ถอดบทเรียน กระบวนการพัฒนาพลเมืองเยาวชน จ.ศรีสะเกษ ปีที่ 3
ภายใต้ฐานคิดความเชื่อที่ว่า เยาวชนมีพลัง มีศักยภาพในการคิดและลงมือทำเพื่อประโยชน์ของชุมชนและสังคมส่วนรวม และเชื่อมั่นเรื่องข้อมูลความรู้ โดยผู้ใหญ่ในชุมชนต้องเปิดโอกาสและเปิดพื้นที่ให้เด็กได้ศึกษาเรียนรู้ชุมชน สามารถเชื่อมความรู้จากตำรากับความรู้นอกห้องเรียนได้ โดยท้ายที่สุดเด็กและเยาวชนเหล่านี้จะเป็น “พลังพลเมือง” ที่สำคัญในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น เป็นหลักคิดที่ทีมโคชจังหวัดศรีสะเกษ ได้แก่ รุ่งวิชิต คำงาม หัวหน้าโครงการเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ เบ็ญจมาภรณ์ แดนอินทร์ ปราณี ระงับภัย ประมวล ดวงนิล และ เพ็ญศรี ชิตบุตร ยึดเป็นเป้าหมายการทำงานมาโดยตลอด
เซตกลไกการทำงานพัฒนาเยาวชน
2 ปีของการทำงาน ทีมโคชพบว่า การทำงานพัฒนาเยาวชนของจังหวัดศรีสะเกษทำได้ยาก เนื่องจากจังหวัดศรีสะเกษใหญ่มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 21 และมีประชากรมากเป็นอันดับ 9 ของประเทศ การทำโครงการ 18-20 โครงการต่อปี คงไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรได้มากนัก ทีมโคชมีอยู่เพียง 5 คน ไม่มีพลังมากพอที่จะทำงานครอบคลุมทั้งจังหวัด ประกอบกับบทเรียนการทำงานที่ผ่านมาพบว่า “พี่เลี้ยงชุมชน” คือคนสำคัญที่ช่วยหนุนเสริมงานพัฒนาเยาวชน ปีที่ 3 จึงออกแบบการทำงานใหม่ นำ “กลไกโซน” มาใช้เป็นเครื่องมือ ย่อยพื้นที่การทำงานให้แคบลง เพื่อให้การพัฒนาเยาวชนของจังหวัดเข้มแข็งมากขึ้น
“ตอนปี 2 ทดลองนำรูปแบบโซนมาใช้ 2 ครั้งคือเวทีเรียนรู้ข้ามโซน ให้กลุ่มเยาวชนพื้นที่ใกล้เคียงกันมาเรียนรู้ร่วมกัน และตอนจัดงาน Learning Festival ที่นำเสนอผลงานเป็นโซน ทำให้เราเห็นคน เห็นพื้นที่เห็นความสัมพันธ์ระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ดีขึ้น เด็กมีทักษะการทำงาน เช่น การคิดวางแผน การออกแบบกิจกรรม การประสานงาน การทำงานเป็นทีม จึงนำระบบโซนมาใช้ต่อในปีที่ 3” รุ่งวิชิต บอก
เพื่อให้กลไกโซนตอบโจทย์เรื่องการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้จังหวัด ทีมโคชกับพี่เลี้ยงชุมชนได้ร่วมกันวางเป้าหมาย ภารกิจ และแผนงานที่อยากเห็นร่วมกัน เพื่อใช้เป็นกรอบในการพัฒนาโจทย์การทำโครงการของเยาวชน โดยยังคงทำ 3 ประเด็นเดิม คือ สัมมาชีพ วัฒนธรรม และสุขภาพสิ่งแวดล้อม และแบ่งพื้นที่ย่อยๆ ออกเป็น 3 โซนคือ โซนปรางค์กู่-ขุขันธ์ (อำเภอปรางค์กู่ และอำเภอขุขันธ์) โซนขุนหาญ (อำเภอขุนหาญ) โซนห้วยเมืองสัย (อำเภอห้วยทับทัน อำเภอเมือง และอำเภออุทุมพรพิสัย) มีประธานโซนรับผิดชอบดูแลภาพรวม มีทีมศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดศรีสะเกษดูแลภาพรวมทั้งโครงการอีกชั้นหนึ่ง
รูปแบบการทำงาน “กลไกโซน”
เมื่อนำรูปแบบโซนมาใช้เป็น “กลไกการทำงาน” การออกแบบการเรียนรู้ของทีมโคชจึงแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ 1. เวทีกลาง 2.เวทีโซน ซึ่งแต่ละเวทีจะมีกระบวนการเรียนรู้ต่างออกไปตามเป้าหมายโครงการ
ปรี๊ดดดด....เยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษเฮ้...
การประชาสัมพันธ์รับสมัครเยาวชนเข้าร่วมโครงการยังคงทำผ่านเฟซบุ๊กโครงการเช่นเดิม หลังจากนั้นจึงประชุมทำความเข้าใจกับครู ผู้นำชุมชน องค์กรท้องถิ่น ภาคี และนักวิจัยท้องถิ่นที่เป็นฐานงานเดิมของทีมโคช กลายเป็นว่านักวิจัยท้องถิ่นมีเด็กเข้ามาเป็นมือเป็นไม้ในการทำงานเพื่อชุมชน
สำหรับการพัฒนาโจทย์ ทีมโคชจะลงพื้นที่รายโครงการ หากเป็นน้องกลุ่มเก่าที่รู้จักเครื่องมือศึกษาชุมชนมาแล้วก็จะชวนถอดบทเรียนการทำงานที่ผ่านมา โดยมีคำถามคือ สิ่งที่ทำเกิดประโยชน์กับตนเองและชุมชนอย่างไร อะไรที่ทำได้ดี อะไรที่ยังทำได้ไม่ดี หากทำต่อจะทำเรื่องอะไร เพื่อไม่ให้น้องหลุดประเด็นงานเดิม ส่วนน้องกลุ่มใหม่จะพาวิเคราะห์โจทย์ในพื้นที่ โดยใช้เครื่องมือศึกษาชุมชน เช่น แผนที่ชุมชน ไทม์ไลม์ประวัติศาสตร์ชุมชน ปฏิทินวัฒนธรรม ปฏิทินฤดูกาล เพื่อให้เห็นทุกข์ทุนของชุมชน และผู้รู้ครูภูมิปัญญา ทำให้น้องเห็นประเด็นปัญหา เห็นพื้นที่ เห็นคนที่จะเข้ามาสนับสนุนการทำงานของตน จากนั้นสังเคราะห์ข้อมูลที่เก็บได้ว่า โครงการที่ทำจะมีประโยชน์ต่อตัวเองและชุมอย่างไร
Tips
เด็กใหม่ที่ยังไม่เคยทำโครงการมาก่อน โคชต้องปักหมุดให้น้องเกิดความชัดเจนในสิ่งที่จะทำ ให้เครื่องมือศึกษาชุมชนก่อนลงพื้นที่ ชวนน้องคุยว่าแต่ละประเด็นควรมีข้อมูลอะไรบ้าง โดยใช้แผนที่ชุมชนมาแตกองค์ประกอบในการศึกษา ชวนทำแผนผังลำดับขั้นข้อมูล ประเด็นหลัก ประเด็นรอง และข้อคำถาม จากนั้นจึงชวนน้องแตกคำถามว่า ประเด็นนี้ควรใช้คำถามแบบไหม ผู้รู้คือใคร เป็นต้น
เมื่อได้โจทย์โครงการ ทีมโคชสร้างเงื่อนไขให้น้องต้องนำเสนอโจทย์ในเวทีโซน เพื่อสร้างเป้าหมายร่วม และสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ โดยให้เพื่อนต่างโครงการ พี่เลี้ยงชุมชน และทีมโคช ช่วยกันให้ข้อเสนอแนะเพื่อให้แผนการทำโครงการคม ชัด ลึก มากขึ้น มองเห็นความเชื่อมโยงของงานที่ทำกับปัญหาในชุมชนหรือจังหวัด ส่วนประเด็นเครือข่ายความสัมพันธ์ ทีมโคชให้รุ่นพี่แต่ละโซนทำกระบวนการละลายพฤติกรรม เป็นอุบายให้น้องใหม่เห็นทักษะความสามารถของรุ่นพี่ที่ถูกหล่อหลอมจากการทำโครงการ ด้วยวัยที่ใกล้เคียงกันความสัมพันธ์จึงสานต่อกันได้ง่าย หลังจบเวทีให้น้องกลับไปปรับแก้ข้อเสนอโครงการใหม่ส่งให้ทีมโคชพิจารณา หากโครงการไหนยังไม่สมบูรณ์ ทีมโคชจะลงไปพัฒนาโจทย์ในพื้นที่อีกครั้ง
รุ่งวิชิต บอกว่า จากบทเรียนการทำงานที่ผ่านมาทั้ง 2 ปีทำให้รู้ว่า กระบวนการขึ้นโจทย์โครงการสำคัญมาก ถ้าโจทย์ชัด แผนการทำงานก็จะชัดตามไปด้วย ทีมโคชจึงใช้เวลาพัฒนาโจทย์นาน
Tips
ช่วงพัฒนาโจทย์เป็นช่วงสำคัญที่เด็กจะฝ่อ หรือไปต่อ โคชจึงต้อง “สังเกต” เด็กจริงจัง และต้อง “สร้างพื้นที่ปลอดภัย” ให้ เช่น โครงการไก่ไข่เพื่อการเรียนรู้ที่สมาชิกทีมส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย ชวนคุยเท่าไรก็ไม่พูดไม่เขียน จึงต้องเปลี่ยนไปชวนคุยเรื่องทั่วไปก่อน ให้รู้สึกมั่นใจตัวเอง แล้วจึงค่อยคุยลึกไปเรื่อยๆ น้องก็เริ่มพูดเริ่มเขียนรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการได้ ตามงานทางไลน์น้องก็ตอบทุกครั้ง หรือบางโครงการที่โคชเห็นแล้วว่าใหญ่เกินกำลังที่น้องจะทำได้ โคชต้องชวนน้องคิดวิเคราะห์ความเสี่ยง บีบประเด็นการทำงานให้แคบลง เพื่อให้น้องพบความสำเร็จเล็กๆ จากการทำโครงการ
เวทีพิจารณาโครงการคือเวทีกลางที่ทีมโคชออกแบบให้เป็น “พื้นที่เรียนรู้ร่วม” ที่เยาวชนทั้ง 3 โซน พี่เลี้ยงชุมชน ผู้ทรงคุณวุฒิ ทีมโคชได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเด็นการทำงานร่วมกัน ฝึกทักษะนำเสนอ การออกแบบการสื่อสารที่สั้น กระชับ เข้าใจง่าย การสร้างเครือข่ายเยาวชนระดับจังหวัด และปักธงการทำงานเพื่อพัฒนาบ้านเกิด
แม้ใช้เวลาพัฒนาโจทย์ในพื้นที่นาน ทีมโคชลงพื้นที่ติดตามใกล้ชิด ปรับโจทย์กันหลายครั้ง ถึงเวลานำเสนอจริง หลายคนเกิดอาการไปไม่เป็น พูดไม่ออก เช่น โครงการไก่ไข่เพื่อการเรียนรู้ที่ก่อนหน้านี้ยังพูดสื่อสารได้ แต่พออยู่ในเวทีกลางกลับไม่พูดเลย โคชจึงชวนคุยหาสาเหตุ จนพบว่าน้องมีข้อมูลทุกอย่าง แต่ไม่กล้าสื่อสาร โคชต้องเชียร์อัพให้น้องเกิดความมั่นใจในตัวเอง
“ทำอะไรมาก็พูดไปอย่างนั้น ทำมาเองกับมือ ไม่มีใครรู้เท่าเขา และสิ่งที่เขาพูดก็ไม่มีถูกมีผิด จนเขากล้าหยิบปากกามาเขียน ช่วงแรกเขาจะเกี่ยงกันเขียนมาก โยนปากกาให้เดช-อัครเดช คันศรเขียนคนเดียว เมื่อชวนพูดคุยไปเรื่อยๆ กลายเป็นว่าทุกคนกลับมาช่วยกันเขียน ซึ่งกระบวนการเขียนนี้ทำให้น้องได้สรุปรวมความคิดการทำโครงการ ทำให้เขามีข้อมูลและพูดนำเสนอได้ในที่สุด” ปราณี บอกวิธีเชียร์อัพน้อง
นี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เด็กมีโอกาสเข้าไปสัมผัสชุมชนตนเอง รู้จักการทำงานบนฐานข้อมูลความรู้ ได้พัฒนาทักษะการคิด วิเคราะห์ การแบ่งบทบาทหน้าที่การทำงาน การสื่อสาร และการคิดเชื่อมโยงถึงประโยชน์ของการทำโครงการของตนเองกับชุมชนและจังหวัด
เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง
2 ปีที่ทำงานพัฒนาเยาวชน พบข้อมูลสำคัญคือ พ่อแม่ผู้ปกครองและคนในชุมชนส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่าเด็กๆ ในชุมชนทำโครงการอะไร บางคนจึงไม่ให้ความร่วมมือ พ่อแม่บางคนก็ไม่อยากให้เด็กออกจากบ้านมาทำงาน จนน้องบางคนต้องถอนตัวออกไป
ปีนี้ทีมโคชและเจ้าหน้าที่มูลนิธิสยามกัมมาจล จึงคิดเพิ่มทักษะการสื่อสารให้น้อง โดยร่วมมือกับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จัดอบรมเรื่องการสื่อสารผ่านคลิปวิดีโอ เรียนรู้แนวคิดการสื่อสารรูปแบบใหม่ ฝึกทำภาพเล่าเรื่องการทำงาน คลิปวิดีโอ ที่มีเป้าหมายปลายทางคือให้น้องได้ “ปล่อยของ” ในเวทีฉายหนังกลางแปลง เพื่อให้พ่อแม่และคนในชุมชนรับรู้สิ่งดีๆ ที่น้องๆ ทำเพื่อชุมชน โดยทำคู่ขนานไปกับการทำโครงการ กลายเป็นว่างานสื่อสารผ่านคลิปวิดีไปช่วยหนุนเสริมการทำโครงการของน้องให้ชัดเจนยิ่งขึ้น แม้จะเป็นเรื่องยากที่ท้าทายความสามารถ เนื่องจากเป็นหน้างานใหม่ที่ต้องใช้เทคนิคและอุปกรณ์ที่ไม่ถนัด แต่ทุกคนก็มุ่งมั่น อดหลับอดนอนทำจนสำเร็จ
ขณะที่ทีมโคชก็ใช้การทำคลิปวิดีโอเป็นเครื่องมือติดตามการทำงานของน้องไปในตัว เหมือนไปครั้งเดียวได้ 2 งานคือ งานโครงการและงานวิดีโอ
เพราะธรรมชาติการทำงานของเด็กมักจะไหลไปเรื่อยตามความสนใจของตนเอง คิดอยากทำอะไรก็ทำ โคชจึงต้องเตือนให้กลับดูแผนงานเดิม ส่วนทีมไหนที่งานไม่คืบหน้า เช่น บางโครงการนัดคุยเท่าไรก็ไม่ว่าง โคชจึงใช้เรื่องการทำสื่อมากระตุ้นว่า “ถ้าไม่ลงมือทำกิจกรรม จะไม่มีความรู้หรือเนื้อหีมาผลิตสื่อ” ซึ่งค่อนข้างได้ผล
“เทคนิคการติดตามที่ได้ผลคือ ตั้งคำถามให้คิด เช่น ถามน้องว่าจะนำเนื้อหาในโครงการตรงไหนมาเผยแพร่ เช่น โครงการสร้างฐานการเรียนรู้สมุนไพรไปร่ตาจูเพื่อการจัดการป่าชุมชนบอกว่า จะนำสมุนไพรมาแปรรูป เราก็ถามต่อว่า แล้วรู้หรือยังว่าสมุนไพรตัวไหนแปรรูปได้บ้าง น้องก็เกิดอาการ “เอ๊ะ-อ๋อ” ทันทีว่า เขาต้องมีความรู้ก่อนจึงจะสามารถนำความรู้นั้นมาเผยแพร่ได้ หรือโครงการเศษผ้าเล่าขานตำนานบ้านดู่ ที่สื่อวิดีโอตัวแรกมีแต่เรื่องพาเด็กทำดอกไม้ ไม่สามารถเล่าเร่องได้ เราก็ถามกลับว่าเขาต้องการสื่ออะไร ให้ไปย้อนดูเป้าหมายของโครงการ จนน้อง “อ๋อ” ว่า โครงการเขาเน้นไปที่การนำเศษผ้ามาเล่าเรื่อง จึงเปลี่ยนประเด็นนำเสนอเป็นการนำตุ๊กตาจากเศษผ้ามาเป็นสื่อในการเล่าเรื่องประวัติหมู่บ้านตัวเอง” ประมวล เผยเทคนิคการโคชน้อง
ปราณี ย้ำว่า กระบวนการทำสื่อเข้ามาหนุนเสริมการติดตามงานของทีมโคชได้ดีมาก โดยเฉพาะช่วงที่พาน้องหา “หัวใจโครงการ” ที่ทำให้น้องเห็นเป้าหมายการทำโครงการของตัวเองชัดขึ้นแล้ว ยังทำให้น้องมีโอกาสทบทวนการทำงานของตนเอง จนเห็นคุณค่าและประโยชน์จากการทำโครงการชัดเจนยิ่งขึ้น
ทำงานได้ครึ่งทาง เพื่อเช็คสภาพการทำงานและจิตใจ ทีมโคชจัดเวทีนำเสนอความก้าวหน้าของโครงการ ให้น้องแต่ละโครงการนำผลการทำงานมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งการได้เห็นงานเพื่อนกลุ่มอื่นช่วยกระตุ้นกลุ่มที่ยังไม่ได้ลงมือทำได้มาก ทำให้น้องกลับไปเร่งมือทำกิจกรรมเพื่อให้ทันเพื่อน ขณะเดียวกันก็ทำให้น้องได้ทบทวนการทำงานของตัวเองอีกครั้งก่อนทำงานต่อ เช่น ข้อมูลที่สืบค้นมาตอบโจทย์โครงการหรือไม่ เก็บข้อมูลพอหรือยัง ถ้าไม่ต้องทำยังไงต่อ ซึ่งเป็นการพัฒนาทักษะวิเคราะห์ข้อมูลของน้องไปในตัวด้วย
Tips
ช่วงนี้ถือเป็นช่วงสำคัญ เนื่องจากเป็นการลงมือทำงานในพื้นที่ เด็กจะเจอปัญหาอุปสรรคมากมาย พี่เลี้ยงต้องคอยสังเกตอาการน้องให้ดี เมื่อเห็นว่าโครงการเริ่มนิ่งต้องลงไปดูสถานการณ์ทันที ตัวอย่างเช่น โครงการจัดการพื้นที่และลำห้วยหนองบัวบานเพื่อใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รุ่นพี่ที่เป็นแกนนำออกไปทำงานนอกชุมชน น้องไม่สามารถทำกิจกรรมต่อได้ โคชพยายามชวนคิดงานต่อ น้องก็ไม่เข้าใจ เพราะโจทย์นี้ไม่ได้มาจากสิ่งที่เขาอยากทำ สุดท้ายน้องขอหยุดทำ แต่ก่อนจะยุติโครงการ โคชได้ชวนน้องๆ สรุปบทเรียนการทำงานเพื่อให้เห็นถึงปัจจัยเงื่อนไขของความสำเร็จหรือความล้มเหลว
ก่อนถึงเวลาปล่อยของ ทีมโคชเปิดโอกาสให้น้องๆ ออกแบบงานด้วยตัวเอง จนได้ข้อสรุปว่า จะฉายหนังกลางแปลงระดับโซนก่อนที่จะไปฉายในเวทีใหญ่หลังจบโครงการ
การพูดคุยครั้งนี้ทำให้ภาพความสัมพันธ์ระดับโซนชัดเจนยิ่งขึ้น นำไปสู่การสร้างเครือข่ายเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษระดับจังหวัด มีการคัดเลือกประธานโซน เพื่อเป็นทีมขับเคลื่อนงานกลางของเครือข่าย ได้แก่ เต๋า-อภิชาต วันอุบล ประธานเครือข่ายเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษและประธานโซนขุนหาญ หมิว-กนกวรรณ พันธมาศ ประธานโซนปรางค์กู่-ขุขันธ์ ส่วนโซนห้วยเมืองสัยมี เบลล์-ชิณกร มียิ่ง เป็นประธาน
เวทีนี้ทำให้ทีมโคชเห็นภาพการทำงานแบบ “เครือข่าย” ของเยาวชนในโครงการชัดเจนยิ่งขึ้น ทีมโคชจึงฉวยโอกาสจัดกิจกรรมจิตอาสาเพื่อผูกมัดความเป็นเครือข่ายเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษระดับจังหวัดให้เหนียวแน่นยิ่งขึ้น และให้น้องตระหนักถึงการทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม โดยใช้เรื่องการปรับภูมิทัศน์ที่น้ำตกห้วยจันทร์เป็นจุดร่วม ใช้พื้นที่บ้านเต๋าเป็นที่เตรียมงาน เมื่อพ่อแม่ผู้ปกครอง คนในชุมชนเห็นเด็กตั้งใจทำ ก็มาร่วมปลูกต้นไม้ เก็บขยะด้วย ทำให้หลังเสร็จงานน้องๆ มีการคุยกันข้ามโซนมากขึ้น
เมื่อปักหมุดว่าจะฉายหนังกลางแปลง ทีมโคชจึงลงพื้นที่ติดตามงานรายโซน ตรวจเช็คภาพ เสียง และเนื้อหาว่าสอดคล้องกับการทำโครงการหรือไม่ กลุ่มไหนยังไม่เข้าใจวิธีนำเสนอก็ชวนหา “หัวใจ” โครงการเขียนสคริปต์ใหม่ บางโครงการไม่มีภาพ บางโครงการมีภาพเยอะเกินไปจนไม่รู้จะใช้ภาพไหน โคชต้องช่วยน้องจัดระบบภาพให้ดึงภาพมาใช้ตามสคริปต์ง่ายขึ้น ส่วนโครงการไก่ไข่เพื่อการเรียนรู้มีปัญหาที่ต่างจากโครงการอื่นคือ มีโครงเรื่องทั้งหมดอยู่ในหัว แต่ไม่ยอมเขียนสคริปต์ โคชจึงต้องค่อยๆ ตีสนิทแล้วชวนน้องเขียนสคริปต์จนเสร็จ
เวทีปล่อยของ...
อดหลับอดนอนเขียนสคริปต์ ถ่ายภาพ ตัดต่อ คอมพ์แฮงค์บ้าง โปรแกรมเสียบ้าง แต่ในที่สุด ทุกทีมก็ฝ่าฟันได้สำเร็จจนพร้อมปล่อยของในมหกรรมฉายหนังกลางแปลงระดับโซน เริ่มจากโซนขุนหาญที่ใช้เลือกจัดงานในวันลอยกระทง ทำให้เรียกคนดูได้ไม่น้อย
การเปิดโอกาสให้เด็กได้คิดเองทำเอง เปรียบได้กับการฝึกให้เด็กเรียนรู้ทักษะทำงานแบบ “ครบวงจร” ตั้งแต่ รูปแบบการจัดงาน การออกแบบกิจกรรม ออกแบบนิทรรศการ การประสานงาน มีการแบ่งบทบาทหน้าที่ รับผิดชอบร่วมกัน คอยตามคอยชวนเพื่อนมาทำงาน โคชแค่คอยดูอยู่ห่างๆ เห็นสิ่งไหนขาดถึงเข้าไปตั้งคำถามให้คิด คอยอำนวยความสะดวกในเรื่องที่เกินกำลัง เช่น หาเครื่องเสียงและจอหนัง เป็นต้น
เป้าหมายของเวทีฉายหนังระดับโซนคือ การให้น้องโชว์ผลงานวิดีโอเพื่อแสดงศักยภาพให้ผู้ใหญ่ในชุมชนเห็น และดึงผู้ใหญ่เหล่านั้นเข้ามามีส่วนร่วมหรือสานงานต่อจากเยาวชน และสร้าง “ระบบความสัมพันธ์” ระหว่างเยาวชนในโซนเดียวกันและต่างโซนกันที่ช่วยเหลือให้งานผ่านไปด้วยดี รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ผู้ปกครองกับเยาวชนที่ทำโครงการ และความสัมพันธ์ของเยาวชนกับคนในชุมชนที่รู้สึกภูมิและดีใจที่เห็นลูกหลานลุกขึ้นมาทำสิ่งดีๆ ให้กับชุมชนตนเอง
ดังเช่น มหกรรมฉายหนังของโซนปรางค์กู่-ขุขันธ์ ที่เยาวชนเจ้าบ้านยังกางเต็นท์ไม่เสร็จ จัดนิทรรศการไม่เรียบร้อย เยาวชนในโซนขุนหาญก็เข้าไปช่วยทำ โดยที่เพื่อนไม่ต้องร้องขอ และหลังเสร็จงานก็ช่วยกันล้างถ้วยจาน
“โซนห้วยเมืองสัยผู้ปกครองมาให้กำลังใจลูกหลานเยอะมาก บางคนก็ลุกขึ้นสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของลูก เช่นแม่ของมิว-สุภาวดี ยาจิตร บอกว่าเห็นภาวะความเป็นผู้นำของลูกมากขึ้น” ปราณีเล่า
หากเปรียบเวทีฉายหนังกลางแปลงคือ สถานประกอบการที่ทำให้เด็กได้เรียนรู้ทักษะการทำงานจริง ทั้งการแก้ปัญหาเฉพาะจากฟ้าฝนที่ไม่เป็นใจ จนต้องย้ายสถานที่จากกลางแจ้งมาเป็นในร่มได้ภายในเวลาจำกัด ทักษะการคิดออกแบบและวางแผนการทำงาน การประสานงาน จนเปลี่ยนเด็กที่กล้าๆ กลัวๆ เป็นคนกล้าโดยปริยาย เช่น เป๊ก-ปรัชญา ราษี ที่เดิมไม่กล้าพูดไม่กล้านำเสนอ แต่เวทีนี้ทำให้เป๊กมีความกล้า ถึงขนาดไปเรียนเชิญนายอำเภอปรางค์กู่มาร่วมงานด้วยตนเอง
เมื่อผ่านประสบการณ์จัดงานในระดับโซนแล้ว ทีมโคชท้าทายเยาวชนอีกครั้ง ด้วยการ “เปิดโอกาส” ให้น้องคิดออกแบบกิจกรรมในงาน Learning Festival เองทั้งหมด ครั้งนี้ทุกคนนำบทเรียนเดิมมาปรับใช้ด้วยการวางแผนการทำงานอย่างละเอียด แบ่งบทบาทหน้าที่ตามโซนชัดเจน เช่น ฝ่ายการแสดง ฝ่ายเวที พิธีกร ฝ่ายประสานงาน เป็นต้น โดยทีมโคชรับผิดชอบเรื่องสถานที่ อุปกรณ์ และเชิญแขกผู้ใหญ่ในจังหวัดเท่านั้น
แม้โครงการเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษปีที่ 3 จะจบลงแล้ว แต่น้องๆ หลายโครงการก็ยังขับเคลื่อนงานต่อ เช่น โครงการทอรักร่วมกัน Product สร้างสรรค์แปรรูปผลิตภัณฑ์กอนกวย Sodlaway ที่นำข้อมูลความรู้ที่ได้จากการทำโครงการทั้ง 3 ปีทำ “ศูนย์การเรียนรู้การทอผ้าไหมโซดละเว” ให้นักเรียนโรงเรียนและคนอื่นๆ มาเรียนรู้กระบวนการทอผ้าไหมโซดละเว ตั้งแต่การเลี้ยงไหม การสาวไหม การย้อมสีธรรมชาติ และการทอ ซึ่งทีมงานทุกคนสามารถให้ความรู้แก่ผู้เยี่ยมชมได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน
โครงการสะเองสืบสาน จัดกระบวนการลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ สู่รุ่นน้องนอกห้องเรียน ที่นอกจากจะสามารถผลักดันการเรียนรู้การละเล่นสะเนงสะเองกวยเข้าไปอยู่ในชั่วโมงลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ของโรงเรียนบ้านโพธิ์กระสังข์ได้แล้ว แม็ค-ฐิติวัฒน์ โพธิสาร ก็เคี่ยวกรำฝึกฝนจนเชี่ยวชาญจนสามารถสร้างรายได้ให้ตัวเองด้วยการไปร่วมแสดงกับตาพรมมา โพธิ์กระสังข์
เงื่อนไขที่นำไปสู่การพัฒนาทักษะ นิสัย และสำนึกพลเมือง
ด้วยกระบวนการดังกล่าวข้างต้น เห็นได้ว่าการพัฒนาทักษะ นิสัย และสำนึกพลเมืองสำหรับเด็กเยาวชนสามารถทำได้ เพียงแต่พ่อแม่ ครู หรือโคช ต้องมี “เงื่อนไข” บางอย่าง สำหรับโครงการเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ มีดังนี้
1.เป็นโจทย์ปัญหาของชุมชน เพื่อให้เด็กเยาวชนเข้าไปสัมผัสเรียนรู้เรื่องราวชุมชนของตนเอง ซึ่งจะทำให้เยาวชนค่อยๆ เห็นภาพ จนเกิดความเข้าใจสังคมโดยรวม แล้วเกิดการเชื่อมโยงตัวเองเข้าเป็นส่วนหนึ่งของบ้าน ของชุมชนตัวเองได้ สิ่งเหล่านี้จะค่อยๆ ปลุกสำนึกความรู้สึกร่วม อยากเข้ามาช่วยรับผิดชอบสังคมชุมชนที่เขาอาศัยอยู่
2.มีทีมทำงาน 5 คน เพื่อฝึกทักษะการทำงานเป็นทีม และคุณลักษณะนิสัยที่พึงประสงค์ เช่น การยอมรับฟังความเห็นต่าง การควบคุมอารมณ์ ความอดทน อดกลั้น จนเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีในตัวเอง
3.มีระยะเวลาทำงานต่อเนื่อง 4-5 เดือน ทำให้เด็กรู้ว่าเขาชอบอะไร ถนัดอะไร รู้ว่าควรใช้ความรู้อะไรมาแก้ปัญหาของชุมชน หรือเด็กบางคนรู้ว่าโตขึ้นอยากประกอบอาชีพอะไร ก็มุ่งหน้าไปในทิศทางนั้นจนประสบความสำเร็จในชีวิตได้
4.เข้าร่วมกระบวนการเวิร์กช็อป เพื่อฝึกทักษะการฟัง พูด ถาม เขียน คิดวิเคราะห์ รวมทั้งฝึกนำเสนอ ที่ทีมโคชออกแบบให้เด็กเยาวชนได้ฝึกซ้ำในทุกเวที เมื่อจบโครงการเด็กเยาวชนทุกคนจึงมีความกล้าคิด กล้าพูด กล้านำเสนอ รู้จักคิดวิเคราะห์
5.มีพี่เลี้ยง ทำหน้าที่เป็นเหมือน Scaffolding หรือ นั่งร้าน ที่คอยเอื้ออำนวยให้เด็กเยาวชนเกิดการเรียนรู้ และหนุนเสริมทั้งวัสดุอุปกรณ์และกำลังใจ ที่จะฝ่าฟันอุปสรรค ได้เรียนรู้ และเปลี่ยนแปลงตัวเอง
บทบาทของโคช
พี่เลี้ยงชุมชน -โคชใกล้ตัวเด็ก
นอกจากทีมโคชที่เป็นผู้ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ให้กับเยาวชนแล้ว “พี่เลี้ยงชุมชน” คือกลุ่มคนที่มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาเด็กเยาวชนในพื้นที่ สำหรับโครงการนี้มีพี่เลี้ยงชุมชนหลายกลุ่มทั้งพ่อแม่ ผู้ปกครอง ผู้นำชุมชน ครูภูมิปัญญา พระสงฆ์ ซึ่งแต่ละคนล้วนนำศักยภาพและความเชี่ยวชาญมาช่วยเสริมศักยภาพของเด็กได้เป็นอย่างดี
●พ่อแม่ ผู้ปกครอง คือโคชที่คอย “ประคับประคอง” การเรียนรู้
แม่พร-โพนทอง คันศร แม่ของ เดช-อัครเดช คันศร และเพื่อนๆ รวมกลุ่มแว้นรถสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้คนในชุมชน ทั้งยังสุ่มเสี่ยงต่อการเข้าไปมั่วสุมกับยาเสพติด แม่พรอยากดึงลูกให้ออกห่างจากสิ่งไม่ดีทั้งหลาย เมื่อเห็นเด็กเยาวชนหลายคนที่เคยเข้าร่วมโครงการนี้มีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น ก็อยากให้ลูกของเปลี่ยนแปลงบ้าง จึงชักชวนลูกให้เข้ามาทำโครงการ
แม่พรคือตัวอย่างของผู้ปกครองที่พยายามเฟ้นหาโอกาสดึงลูกและเพื่อนๆ ออกจากสิ่งเร้า ชวนเข้าสู่กระบวนการพัฒนาเยาวชน ที่มีพี่ๆ ทีมโคชพาเรียนรู้ตนเอง เรียนรู้ชุมชน และเรียนรู้การทำงานพื้นที่จริง ทำให้เดชและผองเพื่อนได้เห็นโลกในมุมใหม่ ได้รับการพัฒนาทักษะหลากหลายทั้งความรู้ การทำงานเป็นทีม การพูด การฟัง การถาม และการเขียน จากเด็กที่แทบจะอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงออกก็กลายเป็นคนกล้าคิด กล้าพูด และกล้าทำ จากเคยแว้นรถเสียงดังกวนชาวบ้านไปทั่ว ก็เปลี่ยนเป็นขี่มอเตอร์ไซด์อย่างระมัดระวังเพื่อส่งไข่ไก่แทน เสียงก่นด่าของชาวบ้านที่เคยได้ยินก็เปลี่ยนเป็นเสียงชื่นชม สิ่งดี ๆ เหล่านี้บ่มเพาะให้เดชและเพื่อน ๆ ภาคภูมิใจ จนไม่คิดกลับไปเป็นเด็กแว้นกวนเมืองอีกต่อไป
นอกจากนั้นแม่พรยังหนุนเสริมการทำของลูกทุกอย่าง พาไปเรียนรู้ข้ามพื้นที่ คอยกระตุ้นเตือนเวลาเห็นโครงการของลูกไม่คืบหน้า เห็นลูกไม่ถนัดสิ่งไหนก็ช่วยวางแผนให้ เช่น วางแผนการตลาดว่าวันนี้จะไปขายไข่ที่ไหน จนลูกรู้วิธีเลี้ยงไก่ที่นำมาใช้ประกอบอาชีพได้ในอนาคต
● คนในชุมชนที่ “เปิดโอกาส-เปิดพื้นที่” ให้เด็กได้เรียนรู้
ผู้ใหญ่มุณี ไกรวิเศษ ผู้ใหญ่บ้านดงตาดทอง ตำบลโพธิ์ศรี อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ คือ ตัวอย่างของพี่เลี้ยงชุมชนที่ “เปิดโอกาส” ให้เยาวชนบ้านดงตาดทองได้พัฒนาตนเอง กล้าคิด กล้านำเสนอ กล้าทำสิ่งดีๆ ให้ชุมชน
นอกจากอยากเห็นเด็กบ้านตัวเองเก่งแล้ว เป้าหมายลึกๆ ที่อยู่ในใจคือ อยากให้เด็กๆ ในหมู่บ้านมีอนาคตที่ดี ช่วยพ่อแม่ทำงาน มีรายได้เสริมเลี้ยงตัวเอง จึงของบประมาณโครงการหนึ่งหมู่บ้านหนึ่งตำบลให้เด็กเลี้ยงไก่และปลูกผัก แต่เด็กขาดกระบวนการพัฒนา เมื่อได้รับโอกาสจากโครงการนี้ ผู้ใหญ่มุณีจึงหนุนเสริมเด็กกลุ่มนี้เต็มที่ ทั้งอาสาขับรถพาไปร่วมกิจกรรม ขาดเหลืออะไรก็หนุนเสริมเต็มที่
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเปลี่ยนเด็กที่เคยทะเลาะวิวาทกันกลับมาสามัคคีกันมากขึ้น มีความรับผิดชอบ เช่น หาข้อมูลโครงการเตรียมไว้ก่อนเข้าประชุม ว่ากล่าวตักเตือนเพื่อนที่ไม่ช่วยงานตรงต่อเวลา กล้านำเสนอในที่ประชุมหมู่บ้าน และกล้าแนะนำหากเพื่อนทำสิ่งไม่ดี จนพี่เลี้ยงเองก็เกิดความภูมิใจ
● ครูผู้เปลี่ยนการสอนเป็น “การจัดการความรู้” แก่เด็ก
ในยุคที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วรุนแรง ระบบการศึกษาไทยจำเป็นต้องพัฒนาเด็กไทยให้รับมือ
กับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและรุนแรงให้ได้ “การศึกษาแบบบอกสอน” เหมือนที่ผ่านมาไม่สามารถทำได้ ฉะนั้นครูจึงต้องเปลี่ยนจากการบอกสอนให้ความรู้อย่างเดียวมาเป็นการให้ “ทักษะในการแสวงหาความรู้และสร้างความรู้ของตัวเอง” เปลี่ยนบทบาทจาก “ครูผู้สอน” เป็น “ครูนักจัดการความรู้” หรือ Facilitator (ผู้อำนวยความสะดวก) ดังตัวอย่างของครูจิราวรรณ เทาศิริ จากโรงเรียนกันทรอมวิทยาคม ที่เข้าร่วมกระบวนการพัฒนาเยาวชนมา 3 ปี เพราะอยากให้เด็กรู้จักคิด รู้จักการแก้ปัญหา เรียนรู้การทำงานเป็นทีม มีทักษะชีวิต เพื่อรับมือกับสิ่งที่จะพบเจอต่อไปในอนาคต ครูจิราวรรณจึงชักชวนลูกศิษย์ออกมาเรียนรู้นอกห้องเรียนผ่านการทำโครงการ แต่ช่วงแรกก็ยังติด “กับดักเดิม” คือใช้วิธีบอกสอน เมื่อเข้าร่วมกระบวนการกับทีมโคชบ่อยๆ จึงเริ่มเปลี่ยนมาใช้การตั้งคำถามกระตุ้นคิดแทน
นอกจากต้องปรับความคุ้นชินของตัวเองแล้ว ครูจิราวรรณยังต้องปรับความคุ้นชินของเด็กที่เคยถามครูแล้วต้องได้คำตอบทันที ด้วยการถามกลับทีละประเด็นให้เด็กได้คิด หรือหากมีปัญหาก็เปิดพื้นที่ให้ได้ประชุมหาทางออกร่วมกันภายในทีม
2 ปีที่ได้ทำหน้าที่พี่เลี้ยงชุมชน ครูจิราวรรณค้นพบเทคนิคการเป็นโคชที่ดีคือ ต้องเป็นจุดศูนย์รวมเด็ก เป็นทั้งเพื่อน เป็นทั้งพี่ เป็นทั้งแม่ บางครั้งก็เป็นคุณครูโหด ต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กพูดคุยกับครูได้ทุกเรื่อง และต้องเข้าใจพัฒนาการของวัยรุ่น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้ย้อนไปเติมเต็มบทบาทในอาชีพครู ทำให้เข้าใจลูกศิษย์ที่เป็นวัยรุ่นมากขึ้น
เมื่อเข้าใจแล้วว่า การบอกสอนไม่สามารถพัฒนาเด็กให้มีทักษะที่พึงประสงค์ได้ และการเปลี่ยนแปลงชุมชนสังคมไม่สามารถเกิดขึ้นได้เพียงคนเดียว ครูจิราวรรณจึงสร้าง Change agent ขึ้นในพื้นที่ในปีที่ 3 ด้วยการชักชวน ครูตี๋-รังสันต์ แสงดี มาร่วมทีมพัฒนาเด็กในชุมชน โดยครูจิราวรรณทำหน้าที่เป็นโคชให้ครูตี๋ ทั้งถ่ายทอดความรู้ เปิดโอกาสให้ทำงาน ดึงศักยภาพ และเสริมกำลังใจให้พี่เลี้ยงหน้าใหม่มองทุกความล้มเหลวเป็นประสบการณ์การเรียนรู้ที่จะขัดเกลาตัวเองสู่การเป็นพี่เลี้ยงมือเก๋าต่อไป
Tips
ครูจิราวรรณคัดเลือกพี่เลี้ยงชุมชน จากคุณสมบัติการเป็นคนในพื้นที่ มีใจอยากพัฒนาเด็ก อยากพัฒนาบ้านเกิด และเสียสละ ซึ่งมีในตัวครูตี๋ทุกข้อ และเมื่อเข้ามาทำงานแล้วครูจิราวรรณค้นพบมากขึ้นว่าครูตี๋ยังมีความใจเย็น รับฟังความคิดของเด็ก และไม่ตัดสินเด็ก
●ครูภูมิปัญญา “คลังความรู้” ของชุมชน
ครูภูมิปัญญาเป็นอีกหนึ่งบุคคลสำคัญที่สามารถสร้างการเรียนรู้ให้เด็กเยาวชนได้เป็นอย่างดี เพราะเปรียบเสมือน “คลังความรู้” ของชุมชน เด็กเยาวชนหลายคนที่ผ่านการโคชจากครูภูมิปัญญาจนรู้ว่าตัวเองเก่งเรื่องอะไร และสามารถนำความรู้นั้นประกอบอาชีพเลี้ยงตัวได้ ดังเช่น ทัด-ธนากร แก้วลอย กับ แม็ค-ฐิติวัฒน์ โพธิสาร ที่ได้รับความรู้เรื่องปี่และแคนจากตาพรมมา โพธิ์กระสังข์ ความรู้ด้านเครื่องดนตรีและการบรรเลงดนตรีประเภทตีจาก ตาทิพย์ ทองละมุล และ ยายกัณหา จันทะสน แม่ครูสะเองและแม่ครูรำ ที่เต็มอกเต็มใจถ่ายทอดวิชาความรู้จนทั้งคู่สามารถทำเป็นอาชีพเสริมได้ ขณะเดียวกันก็ได้สืบสานภูมิปัญญาเก่าแก่ของชุมชนให้คงอยู่ต่อไป
●บทบาทของพระสงฆ์ที่ “ขัดเกลา” เยาวชน
เพราะเชื่อว่าการแบ่งเวลามาทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคมนอกห้องเรียนจะช่วยพัฒนาทักษะชีวิต ทำให้เด็กได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้อื่น อีกทั้งยังช่วยกล่อมเกลาจิตใจให้เกิดสมาธิ รู้เท่าทันตัวเองและรู้เท่าทันสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว พระครูปริยัติสีลาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดระกา อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ จึงอยากให้เด็กเยาวชนมีสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ แทนที่จะรวมกลุ่มกันเที่ยวเล่นไปวันๆ โดยนำความรู้เรื่องดนตรีกันตรึมมาเป็นเครื่องมือพัฒนาเยาวชนบ้านระกาติดต่อกันถึง 3 รุ่น
จากจุดเริ่มต้นที่เคยเปิดห้องเรียนเชิงวิชาการวันอาทิตย์ แต่เมื่อเห็นว่าการเรียนที่วัดกลายเป็นการเพิ่มภาระแก่เด็ก พระครูจึงเปลี่ยนมาเป็นห้องเรียนดนตรี เพราะเห็นว่าเวลามีงานพิธีชาวบ้านจะเชิญวงปี่พาทย์จากอำเภออื่นมาเล่น จึงอยากฟื้นฟูดนตรีกันตรึมในชุมชนอีกครั้ง และหวังว่าดนตรีจะช่วยสร้างสมาธิแก่เด็ก และทำให้จิตใจเยือกเย็น มุ่งสู่ศีลธรรมได้ง่าย เพราะการหัดเฃ่นดนตรีไทยจะทำให้เด็กได้รับธรรมะไปโดยปริยาย ทั้งมี “สติ” เพื่อเล่นให้ถูกทำนอง “ความอดทน” ในการฝึกเล่นเพลงที่ยาก “ความเพียร” ที่จะฝึกซ้อม มี “สมาธิ” จดจ่อกับการเล่น และมี “ความสามัคคี” บรรเลงดนตรีพร้อมคนอื่นๆ เพื่อสอดประสานให้ออกมาเป็นบทเพลง
เมื่อเห็นโอกาสว่าโครงการเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษจะช่วยพัฒนาทักษะชีวิตให้เท่าทันโลกมากขึ้น พระครูจึงชักชวนให้เด็กเข้าร่วมโครงการ ใช้ “พื้นที่วัด” เป็น “ศูนย์รวมเด็ก” พร้อมหนุนเสริม ทั้งสถานที่ น้ำ ไฟ คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต และขนม ที่เด็กๆ หยิบทานได้โดยไม่หวงห้าม ด้วยความคิดว่า การที่เด็กรวมตัวกันในวัดจะอยู่ใกล้หูใกล้ตาพระครู ขณะที่พ่อแม่ผู้ปกครองเองก็สบายที่ลูกหลานไม่ไปมั่วสุมที่อื่น
นอกจาก “เปิดพื้นที่” แล้ว พระครูยัง “เปิดโอกาส” ให้เด็กๆ ได้เรียนรู้การทำงานโครงการและร่วมแสดงกับวงผู้ใหญ่ จนเด็กเยาวบ้านระกาหลายคนเก่งขึ้น โดยเฉพาะเป๊ก-ปรัชญา ราษี ที่เคยไม่พูด ไม่กล้านำเสนอ เขียนโครงการไม่เป็น เล่นกันตรึมไม่คล่อง กลับกลายเป็นมือหนึ่งด้านกันตรึมที่หาเลี้ยงเป็นรายได้เสริมได้ มีความกล้าพูด กล้าคิด และกล้านำเสนอ เขียนข้อเสนอโครงการได้คล่องแคล่วขึ้น การเปิดพื้นที่และเปิดโอกาสของพระครูจึงทำให้เด็กบ้านระกาได้เรียนรู้ “วิชาชีวิต” และเป็นการสืบสานศิลปะวัฒนธรรมพื้นบ้านให้คงอยู่ต่อไป
●รพ.สต.กับบทบาทการเป็นที่ “ปรึกษาชีวิต”
แม้จะทำงานด้านส่งเสริมสุขภาพ แต่เพราะเห็นความสำคัญเรื่องการพัฒนาเด็กเยาวชน เพ็ญทิวา สารบุตร นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโคกเพชร อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ พี่เลี้ยงโครงการต้นกล้าเยาวชนคนหมาน้อย ที่เข้าร่วมโครงการปีที่ 1 เพราะอยากให้เยาวชนกลุ่มนี้เป็นตัวอย่างแก่เด็กคนอื่นๆ ในชุมชน และเพื่อเฝ้าระวังเยาวชนไม่ให้ทำสิ่งผิดไป
กระบวนการที่เธอยึดถือคือ ใช้ทุกช่วงโอกาสที่มีให้เกิดประโยชน์ เช่น ชวนเด็กพูดคุยกันระหว่างนั่งรถ ทำให้รู้สถานการณ์ว่า เด็กในทีมแต่ละคนมีปัญหาอะไรอยู่ บางครั้งก็สอบถามถึงสถานการณ์ของเด็กคนอื่นในชุมชน จนทำให้เด็กไว้ใจ และเข้ามาปรึกษาเรื่องต่างๆ แม้กระทั่งเรื่องแฟน จึงเป็นโอกาสให้เธอชวนเด็กๆ คุยเรื่องการท้องก่อนวัยอันควร และแนะนำให้ตั้งเป้าหมายไปที่การเรียน เพราะเด็กๆ ในทีมแต่ละคนกำลังอยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียน การเป็นพี่เลี้ยงให้โครงการเยาวชน จึงช่วยเสริมงานหลักของเธอเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพและการให้ความรู้เรื่องเพศศึกษาให้ดียิ่งขึ้น และพลอยทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับ รพ.สต.ดีขึ้นตามไปด้วย
จากตัวอย่างข้างต้น เห็นได้ว่าทุกคนสามารถเป็นโคชได้ เพียงแค่เปิดพื้นที่ เปิดโอกาสให้เด็ก คอยแนะ แต่ไม่นำ เป็นเพียงนั่งร้านค้ำยันให้เด็กๆ รู้สึกอุ่นใจว่ามีที่พึ่ง มองหาจุดเชื่อมของการทำงาน นำเป้าหมายส่วนตัวมาเป็นเป้าหมายร่วม ให้งานตนและงานส่วนรวมเนียนเป็นเนื้อเดียวกัน การพัฒนาเยาวชนจึงจะเกิดผลสำเร็จ