มลธิรา นิยมดี
แกนนำเยาวชน ตำบลสลักได
ประวัติและผลงาน


­

“กุ้ง” การันตีค่ายบ่มเพาะตัวตนใหม่

เทใจเป็น “จิตอาสาชุมชน”

..............................................

มลธิรา นิยมดี (กุ้ง) แกนนำเยาวชนจากองค์การบริหารส่วนตำบลสลักได อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ ถึงจะมีวัยเพียง 15 ปี แต่ “กุ้ง” มีประสบการณ์จากค่ายพัฒนาตนเองระยะยาวถึงสองค่าย จึงทำให้เจ้าตัวสามารถปรับนิสัยไม่ดีทิ้งไป แถมยังเทใจให้การเป็น “จิตอาสาชุมชน” วันนี้ มูลนิธิสยามกัมมาจลจึงมาพูดคุยถึงประสบการณ์ที่ “กุ้ง” ได้รับและสามารถที่จะถ่ายทอดเรื่องราวหรือข้อคิดดีๆ ให้เพื่อนๆ ฟัง เพื่อนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์กับตนเองต่อไป

­


“กุ้ง” ย้อนหลังให้ฟังว่าเมื่อปี 2559 (วันที่ 15 – 29 ตุลาคม) ได้เข้าค่าย15 วัน ที่มีชื่อว่า “ค่ายสร้างเครือข่ายและพัฒนาแกนนำเด็กและเยาวชนสู่ความเป็นนักถักทอชุมชนรุ่นเยาว์ จ.สุรินทร์” ที่ศูนย์เรียนรู้ชาวดิน จ.ขอนแก่น ในครั้งนั้นทำให้ตนได้พัฒนาตนเองในเรื่องการกล้าแสดงออก “การที่ได้มาเข้าค่ายในครั้งนั้น ทำให้มีความกล้าแสดงออก และความเชื่อมั่นในตัวเอง ตัวอย่าง อาจารย์ให้พูดภาษาอังกฤษหน้าเสาธงซึ่งคนเยอะมาก เราไปพูดก็ต้องมีความกล้าแสดงออก ซึ่งเราผ่านจุดนั้นมาแล้วจากกิจกรรมที่เคยไปพูดที่ตลาด ทำให้กลายเป็นเรื่องง่ายเพราะเราผ่านจุดนี้มาแล้ว”

นอกจากการกล้าแสดงออกที่มีมากขึ้นแล้ว “กุ้ง” ยังได้เปลี่ยนนิสัยและพฤติกรรมอีกด้วย “การที่ได้มาเรียนรู้ที่นี่ทำให้กลายเป็นคนอารมณ์เย็น ทำให้รู้จักรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น ส่วนมากไม่ชอบฟังคนอื่น ชอบตัดสินใจด้วยตัวเองเด็ดขาด” ค่ายฝึกให้ทำความสะอาดที่นอน ซักผ้าด้วยตนเองจึงทำให้ “กุ้ง”เป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ค่ายนี้สอนให้เราเป็นตัวของตัวเอง ทำอะไรด้วยตัวเองและพึ่งตัวเองได้”

จบจากค่ายที่แล้ว “กุ้ง” กับเพื่อนๆ ร่วมกันทำโครงงานเรื่องขยะ โดยเจ้าตัวมีบทบาทช่วยเดินเก็บขยะในชุมชน ในหมู่บ้าน ซึ่งเป็นขยะที่อยู่ตามถนนและตามข้างทาง ซึ่งเริ่มต้นเส้นทางจิตอาสาชุมชนเป็นครั้งแรก

เมื่อจบโครงการเมื่อปี 59 “กุ้ง” ก็ยังมีความสนใจในการร่วมค่าย จนล่าสุดทางองค์การบริหารส่วนตำบลสลักไดได้ชวนมาเข้า ค่ายพัฒนาศักยภาพแกนนำเยาวชนสู่การเป็นเยาวชนรุ่นใหม่ ที่สามารถดึงศักยภาพของตนเองออกมารับใช้ชุมชนสังคมอย่างสร้างสรรค์ ครั้งที่ 1 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 19-30 เมษายน 2561 ณ ศูนย์ปราชญ์พ่อคำเดื่อง ภาษี บ้านโนนเขา หมู่ 8 ตำบลหัวฝาย อำเภอแคนดง จังหวัดบุรีรัมย์ “กุ้ง” ไม่ลังเลตอบรับการมาร่วมค่ายในทันที

ซึ่งทั้งสองค่ายมีคุณวราภรณ์ หลวงมณี ผู้อำนวยการสถาบันยุวโพธิชน มูลนิธิสัมมาชีพ ออกแบบกระบวนการค่ายและทำหน้าที่กระบวนกร ร่วมกับท่านอื่น อาทิ พระอาจารย์สมบูรณ์ สุมังคโล จรายุทธ สุวรรณชนะ นฤมล ไพบูลย์สิทธิคุณ ปราชญ์พ่อคำเดื่อง ภาษี เกียรติรัตน์ ทองผาย ที่ปรึกษาอาวุโสศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี และทีมยุวกระบวนกร

การมาค่ายครั้งที่ 2 นี้ ช่วยทบทวนความรู้ ทักษะที่ได้ไปจากค่ายแรก ศักยภาพที่มีอยู่หากไม่ได้ทบทวน ทำจนเป็นนิสัย ศักยภาพเหล่านั้นก็มีวันที่จะดับมอดไปได้กัน เช่นเดียวกับ “กุ้ง” ที่สิ่งต่างๆ เริ่มเลือนลางไป แต่กลับมากระจ่างชัดอีกครั้งในค่ายครั้งนี้ 2 นี้ “สิ่งที่ได้จากครั้งนี้กลับไป คือ ได้ความรับผิดชอบ การใส่ใจผู้อื่น และความเชื่อมั่นในตัวเอง เพราะความเชื่อมั่นในตัวเองได้ขาดหายไป ไม่ค่อยมั่นใจในตัวเอง และไม่ค่อยมีความรับผิดชอบเท่าไหร่ เวลาครูสั่งงาน แต่มาอยู่ที่นี่เรามีความรับผิดชอบขึ้นเยอะ ตัวอย่างการมอบงานที่ให้เราไปคุยกันว่าเราจะไปทำอะไรบ้าง ทำให้มีการแบ่งงานกันทำ และรู้สึกดีที่ต้องทำงานนี้เพื่อส่วนรวม แล้วเราจะรับผิดชอบในงานนี้ให้เสร็จ แล้วความเชื่อมั่นในตัวเองว่าเราต้องทำได้ อย่างการพูดที่ตลาดเมื่อวานพอเราไปพูดอีกทีก็ตื่นเต้น แต่เราก็ผ่านไปได้”

กระบวนการในค่ายที่ทำให้ "กุ้ง" เกิดความรับผิดชอบมากขึ้น คือกิจกรรมกิจวัตรประจำวันตั้งแต่ตื่นนอนนั่นเอง "ตั้งแต่ตื่นนอนเรามีความรับผิดชอบที่ต้องเก็บมุ้ง เก็บที่นอน และรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่นี่ โดยเขาให้เราแบ่งหน้าที่กันทำงาน ในการทำความสะอาด เช่น ล้างห้องน้ำ ปูเสื่อ ทำความสะอาดโรงอาหาร" ซึ่งต่างกับตอนอยู่บ้าน “กุ้ง” เล่าว่าตนเองมีโลกส่วนตัวสูง งานบ้านก็ไม่ค่อยช่วยอยู่บ้านไม่ค่อยได้ทำงานบ้านแบบนี้ ส่วนมากจะใช้เวลาอยู่กับห้องโทรศัพท์และโน๊ตบุ๊ค จะอยู่แต่ในห้องมากกว่า ออกจากห้องเฉพาะกินข้าวอาบน้ำเท่านั้น”

ซึ่งเจ้าตัวก็บอกว่าสิ่งที่จะกลับไปทำให้ที่พ่อแม่เห็นคือตนเองขยันขึ้นแล้ว "เป็นคนขี้เกียจ ไม่ค่อยทำอะไร ก็อยากจะทำให้ทางบ้านเห็นว่าไม่ได้ขี้เกียจ แล้วช่วยเหลืองานที่บ้านได้โดยไม่ต้องให้พ่อแม่บ่น ซึ่งปกติก็ทำแต่จะทำเวลาพ่อแม่ไม่อยู่ อยากให้ท่านเห็นว่าไม่ได้ขี้เกียจขนาดนั้นและสามารถทำได้เหมือนกัน"

นอกจากค่ายได้ฝึกฝนเรื่อง “ความขยัน" ให้เจ้าตัวไปแล้ว ลองมาฟังว่ากระบวนการอะไรที่ช่วยสร้าง”ความเชื่อมั่น” ให้กับ "กุ้ง" ... “ค่ายฝึกเรื่องความเชื่อมั่นโดยการให้จับไมค์ เพราะถ้าเราจับไมค์แล้ว เชื่อมั่นว่าเราจะพูดสิ่งใดออกไปได้ และพี่อ้อยจะบอกว่าให้เชื่อมั่นในตนเองว่า จะทำให้ทุกคนมีความสุขได้ และเมื่อทำกิจกรรมอะไรก็ตามในค่ายแล้วเราสามารถผ่านทุกกิจกรรมในค่ายไปได้ รวมถึงความเชื่อมั่นที่มีในทุกๆ คนที่อยู่ในค่ายนี้ด้วย สิ่งต่างๆ เหล่านี้ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับเรา"

กุ้งอธิบายต่อว่ากิจกรรมที่สำคัญคือการพูดต่อหน้าชุมชน “กิจกรรมการไปพูดที่ตลาด เป็นกิจกรรมที่ช่วยฝึกเข้มมาก เพราะสิ่งที่พูดออกไปก็เป็นการฝึกฝน เพราะต้องเชื่อมั่นในตัวเองว่าต้องพูดออกไปได้ ไม่ตะกุกตะกัก แต่ก็มีบ้างเพราะตื่นเต้น ถึงแม้จะเป็นครั้งที่ 2 แต่เราต้องมีความเชื่อมั่นในตัวเองที่จะทำให้ผ่านจุดนั้นไปได้ ถ้ามีความเชื่อมั่นในตัวเองแล้วจะสามารถทำอะไรที่เด็ดขาดได้ เพราะเราเชื่อมั่นว่าเราทำได้ เราก็จะทำได้ ไม่ใช่พูดแต่ปากแต่พอทำแล้วไม่ได้ คือต้องเชื่อมั่นทั้งคำพูดและการกระทำ” กุ้งย้ำการเรียนรู้ที่สำคัญ และให้อธิบายความหมายของความเชื่อมั่นให้ฟังคือ “การตัดสินใจอะไรออกมาแล้ว เราจะต้องเชื่อมั่นในการตัดสินใจของเรา เราต้องทำได้” นั่นคือสิ่งที่กุ้งเข้าใจ

ส่วนการฝึกเรื่องการยอมรับฟังความคิดเห็น "กุ้ง" บอกว่ามีอยู่ในทุกกิจกรรม "ในค่ายฝึกให้ฟังความคิดเห็นของคนอื่น ไม่ว่าจะทำกิจกรรมอะไรต้องมีการวางแผนและรับฟังคนอื่น ถ้าเอาแต่ความคิดตัวเองงานก็จะไม่สำเร็จ ต้องฟังความคิดเห็นของคนอื่นด้วย ตรงนี้เราสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่างทั้งการเรียน ทั้งเรื่องที่บ้าน เรื่องเพื่อน และการทำงานต่างๆ เพราะถ้าเราเอาแต่ตัวเองก็ไม่สามารถอยู่กับคนอื่นได้ ถ้าเราเอาแต่ใจตัวเองหรือเอาตัวเองเป็นใหญ่ก็จะไม่มีใครอยากคุยกับเราเท่าไหร่ ยกตัวอย่างเวลาครูให้งานแล้วเพื่อนพากันแสดงความคิดเห็น แต่ตัวเองคิดเห็นอีกอย่างนึง กะจะบอกเพื่อนว่าให้ทำตามความคิดของเรา ซึ่งความคิดของแต่ละคนที่จริงก็ดีอยู่แล้ว แต่เราไม่ฟังของใคร ฟังแต่ความคิดของตัวเอง ทำให้ไม่มีใครอยากร่วมงานกับเราเท่าไหร่” กุ้งอธิบายได้อย่างชัดเจน

พอได้ฟังทำให้เห็นชัดว่าค่ายได้พัฒนาศักยภาพทั้งภายใน(จิตใจ) และภายนอก (ทักษะ ความรู้) ซึ่งการพัฒนาศักยภาพภายนอกนั้น ได้มีการให้เยาวชนช่วยกันคิดโครงงานชุมชนโดยใช้พื้นที่จริงที่ชุมชนตนเองเป็นพื้นที่ปฏิบัติการ สิ่งเหล่านี้คือการเตรียมเยาวชนเป็น “จิตอาสาชุมชน” ซึ่ง “กุ้ง” เล่าว่า เยาวชนสลักไดได้ระดมความคิดกันแล้วจะกลับไปต่อยอดโครงการเดิมคือ เรื่อง “ขยะ” ซึ่งครั้งที่แล้ว “ชุมชน” ยังไม่ให้ความสนใจต่อการทำโครงงานของเยาวชนเท่าไรนัก

ซึ่ง "กุ้ง" เล่าแนวทางการทำโครงงานขยะ ครั้งนี้ให้ฟังว่าจะเริ่มที่เยาวชนก่อน “"ถ้าเราไปพูดกับผู้ใหญ่ เขาอาจมองว่าเราไร้สาระ ทำไม่ได้หรอก เราจะรวมตัวกันกับเด็กในชุมชนก่อนแล้วไปเริ่มกับผู้ใหญ่ จะเริ่มกับกลุ่มเด็กน้อยก่อนและให้เด็กน้อยมารวมตัวกันในหมู่บ้าน เพื่อมาประชุม แล้วบอกข้อดีข้อเสียของขยะ และสอนแยกขยะ ส่วนขยะที่รีไซเคิลได้ เช่น ขวดแก้วสามารถทำเป็นรถ เป็นกระปุกดินสอได้ เราจะแบ่งกลุ่มกันตามความถนัด แล้วเราจะเปลี่ยนจากถุงพลาสติกมาเป็นถุงผ้าเพื่อลดโลกร้อนด้วย ซึ่งเป้าหมายของโครงการขยะ อยากให้ขยะในหมู่บ้านลดลง เพราะในหมู่บ้านไม่ค่อยมีถังขยะ แล้วคนทิ้งชอบทิ้งไม่เป็นที่เป็นทาง จึงอยากให้มีขยะลดลงบ้าง ไม่ใช่ยิ่งเพิ่มจำนวนขึ้นทุกวัน"

­

กุ้งบอกว่าที่เยาวชนมารณรงค์กันเรื่องขยะเพราะมองเห็นผลเสียที่จะเกิดในชุมชน "การทิ้งขยะส่งผลเสียให้กับพวกเรา ให้กับธรรมชาติ ดังนั้นเราต้องรณรงค์ให้คนในชุมชนเห็นว่าการทิ้งแบบนี้ดีกับเราหรือเปล่า การทิ้งขยะจะทำลายสภาพแวดล้อมหรือเปล่า ซึ่ง “กุ้ง” บอกว่าการที่เธอมารณรงค์เรื่อง “ขยะ” เพราะส่วนตัวเธอและครอบครัวก็จะเป็นระเบียบเรื่องการทิ้งขยะอยู่แล้ว “ ในส่วนตัวเป็นคนไม่ทิ้งขยะมั่ว เพราะชอบเก็บขยะ เช่น กินขนมแล้วถ้าไม่มีถังขยะ จะเก็บใส่กระเป๋าเสื้อเอาไปทิ้งที่บ้าน คือศึกษาเรื่องขยะมาเยอะก็ไม่อยากจะทำลายโลก จะทิ้งให้เป็นที่ เพราะที่บ้านเป็นระเบียบ เพราะแม่เข้มงวดเรื่องความสะอาดมาก ถ้าบอกแล้วไม่ทำแม่จะทำให้ดู เช่น พวกขวดเอาไปใส่ในกระสอบขายได้ แบบนี้จะทิ้ง แบบนี้ต้องใส่ถังขยะ แม่จะบอกตลอดว่าอะไรที่รกบ้านทำให้ใครมองมาจะดูไม่สะอาด โดยแม่จะทำให้ดูเป็นตัวอย่าง"

สำหรับความคาดหวังต่อการทำโครงการ "คิดว่าน่าจะสำเร็จจากความพยายามในตัวของเรา จะพยายามถึงแม้จะไม่สำเร็จเราก็ไม่ท้อ แต่เราทำให้คนในชุมชนเห็นในข้อดีว่าที่เรามาอบรมนี้ไม่ไร้ประโยชน์ และมีประโยชน์มาก แล้วเราจะบอกแนวทางให้เขาต่อ”

"กุ้ง" สะท้อนการเป็นจิตอาสาชุมชนทิ้งท้ายไว้ว่า “การเป็นจิตอาสาชุมชนเป็นหน้าที่ของเรา เพราะเราก็เป็นส่วนหนึ่งในชุมชน และอนาคตเราก็ต้องเป็นผู้ใหญ่ เราควรจะฝึกตั้งแต่เล็กๆ พอเราเป็นผู้ใหญ่ ก็จะฝึกให้เด็กๆ ได้ทำอย่างที่พวกเราทำ ประเทศชาติจะได้เจริญ"

นี่คือตัวอย่างของการพัฒนาทั้งทางด้านความคิด และการกระทำจากเยาวชนตัวเล็กๆ ที่มุ่งมั่นพัฒนาชุมชนตนเอง.


ถอดบทเรียนจากค่ายพัฒนาศักยภาพแกนนำเยาวชนสู่การเป็นคนรุ่นใหม่ที่สามารถดึงศักยภาพของตนเองออกมารับใช้ชุมชนสังคมอย่างสร้างสรรค์ ภายใต้โครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) ระยะที่ 2 : หลักสูตรนักถักทอชุมชน เพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชนและครอบครัว ครั้งที่ 2 วันที่ 30 เมษายน-11 พฤษภาคม 2561ณ ศูนย์ปราชญ์พ่อคำเดื่อง ภาษี บ้านโนนเขา หมู่ 8 ตำบลหัวฝาย อำเภอแคนดง จังหวัดบุรีรัมย์ สนับสนุนโดยมูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย สถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) มูลนิธิสยามกัมมาจล โดยมีสถาบันยุวโพธิชน มูลนิธิสัมมาชีพ ทำหน้าที่กระบวนกรและจัดค่ายในครั้งนี้ 


ดาวน์โหลดเนื้อหาได้ที่นี่ ­

ติดตามชมกิจกรรมในเวทีได้ที่นี่