กระบวนการพัฒนาเยาวชนพลเมืองภาคตะวันตก
“ฐานคิดความเชื่อ” การพัฒนาเยาวชนพลเมืองภาคตะวันตก
“เด็กและเยาวชนไม่ใช่ต้นตอของปัญหา แต่พวกเขาสามารถพัฒนาศักยภาพและลุกขึ้นมาเป็นพละกำลังของบ้านเมืองได้”
คุณลักษณะพลเมืองเยาวชนภาคตะวันตก
การออกแบบการเรียนรู้
โครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก มีการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำจริง โดยใช้การเรียนรู้เรื่องราวท้องถิ่นเป็น “เครื่องมือ” จัดการเรียนรู้ ดึงต้นทุนที่มีอยู่ในแต่ละพื้นที่เข้ามาเชื่อมโยงกับกระบวนการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน ตลอดจนดึงกลไกภาคีพี่เลี้ยงจากภาคส่วนต่างๆ เข้ามาร่วมขับเคลื่อนงาน ผ่านกระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่น โดยหวังว่ากระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของเด็กเยาวชน พี่เลี้ยง และคนในชุมชน จะก่อให้เกิดผู้นำที่มีจิตสาธารณะที่คอยติดตามสถานการณ์ทางสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องและรู้เท่าทัน เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของภาคตะวันตกต่อไป
กิจกรรมหัวข้อที่ 7 เวทีนับ 4 ติดตามฯ ข้างบนเส้น Timeline เครื่องมือน่าจะเติมเรื่องคลิปวีดีโอด้วย
เส้นทางการเรียนรู้เพื่อสร้างทักษะในศตวรรษที่ 21
ตลอดระยะเวลา 3 ปี ภายใต้โครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก เน้นการ
จัดการเรียนรู้ที่ให้เด็กเยาวชนได้เรียนรู้เรื่องราวในท้องถิ่นของตนเอง ตั้งแต่พื้นที่ต้นน้ำไปจนถึงปากอ่าว
กระบวนการเรียนรู้ตลอดโครงการได้พัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตในศตวรรษที่ 21 ของเด็กเยาวชนหลายอย่าง ทั้งการพูด การฟัง การตั้งคำถาม และการทำกิจกรรมกับคนในชุมชน ส่งผลให้รู้จักชุมชนที่ตนเองอยู่อาศัยมากขึ้น จนเกิดความรักและหวงแหนบ้านเกิด เป็นเยาวชนที่มีสำนึกจิตอาสาลุกขึ้นมาทำงานเพื่อส่วนรวม เกิดภูมิคุ้มกันที่รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงในสังคมโลก สามารถคิดวิเคราะห์และแยกแยะปัญหาที่เกิดขึ้นได้ และลุกขึ้นช่วยกันแก้ไขปัญหาโดยใช้ข้อมูลในการตัดสินใจ มีความรับผิดชอบต่อบทบาทหน้าที่ของตนเองและประเทศชาติ นอกจากนี้ยังมีความมั่นใจในตนเอง กล้าคิด กล้าแสดงออก กล้ายอมรับความคิดที่แตกต่างหลากหลาย
ทั้งหมดนี้มาจากโครงการที่ “เปิดโอกาส” ให้เยาวชนทำโครงการอย่างอิสระ เริ่มตั้งแต่การคิดโจทย์โครงการ การดำเนินงาน การบริหารจัดการโครงการ และการนำเสนอผลงานที่สามารถสื่อสารได้อย่างเข้าใจว่า สำนึกเป็นอย่างไร เกิดขึ้นมาได้อย่างไร เป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้เด็กและเยาวชนกล้าที่จะทำสิ่งเล็กๆ แต่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของตนเอง ครอบครัว ชุมชน และสังคม ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ช่วยกระตุ้นให้เด็กหันมาเรียนรู้ชุมชนท้องถิ่นของตนเอง ลุกขึ้นมาเอาธุระ และใส่ใจบ้านเมืองเพิ่มขึ้น
สำหรับเส้นทางการเรียนรู้ของเด็กเยาวชนภาคตะวันตกปีนี้มีดังนี้
- ประชาสัมพันธ์โครงการ
- เป้าหมาย: รับสมัครเด็กเยาวชนเช้าร่วมโครงการ
- กระบวนการ: ดำเนินการใน 4 รูปแบบ คือ
- งานมหกรรมการเรียนรู้ปีที่ 2
- เด็กเก่า
- เครือข่ายนักวิจัยท้องถิ่น
- ภาคีเครือข่ายที่ทำงานด้านเด็กเยาวชน เช่น มหาวิทยาลัยศิลปากร พมจ. อบต.
- ผลลัพธ์: มีเด็กเยาวชนเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 22 ทีม
2. เวทีนับ 1 ส่งเสริมการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก
- เป้าหมาย: ให้เด็กเยาวชนได้เข้าไปสัมผัสทุกข์ทุนของชุมชน เรียนรู้ระบบนิเวศภาคตะวันตก ทำความเข้าใจกับพี่เลี้ยงชุมชนเรื่องแนวคิดการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง
- กระบวนการ:
- ทำกิจกรรมเดินเท้าชิดเพื่อเติมพลังกลุ่ม
- ดูวิดีโอเรื่องวิถีชีวิตคนแม่กลอง เพื่อให้เด็กเห็นความสำคัญของชุมชนใกล้ตัว
- ให้ความรู้เรื่องระบบนิเวศภาคตะวันตก
- ให้ความรู้เรื่องเครื่องมือวิเคราะห์ชุมชน (แผนที่ชุมชน วิเคราะห์ผู้เกี่ยวข้อง) เพื่อให้เด็กใช้ลงพื้นที่ค้นหาโจทย์ปัญหา ทุนทางสังคมในพื้นที่
- จัดวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้บทบาทพี่เลี้ยงชุมชนที่ “แนะ” แต่ไม่ “นำ” สนับสนุนและเอื้อในสิ่งที่เด็กต้องการ
ผลลัพธ์:
- ทักษะการทำงานเป็นทีม
- เห็นความเชื่อมโยงของระบบนิเวศภาคตะวันตก ทั้งวัฒนธรรม ประเพณี อาชีพ และสิ่งแวดล้อม โดยใช้ภูมินิเวศลุ่มน้ำแม่กลองเป็นตัวเชื่อม
- รู้จักคิดวิเคราะห์หาทุกข์ทุนในชุมชนตนเอง รู้วิธีสืบค้นข้อมูล
- เกิดทักษะการคิด ฟัง ถาม เขียน
- พี่เลี้ยงชุมชนได้เรียนรู้แนวคิดเรื่องการโค้ชเด็กเบื้องต้น
3. เวทีนับ 2 พัฒนาโจทย์โครงการ
- เป้าหมาย: เขียนโจทย์โครงการ วางแผนการทำงาน วิเคราะห์ศักยภาพตนเอง
- กระบวนการ:
- แนะนำเครื่องมือ Project Management หรือการบริหารจัดการโครงการ
- นำแผนที่ชุมชนและผังผู้รู้มาเชื่อมโยงกับสถานการณ์ปัญหาในพื้นที่
- ผลลัพธ์:
- เกิดทักษะการฟัง คิด ถาม เขียน สามารถเขียนข้อเสนอโครงการได้
- วิเคราะห์ศักยภาพของตนเอง
- คิดวางแผนการทำงานอย่างเป็นขั้นตอน
4. เวทีพิจารณาโครงการ
- เป้าหมาย: ผู้ทรงคุณวุฒิเติมรายละเอียดการทำงานรายโครงการ ตรวจเช็กความเข้าใจของโค้ชเกี่ยวกับโครงการของเยาวชน เชื่อมโยงเครือข่ายคนทำงานด้านเด็กเยาวชน
- กระบวนการ: ทีมโค้ชรับผิดชอบนำเสนอโครงการแทนเด็กเยาวชน
- ผลลัพธ์:
- ได้โจทย์ปัญหาและแผนการทำงานรายโครงการที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
- โค้ชฝึกทักษะการจับประเด็น การพูด การคิดวิเคราะห์
- ได้แนวทางการโค้ชเด็กเยาวชนรายโครงการ
- เชื่อมโยงเครือข่ายคนทำงานด้านเด็กเยาวชน อาทิ พมจ. สาธารณสุข มหาวิทยาลัยศิลปากร และพี่เลี้ยงเดิมเข้ามาเป็นกลไกการทำงาน
5. เวทีนับ 3 เติมความรู้เรื่องสิทธิความเป็นพลเมือง และจิตอาสา
- เป้าหมาย: กระตุ้นสำนึกพลเมืองและจิตอาสา เรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการโครงการ
- กระบวนการ:
- ดูคลิปวิดีโอที่สื่อถึงการมีสำนึกพลเมือง ไม่นิ่งดูดายต่อปัญหา
- ทำกิจกรรมจิตอาสาทำความสะอาดวัดกลางเหนือ จังหวัดสมุทรสงคราม
- ถอดบทเรียนการทำกิจกรรมเพื่อเตรียมความพร้อมให้เด็กเข้าใจเรื่องสำนึกพลเมืองก่อนลงไปทำกิจกรรมในชุมชน
- ทำสัญญาโครงการ
- ผลลัพธ์:
- เข้าใจความแตกต่างระหว่างสำนึกพลเมืองกับจิตอาสา
- เกิดทักษะการทำงานเป็นทีม การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เช่น พี่ที่เห็นน้องตัวเล็กๆ เช็ดกระจกไม่ถึงก็อาสาเข้าไปช่วยเหลือ จนกิจกรรมสำเร็จได้ด้วยดี
- เชื่อมความสัมพันธ์เครือข่ายเด็กเยาวชนภาคตะวันตก
- เรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการเงิน รู้จักคุณค่าของเงิน มีความรับผิดชอบ ซื่อสัตย์สุจริต
6. เวทีอบรมเรื่องทักษะการสื่อสารคลิปวิดีโอผ่านสมาร์ทโฟน
- เป้าหมาย: เรียนรู้ทักษะการสื่อสารรูปแบบใหม่
- กระบวนการ:
- เรียนรู้เทคนิคการทำแบนเนอร์และคลิปวิดีโอด้วยการลงมือปฏิบัติจริง โดยวิทยากรจากสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
- ผลลัพธ์:
- มีทักษะการสื่อสารที่ทันสมัย อาทิ แบนเนอร์ คลิปวิดีโอ
- มีทักษะการคิดวิเคราะห์ถึงประโยชน์ของการทำโครงการ
7. เวทีนับ 4 ติดตามความก้าวหน้าและสรุปบทเรียนการทำโครงการร่วมกัน
- เป้าหมาย: สรุปผลการทำโครงการ ปัญหาอุปสรรค แนวทางแก้ไข
- กระบวนการ: สรุปผลการทำโครงการในรูปแบบสตอรี่บอร์ดและคลิปวิดีโอ สำหรับถ่ายทำวิดีโอสื่อสารการทำโครงการเพื่อนำเสนอในงานมหกรรมการเรียนรู้ปีที่ 3
- ผลลัพธ์:
- เกิดทักษะการคิดวิเคราะห์แผนการทำงานและแนวทางแก้ไข
- เกิดทักษะการสื่อสารรูปแบบใหม่
- กล้าพูด กล้าแสดงออก รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
8. เวทีนับ 5 พัฒนาศักยภาพเครือข่ายเด็กเยาวชนฯ เรียนรู้เรื่องการมองโลกเชิงระบบ
- เป้าหมาย: เรียนรู้เรื่องการมองโลกเชิงระบบ และสื่อสารผลการทำโครงการ เตรียมความพร้อมสำหรับการจัดงานมหกรรมการเรียนรู้ปีที่ 3
- กระบวนการ:
- ให้เยาวชนมีทักษะศตวรรษที่ 21 โดยหนึ่งในทักษะที่สำคัญคือ การมองโลกเชิงระบบ โดยใช้เกมจากภูผาสู่มหานทีเป็นเครื่องมือ เพื่อให้เข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับทรัพยากรธรรมชาติ ที่จะนำไปสู่จิตสำนึกด้านอนุรักษ์และใช้อย่างรู้ค่า เพราะเห็นว่าเป็นกิจกรรมที่เหมาะกับช่วงวัย ที่สามารถสร้างการรับรู้และจดจำได้ง่าย
- แต่ละกลุ่มนำเสนอผลการทำโครงการผ่านคลิปวิดีโอ เพื่อสื่อสารให้สังคมรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของตนเอง ครอบครัว และชุมชน
- ผลลัพธ์:
- เด็กเยาวชนเข้าใจเรื่องความเชื่อมโยงของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม หากใช้มากเกินไปก็จะเสียสมดุล เกิดทักษะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
- สำนึกพลเมืองที่เกิดขึ้นจากการทำโครงการ
เงื่อนไขที่นำไปสู่การพัฒนาทักษะ นิสัย และสำนึกพลเมือง
ด้วยกระบวนการดังกล่าวข้างต้น เห็นได้ว่าการพัฒนาทักษะ นิสัย และสำนึกพลเมืองสำหรับเด็กเยาวชนสามารถทำได้ เพียงแต่พ่อแม่ ครู หรือโค้ช ต้องมี “เงื่อนไข” บางอย่าง สำหรับโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก มีดังนี้
บทบาทของโค้ช
บทบาทพี่เลี้ยงชุมชน
อย่างไรก็ตามเพื่อให้การพัฒนาเด็กเยาวชนในพื้นที่เกิดรูปธรรมชัดเจน โครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตกยังทำหน้าที่ “เชื่อมร้อย” หน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ที่มีบทบาทเรื่องการพัฒนาเด็กเยาวชน เช่น สถาบันการศึกษา องค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และคนในชุมชนเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงและวางแผนขับเคลื่อนงานเด็กและเยาวชนร่วมกัน ซึ่งจากประสบการณ์การทำงานตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมาพบว่า โครงกา3รใดที่พี่เลี้ยงมีการกระตุ้น หนุนเสริม และออกแรงสนับสนุนการทำกิจกรรมของเด็ก จะทำให้กิจกรรมนั้นเกิดเป็นรูปธรรม และเห็นผลการเปลี่ยนแปลงชัดเจน ที่สำคัญคือ บทบาทของพี่เลี้ยงในแต่ละระดับนำไปสู่การสร้างกลไกขับเคลื่อนงานในระดับชุมชน และเชื่อมโยงไปสู่กลไกการขับเคลื่อนงานในระดับจังหวัดต่อไป
พี่เลี้ยงเป็นใครได้บ้าง
เครื่องมือของโคช
การตั้งคำถามเพื่อสร้างการเรียนรู้ คือ “หัวใจ” สำคัญของการพัฒนาเด็กและเยาวชน ที่ทีมโค้ชนำมาใช้ตลอดทั้งโครงการ เห็นได้จากการจัดกิจกรรมนับ 1 - 5 แต่ละครั้งจะมีการตั้งคำถามเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ของแต่ละโครงการ ผ่านการทบทวนกิจกรรมเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยมุ่งเน้นการตั้งคำถามเพื่อสร้างการเรียนรู้ที่ลงลึกรายโครงการ ทำให้เด็กและเยาวชนรู้ถึงความแตกต่างของรายละเอียดในโครงการ และเห็นความสำคัญของการทำงานเป็นระบบ มีการทบทวนและค้นหาทางออกในการขับเคลื่อนงานร่วมกัน เมื่อเด็กรู้ว่าจะต้องถูกตั้งคำถาม ทุกครั้งที่เข้าร่วมเวทีเขาจึงต้องเตรียมข้อมูลความรู้ไว้ตอบคำถาม ซึ่งกระบวนการนี้นอกจากจะฝึกให้เด็กได้ค้นหาความรู้แล้ว ยังทำให้เด็กเห็นเทคนิควิธีในการตั้งคำถามที่เขาสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการทำโครงการและการเรียนต่อได้
การสรุปรายงานการประชุม เป็น “เงื่อนไข” สำคัญที่ทีมโค้ชออกแบบให้เด็กเยาวชนทุกโครงการทำ เพราะจะทำให้รู้ผลการดำเนินงานและสาระสำคัญในการจัดกิจกรรมแต่ละครั้ง ทั้งยังทำให้ทีมงานเกิดการเรียนรู้อย่างเท่าเทียมกัน สามารถทบทวนกิจกรรม ผลการดำเนินงาน เพื่อวางแผนการทำงานร่วมกัน โดยทีมโค้ชจะให้ความสำคัญกับการสรุปรายงานการประชุมทุกครั้ง เพื่อแนบการเบิกจ่ายงบประมาณในการทำกิจกรรม ควบคู่กับการเขียนบันทึกส่วนตัว เพื่อทบทวนการเรียนรู้ของตนเอง ทีมงาน และผลงานในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ทีมงานเกิดความมั่นใจในการนำบทเรียนไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนๆ ในเครือข่ายเด็กและเยาวชนฯ
การสรุปบทเรียนหลังทำกิจกรรม หรือ AAR (After Action Review) เป็นการสรุปผลการออกแบบการดำเนินงาน ผลการดำเนินงาน และบรรยากาศในการทำกิจกรรมทุกครั้ง เพื่อวางแผนปรับปรุงให้การทำงานครั้งต่อไปให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งเรื่องของการจัดกระบวนการ การสรุปผลการดำเนินงาน ทำให้เด็กเยาวชนได้ฝึกกระบวนการคิดวิเคราะห์แล้ว ยังช่วยให้ทีมงานเกิดความชัดเจนกับโครงการ ทั้งปัจจัย เงื่อนไข ความสำเร็จ และข้อจำกัดของการทำโครงการ
นอกจากนี้ยังมีเครื่องมือและเกมอีกหลายชิ้นที่ทีมโค้ชนำมาใช้เพื่อพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 ให้กับเด็กเยาวชนภาคตะวันตก โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้
ระยะต้นน้ำ
- เกมเดินเท้าชิด
เป้าหมาย: เรียนรู้การทำงานเป็นทีม การทำงานแบบมีส่วนร่วม การวางแผนในการทำงานร่วมกัน
กระบวนการ: ให้เด็กยืนต่อแถวไม่ควรเกิน 40 คนต่อ 1 กลุ่ม ให้เด็กเดินจากฝั่งหนึ่งไปถึงอีกฝั่งหนึ่ง โดยที่ต้องเข้าเส้นชัยพร้อมกัน เท้าต้องชิดไม่หลุดจากกัน ดังนั้นก่อนเล่นเกมนี้จึงต้องมีการวางแผน และทดลองทำ สิ่งที่พบคือ ส่วนใหญ่เด็กจะวางแผนแค่ตอนเดิน ไม่เคยวางแผนเข้าเส้นชัย โคชจึงต้องเชื่อมให้เด็กเห็นว่า การทำโครงการไม่ใช่แค่วางแผนว่าพรุ่งนี้จะทำอะไร แต่เขาต้องเห็นภาพสุดท้ายก่อนว่า เขาต้องทำอย่างไรจึงจะเข้าเส้นชัย ซึ่งทุกทีมต้องเรียนรู้กิจกรรมนี้ก่อนจะลงไปทำกิจกรรมในพื้นที่
คำถามถอดบทเรียนเกมเดินเท้าชิดมีดังนี้
1. รู้สึกอย่างไร
2. ระหว่างเริ่มเดินรู้สึกอย่างไร
3. เดินไปแล้วถูกระฆังตีให้กลับมาเริ่มใหม่ รู้สึกอย่างไร
4. กำลังจะเข้าเส้นชัยแล้ว แต่เหยียบไม่พร้อมกันต้องกลับไปเริ่มใหม่รู้สึกอย่างไร
5. เข้าเส้นชัยสำเร็จแล้วรู้สึกอย่างไร
คำถามจะเน้นไปที่ความรู้สึกก่อน เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับเด็กระหว่างการเล่น แล้วเขาสามารถพูดออกมาได้ง่ายที่สุด จากนั้นจึงถามต่อว่าเกมนี้เขาได้เรียนรู้อะไร ระหว่างถามจะมีปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น เหยียบเท้ากัน ทะเลาะกัน โค้ชต้องนำมาชวนคุยต่อ
- เกมแม่น้ำพิษ
เป้าหมาย: เรียนรู้การทำงานเป็นทีม การทำงานแบบมีส่วนร่วม การวางแผนในการทำงานร่วมกัน
กระบวนการ: เดินบนก้อนหินจำลองจากฝั่งหนึ่งไปอีกฝั่งหนึ่ง โดยจำนวนก้อนหินจะมีน้อยกว่าจำนวนคนของแต่ละทีม และอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งต้องติดกัน ห้ามหลุดจากกัน
คำถามถอดบทเรียนเกมเดินเท้าชิด เน้นไปที่การจับพฤติกรรมตอนเล่นเกมมาเป็นชุดคำถามมีดังนี้
1. รู้สึกอย่างไร
2. ระหว่างเริ่มเดินรู้สึกอย่างไร
3. ตอนที่อุ้มเพื่อน หรือตอนที่ให้เพื่อนเหยียบเท้าเดินรู้สึกอย่างไร
4. กำลังจะเข้าเส้นชัยแล้ว แต่อวัยวะของทีมหลุดออกจากกัน ต้องกลับไปเริ่มใหม่
รู้สึกอย่างไร
5. เข้าเส้นชัยสำเร็จแล้วรู้สึกอย่างไร
- เกมสะพานสัมพันธ์
เป้าหมาย: เรียนรู้การทำงานเป็นทีม การทำงานแบบมีส่วนร่วม การวางแผนในการทำงานร่วมกัน การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
กระบวนการ: นำเกมเดินเท้าชิดกับแม่น้ำพิษมารวมกัน เด็กจะต้องไปให้ถึงเส้นชัยโดยไม่ตกพื้น และให้ก้อนหินจำนวนน้อยกว่าแม่น้ำพิษ เกมนี้เหมาะสำหรับเด็กที่มีหลายกลุ่ม หลายวัย หลายขนาด เกมนี้ทำให้ผู้เล่นต้องวิเคราะห์ว่าใครควรยืนตรงไหน ผลที่เกิดขึ้นคือ พี่ตัวโตจะช่วยเหลือพาน้องตัวเล็กข้ามเชือกไปให้ได้ เพราะถ้าเขาไม่ช่วยกันจะไปไม่ถึงเป้าหมาย
- เครื่องมือตารางลำดับปัญหา
เป้าหมาย: ค้นหาโจทย์ปัญหาในการทำโครงการ
กระบวนการ: เนื่องจากบางพื้นที่มีหลายปัญหา ใช้วิธีชวนคิด ชวนคุย ให้เด็กเยาวชนลิสต์ปัญหาทั้งหมดใส่ในตาราง จากนั้นให้ทุกคนในทีมช่วยกันประเมินสถานการณ์ความรุนแรงของปัญหา และถ้าจะต้องแก้ไขปัญหาดังกล่าว คิดว่าจะทำได้ใหม่ ด้วยการให้คะแนน 1-10 และทำคะแนนรวมไว้ จากนั้นให้ทีมเลือกปัญหาหลักๆ 3 ปัญหา เปิดโอกาสให้เพื่อนในทีมได้พูดคุยกันว่า ภายใต้ 3 ปัญหานี้พวกเขาจะเลือกแก้ปัญหาใด ปัญหาไหนจะกระทบกับปัญหาอื่นได้
ตัวอย่าง: ทีม Road Safety ที่ตอนแรกทีมอยากทำโครงการเกี่ยวกับการเผาใบไม้ และทำปุ๋ย แต่เขาไม่สามารถไปต่อได้ โค้ชให้คิดประเด็นปัญหาใหม่ ก็คิดแบบสะเปะสะปะ แต่ทุกคนยังอยากทำโครงการอยู่ โค้ชจึงนำเครื่องมือดังกล่าวมาใช้ ชวนเขาคลี่รายละเอียดว่าในชุมชนหรือในวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีจังหวัดราชบุรีมีปัญหาอะไรบ้าง ให้เขาลิสต์ประเด็นปัญหาออกมา จนพวกเขาเห็นสถานการณ์ความรุนแรงของปัญหา เห็นศักยภาพและความสามารถของตนเอง ผู้ให้ความช่วยเหลือ และความเป็นไปได้ในการทำโครงการให้สำเร็จ จนสรุปเป็นโครงการปลูกจิตสำนึกความปลอดภัยบนท้องถนนให้กับเยาวชนและคนในชุมชนตำบลเขาชะงุ้ม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี
- เกมยิงนก/ตกปลา
เป้าหมาย: ให้เด็กเห็นเป้าหมายการทำโครงการ รู้วิธีหาข้อมูล รู้ศักยภาพของตนเอง
กระบวนการ: ให้วาดรูปเรื่องการตกปลา เมื่อวาดเสร็จก็ปล่อยโจทย์ให้เด็กช่วยกันคิดว่า วันนี้มีเบ็ด
แล้วอยากไปตกปลานิลในบ่อปลาช่อน คิดว่าจะได้ปลานิลไหม แล้วถ้าอยากตกปลาช่อน แต่มีเหยื่อ
ปลาสวาย คิดว่าปลาช่อนจะมีโอกาสกินเบ็ดไหม เป็นการอุปมาอุปมัยให้น้องเห็นภาพว่า เขาไม่สามารถตกปลาได้ แล้วชวนให้เด็กเห็นว่า หากสิ่งที่เขาจะทำไม่มีข้อมูลอยู่ในชุมชน แล้วเขาจะทำได้ไหม ผลคือเด็กจะอ๋อ! แล้วเห็นภาพชัดเจนว่า ควรทำหรือไม่ โดยโค้ชไม่จำเป็นต้องบอกว่า เขาไม่ควรทำ หรือโครงการนี้ไม่ดี
- เครื่องมือวิเคราะห์ทุนชุมชน
เป้าหมาย: วิเคราะห์ทุกข์ทุนของชุมชน
กระบวนการ: ให้เด็กเยาวชนมองทุนด้านบวกและทุนที่เป็นปัญหาของชุมชน 5 ด้าน ได้แก่
1.ทุนทางสังคมเป็นทุนเรื่องคน ผู้รู้ คนในชุมชน กลุ่มองค์กรมีอะไรบ้าง เป็นตัวตั้ง
2. ทุนทางความรู้ วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อของพื้นที่
3. ทุนเศรษฐกิจ ทรัพยากร อาชีพที่สร้างรายได้
4. ทุนทางสัญลักษณ์ เช่น สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม อาหาร เป็นต้น
5. ทุนประสบการณ์คือ ในเรื่องราวที่เด็กเคยทำ มีคนทำมาก่อนหรือไม่
โดยให้เขามองด้านลบด้วยว่า มีสถานการณ์หรือแนวโน้มอะไรในชุมชนที่จะมากระทบทุน 5 ด้านนี้ให้เสื่อมคุณค่า หรือกำลังถูกทำลายจากสถานการณ์ต่างๆ
ตัวอย่าง: กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฎกาญจนบุรีที่เด็กและเยาวชนยังมีทักษะในการศึกษาชุมชนไม่รอบด้าน ทำให้ยังขาดความเข้าใจต่อระบบชุมชนที่เชื่อมโยงกันในหลายมิติ โดยเฉพาะเรื่องทุนชุมชนที่จะเอื้อต่อการทำกิจกรรม
- เครื่องมือ Scenario ภาพอนาคต
เป้าหมาย: ให้เด็กเห็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการทำโครงการ
กระบวนการ: ให้เด็กคิดและวาดภาพ 3 ภาพ คือ
1. ถ้าเขาไม่ทำโครงการคนในชุมชนและหน้าตาของชุมชนจะเป็นอย่างไร
2. ถ้าทำแบบขอไปที ภาพจะเป็นอย่างไร
3. ถ้าทำอย่างเต็มที่ ภาพสุดท้ายจะเป็นอย่างไร
หลังจากวาดภาพเสร็จ โค้ชต้องตั้งคำถามเปรียบเทียบภาพ 3 ภาพ โดยระหว่างพูดคุยโค้ชจะมีคำถามเพิ่มเติมที่ลงรายละเอียดมากขึ้น กระบวนการนี้ทำให้เด็กเห็นว่าเขาควรจัดการปัญหาอย่างไร
- เครื่องมือแผนที่ชุมชนและทำเนียบผู้รู้
เป้าหมาย: ให้เด็กเห็นภาพรวมของพื้นที่ ผู้รู้ครูภูมิปัญญาอยู่ที่ไหน มีใครบ้างที่เขาสามารถขอความช่วยเหลือได้ โดยแผนที่ชุมชนและทำเนียบผู้รู้จัดทำออกแบบขึ้นเพื่อให้เด็กใช้เป็นแผนที่นำทางในการทำโครงการ
กระบวนการ: วาดแผนที่พร้อมมาร์กจุดผู้รู้ ครูภูมิปัญญาไว้ในแผ่นเดียวกัน โดยอาจใช้วิธีเขียนชื่อหรือแปะโพสต์อิทลงในแผนที่ เพื่อให้เด็กเห็นว่าจุดที่จะทำมีใครอยู่ตรงไหน และพวกเขาต้องทำอะไร อย่างไรบ้าง การที่เด็กนั่งล้อมวงทำด้วยกัน เขาจะเห็นภาพไปด้วยกัน คนที่รู้ก็ได้บอกเพื่อน คนที่ไม่รู้ก็ได้รู้ พี่เลี้ยงก็จะช่วยเด็กได้ว่าในชุมชนมีใครที่เขาสามารถลงไปขอข้อมูลได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์หลังจากนี้ที่เด็กต้องไปลงชุมชนต่อ
ตัวอย่าง: โครงการพาน้องเรียนรู้ประโยชน์จากทรัพยากรท้องถิ่นเพื่อขยายผลสู่คนในชุมชนบ้านมั่นคง ปี 2 ที่วาดภาพคน 2 ฝั่งน้ำ (น้ำจืดและน้ำเค็ม) และผู้รู้ที่ต้องไปสร้างเวทีเพื่อนทำความเข้าใจซึ่งการวาดแผนที่ชุมชนทำเนียบผู้รู้นี้ทำให้ทีมได้เห็นต้นทุนต่างๆ ในชุมชนจำนวนมาก แต่การใช้เครื่องมือนี้กับเด็กกลุ่มเดิมคือพี่เลี้ยงต้องรู้เบื้องหลังของเด็ก และรู้ว่าจะแนะนำเด็กให้ไปทางไหน ซึ่งการทำแผนที่ดังกล่าวไม่สามารถทำเสร็จได้ในเวที เนื่องจากมีรายละเอียดเยอะ เด็กบางคนยังไม่มีข้อมูล เครื่องมือนี้จึงเป็นกุศโลบายหนึ่งของโค้ชที่จะทำให้เด็กมีโอกาสลงไปเก็บข้อมูลในชุมชน ทำให้เด็กรู้จักชุมชนมากขึ้น และสร้างความสัมพันธ์กับชุมชน และถึงแม้จะเป็นทีมเดิม แต่ก็มีสมาชิกใหม่ เพราะฉะนั้นความเข้าใจ การได้รู้จักคนในชุมชนจึงมีไม่เท่ากัน เครื่องมือนี้จึงออกแบบให้เด็กทุกคนต้องลงชุมชน เพื่อทำความรู้จักกับคนในชุมชนและพื้นที่ที่ตัวเองจะทำโครงการ
กลางน้ำ
- เครื่องมือแบบฟอร์มในการติดตามกิจกรรมเด็ก
เป้าหมาย: จัดระบบความคิดกับแผนการทำกิจกรรม กระตุ้นให้เด็กนึกถึงแผนการทำงานอยู่เสมอ
กระบวนการ: ให้เด็กเขียนแบบการทำงานดังนี้
- ทำกิจกรรมอะไร
- วันไหน
- ใครรับผิดชอบ
- วิธีการทำกิจกรรมเป็นแบบไหน
- ใช้งบประมาณเท่าไร
- กิจกรรมนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับตัวเขาและชุมชนอย่างไร
ตัวอย่าง: ทีมนางตะเคียนที่ทำโครงการ....ตั้งแต่ปีแรก แต่ปี 2 มีการเปลี่ยนคนบ่อยและกิจกรรมขาดความต่อเนื่อง การใช้เครื่องมือนี้ทำให้ทีมงานที่เข้ามาใหม่สามารถดูแบบฟอร์มนี้แล้วทำกิจกรรมต่อได้
ข้อจำกัดของเครื่องมือชิ้นนี้คือ เด็กจะลอกข้อมูลกัน เนื่องจากการกรอกข้อมูลลงตารางจะมีรูปแบบคล้ายกัน ซึ่งดีกว่าเด็กไม่เขียนอะไรเลย เพราะปีที่ผ่านมาเด็กไม่สามารถสรุปรายงานได้ แต่แบบฟอร์มนี้ทำให้เด็กเขียนรายละเอียดการทำกิจกรรมได้ง่ายขึ้น
- เครื่องมือบันไดการเรียนรู้
เป้าหมาย: เพื่อให้เด็กเห็นเป้าหมายการทำโครงการ
กระบวนการ: ให้เด็กลงรายละเอียดกิจกรรมในบันไดแต่ละขั้นจนจบโครงการ เพื่อกระตุ้นให้เด็กเห็นว่า แต่ละช่วงเขาทำกิจกรรมอะไร อยู่ตรงไหน ขึ้นบันไดมากี่ขั้นแล้ว และกว่าจะไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ พวกเขาต้องขึ้นบันไดกี่ขั้น ซึ่งแต่ละโครงการจะมีบันไดการเรียนรู้ไม่เท่ากัน นอกจากนี้บันไดการเรียนรู้ยังเป็นเครื่องมือสร้างความเข้าใจร่วมกันในแผนการทำกิจกรรมของทีมงานจะชวนน้องมาดูเป้าหมายว่าคืออะไร แล้วก่อนจะถึงเป้าหมายจะมีบันไดกี่ขั้นที่จะไปถึงเป้าหมายนั้น
ตัวอย่าง: ทีมที่ค่อนข้างประสบความสำเร็จในการใช้เครื่องมือนี้คือ ทีมสมุนไพรบางแก้วโครงการ... ปีที่ 2 เนื่องจากระหว่างทำกิจกรรม ทีมงานลงพื้นที่ไปดูสมุนไพรบ่อยมาก แต่ไปแล้วก็ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรต่อ โคชจึงนำบันไดการเรียนรู้มาใช้ ชวนเด็กวางแผนว่า ก่อนที่จะไปถึงเป้าหมายของตัวเองมีกี่ขั้นตอนที่อยากจะไป สิ่งที่พวกเขาทำคือการเดินย่ำอยู่กับที่หรือกำลังขึ้นบันไดขั้นต่อไป พอชวนคลี่งานแบบนี้ เด็กก็เห็นว่างานของพวกเขายังย่ำอยู่กับที่ ไม่คืบหน้าไปไหน จึงนำไปสู่การวางแผนการทำงานต่อว่าทำอย่างไรงานจะก้าวหน้า และนำไปสู่การยกระดับได้
- เครื่องมือปฏิทินชุมชน
เป้าหมาย: วางแผนการทำกิจกรรมโครงการให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในชุมชน
กระบวนการ: เนื่องจากเด็กที่ทำโครงการบางส่วน จำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับปฏิทินของชุมชน เช่น การเลี้ยงสัตว์ การเกษตร เช่น โครงการเกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งที่ผ่านมาเด็กไม่สนใจ สนใจแต่วิธีเลี้ยงของตัวเองซึ่งไม่สัมพันธ์กับชุมชน โค้ชจึงนำปฏิทินชุมชนมาให้เด็กทำ เพื่อให้เห็นระบบการเลี้ยงสัตว์ของชุมชนว่าในแต่ละรอบปีมีอะไรบ้าง นอกจากเลี้ยงสัตว์แล้ว อาหารของการเลี้ยงสัตว์มีแบบไหนบ้าง เพื่อให้เด็กเข้าใจวิถีของชุมชน และนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้วิเคราะห์สำหรับวางแผนการทำงานให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในชุมชนต่อไป
- เกมกระดาษดนตรี
เป้าหมาย: ลดความขัดแย้งของทีมงาน
กระบวนการ: ให้เด็กในทีมเขียนข้อจำกัด ปัญหาของตัวเองและเพื่อนอย่างน้อยคนละ 3 ข้อ ใส่ลงไปในกล่อง ให้เด็กนั่งล้อมวง เปิดเพลงส่งกล่องไปเรื่อยๆ กล่องนี้ตกที่ใครให้ล้วงแล้วเปิดกระดาษขึ้นมาอ่าน อันไหนตอบได้ตอบ ตอบไม่ได้ไม่เป็นไร โดยพบว่า คำถามส่วนใหญ่ที่เด็กเขียนคือ ความไม่เข้าใจเพื่อนว่า ทำไมเพื่อนไม่ทำแบบนั้น ไม่ทำแบบนี้ เมื่อเด็กหยิบคำถามขึ้นมาตอบ โค้ชมีหน้าที่ซักคำถามให้ลึกขึ้น เพื่อให้ได้รายละเอียดมากขึ้น
ข้อดีของกิจกรรมนี้คือ เด็กต้องตอบคำถามบางข้อที่เป็นข้อจำกัดของเพื่อน คำถามบางคำถามตั้งใจเขียนถึงคู่กรณี ซึ่งถ้าไปถามตรงๆ ก็คงไม่มีใครตอบ แต่เกมนี้จะเป็นตัวช่วยให้เด็กต้องตอบ ทำให้ปัญหาความไม่เข้าใจกันคลี่คลายลงได้ เกมนี้เหมาะสำหรับเด็กโตคือมัธยมศึกษาตอนปลายไปจนถึงอุดมศึกษา
- เกมกระดานแชร์เรื่องราว
เป้าหมาย: เพื่อให้ทีมที่ไม่เข้าใจกัน เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงภายในทีมเข้าใจกัน
กระบวนการ: นำรูปแบบเกมเศรษฐีมาออกแบบเป็นตารางสี่เหลี่ยมเป็นวงให้เดิน โดยทุกคนจะมีตัวเดินของตัวเอง โดยตั้งคำถามไว้ในช่องสี่เหลี่ยม เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กที่มีปัญหาคาใจกับเพื่อนได้ถาม ได้พูดคุยกัน เวลาเด็กเดินไปหยุดที่ช่องไหนจะต้องมีการถาม มีการแสดงความคิดเห็น ทำให้เด็กเริ่มเปิดใจเข้าหากัน เกมนี้จึงเป็นเครื่องมือให้ทีมงานได้เคลียร์ตัวเอง
คำแนะนำ การเล่นเกมนี้โค้ชต้องรู้ข้อมูลสถานการณ์ของกลุ่มว่ามีอะไรบ้าง เพื่อนำมาใช้ออกแบบชุดคำถามวางไว้ในช่องสี่เหลี่ยม
- เกมเก้าอี้ความไม่รู้
เป้าหมาย: เปิดโอกาสให้เพื่อนได้พูด ทำ รับฟังเพื่อน
กระบวนการ: เนื่องจากเกิดสถานการณ์ว่าคนที่รู้ไม่ยอมพูด คนที่ไม่รู้ก็พูดอยู่ฝ่ายเดียว ไม่ยอมฟังเพื่อน โค้ชจึงลิสต์คำถามเกี่ยวกับบริบทชุมชน และทีม วางไว้หลังเก้าอี้ เมื่อเด็กนั่งลงตรงเก้าอี้ตัวไหนต้องหยิบคำถามของเก้าอี้ตัวนั้นขึ้นมาตอบ ผลที่เกิดขึ้นคือ เด็กที่พูดเยอะตอบคำถามไม่ได้ ขณะที่เพื่อนคนที่ไม่ค่อยพูดกลับตอบคำถามได้ เกมนี้จึงทำให้คนในทีมรู้ว่า ต้องเปิดโอกาสให้เพื่อนทุกคนได้พูด ได้ทำ แต่การจะเล่นเกมนี้ได้ดี โค้ชต้องมีการเช็คสถานการณ์และเก็บพฤติกรรมเด็กว่า ใครเป็นคนสัมภาษณ์ ใครเป็นคนบันทึก จึงทำให้รู้ว่าคนเหล่านี้น่าจะพูดได้ แต่ไม่กล้าพูด
- เกมบันไดงูความรู้สึก
เป้าหมาย: ชัดเจนในแผนงาน สะท้อนคุณค่าสิ่งที่ทำและรับรู้ความรู้สึกของเพื่อน
กระบวนการ: ให้เด็กช่วยกันวาดบันไดงู ใส่กิจกรรมตามแผนลงไปในช่อง 100 ช่อง ช่องที่ว่างให้เติมตัวเลขลงไป โดยโค้ชจะเตรียมการ์ดคำถามไปวางในช่องว่าง คำถามจะเน้นไปที่กิจกรรม วิธีการ ความเปลี่ยนแปลง และความรู้สึกว่า เขาได้เรียนรู้อะไรจากกิจกรรมนั้นๆ เกมนี้เหมาะสำหรับเด็กมัธยมศึกษาตอนต้นที่ไม่ถนัดคิดและคุย
ปลายน้ำ
- เครื่องมือแผนที่ความเชื่อมโยงของภาคตะวันตก
เป้าหมาย: เด็กเยาวชนเครือข่ายภาคตะวันตกเห็นสถานการณ์ปัญหา และทุนของภาคตะวันตก
ร่วมกัน และกิจกรรมที่พวกเขาทำอยู่ส่วนไหนของแผนที่ หากเกิดสถานการณ์อะไรขึ้นพวกเขาจะสามารถช่วยแต่ละพื้นที่ตามกำลังได้อย่างไร
กระบวนการ: เขียนแผนที่ภาคตะวันตก เขียนทุกข์ทุนของแต่ละจังหวัด โครงการที่ทำ และสิ่งที่จะช่วยกันทำให้จังหวัดของตนเองดีขึ้น และจะช่วยเพื่อนข้ามจังหวัดอย่างไร ทั้งนี้เพื่อให้พวกเขาเห็นความสัมพันธ์และความเชื่อมโยงของภูมิภาคตะวันตก สุดท้ายเพื่อนำไปสู่การสร้างเครือข่ายเด็กเยาวชนภาคตะวันตก
- เครื่องมือตารางวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลง
เป้าหมาย: วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงก่อนและหลังทำโครงการ
กระบวนการ: นำแนวคิดเรื่อง Change Analysis มาใช้ โดยปรับความเปลี่ยนแปลง 13 ด้านเป็น
ทักษะในศตวรรษที่ 21 ให้เด็กประเมินตัวเองก่อนและหลังทำโครงการ เช่น เมื่อก่อนเป็นอย่าไง ทำแล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง โดยเครื่องมือนี้จะใช้กับกลุ่มเด็กที่ยังไม่เห็นคุณค่าของสิ่งที่ตัวเองทำ เพื่อชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่พวกเขาทำมีคุณค่าและสร้างให้เกิดความเปลี่ยนแปลงกับชุมชนอย่างไร
เช่น ทีมสวนผึ้งโครงการ ที่มักจะตอบว่า ตัวเองไม่ได้ทำอะไร เพราะไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรกับเขาบ้าง ทั้งๆ ที่งานที่พวกเขาทำคือการดูแลรักษาต้นน้ำ ซึ่งมีความสำคัญต่อทุกคนในชุมชน
ข้อควรระวัง เครื่องมือนี้หากผู้ใช้ต้องการลงรายละเอียดมากควรทำเฉพาะกลุ่มเล็กๆ
ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา การดำเนินโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก ไม่เพียงแต่พัฒนาศักยภาพให้เด็กและเยาวชนเท่านั้น แต่ทีมโคช รวมถึงพี่เลี้ยงชุมชน ต่างก็ได้รับการพัฒนาศักยภาพด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะทีมโคชที่ได้นำความรู้จากการอบรม Training of the trainer (TOT) ของเสมสิกขาลัย และการอบรมของมูลนิธิขวัญแผ่นดิน ที่มูลนิธิสยามกัมมาจลจัดขึ้น ไปใช้ในการตั้งคำถาม ออกแบบกระบวนการกลุ่ม การพูดคุย และการสรุปบทเรียน รวมถึงการประเมินเสริมพลังการขับเคลื่อนงานโครงการในช่วงต้นน้ำร่วมกับมูลนิธิสยามกัมมาจล ทำให้ทีมโคชได้เรียนรู้มีเครื่องมือไปปรับใช้กับการทำงานได้อย่างสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับเครือข่ายเด็กและเยาวชนฯ และพี่เลี้ยงในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี จนเกิดเป็นคาราวานของการพัฒนาศักยภาพที่ต่อเนื่องและสัมพันธ์กัน