ถอดบทเรียนกระบวนการพัฒนาพลเมืองเยาวชน จ.น่าน ปี 2

“พลัง” แห่งการสร้างสรรค์ 

“ละอ่อนน่านฮักบ้านเกิด”

     หลังเรียนรู้ผ่านกระบวนการทำงานในชุดโครงการ Active Citizen ในฐานะพี่เลี้ยงของจังหวัดน่าน ที่มีเป้าหมายในการเป็นกลไกของจังหวัดในการพัฒนาพลเมืองเยาวชนรุ่นใหม่ให้ตื่นรู้ มีทักษะ และมีสำนึกพัฒนาถิ่นฐานบ้านเกิด เป็นกำลังคนที่มีคุณภาพของจังหวัดต่อไป ผ่านไป 1 ปี ทีมงานโครงการเสริมศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน ซึ่งประกอบด้วยพระครูสุจิณนันทกิจ (พระอาจารย์สมคิด จารณธัมโม) ต้น-อภิสิทธิ์ ล้มยศ มิ้น-สุทธิรา อุดใจ แต๋ม-ฐิติรัตน์ สุทธเขต เอื้อม-เอื้อมพร จันอ้น และ แดน-ชลแดน จันอ้น ได้สรุปบทเรียนการทำงานร่วมกัน ก่อนที่จะเริ่มต้นการทำงาน ในปีที่ 2 โดยบทเรียนหนึ่งที่ทีมพี่เลี้ยงเห็นว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำ นั่นคือ ต้องมีการออกแบบกระบวนการพัฒนาโจทย์โครงการของเยาวชนอย่างเข้มข้น เพื่อให้เยาวชนได้ติดอาวุธ เครื่องมือการศึกษาชุมชนและสามารถคิดวิเคราะห์ วางแผนพัฒนาโครงการจากสถานการณ์หรือปัญหาในชุมชนด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ และเข้าใจปัญหาอย่างถ่องแท้ ก่อนที่จะสนับสนุนให้ลงมือทำจริง ส่วนทีมพี่เลี้ยงเองก็ต้อง มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันภายในทีมงาน เพื่อส่งต่อความรู้และหนุนเสริมการทำงานของทีมในการพัฒนาเยาวชนให้เข้มแข็งมากขึ้น

­

“บทเรียน” จากการ “ลงมือทำ”

     การทำงานของโครงการในปีนี้ยังคงมุ่งเป้าไปที่ “อยากให้คนน่านเห็นถึงคุณค่าของความเป็นน่าน” โดยเริ่มจากการ “สร้างพลเมืองเยาวชน” ที่ใส่ใจต่อผู้อื่น ใส่ใจต่อสังคม เยาวชนที่ตระหนักรู้ในความเป็นไป ของบ้านเมือง รู้จักชุมชน รู้จักตนเอง และใช้ศักยภาพของตนเองในการลงมือทำอะไรบางอย่าง เพื่อให้สังคม ชุมชนที่ตนเองสังกัดอยู่ดีขึ้น

     ช่วงแรกของการทำงานในปีที่ 2 ทีมงานจึงให้ความสำคัญกับกระบวนการพัฒนาโจทย์โครงการร่วมกับ

     กลุ่มเยาวชนและที่ปรึกษาโครงการ โดยมี “ฐานคิด” ว่า กระบวนการต้นน้ำที่ออกแบบการทำงานอย่างละเอียด มากขึ้นนั้น จะทำให้กลุ่มเยาวชนมีกรอบกำกับการทำงานของตนเองชัดเจน ก่อนที่จะลงมือทำ เพราะเมื่อกลุ่ม เยาวชนมีความชัดเจนตั้งแต่ต้น ก็จะทำให้การทำงานในช่วงกลางน้ำ และปลายน้ำเป็นไปอย่างราบรื่น

     ด้วยเหตุนี้ทีมงานจึงต้อง “ออกแบบกระบวนการต้นน้ำ” ให้ร้อยเรียงกันเป็นลำดับ ตั้งแต่การค้นหากลุ่มเด็กและเยาวชน การจัดเวทีสร้างความเข้าใจให้กับที่ปรึกษาโครงการ การลงพื้นที่เพื่อพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ และวางแผน เขียนข้อเสนอโครงการ การจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เติมเต็มข้อเสนอโครงการ ของกลุ่มเยาวชน จนถึงเวทีกระจายทุน ก่อนจะต่อด้วย ช่วงกลางน้ำ คือกระบวนการติดตามหนุนเสริมการทำงานของกลุ่มเยาวชนแต่ละโครงการในชุมชน แล้วขมวดสิ้นสุดที่ ช่วงปลายน้ำ คือเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้สรุปบทเรียนของโครงการ เพื่อนำไปสู่การเผยแพร่ผลการทำงาน ของกลุ่มเยาวชนในงานมหกรรมพลังเยาวชน”พลังสร้างสรรค์ละอ่อนน่าน ฮักบ้านเกิด ปี 2” 

     สำหรับการค้นหากลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชนที่จะมาทำโครงการในปีนี้ ทำผ่านการประชาสัมพันธ์

     ผ่านเครือข่ายคนทำงานภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดน่าน ที่ทีมงานได้ไปมีปฏิสัมพันธ์ ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย ผ่านกลุ่มเด็กและเยาวชนที่เคยทำโครงการในปีแรก และผ่านเวทีมหกรรมพลังเยาวชน “ละอ่อนน่าน ฮักบ้านเกิด ปี 1” ซึ่งจัดขึ้น ณ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ น่าน ทำให้ปีนี้ทีมงานได้โฆษกดี ๆ คือ เด็กเยาวชนที่เคยทำโครงการมาก่อน เป็นตัวตั้งตัวตี แนะนำ ชักชวนเพื่อน ๆ ที่รู้จักให้เข้ามาทำโครงการ จนมีกลุ่มเยาวชนกลุ่มที่เคยทำโครงการมาแล้ว แจ้งความจำนงเพื่อทำโครงการต่อเนื่อง 5 พื้นที่ นอกนั้นเป็นเด็กกลุ่มใหม่ ทำให้ในช่วงต้นของการพัฒนาโครงการมีเด็กและเยาวชนสนใจเข้าร่วมมากถึง 21 กลุ่ม

     แต่ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเก่าหรือกลุ่มใหม่ ทีมงานก็ให้ความสำคัญกับพัฒนาโครงการร่วมกับกลุ่มเยาวชนและที่ปรึกษาโครงการ มีความต่างกันเพียงแค่ ถ้าเป็นกลุ่มเด็กเก่าจะมีการถอดบทเรียนการทำงานของโครงการที่เสร็จสิ้นไปแล้ว เพื่อให้เด็กได้คิดทบทวนให้เห็นสิ่งที่ทำได้ดี สิ่งที่ยังไม่บรรลุตามเป้าหมาย ปัจจัยเงื่อนไขของความสำเร็จ หรือความไม่สำเร็จจากการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา

     “เราลงพื้นที่ไปถอดบทเรียนกับกลุ่มเด็กว่า การทำโครงการในปีที่ผ่านมา มีอะไรที่คิดว่าเป็นปัญหา มีจุดอ่อนจุดแข็งอยู่ตรงไหน โอกาสที่จะพัฒนาเป็นอย่างไร ถ้าคิดว่าจะทำงานต่อจะต่ออย่างไร” มิ้นเล่าถึงคำถามที่ใช้ถอดบทเรียนเพื่อสานงานต่อ

     แต่ใช่ว่าการทำงานกับกลุ่มเด็กเก่าจะง่ายกว่า เพราะในกลุ่มเด็ก ๆ เองก็มีพลวัตของการเปลี่ยนแปลง สมาชิกของเยาวชนกลุ่มเก่าจึงมีทั้งสมาชิกเดิม และสมาชิกใหม่ที่หมุนเวียนเข้ามาเรียนรู้ ดังนั้น “การถอดบทเรียน” จึงเป็น “เงื่อนไข” ที่ทำให้สมาชิกใหม่ได้เห็นแนวคิด และวิธีการทำงานของรุ่นก่อน เพื่อให้ต่องานกันได้ง่าย แต่ทั้งนี้ทีมงานจะมีการประเมินความเป็นไปได้ในการทำงานของเยาวชนกลุ่มเก่า อาทิ ผลการทำงาน บทเรียนของการทำงาน พัฒนาการของเยาวชนที่สอดคล้องกับความเป็นพลเมือง ประเด็นที่ต้องการต่อยอด ความเข้มแข็งของการรวมกลุ่ม และความตั้งใจของที่ปรึกษาโครงการ

     ส่วนกระบวนการที่สร้างการเรียนรู้กับเยาวชนกลุ่มใหม่นั้น ทีมงานได้ลงพื้นที่เพื่อพูดคุยหยั่งเชิง ดูความสนใจของเด็กและที่ปรึกษาโครงการ ด้วยประสบการณ์ที่ผ่านมา 1 ปี ทำให้ทีมงานรู้แล้วว่า ความสนใจที่แท้จริงของเยาวชนเท่านั้นที่จะเป็นแรงผลักดันให้การทำงานเดินไปจนถึงปลายทางที่ตั้งไว้ การลงพื้นที่ครั้งแรกจึงเป็นการบอกเล่าถึงแนวคิด เป้าหมายของโครงการ Active Citizen และฉายวิดีโอการทำงานของปีที่ผ่านมาให้ทั้งเด็กและที่ปรึกษาโครงการ เห็นกระบวนการทำงานตลอดเส้นทาง เพื่อที่จะตัดสินใจได้ถูกว่า ยังสนใจทำโครงการหรือไม่ รับได้ไหมกับกระบวนการทำงานที่เด็กต้องคิดเองทำเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาทักษะ การคิด การทำงาน และความเป็นผู้นำ แค่เพียงการพูดคุยแบบนี้ก็ทำให้เยาวชนบางกลุ่มรู้ตัว ขอถอยก่อน เพราะยังไม่พร้อม

­

เรียนรู้ “บริบทชุมชน” หาโจทย์โครงการ

     เมื่อตกลงปลงใจร่วมกันแล้วว่า สนใจ จะทำ และรับได้ ในการลงพื้นที่ครั้งที่ 2 จึงเข้าสู่การศึกษาบริบทชุมชนร่วมกัน โดยทีมงานจะเติมเต็ม “เครื่องมือศึกษาชุมชน” เช่น การทำแผนที่เดินดิน การทำปฏิทินวิถีชีวิต-การผลิต-วัฒนธรรมของชุมชน หรือกระทั่งการเดินสำรวจชุมชนร่วมกัน เพื่อให้เด็ก ๆ ได้รู้จักชุมชนของตนเองมากขึ้น ได้เห็นสภาพความเป็นจริง ทั้งปัญหา สิ่งดีๆ ในชุมชน ซึ่งทีมงานเองก็จะได้เรียนรู้วัฒนธรรม ประเพณีของแต่ละท้องถิ่น รวมทั้งเห็นสภาพความเป็นอยู่ในชุมชนไปพร้อม ๆ กับเยาวชน

     “การลงพื้นที่เป็นเหมือนงานทั่วไปที่เราต้องไปดู ถ้าเด็กเขียนโครงการส่งมา เราจะเห็นแค่ตัวหนังสือ ไม่ได้เห็นสถานการณ์ และสภาพพื้นที่ แต่การที่เราได้ลงไปสัมผัสพื้นที่ ทำให้เราได้เห็นภาพจริง เห็นถึงสถานการณ์ปัญหา เห็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง สามารถเช็คได้ว่า ปัญหานั้นจริงมากน้อยแค่ไหน มีเงื่อนไขเป็นอย่างไร” ต้น เล่าเบื้องหลังแนวคิดการลงพื้นที่พัฒนาโจทย์โครงการ

     เมื่อเด็กๆ รู้จักชุมชนตัวเอง ก็จะสามารถวิเคราะห์ศักยภาพของตนเอง เลือกโจทย์ที่จะทำงานบนฐานข้อมูลที่เป็นจริงของชุมชน โดยเชื่อมโยงกับศักยภาพของตนเองได้ ทีมงานจึงทิ้งโจทย์ให้เด็ก ๆ เขียนโครงการในลักษณะง่าย ๆ โดยทำเป็น Story Board เพื่อเตรียมเล่าเรื่องที่มีองค์ประกอบคือ สถานการณ์ของชุมชน ความฝันที่อยากเห็นในอนาคตอันใกล้ และกิจกรรมที่จะนำไปสู่เป้าหมายที่อยากเห็น เป็นการลองใจเล็ก ๆ ว่า กลุ่มเยาวชนจะยังคงยืนยันว่าจะไปต่อหรือไม่

     ระหว่างนั้นทีมงานจัดเวทีทำความเข้าใจกับที่ปรึกษาโครงการเพื่อทำความเข้าใจร่วมกัน เพราะบทเรียนจากปีแรกที่พบว่า บางโครงการเขียนขึ้นโดยที่ปรึกษาโครงการ ไม่ได้มาจากความต้องการของเยาวชน แต่ที่ปรึกษาโครงการก็เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความสำเร็จของโครงการ ดังนั้นการเน้นย้ำบทบาทของที่ปรึกษาภายใต้เป้าหมายของโครงการที่เน้น “การเรียนรู้” ของเยาวชนที่ต้อง “คิดเองทำเอง” จึงเป็นสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจร่วมกัน

     เมื่อทำความเข้าใจทั้งเด็กและที่ปรึกษาโครงการแล้ว ทีมงานได้นัดหมายกลุ่มเยาวชนทั้งหมดเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาข้อเสนอโครงการร่วมกัน โดยแบ่งโซนการทำงานเป็น 2 โซนคือ โซนน่านตอนเหนือ กับโซนน่านตอนใต้ เพราะทั้งด้วยระยะทางของพื้นที่ที่ห่างไกลกัน และบทเรียนจากปีที่ผ่านมา ที่เมื่อให้กลุ่มเยาวชนทั้งหมดเข้าร่วมกิจกรรมพร้อมกัน การทำงานลงลึกในรายละเอียดกับแต่ละกลุ่มจะทำได้ไม่เต็มที่ อีกทั้งทำให้ขาดช่วงเวลาที่จะทำความเข้าใจกับที่ปรึกษาที่ร่วมเรียนรู้ในขบวน โดยเป้าหมายของกิจกรรมนี้คือ เพื่อให้กลุ่มเยาวชนได้พัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ การวางแผน และเห็นภาพรวมของข้อเสนอโครงการ โดยกระบวนการจะให้กลุ่มเยาวชนนำเสนอสิ่งที่เตรียมมา โดยทีมงานแสดงบทบาทเป็นกรรมการให้ข้อเสนอแนะ เพื่อเติมเต็มความสมบูรณ์ของ Story Board ที่กลุ่มเยาวชนจะนำไปเขียนเป็นข้อเสนอโครงการฉบับเต็มต่อไป

     กระบวนการที่ทำให้เด็ก ๆ เริ่มทำทีละขั้น การถ่ายทอดความคิดออกมาเป็นภาพ ทำให้ระบบคิดของเยาวชนเป็นขั้นเป็นตอน สามารถเชื่อมโยงเรื่องราว และบอกเล่าให้คนอื่นรู้เรื่องราวของตนเองได้ ในขณะเดียวกันการต้องสื่อสารผ่านภาพวาด ทำให้กลุ่มเยาวชนเริ่มเรียนรู้การทำงานเป็นทีม ที่มีการแบ่งบทบาท ที่มีคนคิด คนเขียน คนวาด คนระบายสี การยอมรับรับฟังความคิดเห็นเพื่อน แต่ละคนเริ่มกล้าที่จะทำในสิ่งที่ตนถนัด เพื่อเติมเต็มงานของกลุ่ม และทำให้กล้าที่จะแชร์ความคิดเห็นในกลุ่มมากขึ้น ซึ่งทีมงานเองก็จะเริ่มเห็นความถนัดหรือศักยภาพของเด็กแต่ละคน การได้จับ ได้คิด ได้เขียน ได้ทำ ก่อให้เกิดความรู้สึกผูกพันกับงานนั้น ๆ จนพัฒนาเป็นความรู้สึกเป็นเจ้าของ

     อย่างไรก็ตามทีมงานบอกว่า เห็นถึงจุดอ่อนของกระบวนการในเวที ที่เน้นให้เยาวชนคิดและเขียน จนบรรยากาศของกิจกรรมเคร่งเครียด อยู่ในโหมดใช้สมอง จนเด็ก ๆ เกิดความอ่อนล้า บทเรียนนี้ทำให้ทีมงานมองว่า ควรปรับกระบวนการให้มีการ “เติมพลังในฐานใจ” ให้มากขึ้น เพื่อปลุกพลังให้เด็ก ๆ เกิดความฮึกเหิมในการทำงานเพื่อส่วนรวม

     หลังจบเวที ทีมงานได้ประชุมภายในเพื่อสรุปประเด็นที่แต่ละโครงการต้องปรับ แล้วจัดส่งข้อเสนอแนะให้กับกลุ่มเยาวชน เพื่อเป็นแนวทางในการกลุ่มเยาวชนมีการบ้านที่ต้องกลับไปทำต่อกันเองคือ การเรียบเรียงข้อมูลเพื่อเล่าความเป็นมาของการทำงานในข้อเสนอโครงการ โดยมีกรอบคือ 1. เล่าสภาพบริบทชุมชน 2. ทุกข์หรือทุนชุมชนที่เยาวชนสังเกตเห็น 3.การแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา และ 4.ถ้าไม่มีการแก้ไขปัญหาจะเกิดอะไรขึ้น โดยช่วงที่กลุ่มเยาวชนแยกย้ายกันไปเขียนข้อเสนอโครงการ ทีมงานได้หารือกับคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อทำความเข้าใจต่อแนวทางของโครงการ และเส้นทางการพัฒนาโครงการของกลุ่มเยาวชนแต่ละพื้นที่ ก่อนที่จะจัดให้มีเวทีให้ข้อเสนอแนะโครงการของเยาวชน

­

เติมเต็ม “คุณค่า” โครงการ

      เวทีนำเสนอโครงการต่อคณะกรรมการที่จัดขึ้น ทีมงานมีความคาดหวังว่า จะเป็นเวทีที่ “เปิดโอกาส” ให้ คณะกรรมการซึ่งมีความเชี่ยวชาญในแต่ละประเด็น ให้ข้อเสนอแนะที่เติมเต็มความสมบูรณ์แก่แนวทางการดำเนินงานของโครงการของกลุ่มเยาวชน รวมทั้งเป็นเวทีที่เสริมกำลังใจให้เยาวชนตระหนักถึง “คุณค่าของงาน” ที่จะทำ โดยก่อนจัดงานทีมงานได้จัดส่งเอกสารข้อเสนอโครงการของกลุ่มเยาวชนให้คณะกรรมการศึกษาก่อน พร้อมทั้งซักซ้อมการนำเสนอของกลุ่มเยาวชน เพื่อให้คุ้นชินกับบรรยากาศการนำเสนอ

     กรรมการที่ทีมงานคัดสรรมาเป็นผู้ให้ข้อเสนอแนะ ทั้งสิ้นจำนวน... ซึ่งเป็นภาคีเครือข่ายในจังหวัดน่าน ร่วมกับมูลนิธิสยามกัมมาจล และเครือข่ายองค์กรพัฒนาเยาวชน Active Citizen จังหวัดศรีสะเกษ สงขลา และภาคตะวันตก ที่จะมาเติมเต็มความคิดเห็นที่รอบด้านให้กับน้องๆ ได้แก่ คุณปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล คุณสมชาย ศิริมาตร คุณสำเริงแก้วเทพ ผ.ศ.ปรีชา วุฒิการณ์ คุณวินัย นิลคง คุณชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ และคุณรุ่งวิชิต คำงาม

      ในการนำเสนอโครงการต่อคณะกรรมการ ทีมงานจัดแบ่งกลุ่มโครงการตามประเด็นคือ กลุ่มศิลปวัฒนธรรม กลุ่มการจัดการขยะ และกลุ่มการจัดการทรัพยากร โดยมีคณะกรรมการที่เชี่ยวชาญในแต่ละด้านเป็นผู้ให้ความเห็น ซึ่งทีมงานได้แบ่งหน้าที่กันประจำอยู่ในแต่ละกลุ่ม เพื่อบันทึกข้อเสนอแนะของคณะกรรมการที่จะนำมาใช้ในการปรับข้อเสนอโครงการของกลุ่มเยาวชนในเวิร์คช็อปครั้งต่อไป

     แม้จะมีความคาดหวังกับข้อเสนอแนะเพื่อเติมเต็มความสมบูรณ์ แต่ทีมงานก็ต้องเป็นผู้กุมสภาพคัดกรองข้อเสนอแนะที่จะเป็นประโยชน์ต่อโครงการของกลุ่มเยาวชน ซึ่งทีมงานก็ยอมรับว่า ในปีนี้ยังคงมีจุดอ่อนในเรื่องการให้ข้อมูลเกี่ยวกับ ข้อมูลพื้นฐานของกลุ่มเยาวชนและพัฒนาการของโครงการที่เยาวชนนำเสนอ ที่ทำได้ไม่เต็มที่เท่าที่ควร ดังนั้นหากกรรมการไม่ใช่คนในพื้นที่ก็จะไม่ทราบถึงบริบทของชุมชนว่าเป็นอย่างไร ซึ่งจุดอ่อนข้อนี้ทำให้ทีมงานคิดได้ว่า ในปีต่อไป นอกจากข้อเสนอโครงการของกลุ่มเยาวชนแล้ว จะต้องแนบความคิดเห็นของทีมงานที่ได้เห็นพัฒนาการของโครงการ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการด้วย

     เวิร์คช็อปเขียนข้อเสนอโครงการ เป็นเวทีที่ทีมงานนำข้อเสนอของคณะกรรมการมาช่วยปรับโครงการของกลุ่มเยาวชน โดยก่อนปรับข้อเสนอโครงการ ทีมงานต้องฟื้นฟูกำลังใจให้กลุ่มเยาวชนที่ได้ผ่านสมรภูมิการนำเสนอที่มีทั้งกลุ่มเยาวชนที่ได้พลังใจ และเสียพลังใจ เป็นการปลุกปลอบขวัญให้กลุ่มเยาวชนเห็นแง่งามของการให้ข้อเสนอแนะของกรรมการว่า เป็นโอกาสให้เยาวชนแต่ละกลุ่มได้พัฒนาโจทย์ปัญหาที่ชัดเจนมากขึ้น และวางแผนบริหารจัดการโครงการที่รอบด้าน จากมุมมองที่หลากหลาย เป็นการปลุกพลังความอยากทำโครงการให้ลุกโชนขึ้นอีกครั้ง

     เพราะมีเป้าหมายที่จะให้กลุ่มเยาวชนเขียนข้อเสนอโครงการที่สมบูรณ์ ทั้งในเรื่องเป้าหมายของโครงการ แผนงาน แผนงบประมาณ ทีมงานจึงต้องช่วยคลี่แผนการทำงานโครงการของกลุ่มเยาวชนให้เป็นขั้นเป็นตอน ที่สอดคล้องกัน เพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ รวมทั้งต้องชี้แจงเงื่อนไขการใช้งบประมาณที่เหมาะสมกับกิจกรรม

     “วันนั้นเราใช้กรอบโครงการในการเขียนว่า โครงการต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง แล้วให้น้องเขียนไปทีละขั้น แล้วคุยเรื่องรายละเอียดของค่าใช้จ่ายว่า ใช้งบประมาณซื้ออะไรได้บ้าง โดยเอาตัวโครงการเก่าของน้องกับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการมาดูพร้อมกันแล้วปรับในวันนั้นเลย” ทีมงานเล่า

      แดนเสริมต่อว่า เราพยายามจะใส่กระบวนการและเงื่อนไขเล็ก ๆ ที่นำไปสู่การเรียนรู้ในกิจกรรมว่า สิ่งที่น้องทำจะไป “แตะ” สำนึกพลเมืองอย่างไรบ้าง เช่น ที่บ้านน้ำหลุทำโครงการอนุรักษ์พันธุ์ปลา ที่ทำกิจกรรมเก็บข้อมูล น้องก็ต้องรู้ว่าต้นน้ำอยู่ตรงไหน ท้ายสุดของลำน้ำคืออะไร แล้วต้นน้ำที่มาคือ ลำน้ำอะไร ข้อมูลเหล่านี้จะไปสร้างสำนึกให้เขาเห็นคุณค่า และรู้ว่าเขาควรจะอนุรักษ์ป่าต้นน้ำของเขาตรงไหนอย่างไร

      เวทีกระจายทุน เป็นเสมือนเวทีปฐมนิเทศกลุ่มเยาวชนที่ได้รับทุนทั้งหมด เบื้องหลังของการจัดเวทีนี้คือ ทีมงานต้องการได้ทราบแผนการทำงานของกลุ่มเยาวชน เพื่อที่จะได้วางแผนการติดตามหนุนเสริมในระยะต่อไปได้ โดยมีประเด็นหลักของเวทีคือ การสร้างขวัญกำลังใจก่อนที่จะลงมือทำงานจริง ทีมงานเลือกจัดที่วัดโป่งคำ อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน ซึ่งเป็นพื้นที่เรียนรู้เรื่องการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของป่าเสื่อมโทรม ที่มีการฟื้นคืนพื้นที่ป่าบนดอยกับการทำการเกษตร ตามแนวคิด “สวมหมวกให้ภูเขาสวมรองเท้าให้ตีนดอย” เพื่อเชื่อมโยงให้เยาวชนได้เห็นถึงสถานการณ์ของสังคมในจังหวัดน่าน ที่กำลังหาทางออกในเรื่องการจัดการทรัพยากร โดยคาดหมายว่า กลุ่มเยาวชนกลุ่มเล็ก ๆ ที่กระจายอยู่ในแต่ละพื้นที่จะได้เห็นรูปธรรมตัวอย่างการจัดการทรัพยากร และค่อย ๆ ขยายการทำงานออกไปทั่วทุกพื้นที่ ซึ่งจะเป็นพลังสำคัญในการแก้ปัญหาของจังหวัดน่านต่อไป 

­

“ติดตามหนุนเสริม” เติมคุณค่าการทำงานโครงการ

     ระบบของการติดตามโครงการของเยาวชนในระหว่างดำเนินงาน เป็นทั้งการติดตามตามวาระที่ทางทีมงานนัดหมายไปเยี่ยมเยือนกลุ่มเยาวชนในพื้นที่ วาระการร่วมกิจกรรมที่เยาวชนจัดขึ้น และวาระที่กลุ่มเยาวชนร้องขอ แต่ทั้งนี้ทีมงานบอกว่า ต้องสร้างบรรยากาศให้เป็นเหมือนพี่ไปหาน้อง ไม่ใช่ไปตามงาน ซึ่งถ้าพบว่า กลุ่มเยาวชนเกิดความสับสน เริ่มงานไม่ถูก ก็จะกระตุ้นให้ทบทวนเป้าหมายของการทำงานเพื่อตั้งหลัก และนำแผนงานที่ออกแบบไว้มาทบทวน ทั้งนี้เป็นการฝึกให้เยาวชนได้เรียนรู้ทักษะการวางแผนการทำงานร่วมกันอย่างเป็นขั้นเป็นตอน

     ส่วนกลุ่มที่งานเป็นไปตามแผนก็จะชวนคุย เพื่อเชื่อมโยงการทำงานสู่ความตระหนักในบทบาทของ Active Citizen โดยต้องจับจังหวะระหว่างที่พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน จับวลีเด็ด หรือจับพฤติกรรมที่เชื่อมโยงสู่สำนึกความเป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ ให้เยาวชนได้สัมผัสว่า กิจกรรมที่ดูเหมือนธรรมดา ๆ ที่ทำอยู่นั้นมีคุณค่าอย่างไร

      “ถ้ามีคำพูดการเรียนรู้ของเยาวชนที่เป็นคีย์เวิร์ดหลุดออกมาก เราจะตั้งคำถามชวนคุยให้ลึกต่อไปอีก เช่น จะทำอย่างไรเพื่อให้เกิดแนวทางการแก้ไขปัญหา เขาจะช่วยทำอย่างไร เมื่อเด็ก ๆ เขาตอบมา ก็ต้องเชื่อมให้เห็นว่านั่นเป็นส่วนหนึ่งของสำนึกพลเมือง” มิ้นอธิบายภาพการทำงาน

     กลุ่มเยาวชนทุกทีมจะได้รับการเยี่ยมเยือนจากพี่ ๆ ทีมงานและทีมงานจากมูลนิธิสยามกัมมาจล อย่างสม่ำเสมอ เพื่อเติมเต็มทั้งแนวคิดและกำลังใจอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการข้ามไปเรียนรู้กิจกรรมของเพื่อนต่างโครงการต่างพื้นที่ ก็เป็นตัวจุดประกายการทำงานให้กลุ่มเยาวชนเห็นแง่มุมของการทำงานที่หลากหลาย ที่สามารถนำมาปรับใช้ในการทำงานของตนเองมากขึ้น 

­

เท่าทันสถานการณ์บ้านเมือง ค้นหา “คุณค่า” โครงการ

     หลังลงพื้นที่เยี่ยมเยียนน้อง ๆ ในพื้นที่ ทีมพี่เลี้ยงได้เห็นทั้งทุกข์และสุขของน้อง ๆ ที่เกิดจากการทำโครงการ จากที่น้อง ๆ ทำโครงการ จึงได้จัดเวทีก้าวย่างไปข้างหน้า สำนึกคุณค่าเครือข่ายพลเมืองเยาวชนจังหวัดน่าน เพื่อเติมฝัน สร้างกำลังใจ เยาวชนเมืองน่าน ให้มีแรงทำโครงการต่อไป โดยเปิดโอกาสให้น้อง ๆ ทุกกลุ่มได้ “สะท้อนคิด ทบทวนความรู้สึก” ที่ผ่านมาจากการทำโครงการ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนๆข้ามกลุ่ม ข้ามโครงการ ซึ่งหลายคนเปิดใจยอมรับว่า เคยคิดที่จะไม่ทำโครงการต่อ เพราะรู้สึกท้อ เหนื่อย และกลัวว่าจะทำโครงการ ไม่สำเร็จ แต่ความรู้สึกเหล่านั้นถูกทลายลง เมื่อน้อง ๆ ทั้ง 13 โครงการได้มีโอกาสมาหลอมรวมพลังร่วมกัน และถ่ายทอดประสบการณ์สู่เพื่อนๆ ต่างกลุ่ม น้อง หลายคนเริ่มมองเห็นว่า โครงการที่ตนเองทำอยู่นั้นมี “คุณค่า” เมื่อถูกเพื่อน ๆ ถามและให้ความสนใจ หลายคน เริ่มมองเห็นว่า ไม่ใช่แค่เขาที่มีปัญหาในการทำงาน แต่ยังมีเพื่อน ๆ อีกหลายคนที่เจอปัญหาเหมือนเขา และ สามารถก้าวผ่านมาได้

     ในขณะที่บางคนเริ่มมองเห็น “เมืองน่าน” ชัดขึ้น ทั้งทุกข์และทุน จนเกิดความรัก และหวงแหนวัฒนธรรม ประเพณี ความเป็นอัตลักษณ์เมืองน่าน ผ่านกิจกรรม น่านในวันนี้ที่เราเห็นและเป็นไป “เราในฐานะเยาวชน เมืองน่าน เรารู้สึกอย่างไร?” คือคำถามชวนคิด ท่ามกลางสถานการณ์ความเป็นน่าน ที่ถูกหลายคนต่าง กล่าวถึงอยู่ในกระแสปัจจุบัน ในฐานะเยาวชนพลเมืองน่าน เป็นลูกหลานของคนเมืองน่านโดยแท้ ทำให้น้อง ๆ ทุกคนต่างตั้งใจระดม ความคิดเห็นเกี่ยวกับสภาพปัญหา และสถานการณ์ปัจจุบันที่ตนเองพบเจอทั้งกับตนเอง และคนเมืองน่าน น้อง ๆ ส่วนใหญ่ได้สะท้อน เรื่องปัญหา "น้ำแล้ง" ทั่วทุกพื้นที่ ปัญหา "ป่าไม้ถูกบุกรุก" จากการ ทำไร่เลื่อนลอย น้อง ๆ มีความรู้สึกว่าวันนี้ "อากาศมันร้อนมาก" ประชาชนเดือดร้อน มีความยากลำบาก ขาดน้ำกิน น้ำใช้ รู้สึกเสียใจ ไม่สบายใจ สงสารเกษตรกร ถ้ายังทำเกษตรเชิงเดี่ยวต่อไปจะเกิดความเครียด รวมทั้งคนรุ่นใหม่ ติดโซเชียล ไม่สนใจวัฒนธรรมประเพณี ขยะก็เยอะ รู้สึกไม่เข้าใจว่าทำไมเยาวชนถึงไปสนใจเกม ยาเสพติด เสียใจ กับปัญหาที่เกิดขึ้น แต่เป็นแรงผลักดันให้เราต้องช่วยกันแก้ปัญหาไม่ให้มันเกิดขึ้นเยอะกว่าเดิม เสียงสะท้อนเล็ก ๆ ของน้องเยาวชนที่ทำให้รู้ว่าพวกเขาเหล่านี้ไม่ได้นิ่งดูดายต่อสถานการณ์ที่น่านกำลังเผชิญอยู่ มิหนำซ้ำพวกเขา เหล่านี้ เองยังกำลังพยายามขับเคลื่อนโครงการของเขาโดยหวังว่าโครงการที่ตนเองทำอยู่นั้นจะเป็นส่วนผลักดันให้เห็นน่านในอีก 10 ปีข้างหน้า เป็นเมืองน่านที่เต็มไปด้วยทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์

     “เราเห็นทุนของเมืองน่านที่เป็นอยู่ คือ ความเป็นน่านนคร คนเมืองน่านที่อัธยาศัยดี ความงดงาม เรื่องของวัฒนธรรมที่มีอยู่ในทุกพื้นที่ของจังหวัดน่าน” คือทุนดี ๆ ที่น้องเห็นผ่านการระดมความคิดจากกิจกรรม

     “พวกเรารู้สึกเสียใจที่มนุษย์อย่างเราเองเป็นผู้ทำลายทรัพยากรที่เราใช้ประโยชน์ และหดหู่ที่เห็น ปัญหาของทรัพยากรเหล่านี้เกิดขึ้นกับบ้านเรา” คือเสียงสะท้อนของเยาวชนที่ไม่นิ่งดูดายต่อปัญหาที่เกิดขึ้น ในบ้านของตนเอง

      ไม่ใช่แค่เพียงเยาวชนที่เกิดแรงผลักดัน พี่เลี้ยงเองก็รู้สึกมีแรงผลักดันในการทำกิจกรรมต่อ เพราะเห็นรอยยิ้ม และเสียงสะท้อนจากกิจกรรมในครั้งนี้ ทำให้พี่ ๆ เชื่อมั่นและมั่นใจว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้า จังหวัดน่านจะมีต้นกล้าที่ เติบโตสูงใหญ่ มาช่วยปกคลุมเมืองน่านให้กลับมาเป็นเมืองน่านที่อุดมสมบูรณ์ ไปด้วยทรัพยากรที่มีคุณค่า จากคน เมืองน่านเอง

      งอกเงย งดงาม เพื่อน่านบ้านเกิด คือเวทีสุดท้ายของโครงการเสริมศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดในปีนี้ ซึ่งครั้งนี้ทีมพี่เลี้ยง “ออกแบบกระบวนการ” เพื่อให้น้อง ๆ ได้สะท้อนย้อนมองถึง “คุณค่าและความหมาย” ของโครงการ ที่น้องทำ ผ่านแผนที่ความคิด หรือ Mind Map โดยให้น้อง ๆ ได้ทบทวนและเชื่อมโยงงานของตนเองกับสถานการณ์ ปัญหา และคุณค่าของโครงการที่มีต่อชุมชน และเมืองน่าน รวมทั้งการเรียนรู้ สิ่งที่ต้องเพิ่มเติม และพัฒนาปรับปรุง ออกมาเป็นแผนที่ความคิด นอกจากนี้ยังช่วยให้น้องจัดลำดับความคิด เพื่อวางแผนการทำงานสำหรับใช้เป็นข้อมูลการ สื่อสารผลงานในงานมหกรรมพลังเยาวชน พลังสร้างสรรค์ “ละอ่อนน่าน ฮักบ้านเกิด ปีที่ 2” 

­

กว้าง กระชับ ลึก ช้อน

      เกือบสองปีของการขับเคลื่อนงานโครงการเสริมศักยภาพ เครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน พวกเขาได้ค้นพบ “เวทมนตร์” การถอดบทเรียนแบบเฉพาะตัวที่มีเพียง 4 คาถา ก็สามารถดึงข้อมูล และสะท้อนคุณค่าโครงการของน้อง ได้อย่างครบถ้วน โดยใช้การพูดคุยแบบ “กว้าง” เพื่อ สร้างความสบายใจ และทำให้น้องรู้สึกผ่อนคลาย ด้วยการพูดคุย เรื่องทั่วไปก่อนจะ “กระชับ” ตีวงเข้ามาใกล้ โครงงานในเรื่อง เป้าหมาย การทำงาน และกระบวนการดำเนินงานที่น้อง ทำผ่านมา โดยใช้รูปแบบคำถาม ที่เข้าใจง่าย และเป็นกันเอง ซึ่งกว่าน้อง ๆ จะรู้ตัวก็ถ่ายข้อมูลไปจนหมด หลังจากนั้น ก็เจาะ “ลึก” เข้าไปในแง่ ของความรู้สึก และการเรียนรู้ที่น้อง ๆ มีต่อ โครงงาน โดยแฝงการปลุกจิตสำนึกให้น้อง ๆ มอง เห็นบทบาทและคุณค่าของ โครงงานที่ตนเองทำชัดเจนขึ้น ก่อนที่จะใช้ “ช้อน” ตักในสิ่งที่ขาดหายเติมเข้าไปให้เต็ม โดยสร้างแรงผลักดันให้น้อง ๆ มีความภูมิใจในตนเอง และได้เห็นสิ่งที่ตนเองเรียนรู้ชัดขึ้นจากการพูดคุยกับพี่เลี้ยง เหมือนเป็นการเติมเชื้อไฟ “ปลุกพลังสำนึกรักบ้านเกิด” ให้ลุกโชนในใจของน้อง ๆ ผลักดันให้น้อง ๆ มีแรงใจที่จะทำ เพื่อบ้านเกิดของตนต่อไป

­

 “ทักษะอะไร” ที่พี่เลี้ยงต้องมี

     การทำงานเหมือนจะอยู่ในรูปแบบเดิม ๆ เฉกเช่นปีก่อน ทักษะที่เป็นพื้นฐานของพี่เลี้ยงที่ทีมงานร่วมกันสรุปได้คือ “ทักษะการตั้งคำถาม” ที่จะเชื่อมโยงสู่ความเป็นพลเมือง “ทักษะการมองภาพไกล” และลึกถึงปลายทางโครงการของกลุ่มเยาวชน การที่ต้องรู้มากกว่ากลุ่มเยาวชนอย่างน้อย 1 ขั้นทำให้ก่อนลงพื้นที่แต่ละครั้ง ทีมงานต้องศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ก่อนจะพกพา “เครื่องมือการทำงาน” ที่พร้อมหยิบใช้ได้ตามสถานการณ์ที่ประสบเฉพาะหน้า ฯลฯ เหล่านี้เป็น “จุดร่วมทางความคิด” ของทีมงาน แต่เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากการเรียนรู้ของแต่ละคน ในช่วงเวลาของการติดตามโครงการของเยาวชน ทำให้ทีมงานแต่ละคนมีเทคนิคการหนุนเสริมที่ต่างกันไป

     ในขณะเดียวกันก็มีการจัดกระบวนการทำงานของพี่เลี้ยงที่ทำให้แต่ละคนได้เรียนรู้งานในแต่ละพื้นที่ การทำงานติดตามหนุนเสริมการทำงานของเยาวชนจึงไม่ใช่การแบ่งพื้นที่กันดูแลแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่เป็นการช่วยกัน “ทำงานเป็นทีม” โดยบางครั้งก็ไขว้พื้นที่ไปเรียนรู้ด้วยกัน บางครั้งก็ใช้การเล่าสู่กันฟัง แล้วช่วยกันเสริมเติมแต่ง การได้คุยกันมากขึ้น ทั้งการประชุมพร้อมหน้าพร้อมตา การประชุมผ่านเครือข่ายโซเซียลเน็ตเวิร์ค หรือการลงพื้นที่ร่วมกัน เป็นการขันน็อตความสัมพันธ์ของทีมงาน ให้มีความแน่นเฟ้นและเข้าอกเข้าใจกันมากขึ้น เอื้อให้เกิดบรรยากาศการทำงานและการเรียนรู้ร่วมกัน

     เทคนิคส่วนตัวของทีมงานในการทำงานที่น่าจะเป็นบทเรียนสำหรับเพื่อนร่วมงาน เพื่อนร่วมเครือข่ายจึงถูกแบ่งปันอย่างไม่หวง

     มิ้นเล่าว่า การลงพื้นที่ไปติดตามงานของน้อง ๆ สิ่งสำคัญคือ “การตั้งคำถาม” ให้ “เกิดจิตสำนึก” ในตัวเขาว่า นี่คือสิ่งที่เขาต้องทำ เช่น หนูจะทำเรื่องการเป็นนักสืบสายน้ำหมายความว่าอะไร ? ทำไมต้องทำ แล้วเราจะทำอย่างไร เด็กๆ จะบอกว่าคือ การทำให้สายน้ำดีขึ้น เราจะถามต่อว่า 3 เดือนจะทำให้ดีขึ้นไหม ถ้ายังไม่ดีขึ้น เราจะถามต่อว่า แล้วเขาจะทำอย่างไร ทำแล้วมีคุณค่ายังไง

      “บางครั้งคำถามก็ต้องแรง ต้องแรงในที่นี้คือ ต้องตีให้ถึงใจเขา เขาบอกว่าเขามีจิตสำนึก เขาใช้น้ำประหยัด แล้วจะรู้ได้ไงว่าใช้อย่างประหยัด เราต้องถามเจาะลงไปอีก เมื่อเด็กตอบว่า หนูก็อาบน้ำน้อยนะ ก็ตามต่ออีกว่า ประมาณไหน แล้วเราจะทำอย่างไรให้คนรอบข้างเขารู้ว่าเราใช้น้ำอย่างประหยัด เราต้องคุ้ยเข้าไปถึงว่า ถ้าเราเห็นสถานการณ์บางอย่าง เช่น ถ้าสมมุติว่าเขาจะต้องเป็นนักสืบสายน้ำจริง ๆ เขาจะต้องทำอะไรเป็นอันดับแรก บางครั้งเด็กเขาถือข้อมูลมา แล้วก็ตอบตามที่เราถาม เราบอกเขาว่าให้เขาตอบตามที่เขาเข้าใจ ใช้วิธีชวนคุย”

      ส่วนเอื้อมเล่าว่า ก่อนจะชวนคุยเข้าเรื่องงาน ต้องสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มเยาวชนก่อน พยายามเข้าใจเด็ก เข้าใจสภาวะของเยาวชนว่า อยู่ในวัยไหน ความต้องการเป็นอย่างไร แล้วพยายามใช้ความรู้สึกของตนตอนเป็นเด็กมาเป็นแนวทาง

      “อะไรที่เขาไม่ชอบ ก็เหมือนที่เราไม่ชอบตอนเป็นเด็ก เช่น การออกคำสั่ง เราก็มองย้อนไปว่า เราเองยังไม่ชอบ เด็กเขาก็ไม่ชอบเหมือนเรา เรามองว่า เด็กก็เหมือนน้ำที่ไหลไปเรื่อยๆ ของเขา ถ้าเราอยากให้เด็กหยุดนิ่ง เราก็ต้องเป็นเบ้าให้เขาได้หยุดนิ่ง แต่ถ้าเป็นเบ้าที่ใหญ่เกิน มันก็โคลงเคลง ถ้าเบ้าเล็กเกินไปก็อึดอัด เราพยายามเป็นเบ้าที่พอดีๆ สำหรับเขา”

      สำหรับการทำงานกับกลุ่มเด็กชายขอบ เด็กชาติพันธุ์ ซึ่งโดยธรรมชาติจะไม่ค่อยกล้าพูดคุยกับ คนแปลกหน้าอยู่แล้ว เอื้อมบอกว่า ต้องใช้ทักษะการสังเกตพฤติกรรมของเด็ก ใครที่ดูว่า เป็นหัวโจก กล้ากว่าเพื่อน ก็เริ่มคุยกับคนนั้นก่อน เพื่อเป็นตัวต่อไปยังเพื่อนในกลุ่มคนอื่น ๆ เมื่อไรที่การสนทนาเริ่มมีเสียงหัวเราะ นั่นคือ ประตูที่บอกว่า เด็ก ๆ เริ่มสนุกไปกับสิ่งที่ทำร่วมกัน จากนั้นกำแพงแห่งความขลาดกลัวก็จะค่อย ๆ ทะลายลง

     “การใช้บัตรคำตั้งคำถาม แล้วให้เขาเขียนตอบ แล้วค่อยให้เขาอ่านสิ่งที่เขาเขียน ก็เป็นอีกเทคนิคหนึ่งที่

      ทำให้เด็ก ๆ กล้าพูดมากขึ้น ซึ่งต้องค่อย ๆ สร้างความคุ้นเคยกับกระบวนการ ก่อนที่จะให้เด็ก ๆ ได้สัมผัสกับเวที ใหญ่ ที่มีผู้คนมากหน้าหลายตามากขึ้น”

      ด้านแดนบอกว่า การทำงานกับเด็ก เราไปคาดหวังในสิ่งที่เราอยากได้ ไม่ได้ แผนมีการเปลี่ยนตลอดเวลา แผนไม่จำเป็นต้องอยู่คงที่แต่สามารถเปลี่ยนได้ตามแต่ละพื้นที่ ของแต่ละกลุ่มเพื่อนำไปสู่เป้าหมาย

      ต้นเล่าว่า การเลือกเครื่องมือในการทำงานกับเด็กก็ต้องง่าย ๆ สบาย ๆ ไม่เยอะเกินไป ต้องสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ท่ามกลางความสนุก “การพัฒนาไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่มีหัวใจคือเรื่องของโจทย์ เป็นเรื่องที่เด็ก ๆ อยากทำ เด็ก ๆ ก็สามารถทำได้ด้วยศักยภาพของเด็ก ไม่ใช่ว่าคิดใหญ่มาก แต่ด้วยศักยภาพ ไม่สามารถทำได้ ชุมชนเองก็เหมือนกัน คิดแก้ปัญหาใหญ่ แต่เอาเข้าจริง ๆ ตัวเองมีศักยภาพไม่เพียงพอ เราจึงต้องมา หลอม เหลาโจทย์ให้มันชัด เมื่อโจทย์ชัดก็ต้องมีการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เกิดขึ้น ทั้ง ทีมภาคีเครือข่าย หรือทีมพี่เลี้ยงที่จะมาร่วมงานกับเรามีใครบ้างที่ต้องหลอมรวม และการลงมือปฏิบัติจริง ให้เขามีเป้าหมายในการสร้าง การมีส่วนร่วม และที่สำคัญคือ “เครื่องมือ” ที่เด็กและผู้ใหญ่สามารถใช้ร่วมกันได้”

      พระอาจารย์สมคิด สะท้อนว่า ในฐานะผู้ดูภาพรวมของงาน จะเห็นทั้งความยากและความง่าย ความง่ายคือ การที่มีฐานเดิม คือฐานชุมชนที่สามารถเข้าไปต่อได้ง่าย แต่ความยากเป็นโจทย์ที่ให้ต้องคิดต่อตลอด แต่หลักคิดในการทำงานที่ต้องยึดถือคือ 1.ต้องให้เกียรติต้นแบบ 2.หนุนเสริมต้นกล้า 3.เพาะบ่มเมล็ดพันธุ์

      “ทุกวันนี้ถามว่าคนน่านที่มีความรู้ในการสร้างบ้านสร้างเรือนให้น่าอยู่มีเยอะ แต่ว่าคนเหล่านี้ถูกดันให้ไป

      อยู่อีกซอกหนึ่ง มุมหนึ่ง มีบางคนที่ไม่มีความรู้แต่สามารถนำชาวบ้านต่อสู้กับอำนาจรัฐ ทำให้ชุมชนมี ป่ามาถึงทุกวันนี้ คนเหล่านี้ถูกพูดถึงน้อยมาก นี่คือต้นแบบ พระอาจารย์ถึงบอกว่า ทำอย่างไรที่เราจะเอาคนต้นแบบเหล่านี้มารวมกัน และสร้างต้นกล้าที่เราพูดถึงให้เขาเข้มแข็งด้วยตัวเขาเอง เมล็ดพันธุ์ใหม่ที่อยู่ตามโรงเรียนต่าง ๆ ที่กำลังเติบโต ก็จะมาเชื่อมกันกับสิ่งที่เราอยากให้เกิด”

      สำหรับแต๋ม เมื่อผ่านการทำงานในโครงการมา 1 ปี แต๋มเริ่มทบทวนตัวเอง เริ่มไปเรียนรู้ โดยยกให้กลุ่มเยาวชนนั่นแหล่ะเป็นครูที่ดีที่สุดในการทำงาน

      “ครูที่ดีที่สุดคือเยาวชน เราคิดว่าอย่างนั้น เพราะเราคิดว่าเราไม่เก่ง เราคิดว่าเราเป็นนักเรียน ถ้าเราคิดว่า เราเก่งแล้ว เราจะไม่เอาเครื่องมือที่อื่นเข้ามา แต่เราคิดว่าเราเป็นนักเรียนอยู่ เราต้องขวนขวายหาความรู้เรื่อย ๆ เข้ามามันจะมาเติมเต็ม เหมือนสุภาษิตที่ว่า เราจะเป็นแก้วที่มีน้ำไม่เต็ม เป็นแก้วที่รอการเติมเต็มอยู่เรื่อย ๆ”

      ถึงจะมองกลุ่มเยาวชนเป็น “ครู” แต่ในการทำงานก็จะสร้างความเป็นกันเองกับน้อง ๆ เพราะการมุ่งคุย แบบวิชาการจ๋า มักทำให้เด็ก ๆ เครียดเกินไป การตามงานสไตล์แต๋ม จึงเริ่มจากการพูดคุยเรื่องทั่วไปให้ สบายอกสบายใจทั้งพี่ทั้งน้อง แล้วค่อย ๆ สอดแทรกคำถามถึงงานไปเรื่อย ๆ แต่ทั้งนี้ก็ต้องไม่ประมาทในการทำงาน เพราะทุกครั้งที่ลงพื้นที่ เธอจะต้องเอาตัวโครงการ เอาบันทึกมาอ่าน เพื่อเตรียมตัวอย่างตั้งใจทุกครั้ง

      ทีมงานต่างสะท้อนเป็นเสียงเดียวกันว่า มีความมั่นใจมากขึ้นต่อการขับเคลื่อนงานในปีนี้มากขึ้น เพราะ ความสัมพันธ์และระบบการทำงานในทีมปรับเข้าสู่จุดลงตัว สามารถหนุนเสริมเติมเต็มกันได้ ที่สำคัญคือ การได้รับการเติมเต็มความรู้และกระบวนการจากมูลนิธิสยามกัมมาจล และการปรับกระบวนการทำงานต้นน้ำที่ปูพื้นฐานที่ดีในการทำงานของกลุ่มเยาวชน เป็นปัจจัยเอื้อที่เสริมสร้างความมั่นใจว่ามาถูกทาง จึงเป็นที่น่าจับตามองว่า การเทคออฟของทีมงานโครงการเสริมศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่านในครั้งนี้ จะนำพาการเรียนรู้ ของเด็กและเยาวชนให้ขยายตัวเพิ่มพูนมากขึ้นอย่างไร...

      และบทเรียนจากการทำโครงการของเยาวชนทั้ง 13 กลุ่มต่อไปนี้คือคำตอบ ของพลังเล็กๆ ที่เป็นพลังสร้างสรรค์ละอ่อนน่าน ฮักบ้านเกิด