แกนนำเยาวชนอนุรักษ์ผ้าไหมโซดละเว
การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่ออนุรักษ์ผ้าไหมโซดละเว
ภายใต้โครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ
ปัจจุบัน :
- เรียนจบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
- ผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ออกแบบและผลิตผ้าไหม แบรนด์ “Sodlaway Silk”
ความโดดเด่น/ความสามารถพิเศษ :
1. ความรู้เกี่ยวกับการทอผ้าไหมและการย้อมสีธรรมชาติ
2. การเป็นวิทยากรให้ความรู้เกี่ยวกับการทอผ้าไหม
3. การออกแบบและจัดทำนวัตกรรม (กี่ทอผ้าไหม)
4. การตัดต่อวิดีโออย่างง่าย
“เต๋า” เป็นเยาวชนที่อาศัยอยู่ที่ ต.โพธิ์กระสังข์ อ.ขุญหาญ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งเป็นชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์“กวย”หรือ“ส่วย” เต๋า เป็นเยาวชนที่มีทักษะในการ“ทอผ้า”เพราะมีทุนความรู้จากชุมชนและครอบครัว แต่ปัญหาอยู่ที่เยาวชนคนรุ่นใหม่ในชุมชนไม่สนใจวัฒนธรรมการแต่งกายและการนุ่งซิ่น “เต๋า”และรุ่นพี่(ครูแอ๊ด) จึงเป็นแกนนำที่ลุกขึ้นมาเรียนรู้ผ่านการทำโครงการเพื่อชุมชน (PBL) รวมกลุ่มเยาวชนในพื้นที่มาศึกษาภูมิปัญญาการทอผ้าไหมและรวบรวมเป็นองค์ความรู้ของชุมชน
“จากปัญหาสู่การเริ่มต้นทำเป็นตัวอย่าง”
เนื่องจากเยาวชนคนรุ่นใหม่ในชุมชนไม่สนใจที่จะแต่งกายแบบชาวกวยแล้ว “เต๋า”และเพื่อนๆ ในทีม จึงเริ่มฟื้นวัฒนธรรมการแต่งกาย โดยศึกษาข้อมูลภูมิปัญญาการทอผ้าไหมโซดละเวในชุมชน และด้วยความภูมิใจในชาติพันธุ์จึงเป็นแบบอย่างในการนุ่งโสร่งและนุ่งซิ่นแบบชาวกวยเป็นประจำ เมื่อคนภายนอกถามก็ไม่รู้สึกเขินอาย แต่แสดงถึงความภาคภูมิใจ รวมถึงนำเสนอข้อมูลที่มาของผ้าไหมจนกลายเป็นอัตลักษณ์ของกลุ่ม และคนก็เริ่มมาสนใจผ้าไหมในชุมชนของตนเองได้ พร้อมทั้งคนในชุมชนเองก็รู้สึกภาคภูมิใจและเห็นคุณค่าของผ้าไหมโซดละเว จากการจุดประกายของคนรุ่นใหม่ ทั้งในแง่ของวัฒนธรรมและความเชื่อตามแนววิถีชีวิต รวมถึงคุณค่าความงามของผ้าและคนภายนอกที่ให้ความสนใจจนกลายเป็นรายได้ของชุมชน
“คุณค่าความงามสู่ความรู้”
หลังจากการทำโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อศึกษาข้อมูลภูมิปัญญาและคุณค่าของการทอผ้าไหมชาวกวยของเต๋าและเพื่อนๆ ประสบความสำเร็จในการจุดประกายให้คนในชุมชนร่วมฟื้นวัฒนธรรมการทอผ้าไหมและการแต่งกายในปีที่ 1 การเรียนรู้จากการลงมือทำ ทำให้เต๋า มีความกล้าคิด กล้าแสดงออกมากขึ้น เพราะต้องมาเป็นผู้นำของสมาชิกในการทำงานเป็นทีม และสกัดความรู้จากการทอผ้าออกมาสื่อสารให้เป็นรูปธรรม ทำให้ “เต๋า” มีแรงบันดาลใจที่จะต่อยอดองค์ความรู้เรื่องการทอผ้าผ่านการเก็บข้อมูลลายผ้า วิธีการทอผ้า วิถีชีวิตที่เกี่ยวกับผ้า การผลิตวัสดุทอผ้าจากชุมชน และฝึกทอผ้าร่วมกันกับกลุ่มเยาวชนโดยมีครูภูมิปัญญาเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ จึงนำมาสู่ความคิดที่อยากให้ผ้าไหมของชุมชนมีคุณค่าและมูลค่าขึ้นไปอีก จึงเป็นโจทย์ให้เต๋าและเพื่อนๆ นำองค์ความรู้ที่ตนเองมีอยู่และผลิตภัณฑ์ผ้าไหมที่กลุ่มเยาวชนผลิตขึ้นมา ตั้งเป็นกลุ่มกิจการเพื่อสังคมในชื่อ “Sodlaway Silk”
ปัจจุบันนอกจากเรียนแล้ว “เต๋า”ยังแบ่งเวลากับการเป็นผู้ประกอบการแบรนด์“Sodlaway Silk” ร่วมกับครูแอ๊ดและแกนนำเยาวชนรุนน้องในบ้านโพธิ์กระสังข์ รวมถึงยังคงเป็นรุ่นพี่ที่ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้กับน้องๆ ในชุมชนอยู่อย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งหาความรู้เพื่อมาพัฒนาแบรนด์อย่างต่อเนื่อง
รับชมวีดิทัศน์ : นายอภิชาติ วันอุบล นำเสนอการเรียนรู้จากการทำโครงการเพื่อชุมชน (PBL) “โครงการเส้นสายลายไหมมัดหมี่มัดใจสานสายใยกอนกวยโซดละเว”
รับชมวีดิทัศน์ : การทำโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่ออนุรักษ์ผ้าไหมโซดละเว ภายใต้โครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ
10 มี.ค. 2559 | - | 3. กิจกรรมประชุมทีม ใน โครงการเส้นสายลายไหมมัดหมี่มัดใจสานสายใยกอนกวยโซดละเว |
9 มี.ค. 2559 | - | 2.ประชุมชี้แจงโครงการต่อชุมชน ใน โครงการเส้นสายลายไหมมัดหมี่มัดใจสานสายใยกอนกวยโซดละเว |
6 มี.ค. 2559 | - | 1.ประชุมทีมชี้แจงโครงการและแบ่งบทบาทหน้าที่ ใน โครงการเส้นสายลายไหมมัดหมี่มัดใจสานสายใยกอนกวยโซดละเว |
1 มี.ค. 2558 | - | นำเสนอกิจกรรมโครงการต่อชุมชน สรุปโครงการ ใน โครงการดักแด้แตกใหม่ทอรักทอไหมสายใย (โซดละเว) |
17 ม.ค. 2558 | - | ภารกิจพิชิตสีธรรมชาติ (กอนกวยโซดละเว ใน โครงการดักแด้แตกใหม่ทอรักทอไหมสายใย (โซดละเว) |
31 ธ.ค. 2557 | - | ฉูนจ์กะมอเตีย อะลับกะมอตะไม (ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่) ใน โครงการดักแด้แตกใหม่ทอรักทอไหมสายใย (โซดละเว) |
21 ธ.ค. 2557 | - | ภารกิจพิชิตครั่ง ใน โครงการดักแด้แตกใหม่ทอรักทอไหมสายใย (โซดละเว) |
20 ธ.ค. 2557 | - | ประชุมชี้แจงโครงการระยะที่ 2 ใน โครงการดักแด้แตกใหม่ทอรักทอไหมสายใย (โซดละเว) |