ณัฐกาญ ทองเลิศพร้อม
เจ้าหน้าที่กองการศึกษา
ตำแหน่งที่ได้รับในโครงการต่างๆ
นักถักทอวิจัย ใน อบต.หนองขาม
พี่เลี้ยงแกนนำเยาวชน ใน อบต.หนองขาม
ประวัติและผลงาน

องค์การบริหารส่วนตำบลหนองขาม อำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี ดำเนินโครงการพัฒนากลไกการจัดการและกระบวนการพัฒนาเด็กและเยาวชนอย่างมีส่วนร่วมของชุมชน ภายใต้โครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น 4 ภาค ระยะที่ 3 : ขับเคลื่อนกลไกเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนด้วยหลักการจัดการความรู้และกระบวนการวิจัย ซึ่งโครงการนี้ ได้มีผู้ใหญ่ใจดีในพื้นที่มาร่วมขับเคลื่อนกลไกในนาม "นักถักทอวิจัย" หนึ่งในนั้นคือ "อ้อย-ณัฐกาญ ทองเลิศพร้อม" เจ้าหน้าที่กองการศึกษาได้มาร่วมขบวนการพัฒนาเด็กและเยาวชนในตำบลด้วย ได้สะท้อนการทำงานที่เปลี่ยนไปภายใต้การทำงานวิจัยว่า เธอได้นำความรู้ที่ได้จากการทำงานวิจัยมาปรับใช้กับการทำกิจกรรมกับเด็ก โดยปรับเปลี่ยนวิธีคิดในการทำงาน เช่น การออกแบบกิจกรรมที่ต้องคำนึงถึงกลุ่มเป้าหมายในแต่ละช่วงวัย กิจกรรมไหนเหมาะกับเด็กช่วงวัยไหน จากเดิมคิดแล้วทำเลย ไม่เคยต้องมามานั่งวิเคราะห์ว่ากิจกรรมที่ออกแบบมาสอดคล้องกับช่วงวัยของเด็กหรือไม่

"ไม่ใช่แค่เพียงหน้างานที่ถูกปรับเปลี่ยนไป แต่ยังรวมไปถึงวิธีการเข้าหาชุมชน ซึ่งเป็นกิจกรรมหลัก ๆ ของเจ้าหน้าที่ที่ต้องลงพื้นที่พบปะชาวบ้าน ทีมวิจัยยิ้มและบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ก่อนเข้าโครงการเราจะทำกันเป็นลำดับขั้นตอนมาก คือ ใส่ชุดเครื่องแบบราชการลงพื้นที่ แนะนำตัวให้ชาวบ้านรับรู้ว่าเราเป็นหน้าเจ้าที่ อบต.พูดเป็นสเตป ชาวบ้านก็จะนั่งฟังคนไหนที่กล้าพูดก็พูด คนที่ไม่กล้าพูดก็เงียบ ด้วยธรรมเนียมเราก็ปฏิบัติแบบนี้"

“แต่เดี๋ยวนี้รูปแบบการแนะนำตัวเปลี่ยนไป ทีมงานเลือกที่จะแนะนำตัวเองว่าตนเป็นคนในชุมชนนี้เหมือนกัน ไม่พูดหลักการ ไม่พูดตำแหน่ง ใส่ชุดปกติเข้าร่วมประชุม ไม่มีการนั่งหน้ากระดาน ใช้วิธีถามสารทุกข์สุขดิบว่าพวกเขาต้องการอะไร ใช้คำที่เข้าถึงง่ายและเข้าใจง่าย ไม่ให้เขาเกร็งให้เขารู้สึกว่าเราเป็นคนในชุมชนเป็นลูกเป็นหลาน เมื่อไหร่ที่เราทำให้เขาไว้ใจเรา มีเรื่องอะไรเขาก็อยากจะบอก อยากจะเล่าปัญหาให้เราฟัง” อ้อยบอกเล่าเรื่องราวที่ได้เรียนรู้ผ่านกระบวนการทำงานที่สามารถนำไปปรับใช้และเห็นผลจริง


เวทีถอดบทเรียน นักวิจัย อบต.หนองขาม จังหวัดสุพรรณบุรี

วันที่ 10 กรกฏาคม 2561


ถอดบทเรียน

1.มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง 3 ด้านใจ ความรู้ ทักษะ

"ใจ - มีความใส่ใจกับปัญหาที่เกิดเพิ่มมากขึ้น และอยากช่วยกันหาหรือวิเคราะห์สาเหตุ"

"ความรู้ - ได้รับรู้กระบวนการทำงานวิจัยเพิ่มมากขึ้น และการทำงานที่มีระบบ"

"ทักษะ - มีแนวทางในการจัดรูปแบบ ในสิ่งที่เราค้นหาสาเหตุอย่างถูกต้อง เพื่อนำมาจัดกระบวนการทำงานให้รัดกุม"

2.สิ่งดีๆที่เกิดขึ้นจากการทำวิจัย (เกี่ยวกับใครอย่างไร)

"ได้การทำงานเป็นทีม หาข้อมูลแล้วนำมาวิเคราะห์หาสาเหตุ แล้วนำผลลัพธ์ที่ดีๆ กลับไปแก้ไข ซึ่งก็จะนำมาซึ่งผลดีๆ กับทุกคน และในชุมชนของเรา"

3.ข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหา (สิ่งดีๆที่ต้องปรับปรุง)

"การมองปัญหาในส่วนที่เกิดขึ้น คิดว่าเป็นปัญหาที่เล็กน้อย แต่ความจริงแล้วเป็นปัญหาที่หากไม่วิเคราะห์แก้ไขจะเป็นปัญหาเรื้อรัง  และมีอุปสรรคในเรื่องของเวลาในการทำงาน"