ถอดบทเรียนกระบวนการพัฒนาพลเมืองเยาวชน ภาคตะวันตก ปีที่ 1

ปลุกพลังเยาวชน...ชูวิถีคนภาคตะวันตก

­

     “นับวันคนรุ่นเก่าอ่อนแรงลงเรื่อยๆ ขณะที่ปัญหากลับมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้น แต่ขาดคนรุ่นใหม่เข้ามาสานงานต่อ การพัฒนาท้องถิ่นในยุคปัจจุบันจึงไม่ใช่เรื่องของการแก้ปัญหาเหมือนที่ผ่านมา แต่ต้องเป็นการ “สร้างคนรุ่นใหม่ให้กับสังคม” ด้วยการทำให้เด็กรู้จักบ้านตนเอง เพราะถ้าเขาไม่เข้าใจบ้านตัวเอง เขาก็จะไม่รัก แต่ถ้าเขารู้จักบ้านตัวเอง เขาจะเห็นคุณค่าและหวงแหน ดูแลท้องถิ่นของเขา”

     คือ “ฐานคิด” ที่ชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ หรือ “ธเนศ“ ใช้เป็นจุดตั้งต้นของการทำโครงการพลังพลเมืองเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก โดยมีเป้าหมายลึกๆ คือ “ต้องการสร้างเครือข่ายเด็กเยาวชนภาคตะวันตก” ให้เข้ามาช่วยขับเคลื่อนงานในพื้นที่ต่อนั่นเอง

ปลุกพลังเยาวชน ชูวิถีคนภาคตะวันตก

     แต่ความคิดดังกล่าวไม่สามารถขับเคลื่อนได้ทันที เพราะกระแสการทำงานด้านเด็กและเยาวชนในอดีตเป็นการจัดกิจกรรมเป็นรายครั้ง เช่น การอบรม จัดค่าย ทัศนศึกษา ฯลฯ ซึ่งจัดแล้วก็จบๆ กันไป แหล่งทุนหรือหน่วยงานที่สนับสนุนก็มีเงื่อนไขที่ไม่เอื้อต่อการจัfกระบวนการเรียนรู้ เพราะต้องทำงานตามแผน ไม่สามารถยืดหยุ่นให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา การทำงานเกี่ยวกับเยาวชนจึงเป็นลักษณะของการรวมกันเฉพาะกิจมาโดยตลอด

     กว่า 5 ปี ที่ “แนวคิด” นี้ถูก “บ่มเพาะ” ไปพร้อมๆ กับการทำงานในฐานะศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสมุทรสงคราม ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่สนับสนุนให้ชาวบ้านในชุมชนท้องถิ่นทำงานวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาตนเอง จนกระทั่งได้มีโอกาสร่วมงานกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จึงเห็นว่า เป็น “โอกาสดี” เพราะมีแนวคิดและแนวทางในการทำงานสอดคล้องกัน กล่าวคือ การจะสร้างคนรุ่นใหม่นั้นจำเป็นต้อง “เปิดพื้นที่” ให้โอกาส และหนุนเสริมทุกด้าน เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้พัฒนาศักยภาพของตนเอง และเรียนรู้การเป็นพลเมืองที่ดีผ่านการลงมือทำ

     แนวทางการขับเคลื่อนดังกล่าวจึงเป็นแนวทางที่เห็นร่วมกันว่า จะเป็นช่องทางสร้างกระบวนการเรียนรู้ ให้เด็กและเยาวชนมีสำนึกความเป็นพลเมือง เกิดจิตอาสา รู้จักสังคมท้องถิ่นที่ตนเองอาศัยอยู่ มีความรับผิดชอบ เข้าใจการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยและสังคมโลกอย่างเท่าทัน สามารถวิเคราะห์แยกแยะปัญหา โดยใช้ศักยภาพของตนเองเพื่อร่วมแก้ปัญหาของชุมชนได้

­

     ภาคตะวันตก...ระบบนิเวศที่แตกต่างหลากหลาย

     ภูมิภาคตะวันตกมีความหลากหลายตามลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกันค่อนข้างมาก โดยมีลักษณะภูมิศาสตร์ตั้งแต่ภูเขาสูง ที่ราบลุ่ม จนถึงชายฝั่งทะเล คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แบ่งภาคตะวันตกประกอบด้วย 8 จังหวัดได้แก่ สุพรรณบุรี กาญจนบุรี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ แต่ถ้าแบ่งตามราชบัณฑิตยสถาน ภาคตะวันตกประกอบด้วย 5 จังหวัดกาญจนบุรี ตาก ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ (www.wikipedia.org) ประชากรส่วนใหญ่ปลูกพืชไร่ เช่น อ้อย มันสำปะหลัง อุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมในครัวเรือน และอุตสาหกรรมประมง 

     แม้จะมีความแตกต่างหลากหลายทางภูมิศาสตร์ แต่ภูมิภาคนี้ก็ยังมีความเชื่อมโยงกัน ผ่านเทือกเขาถนนธงชัยตอนล่างและเทือกเขาตะนาวศรีที่ลาดเอียงลงสู่ทะเล มีผืนป่าตะวันตกเป็นมรดกโลก จากต้นน้ำอำเภอแม่สอด พบพระ อุ้มผาง จังหวัดตาก ไหลลงมาที่จังหวัดกาญจนบุรี เป็นแม่น้ำแควน้อย แควใหญ่ และรวมเป็นแม่น้ำแม่กลองไหลออกทะเลที่จังหวัดสมุทรสงคราม ส่วนเทือกเขาตะนาวศรีที่วิ่งผ่านลงมาก็เกิดเป็นต้นน้ำเพชรบุรี เมื่อน้ำไหลลงสู่อ่าวไทย เกิดเป็นอ่าวรูป ก.ไก่ ซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ น้ำที่ไหลบ่าในหน้าฝนจะพัดพาสารอาหารและตะกอนดินไหลลงมาเป็นแร่ธาตุ สารอาหารที่ดีสำหรับสัตว์ทะเล ในช่วงฤดูหนาววาฬบลูด้าเข้ามากินหญ้าอ่อนที่เกิดขึ้นในทะเลอ่าวไทย เมื่อวาฬโบกหาง แพลงตอนก็จะลอยขึ้นมาเป็นอาหารให้ปลาทะเล นกทะเล รวมทั้งปลาทูได้หากิน เกิดความสัมพันธ์ในลักษณะห่วงโซ่อาหาร ขณะที่ตะกอนที่เบาสุดเมื่อผ่านที่ราบจากจังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี ก็จะลอยมาผิวบนบริเวณปากแม่น้ำแม่กลอง พื้นที่บางตะบูน จังหวัดสมุทรสงคราม และบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี จึงมีแต่หาดเลนที่ชาวบ้านสามารถถีบกระดานเลนหาหอยได้

     จากลักษณะทางกายภาพดังกล่าวจึงมีการตั้งชุมชนริมน้ำเพื่ออยู่ร่วมกับสายน้ำ ปลูกบ้านยกพื้นสูง ด้านหน้าเป็นเรือนแพ ข้างในเป็นเรือนแถว มีการปลูกบ้านทั้งเรือนไทย เรือนไม้ไผ่ โดยใช้วัสดุที่มีในท้องถิ่น ร้อยเรียงไปตามวิถีวัฒนธรรมและความเชื่อ และมีการประกอบอาชีพที่หลากหลายทั้งประมง ทำนา ทำสวน มีตลาดนัดทางน้ำ เช่น ตลาดนัดอัมพวา ตลาดดำเนินสะดวก เป็นต้น เกิดเป็นภาพความสมบูรณ์ของผืนป่าตะวันตกในพื้นที่ภูเขาเชื่อมโยงมายังป่าชายเลนในพื้นที่ทะเล

     แต่เมื่อกระแสโลกาภิวัตน์เริ่มถาโถมเข้ามาในพื้นที่ ส่งผลให้ทรัพยากรธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไป การประกอบอาชีพ วิถีชีวิต และความมั่งคั่งทางวัฒนธรรมลดลง ขณะที่เด็กและเยาวชนในพื้นที่แม้จะสนใจการเรียนและเทคโนโลยี แต่กลับไม่มีความผูกพันกับท้องถิ่น ไม่เรียนรู้เพื่อการดำรงชีวิต แต่เป็นการเรียนรู้เพื่อออกไปข้างนอก อีกทั้งยังมีปัญหาต่างๆ เช่น ปัญหาเยาวชนตั้งครรภ์ในวัยเรียน ปัญหาเยาวชนจับกุมมั่วสุม ดื่ม สูบ ซิ่ง แว้น ซึ่งนับวันปัญหาเหล่านี้ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ 

จึงเกิดคำถามว่า แล้วเราจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างไร?

     ใช้ทุนเดิม...ต่อฐานงานใหม่

     เมื่อจะเริ่มทำงานด้านเด็กและเยาวชน คณะทำงานจึงได้ร่วมกัน “ทบทวน” สถานการณ์ด้านเด็กและเยาวชน กิจกรรม โครงการที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชนในพื้นที่พบว่า ในพื้นที่มีงานและเครือข่ายเด็กและเยาวชนอยู่ไม่น้อย แต่ส่วนใหญ่เป็นงานอีเวนต์ ที่จัดเป็นครั้งๆ ที่ไม่มีความต่อเนื่อง เครือข่ายของเด็กและเยาวชนในพื้นที่และกิจกรรมที่จัดส่วนใหญ่มีเจ้าของงานที่ชัดเจนทำให้คนกลุ่มอื่นไม่อยากเข้ามามีส่วนร่วม หน่วยงานองค์กรที่สนับสนุนงบประมาณส่วนใหญ่มีเงื่อนไขที่ผูกมัดกับแผนงานที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ และต้องมีการรายงานกิจกรรมและสรุปการเงินทุกครั้ง

     การออกแบบโครงการและการทำงานจึงเน้นไปที่การ “สร้างเครือข่าย” คนทำงานด้านเด็กและเยาวชน โดยกำหนดพื้นที่ภาคตะวันตกประกอบด้วยจังหวัดเพชรบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี และสมุทรสงคราม ซึ่งอยู่ในภูมินิเวศเดียวกันที่กำลังถูกรุกด้วยเงื่อนไขทางสังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ ที่คล้ายคลึงกัน

     ทีมออกแบบกลไกการทำงาน 3 ชั้น ประกอบด้วย กลไกภายในของคณะทำงาน กลไกพี่เลี้ยงในชุมชน และกลไกคณะกรรมการจังหวัด

     “วงในที่เป็นคณะทำงานก็ต้องคุมสภาพงานทั้งหมด รับรู้ร่วมกันทั้งหมดว่าทีมกำลังทำอะไร กำลังขับเคลื่อนไปในทิศทางใด พอไปถึงชั้นกลไกพี่เลี้ยงชุมชน พี่เลี้ยงชุมชนก็จะรู้ว่าเมื่อทีมกลางเขาออกแบบเช่นนี้แล้ว พี่เลี้ยงชุมชนเขาจะไปช่วยตรงนี้ ทีมนี้ก็จะเข้ามาเสริมเวลามีเวทีใหญ่มากขึ้น เพราะว่าบางทีเราไม่สามารถลงไปในพื้นที่ได้ทั้งหมด ส่วนกลไกจังหวัดก็ใช้ในเรื่องการพิจารณาโครงการ เข้ามาให้ความเห็น จะได้เห็นว่ากระบวนการไม่ได้ขับเคลื่อนเฉพาะตัวเด็ก แต่ขับเคลื่อนทั้งสังคม” ชิษนุวัฒน์เล่า

     เมื่อออกแบบกลไกการขับเคลื่อนงานเช่นนี้ การเลือกภาคีที่เข้ามาร่วมงานจึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งคณะทำงานก็มีเกณฑ์ในการเลือกภาคีที่จะเข้ามาร่วมงานคือ 

  • กลุ่มแรกเป็นกลุ่มคนที่เข้าใจเรื่องกระบวนการเรียนรู้ มีหลักคิดเรื่องการออกแบบการเรียนรู้ ความเข้าใจเรื่องการทำงานกับชุมชน กับเด็ก
  • กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มคนที่เคยมีประสบการณ์การทำงานร่วมกันมา
  • กลุ่มที่สามเป็นกลุ่มเป้าหมายที่คาดหวังว่าจะขับเคลื่อนงานด้านเด็กและเยาวชนต่อไปในอนาคต

     “ที่บอกว่าเข้าใจกระบวนการเรียนรู้ ก็ดูจากที่เขาเคยทำงานกับเรามา เป็นนักวิจัยเดิม มีประสบการณ์ที่ได้ทำงานร่วมกันมา เข้าใจตั้งแต่รู้ว่าการเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ต้องลงมือปฏิบัติ สองต้องเป็นคนที่มีทักษะการตั้งคำถามเพื่อสร้างการเรียนรู้ สามเป็นคนมีจิตสาธารณะ อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในการที่ดีขึ้น ที่ตัวเองสามารถเข้าไปมีบทบาทได้ เขาต้องเป็นคนที่มีเรื่องเหล่านี้ และผ่านประสบการณ์สรุปบทเรียน เข้าใจว่าการสรุปบทเรียนทำอย่างไร การออกแบบกระบวนการต้องทำอย่างไร”

     โดยในปีแรกเน้นการขับเคลื่อนกลไกในระดับคณะทำงานและพี่เลี้ยงในชุมชน ซึ่งในระดับคณะทำงานต้องการพัฒนาศักยภาพและทักษะในการทำงานของทีมงาน ให้สามารถเติบโตและเรียนรู้ในเรื่องการทำงานด้านเด็กและเยาวชน ส่วนกลุ่มพี่เลี้ยงในชุมชน ต้องการสร้างแกนนำที่เป็นชาวบ้าน ครู ที่สามารถจะดูแล ติดตาม และหนุนเสริมการทำงานเด็กและเยาวชนได้ เพราะหากไม่มีกลไกในชั้นนี้แล้วการทำงานจะถูกผูกติดกับคณะทำงานของโครงการ แต่ถ้าหากสามารถสร้างกลไกในระดับนี้ให้แข็งแรง มีคนสนใจเอาจริงเอาจัง ก็จะทำให้งานหรือกิจกรรมเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนในพื้นที่มีความต่อเนื่องต่อไป แม้ไม่มีโครงการแล้วก็ตาม

     “จากบทเรียนตอนที่วิเคราะห์ออกแบบโครงการนั้น เห็นจากตอนที่ทำงานเยาวชนรักแม่กลอง เด็กบางกลุ่มไม่ยอมมา เพราะมองว่าไม่ใช่งานของตัวเอง กลายเป็นงานของใครของมัน เพราะฉะนั้นตอนที่ออกแบบโครงการ เราไม่ได้ออกแบบว่าโครงการนี้ของแม่กลอง แต่ดึงกาญจนบุรี เพชรบุรี และราชบุรีเข้ามาด้วย เพื่อสะท้อนภาพการทำงานในลักษณะ “เครือข่าย” ที่มาจากหลายพื้นที่ แต่อยู่ในภูมินิเวศเดียวกัน ในส่วนของเจ้าหน้าที่ก็คิดว่าถ้าพวกเราทำกันเอง เด็กก็จะมาติดอยู่กับเรา แต่ตอนนี้ที่เราทำคือ ทุกโครงการจะต้องมีพี่เลี้ยงระดับพื้นที่ ระดับชุมชน หรือถ้ามาจากโรงเรียน มหาวิทยาลัย ก็ต้องมีคุณครูประกบมาด้วย” 

­

สร้างทีม...เพื่อสร้างพลังพลเมืองภาคตะวันตก

      ทำอย่างไรให้มีกลุ่มเด็กเข้ามาทำงาน?

      เป็นโจทย์ที่ทำให้ชิษนุวัฒน์ต้องคิดวิเคราะห์ และวางหมากในการเคลื่อนงานใหม่ เพราะเป็นการทำงานกับกลุ่มเป้าหมายใหม่ ขณะที่ตัวเขาเองมีบุคลิกที่จริงจัง รวดเร็ว ดุดัน ซึ่งอาจจะทำให้เด็กๆ กลัว จึงต้องหา “ตัวกลาง” ที่สามารถทำงานประสานกับเด็กๆ ได้ การวางตัวคนทำงานในระยะแรกจึงเป็นทีมงานคนหนึ่งที่เคยมีประสบการณ์ในการทำงานกับเยาวชนมาก่อน แต่ด้วยเพราะมีภาระในครอบครัว ทีมงานคนดังกล่าวจึงไม่สามารถทำงานต่อไปได้ คณะทำงานในโครงการจึงเป็นทีมของศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสมุทรสงครามซึ่งประกอบด้วย ปอม-กันทรากร จรัสมาธุสร อาร์ต-สุทธิลักษณ์ โตกทอง อ้วน-คำรณ นิ่มอนงค์ และพวง-พวงทอง เม้งเกร็ด ร่วมขับเคลื่อนหน้างานใหม่ด้วยกัน โชคดีที่ทีมมีข้อมูลจากการทบทวนสถานการณ์งานด้านเด็กและเยาวชน ซึ่งกลายเป็นฐานทุนที่ดีที่ทำให้คณะทำงานรู้ว่า ในพื้นที่มีงานด้านเด็กอะไรบ้าง เครือข่ายที่ทำงานด้านเด็กเป็นใครบ้าง ซึ่งข้อมูลเช่นนี้ถูกใช้ในการประชาสัมพันธ์เพื่อเชิญชวนเยาวชนเข้าร่วมสร้างทีม...เพื่อสร้างพลังพลเมืองภาคตะวันตก

ทำอย่างไรให้มีกลุ่มเด็กเข้ามาทำงาน?

เป็นโจทย์ที่ทำให้ชิษนุวัฒน์ต้องคิดวิเคราะห์ และวางหมากในการเคลื่อนงานใหม่ เพราะเป็นการทำงานกับกลุ่มเป้าหมายใหม่ ขณะที่ตัวเขาเองมีบุคลิกที่จริงจัง รวดเร็ว ดุดัน ซึ่งอาจจะทำให้เด็กๆ กลัว จึงต้องหา “ตัวกลาง” ที่สามารถทำงานประสานกับเด็กๆ ได้ การวางตัวคนทำงานในระยะแรกจึงเป็นทีมงานคนหนึ่งที่เคยมีประสบการณ์ในการทำงานกับเยาวชนมาก่อน แต่ด้วยเพราะมีภาระในครอบครัว ทีมงานคนดังกล่าวจึงไม่สามารถทำงานต่อไปได้ คณะทำงานในโครงการจึงเป็นทีมของศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสมุทรสงครามซึ่งประกอบด้วย ปอม-กันทรากร จรัสมาธุสร อาร์ต-สุทธิลักษณ์ โตกทอง อ้วน-คำรณ นิ่มอนงค์ และพวง-พวงทอง เม้งเกร็ด ร่วมขับเคลื่อนหน้างานใหม่ด้วยกัน โชคดีที่ทีมมีข้อมูลจากการทบทวนสถานการณ์งานด้านเด็กและเยาวชน ซึ่งกลายเป็นฐานทุนที่ดีที่ทำให้คณะทำงานรู้ว่า ในพื้นที่มีงานด้านเด็กอะไรบ้าง เครือข่ายที่ทำงานด้านเด็กเป็นใครบ้าง ซึ่งข้อมูลเช่นนี้ถูกใช้ในการประชาสัมพันธ์เพื่อเชิญชวนเยาวชนเข้าร่วมโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก

ปลุกพลังเยาวชน ชูวิถีคนภาคตะวันตก

   ปลุกพลังเยาวชน...ชูวิถีคนภาคตะวันตก

     เมื่อแนวคิดการทำงานและคณะทำงานลงตัว การประชาสัมพันธ์จึงเริ่มต้นขึ้น ตั้งแต่การเชิญหน่วยงานระดับจังหวัดในพื้นที่เข้าร่วมประชุมเปิดตัวโครงการ เพื่อแนะนำโครงการและขอข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมประชุม หลังจากนั้นได้จัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์กับเครือข่ายเด็กและเยาวชนที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ ซึ่งคาดหวังว่าการประชาสัมพันธ์ทั้ง 2 ครั้ง เป็นการปลุกให้หน่วยงานราชการและภาคีในพื้นที่เกิดการตื่นตัว

     ส่วนช่องทางการค้นหาเยาวชนมี 3 ช่องทางคือ กลุ่มแรกเป็นกลุ่มโรงเรียน หรือองค์กรที่ทำงานเด็กและเยาวชนที่คณะทำงานรู้จักมาก่อน ซึ่งคณะทำงานขอโอกาสเข้าไปพูดคุยและแนะนำโครงการ กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มชุมชนที่เป็นเครือข่ายงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ซึ่งคณะทำงานได้ประชาสัมพันธ์ในเวทีประชุมของเครือข่ายงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น และกลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มที่ผ่านการประชาสัมพันธ์ทั่วไป ผ่านสื่อโชเชียลมีเดียต่างๆ

“เป็นเงื่อนไขที่งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นควรต้องขยับเรื่องเด็กเยาวชน เพราะคิดว่าโครงการนี้จะทำให้การเคลื่อนไหวงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นยกระดับมากขึ้น”

     เมื่อมองย้อนกลับไปช่วงเริ่มต้น คณะทำงานสรุปบทเรียนว่า การประชาสัมพันธ์แบบทั่วไปได้ผลน้อยที่สุด เนื่องจากเข้าไม่ถึงคนที่สนใจจริงๆ ซึ่งเป็นบทเรียนที่ต้องทบทวน เพื่อปรับปรุงกระบวนการประชาสัมพันธ์ให้ดียิ่งขึ้น ส่วนการประชาสัมพันธ์ในเครือข่ายนักวิจัยท้องถิ่นค่อนข้างจะได้ผลดี ทั้งนี้เนื่องจากต่างรู้แนวทางการทำงานของกันและกันดีอยู่แล้ว เครือข่ายนักวิจัยท้องถิ่นจึงยินดีที่จะให้ลูกหลานเข้าร่วมโครงการ

     ด้วยเหตุนี้กลุ่มเยาวชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการ จึงคละเคล้าไปด้วยเด็กและเยาวชนที่หลากหลาย ทั้งนักเรียนมัธยมศึกษา เยาวชนในชุมชน นักศึกษาวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี นักศึกษามหาวิทยาลัย ซึ่งในตอนแรกคณะทำงานรู้สึกกังวลถึงความต่างของอายุในกลุ่มเยาวชน แต่เมื่อจัดกระบวนการเรียนรู้ก็เห็นว่า ความต่างของอายุเป็นประโยชน์ เพราะทำให้เด็กๆ หนุนเสริมกันและกันได้

    “เวลาที่อยู่กลุ่มเดียวกันเขาไม่ยอมกัน แต่ว่าเวลาให้คละกลุ่มกัน เห็นชัดเลยพี่ๆ ที่เรียนมหาวิทยาลัยจะเป็นผู้นำโดยธรรมชาติ ช่วยดูแลน้อง แล้วน้องก็จะฟัง อันนี้เห็นชัดว่าพี่ช่วยน้อง กลายเป็นไม่ใช่โครงการโครงการมัน แต่มันคือทีมที่มาทำด้วยกันโครงการใหญ่” พวงเล่า

     นอกจากความหลากหลายของอายุในกลุ่มเด็กและเยาวชนแล้ว ประเด็นในการทำงานก็หลายหลากเช่นกัน เพราะมีทั้งประเด็นศิลปวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม อาชีพ พื้นที่สร้างสรรค์ ฯลฯ แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา เพราะคณะทำงานเชื่อมั่นใน “กระบวนการเรียนรู้

     “เนื้องานมาแบบไหนก็ได้ เราขอให้มีเด็กเข้ามา จะทำอะไรเราให้ทำหมด แต่เรามาใส่กระบวนการระหว่างทาง เรามั่นใจว่ากระบวนการของเราจะทำให้เขาได้พัฒนาศักยภาพเขาขึ้นมาได้” ชิษนุวัฒน์บอกอย่างมั่นใจ

     ดังนั้น เยาวชนทุกกลุ่มที่เสนอตัวเข้ามาจึงไม่มีการคัดทิ้ง ยกเว้นแต่ว่า กลุ่มเยาวชนจะถอนตัวออกไปเอง เมื่อร่วมเรียนรู้แล้วค้นพบว่า ไม่ใช่ทาง เพราะตลอดระยะเวลาโครงการ คณะทำงานได้ “เติม” กระบวนการเรียนรู้เรื่องสำนึกความเป็นพลเมืองและการเรียนรู้ท้องถิ่นผ่านการเวิร์คช็อปถึง 5 ครั้ง

­

     เยาวชนนับ 1 สร้างสำนึกปลุกพลเมืองภาคตะวันตก

    จังหวะของการขับเคลื่อนงานโครงการของกลุ่มเด็กและเยาวชนภาคตะวันตก ถูกกำหนดด้วยการ เวิร์คช็อปที่จัดโดยคณะทำงานร่วมกับกลไกพี่เลี้ยง เพราะจำนวนโครงการรวม 20 โครงการ การจะลงหนุนเสริมในพื้นที่อย่างทั่วถึงจึงทำได้ค่อนข้างยาก อีกทั้งการจัดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน ยังเป็นกลยุทธ์หนึ่งของการสร้างความเป็นเครือข่ายพลังเด็กและเยาวชนภาคตะวันตก

    “สิ่งที่ออกแบบเรียกว่า การเรียนรู้ไปทีละบันได ซึ่งเราสร้างเงื่อนไขว่า ต้องมาทุกครั้งเพราะว่าการออกแบบของเราขั้นที่ 1 ต้องผ่าน แล้วก้าวไปทีละขั้น เพราะฉะนั้นการเรียนรู้ต้องผ่านทั้งเด็กและพี่เลี้ยง” ชิษนุวัฒน์บอก

    เยาวชนนับหนึ่ง สร้างสำนึกปลุกพลเมือง คือเวิร์คช็อปแรก แต่คณะทำงานที่แยกจัด 2 ครั้ง เพราะกลุ่มเยาวชนว่างไม่ตรงกัน เวทีนี้มีเป้าหมายเพื่อ “สร้างการเรียนรู้เรื่องความเป็นพลเมือง” ผ่านฐานการเรียนรู้เรื่อง ภูมินิเวศน์ภาคตะวันตก วิเคราะห์ฐานทุนของชุมชน โดยเน้นกระบวนการเรียนรู้ที่สนุกสนานเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ว่า อยากกลับไปทำอะไรเพื่อชุมชนบ้าง พร้อมทั้งจัดกระบวนการพูดคุยกับพี่เลี้ยงในชุมชน เพื่อชี้แจงบทบาทของพี่เลี้ยงว่าต้องทำอะไรอย่างไร

    “เพราะว่า concept คำว่าหน้าที่พลเมืองมันต้องเริ่มจากตัวเองก่อน ผมว่าหลักคิดที่จะทำให้เกิดเรื่องพวกนี้ได้ต้องเริ่มที่ตัวเอง หลักคิดก็คือจะทำให้เด็กรู้สึกว่าเขาเป็นจุดเริ่มต้นที่ต้องทำอะไรเพื่อคนอื่น แต่ว่าเขาต้องเริ่มจากตัวเองก่อน เพราะส่วนใหญ่เด็กจะกันปัญหาออกจากตัวเองก่อน โดยที่ไม่ได้กลับมามองว่าฉันนี่แหละคือต้นทางของการที่ไม่ทำให้เกิดปัญหา ต่อไปถ้าเราทำงานเรื่องนี้หัวใจสำคัญคือเริ่มจากตนเอง ฉะนั้นต้องเริ่มจากการปฏิบัติตนของตัวเอง” ชิษนุวัฒน์กล่าวย้ำถึงแนวคิดที่ได้ปลูกฝังแก่เยาวชนในเวทีนับ 1

    สิ่งที่กลุ่มเด็กและเยาวชนได้เรียนรู้จากการเข้าร่วมในเวทีนี้คือ “คำถามที่กระตุกให้ฉุกคิด” ว่า เขารู้เรื่องของชุมชนของตนเองดีหรือยัง นอกจากนี้กระบวนการที่เปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยน ถกเถียงกันอย่างเต็มที่ยังทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ถึงการยอมรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น

     โจทย์เรื่องของประเด็นในการทำงานของโครงการจึงถูกนำไปดำเนินการต่อ โดยบางกลุ่มก็ทบทวนความชัดเจนของประเด็นการทำงาน บางกลุ่มก็ต้องวิเคราะห์ว่าขอบเขตของงานที่ทำจะสอดคล้องกับศักยภาพหรือไม่ กว้างไป ไกลตัวไปหรือเปล่า เพื่อที่จะทอนกลับมาเลือกทำงานในพื้นที่บ้านตนเอง บางกลุ่มก็ไปศึกษาข้อมูลของพื้นที่ที่จะทำงานเพิ่มเติม เพราะไม่เคยรู้จักบ้านตนเองอย่างลึกซึ้งมาก่อน เป็นต้น

­

    เยาวชนนับ 2 ยั่วให้คิด ยุให้ทำ

    เวทีนี้เป็นการเติมทักษะการบริหารจัดการโครงการ (Project Management) การเก็บข้อมูล เพื่อพัฒนาโครงการให้ชัดเจน ดำเนินการได้จริงในระยะเวลา ศักยภาพ และงบประมาณที่จำกัด เนื่องจากเป็นกระบวนการที่ต้องทำอย่างละเอียด จึงแบ่งจัดถึง 3 ครั้ง เพื่อให้คณะทำงานสามารถทุ่มเทความสนใจให้กับกลุ่มเยาวชนแต่ละโครงการได้อย่างเต็มที่

     คราวนี้มีการจัดการให้พี่เลี้ยงในชุมชนเฝ้ามองอยู่ห่างๆ เพราะต้องการรู้ว่าเด็กคิดอะไร ต้องการอะไร เป็นความคิดจากเด็กจริงๆ เพราะถ้าถามพี่เลี้ยง พี่เลี้ยงก็จะพูดเยอะ ในขณะเดียวกันก็อยากให้พี่เลี้ยงได้เรียนรู้วิธีการตั้งคำถามที่จะกระตุ้นให้เด็กๆ คิดอย่างต่อเนื่องเป็นระบบ ซึ่งพี่เลี้ยงที่เป็นครูอาจารย์สะท้อนตรงกันว่า “กระบวนการนี้สอนให้รู้ว่าเราต้องเงียบบ้าง ทำให้เราเห็นว่าพอเราหยุด เราได้อะไร เห็นอะไร” ซึ่งผลต่อเนื่องคือ นำไปสู่การปรับท่าทีในการสอนที่รับฟังเด็กมากขึ้น จ้ำจี้จ้ำไชน้อยลง 

     กระบวนการในเวิร์คช็อปครั้งนี้มีความเข้มข้นเชิงเนื้อหามาก เพราะมีการซักไซ้ไล่เรียงจนเยาวชนหลายกลุ่มเกิดอาการเครียด ดั่งที่อาจารย์พยอม ยุวะสุตสะท้อนว่า “ได้กระบวนการการจัดกิจกรรม ตัวกระบวนการเห็นแน่นอน เพราะเราสังเกตว่า Node สร้างกิจกรรมอย่างไรให้เด็กคิด โดยเฉพาะเรื่องของการพัฒนาโจทย์โครงการ ที่ได้ยินเด็กหลายคนบ่นว่า พี่ๆ ป้าๆ หลายคนช่วยกันรุมบอก จนมึนไปตามๆ กัน”

     แต่ผลลัพธ์ที่เกิดคือ แต่ละกลุ่มมีความชัดเจนในประเด็นงานที่จะทำมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็เป็นการตรวจสอบให้เหลือแต่กลุ่มที่สนใจทำงานจริงๆ การได้ผ่านทุกข์ผ่านสุขร่วมกัน ทำให้คณะทำงานกับกลุ่มเยาวชนสนิทสนมกันมากขึ้น จนกลายเป็นความผูกพันในการติดตามหนุนเสริมการทำงานร่วมกันต่อไป

­

     

     เยาวชนนับ 3 หยั่งรากพลเมือง

     เป็นการนำเด็กๆ มาทำกิจกรรมเพื่อส่วนรวมร่วมกันก่อน สร้างสำนึกด้วยการปลูกป่า “ปลูกต้นสำนึกพลเมือง ทำความดีถวายพ่อหลวง” ถือโอกาสช่วงวันพ่อเหมือนเป็นจุดเริ่มต้นว่า หลังจากนี้แต่ละโครงการจะไปทำงานตามโครงการของเขา เหมือนตอกย้ำให้เขารู้ว่า ว่าตอนนี้จะเริ่มโครงการแล้วนะ เรียกว่าเป็นการสร้างเป้าหมายร่วมกันให้กับเด็กๆ ผูกความสัมพันธ์กันไว้ว่า พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่ทำงานร่วมกัน และจะต้องมีการกลับมาบอกเล่ากับเพื่อนๆ ว่าทำอะไรไปถึงไหน เพราะว่าโครงการพลังเด็กและเยาวชนฯ ตั้งแต่แรกเริ่ม มีเบื้องหลังว่า ไม่อยากให้เด็กแยกกันเป็นโครงการ แต่อยากให้รู้สึกว่าทั้ง 20 โครงการมีความเชื่อมต่อกัน

    “เหตุผลที่ออกแบบเวทีนี้เพราะโครงการนี้มีเป้าหมายร่วมว่า พวกเขาคือเครือข่ายภาคตะวันตก ไม่ใช่โครงการของฉันหรือโครงการของเธอ แต่เราทำเพื่อภูมิภาค ไม่ได้ทำเพื่อตัวเองโครงการเดียว แต่เป็นความรับผิดชอบร่วมกัน ซึ่งในเวทีเราก็พยายามเล่าให้น้องๆ เห็นความเชื่อมโยงว่าต้นน้ำแม่กลองมาจากเมืองกาญจน์ มันมาถึงดอนหอยหลอด ปลูกป่าดอยหอยหลอดมันก็เกี่ยวข้องกับเด็กเมืองกาญจน์ และในวันนั้นก็มีการลงนามสัญญาและชี้แจงเรื่องหลักฐาน เอกสารต่างๆ ในช่วงเช้า ส่วนช่วงบ่ายก็ไปปลูกป่ากัน” ชิษนุวัฒน์บอกแนวคิดการออกแบบเวที

     การบริหารจัดการงบประมาณโครงการเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ ที่โครงการต้องการให้กลุ่มเยาวชนแต่ละทีมได้ฝึกฝนวินัยในการใช้จ่าย จึงเซ็ตระบบให้มีเงื่อนไขของการเปิดบัญชีร่วมของสมาชิกในทีม เพื่อสร้างการรับรู้ร่วมกัน การให้เด็กบริหารการเงินเองเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ต่างจากโครงการอื่นๆ ที่มักมีการบริหารการเงินโดยผู้ใหญ่

     “เราไม่ได้กลัวครูหรือพี่เลี้ยงจะตุกติก แต่ว่านี่เป็นหลักคิดตั้งแต่แรก เราเชื่อว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องหนึ่งที่สำคัญ ต้องให้เด็กได้มีโอกาสเล่นของจริง จับเงินจริง ผิดพลาดบกพร่องอะไรบ้าง ก็ถอดบทเรียนเพื่อเป็นการเรียนรู้ร่วมกัน”

     การเซ็นสัญญาโครงการจึงเป็นสัญญาที่ผูกมัดที่ส่งผลต่อความรับผิดชอบของกลุ่มเยาวชนอย่างชัดเจน 

­

      เยาวชนนับ 4 Check Point พลเมือง

      คือเวทีสรุปบทเรียนครึ่งโครงการว่า แต่ละกลุ่มทำงานไปถึงไหน โดยมีเบื้องหลังคือ “กระตุ้น” การทำงานของกลุ่มเยาวชนที่เฉื่อยชา ครั้งนี้ทีมออกแบบกระบวนการใหม่ ไม่ใช้วิธีนำเสนอรายงานความก้าวหน้าที่ละทีม แต่เป็นการคละกลุ่มเพื่อเล่าสู่กันฟังในกลุ่มย่อย เพราะเห็นได้ชัดเจนว่า กลุ่มเยาวชนที่ทำงานมาจาก 2 ฐานคือ ฐานสถาบันการศึกษา และฐานชุมชน ซึ่งน้องที่อยู่ในระบบการศึกษามักคุ้นเคยกับการนำเสนออยู่แล้ว แต่เจตนาของโครงการคือต้องการพัฒนาทักษะเด็กทุกคน ไม่ใช่พัฒนาแบบกลุ่ม จึงต้องสลายทีมให้แยกกันนำเสนอ

      “ในแง่กระบวนการเรียนรู้ในฐานะที่เราทำงานกับเด็ก ทำให้เราเห็นว่า บางครั้งเงื่อนไขการนำเสนอทำให้เห็นเด็กเก่งเดี่ยว” ชิษนุวัฒน์เล่า

      “ตอนนั้นคุยกันว่าอยากได้แบบสดๆ ก็เลยคละกลุ่ม แล้วให้น้องเล่า เราอยากเช็คด้วยว่า ที่ผ่านกิจกรรมมา เป้าหมายที่เด็กแต่ละทีมทำเหมือนกันหรือไม่ แล้วนำเสนอไปในทิศทางเดียวกันไหม” ปอมเสริม

     ผลของการสร้างเงื่อนไขให้ทุกคนได้บอกเล่า ผลักดันให้เด็กที่พูดไม่เก่งได้มีโอกาสพูด แม้จะทำได้ไม่ดีเท่ากับกลุ่มเด็กที่พูดเก่ง แต่พวกเขาก็สามารถสื่อสารให้เพื่อนๆ เข้าใจได้ว่า เขากำลังทำอะไรอย่างไร

     การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เช่นนี้ กลายเป็นการ “จุดไฟ” ให้กลุ่มที่ยังเฉยชากระตือรือร้น ลุกขึ้นมาทำโครงการ หลังจากที่ได้เห็นเพื่อนๆ กลุ่มอื่นมีความคืบหน้าในการทำงานไปมากแล้ว บรรยากาศหลังการเวิร์คช็อปคือ การลุกขึ้นมาทำงานอย่างกระฉับกระเฉงของกลุ่มที่เคยเฉื่อยชาหลายๆ กลุ่ม

­

     เยาวชนนับ 5 Citizen Network

     เป็นเวทีนำเสนอผลการดำเนินโครงการ และรับคำแนะนำจากผู้ทรงคุณวุฒิ เติมทักษะการคิดเชิงระบบ (System Thinking) และสานพลังสร้างเครือข่ายเยาวชน Active Citizen ภาคตะวันตก ซึ่งมีโจทย์ท้าทายให้กลุ่มเยาวชนแต่ละกลุ่มออกแบบสร้างสรรค์วิธีการนำเสนอที่ไม่ใช่การใช้ Power Point Presentation หรือการสรุปเนื้อหาลง Flip chart แล้วมานำเสนอ ดังนั้นบรรยากาศของการนำเสนอจึงคึกคักด้วยความหลากหลายของแนวคิดและรูปแบบ เช่น คลิปวิดีโอ การแสดง ฯลฯ

­

     Learning Festival: ปลุกพลังเยาวชนชูวิถีคนตะวันตก

     หลังกระบวนการ “ปลุกยักษ์” ภาคตะวันตกเสร็จสิ้นลง ทีมพี่เลี้ยงโครงการจัดให้มีเวทีนำเสนอผลการดำเนินงานของน้องทั้ง 20 โครงการ โดยเป้าหมายของการจัดงานครั้งนี้ทีมงานบอกว่ามี 2 ส่วนด้วยกันคือ 1.ต้องการเช็คศักยภาพของน้องในโครงการว่า 1 ปีที่ผ่านมาพวกเขามีความพร้อมที่อยู่ภายใต้สถานการณ์ที่กดดันได้หรือไม่ เช่น ทำงานเป็นทีมหรือเป็นเครือข่ายได้ไหม 2.สื่อสารผลการทำโครงการสู่สาธารณะ นั่นหมายความว่ากระบวนการที่น้องทำจะถูกเหวี่ยงออกสู่สาธารณะด้วยการที่น้องมาคิดทำอะไรร่วมกัน ออกแบบกิจกรรมร่วมกัน ที่พิสูจน์ว่าพวกเขามีความสัมพันธ์กันในลักษณะของการเป็นเครือข่าย ร่วมเรียนรู้หลายเรื่องทั้งความเสียสละ การร่วมไม้ร่วมมือกัน การยอมรับฟังคนอื่นภายใต้สถานการณ์ที่วุ่นวายว่าพวกเขาสามารถรับมือได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าเขาทำได้เขาก็จะได้รับการชื่นชมจากการสื่อสารสาธารณะในครั้งนี้

     “ลึกๆ จริงๆ แล้วผมอยาก “สร้างเครือข่ายเยาวชนภาคตะวันตก” ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น เพราะที่ผ่านมาภูมิภาคนี้มีการสร้างพลเมืองทั้งรุ่นใหญ่ รุ่นกลาง และรุ่นเล็กไว้บ้างแล้ว แต่นับวันคนเหล่านี้เหลือน้อยลงทุกที ขนาดผมสร้างกันมานานยังเหลือแค่ไม่กี่คน แล้วถ้าเราไม่สร้างพลเมืองรุ่นเยาว์ไว้เลยอนาคตภูมิภาคนี้จะเป็นอย่างไร เมื่อมีโครงการฯ นี้เข้ามา จึงตอบโจทย์เรื่องการสร้างคนให้พื้นที่ได้ อย่างน้อยๆ ก็เกิดเป็นเครือข่ายเยาวชน ซึ่งในอนาคตหากมีสถานการณ์อะไรเกิดขึ้น เด็กเยาวชนเหล่านี้ก็ถูก “ปลุกพลัง” ขึ้นมาช่วยเหลือชุมชนสังคมต่อไป” ชิษนุวัฒน์ตอกย้ำเบื้องหลังแนวคิดการออกแบบงาน

     ชิษนุวัฒน์บอกต่อว่า ด้วยสไตล์การทำงานที่ไม่ชอบโชว์เดี่ยว เขาชอบให้คนมารุมล้อม มาช่วยกันทำ ดีไม่ดีไม่ดีไม่รู้ เพราะเราทำคนเดียวไม่มีพลัง แต่หากมีเพื่อนมาร่วมทำด้วยกัน รับรู้ด้วยกัน งานจะมีพลังมากกว่า ยิ่งเรามีลูกน้อง เราก็ต้องฝึกเขา เก่งบ้าง ไม่เก่งบ้าง ไม่เป็นไร เพราะเรามีหน้าที่สร้างคน แต่ถ้าเราทำคนเดียว เก่งคนเดียว คิดเองทำเอง คงไม่ใช่ แต่เรามองว่าเราจะต้องดึงศักยภาพของทีมทำงานและของน้องๆ ในโครงการออกมาให้ได้ “พี่สุรจิต ชิรเวทย์ย้ำเสมอว่า คนเราต้องยอมรับกันด้วยการทำงาน” 

     ด้วยเหตุนี้การออกแบบงานครั้งนี้เขาจึงให้น้องคิดทำเองเกือบทั้งหมด เขาทำหน้าที่นั่งดู เห็นอะไรไม่เข้าที่ไม่เข้าทาง หรือเห็นน้องๆ จะตกเหว ก็ต้องคอยช้อน คอยกระตุก ต้องเอื้อมมือไปดึงไว้ แม้เราจะเปิดพื้นที่ให้เขาทำ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ปล่อยทั้งหมด บางเรื่องถ้าไม่ล้ม เจ็บนิดหน่อยเขาก็จะไม่รู้ แต่ขณะเดียวกันเราก็ต้องยอมรับว่าถ้าพลาดเราก็ต้องรับผิดชอบด้วย ถามว่าเสี่ยงไหมก็เสี่ยงนะ แต่เราต้องคิดอุดช่องโหว่ให้มากที่สุด ถ้าผิดพลาดก็ต้องยอมรับ

     ชิษนุวัฒน์ย้ำว่า เหตุที่เขาต้องคอยฉุดดึงรั้งน้องๆ ขึ้นมา เพราะเข้าใจดีว่า บางครั้งเด็กก็ต้องการความสำเร็จที่เกิดจากตัวเอง เราในฐานะผู้ใหญ่ต้องคอยกระตุกกระตุ้นว่าบางเรื่องเขาอาจจะเห็นไม่รอบ ต้องมีผู้ใหญ่คอยช่วยมอง ซึ่งพอครั้งหลังๆ น้องเขาก็จะเดินกลับมาถามเองว่าอย่างนี้ดีไหมๆ เราก็ต้องถามต่อว่าที่เขาเห็นว่าดีนั้นดีเพราะอะไร เป็นคำถามที่เราต้องฝึกเด็กต่อไปเรื่อยๆ ให้น้องเรียนรู้จากการทำงานจริง เปิดพื้นที่เปิดโอกาสให้เขาทำ แต่เราต้องไม่ปล่อยให้เขาพลาดจนลงไม่ได้

     “การทำงานกับเด็กยากนะ เพราะเราต้องคอยมอง คอยดู คอยจับอารมณ์ความรู้สึกเขาต้องตลอดเวลา เพื่อให้เขาไม่รู้สึกโดดเดี่ยว รู้สึกว่ามีคนให้กำลังใจ ต้องมีกระบวนการตบๆ จูบๆ บางทีก็โอ๋บ้าง ดุบ้าง คนเป็นพี่เลี้ยงต้องมีสมดุล โหดบ้าง ใจดีบ้าง ช่วยบ้าง”

     ชิษนุวัฒน์เล่าต่อว่า แม้งานนี้เขาจะให้น้องคิดออกแบบงานเอง แต่เขาก็วางกรอบงานไว้เช่นกัน ใช้วิธีโยนแนวคิดให้เด็กไปคิดขยายผลต่อ บางเรื่องก็นำมาจากการได้ไปศึกษาดูงานของภาคีเครือข่าย ตัวอย่างเช่นกิจกรรม“ปั่น ปั่น เรียนรู้ท้องถิ่น ปลุกพลังพลเมือง” ที่มี “แรงบันดาลใจ” มาจากกิจกรรม Bike for MOM และกิจกรรมที่งานละอ่อนน่าน ฮักบ้านเกิดที่มีการเดินตุง ทำให้เขาเห็นเรื่องความเคลื่อนไหวนั้นมีพลังมาก เลยนำมาออกแบบเป็นกิจกรรมให้คนที่เข้าร่วมงานได้ไปเรียนรู้วิถีชุมชนคนตะวันตก และเป็นการกระตุ้นคนในชุมชนให้รับรู้ว่าขณะนี้ในพื้นที่กำลังมีการจัดงานอะไรอยู่ ส่วนพิธีเปิดงานก็ได้ไอเดียมาจากจังหวัดน่านเช่นกันว่า การใช้ศิลปวัฒนธรรมมาเปิดงานจะทำให้คนดูรู้สึกฮึกเหิมมีกำลังใจ แต่ต้องเชื่อมโยงกับภูมิภาคตะวันตกและเชื่อมโยงกับงานที่เด็กทำ ร้อยให้เป็นเรื่องเดียวกันให้ได้

     สำหรับนิทรรศการก็ให้เด็กคิดเอง เพราะเป้าหมายโครงการคือ “เด็กคิดเอง ทำเอง” โครงการทำโปสเตอร์ให้ 1 แผ่นก็จริง แต่วิธีการนำเสนอเขาต้องคิดสร้างสรรค์เอง เพราะฉะนั้นการนำเสนอของน้องจึงออกมาจากอินเนอร์ไม่ได้มาจากการท่องจำ ซึ่งกว่าจะออกมาอย่างนี้ได้ก็ต้องผ่านกระบวนการออกแบบเหมือนกัน เพื่อทำให้ทุกคนเห็นภาพร่วมกัน ส่วนเวทีในวันที่ 20 กันยายน 2558 ที่จัดขึ้นที่กนกรัตน์รีสอร์ทนั้น ตอนแรกไม่ได้ออกแบบไว้เช่นนี้ แต่มาเปลี่ยนเอานาทีสุดท้ายด้วยปัญหาคือสภาพอากาศ เขาจึงพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส ใช้เวทีวันนี้ “เหวี่ยง” เด็กไปสู่การเริ่มต้นโครงการในปีที่ 2 นำเด็กรุ่นเก่าและรุ่นใหม่มาทำกิจกรรมร่วมกัน เป้าหมายคือให้เด็กรุ่นเก่ารู้สึกว่าเขามีของ ส่วนเด็กรุ่นใหม่เมื่อเห็นพี่ทำได้ก็อยากทำบ้าง คือถ้าจัดแบบเดิมเราได้เรื่องสื่อสารสาธารณะ แต่เมื่อต้องย้ายมาจ้ดในสถานที่ปิดเราก็ต้องได้เรื่องสาธารณะเหมือนเดิม แต่เป็นสาธารณะอีกมุมหนึ่งเท่านั้นเอง

     “เวทีเสวนาที่จัดขึ้นผมก็อยากเผยแพร่สู่สาธารณะด้วยเช่นกัน เพราะผมเห็นผลชัดเจนว่าโครงการนี้ตอบโจทย์เรื่องการปฏิรูปการศึกษาอย่างแท้จริง ครูที่เข้าร่วมก็เข้าใจกระบวนการ ชุมชนก็ต้องเข้ามามีส่วนร่วม เมื่อเห็นประเด็นตรงนี้เราก็เลยอยากสื่อสารเรื่องนี้ออกสู่สาธารณะ ด้วยเหตุนี้คนที่เชิญมาร่วมวงเสวนาก็ต้องเป็นคนสาธารณะที่สามารถเป็นกระบอกเสียงให้โครงการได้ จึงเชิญ รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ มาร่วมเวทีด้วย”

     วันนี้การปลุกพลังเยาวชนชูวิถีคนตะวันตกลงแล้ว ถามว่าตอบโจทย์ที่ตั้งไว้หรือไม่ ชิษนุวัฒน์บอกว่า ได้ ซึ่งสิ่งที่ได้มากที่สุดคือเรื่องความเป็นเครือข่ายที่เขามั่นใจว่าในอนาคตหากเกิดสถานการณ์ขึ้นในภูมิภาคตะวันเขาจะได้เครือข่ายเยาวชนมาช่วยขับเคลื่อนอย่างแน่นอน ต้องขอบคุณทุกคนที่เกี่ยวข้องทั้งทีมพี่เลี้ยงโครงการ พี่เลี้ยงชุมชน เด็กๆ ในโครงการ ผู้ใหญ่ในชุมชน ภาคีเครือข่าย รวมทั้งเจ้าหน้าที่มูลนิธิสยามกัมมาจล ทุกคนล้วนเป็น “จิ๊กซอว์” ที่ทำให้งานครั้งสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

­

     สร้างทีมทำงาน...กลไกพัฒนาเยาวชนภาคตะวันตก

     เพราะเป็นองค์กรที่ทำงานหลายหน้า การออกแบบการทำงานต่างๆ จึงต้องมีความรัดกุม และสอดคล้องกัน เมื่อรับงานโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตกเข้ามา การออกแบบการทำงานของคณะทำงานในช่วงแรกจึงอิงกับการจัดการเชิงพื้นที่ของงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นที่แต่ละคนดูแลอยู่ โดยมอบหมายให้ดูแลโครงการเยาวชนตามพื้นที่งานวิจัยเดิมเป็นหลัก กล่าวคือ อ้วนดูแลพื้นที่ราชบุรีและกาญจนบุรี ปอมดูแลพื้นที่เพชรบุรีและงานสื่อสารประชาสัมพันธ์ ส่วนอาร์ตดูแลพื้นที่สมุทรสงคราม แต่เมื่อทำงานไปได้ระยะหนึ่งก็จะมีการสลับพื้นที่บ้างในกรณีที่เจ้าของพื้นที่ไม่ว่าง และต่อมาการดูแลโครงการเยาวชนเริ่มเปลี่ยนเป็นใช้ความสนิทระหว่างพี่กับน้องแทน 

     “ช่วงหลังงานเรามีงานหลายหน้า เพราะฉะนั้นคนที่ดูแลจึงสลับสับเปลี่ยนกันไปตามสถานการณ์ คนที่อยู่ก็ลงไปตามพื้นที่แทน พอเป็นอย่างนี้บ่อยๆ เด็กจะติด ก็เลยเปลี่ยนไปโดยปริยาย” อาร์ตอธิบายเพิ่ม

     อย่างไรก็ตาม การดูแลของพี่และน้อง เมื่อต้องลงรายละเอียดในการทำงานมากขึ้น เป็นธรรมดาที่จะต้องเกิดปัญหา ซึ่งต้องใช้ความสัมพันธ์บางอย่างเข้ามาเพื่อคลี่คลาย ระหว่างความสัมพันธ์ของคณะทำงานบางคนกับน้องในโครงการบางคน ก็ต้องเปลี่ยนคนดูแลเช่นกัน หรือบางทีเยาวชนบางกลุ่มถูกจริตการทำงานกับคณะทำงานบางคนก็จะยึดติดกับคนๆ นั้น โดยเฉพาะจะติดพี่เลี้ยงตั้งแต่ช่วงที่เขียนโครงการร่วมกัน เด็กก็จะติดคนนั้นเพราะพี่เห็นงานโครงการมาตั้งแต่ต้น

     “วิทยาลัยเกษตร คนอื่นจะไม่ไปเลย เพราะว่าน้องไม่ฟัง โทรไปก็เฉยๆ ผมต้องดูเอง ความสัมพันธ์ที่เป็นแบบนี้เพราะเราไปตามงานแบบไม่ได้ไปตามงาน เราไปถามความเป็นอยู่เขาว่าอยู่ยังไง ทำอย่างนี้เป็นยังไงบ้าง แล้วค่อยเชื่อมไปว่า ทำกิจกรรมถึงไหนแล้ว ถ้าน้องทำไม่ได้ตามแผนก็ไม่ได้ไปว่าน้อง แต่พยายามคุยว่ากิจกรรมที่คุณทำถ้าดูตามแผนอยู่ขั้นตอนไหน น้องก็จะได้ไม่รู้สึกว่าเราไปกดดันเยอะ เพราะว่าน้องวิทยาลัยเกษตรจะแตกต่างกับที่อื่นคือถ้าไม่เอาก็ไม่เอาเลย ไม่กล้าแสดงออก ถ้าไปตามว่าไปถึงไหน 1 2 3 4 เขาไม่ทำ เวลาโทรไปก็คุยเรื่องอื่นก่อน เน้นเรื่องสิ่งที่เขาทำแล้วค่อยดึงเชื่อมมาว่ามันอยู่ในแผนยังไง” อ้วนเล่าสถานการณ์

     แต่เครื่องมือที่คณะทำงานใช้ร่วมกัน คือ การใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือสร้างความสัมพันธ์ และติดตามความคืบหน้าของงาน ดังนั้น พี่ทุกคนจะเป็นเพื่อนกับน้องทั้งในเฟสบุ๊ค และไลน์ ทั้งที่เป็นส่วนตัวและของกลุ่ม

    เครื่องมือในการทำงานที่สำคัญอีกส่วน คือ ตัวโครงการพลังเด็กและเยาวชนฯ ทั้งโครงการของคณะทำงานและโครงการของกลุ่มเยาวชนที่เป็นเสมือนคัมภีร์ที่ทุกคนต้องทำความเข้าใจ ทั้งเนื้องาน เวลา และงบประมาณ เนื่องจากต้องออกแบบกระบวนการหนุนเสริมกลุ่มเยาวชนและพี่เลี้ยงในชุมชน

     “เราเห็นภาพรวมทั้งหมด ตั้งแต่เขียน proposal ที่ทีมงานเขียนกันคนละท่อนแล้วเอามาประกอบร่างกัน ทำให้เห็นทั้งกรอบของงบประมาณและแผนกิจกรรม ทำให้เราเห็นภาพโครงการชัดขึ้นในการมองงาน” อาร์ตเล่า

     ซึ่งชิษนุวัฒน์เสริมว่า นี่คือ “หัวใจ” ของการทำงานเป็นพี่เลี้ยงกลุ่มเยาวชน 

     “เราคิดว่าพี่เลี้ยงต้องทำการบ้านกับตัวโครงการของน้อง คืออย่ารู้แค่ผิวเผิน ต้องเห็นแผนของน้อง วิเคราะห์แผนของน้อง แล้วเวลาลงไปในพื้นที่ ถ้าเขาไม่เข้าใจว่าน้องกำลังจะเดินไปขั้นตอนไหนอย่างไร แล้วตอนนี้น้องเดินถึงไหน เขาก็จะไม่เข้าใจว่าเขาควรจะหนุนเสริมน้องอย่างไร เพราะฉะนั้นพี่เลี้ยงต้องทำการบ้าน เพื่อจะสามารถตั้งคำถามเพื่อสาวลึกลงไปเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ได้”

     น้องเรียนรู้...พี่ก็เรียนรู้

ปลุกพลังเยาวชน ชูวิถีคนภาคตะวันตก

     การทำงานของคณะทำงานมีการจัดชั้นของการทำงานที่เสริมกัน โดยมีปอม อาร์ต อ้วนทำงานเป็นพี่เลี้ยงประกบกลุ่มเยาวชน พวงทำหน้าที่สนับสนุนด้านเอกสารรายงาน มีชิษนุวัฒน์เป็นคนกุมสภาพการทำงาน น้ำหนักของการทำงานจึงตกอยู่ที่ 3 หนุ่มที่จะต้องทำตั้งแต่การออกแบบกระบวนการเรียนรู้ให้กับน้องๆ

     การมอบหมายให้อ้วน อาร์ต ปอม เป็นหลักในการทำงาน เพราะชิษนุวัฒน์มีโจทย์เรื่องของการพัฒนาทีมงานอยู่เบื้องหลัง ด้วยที่ผ่านมางานส่วนใหญ่เขาเป็นคนกุมสภาพและออกแบบกระบวนการเองเกือบทั้งหมด ซึ่งกลายเป็นจุดอ่อนที่ทำให้ทีมงานไม่ได้พัฒนาศักยภาพเท่าที่ควร ดังนั้นในการดำเนินงานโครงการพลังเด็กและเยาวชนฯ จึงเป็นโอกาสดีที่เขาจะได้พัฒนาศักยภาพของเด็กและเยาวชนในภาคตะวัน รวมทั้งพัฒนาศักยภาพและทักษะของทีมงานไปด้วยพร้อมกัน 

     “มันเป็นพื้นที่ที่เขาจะได้ฝึกเรื่องนี้ ฉะนั้น เวลาประชุมเราก็จะบอกว่าไปออกแบบมา แล้วเอามาให้ดู ซึ่งพวกเขาก็ทำได้ดี อันไหนที่ยังไม่ดีก็ช่วยกันปรับใหม่ เราคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้ทีมงานเติบโตทั้งในหน้าที่การงานและจิตใจ พวกนี้เขามีความรับผิดชอบสูงอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นโครงการนี้ความสำเร็จที่เกิดขึ้นแทบจะไม่ได้มาจากเราเลย ต้องยกเครดิตให้พวกเขา” ชิษนุวัฒน์เล่า

     ปอม อ้วน อาร์ต ซึ่งในอดีตไม่ค่อยได้ทำงานกระบวนการมากนัก เพราะมีทีมงานคนอื่นรับผิดชอบ ทั้ง 3 คนจึงอยู่ในภาวะอ่อนแอเชิงกระบวนการ การที่พวกเขาต้องเข้ามารับผิดชอบงานกระบวนการ ซึ่งต้องมีการออกแบบทั้งเนื้อหาและสันทนาการ โดยมีเวทีเวิร์คช็อปของโครงการพลังเด็กและเยาวชนฯ เป็นที่ฝึกฝนและขัดเกลาจนทักษะในการจัดกระบวนการพัฒนาขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และเป็นบทเรียนที่ทำให้ชิษนุวัฒน์ค้นพบ ช่องทางการพัฒนาศักยภาพและทักษะในการทำงานของทีมงาน

     “พวกเขาอ่อนประสบการณ์เรื่องการเล่นเกม การออกแบบกระบวนการ เราต้องมาทำการบ้านให้ แต่ถ้าเรารุกมากเขาก็กดดัน เลยให้เขาออกแบบกระบวนการทั้งสันทนาการและเนื้อหาไปด้วยกัน ถึงวันนี้มั่นใจว่าใครจะอยู่ใครจะไป มันฝึกใหม่ได้ รู้แล้วว่าจะฝึกยังไง อันนี้ชัดเจนเลย” ชิษนุวัฒน์สะท้อนบทเรียน

     นอกจากการออกแบบกระบวนการเรียนรู้รายครั้งแล้ว การประชุมประจำเดือนของศูนย์ประสานงานฯ ซึ่งเป็นการติดตามความก้าวหน้าของงานต่างๆ ที่ขับเคลื่อนอยู่ ถือเป็น “เวทีภายใน” ที่ทีมงานได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน โดยจะนำแผนงานของโครงการต่างๆ ออกมาคลี่ แล้วให้แต่ละคนวิเคราะห์โครงการที่ดูแลอยู่ทั้งหมดว่า แต่ละโครงการอยู่ในขั้นไหน เพื่อวางแผนการทำงานในระยะต่อไปว่าจะต้องหนุนเสริมกันอย่างไร

     “เรามีหน้าดูแผนเป็นหลัก แล้วพอเห็นแผนแบบนี้ช่วงระยะเวลา 1 เดือนที่จะถึงเราจะต้องทำอะไรบ้าง ช่วงแรกเริ่มทีมพวกผมจะคุยเยอะ เพราะว่าจะต้องออกแบบกิจกรรมเล็กๆ ปลีกย่อย การเตรียมเอกสาร แต่ว่าถ้าจะมีเวทีก็จะนัดทีมทำงานพื้นที่เขามาร่วมด้วย ช่วงที่เราเตรียมทำกิจกรรมใหญ่แล้วก็จะดึงทีมนั้นมาช่วยด้วย แต่ถ้าเป็นกิจกรรมปลีกย่อยเราจะคุยกันในทีม” อ้วนเล่า 

     เงื่อนไขของการมีงานหลายหน้า การรับรู้งานของทีมร่วมกันจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้คณะทำงานหนุนเสริมกันและกันได้ถูกจังหวะจะโคน ตัวอย่างของข้อตกลงในการทำงานเช่น หลังประชุม 3 วัน รายงานการประชุมต้องเสร็จ และภายใน 1 สัปดาห์ต้องเผยแพร่ถูกยึดถืออย่างเคร่งครัด ทำให้งานที่ต้องสอดประสานต่อเนื่องกันเป็นทอดๆ ดำเนินต่อไปได้โดยไม่สะดุด

     เทคนิคการทำงานกับกลุ่มเยาวชน เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งที่คณะทำงานต้องใส่ใจ การเป็นเพื่อนใน โซเชียลมีเดียทุกแขนงจึงเป็นช่องทางทั้งการสื่อสาร และการติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มเยาวชนแต่ละกลุ่มได้เป็นอย่างดี ชนิดที่คณะทำงานสามารถจับอาการของทีมผ่านเนื้อหาการสื่อสารในเฟสบุ๊ค หรือไลน์ได้ ทำให้สามารถหนุนเสริมทั้งเรื่องงานและเรื่องจิตใจของเยาวชนได้ทันท่วงที

    การบริหารสมดุลภายในทีมของกลุ่มเยาวชนก็เป็นปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่ง เนื่องด้วยในระยะแรกของการทำงาน คณะทำงานมุ่งประสานงานกับเยาวชนที่เป็นหัวหน้าโครงการเพียงผู้เดียว ซึ่งหากหัวหน้าโครงการไม่สื่อสารต่อกับทีม ก็จะทำให้การรับรู้ภายในทีมไม่เท่ากัน งานอาจจะกระจุกตัวอยู่ที่คนใดคนหนึ่งในทีม รวมทั้งก่อให้เกิดความรู้สึกห่างเหิน การปรับกระบวนการสื่อสารที่กระจายการติดต่อไปยังสมาชิกคนอื่นๆ ของกลุ่มเยาวชน จึงเป็นการบริหารความสัมพันธ์ของพี่กับน้องที่ทำให้การทำงานร่วมกันราบรื่นมากขึ้น

“ต้องคุยให้น้องรับรู้หลายคน ตอนแรกก็คุยกับหัวหน้าโครงการคนเดียว ตอนหลังเริ่มมาคุยกับคนอื่นมากขึ้น ให้น้องได้รับรู้ว่าน้องก็สำคัญ” อาร์ตเล่า 

­

     จัดการ “สมดุลชีวิต”

     นอกจากเรื่องงานแล้ว โจทย์เรื่องความสมดุลในชีวิตด้านอื่นๆ เป็นประเด็นที่ท้าทายคนทำงานในทุกแวดวง

     “พวกเราไม่ได้ทำงานหน้าเดียว ต้องเปลี่ยนตลอด จึงต้องมีการจัดการตัวเอง” คือคำบอกเล่า สถานการณ์ชีวิตของทีมงานจากปากคำของชิษนุวัฒน์ ซึ่งบทเรียนการบริหารองค์กรในอดีตที่ผ่านมาพบปัญหาการเปลี่ยนแปลงของทีมงานอยู่เสมอ เหตุผลสามัญของลาออกคือ งานเยอะ ไม่มีเวลาส่วนตัว แต่การรับงานโครงการพลังเด็กและเยาวชนฯ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของงานในองค์กร กลับสร้างระบบบางอย่างที่ช่วยคลี่คลายความกดดันในการจัดสมดุลชีวิตของคณะทำงาน 

     เคล็ดลับคือ ศึกษาแผนงานโครงการต่างๆ ภายใต้ความรับผิดชอบขององค์กรให้เข้าใจอย่างชัดเจน เพราะบทเรียนจากการร่วมกันเขียนโครงการตั้งแต่ต้น ทำให้เข้าใจเนื้องาน การติดตามงานกลุ่มเยาวชนทำให้ต้องศึกษาโครงการก่อนลงพื้นที่ เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้คณะทำงานเห็นถึงความสำคัญของแผนงานโครงการจึงให้ความสำคัญกับการศึกษาให้เข้าใจ

     “โครงการนี้ช่วยให้เราจัดการตัวเองได้เยอะมากเลย แต่เดิมการทำโครงการวิจัยเป็นโครงการที่ต้องทำเรื่อยๆ ไม่ได้เป็นโครงการที่ต้องจัดเวทีบ่อยๆ เหมือน Active Citizen เพราะฉะนั้นเราก็ไม่ต้องจัดการตัวเองอะไรมากขนาดนี้ แต่ว่าพอเรามาทำงานนี้ที่รายละเอียดกิจกรรมเยอะมาก จะจัดเวทีแต่ละครั้งต้องใช้เตรียมงานกันเป็นเดือน พอเราจัดการตัวเองในโครงการนี้ได้ โครงการอื่นก็ไม่ได้รู้สึกเดือนร้อนอะไร ไม่ยากเลย อันนี้ยากสุดแล้วเพราะว่าต้องบริหารจัดการเยอะเลย” อาร์ตสะท้อน

     เมื่อเข้าใจถึงเป้าหมายและแผนงานโครงการ จึงเข้าใจตารางเวลาในการจัดกิจกรรมต่างๆ ของโครงการต่างๆ พันธะสัญญาเรื่องงานกับเวลาจึงเป็นที่รับรู้ทั่วกันว่า ถ้ามีธุระส่วนตัวก็หยุดงานไปทำได้ แต่ต้องทำงานที่ตนเองรับผิดชอบให้เสร็จก่อน

     กระนั้นแล้ว คณะทำงานยอมรับว่า ก็มีพลาดบ้าง แต่ทุกคนยอมรับได้ เพราะได้ทำอย่างเต็มที่แล้ว อีกทั้งหัวหน้าทีมก็ไม่ได้เคร่งครัดกับความเป็นเลิศจนสร้างบรรยากาศกดดันคนทำงาน

     “เรายอมรับได้ถ้าทุกคนทำเต็มที่แล้ว ได้แค่ไหนก็แค่นั้น ถ้ามันพลาดก็รับผิดชอบร่วมกัน ไม่ใช่มาโทษกัน เมื่อทุกคนเห็นแผนร่วมกันก็จะรู้ว่างานไหนต้องเร่งทำ งานไหนปล่อยไปก่อนได้ ผมจะบอกพวกเขาตลอดทำเท่าที่ทำได้ ผมไม่ต้องการความเป็นเลิศ ทำให้เสร็จมาก่อน ถ้าต้องการความเป็นเลิศ ค่อยว่ากันทีหลัง” 

­

    พี่เลี้ยงชุมชน...กลไกหนุนเสริมที่เข้มแข็ง

    ด้วยฐานทุนจากการทำงานในพื้นที่มายาวนาน เมื่อจะขับเคลื่อนงานใหม่ จึงได้เชิญแกนนำที่เคยผ่านการทำงานร่วมกันมาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกลไกขับเคลื่อนงานโครงการพลังเด็กและเยาวชนฯ ประกอบด้วย ป้าทองคำ เจือไทย อดีตนักวิจัยเพื่อท้องถิ่น แมว-นิภา บัวจันทร์ แอล-วีรวรรณ ดวงแข ลุงเปี๊ยก-สมศักดิ์ ริ้วทอง จากตำบลแพรกหนามแดง อาจารย์พยอม ยุวะสุต จากโรงเรียนถาวรานุกูล อาจารย์ฐิติมา เวชพงศ์ จากมหาวิทยาลัยศิลปากร ครูตูน-กมลเนตร เกตุแก้ว โรงเรียนเทพมงคลรังษี อาจารย์สำราญ พลอยประดับจากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกาญจนบุรี เม่น-สุรนาท จันทร์เพ็ง หมอกานต์ โตบุญมี จากรพ.สต.บ้านบังปืน ที่รวมตัวกันเพื่อหนุนเสริมการทำงานของกลุ่มเยาวชนในพื้นที่ และเป็นกลไกที่ร่วมขับเคลื่อนการจัดกระบวนการเรียนรู้ในเวทีแต่ละครั้ง 

      เพราะตั้งเป้าหมายตั้งแต่แรกว่า ต้องพัฒนาพี่เลี้ยงในชุมชนไปพร้อมๆ กับการพัฒนากลุ่มเยาวชน ดังนั้นการสร้างการรับรู้ร่วมกันจึงเกิดขึ้นตั้งแต่แรกๆ การทำความเข้าใจเรื่องแนวคิดในการทำงานที่เน้นให้เด็กและเยาวชนได้คิด ได้ลงมือปฏิบัติเอง เป็นประเด็นแรกๆ ที่ต้องทำความเข้าใจกับพี่เลี้ยงตั้งแต่เวทีนับ 1 ภายใต้คาถา “แนะได้แต่อย่านำ” เนื่องด้วยอยากให้เด็กและเยาวชนมีบทบาทในการขับเคลื่อนงานของตนเองได้อย่างเต็มที่

     “แนะได้แต่อย่านำ คือ ถ้าเรานำเขาจะไม่เกิดความคิด บางทีเราแนะอ้อมๆ อย่างสมมติว่า ให้เด็กเขาคิดว่าปัญหาในสังคมของเขามีอะไรบ้าง ให้เขาดูรอบๆ ตัวว่ามีอะไรบ้าง แทนที่จะบอกคำตอบไปตรงๆ” ชิษนุวัฒน์ อธิบายเพิ่ม

     การเป็นกลไกที่มีบทบาทเป็นพี่เลี้ยงพื้นที่ส่วนใหญ่จะเกาะติดกับการทำงานของกลุ่มเยาวชนอย่างใกล้ชิด การทำบทบาทนี้จะต้องเข้าใจถึงเป้าหมายการทำงานของโครงการพลังเด็กและเยาวชน และโครงการของกลุ่มเยาวชนในพื้นที่ และต้องคอยสะกิดให้เด็กๆ คิด และทำให้เข้าที่เข้าทาง

     ซึ่งป้าทองคำเล่าว่า “ป้าต้องศึกษา อ่านรายละเอียดโครงการก่อนว่า วัตถุประสงค์ของโครงการเขาอยากเห็นอะไร ต้องศึกษาก่อนที่จะเข้าเวที อ่านให้เข้าใจว่าโครงการนี้ทำอะไร แล้วเวลาเรามาอยู่ในเวทีเราก็จะมองออกว่าสุดท้ายแล้วเขาต้องการอะไร และที่เด็กทำมาถูกทางหรือไม่ ถ้าเราตั้งคำถามเพื่อสร้างการเรียนรู้ เราก็ต้องเห็นเป้าหมายก่อนว่าโครงการนี้เป้าหมายคืออะไร ถ้าเราไปถามสะเปะสะปะ เหมือนเราไปดึงให้เขาออกนอกลู่นอกทาง มันไม่ได้ประโยชน์ มันเสียเวลา แต่ถ้าคำถามต้องทำให้เด็กฉุกคิดให้ได้”

     นอกจาก “กระตุกให้คิด” เป็นระยะๆ และช่วยประสานงาน ในส่วนที่เด็กๆ ยังไม่สามารถทำเองได้ บทบาทสำคัญอีกด้านของพี่เลี้ยงคือ ต้องให้กำลังใจกลุ่มเยาวชนเพราะจะเป็นคนที่อยู่ใกล้ชิดที่จะเห็นอาการยามเมื่อกลุ่มเยาวชนเกิดความท้อแท้ หรือมีปัญหา เพื่อให้เยาวชนไม่เครียดจนเกินไป

    บทบาทสำคัญอีกประการหนึ่งของพี่เลี้ยงพื้นที่คือ การ “เชื่อมโยง” เด็กและเยาวชนกับคนในชุมชนเข้าด้วยกัน เช่น ที่ปลายโพงพางไม่ใช่ทำแค่สนามเท่านั้น แต่จะทำยังไงให้เชื่อมโยงคนข้างนอกให้มาใช้สนาม อย่างนี้ต้องใช้ผู้ใหญ่เป็นตัวเชื่อมโยงบทบาทพี่เลี้ยงต้องเริ่มตั้งแต่ตรงนี้

     การลงแรงสร้างการเรียนรู้กับพี่เลี้ยงตลอดเส้นทางในการทำงานคู่ขนานไปกับกลุ่มเยาวชน เริ่มเห็นผลชัดเจนขึ้นเมื่อผ่านเวทีนับ 4

     “ในเวทีนับ 1 พี่เลี้ยงพื้นที่ยังทำความเข้าใจอยู่ เวทีนับ 2 เราก็ไม่ให้เขาเข้ามายุ่ง เขาก็ยังงงๆ พอนับ 3

     เขาเริ่มคิดออกแล้ว พอได้ไปทำ ได้ลองติดตามเฉยๆ ไม่ต้องไปสอนอย่างที่เคยสอน แล้วมันได้ผล เกิดการเรียนรู้กับเด็กจริงๆ พอถึงเวทีนับ 4 ได้มาสรุปบทเรียนกันแล้วมันเห็นผล เขาก็เข้าใจมากขึ้น เห็นได้ชัดเลนว่าหลังจากนับ 4 ท่าทีพี่เลี้ยงก็เปลี่ยน”

     กระบวนการเรียนรู้ที่เป็นแรงขับแรงเสริมกันระหว่างพี่เลี้ยงและคณะทำงาน ด้วยเงื่อนไขของคณะทำงานที่ขอให้พี่เลี้ยงพื้นที่วางบทบาท แนะแต่ไม่นำ ในขณะเดียวกันการเข้าร่วมเรียนรู้ในแต่ละเวทีก็ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้นทีละขั้น โดยเฉพาะสำหรับพี่เลี้ยงที่อยู่กับกลุ่มเยาวชนตลอดเวลา เช่น คณะทำงานของโครงการจะลงพื้นที่เพื่อถอดบทเรียนการทำงานกับกลุ่มเยาวชนเป็นระยะๆ ถ้าพี่เลี้ยงสนใจรับฟังและสังเกตการณ์ก็จะผ่านกระบวนการในพื้นที่ เมื่อกลับมาเข้าเวทีครั้งต่อไปก็ได้รับการเติมเต็มความรู้ ทักษะ เทคนิคต่างๆ จึงเข้าใจกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นมากขึ้น

    1 ปีที่ผ่านมานับว่า กลไกพี่เลี้ยงในพื้นที่ก่อรูปร่างขึ้นชัดเจน ช่วยหนุนเสริมการทำงานได้เป็นอย่างดี แต่ในการทำงานในระยะต่อไป ชิษนุวัฒน์มองว่า ยังมีเรื่องราวที่อยากจะเติมเต็มให้แก่คณะทำงานและพี่เลี้ยง เช่น ความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมการเรียนรู้ของเด็กแต่ละช่วงวัย ซึ่งจำเป็นอย่างมากสำหรับการทำงานกับกลุ่มเยาวชน เพราะเด็กแต่ละช่วงวัยมีการเปลี่ยนแปลงแตกต่างกันจึงต้องมีการจัดการต่างกัน

     ส่วนกลไกคณะกรรมการระดับจังหวัด ชิษนุวัฒน์ยอมรับว่า ที่ผ่านมาทำงานร่วมกันค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่ใช้กลไกระดับนี้ในเรื่องการพิจารณาโครงการ ขอความเห็น แต่การทำงานแบบคลุกวงในยังไม่เกิด ซึ่งเมื่อทบทวนก็ต้องยอมรับว่า คณะทำงานเองก็สื่อสารกับคณะกรรมการระดับจังหวัดน้อย นี่จึงเป็นโจทย์ของการทำงานในระยะต่อไปที่จะต้องเพิ่มการสื่อสาร สร้างการรับรู้ และมีส่วนร่วมของคณะกรรมการระดับจังหวัดให้เพิ่มมากขึ้น 

­

พลังพลเมืองเยาวชนภาคตะวันตก

     สำหรับการทำงาน 1 ปีที่ผ่านมา คณะทำงานสะท้อนว่า เห็นถึงพัฒนาการของเด็กและเยาวชนว่า มีความรักและรู้จักบ้านเกิดของตัวเองมากขึ้น รวมทั้งเอาธุระต่อเรื่องราวที่จะเกิดขึ้นในจังหวัด ในโรงเรียน หรือในชุมชนตัวเอง สอดคล้องกับคุณลักษณะพึงประสงค์ที่โครงการคาดหวังไว้ คือ รู้จักชุมชนบ้านตัวเอง รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง ใส่ใจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น คิดเชื่อมโยงเรื่องใกล้ตัวและมองโลกเชิงระบบได้ มีความเข้าใจเรื่องสิทธิและหน้าที่พลเมือง เข้าใจประชาธิปไตยขั้นพื้นฐานที่ไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง ร่วมคิดร่วมทำอะไรเพื่อชุมชนหรือจังหวัดของตน เข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมของจังหวัด มีทักษะการบริหารจัดการโครงการ มีทักษะการเก็บบันทึกข้อมูล เรียนรู้ข้อมูลเพื่อนำมาใช้ในการออกแบบโครงการ และมีทักษะการสกัดเนื้อหาและสื่อสารผ่านสื่อ / นำเสนออย่างสร้างสรรค์

     ซึ่งสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่สัมผัสได้จากพื้นที่ “พอทำไปเรื่อยๆ มองว่าเด็กเรียบร้อยขึ้น แต่ว่าเราไม่สามารถดึงอันนี้ออกมาบอกเด็กได้ว่ามันคืออะไร แต่พฤติกรรมเด็กเปลี่ยน ตัวเด็กเองก็บอกว่าหนูเปลี่ยนแปลง แต่เขาก็ไม่รู้ว่ามันเกิดตอนไหน มันเกิดจากอะไร อันนี้มันเป็นสำนึกหรือเปล่า ป้าก็ยังไม่รู้เหมือนกัน แต่ว่าจริงๆ เด็กเริ่มคิดเผื่อแผ่คนอื่น เขาเปลี่ยนไปเยอะ” ป้าทองคำเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงของกลุ่มเยาวชนที่ได้สัมผัส

     “ยกตัวอย่างอย่างเช่น แอลไม่ต้องทำก็ได้ในเมื่อเพื่อนเข้าออกไปแล้ว แต่เขาบอกว่าถ้าไม่ทำแล้วใครจะทำ อย่างนี้มันเป็นสำนึกที่ชัดเจนว่า ถ้าเขาไม่ทำตรงนี้แล้วใครจะทำเพื่อชุมชนเขา” แมวสะท้อน

     ขณะที่หมอกานต์สะท้อนว่า “ผมคิดว่าเด็กเป็นเดือดเป็นร้อนในเรื่องของบ้านตัวเองมากขึ้น อย่างที่เห็นบางทีเขาคิดว่า มันเป็นพื้นที่ของหนู มันเป็นชุมชนของหนูมาทำอย่างนี้ได้อย่างไร เด็กก็ลุกขึ้นมาดูแลบ้านตัวเองมากขึ้นแล้วก็ตั้งคำถามกับคนที่ทำอะไรที่เขารู้สึกว่าทำอะไรที่ไปกระทบกับชุมชนเขา”

ปลุกพลังเยาวชน ชูวิถีคนภาคตะวันตก

     ปีแรกกับการนับ 1 ถึง 5 ที่มีรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย การเริ่มต้นอย่างคนที่ยังไม่รู้ ทำไม่เป็น ขาดความเชี่ยวชาญ แต่เมื่อได้ลงมือลองทำอย่างตั้งใจ แล้วสรุปบทเรียนเป็นระยะๆ เป็นกระบวนการเรียนรู้คู่ขนานที่พัฒนาองคาพยพในเครือข่ายพลังพลเมืองเด็กและเยาวชนภาคตะวันตกทุกระดับ ตั้งแต่กลุ่มเยาวชนที่รู้ตัวรู้ตน รู้จักตัวเอง รู้จักเพื่อน รู้จักชุมชน ใส่ใจความเป็นไปของบ้านเมือง พัฒนาศักยภาพตนเอง พี่เลี้ยงในพื้นที่เข้าใจแนวทางการพัฒนาเด็กและเยาวชน ไม่ปล่อยมือจากการสนับสนุนการทำงานของกลุ่มเยาวชน คณะทำงานก็พัฒนาทักษะตนเองในการทำงานที่หลากหลายแตกต่าง และเก่งขึ้นอย่างน่าทึ่ง

     ผลลัพธ์น่าชื่นใจก่อหวอดให้เห็นตรงนู้นตรงนี่ ที่ทำให้เชื่อมั่นได้ว่า ก้าวต่อไปของพลังพลเมืองเด็กและเยาวชนภาคตะวันตกจะเป็นก้าวที่มั่นคง และนำพาความเข็มแข็งสู่ท้องถิ่นที่จะตั้งรับ ปรับสู้กับความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่คงจะถาโถมเข้ามาได้อย่างมั่นใจ