ติดตามอ่านเรื่องราวฉบับเต็มได้ที่นี่ .pdf
ติดตามชมกิจกรรมในเวทีและภาพประกอบเพิ่มเติมได้ที่นี่
ป๋า-รัตนา สุขสบาย หัวหน้าสำนักปลัดเทศบาลตำบลกันตวจระมวลในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย พูดถึงความตั้งใจของการทำวิจัยครั้งนี้ว่า จากการลงพื้นที่ชุมชนสัมภาษณ์มุมมองผู้นำชุมชนและผู้ปกครองทำให้ทราบถึงปัญหา และเกิดความคิดกันว่าถ้าเด็ก ๆ ไม่ได้เรียนหนังสือ ก็ไม่อยากให้เขาเป็นภาระของครอบครัวและตกมาเป็นภาระของสังคม อย่างที่ กันตวจระมวล เด็กเยาวชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่กับตายาย เนื่องจากพ่อแม่ไปทำงานต่างถิ่น ยายไม่ได้มีรายได้มากนัก แต่ต้องเจียดเงินให้หลาน ๆ นำไปเล่นเกม หรือไปเติมเงินโทรศัพท์มือถือแต่ถ้าเราเสริมทักษะให้เขา แค่ให้รู้จักการประกอบอาชีพ ถ้าเขาอยากทำและทำได้ เขาจะเปลี่ยนตัวเอง มีงาน มีเงิน และเปลี่ยนมาช่วยเหลือจุนเจือยายแทน
“เราไม่อยากให้เยาวชนคนอายุน้อย ๆ ที่มีเรี่ยวแรง มีกำลัง ไปเป็นภาระของผู้สูงอายุ เหมือนอย่างที่เป็นอยู่”พี่ป๋าสะท้อน
เมื่อคิดจะทำวิจัยเพื่อแก้ปัญหาเด็กเยาวชนนอกระบบ กระบวนการแรกที่ อบต.กันตวจระมวลทำคือ “สร้างการมีส่วนร่วม”ของคนในชุมชน เพราะมีฐานการทำงานเดิมของนักถักทอชุมชนอยู่ก่อนแล้วว่า การทำงานใดๆ ก็ตามประสบความสำเร็จได้ ต้องได้รับความร่วมมือจากคนในชุมชน และเจ้าหน้าที่ อบต.ไม่ใช่คนลงไปทำเอง จึงชักชวนผู้นำชุมชนทั้ง 8 หมู่บ้านเข้ามารับฟังรายละเอียดการทำโครงการ และหาคนที่มี “ใจ” มาเข้าร่วมกระบวน จนได้หมู่ 2 บ้านสระ ที่ผู้ใหญ่บ้านอยากหาคนเข้ามาช่วยทำงานในชุมชน และหมู่ 5 บ้านตาแจ๊ตที่กลุ่มเด็กเยาวชนเข้มแข็งอยู่แล้วเข้ามาเป็นทีมวิจัยร่วม