากลายเป็นคนที่รับฟังคนอื่นมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนๆ หรือเด็กๆ หลายคนคิดว่าการทำงานสังคมมีแต่ให้มากกว่าได้รับ แต่สิ่งที่เราได้รับ คือ คำแนะนำที่ดีจากทุกคนที่เข้ามาหาเรา”

ชุมชนบ้านทุ่งได้ให้พื้นที่คนรุ่นใหม่เรียนรู้อย่างอิสระแต่ไม่เดียวดายเพราะมีผู้ใหญ่คอยให้การสนับสนุน เป็นก้าวแรกของการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางความสัมพันธ์และการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

///////////////////

บทความที่เกี่ยวข้อง

https://thepotential.org/knowledge/the-5th-space-n...